Pages

หมายบังคับคดีและการบังคับคดี

มาตรา ๒๗๒  ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ศาลออกคำบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้วในวันนั้น

ในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา และลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทนายความ หรือผู้รับมอบฉันทะจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวให้มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง มิได้อยู่ในศาลในเวลาที่ออกคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา ๑๙๙ ทวิ หรือมาตรา ๒๐๗ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๒๗๓  ถ้าในคำบังคับได้กำหนดให้ใช้เงิน หรือให้ส่งทรัพย์สิน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด ๆ ให้ศาลระบุไว้ในคำบังคับนั้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ อันจะต้องใช้เงิน ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ นั้น แต่ถ้าเป็นคดีมโนสาเร่ศาลไม่จำต้องให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าสิบห้าวันในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ในคดีที่มีเหตุตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ให้ศาลให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับแต่วันที่ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในเวลาที่ออกคำบังคับหรือในภายหลังว่าให้นับแต่วันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในระหว่างที่ระยะเวลาตามคำบังคับยังไม่ครบกำหนดหรือการปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขในคำบังคับยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก็ได้

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคสี่แล้ว คำสั่งนั้นยังคงมีผลต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ขอบังคับคดีภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิกเมื่อสิ้นระยะเวลาเช่นว่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2555 
ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ว่า ผู้ประกันทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาประกันเพราะไม่ได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลย ขอให้ไต่สวนคำร้องในการส่งหมายนัดและงดปรับผู้ประกันทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่ผู้ประกันทั้งสองมายื่นคำร้องครั้งใหม่นี้อ้างว่า คำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างเหตุใหม่ก็ตามแต่ก็เป็นเหตุที่สามารถอ้างได้ตั้งแต่ยื่นคำร้องครั้งแรกและประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และถึงที่สุดไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 เมื่อศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ถ้าผู้ประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ถือว่าผู้ประกันเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการบังคับผู้ประกันไว้ ทั้งไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.พ. ผู้ที่จะบังคับคดีชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง ไม่ใช่ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่จำเลยถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ประกันทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยแจ้งคำสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ผู้ประกันทั้งสองทราบแล้ว วันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีผู้ประกันทั้งสอง ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ป. ผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ประกันทั้งสอง ถือได้ว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีผู้ประกันทั้งสองตามคำสั่งศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2554 
ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยคดีดังกล่าวโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์คดีดังกล่าวเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมบางส่วน ซึ่งจำเลยที่ 2 จะจัดการโอนให้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เป็นข้อตกลงที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ผู้ร้องต้องดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การที่ผู้ร้องไปดำเนินการเพียงขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน แต่ขอให้รอเรื่องไว้ก่อนโดยไม่ยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินตลอดมา จึงยังถือไม่ได้ว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อผู้ร้องไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่ใช่ผู้ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2549 
คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. เพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. อันเป็นการพิพาทในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดาซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 แม้ผู้ร้องจะไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้เพราะคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นก่อนแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ก็เพื่อมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. และโจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่กรรม เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของโจทก์และเป็นผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมีสิทธิที่จะเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2549 
โจทก์ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 2 อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดสิบปีแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่ยึดไว้ให้เสร็จได้แม้จะเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ต่อมาโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์คดีนี้ออกขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องรายนี้ได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้รายนี้แทนโจทก์และกรณีมีความจำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อบังคับคดีต่อไปให้เสร็จสิ้นจึงร้องสอดเข้ามาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2549 
ผู้ร้องประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ ผู้ร้องจึงตกอยู่ในบังคับที่จะต้องบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ด้วย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องสอดขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีเกิน 10 ปี แล้ว ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยได้ ประกอบกับการอนุญาตให้บุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามมาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาล กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นได้พิจารณาเนื้อหาคำร้องขอของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว ชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียตามมาตรา 131 (1) มิใช่ไม่รับคำร้องขอตามมาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องขอจึงไม่ถูกต้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2530 
สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษามีอยู่ก่อนโจทก์ถึงแก่กรรม ย่อมตกทอดได้แก่ทายาทผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิที่จะขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อรับชำระหนี้แทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599และการยื่นคำร้องดังกล่าวไม่จำต้องยื่นภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์มรณะ ตามบทบัญญัติมาตรา 42 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2545 จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600เพื่อให้การบังคับเสร็จสิ้นไปเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และ 44 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2523 
ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรับเงินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วย ตึกแถวให้แก่โจทก์ จำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และ ความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42,44 ดังนั้นศาลชั้นต้น จึงอาจออกคำบังคับแก่ผู้จัดการมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้อง ออกหมายเรียกหรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการมรดกของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยเสียก่อนแต่อย่างใด การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 7 ปีเศษ เป็นการขอให้บังคับคดีภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ก่อนโจทก์แถลงขอให้ออกคำบังคับ โจทก์ย่อมมีสิทธิกระทำได้โดยไม่ต้องให้ผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยแก่จำเลยเพราะคำพิพากษามิได้ กล่าวไว้เช่นนั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2546 
สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยผู้ตายให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมเป็นสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของจำเลย อีกทั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลย และดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์ได้ มิใช่เป็นการเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลยภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วก็มีสิทธิที่จะยื่นได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7880/2553 
การที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องแต่ยังมิได้มีการดำเนินการ ระหว่างนั้นโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในอีกคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ถือว่าผู้ร้องมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทอันจะขอให้จดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นของตนได้ก่อนบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้จำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจบังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว ไม่ต้องมีการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีอีก เมื่อจำเลยไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องภายในเวลาที่ระบุไว้ในคำพิพากษาตามยอมและผู้ร้องได้ไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขอให้ดำเนินการให้แต่ขัดข้องเพราะบุคคลภายนอกยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้ถือว่าผู้ร้องได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เมื่อการบังคับคดียังมีข้อติดขัด ผู้ร้องก็ดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนเสร็จสิ้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2553 
ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงวันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดและมาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ซึ่งหากจำเลยทั้งสองจะขอให้พิจารณาใหม่ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับตามตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือคำขอให้พิจารณาใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายังมิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ระยะเวลา 15 วันดังกล่าวจึงยังไม่เริ่มนับ ศาลชั้นต้นเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 และได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 การส่งคำบังคับโดยการปิดดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 มิถุนายน 2550 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 13 กันยายน 2550 จึงเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นที่สุด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2553 
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีย่อมถึงที่สุดเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 147 วรรคสอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 ตามลำดับจำเลยทั้งสองไม่ได้ขอให้พิจารณาคดีใหม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 15 ธันวาคม 2540 และสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 16 ธันวาคม 2540 โจทก์แถลงขอให้บังคับยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่คดีนี้ถึงที่สุด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2552 
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองที่พิพาทของจำเลยเพื่อบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องและให้จำเลยมีชื่อในทะเบียนที่ดินแทน และผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินคืนผู้ร้อง ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์เพื่อรอฟังผลคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลย ซึ่งคู่ความไม่ได้โต้แย้งคำสั่ง คำสั่งของศาลย่อมเป็นที่สุด ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติม เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำขออ้างว่าโจทก์ขอยึดพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่อาจบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้โจทก์บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์เพียงว่าโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทต่อไปเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ ทั้งเป็นการผิดขั้นตอนของการวินิจฉัยที่ต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เนื่องจากคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องยังมิได้ผ่านการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีจากศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นบังคับชำระหนี้ คำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีโดยมีลำดับก่อนหลังไว้ชัดแจ้งโดยต้องบังคับจำนองก่อน เมื่อได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โจทก์ก็ย่อมไม่อาจขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นการบังคับคดีเกินกว่าข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม การร้องขอให้บังคับคดีต้องกระทำภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เมื่อการบังคับทรัพย์จำนองไม่อาจกระทำได้เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์จนศาลมีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ไว้ก่อน ทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยภายในกำหนดของจำเลยภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ดังนั้น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายหลังการยึดทรัพย์จำนองเกิน 10 ปี แล้วขายได้เงินไม่พอชำระหนี้ และโจทก์ขอบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม ศาลย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะยื่นคำขอหรือไม่ก็ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3325/2552 
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2539 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 153,234.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แต่คู่ความยังมีสิทธิฎีกาในข้อกฎหมาย หรือขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสี่ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคำพิพากษาจึงถึงที่สุดในวันที่ 18 ตุลาคม 2539 ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ซึ่งจะครบกำหนดสิบปีในวันที่ 18 ตุลาคม 2549 ผู้ร้องยื่นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีวันที่ 16 ตุลาคม 2549 ยังอยู่ภายในระยะเวลาสิบปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำขอของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบและการร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสินระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6485/2552 
การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 21 มิถุนายน 2539 และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 โดยโจทก์มีสำเนาคำแถลง สำเนาคำขอยึดทรัพย์และสำเนาหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องแสดงให้เห็นว่า หลังจากศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบและแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7959 ซึ่งเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2542 อันเป็นการดำเนินคดีตามขั้นตอนในการขอให้บังคับคดีครบถ้วนภายใน 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปทำการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์ที่ยึดไว้ให้เสร็จได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3321/2552 
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นหมายถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2540 จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นอุทธรณ์คดีจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาบังคับคดีต้องนับตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาที่ผู้ร้องจะขอบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7190/2538 
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน10ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลใดก็ตามแต่เมื่อมีการอุทธรณ์หรือฎีกาผลของคำพิพากษาอาจจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้แล้วแต่กรณีดังนั้นกรณีที่มีการฎีการะยะเวลาการบังคับคดีก็ต้องนับจากวันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแม้ในชั้นฎีกาจำเลยไม่ได้ขอทุเลาการบังคับคดีและโจทก์มีสิทธิขอบังคับคดีได้ก็เป็นคนละเรื่องกับกำหนดเวลาในการบังคับคดี กำหนดเวลาในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271เป็นเรื่องระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่ใช่อายุความไม่อาจนำเรื่องการเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/12มาใช้บังคับได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942/2538 
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่17มีนาคม2521โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามภายในสิบปีนับแต่วันที่17มีนาคม2521ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271แม้โจทก์จะได้ขอหมายบังคับคดีเมื่อวันที่12มิถุนายน2521แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่2และที่3เมื่อวันที่13มิถุนายน2521และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดในวันที่10กุมภาพันธ์2530ก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดีเมื่อหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามโจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวแล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้(มติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่2/2537) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3261/2537 
โจทก์เคยฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลย แต่จำเลยยังครอบครองที่พิพาทอยู่ตลอดมาโดยที่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาจนครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ต่อมาโจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่พิพาทเป็นคดีนี้ ดังนี้เป็นการขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้และไม่เป็นฟ้องซ้ำแต่อย่างใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2542 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย กำหนดเวลาบังคับคดีเป็นเรื่องระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่ใช่อายุความ ไม่อาจนำเรื่องการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 มาใช้บังคับกับหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ทำถึงโจทก์ภายหลังที่ล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดีแล้วนั้นได้หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่การสละประโยชน์แห่งอายุความ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนังสือดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7258/2540 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา และมาตรา 279 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานตามปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อปรากฏว่าวันครบกำหนดสิบปีที่จะบังคับคดีได้เป็นวันอาทิตย์ เมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่จะขอบังคับคดีได้เป็นวันหยุดทำการโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิที่จะขอบังคับคดีได้ถึงในวันจันทร์อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2548 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมือ่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2541 
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2528 การที่โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2538 และ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 โดยโจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันเดียวกันนั้น ถือได้ว่าโจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและแถลงต่อ เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาอันเป็นการ ดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้บังคับคดีแก่จำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ดำเนินการขอให้บังคับคดีแก่จำเลยภายในกำหนดเวลา สิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี จะไปบังคับคดีเมื่อใดนั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานของ เจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปบังคับคดี เกินสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้ บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2540 
ผู้ร้องจะหลุดพ้นจากการค้ำประกันชั้นทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนและมีสิทธิขอถอนโฉนดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางเป็นประกันคืนได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและไม่แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและผู้ร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา271ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำแถลงของผู้ร้องที่อ้างเหตุดังกล่าวโดยมิได้ไต่สวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงนั้นเสียก่อนจึงไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077 - 3078/2550 
ข้อความตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 มีใจความว่า "...ข้าพเจ้า นายกิตติวัฒน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต... และนายวิรัช ศรีสวัสดิ์... ผู้รับมอบอำนาจขอทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อศาลนี้ว่า เมื่อคดีถึงที่สุดโจทก์แพ้คดีจำเลย และไม่สามารถนำเงินมาชำระให้จำเลยได้ตามคำพิพากษา ข้าพเจ้ายอมให้บังคับคดีเอาจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 197889, 197890 ตำบลประเวช อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาสำนักเพชรบุรี กรุงเทพมหานคร เลขที่ แอลจี. สพ.201/2533 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาวางประกันต่อศาลแล้ว" ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระและยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ประกันทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันทั้งสองจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือศาลฎีกาศาลใดศาลหนึ่งพิพากษากลับให้จำเลยแพ้คดี หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 ให้แก่โจทก์และทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 แต่ก็เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปโดยผิดหลง และศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 แล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 197889 และ 197890 แก่โจทก์ และการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่ามีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ ผู้ค้ำประกันทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ตามคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2546 วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 8 มกราคม 2547 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 กรณีจึงต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าว ต้องถือว่าศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นการบังคับคดีย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะบังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปโดยไม่มีเวลาครบกำหนด ศาลฎีกาจึงกำหนดเวลาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2543 
การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอนขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 275 และ 278 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเคยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยขณะที่ยังเป็นใบจอง โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนแล้วภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา แต่ในขณะยึดที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีจึงจ่ายเงินจากการขายทอดตลาดให้โจทก์ไม่ได้ เมื่อจำเลยขอออกโฉนดที่ดินแล้วและโจทก์มาขอนำยึดที่ดินดังกล่าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง แม้จะเกินสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแต่ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ไว้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดิม ของจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7262/2542 
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือสั่งก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้บังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 10 ปี ไม่ ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อโจทก์ดำเนินการบังคับคดีก็ถูกจำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์และฎีกาในชั้นบังคับคดีตลอดมาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้แล้วเสร็จได้เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอด และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอายัดที่ดินตามคำร้องของโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับผลตามคำพิพากษาไว้แล้ว ดังนั้น แม้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาโจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2554 
ผู้ประกันขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 โดยนำสมุดเงินฝากประจำของธนาคาร ก. มาเป็นหลักประกัน เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีหนังสือแจ้งธนาคาร ก. ถอนเงินฝากมาชำระค่าปรับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้บังคับเอาแก่ทรัพย์ที่เป็นหลักประกันแล้ว เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนดำเนินการให้ธนาคารจัดส่งเงินตามสมุดเงินฝากประจำดังกล่าวมาชำระค่าปรับเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานศาลมิได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลชั้นต้นก็เป็นความบกพร่องของเจ้าพนักงานศาลซึ่งเป็นเรื่องทางธุรการ กรณีไม่ต้องบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องออกหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 อีก ดังนี้ แม้จะล่วงเลยระยะเวลามากว่า 10 ปี ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีเหตุคืนหลักประกันให้ผู้ประกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2537 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี คือต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีก่อน ขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา บทบัญญัตินี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงแต่ขอหมายบังคับคดีภายใน10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะดำเนินวิธีบังคับอย่างไรต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลา 10 ปีแล้วก็ได้เพราะจะเป็นผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถูกบังคับคดีโดยไม่มีกำหนดเวลา และกำหนดเวลา 10 ปีตามมาตรานี้ ตามปกติย่อมต้องนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่จำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย แต่โดยที่หนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติซึ่งโจทก์ร้องขอให้บังคับคดีนี้นั้น จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวดตามจำนวนเงินที่ระบุและภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นคราว ๆโดยกำหนดเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 เมษายน 2524 หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีเช่นนี้ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมเลย กำหนดเวลา 10 ปี ที่โจทก์จะต้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524อันเป็นวันแรกที่โจทก์อาจขอให้บังคับคดีแก่จำเลยได้เป็นต้นไปโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ทำการยึดทรัพย์ของจำเลย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2534 จึงล่วงเลยเวลาที่บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8837/2551 
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คำพิพากษาจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2539 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง โจทก์ขอให้ศาลแพ่งธนบุรีออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2549 และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ผู้แทนโจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามมาตรา 271 แล้ว ดังนั้น แม้ทรัพย์สินของจำเลยที่จะยึดอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีจึงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับจังหวัดขอนแก่น ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินแทน และผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่น ไปยึดทรัพย์สินของจำเลย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ก็เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่ยึดดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2538 
การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271ดังนั้นหากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วขายทอดตลาดได้เงินไม่คุ้มหนี้และโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีอีกโจทก์จดแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้เพิ่มเติมเมื่อเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วไม่ได้ ปัญหาในชั้นนี้เป็นข้อโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิในการบังคับคดีโดยตรงว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271กำหนดไว้หรือไม่อันเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายวิธีสบัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะจึงไม่อาจนำบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติมาใช้บังคับแก่กรณีได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5709/2537 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและในการร้องขอให้บังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวคือ ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีก่อน ขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วจากนั้น ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด โจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา แต่ได้นำยึดทรัพย์สินเฉพาะของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ แม้โจทก์ยังมิได้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นขอให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 2ซึ่งอยู่ภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แต่เนื่องจากที่ดินอยู่นอกเขตศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นจึงได้มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ช่วยบังคับคดีแทน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วจะไปยึดที่ดินเมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วจะไปทำการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 เกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้วภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2531 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินวิธีการบังคับตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนดสิบปี คือ ต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีก่อน ขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด บทบัญญัตินี้ไม่ได้หมายความว่าโจทก์เพียงแต่ขอหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วโจทก์จะดำเนินวิธีการบังคับคดีอย่างไรต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีไปแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกบังคับคดีโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อโจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาดังกล่าวและนำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยมิได้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เป็นครั้งแรกเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2548 
โจทก์ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนในการร้องขอให้บังคับคดีแล้ว แม้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2536 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอถอนการยึดที่ดินพิพาทและขอถอนการบังคับคดีไปแล้ว แต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลยโดยให้โจทก์มีอำนาจบังคับคดีต่อไปและระงับการแจ้งถอนการยึดไปยังเจ้าพนักงานที่ดินโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับเงินที่จำเลยนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำแถลงของโจทก์ แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้น เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์บังคับคดีต่อไปได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ตามคำแถลงของโจทก์ที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ซึ่งยังไม่พ้น 10 ปี นับถัดจากวันครบกำหนดที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมคือวันที่ 1 มิถุนายน 2530 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5468/2536 
ตัวแทนโจทก์ในการบังคับคดียื่นคำแถลงขอถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยและด้วยความสำคัญผิด ตัวแทนโจทก์ได้ระบุในคำแถลงด้วยว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว ทั้งที่ความจริงจำเลยยังชำระไม่ครบ การยื่นคำแถลงขอถอนการยึดทรัพย์จึงไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิเด็ดขาดในการบังคับคดีจำเลย โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนข้อความที่ระบุว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วได้เพื่อให้เป็นไปตามความจริง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2530 
ป.วิ.พ. มาตรา 271 บังคับให้ฝ่ายชนะคดียื่นคำร้องขอบังคับคดีภายใน 10 ปี หาใช่บังคับคดีให้เสร็จภายใน 10 ปีไม่ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอหมายบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาแล้ว แม้จะมีการยึดทรัพย์หลังจากล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปีเนื่องจากหาที่ดินที่จำเลยจำนองไว้ไม่พบ ก็ยังคงอยู่ในระหว่างดำเนินการบังคับคดี สิทธิของโจทก์ในการที่จะให้มีการบังคับคดียังคงมีอยู่จนกว่าจะมีการบังคับคดีเสร็จสิ้น จำเลยจึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการบังคับคดีได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2543 
กำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เป็น ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่เรื่องอายุความ การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดีหาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปไม่ เช่นนี้ หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้อีก หรือขอบังคับคดีต่อไป จะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย และการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้ของผู้ร้องขอเฉลี่ย ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยจากทรัพย์สินของจำเลยเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2529 
การร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในกำหนด10ปีคือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วจากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำแถลงการที่ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอย่างเดียวเท่านั้นโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอีกจนพ้นกำหนดเวลา10ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพราะขาดอายุการบังคับคดีและผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยเพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2551
ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้นับแต่นั้น การที่โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทันทีแต่ยินยอมให้จำเลยผ่อนชำระ หนี้ตามคำพิพากษาต่อไปอีกมิใช่เป็นการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะบังคับคดีแก่ จำเลย ไม่มีผลทำให้หมายบังคับคดีสิ้นผลหรือเสียไป ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามที่โจทก์ให้โอกาส โจทก์ย่อมขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อ เอาเงินมาชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้ ไม่จำต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีใหม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2550
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมได้อ่านคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับให้คู่ความฟัง แล้ว จึงให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าสำนวน และที่หน้าสำนวนระบุข้อความของคำบังคับไว้ว่า ให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมาย โดยมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นลงนามในฐานะเป็นผู้ออกคำบังคับ ข้อความที่ระบุไว้ที่หน้าสำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งคำบังคับไปยังจำเลยแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องออกคำบังคับซ้ำอีก
โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี แม้ท้ายคำขอระบุยอดหนี้คำนวณถึงก่อนยื่นคำขอ 1 วัน ก็ไม่ถือว่าโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีผิดแผกแตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอม คำขอดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899 - 4901/2549
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 โดยอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 90/12 (9) กล่าวคือหากผู้ทำแผนจะกระทำการจำหน่าย จ่าย โอนหรือชำระหนี้ ก่อหนี้หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินนอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนิน การค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้แล้วจะต้องได้รับอนุญาตจากศาล ที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อน เมื่อการขอเบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ ลดจำนวนเงินที่ผู้ทำแผนมีสิทธิเบิกจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ลง แต่ผู้ทำแผนได้เบิกเงินเกินจำนวนที่ศาลมีคำสั่งไปก่อนแล้ว ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่ต้องส่งคืนเงินส่วนที่เบิกเกินไปให้แก่ลูกหนี้ และถือได้ว่าคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งซึ่งจะต้องมีการบังคับคดีศาลจึงมี อำนาจออกคำบังคับให้ผู้ทำแผนปฏิบัติตามได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 272 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา 14 หากผู้ทำแผนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าวผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมขอให้ศาล ออกหมายบังคับคดีต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545
โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่า โฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอน สิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนอง ชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 275,276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้า หนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบ สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดิน เพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5310/2544
นอกจากโจทก์ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับจำเลยโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหายแล้ว โจทก์ยังอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินที่ เหลือให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนเพื่อให้การซื้อขายที่ดินเสร็จสิ้นไปสมเจตนา ของโจทก์ และจำเลยด้วย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้ จำเลยเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากมีคำพิพากษาถึงที่สุดจำเลยได้เสนอชำระ หนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์แล้วและได้นำโฉนดที่ดินที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ โจทก์พร้อมค่าเสียหายกับดอกเบี้ยมาวางศาลเพื่อให้โจทก์มารับไปดำเนินการให้ เป็นไปตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยได้ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีหนี้ที่โจทก์จะขอบังคับเอาจากจำเลยทั้งสองอีกต่อไป แต่โจทก์ยังคงมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาคือ เงินค่าที่ดินที่เหลือเป็นการตอบแทนเพื่อให้การซื้อขายที่ดินเป็นอันเสร็จ สิ้นไป ด้วยเหตุนี้เมื่อโจทก์ได้รับคำบังคับโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยภายในกำหนดตามคำบังคับเมื่อโจทก์ ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขอหมายบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 275

การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยภายในกำหนดตามคำ บังคับ ถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิในการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลย หนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่กันย่อมเป็นอัน ระงับไป แม้คำพิพากษามิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือ ไว้ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ ทั้งกรณีไม่ใช่เป็นการย่นระยะเวลาบังคับคดีอันจะขัดกับประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

มาตรา ๒๗๖ ถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำ พิพากษา หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้ว และระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไป แล้ว และคำขอนั้นมีข้อความระบุไว้ครบถ้วนให้ศาลออกหมายบังคับคดีให้ทันที หมายเช่นว่านี้ ให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เว้นแต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นจะได้นำหมายไปให้แก่เจ้าพนักงานเอง ส่วนลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้ส่งสำเนาหมายให้ต่อเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้จัดการส่งแต่ถ้ามิได้มีการส่งหมายดังกล่าวแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแสดงหมายนั้น

ในกรณีออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าศาลสงสัยว่าไม่สมควรยึดทรัพย์สินนั้น ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ขอยึดวางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรในเวลาที่ออกหมายก็ได้ เพื่อป้องกันการบุบสลายหรือสูญหายอันจะพึงเกิดขึ้นเนื่องจากการยึดทรัพย์ผิด

ในกรณีที่ออกหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งมอบทรัพย์สินกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ศาลระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีลงในหมายนั้นตามมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ศาลกำหนดการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้ทำได้โดยทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีที่วัตถุแห่งหนี้ให้กระทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดิน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9846/2544
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยสั่งอายัดเงิน 450,000 บาท ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากเทศบาลเมือง ส. และเทศบาลเมือง ส. ได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งอายัด ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่ โจทก์ โดยในคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ใน ระหว่างการพิจารณาคำสั่งอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงยังคงมีผลใช้บังคับ ต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260(2) เมื่อโจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2541 อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และได้มีการชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับ คดี นับตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ดังกล่าวก่อนสิ้นระยะเวลา14 วันนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายบังคับคดีอันถือได้ว่าเป็นวันที่มีการชำระเงินหรือ ส่งมอบทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า หาใช่นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินอันเป็น ทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ผู้ร้องอ้างไม่

มาตรา ๒๗๗ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเชื่อว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่ จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลทำการไต่สวนและออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ เชื่อว่าอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์มาในการไต่สวนเช่นว่านั้น

เมื่อมีคำขอเช่นว่านี้ ให้ศาลทำการไต่สวนตามกำหนดและเงื่อนไขใด ๆ ที่เห็นสมควร

ใน คดีมโนสาเร่ หากศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นมาไต่สวนเกี่ยวกับ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนออกหมายบังคับคดี แล้วจดแจ้งผลการไต่สวนไว้ในหมายบังคับคดีด้วยก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2539
ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่าจากการตรวจสอบหลักฐานบัญชีงบดุลของจำเลยณวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ระบุว่าจำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าที่จำเลยเป็นหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)สาขาลาดพร้าว111 ตามที่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้และมากกว่าเงินฝากในบัญชีกระแสราย วันที่จำเลยเปิดไว้ต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)สาขาคลองจั่น อีกบัญชีหนึ่งทั้งทราบจากเจ้าหน้าที่ธนาคารว่ามีทรัพย์สินวางเป็นประกันไว้ ต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)สาขาลาดพร้าว111 แต่จำเลยได้ย้ายสำนักงานโดยไม่ทราบว่าย้ายไปอยู่ที่ใดและส.ผู้จัดการธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)สาขาลาดพร้าว111ไม่ยินยอมให้ตรวจทรัพย์สินที่จำเลยวางประกันดัง นี้ตามสำเนางบดุลของจำเลยที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้องเป็นการระบุสินทรัพย์ อย่างกว้างๆไม่มีรายละเอียดและเป็นงบดุลที่แสดงสินทรัพย์เพียงวันที่ 31ธันวาคม2534ก่อนโจทก์ยื่นคำร้องเป็นเวลาเกือบ2ปี6เดือนระยะเวลาดังกล่าว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไม่มีทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ก็ได้เนื่องจากการ ประกอบการงานของจำเลยส่วนหลักประกันที่วางไว้ต่อธนาคารนั้นก็ไม่ปรากฏว่า เป็นหลักประกันด้วยทรัพย์สินอะไรแน่ชัดดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบโดย แน่ชัดว่าจำเลยมีทรัพย์ที่สามารถระบุจำนวนชนิดและประเภทได้มากกว่าที่ปรากฏ ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันในธนาคารทั้งสองแห่งที่โจทก์ทราบทั้งเงินของจำเลย ที่ปรากฏทางบัญชีก็ไม่พอชำระหนี้โจทก์เหตุผลตามคำร้องทำให้โจทก์เชื่อว่า จำเลยมีทรัพย์สินที่จะถูกบังคับมากกว่าที่โจทก์ทราบโดยมีว.กรรมการผู้มี อำนาจกระทำการแทนจำเลยและส.ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดที่อาจจะทราบถึงความมีอยู่ที่แท้จริงแห่งทรัพย์สินของจำเลยคำร้องของ โจทก์จึงมีเหตุสมควรที่จะหมายเรียกบุคคลทั้งสามมาทำการไต่สวนตามที่บัญญัติ ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา277

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2531
จำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้จำนองที่ดินเป็นเงินจำนวน 30ล้านบาท เงินจำนวนนี้อาจมีเหลืออยู่อันเป็นเหตุผลพิเศษที่โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สิน ที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบ จึงมีเหตุให้ศาลทำการไต่สวนและออกหมายเรียกจำเลยมาให้ถ้อยคำตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 277

โจทก์ทราบเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องอยู่แล้วเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องสืบ เสาะหาราคาเองว่าทรัพย์ที่จำนองไว้ราคาเท่าใดและจำนองไว้เท่าใด ทั้งคำร้องของโจทก์ก็ไม่ได้เจาะจงระบุชื่อนามสกุลบุคคลที่ขอให้ศาลหมายเรียก มาเพื่อให้ศาลได้พิเคราะห์ถึงเหตุผลว่าบุคคลดังกล่าวจะสามารถให้ถ้อยคำที่ เป็นประโยชน์จริงหรือไม่ โจทก์จะขอให้หมายเรียกเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลย ผู้รับโอนและเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังมาให้ถ้อยคำไม่ได้

มาตรา ๒๗๘ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งภาคนี้ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับ คดี นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือถ้าหมายนั้นมิได้ส่งนับแต่วันออกหมายนั้นเป็นต้นไป ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอัน ที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้กับมีอำนาจ ที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด ทั้งมีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเงินรายได้จากการนั้นและดำเนินวิธีการบังคับทั่ว ๆ ไปตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี รวมทั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีได้โดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานศาล

ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้รับผิดในการรักษาไว้โดยปลอดภัย ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารทั้งปวงที่ยึดมาหรือที่ได้ชำระหรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานตามหมายบังคับคดี

ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกแล้วรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งวิธีการบังคับทั้งหลายที่ได้จัดทำไป และรายงานต่อศาลเป็นระยะ ๆ ไป

ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมอบหมายให้บุคคลอื่นปฏิบัติการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ให้หักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายนี้ เพื่อให้กรมบังคับคดีพิจารณาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคสี่โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10078/2551
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่ง สิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีเข้าสู่ศาล ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมาย วิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย สารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิ เรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งห้าในทางแพ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ โจทก์ รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนอง ผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งห้าในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งห้า เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำ พิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สิน ของจำเลยทั้งห้าไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอด ตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย ทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่

โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาในเหตุดังกล่าวโดยตรงขึ้นมายังศาลสูง ก็ชอบที่ศาลจะต้องกล่าวในคำพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับคดียึด ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คู่ความและเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติให้ บรรลุผลตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาให้ครบถ้วนตามคำขอท้ายฟ้องของ โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3805/2550
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 ปรากฏว่ายังไม่ครบกำหนดที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลชั้นต้นจึงไม่ออกหมายบังคับคดีให้ตามคำขอของโจทก์ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 6 เพื่อขายทอดตลาดโดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองของ จำเลยที่ 6 จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 278 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการเพิกถอนการยึดทรัพย์จำนองของจำเลย ที่ 6 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเสีย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 6 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 6 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 6 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการเพิกถอน จึงไม่มีกรณีที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและมีคำ สั่งระงับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2549
ภายใต้บังคับบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับคดีฯ เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอัน ที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาวาง ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา รวมทั้งมีอำนาจรวบรวมเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำ พิพากษาโดยวิธีอายัดเงินเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 278 และมาตรา 282 (3) หรือในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัด ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้ตาม มาตรา 311 วรรคสอง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าเช่าที่ลูกหนี้ตามคำ พิพากษามีสิทธิจะได้รับจากผู้คัดค้านไปยังผู้คัดค้าน จึงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการได้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใด ส่วนผู้คัดค้านมีสิทธิปฏิเสธหรือโต้แย้งได้โดยการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 312 วรรคหนึ่ง ถ้าคำสั่งอายัดไม่มีการคัดค้านหรือศาลมีคำสั่งรับรองตามวรรคหนึ่งแล้วผู้คัด ค้านไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านและ ดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้คัดค้านเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามมาตรา 312 วรรคสอง มิใช่หน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกกรรมการบริษัทผู้คัดค้านมาไต่สวนและ มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าเช่าที่อายัดไปยังเจ้าพนักงานบังคดีหาได้ ไม่ ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าเช่าที่อายัด และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินที่ให้ผู้คัดค้านส่งเงินที่อายัดไปยังเจ้า พนักงานบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2545
ตามคำร้องของผู้ร้องข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าโจทก์ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกไปทำการ ยึดทรัพย์สินของจำเลยในบ้านของผู้ร้อง และเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตตามที่โจทก์ร้องขอเท่านั้น แต่ยังมิได้ทำการยึดทรัพย์สินใด ๆ ในบ้านของผู้ร้องกรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิ เมื่อไม่มีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมายแพ่งศาลจะสั่งให้เพิกถอนคำ สั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยห้ามมิให้ดำเนินการบังคับคดีภายในบ้านของผู้ ร้องไม่ได้

มาตรา ๒๗๘/๑ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมไปรษณียากร กรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับ คดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้าการส่งเอกสารไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในเอกสารหรือมอบหมาย เอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้ว หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่เจ้า พนักงานบังคับคดีเห็นสมควรกำหนดได้ล่วงพ้นไปแล้ว นับ ตั้งแต่เวลาที่เอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้หรือการโฆษณา หรือวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552
การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้อง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้รับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมาย

มาตรา ๒๗๙ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล

ในการที่จะดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อที่จะค้นสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ เช่น บ้านที่อยู่ คลังสินค้า โรงงาน และร้านค้าขาย ทั้งมีอำนาจที่จะยึดและตรวจสมุดบัญชี หรือแผ่นกระดาษ และกระทำการใด ๆ ตามสมควร เพื่อเปิดสถานที่ หรือบ้านที่อยู่หรือโรงเรือนดังกล่าวแล้วรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่น ๆ

ถ้ามีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7258/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่ วันมีคำพิพากษา และมาตรา 279 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระ อาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานตามปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อปรากฏว่าวันครบกำหนดสิบปีที่จะบังคับคดีได้เป็นวันอาทิตย์ เมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่จะขอบังคับคดีได้เป็นวันหยุดทำการโจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิที่จะขอบังคับคดีได้ถึงในวันจันทร์อัน เป็นวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4774/2539
เมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่2มีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์สามารถนำยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ภายในบ้านของจำเลยที่2ผู้แทนโจทก์ก็ควรขอให้เจ้า พนักงานบังคับคดีตามมาตรา279วรรคสองโดยดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อค้นบ้าน ของจำเลยที่2และกระทำการใดๆตามสมควรเพื่อเปิดบ้านดังกล่าวซึ่งถ้ามีผู้ขัด ขวางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถจะร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานตำรวจ เพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 279วรรคสามแต่ผู้แทนโจทก์ก็ไม่ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการเช่น นั้นกลับแถลงขอยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวของ จำเลยที่2โดยแถลงว่าจำเลยที่2ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินและบ้านดัง กล่าวการที่โจทก์โดยผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินและบ้านของจำเลยที่2เช่นนั้นจึง ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่2เกินกว่าที่จำเป็นแก่ การบังคับคดีโจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่2ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม มาตรา284วรรคสองและต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในการ ยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำ พิพากษาที่จำเลยที่2ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1381/2537
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของสามีโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในหนี้สินที่สามีโจทก์ต่อจำเลยที่ 1ไปตามช่างกุญแจมาไขประตูบ้านที่โจทก์เช่าเพื่อยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ โดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 279 วรรคสองบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำการตามสมควรเพื่อเปิด สถานที่หรือบ้านที่อยู่ของลูกหนี้หรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ ได้ ดังนี้แม้สามีโจทก์จะไม่ได้เป็นผู้เช่า แต่เมื่ออยู่ในบ้านที่เช่าด้วยก็เท่ากับปกครองบ้านหลังดังกล่าวร่วมกับโจทก์ ด้วย จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ในบ้านดังกล่าวได้ ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้รักษาทรัพย์ที่ถูกยึดนำ ลูกกุญแจลูกใหม่มาใช่ประตูบ้าน หลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ไว้แล้วทำให้โจทก์เข้าบ้านไม่ ได้นั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้อยู่บ้านถึง 7 เดือนแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์ที่ถูกยึดสูญหาย จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2521
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมเป็นผู้ยึดถือและมีสิทธิครอบครองที่ดินนั้นกับมีหน้าที่รับผิดชอบในการ ดูแลรักษาจนกว่าจะเสร็จสิ้นการบังคับคดีถ้าปรากฏว่ามีผู้บุกรุกเข้ามาอยู่ใน ที่ดินดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการครอบครองของพนักงานบังคับคดี ก็ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่จะให้การ บังคับคดีสำเร็จลุล่วงไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบให้โจทก์เป็นผู้รักษาที่ดินที่ยึดไว้หาทำให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีหมดอำนาจหน้าที่และพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 ไม่

โจทก์ผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้รักษาทรัพย์ที่ยึด ไว้ยื่นคำแถลงต่อศาลว่ามีผู้บุกรุกที่ดิน ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแต่เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ดำเนินการอย่างไร ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่ไต่สวนคำแถลงของโจทก์แล้วสั่งการอย่างหนึ่งอย่าง ใดต่อไปตามที่เห็นสมควร