Pages

การบังคับคดีไม่กระทบถึงสิทธิบุคคลภายนอก


มาตรา ๓๒๔  บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลนั้นมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินหรือเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนไว้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายหรือจำหน่าย ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ขอให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาต การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว

(ข) ในกรณีอื่น ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น  ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

(๒) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์สินซึ่งขายหรือจำหน่ายนั้นเป็นของเจ้าของรวมอันได้จดทะเบียนไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่น นอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๔๐

(๓) ในกรณีที่เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายหรือจำหน่าย บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นขอให้นำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น

(๔) ในกรณีอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (๑) (๒) และ (๓) ผู้ทรงสิทธินั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้ตนได้รับส่วนแบ่งในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายหรือขอให้นำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น  ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

มาตรา ๓๒๕  เมื่อได้แจ้งคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกตามมาตรา ๓๑๖ แล้ว บุคคลภายนอกนั้นอาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งอายัดต่อศาลได้ภายในสิบห้าวัน

บุคคลผู้จะต้องเสียหายเพราะคำสั่งอายัดอาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้  ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งอายัด

(๑) ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการให้ชำระเงิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

(๒) ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการให้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น

(๓) ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการให้ชำระหนี้อย่างอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่บุคคลภายนอกจะปฏิบัติการชำระหนี้

เมื่อศาลสั่งรับคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับตามคำสั่งอายัดไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้ว ถ้าเป็นที่พอใจว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีอยู่จริงและอาจบังคับได้ ก็ให้ยกคำร้องนั้นเสียและมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัด แต่ถ้าเป็นที่พอใจว่าคำร้องคัดค้านรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งถอนการอายัดสิทธิเรียกร้อง

ในระหว่างการพิจารณาคำร้องคัดค้านตามวรรคสาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องคัดค้านนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระเงินค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องคัดค้านนั้น ถ้าผู้ร้องคัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องคัดค้าน ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้

ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัด และบุคคลนั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ในกรณีที่คำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3821/2552
หนี้ที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และหนี้อย่างอื่นของผู้เช่าอันเกิดจากความเกี่ยวพันในเรื่องเช่าอาคาร พาณิชย์ ผู้ร้องมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือสังหาริมทรัพย์ตามป.พ.พ. มาตรา 259 (1) แต่คดีนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสิทธิการเช่า ไม่ได้ขอบังคับเอาจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสังหาริมทรัพย์ที่ผู้เช่านำ เข้ามาไว้ในที่ดินหรือโรงเรือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 261 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ทั้งมิใช่เงินอันผู้โอนหรือผู้ให้เช่าช่วงจะพึงได้รับจากผู้รับโอนหรือผู้ เช่าช่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 262 ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินจากการขายทอดตลาด

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตามป.วิ.พ. มาตรา 287 เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2)(ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2552
เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือ ทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของ ตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง สิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูก เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนเอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของ ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดัง ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 288 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8239/2551
โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับ ความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขาย ทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท โดยเรียกค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท ส่วนจำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยมี ส่วนกึ่งหนึ่ง ซึ่งจำเลยได้ร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาทไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ เช่นนี้เท่ากับจำเลยมิได้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3049/2551
จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทต่อโจทก์ กรรมสิทธิ์จึงตกไปยังโจทก์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ไถ่ที่ดินและบ้านพิพาทภาย ในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดการให้โจทก์เข้าครอบครอง ที่ดินและบ้านพิพาท เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิ จะยึดไว้ มิใช่เป็นการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็น ลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่ผู้ร้องจะขอกันส่วนที่ดินพิพาทในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องกับจำเลยร่วมกัน แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทระหว่าง โจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์อยู่ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2551
ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่ผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดี แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดิน พิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดิน ทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2550
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิโอนที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ยึดมาแล้วต้องนำออกขายทอดตลาด หากมีผู้ซื้อได้ก็ต้องมีการโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ จึงมิใช่เพียงแต่ยึดไว้เท่านั้น การที่ศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้โจทก์จะได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้จำเลยโอน ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มี สิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ก็มีบทบัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง

ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งได้นั้น หมายถึง เจ้าหนี้ผู้ที่จะมาขอเฉลี่ยต้องเป็นผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้สิทธิโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโอนที่ดิน พิพาทแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่แล้วจึงไม่ มีกรณีที่จะต้องมาขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดที่ดินเพื่อ บังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7447/2550
การยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ถือว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ผู้ร้องซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินจากจำเลย ระหว่างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อกัน ผู้ร้องได้เพิ่มเติมปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ส่วนที่เพิ่มเติมปรับปรุงนั้นย่อมเป็นส่วนควบกับที่ดิน เมื่อยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันอย่างถูกต้อง ก็เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้นและมิได้เป็น สิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิอื่นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดเพื่อมา ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องใช้เพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนเจ้า หนี้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6741/2550
แม้ ส. และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกันและเป็นผู้จำนองที่ดิน และบ้านพิพาทแก่ธนาคาร พ. ร่วมกัน แต่ ส. และจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลยแดงที่ 317/2543 ของศาลชั้นต้น จึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและบ้านพิพาทออกขายทอดตลาด ทรัพย์ทั้งแปลงได้ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิเพียงร้องขอให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ตามส่วนของตนเท่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทมาจากการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยติด จำนองกับธนาคาร พ. และโจทก์ได้รับโอนสิทธิครอบครองและสิทธิจำนองมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทรวมทั้งสิทธิจำนองกับธนาคาร พ. ของ ส. และจำเลยที่ 2 โอนไปยังโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์แล้ว จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ส. และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัย สิทธิของ ส. ได้

เมื่อสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทรวมทั้งสิทธิจำนองกับธนาคาร พ. ของ ส. และจำเลยที่ 2 ได้โอนไปยังโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว ส. และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียก ส. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามที่จำเลยทั้งสองร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6570/2550
ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดครึ่งหนึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ยืนจากโจทก์ ดังนี้ หากเป็นดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้ได้รับการคุ้ม ครองสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามกฎหมาย ต้องถือว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษา ชอบที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้ แต่ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการขอให้ศาลบังคับให้โจทก์แบ่งที่ดินพิพาทในส่วน ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด คำขอบังคับของผู้ร้องดังกล่าวโดยสภาพไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำร้องนั้นได้ คำร้องมีลักษณะเป็นเรื่องร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 287 ผู้ร้องชอบที่จะร้องขอให้กันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นสินสมรสนั้น ไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาขอให้บังคับโจทก์แบ่งที่ดินพิพาทในส่วนซึ่งเป็น กรรมสิทธิ์ของผู้ร้องให้แก่ผู้ร้องตามคำร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116 - 6117/2550
ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทย่อมมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์ พิพาทเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ ด้วย และการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับ เหนือทรัพย์พิพาทได้ ดังนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์จะอ้างว่าจำเลยจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ผู้ร้องหลายแปลงโดยมิได้ระบุ ลำดับไว้ภาระแห่งหนี้จึงต้องกระจายไปตามส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 734 วรรคสอง นั้น หาได้ไม่ เนื่องจากมาตราดังกล่าวเป็นการจำนองทรัพย์หลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่ง รายเดียวโดยมิได้ระบุลำดับไว้ เมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันจึงให้แบ่ง กระจายภาระแห่งหนี้ไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้น ๆ แต่คดีนี้ผู้ร้องมิใช่ผู้รับจำนองที่ใช้สิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญซึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อชำระ หนี้จำนองให้แก่ผู้รับจำนองแล้วยังคงมีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกเหตุตามมาตราดังกล่าวขึ้นอ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5393/2550
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกชำระหนี้และบังคับจำนองศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนอง มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอื่นเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจะอ้างว่ามีสิทธิเหนือที่ดินที่โจทก์นำยึดมาร้องขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2550
ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองใน กึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิของเจ้า หนี้จำนองซึ่งถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายเพื่อรับชำระหนี้จำนอง ในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้

ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่ โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของผู้คัดค้านจึงขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เห็นได้ว่าผู้ร้องตั้งเรื่องมาในคำร้องและระบุท้ายคำร้องชัดเจนว่าเป็นการขอ ใช้สิทธิตามมาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งสิทธิของผู้ร้องในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2550
ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้จำเลยโอนที่ดินแก่ผู้ร้องคดีถึงที่สุดแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็น กรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินก่อนโจทก์ ย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จด ทะเบียนทรัพยสิทธินั้น ๆ แล้ว สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันโจทก์ได้ โจทก์จะบังคับยึดที่ดินอันเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องซึ่งมีอยู่ ก่อนแล้วไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2550
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิร้องขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นยึดทรัพย์จำนองไว้แล้วหรือไม่ และไม่เป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนอง เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือน ถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 และการไม่บังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 271 ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดตามทรัพย์ที่จำนอง จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะขยายระยะเวลาบังคับคดีให้ตามคำร้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 287 หมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียน แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น เมื่อตามป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิอื่น ๆ ตามมาตรา 287 ดังกล่าว และเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนอง การบังคับคดีของโจทก์จึงไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2549
ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาครบถ้วนและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น ถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่ง ถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดได้