มาตรา ๑๔๔ เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
(๑) การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามมาตรา ๑๔๓
(๒) การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียวตามมาตรา ๒๐๙ และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา ๕๓
(๓) การยื่น การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา ๒๒๙และ ๒๔๗ และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาตามมาตรา ๒๕๔วรรคสุดท้าย
(๔) การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่างที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา ๒๔๓
(๕) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา ๓๐๒
ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖ และ ๒๔๐ ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง
(๑) การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามมาตรา ๑๔๓
(๒) การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียวตามมาตรา ๒๐๙ และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา ๕๓
(๓) การยื่น การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา ๒๒๙และ ๒๔๗ และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาตามมาตรา ๒๕๔วรรคสุดท้าย
(๔) การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่างที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา ๒๔๓
(๕) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา ๓๐๒
ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖ และ ๒๔๐ ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2551
ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับอีกคดีหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ได้ แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องไว้ก่อนคดีนั้น แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้วกรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ศาลจึงไม่อาจหยิบยกพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2551
ประเด็นในคดีก่อนมีว่า ผู้ร้องทำละเมิดต่อผู้คัดค้านที่ 1 โดยการทำรั้วในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่จึงเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2551
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า เหตุที่ผู้คัดค้านมิได้ระบุหลักประกันเหนือที่ดินของลูกหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ที่ผู้คัดค้านได้ยื่นไว้ด้วยเนื่องจากพลั้งเผลอ และขออนุญาตเพิ่มเติมหลักประกันในคำขอรับชำระหนี้ มิใช่เรื่องการเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในคำขอรับชำระหนี้ แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันด้วยต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นมิได้เกิดจากการพลั้งเผลอ คดีถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2522 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้คัดค้านจะต้องคืนหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องและสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 ผู้คัดค้านย่อมไม่อาจยกข้อกล่าวอ้างหรือนำสืบในภายหลังอันเกี่ยวกับประเด็นกันนั้นอีกได้ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ผู้คัดค้านคืนหลักประกันและเพิกถอนรายการจดทะเบียนจำนองหลักประกันว่า ผู้คัดค้านมิได้ปกปิดหลักประกันก็ดี ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเนื่องจากความพลั้งเผลอก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำร้องของผู้คัดค้านมาแล้ว จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2542 มาตรา 14 อีกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2551
คอนกรีตผสมเสร็จที่จำเลยนำไปอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีของศาลแพ่งธนบุรี เป็นสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์เมื่อวันที่ 12, 16 และ 18 กันยายน 2544 ส่วนคอนกรีตผสมเสร็จที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระราคาในคดีนี้ เป็นสินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์เมื่อระหว่างวันที่ 11 ถึง 31 มกราคม 2545 และระหว่างวันที่ 1 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2545 สินค้าที่เป็นมูลเหตุให้ฟ้องร้องกันในคดีทั้งสองจึงเป็นคนละจำนวนกัน แม้ว่าสินค้าที่จำเลยซื้อแต่ละคราวในคดีนี้กับคดีก่อนจะสืบเนื่องมาจากใบเสนอราคาของโจทก์ฉบับเดียวกัน ก็ไม่มีผลทำให้ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2550
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายอ้างว่าสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เนื่องจากจำลยใช้อุบายหลอกลวงเป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าบัดนี้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี จึงสิ้นผลผูกพันแล้ว ข้ออ้างหรือประเด็นพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับคดีนี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2550
ชั้นบังคับคดีในคดีก่อนเป็นคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องว่าไม่ใช่บริวาร โจทก์กับจำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งคดีก่อนและคดีนี้ต่างมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน ซึ่งคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอีก ในประเด็นเดียวกันย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2549
ผู้คัดค้านและ น. เป็นบุตรของ ม. และผู้ร้อง ม. เคยยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. เนื่องจากผู้ร้องขายที่ดินทรัพย์มรดกของ น. และเก็บเงินไว้แต่เพียงผู้เดียวทำให้ ม. และผู้คัดค้านเสียหาย ต่อมา ม. ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านได้ขอเข้ารับมรดกความแทนที่ ม. แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการเฉพาะตัวของ ม. ผู้คัดค้านไม่สามารถเข้าเป็นคู่ความแทนที่ได้ จึงไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ม.ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องอ้างเหตุเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ผู้คัดค้านยังไม่ได้สืบสิทธิของ ม. ในการรับมรดกของ น.และเหตุตามคำร้องมิได้เป็นเรื่องที่โต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านมาเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าเป็นเหตุให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. หรือไม่ ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยก่อนว่า เหตุตามคำร้องเป็นสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของ ม. ที่จะตกทอดไปยังผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของ ม. ให้มีอำนาจยกขึ้นอ้างเพื่อถอดถอนผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยในข้อที่ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีที่ ม. ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. นั่นเอง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2549
จำเลยยื่นคำร้องฉบับแรก ขอให้ศาลคำมีสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ศาลมีคำสั่งโดยไม่ได้ไต่สวนว่า ตามคำร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ให้ยกคำร้อง แม้ศาลจะมิได้ล่าวถึงกรณีโจทก์ไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร แต่คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่ง จำเลยมิได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องฉบับหลังว่า ศาลสมควรจะมีคำสั่งให้รับคำร้องของจำเลยฉบับแรกไว้พิจารณาไต่สวนแล้วมีคำสั่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น โดยอ้างข้อเท็จจริงและเหตุผลเหมือนกับคำร้องฉบับแรก เพียงแต่เพิ่มเติมว่ามีคดีอื่นที่โจทก์ฟ้องจำเลยและบัดนี้ศาลในคดีดังกล่าวเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามคำร้องของจำเลยไว้แล้ว ซึ่งแม้ส่วนที่อ้างเพิ่มเติมเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อที่อ้างเพื่อสนับสนุนว่าหากโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เสียไปอันควรที่จะสั่งให้โจทก์วางเงินเหมือนคำร้องฉบับแรก จึงมีข้ออ้างอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยชี้ชาดเช่นเดียวกับคำร้องฉบับแรก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6036/2549
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2548 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำร้องทั้งสองฉบับประกอบกันแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอสวมสิทธิโจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้รายเดียวกันเพื่อผู้ร้องจะได้บังคับคดีต่อ จึงมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีแทนโจทก์หรือไม่เช่นเดียวกันทั้งสองฉบับ หาใช่ประเด็นแห่งคดีของคำร้องทั้งสองฉบับแตกต่างกันดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องการขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในการขอบังคับคดีต่อผู้ร้องแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในเรื่องเดียวกันอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4689/2548
ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาหมาย จ. 6 โจทก์เป็นผู้ร่างขึ้น จำเลยได้ทักท้วงสัญญาข้อที่ 8 ไว้ก่อนลงนามในสัญญาแล้ว แต่โจทก์ยังคงกำหนดข้อสัญญาข้อนี้ไว้เพื่อเอาเปรียบจำเลย สัญญาข้อนี้จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จึงตกเป็นโมฆะ นั้น ในปัญหาข้อนี้ เดิมเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในครั้งแรกด้วยเหตุที่ว่า ข้อสัญญาข้อ 8 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นอื่น ๆ ตามรูปคดี จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8920/2547
เดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำให้การจำเลยมิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ประเด็นเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ยังไม่ได้ดำเนินการเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ขอแก้ไขคำให้การเพื่อให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความขึ้นอีก แล้วหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4015/2547
ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 5 ที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลตามคำร้องของจำเลยที่ 5 มาครั้งหนึ่งแล้ว การที่จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลชั้นต้นใหม่อีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลแก่จำเลยที่ 5 ซึ่งได้มีคำสั่งและคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5851/2546
คำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นครั้งที่ 3 มีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับที่จำเลยยื่นในครั้งแรกและครั้งที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าว แม้เป็นการยกคำร้องเพราะจำเลยไม่นำพยานมาสืบ ก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้นแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอีก ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2546
จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนยากจนจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้นใหม่ เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวตามคำร้องฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2545 และศาลชั้นต้นได้ไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้นใหม่แล้ว การที่จำเลยกลับมายื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2545 ขอให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนอีก ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2545
ผู้ร้องทำหนังสือประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นเพื่อค้ำประกันการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนโดยยังคงให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยฎีกา ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน และยังคงให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ เช่นนี้ ผู้ร้องจึงยังต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ร้องตามหนังสือประกันดังกล่าวจะสิ้นไปต่อเมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือประกันขึ้นใหม่ หรือเมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและไม่แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและผู้ร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271
ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางเป็นหลักประกันและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนโฉนดที่ดินที่นำมาวางเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ร้องไปทั้งที่ผู้ร้องยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันอยู่ ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อเห็นว่าเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามโจทก์ จำเลยกับผู้ร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งตามอำนาจที่ศาลชั้นต้นมีอยู่ตามมาตราดังกล่าวหาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2545
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 เป็นการห้ามศาลไม่ให้ดำเนินคดีนั้นต่อไปอีกจะเป็นทั้งคดีหรือเฉพาะแต่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งก็ได้ซึ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยยังไม่เคยดำเนินคดีฟ้องร้องว่ากล่าวกันให้อีกฝ่ายหนึ่งรับผิดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าตามมาตรา 144 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง