Pages

ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี


มาตรา ๒๘๗  บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ได้แก่

(๑) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้อง ให้รวมถึงลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง ผู้ทรงสิทธิเรียกร้อง หรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นด้วย

(๒) บุคคลผู้มีทรัพยสิทธิหรือได้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี

(๓) บุคคลซึ่งได้ยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๓๒๓ มาตรา ๓๒๔ มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๙ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี

(๔) บุคคลผู้เป็นเจ้าของรวมหรือบุคคลผู้มีบุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นตามมาตรา ๓๒๒ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี

(๕) บุคคลอื่นใดซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุแห่งการดำเนินการบังคับคดีนั้น

มาตรา ๒๘๘  นอกจากสิทธิอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้แล้ว ให้ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิดังต่อไปนี้

(๑) อยู่รู้เห็นด้วยในการดำเนินการบังคับคดีที่ตนมีส่วนได้เสีย แต่ต้องไม่ทำการป้องกันหรือขัดขวางการบังคับคดี รวมทั้งเข้าสู้ราคาหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด

(๒) ขออนุญาตตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีทั้งหมดหรือแต่บางฉบับ หรือขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคัดหรือรับรองสำเนาเอกสารนั้นโดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่ระบุไว้ในตาราง ๒ ท้ายประมวลกฎหมายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2551
การที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยตกลงจะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในหนังสือสัญญาซื้อรถยนต์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้แจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบและดำเนินการเปลี่ยนให้ผู้ร้อง เป็นผู้เช่าซื้อแทน ทั้งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อหาใช่ผู้ร้องชำระไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อนำรถยนต์คันพิพาทมาขายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น รถยนต์คันพิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งระงับการทำนิติกรรมทางทะเบียนของรถยนต์ คันพิพาท ไม่ถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่มีการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2551
ป.วิ.พ.มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่ง เป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาทและปิดที่บ้านของจำเลย โดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลยล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดา บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการ บังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นรวมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและ ส. ผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมี 2 ฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตาย มาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2551
ผู้ร้องแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทเพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่ง ชาติและผู้ร้องยังไม่ยื่นขอกับส่วนเงินที่จะได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท เหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของ ผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องบรรยายคำร้องเพียงว่า ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และหากให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไปจะมีปัญหาโต้แย้งระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็น ผู้ครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งกับผู้ซื้อ โดยไม่ปรากฏจากคำร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิ ใด จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่ดินพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2550
ข้อโต้แย้งที่ว่าราคาทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดต่ำหรือไม่ เป็นข้อโต้แย้งหรือส่วนได้เสียของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 280 โดยตรง ไม่เกี่ยวกับผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงผู้เข้าสู้ราคาแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างหรือฎีกาในประเด็นดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5394/2550
ป.วิ.พ.มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้า พนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวน ต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เป็นเหตุให้มีการอนุมัติขายทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้แก่ผู้ซื้อในราคาสูงสุดซึ่งต่ำกว่าราคาประเมิน ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้อง เสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใดๆ โดยเฉพาะ หรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการใดๆ ตามที่เห็นสมควร เมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ แม้ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดจะเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ได้ การขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคาที่สมควรหรือไม่ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 โดยตรง และมีสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่จะคัดค้านว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีราคาต่ำจำนวนเกินสมควร ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้า พนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดในทางทรัพย์สิน ที่บังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104/2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 32 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศของ เจ้าพนักงานบังคับคดี อ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 67987 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และบ้านเลขที่ 32 และผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลชั้นต้นเป็นอีกคดีหนึ่งเพื่อ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อผู้ร้องทั้งสองเป็นเพียงผู้ที่ได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาล และแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิครอบครองในบ้านเลขที่ 32 และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 67987 ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 280 ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีและ ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี

มาตรา ๒๘๑ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอาจมาอยู่ด้วยในเวลาบังคับ คดีนั้น แต่ต้องไม่ทำการป้องกันหรือขัดขวางแก่การบังคับคดี บุคคลที่กล่าวนั้นอาจร้องขอสำเนาบันทึกที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำขึ้นทั้ง สิ้นหรือแต่บางฉบับอันเกี่ยวด้วยวิธีการบังคับคดีนั้นโดยเสียค่าธรรมเนียม ตามที่กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6524/2539
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 281 และมาตรา 292 แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะให้งดการบังคับคดีไว้ ชั่วคราวได้โดยจะต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้งดการบังคับคดีไว้ ชั่วคราว แต่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแม้จะอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดี โจทก์ก็ไม่มีสิทธิป้องกันหรือขัดขวางแก่การบังคับคดีได้ การบังคับคดีจะต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้ไปอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดีก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็น ความผิดของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนผิดด้วยในการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขาย ทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไป

ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อไปเป็นเรื่องที่เจ้า พนักงานบังคับคดีเห็นว่าใกล้เคียงกับราคาประเมินของทางราชการจึงเป็น ดุลพินิจของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่คดีนี้เป็นเรื่องความเสียหายที่ทรัพย์ของโจทก์ถูกขายทอดตลาดไปโดยจำเลย ไม่ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ชั่วคราวตามที่ตกลงไว้ กับโจทก์จึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่อาจพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้

การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดหรือผิดสัญญานั้น ต้องพิเคราะห์รายละเอียดคำฟ้องทั้งฉบับ มิใช่พิเคราะห์เฉพาะถ้อยคำบางคำในฟ้องเท่านั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์โจทก์เพื่อขายทอดตลาดนำ เงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก่อนถึงกำหนดวันขายทอดตลาดโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์ยอมชำระหนี้ตามคำ พิพากษาโดยชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ตกลงกันบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดโดยโจทก์สั่งจ่ายเช็คเป็นงวด ๆให้แก่จำเลยไว้ จำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ ครั้นถึงกำหนดวันนัดขายทอดตลาด จำเลยไม่ดำเนินการตามที่ตกลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยเป็นการผิดข้อตกลงและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญา แม้ในข้อหาหรือฐานความผิดจะระบุว่าละเมิดและในคำฟ้องจะมีคำว่าเป็นละเมิดต่อ โจทก์นั้นก็เป็นการกล่าวเกินเลยไปเท่านั้น หาทำให้ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดไปด้วยไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโดยเห็นว่าเป็นเรื่องละเมิด นั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์เห็นว่าไม่ขาดอายุความเพราะเป็นเรื่องผิดสัญญาย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาจึงชอบแล้ว

แม้ไม่มีข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายไว้ แต่การที่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยว่าจำเลยต้องไปแจ้งของดการบังคับคดีต่อ เจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องกระทำการคือไปแจ้งของดการบังคับคดีอันถือ ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งเป็นการผิดสัญญาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงาน บังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์แก่ผู้ซื้อไปโจทก์ย่อมได้รับความ เสียหาย และมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการที่จำเลยไม่ชำระ หนี้ได้ตามหลักกฎหมายเรื่องค่าเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 อันเป็นคนละเรื่องกับค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในข้อสัญญา

การที่จำเลยไม่ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้งดการบังคับคดีไว้ชั่ว คราวไม่ทันตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ มิใช่กรณีกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 แต่เป็นการผิดสัญญาจึงไม่อาจใช้อายุความ 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2513
ศาลสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายนาพิพาทไปก่อนสั่งคำร้องขัดทรัพย์ของ ผู้ร้อง ดังนี้ ผู้ร้องยังเป็นคนนอกคดีในขณะศาลอนุญาตให้ขาย เมื่อผู้ร้องเห็นว่าการขายทำไปโดยไม่ถูกต้องไม่สมควรประการใด ถ้าหากตนมีส่วนได้เสียก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งยกคำสั่งอนุญาตให้ขาย และกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสองเมื่อศาลไต่สวนสั่งต่อไปประการใด หากไม่พอใจก็อุทธรณ์ฎีกาต่อไป กรณีนี้ ในชั้นแรกศาลก็สั่งนัดไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพื่อสั่งคำร้องของผู้ร้องแล้ว แต่ผู้ร้องกลับขอให้งดการไต่สวนเสียเอง แล้วยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขายนาที่พิพาทเสีย ทีเดียวดังนี้ ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงที่จะรับฟังตามคำร้องของผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงไม่มีข้ออ้างที่จะยกเป็นข้ออุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ขายทอดตลาดไปก่อนแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2539
ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองตึกแถวพิพาทไว้จากจำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเพื่อให้ตนได้ รับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้สามัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาตรา 289 วรรคแรก เท่านั้น แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ตึกแถวพิพาทซึ่งจำเลยปลูกอยู่ใช้ สิทธิบังคับคดีขับไล่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวดังกล่าวออกไปย่อมไม่มีข้อโต้ แย้งเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับผู้ร้องหรือผู้ร้องเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียใน วิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวกับตึกแถวพิพาท ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนการยึดและระงับการรื้อถอนตึกแถวพิพาท