Pages

ห้ามฟ้องซ้ำ

มาตรา ๑๔๘  คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

(๒) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์

(๓) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2560
คดีเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมและจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าไปเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ดังเดิม ครั้นโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หากเกิดหรือมีความเสียหายใดๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งค่าเสียหายยังมิได้วินิจฉัยในคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2560
การที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้องขับไล่ ช. โดยผลของ มาตรา 142 (1) แห่ง ป.วิ.พ. คำพิพากษาที่ให้ขับไล่ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของ ช. ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้เท่านั้น แต่หาได้ทำให้วงศ์ญาติและบริวารที่อาจถูกบังคับตามคำพิพากษานั้นมีฐานะเป็นคู่ความไปด้วยไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ จำเลยจึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดี ทั้งการที่จำเลยรับมอบอำนาจจาก ช. ให้เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยกลับมีฐานะกลายเป็นคู่ความในคดีไปได้ เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน และในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อสิทธิของเจ้าของหรือไม่อย่างไร การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559
คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8383/2559
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่งขัดกันหรือไม่ เมื่อโจทก์ในคดีดังกล่าว (คือจำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงไม่ใช่กรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146

กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 คดีนี้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2691/2556 ของศาลแพ่ง และคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่โจทก์คดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2559
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166 - 4170/2559
บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือการร้องขอซ้ำนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมซึ่งจะได้รับชำระหนี้จำนวนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการ โดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนว่าเป็นการกระทำแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย หากมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างมูลเหตุเดิมหรือช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเดียวกันก็ย่อมเป็นการร้องขอซ้ำได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2559
คดีเดิมที่จำเลยที่ 4 ฟ้องโจทก์บางคนต่อศาลแขวงธนบุรีนั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 และรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. 1 ถึง 4 เป็นจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีเดิมกับคดีนี้จึงต่างกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเอ็ดคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2559
แม้คดีก่อนและคดีนี้โจทก์และจำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์เช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค169410 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค201033, 201729, 210592, 265798 และ ค294075 ทั้งในคดีก่อนมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "Super Shield" หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ คดีก่อนและคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คนละเครื่องหมายซึ่งใช้กับสินค้าแตกต่างกัน และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความมีลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายแตกต่างกัน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยคดีก่อนก็แตกต่างจากคดีนี้ คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2559
จ. เคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างเหตุว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. โดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. บิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่ จ. นำสืบฟังไม่ได้ว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่า จ. มิใช่เจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือ จ. และโจทก์รวมทั้งผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ จ. ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขัดทรัพย์คดีนี้อ้างเหตุว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนอีกย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2559
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม โดยมิได้วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ทางพิพาทอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกัน แต่โจทก์ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องอุทธรณ์อีกต่อไปอีก เพราะคำพิพากษาเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว แม้ว่าเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอมและไม่เป็นทางจำเป็น แต่เมื่อโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่เท่านั้น โดยไม่รับวินิจฉัยประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็เป็นการกล่าวถึงเหตุผลตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเท่านั้น กรณีถือไม่ได้ว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่แล้ว และไม่มีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวที่จะผูกพันโจทก์ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้เปิดทางจำเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525 - 526/2559
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13888/2558
คดีก่อนและคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันคือเรื่องที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานหลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการครบกำหนดแล้ว โดยอ้างว่าโจทก์มีความประพฤติ ความรู้และความสามารถไม่เหมาะสม เพียงแต่ค่าเสียหายที่เรียกร้องในแต่ละคดีโจทก์กล่าวเรียกชื่อต่างกัน ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถเรียกร้องได้ในคดีก่อนแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากที่คดีก่อนถึงที่สุดแล้ว การฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2558
ในคดีก่อน ส.ฟ้องทายาทของร้อยตำรวจโท ค. เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก และมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ ส่วนวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกจะถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่คู่ความในคดีดังกล่าวต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี หาใช่นำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ เมื่อการประมูลทรัพย์มรดกเป็นการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิม หากไม่ถูกต้องโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ต้องไปโต้แย้งในชั้นบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีใหม่ ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งมรดกจึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่โจทก์อ้างว่ายังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นด้วย กองมรดกที่ตกทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1602 ถือเป็นการได้ทรัพย์มาโดยอาศัยสิทธิอันเดียวกัน มิใช่เป็นการได้มาโดยอาศัยสิทธิในทรัพย์แต่ละชิ้นเป็นสิทธิต่างรายกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในส่วนดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2558
คดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 กับโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้ร่วมกันโอนที่ดินรวม 8 แปลง แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ โจทก์ร้องขอพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาลยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว คดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อนจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อนอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีนี้รูปคดีจึงเป็นเรื่องละเมิดซึ่งมีประเด็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลังและศาลในคดีก่อนทั้งสองคดียังไม่ได้มีการวินิจฉัย ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558
การที่โจทก์กับนาง ท. ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในคดีก่อน นั้น ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดินกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับนาง ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับนาง ท. และศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ใช้อำนาจผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีก จึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2558
บริษัท ท. สั่งซื้อสินค้ากระดาษจากโจทก์ โดยบริษัท ท. ออกเช็คสั่งจ่ายชำระหนี้ 1 ฉบับ และจำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ท. ออกเช็คสั่งจ่ายชำระหนี้อีก 4 ฉบับ เมื่อเช็คทั้ง 5 ฉบับ ถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ฟ้องบริษัท ท. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 เป็นคดีก่อนให้รับผิดชำระหนี้ค่ากระดาษตามเช็ค 4 ฉบับ โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันได้ ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุว่าจำเลยในฐานะกรรมการบริษัท ท. ออกเช็คฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2553 สั่งจ่ายชำระหนี้ค่ากระดาษแก่โจทก์ เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงดุสิต จำเลยให้การรับสารภาพ และทำบันทึกยอมรับว่าออกเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่ากระดาษแก่โจทก์จริง ขอผ่อนชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงในคดีอาญาภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามบันทึกดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนี้ ยอดหนี้ในคดีก่อนกับยอดหนี้ในคดีนี้จึงเป็นคนละจำนวนกัน การที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา เป็นคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นข้อพิพาทที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2558
แม้โจทก์ทั้งสี่จะไม่ใช่คู่ความในคดีก่อน แต่มูลแห่งสิทธิอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้อง คือ สิทธิแห่งทายาทในการรับมรดกแทนที่บิดามารดาของตน เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเดียวกันของผู้ตายเช่นเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน จึงเป็นกรณีทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทในลำดับเดียวใช้สิทธิแห่งความเป็นทายาทของผู้ที่ตนเข้าแทนที่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก ถือว่าเป็นการฟ้องในนามทายาททุกคน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามชนะคดี คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความรวมถึงทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นเช่นเดียวกับคู่ความด้วย คำฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2558
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินซึ่งเป็นสัญญาฉบับเดียวกับที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องจำเลยคดีนี้โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ชำระราคาค่างวดตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดิน 3 งวด แต่ละงวดชำระไม่ครบตามสัญญาและค้างชำระ 2,250,000 บาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบที่ดินที่เหลืออีก 20 ไร่ ตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระค่างวดที่เหลือ 780,000 บาท แก่จำเลย จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา สิทธิเรียกร้องตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่หากเป็นเรื่องที่ต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งในคดีก่อนนอกจากโจทก์จะให้การว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว โจทก์ยังให้การเรื่องที่ดินที่เหลือตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินอีก 20 ไร่ ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิและจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 732,000 บาท แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถหยิบยกขึ้นต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนได้ เมื่อคดีก่อนโจทก์กับจำเลยประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยต่างไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก และได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีนี้ การที่โจทก์นำข้ออ้างที่สามารถหยิบยกเป็นข้อต่อสู้แก้คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงถือว่าคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2558
คดีก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ผู้คัดค้านมิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ถูกตัดไม่ให้รับมรดก ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องได้ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยกเอาเหตุข้อขัดข้องในการแบ่งทรัพย์มรดกมาเป็นมูลกล่าวอ้างว่าผู้ร้องไม่ทำตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว เมื่อผู้คัดค้านมิได้ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงถึงที่สุด มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอีกหาได้ไม่ การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยอ้างเหตุเป็นอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายอีก ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้คัดค้านจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2557
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 หรือไม่ ส่วนคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้กู้ยืมผู้ร้อง อันเป็นหนี้ประธานหรือไม่ ส่วนที่มีคำขอให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทเป็นหนี้อุปกรณ์ ประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงเป็นคนละประเด็นกัน แม้ทรัพย์จำนองจะเป็นแปลงเดียวกันและผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทมาด้วย ก็เป็นการรับรองสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองในคดีเดิมเท่านั้น เมื่อประเด็นข้อพิพาทของคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคนละประเด็นกัน โดยผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองในคดีก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ กรณีจึงหาเป็นเรื่องฟ้องซ้ำไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13723/2557
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้ จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12953/2557
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า หลังทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อบางส่วน แล้วเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ โดยโจทก์นำค่าเช่าซื้อบางส่วนไปชำระปิดบัญชีค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังค้างอยู่ ส่วนที่เหลือโจทก์สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 และมีการนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินโจทก์ ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 1 รับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์จริงหรือไม่และเป็นการรับไว้โดยมูลอันจะอ้างตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2557
ในคดีก่อน คำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ส. ซึ่งเป็นภริยาของบุตร ท. สัญญายกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ส่วนฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่ต้นโดยได้รับการให้จาก ท. มารดาของโจทก์ ถึงแม้คำขอของโจทก์ในคดีก่อนและคดีนี้จะขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเหมือนกันก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนกับประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนและไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4013/2556
กรณีที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำนั้น ต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องอันเกี่ยวกับประเด็นข้อเดียวกันที่ศาลได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว หากประเด็นในเรื่องแรกที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับประเด็นในเรื่องหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องคดีอันเกี่ยวเนื่องกับคดีหรือประเด็นที่ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14113/2555
ในคดีก่อน จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ภายใน 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินคืน จำเลยยินยอมขายคืนให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท สัญญาประนีประนอมได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8444/2554
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมได้มาโดยอายุความ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งสิทธิของโจทก์ที่ได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม ดังนี้ แม้คำขอบังคับท้ายฟ้องจะแตกต่างกันก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน คือ ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ เป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกร้องโดยมีคำขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมในคดีก่อนได้อยู่แล้วแต่โจทก์มิได้เรียกร้องมาในคดีก่อน กลับนำมาฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้ จึงเป็นประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2554
แม้โจทก์คดีนี้จะเป็นจำเลยในคดีก่อนและถูกฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นผู้แทนของทายาท เมื่อโจทก์เป็นทายาทด้วยคนหนึ่งต้องถือว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวเป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย คู่ความคดีนี้และคู่ความในคดีก่อนจึงเป็นคู่ความเดียวกัน

คดีก่อนมีประเด็นวินิจฉัยว่า โจทก์คดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นคดีนี้มีว่าจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยคดีนี้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือไม่ จึงถือว่าประเด็นในคดีนี้และประเด็นในคดีก่อนเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ในปัญหาว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15928/2553
ป.วิ.พ. มาตา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน..." ความในบทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายชัดเจนว่า คดีแรกซึ่งจะประกอบเป็นเหตุผลให้คดีหลังต้องห้ามมิให้ฟ้องนั้น จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งข้อห้ามตามบทบัญญัติในประโยคแรกแห่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11229/2553
คดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อประเภทขายลดเช็คกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดตามสัญญา กับจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดให้แก่บริษัทเงินทุนทรัพย์ศรีนคร จำกัด โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ อันเป็นประเด็นเดียวกับที่พิพาทกันในคดีนี้ ส่วนการที่โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวมาโดยชอบหรือไม่นั้น เป็นข้อที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่า ม. ไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลผู้มีชื่อลงนามในสัญญาขายทรัพย์สิน จึงเป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้โจทก์ได้นำพยานหลักฐานที่แสดงว่า ม. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นเลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมาแสดงต่อศาลอันแสดงว่า ม. มีอำนาจมอบอำนาจ และสัญญาขายทรัพย์สินเป็นสัญญาที่ชอบ ที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาขายทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความคดีแรก คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง และประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ดังนั้นแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันและคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากคดีหมายเลขที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนาย ย. หรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้นฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2553
ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ท. เจ้าหนี้เดิมหากมาฟ้องร้องลูกหนี้ในประเด็นที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องร้องและศาลได้วินิจฉัยถึงที่สุดไปแล้วโดยเหตุอย่างเดียวกัน ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553
คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายอ้างเหตุจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง มีราคามากกว่าหนี้ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์นำหนี้เดียวกันมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างเหตุจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และที่ดินในคดีก่อนจำเลยได้โอนขายไปแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แม้มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะเป็นหนี้เดียวกันและคดีมีประเด็นเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2553
เมื่อ ด. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมยื่นคำคัคค้านเข้าไปในคดีแพ่งที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดกนั้นเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 ผลแห่งคดีตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยย่อมต้องผูกพันถึงโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของรวม การที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของโจทก์ทั้งห้ากับพวก เท่ากับขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับพวกหรือของจำเลย ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2552
สามีจำเลยกู้เงินโจทก์ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ชำระหนี้เป็นส่วนๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนให้ร่วมกับสามีชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย จำเลยคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2552
คำฟ้องของโจทก์มีการคิดคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยต้องชำระเป็นรายเดือนและยอดหนี้ที่ค้างชำระไว้ชัดเจน แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความชัดเจนว่า เมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์เป็นงวด ๆ โจทก์นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่ค้างอย่างไร คงเหลือที่ค้างชำระเท่าใดและเป็นการหักชำระหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถือว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์เป็นจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้เพราะไม่มีจำนวนหนี้ค้างชำระที่แน่นอน ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมายื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2552
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อน เมื่อศาลพิพากษาให้มีการบังคับจำนองและคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะกลับมาฟ้องคดีใหม่อ้างว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดทั้งๆ ที่เป็นคู่ความรายเดียวกันซึ่งต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อน ให้ต้องกลับมาวินิจฉัยซ้ำในเหตุเดียวกันอีกว่า โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริงโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับ ให้งดการบังคับคดี และบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2551
การที่ทายาทคนหนึ่งฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกถือเป็นการฟ้องแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2551
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้และคดีก่อนโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์มิได้ใช้ภาระจำยอม 10 ปี และภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีก่อน เพราะข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ ถือว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสามยทรัพย์ ผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2551
คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า บ. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนธนาคาร ก. ผู้โอน หนังสือการโอนขายสินเชื่อระหว่างผู้โอนกับโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ไม่อาจนำมาฟ้องบังคับจำเลยได้ และพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้หรือไม่ อันเป็นเรื่องโจทก์แสดงอำนาจฟ้องไม่ถูกต้องคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ให้รับผิดในมูลหนี้เดิมโดยแสดงหลักฐานการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนธนาคาร ก. ของ บ. ย่อมเป็นการแสดงอำนาจฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์ทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากผู้โอนแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2551
ประเด็นในคดีก่อนมีว่า ผู้ร้องทำละเมิดต่อผู้คัดค้านที่ 1 โดยการทำรั้วในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่จึงเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2551
กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีก่อน ก. เป็นโจทก์มีโจทก์คดีนี้เป็นผู้ฟ้องแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ก. ผู้เยาว์ แต่คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่คู่ความเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

บันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์โดยพรากผู้เยาว์ไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2551
โจทก์ฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่าจำเลยสร้างรั้วไม้ไผ่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ทางด้านทิศเหนือ 7 ตารางวา แต่ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยสร้างรั้วไม้ไผ่รุกล้ำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยสร้างรั้วเข้าไปในที่ดินโจทก์ในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมิได้สร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 487/2551
ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้อง ว. ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 128 ฉบับ ที่ศาลแพ่งธนบุรี 2 คดี ซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ ว. ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ และโจทก์ฟ้องบริษัท น. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2 คดี ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้บริษัท น. ชำระเงินตามฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการจำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวจำเลยผู้สั่งจ่ายยังไม่ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาให้โจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามคดีนี้ให้รับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค ส่วนคดีเดิมทั้งสี่สำนวนโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้การฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมเป็นการฟ้องเกี่ยวกับเช็คพิพาทชุดเดียวกันแต่มูลหนี้คดีนี้เป็นคนละมูลหนี้กับคดีเดิมและสภาพแห่งข้อหาต่างกันทั้งจำเลยก็เป็นคนละคนกัน กรณีมิใช่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และมาตรา 173 วรรคสอง (1) จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 279/2551
คดีก่อนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินกับจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ในคดีนี้มิใช่ลูกค้าหรือผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ผู้บริโภคที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนได้ฟ้องคดีแทน กรณีจึงไม่อาจถือว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ด้วย ย่อมไม่ไช่คู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 และ 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10261/2550
โจทก์และจำเลยในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือขอให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปออกโฉนดว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง ก็เนื่องมาจากว่าจำเลยมิได้ร้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ออกโฉนดดังกล่าวโดยมิชอบ แต่จำเลยกลับมีคำขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยย่อมไม่จำต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์กันอีก เนื่องจากที่พิพาทเป็นของจำเลยอยู่แล้ว ที่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้นั้นจึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องมีการบังคับตามคำขอ มิใช่คำฟ้องไม่สมบูรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอให้ได้เท่านั้น คู่ความยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. 145

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และจำเลยฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการห้ามเกี่ยวเนื่องกับคดีก่อน แม้จำเลยมีคำขอเพิ่มมาในฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท แต่ก็ยังคงเป็นกรณีที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัย และคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2550
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยตามคำฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดในคดีก่อนที่ให้โจทก์และจำเลยมีสิทธิในที่ดินคนละครึ่งของจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดทั้งแปลง ส่วนจะเป็นทางทิศใดจะไปตกลงกันในภายหลัง ทั้งคำขอบังคับในคดีนี้ก็ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในที่ดินส่วนที่แบ่งแยกเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว แตกต่างกับคำขอบังคับในคดีก่อนที่ขอให้บังคับจำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดิน คำฟ้องของโจทก์คดีนี้กับคดีก่อนมิใช่เรื่องเดียวกันและเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8401/2550
ป. ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อบริษัท บ. ซึ่งเป็นนายจ้างโดยรวบรวมเงินจากลูกค้าและพนักงานในสาขาแล้วส่งให้บริษัท บ. ไม่ครบรวม 16 ครั้ง เป็นเงิน 616,635.32 บาท แล้ว ป. ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอผ่อนชำระเงินดังกล่าวแก่บริษัท บ. แต่ ป. ไม่ชำระตามที่รับสภาพหนี้ไว้ บริษัท บ. จึงฟ้อง ป. ต่อศาลแรงงานกลางให้ชำระหนี้ดังกล่าวเป็นคดีเดิม ต่อมาบริษัท บ. ตรวจสอบพบว่า ป. ได้รวบรวมเงินจากลูกค้าและพนักงานในสาขาแล้วส่งให้บริษัท บ. ไม่ครบ เพิ่มอีก 5 ครั้ง จึงให้ ป. ทำหนังสือรับสภาพหนี้เพิ่มแล้วนำยอดหนี้ดังกล่าวฟ้อง ป. ต่อศาลแรงงานกลางให้ชำระหนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง ส่วนคดีนี้บริษัท บ. รวบรวมความเสียหายอื่นที่ ป. ก่อให้เกิดขึ้นคนละคราวกับสองคดีก่อนซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและเป็นการฟ้องเรียกหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แต่ละฉบับโดยมีค่าปรับที่ต้องชำระแต่ละคราวรวมอยู่ด้วย บริษัท บ. จึงไม่จำต้องนำยอดหนี้อื่นนอกเหนือจากยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ ป. ตกลงจะชำระให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้วผิดนัดมารวมฟ้องเป็นคดีเดียวกัน ฟ้องคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2550
คดีเดิมมีประเด็นว่าโจทก์ในคดีนี้ผิดสัญญาเช่าหรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่หรือไม่ คดีนี้โจทก์อ้างเหตุว่าสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์เพราะมีการปลอมเอกสารแล้วทำสัญญาเช่าโดยผู้ทำไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่า อีกทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยทั้งสองคดีมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2550
โจทก์เคยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในคดีก่อน แต่โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์แล้วโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

นอกจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมที่มีต่อจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยชอบแล้ว จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่วินิจฉัยว่า ปรส. มีอำนาจในการขายสินทรัพย์จนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว แม้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2550
ก่อนหน้าคดีนี้ จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์กับพวกกระทำผิดสัญญาหุ้นส่วนและไม่แบ่งปันผลกำไรขอให้ใช้เงินคืน ซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือโจทก์กับจำเลยเป็นหุ้นส่วนทำฟาร์มเลี้ยงกบด้วยกันและจำเลยไม่คืนเงินลงทุนและแบ่งกำไรให้โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2547 คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่า จำเลยจงใจและใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์ต้องรับภาระในการลงทุนที่หนักกว่าที่โจทก์จะยอมรับโดยปกติ โดยโจทก์จะต้องออกเงินลงทุนในการเลี้ยงกบไปถึง 131,377 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินคืนโจทก์จำนวนครึ่งหนึ่ง แม้ข้อหาที่จำเลยฟ้องโจทก์ในคดีก่อนจะเป็นเรื่องผิดสัญญาหุ้นส่วนและขอให้ใช้เงินคืน และข้อหาในคดีนี้โจทก์เปลี่ยนแปลงรูปคดีใหม่เป็นเรื่องกลฉ้อฉลก็ตาม แต่แท้ที่จริงประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก็สืบเนื่องมาจากมูลฐานและข้ออ้างอย่างเดียวกันคือ โจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนทำฟาร์มเลี้ยงกบกันหรือไม่ และเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกมาก็เป็นเงินลงหุ้นตามสัญญาหุ้นส่วนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงกบตามส่วนที่ลงหุ้น อันเป็นการวินิจฉัยชี้ชาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว เมื่อคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มารื้อร้องฟ้องจำเลยในคดีนี้อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7573/2549
มูลคดีนี้เกิดจากที่โจทก์ยึดรถคืนมาได้โดยรถไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดี ซึ่งตามคำพิพากษาคดีก่อนให้จำเลยส่งมอบแก่โจทก์ในสภาพดี และราคาที่โจทก์ขายได้ก็ต่ำกว่าราคาที่ศาลกำหนดให้จำเลยใช้แทนอยู่ 370,000 บาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ ความเสียหายของโจทก์ตามคำฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว คำขอให้บังคับต่างกัน และมิใช่ประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แต่เป็นมูลหนี้อันใหม่และอาศัยเหตุใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2549
การที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นใดโดยอาศัยเหตุอย่างใดแล้ว คู่ความเดียวกันจะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นนั้น โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับ พ. ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำนองเนื่องจาก พ. ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาดของศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11353/2534 ที่ ส. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. ขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองเพื่อนำเงินชำระหนี้แก่ ส. แม้จำเลยจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง แต่จำเลยก็มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ที่โจทก์ฟ้อง พ. ทั้งจำเลยมีสิทธิที่จะไถ่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 เมื่อจำเลยไม่ไถ่จำนองและโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยตามมาตรา 735 แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นแล้ว มูลคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้จึงเป็นคนละอย่างกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2549
คดีก่อนโจทก์ฟ้อง พ. และนาวาอากาศตรี พ. ให้ชำระหนี้และบังคับจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ 5957/2537 ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. นำยึดออกขายทอดตลาด ดังนี้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ แต่หาทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 12 หมวด 4 มิใช่ว่าโจทก์จะอาศัยความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ติดตามบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องการสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 16255/2536 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8231/2549
ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตามบันทึกข้อตกลงเป็นเงิน 11,000 บาท และจ่ายจากเงินบำนาญครึ่งหนึ่ง หรือให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันรับเงินบำเหน็จ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการแล้ว ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เต็มคำขอโดยตกลงว่า จำเลยยินยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ 11,000 บาท และโจทก์จำเลยไม่ติดใจว่ากล่าวคดีสืบต่อไป ย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยเป็นเงิน 11,000 บาท โดยไม่ติดใจที่จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกต่อไป ดังนี้ ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้ในคดีก่อนโจทก์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยอาศัยบันทึกข้อตกลงแต่มูลเหตุของการทำบันทึกข้อตกลงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์จำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1461 วรรคสอง นั่นเอง แม้ในคดีก่อนโจทก์จะไม่อ้างบันทึกข้อตกลงโจทก์ก็มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้อยู่แล้ว ประเด็นแห่งคดีนี้กับคดีก่อนจึงเป็นประเด็นและเหตุเดียวกัน คือ การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2547
คดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับเหตุหย่าที่ว่าโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีนั้น แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องและจำเลยให้การปฏิเสธ อันเป็นประเด็นแห่งคดี แต่ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเกี่ยวกับการหย่าไว้เพียงว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่แต่เพียงประการเดียวเท่านั้น โดยโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ ถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างสละสิทธิไม่ติดใจในประเด็นเกี่ยวกับเหตุหย่าที่ว่าโจทก์จำเลยแยกกันอยู่อีกต่อไป ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นของเหตุหย่าที่ว่าโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีหรือไม่ โจทก์จึงนำเอาเหตุหย่าเพราะสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี มาฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ได้อีก ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2543
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ อันเป็นเหตุให้ศาลวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีว่าคำฟ้องโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีที่ได้ฟ้องแล้ว เมื่อคดีถึงที่สุดโจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใหม่ในประเด็นเดียวกัน จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2539
โจทก์คดีก่อนและโจทก์คดีนี้แม้จะเป็นบุคคลคนละคนแต่ต่างก็เป็นทายาทของ ถ. และต่างก็ฟ้องคดีเรียกคืนที่ดินพิพาทโดยอ้างสิทธิในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิจาก ถ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทคนเดียวกันจึงถือได้ว่าโจทก์คดีก่อนและโจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันและการที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องในคดีก่อนโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามฟ้องถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้วฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขออย่างเดียวกับคดีก่อนจึงเป็นการฟ้องคดีที่ให้มีการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา148วรรคหนึ่ง