Pages

การกำหนดและการชำระค่าฤชาธรรมเนียม

มาตรา ๑๕๑  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องหรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ ถ้าศาลไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาหรือคำขอให้พิจารณาใหม่ หรือศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือฎีกาโดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์หรือฎีกานั้น ให้ศาลมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด

เมื่อได้มีการถอนคำฟ้อง หรือเมื่อศาลได้ตัดสินให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ หรือเมื่อคดีนั้นได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความหรือการพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด หรือบางส่วนแก่คู่ความซึ่งได้เสียไว้ได้ตามที่เห็นสมควร

ในกรณีที่มีการทิ้งฟ้องหรือศาลสั่งจำหน่ายคดีในกรณีอื่น ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลบางส่วนได้ตามที่เห็นสมควร

ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนความคืนไปยังศาลล่างเพื่อตัดสินใหม่หรือเพื่อพิจารณาใหม่ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๓ ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกเว้นมิให้คู่ความต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ หรือในการที่จะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาใหม่ของศาลล่างได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๑๕๒ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากค่าขึ้นศาล ให้คู่ความผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นผู้ชำระเมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือที่ศาลมีคำสั่ง ถ้าศาลเป็นผู้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ให้ศาลกำหนดผู้ซึ่งจะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณานั้น รวมทั้งระยะเวลาที่ต้องชำระไว้ด้วย

ถ้าผู้ซึ่งจะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งไม่ชำระ ศาลจะสั่งให้งดหรือเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้น หรือจะสั่งให้คู่ความฝ่ายอื่นเป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวก็ได้หากคู่ความฝ่ายนั้นยินยอม

มาตรา ๑๕๓  ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของเจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีบรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ
ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีนั้นเป็นผู้ชำระ

การชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกใบรับให้

ในกรณีที่มีการเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามมาตรา ๒๙๐ วรรคแปด หรือมาตรา ๒๙๑ (๒) ให้เจ้าหนี้ผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปเป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในส่วนที่ดำเนินการบังคับคดีต่อไป

มาตรา ๑๕๓/๑  ค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา ๑๔๙ และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีตามมาตรา ๑๕๓ ให้ชำระตามวิธีการและอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามวิธีการและอัตราที่มีกฎหมายอื่นบังคับไว้

มาตรา ๑๕๔  เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อปฏิบัติตามวิธีการเพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามจำนวนที่เห็นจำเป็นถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าจำนวนเงินที่วางไว้นั้นจะไม่พอ ก็ให้แจ้งให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีวางเงินเพิ่มขึ้นอีกได้

ถ้าเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเห็นว่าการวางเงินตามวรรคหนึ่งไม่จำเป็นหรือมากเกินไป ก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งได้ คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด

ถ้าเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้จนกว่าเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีนั้นจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาล แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่เจ้าหนี้ผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามมาตรา ๒๙๐ วรรคแปด และมาตรา ๒๙๑ (๒) โดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๕  คู่ความซึ่งไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๖ และมาตรา ๑๕๖/๑

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9151/2559
ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใด ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องไปทำมาใหม่โดยใช้แบบพิมพ์ขนาดกระดาษเอ 4 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องได้ตามวรรคสองของมาตรา 18 คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2798/2559
เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แม้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมจะขอถอนคำขอรับชำระหนี้และผู้คัดค้านอนุญาตให้ถอนไปแล้วก็ตาม แต่อยู่ในระหว่างผู้คัดค้านนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ใหม่แทนโจทก์เดิม ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมิได้พิจารณาแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไปเสียก่อนอันเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะกระทำได้ โจทก์เป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึดออกขายทอดตลาดในการรวบรวมทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และมีส่วนได้เสียโดยตรงในการนำยึดที่ดินดังกล่าวแต่ประการใด ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียม

ส่วนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้อง ในการขอรับชำระหนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวก่อนแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์หลักประกันดังกล่าว และเป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึด แม้ผู้คัดค้านจะมีหมายนัดให้ผู้ร้องไปทำการยึดและเป็นอำนาจของผู้คัดค้านในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นความประสงค์ของผู้ร้องที่ขอบังคับชำระหนี้ด้วยการขอให้ผู้คัดค้านยึดหลักประกันดังกล่าวขายทอดตลาดตามคำขอรับชำระหนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) ทั้งนี้เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2559
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยตามสัญญาจำนวน 1,867,290.84 บาท แต่เมื่อหักกลบลบหนี้กับเงินค่ารายการงานการ์ตูนแอนิเมชันที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยจำนวน 390,000 บาท คงเหลือเบี้ยปรับที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดตามคำฟ้องจำนวน 1,477,290.84 บาท แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 156,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนคำฟ้องจึงมีจำนวน 1,321,290.84 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลจำนวน 26,425 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาจำนวน 29,545 บาท อันเป็นการชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมาจำนวน 3,120 บาท ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของฟ้องแย้งที่จำเลยขอให้โจทก์ชำระเงินค่ารายการงานการ์ตูนแอนิเมชัน ที่ค้างชำระจำนวน 390,000 บาท นั้น เมื่อจำนวนเงินตามฟ้องแย้งโจทก์ได้หักกลบลบหนี้กับเงินเบี้ยปรับแล้วคงเหลือเงินเบี้ยปรับที่โจทก์นำมาฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยจำนวน 1,477,290.84 บาท จึงไม่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งของจำเลยอีก แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งมาด้วยจำนวน 4,680 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่โจทก์ชำระเกินมาทั้งสองจำนวนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2559
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,818,750 บาท พร้อมยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลกึ่งหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จึงผูกพันโจทก์ที่จะต้องนำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งที่โจทก์ต้องชำระนั้น หมายถึงค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ตามคำฟ้อง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเหลือ 2,409,375 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว โจทก์จึงต้องชำระค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และรับคำฟ้องในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล คือกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ 2,409,375 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11091/2558
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่ง ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง กฎหมายบัญญัติบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจักมีคำขอหรือไม่

ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนั้น คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกับตาราง 7 ซึ่งกำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร หากศาลมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องชดใช้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ศาลก็จะต้องระบุจำนวนเงินสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองประเภทนี้โดยชัดแจ้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมเพียงว่า "ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก" ย่อมชัดเจนแล้วว่า ศาลชั้นต้นมีดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยทั้งสี่ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ และเป็นคำพิพากษาชอบด้วยบทบัญญัติที่ศาลต้องปฏิบัติในการทำคำพิพากษาตามมาตรา 141 วรรคหนึ่ง ทุกประการ หาใช่เป็นคำพิพากษาที่ไม่ครบถ้วนและไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2558)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10842/2558
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคท้าย ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงนั้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจักมีคำขอหรือไม่ โดยหากศาลไม่มีดุลพินิจเป็นประการอื่นก็ต้องสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุด ตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 167 วรรคหนึ่ง การที่ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี โดยให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีต้องชดใช้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ศาลก็จะต้องระบุจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้ในคำพิพากษาโดยชัดแจ้งด้วย สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมว่า "ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวนี้ย่อมชัดเจนแล้วว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจไม่สั่งให้จำเลยต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ แต่ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแทนโจทก์ จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9752/2558
จดหมายแนบท้ายคำร้องที่โจทก์ทั้งสามขออนุญาตให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้รับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ ณ. ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้บังคับตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ณ. และ ก. คนละ 1 ส่วน เท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่ หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2558
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดก คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอ ให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ มีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้อง จึงต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 (1) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19339 - 19344/2557
ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมตกเป็นพับแล้ว ก็ไม่อาจพิพากษากำหนดให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 161 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไข้ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7956/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น มิได้ขอให้ที่ดินพิพาทเป็นของตน หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอยู่ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลทั้งสามชั้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7134/2557
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และยกคำขอในส่วนแพ่ง เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งแล้ว และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้วมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่เป็นกรณีศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องโจทก์แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ตั้งแต่ต้น อันจะทำให้ศาลมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6927/2557
แม้คดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องพิจารณาว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่จะประทับฟ้องหรือไม่ แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยการกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดี โดยเห็นว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยทั้งหกรับผิด จึงพิพากษายกฟ้องและยกคำขอส่วนแพ่ง จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2557
หนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเป็นการตกลงว่า ถ้ามีการฟ้องคดีอันเกี่ยวกับสัญญาเช่านี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่ายอมชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตลอดทั้งค่าทนายความให้จนครบถ้วนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันจะพึงมีขึ้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ" ซึ่งมาตรา 153/1 บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียมตาม มาตรา 149 ... ให้ชำระตามวิธีการและอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามวิธีการและอัตราที่มีกฎหมายอื่นบังคับไว้" และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี" ดังนั้น สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับทนายโจทก์ ซึ่งตกลงกันเองไม่อาจนำมาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้แก่โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ตามที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดตามกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักของทนายความไม่อาจกำหนดให้ได้ เพราะมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายบัญญัติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2557
ค่าทนายความใช้แทนไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่ ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มิให้เรียก แต่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามดุลพินิจ เมื่อคดีที่พิจารณาในศาลนั้น ๆ สิ้นสุดลง คดีนี้มีโจทก์ร่วมทั้งสองแต่งตั้งทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16132/2556
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แต่ได้ความว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งซึ่งโจทก์เองก็ทราบดี เพราะเข้าเป็นคู่ความในคดีนั้นด้วยในฐานะผู้คัดค้าน แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งนั้นย่อมมีผลอยู่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์จึงเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดพิพาทมาแล้วไม่มีการขาย ต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. บทบัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามขั้นตอนแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นย่อมเท่ากับทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาไม่มีการขาย ความรับผิดของผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12453/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง และสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์เป็นพับ และโจทก์อุทธรณ์ต่อมานั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกเว้นมิให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่หรือในการที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาใหม่ของศาลล่างได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคืนให้หรือไม่ก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลให้นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน ให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและแบ่งสินสมรส จำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเรื่องเหตุหย่าเพียงประการเดียว จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4913/2556
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนรายการประเภทการจำนองและการไถ่ถอนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกถอนการขายฝากและการไถ่ถอนขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และเพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ฝ่ายจำเลยให้การว่านิติกรรมทั้งหมดดังกล่าวกระทำโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ซึ่งหากโจทก์ชนะคดีย่อมได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาเป็นของตน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10970/2555
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2554
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินไม่พอใจการประเมินและคำชี้ขาดเกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามหนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิพาทและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 39 โจทก์ก็ต้องนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2547 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 จึงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) และใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินหากโจทก์ชนะคดีย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8269/2553
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์บางส่วน และเพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ตามคำขอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์ คดีของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7357/2553
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตามยอมแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งว่า ค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 75,000 บาท ความผิดพลาดจึงเกิดเพราะความผิดหลงในข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งความผิดพลาดในเรื่องการคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยนี้เป็นคนละส่วนกับข้อตกลงในสัญญาประนีประยอมความของคู่ความซึ่งไม่มีข้อผิดพลาดอะไร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็เป็นข้อตกลงระหว่างคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม เมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6584/2553
แม้ค่าทนายความจะเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสาม จะบัญญัติว่า ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชำระแทนฝ่ายผู้บริโภคที่ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ฟ้องคดีโดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ คดีจึงไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์จะใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยชำระแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2553
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์และยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีความเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีกนั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อไปอีก และเมื่อผู้ร้องไม่วางเงินค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลก็ชอบที่จะไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4407/2551
ศาล ชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกค่าจ้างว่าความขาดอายุความแล้ว โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกเอาค่าจ้างว่าความยังไม่ขาดอายุความ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประเด็นเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นจึงต้องดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะในประเด็นเรื่อง ค่าจ้างว่าความเท่านั้น

ศาลชั้นต้นสืบพยานจนเสร็จสิ้นกระแสความและมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตาม รูปคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไปได้ โดยไม่ต้องกำหนดวันนัดพิจารณาอีก

จำเลยฎีกาโต้แย้งกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ประเด็นตามฎีกาของจำเลยมิได้มีผลเกี่ยวกับทุนทรัพย์ในคดี จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์จำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3050/2551
โจทก์ ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญากู้เงินซึ่งเป็นโมฆะ และขอเรียกเงินคืน 275,957 บาท อันเป็นจำนวนเงินที่ไม่เกิน 300,000 บาท แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังคงค้างชำระต้นเงินตามสัญญากู้ดังกล่าว จำนวน 445,502.50 บาท ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ผลของคำพิพากษาก็คือเมื่อโจทก์ชนะคดีทำให้โจทก์ไม่ต้องชำระต้นเงินที่ค้าง จำนวน 445,502.50 บาท กรณีจึงเป็นคำฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 เป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 และ 25 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2184/2551
ศาล ชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันกู้เงินจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 ทั้งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงบังคับดอกเบี้ยได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร คืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ โดยให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร ดังนี้ เป็นกรณีที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งหากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชนะคดีตามอุทธรณ์ ทุกข์ของจำเลยย่อมปลดเปลื้องไปเท่ากับจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคา เงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้องให้รับ ผิดลดลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2551
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงินของโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินที่จำนอง เมื่อสัญญากู้มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ด้วย จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ทั้งมิได้อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องรับผิดตามตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านมูลหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพิพาทกันในเรื่องทรัพย์สิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551
ที่ดิน พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนอง ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียด ของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยข้อเท็จจริง ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง คดีในชั้นฎีกาไม่มีประเด็นโต้เถียงเรื่องความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2551
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาบังคับตามฟ้อง และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้ว มิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ โจทก์ชอบที่จะเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นเงิน 200 บาท แต่เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7447/2550
การยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ถือว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ผู้ร้องซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินจากจำเลย ระหว่างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อกัน ผู้ร้องได้เพิ่มเติมปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ส่วนที่เพิ่มเติมปรับปรุงนั้นย่อมเป็นส่วนควบกับที่ดิน เมื่อยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันอย่างถูกต้อง ก็เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้นและมิได้เป็น สิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิอื่นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดเพื่อมา ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องใช้เพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนเจ้า หนี้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2550
การ ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมโดยอ้างว่าพินัยกรรมปลอม เป็นการฟ้องเรียกให้ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดก เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นทายาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2550
โฉนด ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า น. ไปขอรับมรดกที่ดินทั้งหมดเป็นของ น. แต่เพียงผู้เดียวเป็นการไม่ชอบ ย่อมเป็นการฟ้องเรียกร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ อ. ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกอีกคนหนึ่ง ซึ่งหากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ย่อมมีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิมาจาก อ. จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2550
โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยทั้งสามรับ ผิดชำระค่าเสียหาย 1,090,000 บาท แต่มาฎีกาโต้แย้งเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง การคำนวณทุนทรัพย์เพื่อเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจึงต้องคำนวณจากทุนทรัพย์ 1,090,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คู่ความยังโต้แย้งกันอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6197/2550
การ ที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคท้าย ให้แก่เจ้าพนักงานศาล มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 288 แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ได้ไปแจ้งอายัดต่อ เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อห้ามโอนที่ดินพิพาท ก็ไม่อาจถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วกลับนำที่ดิน พิพาทมาขายทอดตลาด โดยไม่รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องร้องขัดทรัพย์เสียก่อนซึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับ คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2550
โจทก์ ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ อันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนราชการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเป็นเรื่องที่โต้เถียงแย่งความเป็นเจ้าของ ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นหลัก ส่วนคำขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์เป็นผลอัน สืบเนื่อง จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคแรก เมื่อที่ดินพิพาทราคา 100,000 บาทเศษ จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาตามพระธรรมนูญศาล ยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องโอนคดีไปให้ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิจารณา พิพากษาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2974/2550
โจทก์ เป็นสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าซึ่งทำได้หลายวิธี จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต 2 รายการ แม้จะเรียกชื่อต่างกัน แต่ก็เป็นหนี้ประเภทเดียวกันคือหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต มูลหนี้ตามฟ้องจึงเกี่ยวข้องเป็นอย่างเดียวกันสามารถรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน ได้โจทก์จึงนำมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกัน ได้ คดีจึงมีทุนทรัพย์ 34,666.57 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้อย่างคดีมโนสาเร่ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 200 บาท ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 190 จัตวา วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยข้อหาในคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้ค่าใช้บัตรเครดิต มาสเตอร์การ์ด หมายเลข 5425 - 5380 - 1022 - 0008 และพิพากษายกคำขอบังคับในส่วนนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2550
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ จำเลยให้การว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็น คดีมีทุนทรัพย์

การคำนวณทุนทรัพย์ของคดีเพื่อเสียค่าขึ้นศาลนั้น จะต้องคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นราคาที่ตกลงจะขายให้แก่จำเลย หาใช่คำนวณจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินไม่ เพราะการประเมินราคาของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นเพียงเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ สำหรับใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมิใช่ราคา ที่ดินที่แท้จริง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินแก่จำเลย 10 ไร่ ไร่ละ 50,000 บาท ขอให้ศาลเพิกถอนและโอนที่ดินกลับเป็นของโจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันจึงมีจำนวน 500,000 บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงนครราชสีมาที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6439/2550
โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยสร้างกำแพงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ยาว 10 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร จำเลยให้การว่า จำเลยสร้างกำแพงบนแนวเขตที่ดินติดต่อ ไม่ได้รุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามคำให้การดังกล่าวจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมา แต่ต้น มิได้เป็นการแย่งการครอบครองไปจากโจทก์ เพราะการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ศาลชั้นต้นจึงยก ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัยเองหาได้ไม่ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและขัดแย้งกับที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การ

คำให้การของจำเลยได้กล่าวแก้ต่อสู้เป็นข้อพิพาทว่าเฉพาะตรงที่ดินพิพาทซึ่ง โจทก์อ้างว่าจำเลยสร้างกำแพงรุกล้ำเป็นของจำเลย อันถือว่าเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งจะต้องให้คู่ความตีราคาทรัพย์พิพาทว่ามีราคาเท่าใด แต่ศาลล่างทั้งสองกลับดำเนินกระบวนพิจารณามาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5504/2550
ตาม บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวัน เดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามข้อความในคำร้องที่ว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นได้ประทับข้อความไว้ในด้านหน้าคำร้องว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วและให้ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงชื่อไว้นั้น ย่อมหมายความถึง การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์

2549 จึงเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาล ฎีกา

การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคน อนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่า ธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งห้าเสียค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยาน หลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าไต่สวนพยานเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งห้าทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2550
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ผู้ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถามีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ พิจารณาคำขออนาถาของตนใหม่ได้ก็เฉพาะเพื่ออนุญาตให้ผู้ขอนำพยานหลักฐานมา แสดงเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าผู้ขอเป็นคนยากจนเท่านั้น หาได้ให้สิทธิแก่ผู้ขอที่จะขอให้ศาลพิจารณาใหม่ในประเด็นว่าคดีของผู้ขอมี เหตุอันสมควรจะอุทธรณ์ด้วยไม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของ จำเลยทั้งสองด้วยเหตุผลที่ว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 7 วัน ย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย ประเด็นที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุสมควรที่จะ อุทธรณ์ย่อมยุติ จำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ในประเด็นดังกล่าว อีกไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอใหม่ก็ได้แต่เฉพาะประเด็น เรื่องจำเลยทั้งสองเป็นคนยากจนเท่านั้น ส่วนการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์นั้นนอกจากผู้ขอจะเป็นคนยากจน แล้ว คดีของผู้ขอต้องมีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมก็ตาม คดีก็ต้องฟังตามข้อยุติว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์

การที่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมมาชำระภายหลัง จากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองฟัง ทั้งกำหนดเวลาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสองนำค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระได้ ล่วงพ้นไปแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาชอบที่จะกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมมาชำระภายหลังจากที่ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนอนาถาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4642/2549
ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 หมายเลข 3 (เดิม) ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดว่า ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย โจทก์ผู้นำยึดและขอถอนการยึดต้องเสียในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ส่วนการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้เจ้า พนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลงกันให้คู่ความที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 296 นั้น หมายถึงเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดในการบังคับคดี ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดราคม ทรัพย์สินที่ยึดเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย ส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นการ ประเมินราคาเบื้องต้นเท่านั้น ยังถือเป็นราคาทรัพย์สินที่แน่นอนแล้วไม่ได้ ดังนั้น หากพฤติการณ์ต่างๆ ปรากฏในภายหลังว่าราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะทำ การยึดนั้นไม่เหมาะสมหรือสูงเกินไป เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเสียใหม่ให้เหมาะสม ได้ และราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นราคา ทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดในการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2549
มูล หนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 7 ข้อหา เป็นมูลหนี้ที่โจทก์ได้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหนี้สินที่จำเลย ทั้งสี่มีอยู่กับเจ้าหนี้เดิมจำนวน 7 ราย แต่เจ้าหนี้เดิมของจำเลยทั้งสี่เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน มูลหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เดิมแต่ละรายไม่มีความเกี่ยว ข้องกัน และมีจำนวนเงินที่แยกออกจากกันได้ จึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแตกต่างกัน ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมข้อหาทั้ง 7 ข้อหาเป็นคดีเดียว และเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดเพียงจำนวนเดียว จึงไม่ถูกต้อง ศาลล่างชอบที่จะจำหน่ายคดีโดยให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ในมูลหนี้แต่ละราย ได้ และการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวเป็นอำนาจทั่วไปของศาล เมื่อเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบที่จะฟ้องรวมกัน ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งให้จำหน่ายคดีเสียได้ เพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องใหม่ให้ถูกต้องภายในอายุความ มิใช่ต้องยกฟ้องโจทก์ และการที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ หรือเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี โจทก์ย่อมสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้โดยเสียค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6735/2548
แม้ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นพิพาท ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และมีคำ สั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำ พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานและ อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ชนะคดี โดยอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในปัญหาอุทธรณ์คำสั่งศาล ชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ เห็นสมควรให้ฟังพยานหลักฐานโจทก์จำเลยเสียก่อนโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำ พิพากษาศาลชั้นต้นที่ขอให้โจทก์ชนะคดี และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่การสืบพยานโจทก์ต่อไปและพิพากษา ใหม่ตามรูปคดี แม้โจทก์อุทธรณ์ขอให้โจทก์ชนะคดีมาด้วยก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาตามคำฟ้องและคำให้การ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษา ใหม่ จึงเป็นกรณีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2548
ศาล ชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยยกเว้น ค่าธรรมเนียมศาลให้เฉพาะแต่บางส่วน หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภายใน กำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย จำเลยอุทธรณ์ขอให้จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือได้รับการยกเว้นค่า ธรรมเนียมทั้งหมด อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกินกำหนดระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เป็นการยื่นอุทธรณ์ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว

การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยยื่นคำ ร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะ เสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยเสียค่าคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและค่าคำร้องฎีกาคำสั่งมา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9014/2547
การ ชำระค่าขึ้นศาลจะต้องชำระเมื่อเวลายื่นฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 4 ชำระเงินให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 4 ได้ยื่นอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหาก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์มาฉบับเดียวกันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7507/2547
โจทก์ เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตาม น.ส.3 ก. โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 เนื่องจาก น.ส.3 ก. ดังกล่าวออกทับที่ดินของบุคคลอื่น และศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนนี้จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. ทั้งไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดชำระค่าธรรมเนียมในกรณีที่ผู้ขอยึดทำการ โดยสุจริต ซึ่งความรับผิดในค่าธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชา ธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระมัดระวังในการรับจำนองที่ดินและนำยึด ที่ดินว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เพราะโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีคำสั่งไปตามคำขอของโจทก์ ดังนั้น จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2547
การ ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอค่าขึ้นศาลบางส่วนคืนโดยอ้างว่าได้ชำระเกินไปกว่าที่จะ ต้องชำระตามกฎหมาย ย่อมเท่ากับเป็นการยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้คำนวณให้ถูกต้องตาม กฎหมาย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168 บัญญัติยกเว้นให้สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชา ธรรมเนียมแต่อย่างเดียวได้ แต่เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่ได้ชำระไปแล้วคืนได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5851/2546
คำ ร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ยื่นต่อศาลครั้งที่ 3 มีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับที่จำเลยยื่นในครั้งแรกและครั้งที่ 2 ซึ่งคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง แม้จะเป็นการยกคำร้องเพราะจำเลยไม่ได้นำพยานมาสืบก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัย ชี้ขาดประเด็นในเรื่องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้นแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องเกี่ยวกับประเด็น ดังกล่าวอีกย่อมเป็นการดำเนินกระบวน พิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วอันเป็นการ ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนอนาถาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคท้าย จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3696/2546
การที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแล้วมีคำสั่งยก คำร้องหรืออนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน ผู้ขอจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้ตน นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนได้แต่เมื่อคดีปรากฏว่าศาล ชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน จึงไม่มีการสืบพยานจำเลยทั้งสองในชั้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาเลย กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคน อนาถาใหม่

การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคน อนาถาจนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอ ที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ กรณีจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งสองเสียค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าวมาจึงต้องคืนแก่จำเลยทั้งสอง ทั้งหมด