ส่วนที่ ๒
ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
มาตรา ๓๐๑
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(๑) เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัวโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินประเภทละสองหมื่นบาท แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจะกำหนดให้ทรัพย์สินแต่ละประเภทดังกล่าวที่มีราคารวมกันเกินสองหมื่นบาทเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพเท่าที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ราคารวมกันโดยประมาณไม่เกินหนึ่งแสนบาทแต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีความจำเป็นในการเลี้ยงชีพก็อาจร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตใช้สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพในกิจการดังกล่าวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีราคารวมกันเกินกว่าจำนวนราคาที่กำหนดนั้น ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหรืออนุญาตได้เท่าที่จำเป็นภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๓) สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยหรือแทนอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๔) ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่นหนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมาย หรือสมุดบัญชีต่าง ๆ
(๕) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ทรัพย์สินหรือจำนวนราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดตามวรรคหนึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งกำหนดใหม่ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวนั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่พฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินหรือจำนวนราคาทรัพย์สินที่ศาลกำหนดไว้เดิมได้ประโยชน์แห่งข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้ขยายไปถึงทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งอันเป็นของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลอื่น ซึ่งทรัพย์สินเช่นว่านี้ตามกฎหมายอาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
มาตรา ๓๐๒ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(๑) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพนั้น ให้มีจำนวนไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๒) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น
(๓) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (๒) ที่นายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๔) บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม (๓)เป็นจำนวนไม่เกินสามแสนบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๕) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่นเป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตาม (๑) (๓) และ (๔) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย และสำหรับในกรณีตาม (๑)และ (๓) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้นและไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น
ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้
ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไปบุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (๑) และ (๓) ใหม่ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2560
ป.วิ.พ. มาตรา 286 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี... (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้...เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มี 4 กรณี คือตาม (1) ถึง (4) แห่งมาตรา 286 ดังนั้น หากเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน มิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นตามมาตรา 286 (3) แล้ว แม้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์ทำงานที่โรงพยาบาล ส. ของบริษัท ป.
โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เก็บค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดเอง เมื่อหักค่าใช้จ่ายไว้ส่วนหนึ่งจึงจะจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาการใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ป. แม้ไม่ใช่ค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเนื่องจากไม่ใช่เงินที่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 286 (3) เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อบริษัท ป. ได้ กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการอายัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2560
แม้ศาลในคดีแพ่งจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้กับพวกชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินรวม 12 แปลง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาจำนองก็ตาม แต่ตามสารบัญจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวจำนวน 4 แปลง ระบุว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินและเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทถนน สวนหย่อมและบ่อบำบัดน้ำเสีย ตามใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีบทบัญญัติตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง และมาตรา 43 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้คงสภาพเดิม รวมทั้งจำกัดการใช้สิทธิในการทำนิติกรรมของผู้จัดสรรที่ดินในลักษณะที่จะก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค และที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะในโครงการจัดสรรที่ดินในอันที่จะได้ใช้บริการจากที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคตามที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้มาตรา 30 วรรคสอง ยังบัญญัติให้ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะปลอดจากบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และภาระการจำนอง ดังนั้น การขอรับชำระหนี้เพื่อบังคับแก่ที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคซึ่งต้องมีการนำที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ และในที่สุดก็ต้องมีการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ประมูลได้ การบังคับแก่ที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวถือว่าเป็นการก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวเจ้าหนี้ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง การบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจึงต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งกรณีนี้ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคท้าย ที่เป็นการขอบังคับเอากับที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากการขายทอดตลาดต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินรวมทั้งรับโอนสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร เจ้าหนี้จึงไม่อาจบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2560
ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 24 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 และมาตรา 23/3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โดยมาตรา 23/3 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไป ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างความต่อเนื่องของการออมเงินโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คดีนี้เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินสะสมด้วยเหตุออกจากงานให้แก่โจทก์ไว้ก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานแล้วใช้สิทธิคงเงินทั้งหมดที่จะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไปตามมาตรา 23/3 เงินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 24
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559
เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2559
เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2559
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6 บัญญัติว่า ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตาม พระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และวรรคสองบัญญัติว่า ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกป้องราษฎรที่ได้รับสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้มีที่ดินไว้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี จะจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินที่ได้รับมาด้วยประการใด ๆ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก ดังนั้นภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยผู้ได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองหรือทำนิติกรรมสัญญาประการใดอันมีผลหรือมีลักษณะไปในทางที่สละ หรือโอน หรืออาจต้องถูกบังคับคดีให้มีการโอนสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวได้
การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินขณะอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ซึ่งตามลักษณะของสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในอันที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเสียสิทธิการครอบครองที่ดินซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นเคหสถานและประกอบอาชีพ และพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยก่อนทำสัญญาที่ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีข้อห้ามโอน เห็นได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมที่มีเจตนาที่จะโอนที่ดินกัน แม้จะมีเงื่อนไขให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจยกนิติกรรมอันเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อบังคับให้จำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340 - 10378/2558
แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางต้องออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558
แม้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น เมื่อราษฎรสามารถอ้างสิทธิครอบครองยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ และสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง
หลักจาก ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข. ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น บันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 และบรรดาทายาทของ ข. ตกลงทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทกัน จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13302/2557
เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการถือได้ว่าเป็นรายได้อื่นลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8183/2557
พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและ ค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งการรับรองสิทธิในการได้รับค่าทดแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ดังนั้น เงินที่จะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นเงินที่รัฐจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่จำเลยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินนั้น จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิทธิของลูกหนี้ในทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เงินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10444/2556
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 50 วรรคห้า บัญญัติให้เงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือนเพียงเพื่อไม่ให้นำเงินประจำตำแหน่งมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการเฉกเช่นเงินเดือนเท่านั้น เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายให้แก่บุคคลนั้นขณะดำรงตำแหน่ง จึงถือเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับคดีเอาจากเงินประจำตำแหน่งของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263 - 5264/2554
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นครูโรงเรียนเอกชน ทางโรงเรียนหักเงินเดือนของจำเลยทั้งสองไว้ส่วนหนึ่งทุกเดือนเป็นเงินสะสม และออกเงินให้จำนวนเท่ากับเงินสะสมของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินสมทบ เงินสะสมและเงินสมทบนี้เป็นเงินที่รวมไว้เป็นกองทุนสงเคราะห์และจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 67, 68, 69 และ 74 ต่อมามี พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมกับให้โอนเงินกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายเดิม ไปเป็นของกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว โดยให้มีเงินสะสมและเงินสมทบเป็นเงินในกองทุนสงเคราะห์ที่ครูมีสิทธิได้รับเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานเช่นเดียวกันตามมาตรา 54, 73, 74 และ 76 แต่มาตรา 80 บัญญัติให้สิทธิการรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีจึงมีผลทำให้เงินสะสมและเงินสมทบที่จำเลยทั้งสองมีอยู่แล้วที่จะเกิดขึ้นภายหลังไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ไม่อาจร้องขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752 - 780/2554
คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9577/2552
ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2552
เงินค่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้ร้องที่ 2 ที่ได้ชำระแก่ผู้ร้องที่ 2 ไปแล้ว แม้จะเป็นเงินทุนของผู้ร้องที่ 2 แต่ผู้คัดค้านก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ อีกทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285, 286 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องที่ 2 จัดส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ร้องที่ 2 ขออายัดเงินค่าหุ้นของผู้คัดค้านในสหกรณ์ผู้ร้องที่ 2 โดยให้จัดส่งเงินตามที่อายัดภายใน 10 วัน นับแต่วันถึงกำหนดจ่าย คำสั่งอายัดดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 (3) ผู้ร้องที่ 2 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม หลังจากผู้ร้องที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งอายัดแล้ว ผู้ร้องที่ 2 กับเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือโต้ตอบกันเกี่ยวกับเงินที่มีคำสั่งอายัดหลายฉบับ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวผู้คัดค้านยังมิได้ขาดจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องที่ 2 จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องส่งเงินค่าหุ้นให้เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เมื่อผู้คัดค้านขาดจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องที่ 2 ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นนั้น เป็นผลให้เงินค่าหุ้นถึงกำหนดจ่าย ผู้ร้องที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินค่าหุ้นตามคำสั่งอายัด จะอ้างว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดอีกหลายฉบับต่อจากคำสั่งอายัดเดิมถือว่าคำสั่งอายัดเดิมเป็นอันสิ้นผล และผู้ร้องที่ 2 ได้รับคำสั่งอายัดเงินค่าหุ้นครั้งสุดท้ายหลังจากที่ผู้ร้องที่ 2 ได้นำเงินค่าหุ้นของผู้คัดค้านไปหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ของผู้คัดค้านแล้วหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3967/2551
จำเลยพ้นจากการเป็นสมาชิกผู้ร้องโดยการลาออกแล้ว จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าหุ้นของจำเลยจากผู้ร้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอาแก่สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นของจำเลยได้ เงินค่าหุ้นที่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้ร้องชำระแก่ผู้ร้องแล้วนั้น แม้จะเป็นเงินทุนของผู้ร้อง แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ ทั้งไม่อยู่ในข้อยกเว้นในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285,286 แม้จะได้ความว่าจำเลยได้จำนำหุ้นดังกล่าวไว้เป็นประกันเงินกู้กับผู้ร้อง ผู้ร้องก็มีสิทธิเพียงได้รับชำระจากเงินค่าหุ้นที่ถูกอายัดไว้ก่อนเจ้าหนี้ รายอื่นเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งมอบเงินค่าหุ้นแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7448/2550
การที่จำเลยตกลงให้นำเงินค่าหุ้นที่จำเลยมีอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ไว้เป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยเป็นหนี้โดยยอมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด หักชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นได้ทันทีเมื่อหนี้ถึงกำหนด คงมีผลเพียงให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นก่อนเจ้าหนี้อื่น เงินค่าหุ้นดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 285 และมาตรา 286 ทั้งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ก็มิได้บัญญัติให้เงินค่าหุ้นเช่นว่านี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับ คดี จำเลยจึงไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วยเหตุดัง กล่าวได้ ส่วนที่ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกใน ระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นยังไม่สิ้นสุดลงนั้น ก็โดยมุ่งหมายที่จะคุ้มครองทุนของสหกรณ์ที่ได้มาจากค่าหุ้นของสมาชิกมิให้ลด น้อยถอยลงเพราะเหตุที่สมาชิกเป็นหนี้บุคคลภายนอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของสหกรณ์เท่านั้น หาใช่บทกฎหมายที่ห้ามเจ้าหนี้มิให้ใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกเป็น การเด็ดขาดตลอดไปไม่ การอายัดเงินค่าหุ้นของสมาชิกไว้ก่อนโดยให้สหกรณ์ส่งเงินค่าหุ้นเมื่อสมาชิก ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพเพื่อป้องกันสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิให้เสีย หาย จึงย่อมกระทำได้และไม่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550
บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสียก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2550
โจทก์เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อมาโจทก์ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานกองทุนได้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้โจทก์แล้ว และได้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท ให้แก่จำเลยไว้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานตามข้อบังคับกองทุนฯ ข้อ 37 วรรคหนึ่ง (7) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยต้องเก็บรักษาไว้แทนผู้จัดการกองทุนเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อพ้นจากตำแหน่งในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบ ดังนั้น เมื่อโจทก์ลาออกจากงานด้วยความยินดีของทั้งสองฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ เงินดังกล่าวจึงยังมีสภาพเป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุน มิได้กลับมาเป็นของจำเลยแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23, 24 และไม่อาจนำไปหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 346
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2550
การอายัดเป็นการที่ศาลมีคำสั่งห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้งดเว้นการจำหน่าย สิทธิเรียกร้องและห้ามบุคคลภายนอกมิให้ชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของให้แก่ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระหรือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แม้โจทก์จะใช้คำว่า อายัด ผิดพลาดก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ศาลย่อมพิจารณาจากลักษณะอันแท้จริงตามกฎหมายของกรณีนั้นๆ ว่าที่ถูกต้องแล้วเป็นการยึดหรืออายัด
โจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 43 ซึ่งเป็นการชำระเงินค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งต้องห้ามมิให้ยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยโดยอนุโลมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 259 โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ยึดเงินดังกล่าวก่อนพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8240/2549
ตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2496 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้รายได้ที่จำเลยต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ คือ รายได้จากการดำเนินกิจการที่จำเลยได้รับมาแล้ว และเหลือจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่รวมถึงรายได้ที่จำเลยยังไม่ได้รับชำระและยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย สิทธิเรียกร้องเงินค่าขนส่งตามสัญญาจ้างที่จำเลยทำไว้กับโรงงานยาสูบซึ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเป็นเพียงสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่จำเลย ยังไม่ได้รับเข้ามาเป็นรายได้ของจำเลยและยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ยังไม่เป็นรายได้ที่จำเลยต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ต้องห้ามมิให้อายัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544
จ. ถึงแก่กรรม ที่ดินของ จ. จึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้ง ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุ จ. ด้วย ที่ดินที่ ส. ได้รับมรดกมาเช่นนี้มิใช่ที่ดินของวัด แม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ส. จึงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของตนซึ่งยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินเดิมให้แก่ โจทก์ได้ การที่ ส. ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จในเวลาต่อมาแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์แก่โจทก์และถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสมบัติของวัดจำเลย โดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623
ที่วัดที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่ง การบังคับคดีตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับ คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285(4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสภาพแห่งหนี้ จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิด ช่องให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการ จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ ศาลฎีกาให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลย
การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น การที่ ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7334/2540
สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สินและเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยแต่เมื่อ ก. ผู้ให้เช่ายินยอมให้โอนสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ผู้คัดค้านยึดและขายทอดตลาดได้เช่นนี้ ผู้คัดค้านจึงมีอำนาจยึดและขายทอดตลาดสิทธิการเช่าอาคารพิพาทของจำเลย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2537
สิทธิการเช่าตึกแถวระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับจำเลยเป็น สิทธิเฉพาะตัว และไม่มีข้อตกลงให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าได้จึงเป็นทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ ตามกฎหมาย ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 285(4) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้ เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิทธิการเช่าตึกแถวแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินราคาไว้ จึงเป็นทรัพย์สินที่มีราคาอยู่ในตัวแต่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามกฎหมายโจทก์ผู้นำยึดจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี