Pages

การวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์

มาตรา ๒๓๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔๓ (๓) ในคดีที่อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายนั้น การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน

มาตรา ๒๓๙  อุทธรณ์คำสั่งนั้นจะต้องพิจารณาก่อนอุทธรณ์คำพิพากษาเท่าที่สามารถจะทำได้ แม้ถึงว่าอุทธรณ์คำพิพากษานั้นจะได้ลงไว้ในสารบบความของศาลอุทธรณ์ก่อนอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ดี

มาตรา ๒๔๐ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวง ในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมา เว้นแต่

(๑) ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๑ แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลในวันกำหนดนัด ศาลอุทธรณ์อาจดำเนินคดีไปได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น ไม่ให้ถือเป็นคำพิพากษาโดยขาดนัด

(๒) ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจในการพิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ และพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวน ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๓๘ และเฉพาะในปัญหาที่อุทธรณ์ ให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดประเด็นทำการสืบพยานที่สืบมาแล้ว หรือพยานที่เห็นควรสืบต่อไป และพิจารณาคดีโดยทั่ว ๆ ไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้สำหรับการพิจารณาในศาลชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาในศาลชั้นต้น มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

(๓) ในคดีที่คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็น ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น แล้วพิพากษาไปตามรูปความ

มาตรา ๒๔๑ ถ้าคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะมาแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ ให้ขอมาในตอนท้ายคำฟ้องอุทธรณ์ หรือคำแก้อุทธรณ์ แล้วแต่กรณี และให้ศาลอุทธรณ์กำหนดนัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่คดี จะสั่งงดฟังคำแถลงการณ์เสียก็ได้ ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะไปแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ด้วย ถึงแม้ว่าตนจะมิได้แสดงความประสงค์ไว้

การแถลงการณ์ด้วยวาจา ผู้ขอแถลง เป็นผู้แถลงก่อน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ แล้วผู้ขอแถลง แถลงได้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าขอแถลงทั้งสองฝ่าย ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน ถ้าทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์และต่างขอแถลง ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง

มาตรา ๒๔๒ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนความและฟังคู่ความทั้งปวง หรือสืบพยานต่อไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ เสร็จแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์โดยประการใดประการหนึ่งในสี่ประการนี้

(๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์

(๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง ไม่ว่าโดยเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น ก็ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น

(๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำชี้ขาดของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเสีย และพิพากษาในปัญหาเหล่านั้นใหม่

(๔) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกแต่บางส่วน และผิดบางส่วน ก็ให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามนั้น โดยพิพากษายืนบางส่วน กลับบางส่วน และมีคำพิพากษาใหม่แทนส่วนที่กลับนั้น

มาตรา ๒๔๓ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(๑) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นอาจประกอบด้วยผู้พิพากษาอื่นนอกจากที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งมาแล้ว และคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นี้อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกยกได้

(๒) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาหรือมีเหตุที่ศาลได้ปฏิเสธไม่สืบพยานตามที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นแล้วกำหนดให้ศาลชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะเดิมหรือผู้พิพากษาอื่น หรือศาลชั้นต้นอื่นใดตามที่ศาลอุทธรณ์จะเห็นสมควร พิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน และพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่

(๓) ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น ถ้าปรากฏว่า

(ก) การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นผิดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์อาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้น หรือ

(ข) ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์อาจทำคำสั่งให้ยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วกำหนดให้ศาลชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะเดิม หรือผู้พิพากษาอื่น หรือศาลชั้นต้นอื่นใด ตามที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควร พิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยดำเนินตามคำชี้ขาดของศาลอุทธรณ์แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปรากฏจากการอุทธรณ์หรือไม่
ในคดีทั้งปวงที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามมาตรานี้ คู่ความชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่เช่นว่านี้ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้

มาตรา ๒๔๔  ศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษานั้นเอง หรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ ในกรณีเหล่านี้ให้ศาลที่อ่านคำพิพากษามีคำสั่งกำหนดนัดวันอ่านส่งให้แก่คู่ความอุทธรณ์ทุกฝ่าย

มาตรา ๒๔๔/๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔๗ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๔๕  คำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นอุทธรณ์ให้มีผลเฉพาะระหว่างคู่ความชั้นอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑) ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์นั้นเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และคู่ความแต่บางฝ่ายเป็นผู้อุทธรณ์ซึ่งทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีผลเป็นที่สุดระหว่างคู่ความอื่น ๆ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรกลับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจชี้ขาดว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้มีผลระหว่างคู่ความทุกฝ่ายในคดีในศาลชั้นต้นด้วย

(๒) ถ้าได้มีการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีแทนคู่ความฝ่ายใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมมีผลบังคับแก่คู่ความฝ่ายนั้นด้วย

มาตรา ๒๔๖  เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นนั้น ให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559
คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2559
คดีนี้ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากซึ่งกฎหมายให้ศาลดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้าแต่ต้องมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 จำเลยร่วมเป็นบุคคลภายนอกที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การไปแล้ว แต่ให้รอมีคำพิพากษาสำหรับจำเลยร่วมไว้ก่อน เนื่องจากต้องดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยต่อไปโดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เวลา 9.30 ถึง 16.30 นาฬิกา แต่มิได้แจ้งวันนัดดังกล่าวให้จำเลยร่วมทราบทั้งการนัดฟังคำพิพากษาก็มิได้มีการแจ้งวันนัดให้จำเลยร่วมทราบอีกเช่นกัน ดังนี้จะถือว่าจำเลยร่วมทราบนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 และวันนัดฟังคำพิพากษาในวันนัดถัดไปโดยชอบแล้วหาได้ไม่ ประกอบกับมูลหนี้ของจำเลยกับจำเลยร่วมเกี่ยวด้วยหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยให้การต่อสู้เป็นปรปักษ์ต่อจำเลยร่วมในมูลหนี้ดังกล่าวตลอดมา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรวบรัดข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด กระทบต่อสิทธิในการดำเนินคดีของคู่ความ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) โดยให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5741/2559
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งสองส่วน รวมกันเป็นเงิน 1,750 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มา 900 บาท ถือว่าเป็นการชำระค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องของโจทก์ครบถ้วนแล้ว ที่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องดำเนินคดีในส่วนฟ้องตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไป และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2559
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย แม้จะแปลความหมายตอนท้ายของคำพิพากษาที่ระบุว่า "คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ด้วย แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องระบุถึงเหตุผลในการพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2559
แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย เมื่อโจทก์ต้องการสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นตามคำฟ้อง ก็เพื่อให้เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคลและขอให้มีคำสั่งเรียกเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ จึงไม่ชอบ

ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มีคำขอ 3 ประการ คือ เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับบ้านและเกี่ยวกับต้นไม้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงวินิจฉัยแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินเท่านั้นว่าเป็นเพียงคำมั่นว่าจะให้ อันเป็นการวินิจฉัยจากพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบ เนื่องจากศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคลและขอให้มีคำสั่งเรียกพยานเอกสารมาสืบดังกล่าว ซึ่งถ้านำสืบจนสิ้นกระแสความ ข้อเท็จจริงก็อาจรับฟังได้เป็นอย่างอื่น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้แก้ไข ถือได้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2559
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีส่วนแพ่ง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่รับคดีส่วนแพ่งโดยวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9751/2558
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 18 กันยายน 2556 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ที่ 1 ไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1), (2) ประกอบมาตรา 247 แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงโจทก์ที่ 2 ใหม่ด้วยตามรูปคดี ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8614/2558
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ยื่นอุทธรณ์มาคนละฉบับ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเพียงอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 โดยไม่มีเนื้อหาวินิจฉัยถึงอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัยคดีตามฟ้องอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 240 คดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้วให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาและพิพากษาใหม่ทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8689/2558
การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการมาทั้งหมดย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องได้ เพราะผู้ร้องมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด รวมทั้งกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดเพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมาตรา 296 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ชอบ

เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6502/2558
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผท 6565 ชลบุรีไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนสายอ่างศิลามุ่งหน้าไปตลาดอ่างศิลาซึ่งเป็นถนนมีช่องเดินรถ 2 ช่อง แล่นสวนทางกันคนละฝั่ง 1 ช่อง เมื่อถึงหน้าร้านนุชคอหมูย่าง จำเลยที่ 1 จะเลี้ยวซ้ายไปจอดที่ร้านดังกล่าวและเกิดเฉี่ยวชนกันกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาทางด้านซ้าย รถของโจทก์เสียหลักไปกระแทกกับรถยนต์ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 68, 148, 157 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3) (4), 68, 148, 157 และ ป.อ. มาตรา 390 แม้โจทก์ในคดีนี้จะเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวก็ตาม คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกและกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกระทำโดยประมาทด้วยหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าววินิจฉัยด้วยว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย ก็ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น และตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก็มิได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่รับฟังว่าพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่า โจทก์มีส่วนประมาทนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นๆ รวมทั้งค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใดไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2558
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2558
พ. ทนายโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ว่าความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ปรากฏว่าใบแต่งทนายความดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ทนายโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะต้องแก้ไขความบกพร่องในข้อนี้เสียก่อน แม้ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จะยื่นโดยชอบแล้วก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปพร้อมกันและมีคำพิพากษาโดยที่ยังมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) เป็นการไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18830/2557
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยจ้างคนงานมาสร้างรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์สู่ทางสาธารณะนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลย โดยยื่นคำฟ้องพร้อมกับคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่า คือการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12041/2557
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์นั้น แม้คดียังอยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา และคดีอยู่ระหว่างพิจารณาในศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็ยังมิได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์คำพิพากษาในเนื้อหาคดี คำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง หาอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในประเด็นนี้ขึ้นมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2557
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย และนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อ และที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ให้มีผลว่า ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจและนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จึงสมควรที่จะให้คู่ความทุกฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมานั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390/2556
จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2537 จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร 2 กระทงในปี 2549 ดังนั้นจำเลยจึงมีอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 74 แต่ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) ถึง (5) ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของจำเลยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6360/2556
หลักเกณฑ์การฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (2) ประกอบมาตรา 183 ต้องแยกพิจารณาว่าเป็นการฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กหรือฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิด หากฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องห้ามฎีกาเว้นแต่กำหนดเวลาฝึกอบรมเกินกว่าสามปี หรือกำหนดเวลาฝึกอบรมเป็นขั้นต่ำขั้นสูงและขั้นสูงเกินกว่าสามปี หากฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. ซึ่งในกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงกำหนดให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและยกคำร้อง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2556
เมื่อที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว อำนาจในการสั่งคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ย่อมเป็นของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะพิจารณาสั่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองประโยชน์นั้น จึงไม่ชอบ เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นจะไม่ชอบก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยทั้งสองเพราะเหตุที่ยื่นล่วงพ้นกำหนดเวลาโดยมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาตามคำร้องของจำเลยทั้งสองนั้น จึงไม่ถูกต้อง

การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 นั้น จะต้องเป็นการร้องขอให้คุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่พิพาทกันในคดีนี้ได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องและมีคำขอให้ใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์มิได้รับประโยชน์ในที่ดินพิพาท ฉะนั้น การที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองนำรายได้จากที่ดินพิพาทหลังหักค่าใช้จ่ายมาวางศาลชั้นต้นจนกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะมีคำพิพากษา ย่อมเป็นการนอกฟ้องและเกินคำขอ และแม้โจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดีก็ยังไม่อาจขอให้ศาลบังคับตามคำขอคุ้มครองประโยชน์นั้นได้ กรณีจึงไม่อยู่ในกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว คำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้คุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2554
ประเด็นในเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในชั้นชี้สองสถานแล้วเพียงแต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นจึงไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งมีผลเป็นการกลับคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาในประเด็นเรื่องอื่นที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยซึ่งรวมทั้งประเด็นเรื่องอายุความด้วยหรือวินิจฉัยไปเสียทีเดียว หากเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอาจเกิดความล่าช้าต่อการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องอายุความอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้และยังไม่ยุติไปขึ้นวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 และ 243 การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552
จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหาก มีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้ เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่น สัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2552
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อน สำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2552
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อน สำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8167/2551
ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีนี้จำเลยแสดงความจำนงที่จะให้การด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 193 วรรคสาม ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องจัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดของคำ ให้การลงในแบบพิมพ์บันทึกคำให้การด้วยวาจาคดีมโนสาเร่ (แบบ ม.2 ) แล้วอ่านให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 2 การที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดคำให้การด้วยวาจาของจำเลยลงในรายงานกระบวน พิจารณาซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการ นั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 โดยไม่ได้จัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดคำให้การของจำเลยลงในแบบ พิมพ์ ม.2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจำต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2551
การที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยตกลงจะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในหนังสือสัญญาซื้อรถยนต์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้แจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบและดำเนินการเปลี่ยนให้ผู้ร้อง เป็นผู้เช่าซื้อแทน ทั้งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อหาใช่ผู้ร้องชำระไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อนำรถยนต์คันพิพาทมาขายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น รถยนต์คันพิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งระงับการทำนิติกรรมทางทะเบียนของรถยนต์ คันพิพาท ไม่ถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่มีการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5386/2551
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกได้ชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ของศาลชั้นต้นจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และคดีนี้โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2551
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโดยในสัญญากำหนดเรื่องการโอนไว้ว่า ผู้ขายจะโอนสิทธิให้ผู้ซื้อในภายหลังเมื่อผู้ซื้อต้องการให้โอน เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงอาจบังคับได้ตั้งแต่วันทำสัญญา เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับตามสัญญาเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 193/30

เมื่อโจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้โอนตามสัญญาได้เพราะคดีขาดอายุความ จึงมีผลให้ไม่อาจขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินต่อไปให้จำเลยที่ 3 ได้ และแม้จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นกรณีเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2551
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โดยโจทก์มีภาระการพิสูจน์ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์แถลงขอสืบ ส. ทนายโจทก์เป็นพยานปากแรก โดยโจทก์ยืนยันว่า ส. รู้เห็นการประกอบอาชีพของโจทก์ เมื่อยังไม่ได้ฟังคำพยานย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง หรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่า ส. ไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องการประกอบอาชีพของโจทก์โดยตรงจึงให้งดสืบพยาน โจทก์ปากดังกล่าว คงมีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว แล้วพิพากษาคดีไปโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)

แม้โจทก์มีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดย ให้บังคับจำเลยชำระเงินตามฟ้อง แต่การที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น พิจารณาและพิพากษาใหม่ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2551
พ.ร.บ. การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์" มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้..." และมาตรา 7 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอา กับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่ากฎหมายได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคล ธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดตามพระราช บัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือ ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็น บุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นไม่ ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าแชร์รายพิพาทมีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การเล่นแชร์รายนี้ย่อมเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึง ปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงที่ว่าการเล่นแชร์รายนี้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องวินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อ กฎหมาย คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้น ศาลเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3), 243 (3) (ข) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8167/2551
ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีนี้จำเลยแสดงความจำนงที่จะให้การด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 193 วรรคสาม ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องจัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดของคำ ให้การลงในแบบพิมพ์บันทึกคำให้การด้วยวาจาคดีมโนสาเร่ (แบบ ม.2 ) แล้วอ่านให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 2 การที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดคำให้การด้วยวาจาของจำเลยลงในรายงานกระบวน พิจารณาซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการ นั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 โดยไม่ได้จัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดคำให้การของจำเลยลงในแบบ พิมพ์ ม.2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจำต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2551
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยมิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาศาล ชั้นต้นหรือหาประกันให้ไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ศาลชั้นต้นส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา ดังนั้น เมื่อมีการอุทธรณ์ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะตรวจสำนวนและถ้าเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตาม กฎหมาย ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นเสียได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่ง อุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 242 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2551
คดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การภายในกำหนด ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดรังวัดที่ดินซึ่งได้นัดไว้ก่อน สอบโจทก์ไม่ค้าน ย่อมถือว่าทนายจำเลยที่ 2 มีเหตุจำเป็นไม่อาจมาศาลได้ ชอบที่ศาลภาษีอากรกลางจะสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดี อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ส่งออกสินค้านอกราชอาณาจักรจริง ทำให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิได้รับโอนบัตรภาษี หากศาลภาษีอากรกลางได้ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออก อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ได้รับโอนบัตรภาษีมาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจให้งดสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาไปเสียทีเดียว จึงยังไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออกหรือไม่ คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรชอบที่จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง โดยให้ย้อนสำนวนไปทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2550
ปัญหาว่า จำเลยที่ 4 ได้วางเงินจำนวน 150,000 บาท ในนามของจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วจะต้องหักเงินจำนวนดังกล่าว จากจำนวนที่ฝ่ายจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเสียหายจำนวนนี้ไปแล้ว จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนเงินที่จำเลยทั้ง 4 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษา จะพิพากษาให้จำเลยรับผิดเต็มจำนวนค่าเสียหายไปก่อน โดยให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปพิสูจน์ขอหักหนี้ในชั้นบังคับคดีหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายและ ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย เมื่อจำเลยที่ 4 วางเงินต่อศาลโดยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองคนใดและจำนวนคนละ เท่าใด จึงต้องถือว่าให้ชำระแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 75,000 บาท เท่าๆ กัน เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้ออกไปจากภูมิลำเนาและไม่ได้กลับมาอีก เป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ทราบว่าจำเลยเป็นตายร้ายดีประการใด จำเลยไม่อาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผู้ร้องได้ยื่นคำให้การ ต่อสู้คดีมาพร้อมคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าจำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่าง หนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัด เสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสีย ก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำ ร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2550
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าห้องแถวพิพาทอีกต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยกับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องแถวพิพาท ตอนแรกจำเลยให้การว่าจำเลยซื้อห้องแถวพิพาทจาก ซ.ในราคา 38,000 บาท จำเลยได้รับมอบการครอบครองมาแล้ว แต่ในตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพากจาก ส. มารดาโจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาจึงเป็นคำให้การที่ขัดแย้ง กันเองเป็นคำให้การที่ยืนยันในข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริง ที่ให้การนั้นไปทางหนึ่งทางใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การจำเลยเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าห้องแถวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือ จำเลยและวินิจฉัยตามนั้น จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นขึ้นที่มิได้ยกขึ้น ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจยกอุทธรณ์ของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 242 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2550
ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงาน ตรวจแรงงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและได้นำคดีไปสู่ศาลแรง งานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และเมื่อโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอให้เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 2 ก็เป็นการแสดงความประสงค์ที่จะฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยในคดีเพื่อขอ เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ ไม่ได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดแล้ว พิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2550
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาล ฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว

ใบตอบรับการสมัครสินเชื่อเงินสดควิกแคชพร้อมสัญญาให้สินเชื่อเงินสดระบุข้อ ความว่า จำเลยขอรับบริการสินเชื่อเงินสดควิกแคชในวงเงิน 500,000 บาท ในอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินร้อยละ 1.15 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนเฉพาะเดือนแรกเท่านั้น ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ร้อยละ 0.5 ของยอดเงินกู้และจำเลยได้ลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้เป็นสำคัญ โดยไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่าเป็นสัญญาให้สินเชื่อเงินสดระหว่างโจทก์กับ จำเลย เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตรา ที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 ดังนั้น เอกสารดังกล่าวที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดตามเอกสารดังกล่าวต่อโจทก์ หรือไม่ และเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมายที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา โดยตรง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ จึงจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาในคดีให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659 - 660/2550
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ทนายจำเลยที่ 2 จำเวลานัดสืบพยานคลาดเคลื่อนมิได้มีเจตนาประวิงคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งให้สืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป หากเป็นจริงดังอ้าง จำเลยที่ 2 ก็มิได้จงใจขาดนัดพิจารณากรณีจึงต้องไต่สวนคำร้องเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) และ (4) ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยไม่ทำการไต่สวนเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 เสียก่อนแล้วมีคำสั่ง ไม่สมควรก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยวินิจฉัยตามคำร้องและอุทธรณ์คำสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 เลยไปว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประวิงคดี ฟังยังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดใจสืบพยาน และสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่กรณีไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบด้วย มาตรา 247 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2550
จำเลย ที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นเรื่องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นฟ้องซ้ำกับคดี ก่อนหรือไม่ เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ได้กล่าวแก้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษา ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2548
เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยภายใน 7 วัน หากไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ ถ้าไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ต่อมาเจ้าพนักงานศาลรายงานต่อศาลว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยตาม ภูมิลำเนาจำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้รอโจทก์แถลง แต่โจทก์ก็ไม่ได้แถลงว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อพิจารณาสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าว แต่กลับพิจารณาพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี และกรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4917 - 4918/2549
การที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเป็นผู้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อแต่เพียงผู้เดียว เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นที่ฟังว่า ย. ลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย อุทธรณ์ของจำเลยร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสำนวนที่ 2 มีเพียงคนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จ จริง ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ และสมควรแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ถูกต้อง เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่ ย. ขับเสียหลักแล่นไปชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 เป็นเพราะผู้ตายขับรถยนต์เก๋งแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถเข้าไปชนรถ ยนต์บรรทุกก่อน ดังนั้น ย. จึงไม่ได้ขับรถประมาท เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดความประมาทเลินเล่อของผู้ตายฝ่ายเดียว มิใช่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่ ย. ขับรถด้วยความเร็วสูง หรือขับรถยนต์บรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2548
อุทธรณ์ของจำเลยบรรยายถึงการขอเลื่อนคดีของจำเลยในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดี ใหม่ทุกครั้งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดการไต่สวนคำร้องเป็นคำ สั่งที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบต่อไปรวมอยู่ ด้วย แม้ตอนท้ายสุดของอุทธรณ์จะขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของจำเลยใหม่ตามที่ร้องขอ อุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นการอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และงดการไต่สวนคำร้องอยู่ในตัว ไม่ใช่อุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่แต่เพียงสถานเดียว คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดการไต่สวนคำร้องดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่าง พิจารณา จำเลยอุทธรณ์ได้พร้อมคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ซึ่งเป็นคำสั่งวินิจฉัย ภายในกำหนด 1 เดือน แต่จำเลยต้องโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้จึงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์และการพิจารณา คำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งต้องอาศัยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายจากคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าวเป็นพื้นฐานจึงจะพิจารณาได้ว่า จำเลยจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะให้พิจารณาคดีใหม่

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยมิใช่คำสั่งระหว่าง พิจารณา แต่เป็นคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 223

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมและจำนองเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม เป็นเงินจำนวนแน่นอน เมื่อจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน จำเลยจึงขาดนัดพิจารณาซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 206 วรรคสอง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2548
อุทธรณ์ของผู้ร้องได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้ วินิจฉัยแล้ว ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้น ต้น การที่ผู้ร้องได้กล่าวอ้างถึงสำเนาสูติบัตรที่ได้มาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำ พิพากษา มิใช้เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัย ให้เท่านั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 แล้ว

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (2) ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้อุทธรณ์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติและอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้าง ว่าเอกสารท้ายคำร้องเป็นเอกสารที่ผู้ร้องติดตามได้มาภายหลังศาลชั้นต้น พิพากษาคดี และเป็นเอกสารสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยเป็นการอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติม จะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นพร้อมกับบัญชี ระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวตามมาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตหรือไม่ เมื่อผู้ร้องเพียงอ้างในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตรเอกสารท้ายอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและบัญชีระบุพยานพร้อม สำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ จึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามมาตรา 240 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2548
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อ และจำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ว่าเงินค่าซ่อมขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์และคำแก้อุทธรณ์ของ จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือไม่ และฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามคำฟ้องอุทธรณ์โดยมิได้วินิจฉัยใน ประเด็นที่จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาในประเด็นนี้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2545
พนักงานของธนาคารโจทก์บันทึกรายการในบัญชีเงินฝากของจำเลยซ้ำกัน 2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีของจำเลยสูงกว่าความเป็นจริง 35,505 บาท และจำเลยเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไป เมื่อจำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจาก พยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์มิได้รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟัง มานั้นเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยกระทำผิดสัญญาฝากทรัพย์และโจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืน จึงมิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7442/2544
จำเลย ที่ 2 ถึงแก่กรรมระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก่ทนายความของจำเลยที่ 2 แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ทราบว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมคำพิพากษาคืนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งเกี่ยว กับความมรณะของจำเลยที่ 2 แล้ว มีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 จึงล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งให้ถูก ต้องก่อน