ส่วนที่ ๓
การยึดทรัพย์สิน
มาตรา ๓๐๓
การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) นำทรัพย์นั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือฝากทรัพย์นั้นไว้ ณ สถานที่ใดหรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควรหรือมอบให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รักษาทรัพย์นั้นโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) แจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์นั้นทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดไว้ ณ สถานที่ที่กระทำการยึด หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๓) แสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยการประทับตราหรือโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรว่าได้มีการยึดทรัพย์นั้นแล้ว
มาตรา ๓๐๔ การยึด เรือ แพ สัตว์พาหนะ หรือสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจะต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้แล้วตามกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๓
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ ถ้าได้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้แล้ว ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๐๕ การยึดหลักทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) ในกรณีที่ยังไม่มีการออกใบตราสาร ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ออกหลักทรัพย์นั้นทราบ และเมื่อได้ดำเนินการยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งให้ผู้ออกหลักทรัพย์ออกใบตราสารส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
(๒) ในกรณีที่มีการออกใบตราสารแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้ครอบครองตราสารเท่าทีทราบ รวมทั้งบุคคลซึ่งต้องชำระหนี้ตามตราสารนั้น ทราบ และเมื่อได้ดำเนินการยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำตราสารนั้นมาเก็บรักษาไว้หากสามารถนำมาได้
(๓) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์ซึ่งฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ฝากหลักทรัพย์และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทราบ เพื่อปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี
(๔) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีการออกใบตราสาร ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ออกหลักทรัพย์ทราบ เพื่อปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ให้ปิดประกาศแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้นหรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และให้มีผลใช้ได้นับแต่เวลาที่ประกาศนั้นได้ปิดไว้หรือการแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว
มาตรา ๓๐๖ การยึดตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐๕ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้มีผลเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องตามตั๋วเงินหรือตราสารนั้นด้วยในกรณีที่เห็นสมควรเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายตามราคาที่ปรากฏในตั๋วเงินหรือตราสารหรือราคาต่ำกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าศาลสั่งยกคำร้อง ให้นำตั๋วเงินหรือตราสารนั้นออกขายทอดตลาด
มาตรา ๓๐๗ การยึดหุ้นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอยู่ทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๐๘ การยึดสิทธิในสิทธิบัตร สิทธิในเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๐๙ การยึดสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ สิทธิขอรับสิทธิบัตร สิทธิในชื่อทางการค้าหรือยี่ห้อ หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยแจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
มาตรา ๓๑๐ การยึดสิทธิการเช่าทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะได้ใช้บริการต่าง ๆ ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เช่น บริการโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม หรือบริการอื่นใดที่อาจได้รับจากทรัพย์สินหรือบริการของผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ให้เช่าหรือผู้ให้บริการแล้วแต่กรณี ทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕วรรคสอง
(๒) ในกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนการเช่าทรัพย์สินหรือการให้บริการดังกล่าว ให้แจ้งนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียนด้วย
มาตรา ๓๑๑ การยึดสิทธิของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามใบอนุญาต ประทานบัตร อาชญาบัตร สัมปทาน หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๑๒ การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) นำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์นั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร เว้นแต่ทรัพย์นั้นยังไม่มีหนังสือสำคัญหรือนำหนังสือสำคัญมาไม่ได้
(๒) แสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยการปิดประกาศไว้ที่ทรัพย์นั้นว่า ได้มีการยึดทรัพย์นั้นแล้ว
(๓) แจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้บุคคลดังต่อไปนี้ทราบ
(ก) ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(ข) บุคคลอื่นซึ่งมีชื่อในทะเบียนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น
(ค) เจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ถ้าทรัพย์นั้นมีทะเบียน ให้เจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งตามวรรคหนึ่ง (๓) (ก) หรือ (ข) ได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้น หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และให้มีผลใช้ได้นับแต่เวลาที่ประกาศนั้นได้ปิดไว้หรือการแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้วเมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย
มาตรา ๓๑๓ การยึดทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑๒ โดยอนุโลม
มาตรา ๓๑๔ การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลเป็นการยึดครอบไปถึงดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัยของทรัพย์นั้นด้วยการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลเป็นการยึดครอบไปถึง
(๑) เครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของทรัพย์นั้น
(๒) ดอกผลธรรมดาของทรัพย์นั้นที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเก็บเกี่ยว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งหรือปิดประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์นั้นทราบในขณะทำการยึดว่าได้ยึดดอกผลด้วยแล้ว
มาตรา ๓๑๕ การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลดังต่อไปนี้
(๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษากับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำการดังกล่าวแก่ทรัพย์สินที่ถูกยึดเพียงส่วนที่มีราคาเกินจำนวนนั้นก็ตาม
(๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับมอบให้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินที่ถูกยึด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะใช้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตามสมควร แต่ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายหรือเกรงว่าจะเสียหาย โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นเองหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นร้องขอเจ้าพนักงานบังคับคดีจะรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเองหรือตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้รักษาทรัพย์สินนั้นก็ได
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2562
จำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าทำสัญญากับโจทก์ผู้ให้เช่าเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัท ส. ผู้เช่า และตกลงว่า ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้รับซื้อสินค้าตกลงผูกพันตนร่วมกันกับผู้เช่า เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้เช่าโดยซื้อทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าในราคาตามที่ระบุไว้ รวมด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและบรรดาหนี้เงินที่ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่า โดยให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้รับซื้อสินค้า เมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับโอน การเก็บรักษาทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจากความครอบครองของผู้เช่า และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมาอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้รับซื้อสินค้า หรือของบุคคลอื่นตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด แล้วแต่กรณีตลอดจนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวในบรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับซื้อสินค้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อสินค้าเมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถขุดตีนตะขาบที่เช่าตามสัญญารับซื้อสินค้าพร้อมค่าปรับ หากจำเลยทั้งสองชำระราคารถให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์และเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการยึดรถจากความครอบครองของบริษัท ส. หรือการเคลื่อนย้ายรถมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญารับซื้อสินค้า สัญญารับซื้อสินค้าไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าเอง ซึ่งมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้วโดยมิได้เลือกใช้สิทธิที่จะนำรถไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระราคาและติดตามรถเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562
การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8133/2561
แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองจะถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในภายหลังว่า คดีที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คือผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้ ย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้แล้ว ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลจะสั่งริบได้ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 อีกต่อไป จึงต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6045/2561
การที่จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างที่โจทก์ขออนุญาตฎีกา เป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุจำเลยถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง การยึดทรัพย์สินของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของจำเลยได้ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และศาลชั้นต้นไต่สวนจนสิ้นกระแสความทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9572/2559
การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับเป็นมาตรการในการบังคับตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการผู้ร้องที่ต้องดำเนินการบังคับคดีอาญาในส่วนการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับโดยไม่อาจถือได้ว่ารัฐหรือศาลหรือโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แม้จำเลยที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่การบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในทางแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6613/2559
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีโดยหากเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ และการบังคับคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 284 ด้วย ซึ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ มีความหมายและเจตนารมณ์เพียงห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ แต่ไม่ได้มีความหมายหรือเจตนารมณ์ถึงขนาดห้ามยึดทรัพย์ใดๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์ในการบังคับคดีเป็นการกระทำและการใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสำหรับในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถสืบค้นและหาหลักฐานความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินดังกล่าว เป็นเวลาเกือบจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการบังคับคดีแล้ว เช่นนี้ ถึงแม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาอยู่มาก ก็ไม่ใช่ข้อห้ามถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อการบังคับคดี โจทก์ย่อมใช้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271, 282 (1), 283 วรรคหนึ่ง และ 284 ด้วยการชี้หรือแจ้งยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าวตามที่โจทก์ชี้ให้ยึด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2559
ตาม ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปี แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำขอลงวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลย ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตามทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14002/2558
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินจำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น แต่ในวันที่โจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 อีก ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 71474 ดังกล่าวที่พิพาท สืบเนื่องจากระยะเวลาการบังคับคดีใกล้สิ้นสุดลงแล้ว หากโจทก์ไม่ร้องขอให้ยึดทรัพย์สินที่พิพาททันที แต่ต้องรอให้มีการขายทรัพย์สินจำนองเสร็จก่อนถึงจะกลับมายึดทรัพย์สินที่พิพาทได้ก็จะเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา เป็นเหตุให้โจทก์อาจเสียสิทธิในการบังคับคดี ทั้ง ๆ ที่การขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์แต่อย่างใด อีกประการหนึ่งจากสภาพราคาทรัพย์สินที่จำนองเป็นที่เห็นได้ชัดว่าไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์สินที่พิพาทไว้ก่อน แต่ยังไม่นำออกขายจนกว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองเสร็จสิ้นและได้เงินไม่พอชำระหนี้ จึงค่อยนำทรัพย์สินพิพาทออกขายก็ไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษาและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธินำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 เพิ่มเติมได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้จำเลยทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในท้ายฎีกานั้น เห็นว่า คดีอยู่ในชั้นบังคับคดี กรณีคำขอดังกล่าวของโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12162/2558
เมื่อจำเลยประสงค์จะชำระหนี้ที่เหลือรวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพื่อถอนการยึดทรัพย์ หากให้จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) (เดิม) โดยไม่พิจารณายอดหนี้ที่เหลือที่จำเลยต้องรับผิดประกอบด้วย ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการไม่ยุติธรรมแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง เมื่อพิจารณาว่าจำเลยพยายามขวนขวายชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งประสงค์ที่จะชำระหนี้ทั้งหมด แสดงว่าจำเลยมีความสุจริตในการดำเนินคดีและมีเหตุอันสมควร อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) จึงกำหนดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ในขอบเขตของยอดหนี้ที่ค้างชำระขณะยึดทรัพย์เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2558
คำร้องของผู้ร้องที่อ้างว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมของบริษัท พ. และมีผลให้บริษัทดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้ กับมีคำขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และมีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มีผลเท่ากับเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ในเรื่องเดียวกันที่ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีที่ไว้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ปัญหาที่ว่าคำร้องของจำเลยที่ 3 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4300/2558
การที่โจทก์ยื่นคำขอยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติม เนื่องจากราคาทรัพย์สินจำนองที่ยึดไว้เดิมไม่เพียงพอให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ประกอบกับจะล่วงเลยกำหนดเวลาในการบังคับคดีภายใน 10 ปี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดเงื่อนไขในการยึดทรัพย์สินเพิ่มเติมว่าจะนำออกขายทอดตลาดได้ก็ต่อเมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองที่ยึดไว้เดิมแล้วไม่พอชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมจึงเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย ยังไม่มีเหตุสมควรให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมดังกล่าว
กรณีที่โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมของจำเลยในครั้งต่อ ๆ มา โดยทราบรายละเอียดของทรัพย์สินที่จะขอให้ยึดเพิ่มเติมแล้วนั้น หาจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และ 277 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2556
คดีนี้ จำเลยยื่นคำร้อง 2 ฉบับ คือคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับหนึ่ง และคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์อีกฉบับหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ และคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด (ที่ถูก คำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์) จำเลยอุทธรณ์คำสั่งคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าวมาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะยกอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นี้เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์เพียง 35,384.36 บาท ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่โจทก์นำยึดซึ่งมีราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงถึง 6,386,400 บาท นับว่ามีราคาต่างกันมากไม่เหมาะสมกัน โจทก์น่าจะนำยึดทรัพย์สินภายในบ้านอันมีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ของจำเลยจะเป็นการเหมาะสมกว่า การที่โจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยโดยปรากฏจากข้ออ้างของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเป็นต้องยึดเพราะระยะเวลาในการบังคับคดีใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว โดยไม่เคยร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินภายในบ้านของจำเลยว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ นอกจากจะเป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผลแล้ว ยังเป็นการไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี อันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์นั้นได้ และถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามมาตรา 284 วรรคสอง โดยให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีของจำเลยตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15677/2555
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และประสงค์จะบังคับทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกัน แม้ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุเพียงว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยตกลงชำระหนี้ส่วนที่ขาดจำนวนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้แก่โจทก์จนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเช่นเดียวกัน แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 4 จะระบุเพียงว่า หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าจำเลยผิดนัดทั้งสิ้น และยินยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที แต่สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กล่าวไว้ว่าหากจำเลยผิดนัดแล้วให้โจทก์บังคับคดีได้แต่เฉพาะทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นประกันเท่านั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกันตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันด้วย ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ที่ว่า โจทก์และจำเลยตกลงตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 และไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีกนั้น ก็หมายความแต่เพียงว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องเงินนอกเหนือไปจากจำนวนเงินหรือหนี้ที่ตกลงกันไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 4 เท่านั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8401/2555
บทบัญญัติมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์รายนี้ การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องอ้างว่าเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้านนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136/2555
การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาด หากจำเลยเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวเกินกรณีจำเป็นแก่การบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยชอบที่จะโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยว่าการยึดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำร้องขอถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเพราะไม่มีพยานมาไต่สวน จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยซึ่งไม่ได้โต้แย้งการยึดและมีคำขอให้เพิกถอนการยึดมาตั้งแต่ต้น จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6266/2555
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลสั่งปรับผู้ประกันให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ในขณะที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการบังคับคดี ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 โดยให้เพิ่มเติมความเป็นวรรคสองของมาตรา 119 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 กำหนดให้อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนับแต่วันดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องตรวจสอบสำนวนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีทั้งหมด และปรากฏว่ามีสำนวนที่ค้างการพิจารณาที่กรมบังคับคดีจำนวนมาก ประกอบกับคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ นับแต่ผู้ร้องมีอำนาจและหน้าที่ในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเมื่อสิ้นระยะเวลาบังคับคดีแล้วเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ ก็เป็นเพราะมีสำนวนค้างการบังคับคดีเป็นจำนวนมาก ผู้ร้องจึงไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยความรวดเร็ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2920/2554
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยมิได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับเมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการบังคับค่าปรับไว้จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 29, 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับอันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลมาใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 17 ทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ ดังนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15901/2553
เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ หากทรัพย์สินดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. 278, 282 และมาตรา 285 การยึดเฉพาะที่ดินในคดีนี้จึงเป็นการยึดโดยชอบด้วยกฎหมาย
การใช้สิทธิบังคับคดีจะต้องอยู่ในขอบเขตแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้มีจำนวนต้นเงินรวมดอกเบี้ยที่พึงได้รับตามอัตราที่ระบุในคำพิพากษาแล้วเพียงหนึ่งล้านบาทเศษ ราคาที่ดินตามที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้คือ 2,421,000 บาท จึงยังอยู่ในกรอบแห่งเจตนารมณ์ของกฎหมายในการใช้สิทธิบังคับคดีตามมาตรา 284 วรรคหนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร 5 ชั้น เป็นส่วนควบของที่ดินมีมูลค่าถึง 36,000,000 บาท หากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิ่งปลูกสร้างด้วย ก็ย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และทำให้บุคคลที่ซื้อห้องชุดในอาคารดังกล่าวซึ่งมีเพียงบุคคลสิทธิที่จะบังคับได้เฉพาะคู่สัญญาจะซื้อจะขายคือจำเลยต้องได้รับความเดือดร้อนในการบังคับคดีไปด้วย
ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยว่าเป็นการบังคับคดีขัดต่อบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 282 (2) นั้น หาตรงต่อข้อเท็จจริงในการบังคับคดีนี้ไม่ เพราะบทมาตรานั้นใช้บังคับเฉพาะการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาพึงมีสิทธิได้รับโอนสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิทธิทั้งปวงอันมีอยู่ในทรัพย์เหล่านั้น มิใช่การบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งโจทก์มีสิทธิโดยชอบตามมาตรา 282 (1)
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิกถอนการยึดโดยให้เหตุผลว่าที่ดินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์สินของจำเลย แต่เป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 นั้น การที่จะเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องมีการดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุดเสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญดังบัญญัติไว้ในมาตรา 6 เมื่อยังมิได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินตามคำร้องจึงยังมิได้เป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งอยู่ในข้อห้ามมิให้ถูกบังคับขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัตินั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387 - 8391/2553
หนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำนวนแรกระบุข้อความไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. (โจทก์) โดย อ. หุ้นส่วนผู้จัดการ ขอมอบอำนาจให้ ธ. เป็นผู้มีอำนาจยื่นฟ้อง ง. (จำเลยที่ 1) รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ในการนี้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทนายความ รวมทั้ง... การรับเงินหรือเอกสารจากคู่ความหรือศาล และการดำเนินการในชั้นบังคับคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินหรืออื่น ๆ ได้จนเสร็จการ การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปภายในขอบเขตแห่งหนังสือฉบับนี้ ให้มีผลผูกพันโจทก์เสมือนกับโจทก์ได้ทำด้วยตนเองทุกประการ ส่วนหนังสือมอบอำนาจที่ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ในสำนวนที่สาม จำเลยที่ 1 และที่ 5 ในสำนวนที่สี่ จำเลยที่ 1 และที่ 6 ในสำนวนที่ห้านั้น ข้อความที่ว่าให้มีอำนาจฟ้องรวมถึงผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย รวมทั้งข้อความอื่นคงเป็นเช่นเดียวกันทุกประการ ดังนี้ การมอบอำนาจของโจทก์ในแต่ละสำนวนคดีเป็นการมอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องร้องคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่มีข้อความจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากร กำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ธ. ทำการฟ้องคดีแพ่งและคดีอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวน แทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยรวมไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา และต้องฟังว่า ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยเหตุผลเดียวกัน การที่ ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาฟ้องคดี กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมตกไป เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมที่เป็นจำเลยตามฟ้องแย้งอยู่ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2552
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองที่พิพาทของจำเลยเพื่อบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องและให้จำเลยมีชื่อในทะเบียนที่ดินแทน และผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินคืนผู้ร้อง ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์เพื่อรอฟังผลคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลย ซึ่งคู่ความไม่ได้โต้แย้งคำสั่ง คำสั่งของศาลย่อมเป็นที่สุด ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติม เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำขออ้างว่าโจทก์ขอยึดพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่อาจบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้โจทก์บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์เพียงว่าโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทต่อไปเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ ทั้งเป็นการผิดขั้นตอนของการวินิจฉัยที่ต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เนื่องจากคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องยังมิได้ผ่านการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีจากศาลชั้นต้นแต่อย่างใด
ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นบังคับชำระหนี้ คำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีโดยมีลำดับก่อนหลังไว้ชัดแจ้งโดยต้องบังคับจำนองก่อน เมื่อได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โจทก์ก็ย่อมไม่อาจขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นการบังคับคดีเกินกว่าข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม
การร้องขอให้บังคับคดีต้องกระทำภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23
เมื่อการบังคับทรัพย์จำนองไม่อาจกระทำได้เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์จนศาลมีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ไว้ก่อน ทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยภายในกำหนดของจำเลยภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ดังนั้น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายหลังการยึดทรัพย์จำนองเกิน 10 ปี แล้วขายได้เงินไม่พอชำระหนี้ และโจทก์ขอบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม ศาลย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะยื่นคำขอหรือไม่ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10078/2551
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่ง สิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีเข้าสู่ศาล ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมาย วิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย สารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิ เรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งห้าในทางแพ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ โจทก์ รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนอง ผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งห้าในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งห้า เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำ พิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สิน ของจำเลยทั้งห้าไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอด ตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย ทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาในเหตุดังกล่าวโดยตรงขึ้นมายังศาลสูง ก็ชอบที่ศาลจะต้องกล่าวในคำพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับคดียึด ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คู่ความและเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติให้ บรรลุผลตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาให้ครบถ้วนตามคำขอท้ายฟ้องของ โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2551
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 12 มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) จากข้อความเดิมที่ว่า "ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน...สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น..." มาเป็นมาตรา 179 (4) มีข้อความใหม่ว่า "ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน... สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น... " และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีดังกล่าว" คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับ ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 179 (3) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดี คือค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2551
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 มาตรา 9 ระบุให้ยกเลิกความในตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. เดิม และให้ใช้ตาราง 5 ใหม่แทน แต่ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ระบุว่า บทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การบังคับคดีของบรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้ตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่การบังคับคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 ใช้บังคับ จึงต้องใช้ตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. เดิม ซึ่งระบุให้เสียค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงิน แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์ที่ยึด ไม่ใช่คิดอัตราค่าธรรมเนียมตามตาราง 5 ที่แก้ไขใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้บังคับคดีกับจำเลยที่ 4 มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1906/2551
อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการรวบรวม จัดการ และจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (1) หาได้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่มิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ด้วยไม่ การที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้ผู้คัดค้านยึดโรงงานพิพาทที่มิใช่ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 และมีบุคคลภายนอกร้องคัดค้านการยึดจนในที่สุดผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ปล่อยโรงงานพิพาทคืนแก่บุคคลภายนอก เช่นนี้ ตามพฤติการณ์และวิสัยของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองย่อมจะต้องรู้อยู่แล้วว่าโรงงานพิพาทมิใช่เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 แม้ผู้ร้องอ้างว่าเป็นความสำศัญผิดของผู้ร้องก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ร้อง ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อไม่มีพฤติการณ์ใดแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมเข้าใจว่าสิ่งปลูกสร้างซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงนั้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าการยึดโรงงานพิพาทบนที่ดินจำนองหลักประกันของผู้ร้องเป็นความผิดของผู้คัดค้านผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขอให้ผู้คัดค้านยึดโรงงานพิพาทเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียวจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2549
ภายใต้บังคับบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับคดีฯ เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอัน ที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาวาง ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา รวมทั้งมีอำนาจรวบรวมเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำ พิพากษาโดยวิธีอายัดเงินเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 278 และมาตรา 282 (3) หรือในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัด ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้ตาม มาตรา 311 วรรคสอง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าเช่าที่ลูกหนี้ตามคำ พิพากษามีสิทธิจะได้รับจากผู้คัดค้านไปยังผู้คัดค้าน จึงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการได้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใด ส่วนผู้คัดค้านมีสิทธิปฏิเสธหรือโต้แย้งได้โดยการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 312 วรรคหนึ่ง ถ้าคำสั่งอายัดไม่มีการคัดค้านหรือศาลมีคำสั่งรับรองตามวรรคหนึ่งแล้วผู้คัด ค้านไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านและ ดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้คัดค้านเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามมาตรา 312 วรรคสอง มิใช่หน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกกรรมการบริษัทผู้คัดค้านมาไต่สวนและ มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าเช่าที่อายัดไปยังเจ้าพนักงานบังคดีหาได้ ไม่ ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าเช่าที่อายัด และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินที่ให้ผู้คัดค้านส่งเงินที่อายัดไปยังเจ้า พนักงานบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2549
ปัญหาว่านิติกรรมการยกให้ระหว่าง ธ. กับผู้คัดค้านมีผลสมบูรณ์แล้ว แม้จะกระทำขึ้นภายหลังเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบก็ตาม โจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสียก่อน จึงจะยึดทรัพย์บังคับคดีต่อไปได้นั้น จะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงที่นำมาสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ กล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ มิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดหรือขายบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอนำยึด เป็นของจำเลยโดยเป็นสินสมรสของจำเลยกับสามี แต่ได้โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรโดยสมยอมเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ให้พ้นจากการบังคับคดีและยืนยันให้ยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึด โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ โดยขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว ได้ ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง โจทก์หาจำต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เสียก่อนไม่ ทั้งการที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของโจทก์ ถือว่าผู้คัดค้านได้เข้ามาในคดีแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยข้ออ้างของโจทก์และข้อเถียงของผู้คัดค้านที่ โต้แย้งกันนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515/2546
หนี้ตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่โจทก์ขอยึดที่ดินพิพาททั้งต้นและดอกเบี้ยรวม มากกว่า 10,000,000 บาท แต่ทรัพย์จำนองทั้งสามแปลงมีราคาตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีรวม ไม่ถึง 1,000,000 บาท ที่ดินพิพาทเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาที่ดิน 98,119,440 บาท แม้ปัจจุบันเป็นชื่อจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่จำเลยที่ 3 รับมรดกมาจากผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม ที่ดินจึงอยู่ในขอบเขตที่อาจถูกบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น แต่การยึดทรัพย์ที่ดินพิพาทสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ยึด หากเพิกถอนการยึดโจทก์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์โดยไม่มีการขาย อัตราร้อยละ 3.5 ซึ่งจะเป็นเงินค่าธรรมเนียมจำนวนมาก เนื่องจากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองทั้งสามแปลงยังไม่เสร็จสิ้น ก็ยังไม่ทราบจำนวนหนี้ที่เหลือที่จะบังคับคดีต่อไป และนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณค่าธรรมเนียมได้ และจากสภาพราคาทรัพย์จำนองเป็นที่เห็นได้ว่าไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อขายทรัพย์จำนองเสร็จก็ต้องกลับมายึดที่ดินพิพาทใหม่ การยึดที่ดินพิพาทไว้แต่ยังไม่ต้องนำออกขายจนกว่ามีการขายทอดตลาดจำนองเสร็จ สิ้นและได้เงินไม่พอชำระหนี้ จึงค่อยนำที่ดินพิพาทออกขายนั้นไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษา และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2546
โจทก์ขอนำยึดที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ทาง ส.ป.ก. ได้จัดไว้เพื่อให้ผู้ถือครองคือจำเลยซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ขณะโจทก์นำยึดที่ดินยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 แก่จำเลย และพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว เมื่อที่ดินดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป แม้จำเลยจะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยจะได้สิทธิในที่ดินไม่เพราะเป็น เรื่องในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อ ชำระหนี้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7160/2545
ผู้ร้องเป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินและกิจการสถานีบริการน้ำมันจากจำเลย ได้ชำระราคาบางส่วนและได้เข้าครอบครองทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อขายแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้จะซื้อมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายโอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่ผู้ร้องโดยผู้ร้องต้องชำระ ราคาที่เหลือ การเข้าครอบครองก่อนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของ จำเลย ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลยซึ่งถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่เจ้าพนักงานบังคับ คดีย่อมมีอำนาจดำเนินการเพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับซึ่งออกตามคำพิพากษาได้ หาใช่เป็นการบังคับคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4483/2550
ป.วิ.พ.มาตรา 154 วรรคแรก กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้วางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการ บังคับคดีไม่เกินร้อยบาท แต่ในวรรคสองให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งให้วางเงินได้อีกตามจำนวนที่ เห็นสมควร ซึ่งโดยสภาพหรือตามภาวะเศรษฐกิจในขณะยื่นฟ้องหากให้โจทก์วางเงินจำนวน 100 บาท ย่อมเป็นการไม่เพียงพอ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายในชั้นตั้งเรื่อง ยึดสังหาริมทรัพย์ในอัตรา 1,500 บาท ตามคำสั่งของกรมบังคับคดีถือได้ว่าเป็นการกำหนดจำนวนเงินที่ไม่มากเกินไป เมื่อโจทก์ไม่วางเงินภายในเวลาอันสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะงดปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ไว้จนกว่าโจทก์จะได้ ยอมวางเงินเสียก่อนตามมาตรา 154 วรรคสาม กรณีมิใช่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์อันจะต้องยึดภายในเวลาอันควร ต้องทำตามมาตรา 283
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2549
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่าโจทก์ต้องใช้สิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดิน ระหว่าง ธ. กับผู้คัดค้านตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสียก่อน โจทก์จึงจะยึดที่ดินแปลงดังกล่าวบังคับคดีต่อไปได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านในชั้น บังคับคดีไปทีเดียว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจยื่นคำร้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความ สงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านด้วยเหตุที่ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ชอบ
การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดหรือขายบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอนำยึด เป็นของจำเลยโดยเป็นสินสมรสของจำเลยกับสามี แต่ได้โอนให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรโดยสมยอมเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้ พ้นจากการบังคับคดีและยืนยันให้ยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึด โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ โดยขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว ได้ ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง โจทก์หาจำต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เสียก่อนไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5761/2545
ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทมี ท. เป็นผู้แจ้งการครอบครองกับเป็นเจ้าของที่ดิน โจทก์เคยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทมาครั้ง หนึ่งแล้ว ท. ร้องคัดค้านว่าเป็นของตน ศาลชั้นต้นก็ฟังข้อเท็จจริงว่า บ้านที่ยึดปลูกอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวของ ท. โดยจำเลยกับสามีอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว บ้านเป็นของ ท. และพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า ท. มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อ ท. ถึงแก่ความตายเป็นผลให้ที่ดินและบ้านที่โจทก์ประสงค์จะนำยึดเป็นมรดกตกทอด แก่พ. ซึ่งเป็นบุตร นับแต่วันที่ ท. ตายและมิใช่สินสมรสของ พ. กับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะงดเว้นยึดทรัพย์สินนั้นและร้องขอต่อศาลให้ กำหนดการใด ๆ เพื่อมิให้ตนต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 283 วรรคสอง
มาตรา ๒๘๔ เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น
ความรับผิดต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายถ้าหากมี อันเกิดจากการยึดและขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือยึดทรัพย์สินเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีนั้น ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2550
เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ขั้นตอนต่อไปหากคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะต้อง มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งปรากฏต่อมาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ก็ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วแต่ยัง ขายไม่ได้ เมื่อยังขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงยังไม่เสร็จสิ้นและจะต้องดำเนิน การต่อไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โจทก์จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ก็ต่อเมื่อมีการขายทอด ตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่ได้มิใช่กรณีขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ตาม ที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย การที่โจทก์จะนำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัตินอกเหนือและผิดไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ไม่อาจทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4660/2549
กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่าราคาทรัพย์สินที่ยึดหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ตามจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องใช้ให้แก่โจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ในส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยวินิจฉัยว่า โจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 284 โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 284 วรรคสอง และต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น คำวินิจฉัยที่ว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ขัดต่อกฎหมาย และให้ถอนการยึดทรัพย์สินดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 แต่คำสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์สินไม่ได้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น ถือว่าคำวินิจฉัยและคำสั่งขัดกัน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 166 ให้คู่ความฝ่ายที่ดำเนินกระบวนพิจารณาใดไปเพราะความผิด ทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนพิจารณานั้นต้องรับผิดในค่าฤชา ธรรมเนียมนั้น โดยไม่คำนึงว่าคู่ความฝ่ายนั้นจะชนะคดีหรือไม่ โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์รายนี้เพียง ฝ่ายเดียว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งเรื่องค่าธรรมเนียมไม่ถูกต้อง แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4660/2549
การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่า ธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่ เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี
ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 166 ให้คู่ความฝ่ายที่ดำเนินกระบวนพิจารณาใดไปเพราะความผิดทำให้ต้องเสียค่าฤชา ธรรมเนียมในกระบวนพิจารณานั้นต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้น โดยไม่คำนึงว่าคู่ความฝ่ายนั้นจะชนะคดีหรือไม่ เมื่อการยึดทรัพย์ถูกถอนการยึดเพราะโจทก์นำยึดเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำ พิพากษาตามมาตรา 284 โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์เพียงฝ่ายเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3904/2547
แม้ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 155 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ มีหน้าที่ระวังประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ และรับผิดในบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลาย แต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยแล้ว อำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยย่อมเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์แต่ผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (1) แม้ไม่มีโจทก์นำยึด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจทำการยึดทรัพย์ได้เองและยึดทรัพย์ของ จำเลยได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องพิจารณาถึงจำนวนหนี้ของโจทก์ ดังเช่นคดีแพ่งตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 284 บัญญัติไว้ เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย สาเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยเนื่องมาจาก ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ไม่ใช่เพราะโจทก์ขอถอนฟ้องหรือขอถอนการยึดทรัพย์ การที่จะให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือ จำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 179 (3) โดยไม่พิจารณายอดหนี้ที่โจทก์ฟ้อง ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการไม่ยุติธรรมแก่โจทก์อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14 ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายดังกล่าวจึงควร อยู่ในขอบเขตไม่เกินยอดจำนวนหนี้ที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2545
โจทก์เคยบริหารกิจการของจำเลยมานับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลย ย่อมทราบว่าจำเลยมีเครื่องจักรขนาดใหญ่อยู่หลายเครื่องรวมทั้งราคาของ เครื่องจักรดังกล่าวด้วยโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยเพียงไม่กี่แสนบาท จึงน่าจะมุ่งยึดเครื่องจักรที่มีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ ประกอบกับจำเลยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อธนาคารอื่นทั้ง ก. ซึ่งมีที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์หลายแปลงก็เต็มใจให้โจทก์นำไปหัก ชำระหนี้ได้โดยที่โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ อีกด้วย จึงเห็นได้ว่า โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง และโจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินซึ่งไม่ ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามมาตรา 284 วรรคสอง โดยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับ คดีของจำเลยตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง