Pages

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2562

Custom Search Filter With jQuery

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2562ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความโดยถือวันที่ผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าเป็นวันวินาศภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่าวันวินาศภัยหรือวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่ บ. ผู้หลอกลวง อันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่แต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การกระทำความผิดของ บ. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนี้ ในวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ บ. กับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่ บ. กับพวกวางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด แต่ในขณะนั้น บ. กับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง ไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ ต่อมาเมื่อ บ. กับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่า บ. กับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัว บ. กับพวกได้และเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์เป็นวันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7632/2562โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าตามฟ้องมาด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการขอให้ศาลสั่งเมื่อมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดอันถือได้ว่าเป็นคำขออุปกรณ์ คดีนี้จึงเป็นคดีความอาญา ซึ่งวิธีพิจารณาคดีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งหากมีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม สำหรับเรื่องการขอเข้าร่วมเป็นคู่ความในคดีอาญานั้นมีได้เฉพาะดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และมาตรา 31 ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและกรณีพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีดังกล่าวแล้ว การขอเข้าเป็นคู่ความในคดีไม่อาจจะมีได้ ทั้งการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาอนุโลมบังคับใช้ตามที่ผู้ร้องฎีกาก็ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติกรณีเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้ไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 30 และมาตรา 31 แล้ว ประกอบกับการเป็นคู่ความในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) มีเพียงสองฝ่าย คือโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีคู่ความฝ่ายที่สาม ดังนั้น แม้ผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีและมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลย ผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" และคำว่า "บังคับใช้แรงงาน" และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 โดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 และในส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการและบทกำหนดโทษตามมาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 ขึ้นใหม่ เมื่อขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวและกำหนดโทษไว้ จึงใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับแก่จำเลยคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม) องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ผู้เสียหายดังกล่าวหลบหนีโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายดังกล่าวเพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย สำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้พยายามหลบหนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้โดยถูกพวกของจำเลยที่ 1 พากลับมาส่งที่ฟาร์ม จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์ม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป การจับตัวผู้เสียหายดังกล่าวไว้เมื่อหลบหนีและเอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตาม ป.อ. มาตรา 310 ทวิ อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นบทหนัก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7487/2562พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 38 บัญญัติว่า "กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน... ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน..." ซึ่งจำเลยเป็นองค์การมหาชนที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดมิให้นำบทบัญญัติเรื่องค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย ย่อมมีความหมายว่าจำเลยมีสิทธิไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างในลักษณะเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงาน นายจ้างย่อมมีสิทธิกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานดังกล่าวกำหนดไว้ได้ เมื่อจำเลยโดยคณะกรรมการจำเลยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (3) แห่ง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 กำหนดประโยชน์ตอบแทนอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง โดยออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน 2555 ให้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อถูกจำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุต่างๆ อันมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นเดียวกันกับการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานทั้งที่จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตอบแทนในลักษณะดังกล่าวแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามกฎหมาย จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว การที่ พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 มาตรา 20 มิได้มีข้อกำหนดให้การออกระเบียบตามมาตรานี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้ก็เป็นเพียงกรอบนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติเท่านั้น และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของจำเลยให้เป็นไปตามกฎหมายในขณะนั้น ยับยั้งการใช้ระเบียบดังกล่าวของจำเลยตามความในมาตรา 43 รวมทั้งคณะกรรมการบริหารจำเลยมีมติจ่ายเงินตอบแทนตามระเบียบดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะออกระเบียบจำเลยว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559 ยกเลิกการจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างกรณีเลิกจ้างด้วยเหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก็หามีผลบังคับแก่โจทก์ไม่ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับหลังจากที่โจทก์กับจำเลยสิ้นสุดนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างต่อกันแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7486/2562บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้ในขณะเกิดเหตุ ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและพิจารณาความผิดทางวินัย เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยในข้อที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรง การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลย ส่วนข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ ไม่เข้ากรณีตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของจำเลย จำเลยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยเพื่อดำเนินการทางวินัยเสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลย จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7485/2562แม้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 มีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนว่า ในกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างนั้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 มาตรา 38 ที่บัญญัติว่า "กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน... ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน..." และอัตราการจ่ายเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้างตามระเบียบจำเลยที่ 1 ว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง พ.ศ.2555 ก็กำหนดไว้ในข้อ 5 ทำนองเดียวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะนั้นก็ตาม แต่เงินตอบแทนตามระเบียบจำเลยที่ 1 ดังกล่าวหาใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่ ทั้งมติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้เป็นเพียงการกำหนดกรอบนโยบายหรือแนวทางในการบริหารจัดการขององค์การมหาชนเท่านั้น หามีผลไปลบล้างระเบียบจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ซึ่งออกโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยไม่ เมื่อคดีนี้ขณะโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และถูกเลิกจ้างในปี 2558 โดยระเบียบจำเลยที่ 1 ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกยกเลิกและยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องใช้ระเบียบจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบังคับแก่กรณีของโจทก์ ส่วนระเบียบจำเลยที่ 1 ว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเลิกจ้าง (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับหลังจากโจทก์ถูกเลิกจ้างไปแล้วจะนำมาใช้บังคับย้อนหลังกับโจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7477/2562แม้จำเลยเป็นเพียงครูอัตราจ้าง แต่ก็มีฐานะเป็นครูมีหน้าที่อบรมและสอนนักเรียน จำเลยสอนวิชาการงานอาชีพนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และสอนโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนี้จำเลยยังเป็นครูซึ่งมีหน้าที่ฝึกสอนและดูแลโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนที่ไปแข่งขันประดิษฐ์โคมไฟอีกด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนทุกคนที่จำเลยสอนให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ โจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7476/2562คำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมจนศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว การที่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวนเดิมกับที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมก่อนคดีในชั้นบังคับคดีนั้นจะถึงที่สุด และแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทในคดีเดิมแก่โจทก์เมื่อคดีในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมถึงที่สุดแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่จะเข้าข้อยกเว้น ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) แต่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7469/2562ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า จะต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกระทำ จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด อันเป็นการปรับปรุงนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราทางธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อคดีได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นลงแล้วใช้ปากของจำเลยดูดและอมอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องทางปากของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) อีกต่อไป ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) หรือเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศอันเป็นการล่วงเกินผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต เท่ากันกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7453/2562แม้ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าเช็คพิพาททั้งสามฉบับมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของบริษัท ซ. อันแตกต่างจากฟ้อง แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าบริษัท ซ. เป็นบริษัทภายในเครือเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้งสองบริษัทและจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซ. ดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะออกเช็คในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท ซ. จำเลยที่ 2 ก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกันเพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และบริษัท ซ. ลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยลำพังไม่จำต้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ก็ได้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องจึงหาใช่เป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ด้วย อันเป็นเหตุที่ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7446/2562เมื่อการกระทำของจำเลยถือเป็นการสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่จำเลยกับพวกได้มีการสมคบกัน กับร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไป 2 เม็ด ย่อมถือว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกันและเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน โดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันและสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ การมีเมทแอมเฟตามีน 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วแบ่งจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 2 เม็ด ให้แก่สายลับ จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกันซึ่งต้องเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 16 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวกันมีโทษเท่ากันลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกระทงหนึ่ง กับฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด เป็นการกระทำกรรมเดียวกันมีโทษเท่ากันลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2562ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7384/2562รายงานกระบวนพิจารณาของศาลระบุว่า จำเลยเตรียมเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหาย ศาลจึงให้จำเลยส่งมอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายและมารดาผู้เสียหายตรวจรับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำเลยยกมือไหว้ขอโทษมารดาผู้เสียหายและผู้เสียหาย ไม่มีข้อตกลงโดยชัดแจ้งว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา จึงไม่ใช่การยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7348/2562ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 บัญญัติว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น การกระทำความผิดฐานรับของโจรจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้อง ท. เป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ว. ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.10119/2560 แล้ว ดังนั้น ของกลางที่จำเลยทั้งสองได้มาจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7272/2562โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเนื่องจากโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามมาตรา 1627 ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก และส่วนที่สองคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้ามรดกที่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของตน เช่น เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งเกิดให้แก่โจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของตน ยอมให้ใช้ชื่อสกุล เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนแนะนำและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปอย่างเปิดเผยว่าโจทก์เป็นบุตร หลักฐานทางทะเบียนราษฎรระบุว่า โจทก์เป็นบุตรของ ข. กับ บ. สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงและน่าเชื่อถือมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงจะรับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7189/2562ในการทำงานโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงต่อการรักษาความลับและพันธกรณีอื่น ๆ โดยโจทก์ยินยอมที่ป้องกันรักษาความลับของข้อมูลและสารสนเทศของจำเลย อันแสดงให้เห็นว่า จำเลย ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลย การที่โจทก์นำข้อมูลเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการและการบริหารจัดการองค์กรของจำเลยเพื่อรับรองมาตรฐานการฝึกอบรมและการประเมินของจำเลยส่งเข้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของโจทก์ ทำให้ง่ายต่อการส่งข้อมูลดังกล่าวต่อไป หรือนำข้อมูลออกไปโดยจำเลยไม่อาจติดตามได้ การกระทำของโจทก์ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่สุจริตและเป็นการนำความลับของจำเลยไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และถือเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 33.4 และ 33.5 เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7178/2562คำว่า "อนาจาร" มีความหมายว่า การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ ซึ่งรวมถึงการแตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร ส่วนการกระทำชำเราหมายถึง การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 9 ปีเศษ นอนลงกับพื้น อ้าขาและใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7176/2562จำเลยทั้งสามเดินทางมาที่ห้างสรรพสินค้า ซ. สาขาพระราม 9 ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมก่อนพร้อมธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมที่เก็บไว้ในซองสีน้ำตาลซ่อนอยู่กับตัวของจำเลยที่ 1 ต่อมาจึงจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คนละแห่งกันกับที่จับกุมจำเลยที่ 1 แม้อยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกัน แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะครอบครองธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมร่วมกัน โจทก์คงอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันเท่านั้นที่เป็นหลักในการดำเนินคดี แต่บุคคลที่เดินทางมาด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องกระทำความผิดร่วมกันเสมอไป โจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดที่ทราบถึงรายละเอียดของการซื้อและส่งมอบธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอม พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการกระทำร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่มีธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอมไว้เพื่อนำออกใช้ และรู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่แรกด้วยหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้ ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2562ตามใบคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ ซึ่งตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่พฤติการณ์การใช้รถจักรยานยนต์ของกลางของ น. แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมาเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรของผู้ร้องเป็นสำคัญ เห็นได้จากการที่ น. ครอบครองใช้ขับไปทำงานอยู่เป็นประจำ และวันเกิดเหตุช่วงเวลากลางคืนยังขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปบ้าน ว. เพื่อนของ น. โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ร้อง กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องโถง บุคคลทุกคนในครอบครัวต่างก็รับรู้ถึงสถานที่เก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ และอยู่ในวิสัยที่นำไปใช้ได้ แสดงว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการอนุญาตให้ น. นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่ น. สามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ขออนุญาตเช่นนี้ได้ ก็ถือได้ว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ได้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงว่า น. จะนำไปใช้ในกิจการใดหรือจะอนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อด้วยหรือไม่ ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง ทั้งตามพฤติการณ์ผู้ร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อประโยชน์ให้ น. บุตรของผู้ร้องสามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางกลับไปใช้ได้เท่านั้น อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7041/2562แม้บ้านที่ผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 กับบ้านจำเลยอยู่ใกล้กันเพียงมีถนนคั่น และผู้เสียหายที่ 1 ไปหาน้องต่างบิดาที่บ้านจำเลยชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อวิ่งเล่นแล้วกลับมาที่บ้าน ระหว่างนี้ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่คำนึงว่าบ้านอยู่ห่างกันหรืออยู่ใกล้ไกลเพียงใด และจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายที่ 2 ห้ามและไม่ยินดีให้ผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านจำเลย การที่จำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ไปจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับน้องให้เข้าไปหาในห้องนอนแล้วกระทำชำเรา กับเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปในห้องน้ำและกระทำชำเรา แม้ห้องนอนหรือห้องน้ำกับบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับน้องจะเป็นบริเวณบ้านเดียวกัน แต่การกระทำของจำเลยแสดงว่ามีเจตนาพาผู้เสียหายที่ 1 จากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งแล้ว ทั้งเมื่อจำเลยขี่จักรยานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่คลองท้ายหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจำเลย 200 ถึง 300 เมตร เพื่อกระทำชำเรา ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยแต่ละครั้ง เป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้การปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2562โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารฯ แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7009/2562คดีค้ามนุษย์อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ซึ่งมาตรา 38 บัญญัติว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีค้ามนุษย์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2562ตามพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงยินยอมเปลี่ยนลักษณะงานจากการทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลามาเป็นการทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมง แม้ถูกไต้ก๋งเรือบางคนบังคับขู่เข็ญให้ทำงานก็เป็นลักษณะนิสัยใจคอของไต้ก๋งเรือแต่ละคน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน และเป็นเรื่องปกติที่เรือประมงซึ่งไปหาปลานอกน่านน้ำไทยต้องล่องทะเลหาปลาเป็นเวลานานจึงจะกลับเข้าฝั่ง และการที่ไต้ก๋งเรือเก็บหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไว้เพื่อความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างเดินทางก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เรือประมงโดยทั่วไปกระทำกัน มิใช่เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดหลบหนี ส่วนค่าจ้างโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงให้ น. และ ก. รับเงินค่าจ้างแทนเพื่อนำไปส่งให้แก่ครอบครัวของแต่ละคนที่ประเทศกัมพูชาแล้วถ่ายรูปส่งให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดดูระหว่างที่ทำงานอยู่บนเรือประมง โดยมีการนำเงินค่าจ้างส่งให้จริง และหลังเกิดเหตุตัวแทนของ ค. เจ้าของเรือประมงได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดแล้ว เพียงแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยังโต้แย้งว่ามีค่าแรงในการทำงานวันหยุดและค่าแรงการทำงานล่วงเวลาต้องจ่ายเพิ่มอีก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงานโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2562โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.1 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเครื่องดื่มชื่อผลิตภัณฑ์ "ชารสเก๊กฮวยพร้อมดื่มตรา Manobu" แล้วบรรจุในขวดพลาสติกและมีฉลากปรากฏเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่โจทก์เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ อันเป็นการร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรองฮาลาลของโจทก์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล จากโจทก์ และบรรยายฟ้องในข้อ 2.2 แต่เพียงว่า ภายหลังจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าชื่อผลิตภัณฑ์ "ชารสเก๊กฮวยพร้อมดื่มตรา Manobu" ที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลปลอมตามฟ้องข้อ 2.1 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุให้ชัดเจนว่า เครื่องหมายรับรองที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอม และสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายมีจำนวนเท่าใด กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรอง และจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมดังกล่าว เป็นการกระทำโดยมีจำนวนเครื่องหมายรับรองที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมขึ้น กับจำนวนเครื่องหมายรับรองปลอมที่ปรากฏอยู่บนสินค้าที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำออกจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน ประกอบกับตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรองและนำออกจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันปลอมเครื่องหมายรับรองและร่วมกันนำสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองปลอมดังกล่าวออกจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2562แม้กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์มิได้เป็นนิติบุคคล แต่กองทุนสวัสดิการตำบลพระครู ได้รับการรับรองเป็นองค์การสาธารณประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 และการบริหารงานของกองทุนกระทำในรูปคณะกรรมการ คณะกรรมการกองทุนจึงมีอำนาจกระทำการแทนกองทุนฯ เมื่อคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูโจทก์ประชุมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์มอบหมายให้ ย. ซึ่งเป็นกรรมการและประธานกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูดำเนินคดีแทนกองทุนฯ และให้ ย. มีอำนาจหรือมอบอำนาจให้ทนายความดำเนินคดีแทนก็ได้ ย. จึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองและแทนกรรมการกองทุนสวัสดิการตำบลพระครูคนอื่น ๆ เพื่อเรียกคืนเงินให้แก่กองทุนสวัสดิการตำบลพระครูได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6999/2562ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต ก็เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2562แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6915/2562ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง" อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์ คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2562จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 บิดาและ ศ. มารดาในฐานะผู้ดูแลและผู้มีอำนาจปกครอง จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเรา 5 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 รายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลามิได้กระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2562จำเลยพกพาอาวุธมีดขนาดใหญ่บุกรุกเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องนอน โดยขณะกระทำชำเราจำเลยวางอาวุธมีดไว้ข้างตัวใกล้มือจำเลย ซึ่งพร้อมจะหยิบฉวยได้ทันที พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิงเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายด้วยอาวุธมีดนั้นจึงไม่กล้าขัดขืน ถือได้ว่าเป็นการใช้อาวุธมีดข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้อาวุธตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2562ป.วิ.อ. มาตรา 69 (1) บัญญัติถึงเหตุที่ศาลจะออกหมายค้นไว้ว่า เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ดังนั้นในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองและคดีดังกล่าวมีการไต่สวนมูลฟ้อง หากราษฎรผู้เป็นโจทก์มีความจำเป็นต้องการค้นหาสิ่งของซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นเพื่อจะนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนมูลฟ้องคดีของตน ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อพบและยึดสิ่งของดังกล่าวตามบทบัญญัติข้างต้นได้ หาใช่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเฉพาะที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายค้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสอง การที่โจทก์เพิ่งมาขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นเพื่อนำไปค้นหาพยานหลักฐานในระหว่างที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะนำพยานหลักฐานอื่นมาแสดงต่อศาลแล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าต้องการนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบฎีกาของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้อ้างอิงพยานวัตถุที่ต้องการให้ศาลออกหมายค้นไว้เป็นพยานหลักฐานในบัญชีระบุพยานตั้งแต่แรก หรือยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลแต่อย่างใด ดังนั้นพยานวัตถุที่โจทก์ต้องการให้ศาลออกหมายค้นนั้น จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6762/2562ก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้องที่ น. และ ส. ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปยิงผู้ตายนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับมอบการครอบครองอาวุธปืนจาก ว. แล้วพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้รับมอบการครอบครองอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 แล้วนำติดตัวไปส่งมอบให้แก่ น. เพื่อให้ น. และ ส. ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องแล้ว แม้วันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกับ น. ส. และ ว. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่การครอบครองและพาอาวุธปืนของกลางของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกับการที่ น. และ ส. ร่วมกันมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ซึ่งเป็นกรณีที่ทางพิจารณาได้ความว่า วันเวลาและสถานที่กระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเท่านั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหลงต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่เกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6741/2562การที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 และในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยในระยะแรกผู้ร้องทั้งสองได้รับค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญา ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้รับค่าเช่า ผู้ร้องทั้งสองจึงทราบว่าผู้ร้องทั้งสองถูกฉ้อโกง ต่อมามีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกง กรณีไม่อาจถือว่าในวันที่ผู้ร้องทั้งสองส่งมอบรถยนต์เป็นวันที่ความผิดสำเร็จอันจะถือเป็นวันวินาศภัยซึ่งจะส่งผลว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดสองปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นผลให้ผู้ร้องทั้งสองเสียประโยชน์ เพราะข้อเท็จจริงย่อมเป็นการยากต่อวิญญูชนคนทั่วไปที่จะทราบว่าถูกฉ้อโกงมาตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ไปตามสัญญา กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า วันวินาศภัยให้นับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญา การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเห็นได้ว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2562ป.อ. มาตรา 23 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจศาลในการที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่โทษกักขังดังกล่าว เป็นการใช้โทษกักขังแทนโทษจำคุกในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน และที่กฎหมายบัญญัติให้กักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้น เพื่อให้การกำหนดโทษกักขังเป็นเช่นเดียวกับโทษจำคุกดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือน เป็นโทษกักขังแทน มีกำหนด 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6681/2562แม้ ป.พ.พ. มาตรา 423 ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวต่อบุคคลที่สาม แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้ การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค เมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อพูดคุยกัน โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง 3 คนคือจำเลยทั้งสองและ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้ การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันโดย พ. เข้าร่วมสนทนากับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2562การที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยและแยกย้ายจากกันแล้ว จำเลยบอกผู้เสียหายที่ 1 ให้รออยู่ก่อน จำเลยจะกลับไปเอาอาวุธปืน แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปเอาอาวุธปืนของกลางกลับมายังที่เกิดเหตุโดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง นับเป็นเวลาเพียงพอที่จำเลยสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปและกลับมามีสติสัมปชัญญะได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนกันไปแล้ว จำเลยจะอ้างว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าและไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนหาได้ไม่ พฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยตระเตรียมการพร้อมที่จะกลับไปฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2562ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของ ส. และ ต. ภายหลังแบ่งแยก ต. ผู้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ ต. เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งโจทก์และบริวารก็ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวตลอดมา การตกลงกันดังกล่าวถือเป็นการทำนิติกรรมก่อตั้งสิทธิภาระจำยอมระหว่างกัน หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ต. หรือโดยวิสาสะไม่ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยนิติกรรมดังกล่าว อันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้ทางภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็อาจได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหากโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมซึ่งต้องพิจารณาจากการใช้ว่า เป็นการใช้โดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อ ต. เจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาทคนเดิมและเจ้าของที่ดินคนต่อ ๆ มาหรือไม่ โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมตลอดมา เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เมื่อเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว แม้จะเป็นการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ก็ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเรื่องการรับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2562ที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้นั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 76 วรรคสอง และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า "ถ้ายาเสพติดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำที่โจทก์ขอให้บวกโทษเป็นความผิดอยู่ แต่โทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดมีเพียงโทษปรับซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ากฎหมายเก่าที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจบวกโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และ ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2562ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6538/2562การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 - 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่า การอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาด้วย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) ไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทั้งห้าสืบสม แต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์ทั้งห้ามิได้บรรยายองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาในฟ้องด้วย อีกทั้งองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) กับมาตรา 265 มีความแตกต่างกันมาก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในเรื่องที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6532/2562ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ กรณีจะขาดอายุความได้หากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 96 ถึงแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะทราบเรื่องเวนคืนของที่ดินแปลงอื่นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1379/2553 และจากคำให้การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 201/2551 ว่าที่ดินพิพาท ค่าเวนคืนและค่าเช่าของจำเลยตามที่จำเลยฎีกาอันจะส่อว่ารู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ทั้งห้ายังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งได้รับหนังสือตอบปฏิเสธจากจำเลยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก การที่โจทก์ทั้งห้าไปร้องทุกข์ในวันที่ 20 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก และนำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6520/2562ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองได้ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดนับแต่ระยะเวลานั้นสิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ต่อมาจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามก็ตาม แต่ในที่สุดจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์คำสั่งได้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วต้องเปลี่ยนแปลง โดยต้องถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อันเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2562ฎีกาของผู้ประกันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ประกันนำเงิน 500,000 บาท มาชำระตามสัญญาประกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ทั้งที่ผู้ประกันอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า ศาลชั้นต้นสิ้นสิทธิในการบังคับคดีเพราะไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกันชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6445/2562จำเลยที่ 4 ได้รับการยกให้จากบิดา จากนั้นเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและแบ่งปันที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท เป็นการอ้างว่า ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียน ย่อมต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับจำนองไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันกับโจทก์ได้ และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6443/2562ู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 40015 ของจำเลยที่ 2 ก่อนเจ้าหนี้อื่น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 40015 ก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 40015 ก่อนเจ้าหนี้อื่นเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ส่วนที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 40016 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ก่อนเจ้าหนี้อื่นมาด้วยนั้น ที่ดินที่ขอรับชำระหนี้เป็นที่ดินคนละแปลงกับคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 40015 ก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่เท่านั้น โดยยังมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 40016 ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 40016 ก่อนเจ้าหนี้อื่นในคดีนี้ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2562แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจที่จะนำข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย แต่ไม่อาจนำมารับฟังในฐานะพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องด้วยไม่ โดยหากเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามรายงานการสืบเสาะและพินิจขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลย ก็ชอบแต่จะให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมให้ชัดแจ้ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2562ขณะเกิดเหตุละเมิด จ. ผู้ตาย เป็นบุตรนอกสมรสของผู้คัดค้านซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ค. มารดาของผู้ตาย หลังจาก จ. ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้ตาย เป็นผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านกับมารดาของผู้ตาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ดังนั้น แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ขณะนั้น จ. มีอายุ 21 ปีเศษ และถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านและ ค. บิดามารดาของ จ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ย่อมมีผลให้ จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ จ. เกิด คือตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2537 จ. จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานับแต่นั้น การทำละเมิดเป็นเหตุให้ จ. ถึงแก่ความตายย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาขาดไร้อุปการะ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่ให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2562คดีก่อนโจทก์ถูกจำเลยฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลยหรือให้จำเลยรื้อถอนออกไป ดังนี้ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ในคดีนี้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทโดยไม่ได้มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2562ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อโจทก์แล้ว โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์พิมพ์คำขอท้ายฟ้องเฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีช่องลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ไว้ จึงถือเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขก่อนจึงไม่ถูกต้อง เห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากดำเนินการแล้วเสร็จให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิพากษาใหม่ตามรูปคดี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6381/2562ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองเป็นระยะเวลา 18 ปี นานเกินไปไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ถือว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยรับว่าต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6319/2562พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง ที่ว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติว่า จำเลยรับไว้โดยประการใดซึ่งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลาง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในชั้นฎีกาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง มีผลเท่ากับว่า จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง อีกทั้งฎีกาต้องห้ามดังกล่าวผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ใช้ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาและสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2562จำเลยนัดผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกันในรถยนต์ของจำเลยระหว่างทางที่ผู้เสียหายที่ 2 นั่งไปและกลับจากโรงเรียน เป็นเหตุอันไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้จำเลยไม่ได้ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ออกไปนอกเส้นทางที่ต้องกลับบ้านและพาผู้เสียหายที่ 2 มาส่งที่บ้านตามปกติ ก็ยังเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2562ในชั้นทำคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการ เห็นว่า ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีการเรียกผู้คัดค้านทั้งสองสลับกัน จึงได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขโดยเรียกผู้คัดค้านให้ตรงตามที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทและผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน การแก้ไขและการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นไปตามประเด็นที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2562ผู้ร้องมีรถบรรทุกของกลางไว้เพื่อประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตร การที่ผู้ร้องกำชับจำเลยมิให้นำรถไปใช้ผิดกฎหมายหรือบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นและเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ตรวจตราโดยหาวิธีอื่นมาควบคุมมิให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินอีกด้วย และแม้จะฟังได้ว่ามีการนำรถบรรทุกของกลางไปตรวจชั่งน้ำหนักจริงก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างให้จำเลยไปตรวจชั่งน้ำหนักที่สถานที่ตรวจชั่งน้ำหนักของเอกชนซึ่งมีมาตรฐานแตกต่างกับทางราชการจนทำให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินไปถึง 800 กิโลกรัมนั้น ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนจำเลยขับรถบรรทุกของกลางบรรทุกมันสำปะหลังน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2562พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน..." สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ผู้คัดค้านจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยนั้น อนุญาโตตุลาการจึงมีสิทธิวินิจฉัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยต่อผู้ร้องได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2554 ข้อ 3 (3) ที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ในกรณีมีทายาทโดยธรรมหลายคน ก็ต้องแบ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมครบทุกคน ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ใช่คำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2562พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย" และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดว่าจะสืบพยานหรือฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรับฟังเพียงเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นใดก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง การที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นมาวินิจฉัยภายในกรอบของกฎหมายย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ผู้ร้องไม่มีอำนาจโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตามแม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ ดังนั้น การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจึงต้องนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐาน มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 125 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานยันตน อาจคัดค้านเอกสารนั้น โดยคัดค้านก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ หรือไม่ว่าเวลาใดก่อนศาลพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล แต่ผู้ร้องหาได้คัดค้านสำเนาเอกสารที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแต่อย่างใดไม่ การที่อนุญาโตตุลาการรับฟังสำเนาเอกสารที่ผู้คัดค้านนำมาสืบเป็นพยานหลักฐาน จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 93 (4) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เข้าเกณฑ์ให้ศาลเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ได้มีคำขอ เป็นเรื่องนอกคำร้องนอกคำคัดค้านนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องมีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษา ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ก็ดี ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน จึงเป็นการกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่ฝ่ายที่ชนะคดีตามบทบัญญัติดังกล่าว หาได้เกินคำขอหรือนอกคำร้องนอกคำคัดค้านไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นั้น ปรากฏว่าผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งค่าทนายความตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. กำหนดอัตราขั้นสูงไว้ไม่เกินร้อยละ 5 ดังนั้นค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงไม่ชอบด้วยตาราง 6 ดังกล่าว แม้ปัญหานี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดใหม่เสียให้ถูกต้อง ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อไปว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6247/2562ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุ 5 ปีเศษ มาเบิกความด้วยตนเองแล้ว แต่ระหว่างการสืบพยานไม่ให้ความร่วมมือที่จะตอบคำถาม ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งบันทึกไว้ในชั้นสอบสวนต่อหน้าคู่ความ ถือว่าภาพและเสียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคสาม มิใช่พยานบอกเล่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2562ป.วิ.พ. มาตรา 175 ไม่ได้ห้ามโจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถาน แม้จำเลยคัดค้านก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องก็ได้ ซึ่งดุลพินิจของศาลมาจากการพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบเหตุผลในคำร้องขอถอนฟ้องและคำคัดค้านของจำเลย ตลอดจนความสุจริตในการดำเนินคดีของทั้งสองฝ่าย เมื่อการที่ฟ้องไม่ถูกต้องครบถ้วนและคำขอบังคับไม่อาจบังคับได้ไม่ใช่เกิดจากความผิดของฝ่ายโจทก์และ ป.วิ.พ. มาตรา 176 ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้อง ยื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ ศาลจึงไม่อาจนำข้อกฎหมายเรื่องกำหนดเวลาในการขอแก้ไขคำฟ้องซึ่งต้องขอก่อนการชี้สองสถานตามมาตรา 180 และการที่ถอนคำฟ้องเพื่อไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วยื่นฟ้องจำเลยเข้ามาเป็นคดีใหม่มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้อง ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบ จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ถอนฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2562เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของ ก. คือ บุตรทั้ง 9 คน รวมทั้งโจทก์และบิดาจำเลย ดังนั้น บิดาจำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน และมีสิทธิยกส่วนของตนให้แก่จำเลยได้ และเมื่อจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ส่วน จึงเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิใช้สอยที่ดินมรดกพิพาท ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบว่า การที่จำเลยสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาทเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) การที่ศาลล่างทั้งสองให้ทายาทของ ก. อื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน ที่ไม่ได้ฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีนี้หรือได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน ใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินมรดกพิพาท และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน และได้รับค่าเสียหายจากจำเลยด้วย จึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนทายาทอื่นในส่วนนี้ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5922/2562ในการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติการสอบไว้เฉพาะเหมือนดังเช่นการสอบปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา 133 ทวิ ว่า จะต้องมีสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการสอบปากคำเด็กนั้น ด้วยเหตุนี้พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะใช้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้ซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญาเช่นเดียวกับการสอบปากคำบุคคลปกติ เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบปากคำผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนได้ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายให้การ ก็ถือเป็นการสอบสวนโดยชอบเพื่อนำไปสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 2 ได้แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงตามคำให้การของผู้เสียหายซึ่งไม่มีแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์และนักจิตวิทยาคลินิกและชุมชนเข้าร่วมฟังการสอบสวนจะมีความน่าเชื่อถือและรับฟังได้มากน้อยเพียงใด ถือเป็นดุลพินิจของศาลในขั้นตอนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2562ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ จึงเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ซึ่งแม้จำเลยจะมีสิทธิครอบครองแต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งกำหนดให้รัฐจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นมาเพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำการเกษตรและตั้งเคหสถานบ้านเรือน โดยรัฐจะเข้าไปจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ และช่วยเหลือส่งเสริมให้ทำการเกษตรในแปลงที่ดินที่จัดให้มีประสิทธิภาพ การที่จำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งทางพิพาทไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อไปทำการเกษตรในที่ดินที่ทางราชการจัดให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง และการจัดแปลงที่ดินในเขตนิคมที่ประสงค์จะให้สมาชิกของนิคมได้ใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินที่ทางนิคมจัดให้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5861/2562ป.วิ.พ. มาตรา 229 "การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย..." จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์โดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ แต่ไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามและส่งสำเนาให้โจทก์ หลังจากโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์เพียง 1 วัน จำเลยทั้งสามยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์โดยอ้างว่าวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนไม่ครบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับไว้ แล้วส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตามพฤติการณ์จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แม้ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนให้แก่จำเลยทั้งสามตามมาตรา 23 แต่การที่จำเลยทั้งสามยื่นคำแถลงขอวางเงินดังกล่าวเป็นการขออนุญาตให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นดุลพินิจที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นเห็นควรให้โอกาสจำเลยทั้งสามโดยรับเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าวไว้จึงชอบด้วยวิธีพิจารณา กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5859/2562โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงยื่นคัดค้านการรังวัด และยังยื่นขอรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยโดยนำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง ดังนี้ แม้การยื่นคำคัดค้านของจำเลยจะเป็นการใช้สิทธิตาม ป.ที่ดิน มาตรา 69 ทวิ แต่คำคัดค้านที่จำเลยอ้างว่าที่ดินที่โจทก์นำชี้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของจำเลย และการที่จำเลยนำชี้รังวัดที่ดินของตนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกันนั้น เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2562พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้อนซ้อน เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นทอด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2562พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 บัญญัติว่า "บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษ..." ดังนั้นการกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลอันถือเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า จำเลยซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ มิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2562ขณะที่ บ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส. และโรงพยาบาลส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อนั้น บ. ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดู บ. ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้ต่อมาจำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร ก็มีผลให้ บ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หาได้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ บ. เกิดแต่อย่างใดไม่ จำเลยและ บ. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบดังกล่าวสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร การที่จำเลยลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของ บ. ให้แก่โรงพยาบาล ส. จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2562เงินบำเหน็จจากการลาออกจากการรับราชการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้สามัญกับโจทก์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหนี้ที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากรและหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้สามัญอันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2562ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติแต่เพียงว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้อธิบดีกำหนดเวลาไว้เพื่อมิให้โจทก์จำหน่ายที่ดินเกินกำหนดเวลาเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำการจำหน่ายก่อนมีการกำหนดเวลา ฉะนั้น ถึงแม้อธิบดียังไม่ได้กำหนดเวลา โจทก์ก็สามารถดำเนินการขายที่ดินพิพาทได้ หากจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีคำขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากทรัพย์พิพาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวถูกจำกัดสิทธิมิให้ถือหรือใช้ที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินนั้นจะไม่มีผลเสียเลย เพียงแต่ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด เห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่ในกรณีของโจทก์เป็นการได้ที่ดินกลับคืนมาโดยคำพิพากษาของศาล จึงถือว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 กล่าวคือ โจทก์ในฐานะคนต่างด้าวต้องจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ในกรณีของโจทก์ได้ดำเนินการแล้ว โดยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินขอให้กำหนดระยะเวลาการจำหน่ายที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง แจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งกำหนดระยะเวลาการจำหน่ายที่ดินของผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน แต่ถึงแม้ยังไม่มีคำสั่งกำหนดระยะเวลาการจำหน่าย โจทก์สามารถจำหน่ายที่ดินดังกล่าวได้โดยตรง ดังนั้น เมื่อโจทก์หรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายทรัพย์พิพาท จึงถือได้ว่าทรัพย์พิพาทยังเป็นของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา การที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์พิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้ที่ดินเป็นของโจทก์อันเป็นการรับรองสิทธิของโจทก์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินอีกต่อไป ต้องส่งมอบคืนแก่โจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลแพ่งที่พิพากษาให้โจทก์ใช้ราคาแก่จำเลยนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปบังคับคดีเอาแก่โจทก์ หาใช่ข้ออ้างที่จะยึดหน่วงทรัพย์พิพาทในคดีนี้ไม่ เป็นคนละกรณีกัน จำเลยจึงยังคงมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีหาใช่หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครองนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2562เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ มิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5723/2562ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ ...(1)...มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้จดทะเบียน..." และมาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณี (1) ถึง (5) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า" ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ โดยชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และใบสำคัญการจดทะเบียนเป็นอันใช้ไม่ได้โดยผลของบทบัญญัติดังกล่าว โดยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหาจำต้องพิพากษาให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานพิพาททั้ง 2 ลำ ไม่ อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบอากาศยานและเอกสารอากาศยานคืนแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อขณะยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์บรรยายฟ้องโดยคิดทุนทรัพย์ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.9610 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งอัตราแลกเปลี่ยนตามคำฟ้องโจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงต้องคิดคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในขณะฟ้องคดีดังกล่าว การที่จำเลยอุทธรณ์โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันยื่นอุทธรณ์ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33.5258 บาท และนำเงินค่าขาดประโยชน์ตามคำพิพากษาจำนวน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ มารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 693,954 บาท จึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมานั้นแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2562การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ท่าข้าว ก." สั่งซื้อข้าวโพดจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย แล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ท่าข้าว ก. ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของจำเลยร่วมตามใบทะเบียนพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์นั้น กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าว ก. ที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของจำเลยร่วมและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าว ก. อีก ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็น และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5715/2562ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะ แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในร้าน แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านซึ่งประกอบกิจการร้านคาราโอเกะย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ผิดกฎหมาย การที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อให้เจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญที่มีงานเพลงซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาติดตั้งที่ร้านคาราโอเกะของจำเลย จำเลยย่อมอยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบได้ว่างานเพลงที่ติดตั้งในหน่วยความจำของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยจึงรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อมีการเปิดเพลงดังกล่าวจากตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญโดยแบ่งปันผลประโยชน์กัน จึงเป็นความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5714/2562หนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอื่นนั้น มิใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้มีหลายอย่างซึ่งลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 แต่เป็นกรณีที่คำพิพากษาได้กำหนดขั้นตอนการชำระหนี้ไว้เป็นลำดับแล้ว กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อนเป็นลำดับแรก หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาแทน ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อยังอยู่ในสภาพที่ส่งมอบคืนได้ โจทก์จะเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการชำระราคาแทนโดยไม่ส่งมอบรถคืนจำเลยไม่ได้ ที่โจทก์นำเงินราคาใช้แทนกับหนี้อย่างอื่นตามคำพิพากษารวม 274,468.09 บาท ไปวางศาลเพื่อชำระแก่จำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมรับเงินราคาใช้แทนดังกล่าวไปจากศาล หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าจำเลยสละสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรก โจทก์จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ที่จะต้องส่งมอบรถคืน การที่โจทก์นำเงิน 274,468.09 บาท ไปวางศาลจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้เสร็จสิ้นครบถ้วนตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ยังมีหนี้ที่ต้องส่งมอบรถคืนแก่จำเลยและไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะครอบครองใช้รถของจำเลยได้โดยชอบอีกต่อไป แม้จำเลยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะติดตามเอารถคืนโดยไม่ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถหรือเสียโอกาสที่จะได้กรรมสิทธิ์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2562โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ (ก) ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง โดยนำน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องจากแหล่งผลิตอื่นมาบรรจุในกระป๋องน้ำมันและขวดน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว แล้วปิดผนึกฝากระป๋องหรือฝาขวดด้วยเครื่องผนึกอลูมิเนียม แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องหรือลังกระดาษจนสำเร็จเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเวลลอย ซุปเปอร์ทู ที โลวส์โม๊ค ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1,824 ขวด น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีน ขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร จำนวน 40 ขวด และมีสติกเกอร์ยี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 4,800 แผ่น แผ่นฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 5,000 แผ่น สติกเกอร์ยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 300 แผ่น ใบปะหน้าสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 300 แผ่น ฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยจำนวน 1,000 ชิ้น ฝาปิดขวดน้ำมันเครื่องยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 15,000 ฝา ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 2,220 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีนสีดำจำนวน 100 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีขาวจำนวน 50 ขวด กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 80 ใบ กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 115 ใบ ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย 2T ภาษาอังกฤษจำนวน 1,050 แผ่น ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย ภาษาไทยจำนวน 30,000 แผ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสอง และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ไว้ครบถ้วนแล้ว และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5698/2562การที่จะพิจารณาว่าคำที่เลียนเสียงมาจากคำภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าคำภาษาต่างประเทศดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ในประเทศไทยด้วยว่า ถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใด และต้องพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงจนถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้านี้แล้วสามารถทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันที หรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ แต่หากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการแล้วยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น อาจถือไม่ได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำภาษาไทย ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม คำดังกล่าวพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นคำว่า "INTOUCH" ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า IN แปลว่า ใน ข้างใน และคำว่า TOUCH แปลว่า สัมผัส แตะต้อง ซึ่งสามารถแปลได้หลายความหมาย โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเลือกแปลความหมายของคำดังกล่าวเช่นนั้น ประกอบกับการให้ความหมายของคำว่า IN TOUCH ก็เป็นในลักษณะของการสื่อความหมาย ไม่ใช่ความหมายโดยตรง การนำคำว่า IN และคำว่า TOUCH มารวมกันจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีความหมายอย่างไร และแม้ตามพจนานุกรมดังกล่าวจะให้ความหมายของคำว่า Be in touch แปลว่า ติดต่อ แต่การติดต่อนั้นมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการพบปะ พูดคุย หรือการติดต่อทางลายลักษณ์อักษร สาธารณชนในประเทศไทยเมื่อเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีหรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็ไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใด การใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้ในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5688/2562ความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับและมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวสามารถแยกจากกันได้ แม้จำเลยจะกระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2562ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้ โดยข้อ 1 ของพินัยกรรมดังกล่าวระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อผู้คัดค้านเป็นวัดทางคริสตศาสนามีที่ตั้งที่แน่นอนและอยู่ภายใต้สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยตามหนังสือรับรอง ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายที่ระบุว่าคริสตจักร ศ. สังกัดคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ประกอบกับตามสำเนาโฉนดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของผู้คัดค้านก็ระบุว่า มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เมื่อข้อความตามพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1684 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้หลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด" ดังนี้ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมตีความตามความประสงค์ของผู้ตายว่า ผู้ตายประสงค์ที่จะยกที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเพื่อใช้ในกิจกรรมของผู้คัดค้าน เมื่อมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามตราสารการตั้งมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวระบุเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินไว้ว่า ได้แก่ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์สุดแต่จะมีผู้ศรัทธาหรืออุทิศบริจาคให้ ดังนี้ ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยย่อมรับเอาที่ดินที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ไว้ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อพินัยกรรม ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นอีก เช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5673/2562พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่โจทก์เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังคงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1) ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 8 และที่ 9 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนได้ด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (5) โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 โดยอ้างเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่ารับฟังไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง เหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันรับฟังไม่ได้ ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2562การที่จำเลยต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้รับโทษจำคุกและไม่ได้ถูกคุมขังยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาโดยไม่ได้แสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล แม้อุทธรณ์ของจำเลยมิใช่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด แต่เป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยก็ตาม ก็ต้องอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2562การโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งมอบเงินผ่านขั้นตอนของธนาคารที่ส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วแสงโดยใช้ตัวเลขเงินในบัญชีเป็นหลักฐานยืนยันในการรับโอนเงิน ทำให้ผู้รับโอนสามารถรับเงินได้แม้อยู่ในระยะไกล ซึ่งการโอนจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อผู้รับโอนได้รับเครดิตยอดเงินทางบัญชีครบถ้วนแล้ว ป. โอนเงินให้จำเลยโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และปรากฏมีเครดิตยอดเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร การป้อนคำสั่งให้โอนเงินเกิดขึ้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เงินอันเป็นต้นเหตุของการกระทำความผิดฐานยักยอกจึงหลุดพ้นจากความครอบครองของ ป. และเข้าไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยตั้งแต่ขณะ ป. สั่งโอนเงิน จำเลยสามารถถอนเงินจากสถานที่ใดเวลาใดนับจากที่ได้รับโอนเงินทันที ดังนั้น อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานยักยอก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าม่วงจึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2562แม้ศาลชั้นต้นนำแบบพิมพ์คำให้การจำเลย (คดีรับสารภาพไม่ต้องสืบพยาน) มาใช้ แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาที่อยู่ด้านหลังแบบพิมพ์ ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาให้รอฟังคำพิพากษาวันนี้ โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2562โจทก์บรรยายฟ้องระบุช่วงเวลาซึ่งจำเลยกระทำผิด ช่วงแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2559 และช่วงที่สองระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 แม้จะรวมช่วงปิดภาคการศึกษาในวันที่ 1 ถึง 15 พฤษภาคม 2559 เข้าไว้ด้วย ก็มีผลทำให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดในช่วงเวลาที่ปิดภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีช่วงระยะเวลาหลังจากที่โรงเรียนเปิดภาคการศึกษาแล้ว ที่โจทก์สามารถนำสืบวันที่จำเลยกระทำผิดได้ เหตุที่โจทก์ระบุวันและเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาก็เนื่องมาจากไม่ทราบวันและเวลากระทำผิดที่แน่นอน การระบุวันเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นการระบุวันและเวลากระทำความผิดของจำเลยในอีกลักษณะหนึ่งโดยชอบ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าสินไหมทดแทนลงอีกนั้น เมื่อในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องค่าสินไหมทดแทนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2562เมื่อ ส. เป็นผู้แทนของจำเลยโดยเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลย มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยเพื่อจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง โดย ส. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ทั้งปวงเพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ออกเงินสำรองแทนเจ้าของร่วมในนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ค้างชำระค่าส่วนกลาง ค่ามิเตอร์น้ำและค่าปรับให้แก่ ส. ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยเพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยอันเป็นวัตถุประสงค์ของจำเลย บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 จึงอยู่ในขอบเขตอำนาจที่ ส. ผู้เป็นผู้จัดการของจำเลยที่จะกระทำได้ บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลผูกพันจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560-3/2562พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป การที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคาร ท. มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคาร ท. แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. เท่านั้นเป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคาร ท. และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5556/2562เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเช็คพิพาทมีมูลหนี้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง แม้ว่าจำเลยจะลงชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2562ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ "ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม" โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎร ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 การครองครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ของ ส. จึงเป็นการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่ขึ้นในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2562สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ และย่อมระงับสิ้นไปเพียง 6 กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น เมื่อการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองดังกล่าวได้ การจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงครอบติดอยู่ตามสัญญาจำนอง ไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ออกไปเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 อีกแปลงหนึ่ง ต้องถือว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 ที่แบ่งแยกออกไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงมีการจำนองครอบติดอยู่ด้วยตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการจดแจ้งไว้ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 204439 ว่ามีการจำนองครอบติดอยู่ และแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากเสียค่าตอบแทนและได้มาโดยสุจริตย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 แต่ก็หาทำให้สิทธิจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์จำนองเสื่อมเสียไปไม่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ฟ้องโจทก์เพียงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยไม่ชอบให้คงปรากฏภาระจำนองเป็นหลักประกันแก่หนี้กู้ยืมของโจทก์และจำเลยที่ 1 เช่นเดิม และตามคำขอบังคับโจทก์ก็ยังไม่ได้ทรัพย์สินใดมา เพราะโจทก์มิได้ฟ้องบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ที่มีอยู่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) หรือฟ้องบังคับชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอาที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นของตน คดีโจทก์จึงหาใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5494/2562บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาล การดำเนินการดังกล่าวมิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป และกรณีมิใช่การสืบพยานปกติ แต่เป็นเพียงการไต่สวนด้วยการสอบข้อเท็จจริง และการจะสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องคนใด จำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดเจนพอจะวินิจฉัยได้ก็สามารถยุติการสอบถามและมีคำสั่งได้ การที่ศาลชั้นต้นมิได้นำผู้กล่าวหามาสอบถาม แต่ได้สอบถาม พ. เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา และทำบันทึกเสนอผู้พิพากษาหัวหน้าศาล กับได้สอบถามจำเลย ทนายโจทก์ทั้งหก และได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสได้แก้ตัวแล้ว จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบ ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบถามดังกล่าวย่อมรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ การกล่าวหาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่าไม่สุจริตอย่างเลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐาน เป็นเรื่องร้ายแรงส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของศาล ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความย่อมทราบดี จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) มิใช่การใช้สิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2562ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานกระทำชำเรา ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกต่อไป แต่การที่จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433/2562โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อหุ้นจากโจทก์เป็นเงิน 20,000,000 บาท โจทก์โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าหุ้นแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 12,500,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7,500,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเพราะเหตุหนี้กู้ยืมเงินอันเกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ไม่ได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นการบรรยายนิติสัมพันธ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นลำดับขั้นตอนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และสอดคล้องกับที่ ป.พ.พ. มาตรา 351 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่" ส่วนการขายหุ้นและการโอนหุ้นจะกระทำเมื่อใด เป็นหุ้นเลขที่เท่าใด และหลักฐานการโอนหุ้นเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ประกอบกับตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงซื้อขายหุ้น ไม่เคยชำระเงินค่าหุ้นและไม่ได้รับโอนหุ้นจากโจทก์ตามฟ้อง การลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเกิดจากกลฉ้อฉลหลอกลวงอันแสดงว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และมิได้หลงต่อสู้ คำฟ้องโจทก์จึงมิได้ขัดแย้งกันเองและชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5401/2562โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎต 1321 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้และภูเขาดินได้รับความเสียหาย โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ตัวแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกตรวจสอบอุบัติเหตุเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยกและเป็นเจ้าของกิจการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ทำการยกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อเข้าไปจัดซ่อมที่อู่ทันเซอร์วิสในทางการที่จ้างวานมอบหมายหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทั้งสี่ ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพลิกคว่ำได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีก โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอรับผิดชอบในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ขอให้โจทก์จัดซ่อมไปก่อน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอชดใช้ในภายหลัง โจทก์ทำการซ่อมแซมรถยนต์ดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงิน 165,451.34 บาท และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ โดยแนบสำเนาแบบแจ้งอุบัติเหตุรถยนต์ รายงานอุบัติเหตุรถยนต์และใบรับรองความเสียหายของรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งจำเลยที่ 3 จัดทำขึ้น ภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ภาพถ่ายรถยนต์ขณะทำการซ่อมแซม สำเนาใบสั่งอะไหล่และใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมแซม เป็นต้น คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ได้รับความเสียหาย ส่วนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายในส่วนไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังมีเพียงตัวถังบุบครูดเพิ่มเติมเล็กน้อย ไม่มีความเสียหายในระบบเกียร์ ระบบขับเคลื่อนหรือโครงสร้างของรถยนต์แม้แต่น้อย แสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2562ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" หมายความว่า ทรัพย์อันเกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ และคำว่า "สิ่งแวดล้อม" หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์... ดังนั้น การใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงหมายถึงการกระทำต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ และย่อมหมายความรวมถึงทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย การที่ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปทำสวนป่าในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปทำลายระบบนิเวศน์ของทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ อันถือได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าสภาพเดิมของที่ดินเป็นป่าสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่โล่งเตียนอย่างใดก็ตาม และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าไปปลูกต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 624 ไร่ และผู้คัดค้านที่ 2 เข้าไปปลูกต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามส่วนสัดที่แต่ละคนยึดถือที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มีมูลค่าสูงและนับว่าเป็นจำนวนเกินกว่าที่จะนำไปใช้สอยเองมาก โดยประสงค์ให้ต้นไม้เจริญเติบโตแล้วตัดฟันขายไม้นั้นต่อไป ลักษณะการกระทำจึงเป็นการค้าขายสินค้าทางการเกษตรอันมีลักษณะเป็นการค้าในความหมายของมาตรา 3 (15) แล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการใช้ที่ดินพิพาทปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่สุจริต การปลูกต้นไม้ลงในที่ดินซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น แม้จะมีเจตนาตัดฟันขายเมื่อโตใหญ่ต่อมาก็ตาม ไม้ยืนต้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และไม้ยืนต้นที่เติบใหญ่และมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจึงเป็นของแผ่นดินเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่จะตัดฟันไม้ยืนต้นนั้นนำออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม้ยืนต้นนั้นคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2562ในคดีก่อน ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) (การประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2562พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ที่จะบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดซึ่งมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติเพื่อให้หายจากการติดยาเสพติด โดยในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานอัยการมีคำสั่งชะลอการฟ้องไว้ก่อนตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง และเมื่อผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 อันเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 33 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เดิมจำเลยถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นที่มีโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงฐานเดียว อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวจำเลยไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงได้ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ดังนั้น เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก่อน โดยต้องให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแทนการฟ้องคดีตามปกติ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้จำเลยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเสียก่อนนั้น เป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (การประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2562จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครั้งแรกที่บ้านเพื่อนของจำเลย จังหวัดพังงา ในวันที่ 21 มกราคม 2549 และวันที่ 22 มกราคม 2549 จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านญาติของจำเลย จังหวัดภูเก็ต แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกครั้ง การกระทำชำเราของจำเลยในแต่ละครั้งแม้กระทำไปโดยมีเจตนากระทำชำเราเหมือนกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 ต่างวันต่างเวลาและต่างสถานที่ คนละจังหวัดกัน มิได้กระทำต่อเนื่องกันแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2562แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการธนาคาร และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้ตกแก่จำเลย แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ว่าเป็นเช่นใดนั้นยังจำต้องรับฟังจากพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบด้วยว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนและให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในภายหลัง อีกทั้งโจทก์ก็ได้ถามค้านให้พยานจำเลยมีโอกาสอธิบายและนำสืบถึงรายละเอียดและข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเบิกถอนเงินและรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของโจทก์ทั้งสองประเภทแล้ว ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่นำสืบในส่วนนี้โดยครบถ้วนและได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้วโดยฟังว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอันเกิดจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายโดยแท้ว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดน่าเชื่อถือกว่ากันหรือนำสืบสมข้ออ้างหรือไม่ หาใช่เป็นการวินิจฉัยโดยผลักภาระการพิสูจน์ให้ตกแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2562แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับ จะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5337/2562คดีของโจทก์มิใช่เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง ที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้การประทับฟ้องครั้งดังกล่าวจะเป็นการผิดพลาดและศาลชั้นต้นต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และวันที่ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก และออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3 ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5310/2562ผู้คัดค้านรับประกันภัยรถยนต์โดยสารประจำทางซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน เมื่อ ว. ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารประจำทางที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านต้องรับผิดฐานละเมิดต่อผู้ร้องทั้งสามเพราะขับรถยนต์โดยสารประจำทางโดยประมาทไปทับ จ. ถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แม้ในคดีอาญาผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยจึงไม่ถูกผูกพันในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ซึ่งผู้คัดค้านก็ไม่ได้โต้แย้งว่าผู้เอาประกันภัยไม่ต้องร่วมรับผิดกับ ว. ผู้คัดค้านไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของ ว. ได้ ผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องทั้งสามตามสัญญาประกันภัย ที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลอาญาที่วินิจฉัยว่า ว. กระทำโดยประมาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านเพราะผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดี แล้ววินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า ว. มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2562การที่ผู้เสียหายกับพวกขว้างปาขวดสุราและไม้เข้าไปยังบริเวณที่จำเลยและ ว. หลบซ่อนอยู่โดยจำเลยและ ว. มิได้ก่อเหตุขึ้นก่อน ย่อมเป็นเหตุทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายกับพวกซึ่งมีจำนวนมากกว่ามีเจตนาประทุษร้ายจำเลยและ ว. อันเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิกระทำการป้องกันเพื่อให้พ้นจากภยันตรายดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับพวกมีอาวุธร้ายแรงอื่นใดอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกย่อมไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันตัวของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2562ความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 102 ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และบรรยายฟ้องข้อ 1.5 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน กรณีต้องถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาตรา 71 มิให้นำมาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จึงถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2562มูลกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด และโจทก์จำต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเพื่อรักษาสิทธิของตนตามกฎหมายล้มละลาย หาใช่กรณีโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 หรือเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลให้รับผิดชำระหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคโดยไม่ได้ฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในเหตุดังกล่าวจึงหาทำให้สิทธิในการดำเนินคดีเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในมูลคดีตามฟ้องต้องถูกลบล้างไปเพราะการถอนฟ้องไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 44

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2562สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า "วินาศภัย" ว่า ให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้นการที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยเอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งในกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยสูญหาย ได้ระบุข้อยกเว้นความรับผิดไว้สองประการ กล่าวคือ ประการแรกความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกโดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนอง หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ประการที่สอง การใช้รถยนต์นอกอาณาเขตที่คุ้มครอง จึงเห็นได้ว่าในข้อยกเว้นความรับผิดไม่ได้ระบุเรื่องการใช้รถยนต์ผิดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ตามกรมธรรม์ เป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ไม่ ทั้งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยรวมตลอดถึงเงื่อนไขและการคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ก็ไม่มีเงื่อนไขข้อใดที่ระบุไว้ว่าหากผู้เอาประกันภัยนำรถไปใช้ผิดเงื่อนไขจะทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่โจทก์นำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปใช้ผิดเงื่อนไขโดยออกให้บุคคลภายนอกเช่าจึงไม่เป็นการกระทำเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาจึงไม่ชอบและไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โจทก์ฎีกาในปัญหานี้อีกว่า การที่โจทก์นำรถยนต์ออกให้เช่าในกรณีนี้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัยจึงเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวน โดยโจทก์ฎีกาว่า ธ. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์ไปจากโจทก์มาตั้งแต่ต้น เหตุที่ทำสัญญาเช่าก็เพื่อเป็นกลอุบายเพื่อจะลักรถยนต์ดังกล่าวไป จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์คันดังกล่าว การที่ ธ. รับมอบหรือครอบครองรถยนต์จึงไม่ใช่การรับมอบหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 5.1 ในข้อนี้โจทก์มี ธ. ตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า ธ. ได้ใช้กลอุบายหลอกทำสัญญาเช่ารถยนต์ของโจทก์เพื่อจะลักรถยนต์ดังกล่าวไป โดยไม่มีเจตนาเช่าจริง และ ธ. ได้ร่วมกับพวกใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการลักรถยนต์รายอื่นในจังหวัดต่าง ๆ อีกหลายครั้งตามหมายจับ ธ. ของศาลแขวงเชียงใหม่ ข้อหากระทำความผิดฐานลักทรัพย์และหมายจับของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ให้จับตัวพวกของ ธ. รวม 2 คน ข้อหากระทำผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายและมี น. เบิกความสนับสนุนว่า พยานเคยถูก ธ. ขอทำสัญญาเช่ารถยนต์ของพยานโดยไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์จริงเช่นกัน โดยในคืนเดียวกับวันทำสัญญาเช่า ธ. ได้ตัดสัญญาณติดตามรถยนต์ของพยานออกเพื่อไม่ให้สามารถติดตามรถยนต์ได้ เมื่อ ธ. ถูกจับกุมก็ยอมรับกับพยานว่าไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์แต่ต้องการจะนำรถไปขายต่อ เห็นว่า พฤติการณ์ของ ธ. ที่ขอเช่ารถยนต์จากบุคคลหลายคนซึ่งได้ความจากคำเบิกความของ น. และคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ว่า เมื่อได้ครอบครองรถยนต์แล้ว ธ. ลักรถยนต์ไปขายต่อ สอดคล้องกับคำเบิกความของ ธ. เองที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทำทีเป็นเช่ารถยนต์จากฝ่ายโจทก์โดยมีเจตนาแต่ต้นที่จะลักรถยนต์ แสดงให้เห็นว่า ธ. มิได้มีเจตนาเช่ารถยนต์พิพาทไปจากโจทก์เพื่อใช้สอย หากแต่มีเจตนามาแต่ต้นที่จะลักรถยนต์ไปจากโจทก์ การติดต่อขอเช่ารถยนต์เป็นเพียงวิธีการหรือกลอุบายเพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต ที่จำเลยให้การและนำสืบหักล้างว่าโจทก์เคยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ธ. กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กรณีจึงไม่ใช่ ธ. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายนั้น เห็นว่า การแจ้งความเป็นเพียงการร้องทุกข์กล่าวหาในเบื้องต้น ส่วนการกระทำของ ธ. จะเป็นการกระทำความผิดฐานใดต้องดูจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนและคำพิพากษาของศาลซึ่งจะมีต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าแม้โจทก์ได้แจ้งความในเบื้องต้นให้ดำเนินคดีแก่ ธ. ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ต่อมาได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าพฤติการณ์ของ ธ. เป็นลักษณะลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ข้อนำสืบของจำเลยในส่วนนี้ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ธ. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์ แต่มีเจตนาลักเอารถยนต์นั้นมาแต่ต้น การที่ ธ. ได้รถยนต์ไปอยู่ในความครอบครองจึงมิใช่การครอบครองตามสัญญาเช่า ดังนั้นที่ ธ. นำรถยนต์ดังกล่าวหลบหนีไปจึงไม่เป็นกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดขึ้นโดยบุคคลซึ่งครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามข้อ 5.1 ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนทุนประกันภัยที่ระบุไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2562จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จสองครั้งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2439/2559 ของศาลชั้นต้นคนละวันกัน ครั้งแรกวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 แต่เบิกความไม่จบปาก ศาลมีคำสั่งเลื่อนการพิจารณาต่อในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความคนละวันกัน แต่ข้อความที่จำเลยที่ 1 เบิกความครั้งแรกและครั้งหลังก็ต่อเนื่องกัน อีกทั้งการเบิกความทั้งสองครั้งมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือ เพื่อมิให้จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวต้องได้รับโทษทางอาญาเท่านั้น ดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ส่วนความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีนั้น แม้ความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกัน แต่การที่จำเลยที่ 1 นำจำเลยที่ 2 เข้าเบิกความเป็นพยานของตนในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่จำเลยที่ 1 เบิกความในครั้งหลังก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน คือ เพื่อมิให้จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวต้องได้รับโทษทางอาญา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2562กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ได้นำพฤติการณ์ที่โจทก์มีส่วนประมาทร่วมด้วยมาวินิจฉัยลดความรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คปลอมให้จำเลยชดใช้ลงไปแล้ว ประเด็นข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่อีก รายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะลายมือชื่อแตกต่างกันกับที่ปรากฏในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คปลอมให้ อ. เบิกถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานจำเลยด้วย ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็ค เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอม เป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2562ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมภายใน 30 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทราบมูลอันควรจะบอกล้างโมฆียะกรรมก่อนวันที่จำเลยได้รับข้อมูลประวัติการรักษาตัวของผู้ตายจากโรงพยาบาล แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ ประเด็นว่าจำเลยทราบมูลอันควรจะบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อใด จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณาวินิจฉัย ประกอบกับโจทก์ก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งประเด็นตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นเป็นข้ออ้างในชั้นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะยกเหตุตามฎีกาของโจทก์ขึ้นพิจารณาวินิจฉัย แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2562การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม โดยไม่แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านอื่น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ ณ ที่ใด แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และมีเจตนาจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมนั้นกระทำเพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามหาที่อยู่ของจำเลยได้พบเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิมตามฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120-22/2562เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2562แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยอมมาหาที่บ้านแล้วกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อเนื้อตัวร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ยังอยู่ในความดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลยที่ 1 และจำยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารต่อโจทก์ร่วมที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำอันเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2562คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี 6 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง กระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการรวมโทษจำคุกทุกกระทงเท่านั้น อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นคนมีจิตบกพร่องไม่สมประกอบ โดยพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมประเภท 4 แต่ยังสามารถรู้สึกผิดชอบได้บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อันพึงลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง หรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้วว่าไม่ปรากฏชัดว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากอาการทางจิตของจำเลยกำเริบขึ้น ทำให้จำเลยหย่อนความสามารถรู้สึกผิดชอบหรือหย่อนความสามารถบังคับตนเอง กรณีไม่มีเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2562สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2562คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดถือว่าเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และการพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าการบังคับจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และมาตรา 44 เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านาซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนา เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทผิดสัญญามิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องบังคับซื้อนาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ ราคาตลาดที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธราคาที่โจทก์ขอซื้อที่นาไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้อง แม้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาก็หาต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ตามราคาตลาดที่กล่าวอ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5001/2562โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องฉบับแรกให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 2 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาต รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ โดยมิได้มีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธุรการมิได้นำคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์กลัดเข้าสำนวน และเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดและยกอุทธรณ์ของโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 จริง ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กลัดคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เข้าสำนวนทำให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยผิดหลงว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก เมื่อความผิดพลาดเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลมิใช่โจทก์ และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ศาลอนุญาตไว้ กรณีอนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์แล้วโดยปริยาย เมื่อนับถึงวันที่ 2 กันยายน 2559 ยังไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4978/2562แม้จำเลยที่ 3 ร่วมกันวางแผนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกเพื่อกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นมาตั้งแต่ต้น แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 3 จอดรถรอที่ซุ้มประตูบ้านโคกตาลเพื่อคอยดูเส้นทางให้จำเลยที่ 4 กับพวกเท่านั้น มิได้ร่วมขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับ บริเวณที่จำเลยที่ 3 จอดรถคอยดูเส้นทางให้ มิได้อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุในลักษณะที่จำเลยที่ 3 พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกในขณะกระทำความผิดได้ในทันที จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นเพียงการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิด จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น และแม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นเพื่อชดใช้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 แต่ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลต้องกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด จำเลยที่ 3 จึงควรต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ตามสัดส่วนของการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2562คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ห. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับ ณ. และพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่ ณ. และพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับ ห. และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อ ม. เครือข่ายยาเสพติดของ ห. ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของ ณ. เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ห. และพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมา ณ. และพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่ ณ. บางส่วน ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4966/2562ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนให้ยกคำร้อง และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลชั้นต้นไปแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าว จึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องนั้นเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ดังนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องที่ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นร้องขัดทรัพย์นี้เป็นประการใด ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องไปแล้วได้ ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4943/2562กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานชิงทรัพย์และบทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 แต่ภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 94 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในมาตรา 94 กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยอ้างว่าขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยมีอายุเพียง 17 ปีเศษ และขณะที่จำเลยกำลังรับโทษในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อนั้น มีการแก้ไข มาตรา 94 ซึ่งบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เนื่องจากศาลไม่อาจเพิ่มโทษในคดีนี้ได้นั้น แม้คดีนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ ป.อ. มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีที่จำเลยยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษในคดีหลังอยู่ถ้าสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าเป็นไปตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2562โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าในคดีส่วนอาญา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดอาญาให้สามารถยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 พอใจในคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4864/2562แม้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โอนขายห้องชุดของตนก่อนวันที่ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาคดีแพ่งเพียง 1 วัน แล้วยักย้ายถ่ายเทหรือย้ายไปเสียซึ่งเงินที่ได้จากการขายห้องชุดดังกล่าว เป็นการส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์จะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับโจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ มีผลให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กัน ดังนี้ ก็ไม่อาจมีการกระทำความผิดตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังที่โจทก์อ้างมาได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2562จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ และยกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839/2562การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้คดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ สิทธิในการฎีกาจึงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องอันเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2562แม้โจทก์ทั้งสิบฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสิบไว้พิจารณา แต่เมื่อต่อมามีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีนี้ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 บัญญัติความว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลให้เป็นที่สุด และตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติความว่า ถ้าคณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ศาลที่รับฟ้องสั่งโอนคดีหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ดังนี้ เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในศาลชั้นต้นได้เฉพาะการโอนคดีหรือการจำหน่ายคดีตามมาตรา 11 ดังกล่าวเท่านั้น โจทก์ทั้งสิบจึงไม่อาจยื่นคำแถลงคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 44/2560 และไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับอันเป็นการไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงชอบแล้ว และกรณีเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสิบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบจึงไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องพิพากษายกอุทธรณ์เสีย และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาอีกด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4795/2562โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยว่า โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุและเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ราชพัสดุดังกล่าวโดยซื้อมาจาก จ. เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจาก จ. แต่ จ. ยกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยสละสิทธิการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท เดิมจำเลยกู้ยืมเงินจาก จ. มีสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่ จ. ตลอดมาจนประมาณเดือนมิถุนายน 2559 จำเลยขอชำระเงินต้นคืน แต่ จ. ไม่ยอมรับเงินและไม่ยอมไถ่ถอนหลักประกัน และนำสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทไปโอนต่อให้แก่โจทก์ โดยที่จำเลยไม่เคยผิดนัดตามสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำของ จ. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ในฐานะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินและการโอนบ้านพิพาทระหว่างจำเลยกับ จ. และระหว่างโจทก์กับ จ. ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ จึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ เมื่อฟ้องแย้งจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอน และขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินและการโอนบ้านพิพาทระหว่างจำเลยกับ จ. และระหว่าง จ. กับโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่ จ. โต้แย้งสิทธิของจำเลยในการบังคับหลักประกันตามสัญญากู้ยืมเงินด้วย จึงเห็นสมควรเรียก จ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีร่วมกับโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4750/2562แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหักวันคุมขังก่อนมีคำพิพากษาออกจากโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่คำร้องของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 ดังนี้ คดีของจำเลยจึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิให้ชักช้าและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2562จำเลยเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู จนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีหนังสือเตือนจำเลยให้มารายงานตัวรวมทั้งประสานผู้นำชุมชนและเพื่อนบ้านให้ช่วยติดตามจำเลย และยังขยายระยะเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้จำเลยออกไปอีกถึง 5 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน จำเลยยังไม่มาพบเจ้าหน้าที่ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสามารถนำเอาพฤติการณ์ของจำเลยมาพิจารณาว่า วิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เหมาะกับจำเลย และวินิจฉัยว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยไม่เป็นที่พอใจตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8), 25 ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง คำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเรื่อง การพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2562การที่โจทก์ได้สิทธิความเป็นเจ้าของรวมในที่ดินในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 10 ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 10 โอนที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 แก่โจทก์ ย่อมหมายความว่า สิทธิในที่ดินของจำเลยที่ 10 มีอยู่ในขณะที่จะขายเป็นต้นไปเพียงใด โจทก์ย่อมรับโอนสิทธิของจำเลยที่ 10 มาเพียงนั้น ซึ่งรวมถึงหน้าที่ของจำเลยที่ 10 ในฐานะเจ้าของรวมที่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 10 ครอบครองเป็นส่วนสัดให้แก่จำเลยที่ 1 และเจ้าของรวมคนอื่นตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 ของศาลชั้นต้นด้วย ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้สืบสิทธิของจำเลยที่ 10 ที่ต้องผูกพันตามผลของคดีดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 และถือเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 10 หยิบยกข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 10 มิได้ตกลงยินยอมให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันมากล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยทบทวนอีก ย่อมเป็นการซ้ำซ้อนกับข้อวินิจฉัยในคดีดังกล่าว และมีผลให้ขัดแย้งกับกระบวนการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้วในคดีดังกล่าว เป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปและถึงที่สุดแล้ว คดีโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4722/2562เรื่องฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง ผู้คัดค้านที่ 3 ให้การว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม โดยมิได้ให้เหตุผลว่าเคลือบคลุมอย่างไร เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 มีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2562แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 278 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยวรรคสองบัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่า การกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) การปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท ส่วนโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ถึง 400,000 บาท เห็นได้ว่ากฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับที่สูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ จึงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2562ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้เป็นการยื่นเข้ามาก่อนคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด ก็ต้องถือเป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 53 ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 50 เพราะไม่ทราบถึงประกาศของศาลและหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2562สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้นั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2) การตีความหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีสิทธิฎีกาได้ โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้พิพากษาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะและขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2562ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยว่าจ้าง ร. ส. และ ป. เดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ก. ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมิได้ระบุจำนวนเมทแอมเฟตามีน และจำเลยได้มอบเงินค่าเดินทางรวม 4,000 บาท พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ให้ ป. ไว้เพื่อใช้ร่วมกัน ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาให้ ร. ส. และ ป. เดินทางไปรับมอบเมทแอมเฟตามีนจาก ก. ด้วยกัน อีกทั้งเมทแอมเฟตามีนที่ ก. ส่งมอบให้ ป. บรรจุรวมกันอยู่ในถุงลูกอม 1 ถุง ซึ่งขณะรับมอบ ร. และ ส. ก็อยู่ด้วย หลังจากนั้นจึงพากันเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ตลาดในจังหวัดท่าขี้เหล็ก แล้วแบ่งเมทแอมเฟตามีนระหว่างกันเองซุกซ่อนในทวารหนัก ซึ่ง ร. รับไว้ 759 เม็ด ส. รับไว้ 773 เม็ด และ ป. รับไว้ 968 เม็ด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งให้แบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวตามรายตัว ทั้งลักษณะของการแบ่งเมทแอมเฟตามีนก็เป็นเศษจำนวน เชื่อว่าเป็นการตกลงแบ่งกันเองตามกำลังความสามารถของแต่ละคนที่จะซุกซ่อนในทวารหนักได้ อันเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งหาก ร. ส. และ ป. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่แบ่งแยกจำนวน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว ดังนั้น การแบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนในระหว่างกันเองของ ร. ส. และ ป. เพื่อความสะดวกในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพร้อมกันเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นความผิดหลายกรรมไปได้ เพราะเจตนาหลักของจำเลยเพียงประสงค์จะได้เมทแอมเฟตามีนทั้งหมดมาไว้ในครอบครองคราวเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการที่ ร. กับพวก จะลักลอบนำเข้ามาแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกระทำความผิดกับ ป. ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 735/2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4611/2562ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า "เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าว ภายหลังพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังเวลา 60 วัน เท่านั้น แต่หนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นหนี้ประธานหาใช่ค่าภาระติดพันอันเป็นหนี้อุปกรณ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 686 วรรคสอง ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2562การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือว่าเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินค่าขาดราคาและภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธหรือแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสองบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 มีสิทธิที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทก่อน อันเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป ผลของคำพิพากษาคดีนี้อาจมีผลกระทบสิทธิในการบังคับคดีของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และมีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ ในชั้นบังคับคดีของคดีก่อนมีประเด็นว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เพียงใด ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกัน คู่ความทั้งสองคดีก็ไม่ใช่รายเดียวกัน โดยโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 และ 1084 เนื้อที่รวม 44 ไร่เศษ โจทก์ได้รับโอนที่ดิน เนื้อที่ 12 ไร่ แล้ว คงเหลือที่ดินอีก 32 ไร่เศษ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยบันทึกดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินส่วนที่เหลือ 32 ไร่เศษ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ในคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยทั้งสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงว่าเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 5.1 (ไม่น้อยกว่า 90 วัน) ข้อ 2.3 ระบุว่า หากคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายชนะคดี อันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นพ้นวิสัย โจทก์ยินยอมรับเงินค่ามัดจำตามสัญญาและตามบันทึกฉบับนี้คืน โดยไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้พิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ให้แก่ผู้ร้องสอด จึงถือว่าผู้ร้องสอดชนะคดี แม้ที่ดินจะเหลือเพียง 32 ไร่เศษ ก็มิใช่กรณีที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมด ถือได้ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน เมื่อที่ดินส่วนที่ยังเหลือ 32 ไร่เศษ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่เหลือดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2562การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ทนายความต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ว. ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยใบแต่งทนายความมิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่องโดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียว เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม แต่เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับหลังโจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้วจึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2562การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2562จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่อ้างว่าประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจหาเงินชำระค่าธรรมเนียมได้ทันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาและจำเลยขอขยายระยะเวลาฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบเช่นกัน เพราะถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2562คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี 8 เดือน และปรับ 600,000 บาท ส่วนความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนศาลอุทธรณ์คงรอการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดและลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยให้จำคุกและไม่รอการลงโทษแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและการบังคับโทษตามคำพิพากษาโดยไม่ลงโทษจำคุกจำเลยและไม่รอการลงโทษในความผิดฐานนี้ คงให้ลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2562ความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และมาตรา 9 ให้เพิ่มเติมมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด แต่ในส่วนบทกำหนดโทษได้มีมาตรา 17 ยกเลิกมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2562การที่โจทก์ร่วมเอาที่ดินและอาคารพิพาทออกให้โจทก์เช่าเพื่อพัฒนานั้น โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จและผลประโยชน์จากสัญญาที่ตกลงกันไว้และต่างมีสิทธิหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทภายหลังสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์และปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการรอนสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมได้ร้องสอดเข้ามาในคดีเพราะว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วมด้วย โจทก์ร่วมจึงมีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์ร่วมที่มีอยู่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งแม้ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นฝ่ายร้องสอดเข้ามาในคดีด้วยตนเอง มิใช่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีก็ตาม ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะเข้ามาในคดีเพราะผลแห่งคดีย่อมกระทบถึงส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมที่มีอยู่กับโจทก์ตามสัญญาเช่า และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโดยเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ที่เมื่อมีการรบกวนขัดสิทธิเป็นคดีระหว่างผู้เช่ากับบุคคลภายนอก ให้ผู้เช่าเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาในคดีนั้นก็เพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาจึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4455/2562ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ที่จะใช้ยันรัฐได้ การขออนุญาตเข้าจับจองก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) มาตรา 27 และมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน โดยตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า "ที่ดินที่จะจัดให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามความในมาตรา 20 (1) และมาตรา 27 แห่ง ป.ที่ดิน ต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือมิใช่ที่สงวนหวงห้าม หรือมิใช่ที่เขา ที่ภูเขา (2)......." ระเบียบดังกล่าวนี้ใช้บังคับแก่ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 22 ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงแม้จะเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามมาตรา 33 ก็ต้องอยู่ในบังคับของระเบียบดังกล่าว เมื่อการขออนุญาตจับจองในที่ดินพิพาทและการอนุญาตให้จับจองของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยมิชอบ จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่จะยื่นคำขอเพื่อขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการออกโดยไม่ชอบ ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าหมายเลข 23 ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ดังนั้น เมื่อต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ให้จำแนกป่าหมายเลข 23 โดยให้จำแนกพื้นที่บางส่วนออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ และคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมีมติให้จำแนกพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวร และมอบให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งพ้นจากสภาพป่าไม้ถาวรแล้วจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงไปปฏิรูปและจัดให้เกษตรกรเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และเมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4452/2562ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 166 ประการหนึ่ง กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง ประการหนึ่ง และกำหนดนัดพิจารณาตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากประทับฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายเรียกจำเลยมาให้การในวันนัดพร้อม โดยมิได้กำหนดชัดแจ้งว่า นอกจากการสอบคำให้การจำเลยแล้ว จะดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดอีก จึงเป็นเพียงการนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมดังกล่าว ซึ่งมิใช่วันนัดตรวจพยานหลักฐานหรือนัดพิจารณาหรือนัดสืบพยานโจทก์ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ให้ยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องโดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4424/2562จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการค้าการเดินอากาศ และได้ทำสัญญากับโจทก์มีข้อตกลงกันให้จำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงบริการที่เก็บอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ของโจทก์ และจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราภาระการใช้ ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะใช้ใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นเรื่องที่โจทก์มีหน้าที่เพียงให้บริการการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่จำเลยเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการตามข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ประกาศกระทรวงคมนาคมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) เป็นกฎหมายลำดับรองหรือเป็นส่วนของรายละเอียดของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับสูงหรือกฎหมายแม่บทของประกาศกระทรวงนั้น เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวถูกยกเลิก ประกาศกระทรวงนั้นย่อมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประกาศหรือกฎหมายลำดับรองให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4388/2562ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองเด็กโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกล่อลวงไปเพื่อกระทำอนาจารหรือเพื่อกระทำชำเรา ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 ชักชวนล่อลวงผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์เรียกให้ไปหาที่วัด แล้วแยกกันเดินผ่านกุฏิเจ้าอาวาสไปทางซ้ายและขวาไปที่กุฏิจำเลยที่ 2 แล้วถูกจำเลยทั้งสองกระทำชำเราที่กุฏิจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4385/2562ภายหลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยจับผู้เสียหายที่ 1 มัดไว้กับเก้าอี้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จนผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 มิให้นำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกผู้ใด มิฉะนั้นจะใช้มีดฟันให้ตาย เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งด้วย ซึ่งลักษณะความผิดในแต่ละข้อหาดังกล่าวแม้จะเป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายมิให้ผู้เสียหายที่ 1 บอกเรื่องที่จำเลยกระทำต่อบุคคลอื่น แต่ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2562แม้ว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท ภ.บ.ท. 5 เลขสำรวจที่ 250 หมู่ที่ 4 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาจาก ส. สามีจำเลย โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินแทนจำเลย ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งประชาชนอาจมีสิทธิครอบครองได้โดยการครอบครอง แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มอบให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2550 จนจำเลยแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาท และนำที่ดินพิพาทไปแบ่งขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2556 ให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 12 และผู้มีชื่อ จากนั้นผู้ร้องที่ 12 และผู้ร้องที่ 1 แบ่งขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องที่ 6 และที่ 8 ตามลำดับ และผู้ร้องที่ 3 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลย ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและสามารถอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) มาใช้ยันโจทก์ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ไม่อยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2562ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่คำร้องขอเพิกถอนดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4319/2562แม้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบในคดีอาญาคดีอื่นที่ อ. ถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่คดีดังกล่าว อ. ถูกฟ้องว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลย และศาลชั้นต้นเคยสั่งให้รวมการพิจารณากับคดีนี้มาก่อน จึงเป็นคดีที่มีความเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับ อ. จึงถือไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ ต้องคืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4281/2562จำเลยเปิดสมุดบัญชีเงินฝากเพื่อให้ ป. ใช้รับโอนเงินค่ายาเสพติดจากลูกค้า จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือ ป. ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3606/2558 ของศาลชั้นต้น เมื่อได้ความว่า การกระทำความผิดของ ป. ต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ป. ตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกเพียง 15 ปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาแก้ไขโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2562จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 364 แต่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามบทฉกรรจ์มาตรา 365 และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ตามมาตรา 365 (1) (2) ได้ ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ในคราวเดียวและเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกันมา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้ จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2562จำเลยเข้าไปที่ร้านโดนัทที่เกิดเหตุแล้วบอก ส. พนักงานขายว่า "โดนัทที่เหลืออยู่ขอเหมาหมด" เมื่อ ส. นำโดนัทบรรจุใส่กล่องและนำกล่องใส่ถุงพลาสติก และคิดเงินว่าจำนวน 1,440 บาท จำเลยพูดว่า "ทำไมต้องจ่าย เพราะเป็นหุ้นส่วนบริษัท หนูรู้มั้ยว่าพี่เป็นใคร ถ้าไม่รู้ให้โทรไปถาม อ. บอกเค้าว่า น้องชายเค้าที่เป็นเจ้าของตัวจริงจะเอาไปทานบ้าง อีกไม่กี่วันร้านก็ปิดไม่ใช่เหรอ" และหยิบเอาขนมโดนัทเดินออกจากร้านที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ธุรกิจโดนัทที่ร้านเกิดเหตุเป็นธุรกิจในรูปหุ้นส่วน อ. เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ย่อมรับผิดชอบในผลกำไรขาดทุน และทราบว่า อ. เป็นผู้บริหารธุรกิจขายโดนัทจนห้ามมิให้ ท. ที่เป็นน้องชายของจำเลยมายุ่งได้ เงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุหมดไปแล้ว และเป็นภาระหนี้สินที่ ส. และ ล. บิดามารดาจำเลยต้องไปดำเนินการเอากับ อ. ต่างหาก ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยลักษณะหลอกว่าจะเหมาขนมโดนัททั้งหมดและเอาขนมโดนัทไปโดยจงใจไม่จ่ายเงินย่อมทำให้ ส. พนักงานขาย ต้องรับผิดในราคาขนมโดนัทดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แล้ว ส่วนการที่จำเลยยังถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางกำลังวิ่งหลบหนี ทั้ง ส. ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน หาทำให้ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2562โจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางมาที่กระท่อมจำเลยพร้อมเด็กชาย ศ. ทั้งสองครั้ง จำเลยมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 มาที่กระท่อมที่เกิดเหตุและมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมไปที่ใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2562คดีหมายเลขแดงที่ ขก. 2/2559 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพยานมาสืบตามคำร้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางในคดีนี้อีกครั้ง โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกับคำร้องฉบับแรก ในคดีหมายเลขแดงที่ ขก. 2/2559 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำร้องไปแล้ว กรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2562การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามความใน ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หากภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึงเสียแล้วย่อมไม่อาจกระทำการเพื่อป้องกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า ว. เพียงเอาอาวุธปืนชูขึ้นเหนือศีรษะและยิงขึ้นฟ้า 1 นัด ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่จำเลยกับพวกเท่านั้น การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังรถกระบะที่ ว. นั่งอยู่ทันที โดยไม่ปรากฏว่า ว. กระทำการอื่นใดในลักษณะจะทำร้ายพวกจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุให้จำเลยอ้างเหตุป้องกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2562ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นี้ กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ อันไม่ใช่ตัวผู้เยาว์ที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้ดูแลผู้เยาว์ของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครอง นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 2 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรานี้จะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองตั้งแต่ออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033/2562โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยใช้กำลังประทุษร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งกระทำการตามหน้าที่ สะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อก่อการร้าย กระทำการอื่นใดเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลอื่น ก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและความผิดที่จำเลยกับพวกสมคบกันเพื่อกระทำมีกำหนดโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และจำเลยกับพวกร่วมกันสะสมกำลังพล อาวุธและทรัพย์สินเพื่อก่อการร้าย อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ลงโทษจำเลยกับพวกฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายในการกระทำคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกัน อันถือเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2562โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า ต่อมาภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1.2 ซึ่งฟ้องข้อ 1.2 เกิดเหตุเมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2559 จนกระทั่งถึงประมาณเดือนเมษายน 2560 ต่อเนื่องกันตลอดมา วันที่เท่าใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยจำเลยใช้อวัยวะเพศของจำเลยกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ด้วยการสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เพื่อสนองความใคร่ของจำเลย ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันอีกรวมจำนวนยี่สิบครั้ง การที่ระบุตอนท้ายฟ้องข้อ 1.3 ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันอีก รวมจำนวนยี่สิบครั้ง เป็นการบรรยายรายละเอียดให้เห็นแล้วว่า จำเลยกระทำผิดลักษณะเดียวกันตามฟ้องข้อ 1.3 รวม 20 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน และโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทุกกรรม โดยโจทก์อ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.3 เพียงกรรมเดียว จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2562พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง...ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง...แล้วแต่กรณี" ฉะนั้นที่กฎหมายกำหนดให้ศาลนำเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างแพ้คดีก็เพื่อมุ่งที่จะให้ลูกจ้างได้รับเงินโดยเร็วและทันที ไม่ต้องการให้มีกระบวนการบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินนั้นหรือให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวการชำระเงินให้ชักช้า หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์ทั้งสี่นำมาวางศาลนั้น เป็นเพียงข้อผูกพันที่ธนาคารให้ไว้แก่ศาลว่า เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 (นายจ้าง) ชำระเงินตามคำสั่งของจำเลยแล้ว หากนายจ้างไม่ชำระเงิน ธนาคารจะชำระแทน เช่นนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนายจ้างไม่ชำระเงิน ศาลต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกให้ธนาคารชำระเงินนั้นก่อน โดยที่ธนาคารก็อาจมีข้อโต้แย้งปฏิเสธความรับผิดได้ หนังสือค้ำประกันของธนาคารในคดีนี้จึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3997/2562ภายหลังศาลชั้นต้นชี้สองสถาน คู่ความไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาลชั้นต้น โดยกำหนดวันสืบพยานโจทก์วันที่ 19 มกราคม 2559 สืบพยานจำเลยวันที่ 20 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. ถึง 16.30 น. ทั้งสองวัน อันเป็นการกำหนดวันนัดพิจารณาต่อเนื่องล่วงหน้าเป็นเวลา 5 เดือนเศษ ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่คู่ความจะได้เตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดทั้งคู่ความลงลายมือชื่อในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับเอกสาร ทราบคำสั่งศาลในการเตรียมคดี และจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการเตรียมคดีโดยเคร่งครัด ตามคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการเตรียมคดี ข้อ 1 ระบุว่า เมื่อศาลกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องแล้ว คู่ความมีหน้าที่เตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดโดยเคร่งครัด และข้อ 7 หากมีเหตุขัดข้องใด ๆ ที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวพร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ หรืออาจร้องขอให้ศาลสืบพยานล่วงหน้าไว้ทันทีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 101 มิฉะนั้น ศาลอาจถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นมีพฤติการณ์ในการประวิงคดี และอาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ฉะนั้น คู่ความทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องเตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด หากมีเหตุขัดข้องที่ทำให้คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถนำพยานมาสืบได้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่แจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ มิฉะนั้นศาลอาจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และในการเลื่อนคดี ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชักช้า โดยห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม สำหรับโจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่า ก. กรรมการโจทก์ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2559 ไม่สามารถเดินทางกลับมาเบิกความได้ทัน โจทก์ยอมรับในอุทธรณ์ว่า ก. ไปเจรจาธุรกิจการค้ากับชาวต่างชาติซึ่งติดต่อมากะทันหันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวันนัดของศาล ก. มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 19 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. แสดงว่าโจทก์รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ก. ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยมาเบิกความในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ทัน โจทก์ยังยินยอมให้ ก. เดินทางไปต่างประเทศโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ และไม่ได้นำพยานที่ประสงค์จะสืบอีก 2 ปาก มาเบิกความ พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์มิได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล และจงใจฝ่าฝืนคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการเตรียมคดี ข้อ 1 และข้อ 7 ดังกล่าว นอกจากนี้ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ติดตามพยานมาเบิกความโดยรอพยานโจทก์จนถึงเวลา 10.45 น. แต่โจทก์ไม่สามารถนำพยานมาเบิกความได้ กรณีมิใช่เหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ แม้เป็นการขอเลื่อนคดีครั้งแรกและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านก็ไม่สมควรให้เลื่อนคดีหรือเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในช่วงบ่ายดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2562การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะเมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น และย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3951/2562โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงท้ากันโดยให้ถือเอาผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 26580/2545 ของศาลอาญา เป็นผลแพ้ชนะกันในประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ โดยในคำท้าไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลตาม ป.อ. มาตรา 198 ประกอบมาตรา 83 แม้ศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 และ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง ก็ตาม ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาก็ตรงตามคำท้าที่ตกลงกันตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ชัดเจนว่า หากศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ โดยไม่มีข้อความใดที่จะแปลได้เลยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องกระทำความผิดทุกข้อหา กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2562จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 แล้วชูเสื้อผ้าให้พวกดู และนำไปวางไว้มุมห้องก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้คบคิดกับพวกที่กระทำชำเรามาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปยังบ้านที่เกิดเหตุ และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา ทั้งขณะพวกของจำเลยที่ 1 กระทำชำเราก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันใดให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นตัวการ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา และทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 83 แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการจึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3930/2562การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติแต่เพียงให้นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเท่านั้น มิได้มีบทบัญญัติใดกำหนดห้ามมิให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องถอนข้อเรียกร้องเดิมและแจ้งข้อเรียกร้องใหม่ก่อนระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมสิ้นสุดลง ทั้งมิได้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อยกเลิกสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการตามสภาพการจ้างและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมทั้งหมดแต่อย่างใด การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 แล้วถอนข้อเรียกร้องเดิมและยื่นข้อเรียกร้องใหม่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 โดยมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นายจ้างเคยตกลงร่วมกันและถือปฏิบัติมาก่อนหน้าที่จะมีการยื่นข้อเรียกร้องนี้ทั้งหมดก็เนื่องจากจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงาน ส. ซึ่งมีลูกจ้างเป็นสมาชิกเกินกว่ากึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมด จำเลยจึงต้องการให้ลูกจ้างทั้งหมดมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นอย่างเดียวกัน เป็นเหตุให้จำเลยถอนข้อเรียกร้องเดิมแล้วแจ้งข้อเรียกร้องใหม่แก่สหภาพแรงงานโจทก์ ทั้งจำเลยยังแจ้งข้อเรียกร้องในลักษณะเดียวกับสหภาพแรงงานโจทก์แก่ลูกจ้างอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยใช้สิทธิปิดงานแล้วนำบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ที่ถูกปิดงานจะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่นั้น ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 22 วรรคสาม ที่บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะปิดงานได้ในกรณีที่ข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และมาตรา 5 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ปิดงาน" หมายความว่า การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ดังนั้น การที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม จึงเป็นการที่นายจ้างมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเข้าทำงานชั่วคราว เพื่อกดดันให้ลูกจ้างเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง ซึ่งการที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานในกรณีเช่นนี้ แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ด้วยว่าห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนลูกจ้างที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน แต่การที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานแล้วจะให้ลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนลูกจ้างที่ถูกปิดงานจักต้องกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ด้วย กล่าวคือ นายจ้างต้องมีความจำเป็นเพื่อให้กิจการของนายจ้างดำเนินต่อไปได้ และต้องเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นทำงานอันมีลักษณะเป็นการชั่วคราวตามความจำเป็นข้างต้น ทั้งมิใช่กรณีที่นายจ้างอาศัยสิทธิปิดงานโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานตลอดไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง แต่เมื่อจำเลยใช้สิทธิปิดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย และลูกจ้างที่ถูกปิดงานรวม 44 คน ทำงานในฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพและฝ่ายคลังสินค้าอันเป็นงานที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อองค์กรจำเลย เพื่อให้กิจการจำเลยดำเนินการต่อไปได้โดยไม่กระทบต่อการบริหารจัดการองค์กรจำเลยระหว่างปิดงาน จำเลยย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาบุคคลอื่นเข้ามาทำงานในส่วนงานของลูกจ้างที่ถูกปิดงานชั่วคราวได้ และเมื่อจำเลยมีการจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้าทำงานในกิจการของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว และนับแต่ปิดงานจำเลยจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้าทำงานประมาณ 160 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีการจ้างงานอย่างถาวรแทนที่ตำแหน่งลูกจ้างที่ถูกปิดงาน เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือการใช้สิทธิปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การพิจารณาว่าสิทธิในการปิดงานของจำเลยสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จากบันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ครั้งที่ 4/2556 ได้ความว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 สหภาพแรงงานโจทก์ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายจำเลยโดยยินยอมทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อตกลงฯ ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 แต่ไม่ยอมรับเงื่อนไข 17 ข้อ ตามที่จำเลยเสนอ จำเลยจึงไม่ตกลงยินยอมด้วย แล้วพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดไกล่เกลี่ยระหว่างสหภาพแรงงานโจทก์กับจำเลยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 การไกล่เกลี่ยในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ย่อมไม่ใช่กรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันได้อันจะทำให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระงับสิ้นไปและจำเลยไม่มีสิทธิจะปิดงานต่อไปได้อีก ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า "สถุล" ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า "สถุล" แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2562โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยมิได้กำหนดว่าคดีของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์และเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามราคาที่ดินพิพาท จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา รวมทั้งมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมา ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบและโจทก์สามารถอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือให้ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2562เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ว. ถูกผู้เสียหายกับพวกจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ว. เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เงินของ ว. อยู่ที่บ้าน ว. ขอโทรศัพท์บอกให้จำเลยนำเงินมาให้ ผู้เสียหายจึงคืนโทรศัพท์ของ ว. แก่ ว. จากนั้น ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยให้จำเลยนำเงินของ ว. มาให้ เมื่อจำเลยเดินทางมาถึงสถานีตำรวจและพบ ว. แล้ว ว. กับจำเลยช่วยกันนับเงินครบ 500,000 บาท และส่งมอบเงินให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงจับกุมและแจ้งข้อหาแก่จำเลย และ ว. ว่าร่วมกันทำให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ ว. เป็นผู้เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเอง มิใช่ผู้เสียหายเป็นผู้เรียกร้อง ว. จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดอยู่แล้ว โดยผู้เสียหายไม่มีส่วนก่อให้ ว. กระทำความผิด การที่ผู้เสียหายยินยอมให้โทรศัพท์ถูกยึดไปแล้วคืนแก่ ว. เพื่อให้ ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยก็เป็นเพียงขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ส่วนการที่ผู้เสียหายไม่ห้าม ว. มิให้กระทำความผิดจึงไม่มีผลทำให้การกระทำของ ว. กับจำเลยไม่เป็นความผิดไปได้ แต่เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับ ว. มาตั้งแต่ต้น คงนำเงินมาให้ตามที่ ว. โทรศัพท์ไปเท่านั้น เมื่อนำเงินมาถึงก็ส่งมอบเงินแก่ ว. มิได้ส่งมอบแก่ผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 86 ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาและข้อแตกต่างที่พิจารณาได้มิใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องและเป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 192 วรรคสอง, 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2562เดิมพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง กระทำด้วยประการใด ๆ ในที่ดินพิพาทอันเป็นการทำลายป่า และเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54 และ 72 ตรี ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่ดินแปลงใดที่ยังไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินย่อมเป็นป่าทั้งสิ้นโดยไม่จำต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานของทางราชการมาแสดงว่าเป็นป่าแต่อย่างใด จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) พิสูจน์ไม่ได้ว่าตนได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน เท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้รัฐได้ จึงมีความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบในที่ดินพิพาท ขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ก็ย่อมเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2562โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งห้าร้องเรียนโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับได้ความจากคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เคยเรียกโจทก์และจำเลยทั้งห้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ยในปี 2557 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน จึงเชื่อว่าโจทก์ทราบมูลความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยทั้งห้าตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการร้องเรียนแล้วกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2562จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2562ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษ อ. และ ส. กับพวก ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ การที่ อ. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งกว่า 1,000 ไร่ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 เช่า และ ส. สามีกับผู้คัดค้านที่ 2 ภริยาได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ นั้น โดยการปลูกอ้อยและส่งขายให้แก่โรงงานน้ำตาล พฤติการณ์จึงเป็นการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า การกระทำของ อ. และ ส. จึงเข้าลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอันเป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (15) ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2562สัญญาประนีประนอมยอมความแม้กระทำในศาลก็ถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง ว่าด้วยหนี้ เช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 บัญญัติว่า "ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่" ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงิน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาที่ธนาคาร ท. สาขาบิ๊กซีบุรีรัมย์ เพื่อให้ธนาคารนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. บุตรโจทก์ แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ถึง 2 วัน แต่ที่ ฐ. ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีได้เพราะระบบของธนาคารต้องทำการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโอนมาจากต่างประเทศก่อน ต่อมาเมื่อระบบของธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของ ฐ. แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ฐ. ก็ได้ไปถอนเงินจำนวน 300,000 บาท จากบัญชีของตนแล้วนำไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสถานที่ชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพออนุโลมได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3826/2562โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งหกในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหก จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งหกฟ้องให้ได้กลับคืนมาซึ่งทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาท ซึ่งแม้โจทก์ทั้งหกจะฟ้องรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2562จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2562พฤติการณ์ที่จำเลยใช้แรงกายบังคับฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายเข้าไปในห้องน้ำ ถอดกางเกงของตนและผู้เสียหายออก แล้วใช้อวัยวะเพศของตนถูกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายภายนอก ซึ่งจำเลยมีโอกาสที่จะสอดใส่อวัยวะเพศในขณะนั้นได้ แต่เพราะเกรงกลัวว่า น. มารดาของผู้เสียหายจะสงสัยจึงไม่กระทำให้สำเร็จ อากัปกิริยาของจำเลยซึ่งกระทำในลักษณะใกล้ชิดพร้อมที่จะใช้อวัยวะเพศของตนสอดใส่กับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย และกระทำในที่ลับตาจากการรู้เห็นของ น. ซึ่งอยู่ในบ้านร่วมกันขณะนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาที่จะสอดใส่อวัยวะเพศ แต่เกรงกลัวว่าผู้อื่นจะล่วงรู้ในการกระทำความผิดของตน ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว หาใช่เจตนาเพียงกระทำอนาจารไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3811/2562การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ โดยกำหนดให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินจำนวน 656,000,000 บาท กับจำเลยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โดยเสนอเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 13,120,000 บาท แก่จำเลยในวันลงนามในสัญญาสินเชื่อและดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญากับเบิกใช้วงเงินกับค่าธรรมเนียมในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ข้อตกลงที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) เป็นข้อตกลงที่แยกต่างหากจากการคิดดอกเบี้ยในการเบิกใช้วงเงินดังกล่าว ข้อตกลงชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้จึงมีลักษณะของการตอบแทนการใช้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารสัญญาสินเชื่อที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยลงนาม ซึ่งหากมิได้มีการลงนามในสัญญาสินเชื่อแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่อาจเบิกใช้วงเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยอันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีเจตนาถือเอาตามสัญญาสินเชื่อเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการให้ ป. จ. และ ว. กรรมการโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้น มาลงนามในสัญญาดังกล่าวกับจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ สัญญากู้เงินหรือสัญญาสินเชื่อระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสินเชื่อตามที่จำเลยเคยอนุมัติให้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จากโจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้ แต่การที่จำเลยระบุไว้ในเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อบางส่วน 9,560,000 บาท ในวันที่โจทก์ทั้งสามลงนามตอบรับในหนังสือดังกล่าว และหากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จำเลยมีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม อันมีลักษณะของสัญญาอย่างหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วยดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง ซึ่งเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ลงนามในสัญญาสินเชื่อกับจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงิน 9,560,000 บาท ที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งสามในฐานะเบี้ยปรับอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ จำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทั้งหมดที่จำเลยรับมาจากโจทก์ทั้งสามเป็นเบี้ยปรับแล้วใช้ดุลพินิจให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือ 2,000,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 7,560,000 บาท ซึ่งหาเป็นความผิดของจำเลยไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะการรับเงินดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2562คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2562การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่ ช. แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ว่าโจทก์ที่ 2 อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดจาเชิงข่มขู่ให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต จำเลยที่ 13 จึงไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 ช. ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ ขอตรวจค้นพบบัตรคอนเสิร์ต 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกเชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่ ช. แจ้งเกิดขึ้นจริง จึงมีหลักฐานตามสมควรว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อน อาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่จึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3795/2562ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยมาตรา 8 ให้ยกเลิกบทความผิดในมาตรา 26 เดิม และมาตรา 9 บัญญัติความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นมาตรา 26/3 แทน และมาตรา 17 ให้ยกเลิกบทกำหนดโทษในมาตรา 76 เดิม ให้ใช้มาตรา 76 ที่แก้ไขใหม่แทน ซึ่งความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท เพียงสถานเดียว แตกต่างกับมาตรา 76 วรรคสองเดิม ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นคุณมากกว่าบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2562การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 คดีนี้คดีส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" และมาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." เช่นนี้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 จำเลยจะฎีกาได้ต่อเมื่อยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงจะมีสิทธิฎีกาได้ การที่จำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2562ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (1) ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นกรณีที่บุคคลอื่นนอกจากคู่ความได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคู่ความ ต้องดำเนินคดีไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก หาเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องของผู้ร้องไม่ และไม่ทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง เช่น กรณีศาลสั่งจำหน่ายคดี เพราะทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบมาตรา 132 (1) ศาลชั้นต้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ดังกล่าวต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3768/2562พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 คำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ การที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางให้เพื่อนเสพ ถือว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2562ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 26, 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยให้ใช้และเพิ่มความใหม่แทน โดยความผิดฐานนำพืชกระท่อมเข้ามาในราชอาณาจักร เพิ่มบทความผิดมาตรา 26/2 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 75 วรรคสาม ความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพิ่มบทความผิดมาตรา 26/3 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 76/1 วรรคสี่ แต่เนื่องจากบทความผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่กับกฎหมายเดิมไม่แตกต่างกัน จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2562ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ แม้ต่อมามี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ แต่ในมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ก็ยังคงบัญญัติไว้มีเนื้อความเช่นเดิม เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินบัญญัติให้จำเลยผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตให้คงสภาพดังเดิม และจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ โดยไม่ได้มีบทบัญญัติให้จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไปบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเองจะเรียกเก็บเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ได้ แม้จำเลยกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธินำเงินค่าส่วนกลาง ที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค แต่เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยเป็นผู้ครอบครองและเก็บรักษาเงินค่าส่วนกลาง กับนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความถูกต้องของบัญชีสรุปรายรับ-รายจ่าย จึงตกแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ในด้านรายรับ จำเลยบันทึกรายรับไม่ถูกต้อง จำเลยต้องนำเงินค่าบริการที่จัดเก็บล่วงหน้าไปรวมกับรายรับ คิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 62,539,739 บาท และจำเลยไม่ได้นำเงิน 90,900 บาท ที่เรียกเก็บจาก ส. บันทึกไว้ในรายรับ นอกจากนี้ จำเลยนำเงินค่าส่วนกลางไปฝากไว้ที่ธนาคาร แต่ไม่ได้นำดอกเบี้ยสะสม 1,009,696.88 บาท ไปบันทึกรายรับ แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้แต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าส่วนกลางที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 เมื่อรวมทั้งหมดแล้วคิดเป็นรายรับทั้งสิ้น 63,640,335.88 บาท ส่วนค่าส่วนกลางที่ยังเรียกเก็บไม่ได้อีก 17,970,672 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจะเรียกให้จำเลยรับผิดชำระแทนไม่ได้ สำหรับเงินค่าส่วนกลาง 10,587,904.20 บาท ที่ฝ่ายโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยร่วมออกสมทบ เนื่องจากจำเลยได้ใช้บริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมาตั้งแต่เริ่มโครงการนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 มิได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณะร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งจำเลยและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก็ไม่มีข้อตกลงกันเช่นว่านั้น ส่วน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 47 ถึงมาตรา 50, 53 และมาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีและการบำรุงรักษาบริการสาธารณะ สำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ซื้อต่อเมื่อได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยชำระเงินในส่วนนี้ ในด้านรายจ่าย ค่าดูแลสวนสาธารณะและค่าซ่อมแซมสาธารณูปโภค เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้มีสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้น เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาบันทึกเป็นรายจ่ายไม่ได้ สำหรับค่าบำรุงรักษาสโมสร จำเลยนำอาคารสโมสรและสระว่ายน้ำออกให้บุคคลภายนอกเช่าแต่ไม่ได้นำรายได้จากค่าเช่าสโมสรไปบันทึกเป็นรายรับ จึงไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสโมสรไปบันทึกเป็นรายจ่าย คงมีสิทธิเพียงนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณะ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานจัดเก็บขยะ กวาดถนน ค่ากระแสไฟฟ้าส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายป้อมยามรักษาความปลอดภัยและสำนักงานโครงการรวมเป็นเงิน 22,341,467.67 บาท ไปหักออกจากเงินค่าส่วนกลางเท่านั้น จำเลยส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 10,637,319 บาท คงเหลือเงินค่าส่วนกลางที่จำเลยต้องส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 อีกจำนวน 30,661,549.21 บาท จำเลยจะปฏิเสธการส่งคืนโดยอ้างว่ามีข้อตกลงให้เรียกเก็บในลักษณะเหมาจ่ายหาได้ไม่ แต่จำเลยไม่ต้องส่งมอบเงินสมทบค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องจัดหาสถาบันการเงินมาทำสัญญาค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือต้องรับผิดชอบชำระเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในอัตราร้อยละ 7 ของราคาก่อสร้างสาธารณูปโภคกลางของทางราชการให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคสองและมาตรา 44 วรรคสองตอนท้ายซึ่งประกาศใช้ภายหลังมาบังคับแก่จำเลยได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง ปรากฏว่า คอสะพานข้ามคลองรางใหญ่ทรุดตัวค่อนข้างมาก ทำให้พื้นถนนบริเวณคอสะพานกับพื้นสะพานมีระดับต่างกัน จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้คงสภาพการใช้งานได้โดยสะดวก จำเลยจึงต้องออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงในส่วนนี้ เห็นสมควรกำหนดให้ 400,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมท่อระบายน้ำ จำเลยก่อสร้างไม่ถูกต้อง ทำให้ระบบระบายน้ำฝนออกจากถนนด้วยท่อระบายน้ำลงสู่คลองรางใหญ่ทำไม่ได้ตามโครงการจัดสรรที่จำเลยขออนุญาตไว้ จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาให้ใช้งานได้ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเห็นสมควรกำหนดให้ 300,000 บาท สำหรับค่าซ่อมแซมถนน แม้ถนนจะทรุดตัวและมีระดับต่ำกว่าถนนประชาอุทิศ ส่วนหนึ่งเพราะถนนประชาอุทิศได้ปรับปรุงยกระดับให้สูงขึ้น ประกอบกับสภาพโดยทั่วไปของถนนยังอยู่ในสภาพดีและใช้สัญจรได้โดยสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซม ส่วนค่าก่อสร้างผนังคอนกรีตทั้งสองด้านของถนน มิใช่ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดให้มีขึ้นและมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาตามโครงการจัดสรรที่ดิน โจทก์จะเรียกร้องหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2562พฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากกองทุนของผู้ร้องคัดค้านที่ดำเนินการในนามบริษัท บ. ซึ่งมี ส. เป็นผู้มีอำนาจจัดการที่แท้จริง และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมมาจากกองทุนทั้งสามครั้ง รวม 3,000,000,000 บาท เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจากกองทุนในเวลาอันรวดเร็ว และการยกเลิกอาวัลที่ทำให้หลักประกันของกองทุนหมดสิ้นไปถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต พฤติการณ์เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินจากกองทุนในการกู้ยืม จากนั้นก็ถอนหรือโอนเงินไปเพื่อการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทในเครือของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เสนอโครงการกับกองทุน ทั้งการที่กู้เงินจากกองทุนโดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อนำไปให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี และปล่อยกู้เพียง 72,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะใช้เงินคืนได้ นอกจากนั้นการที่อ้างว่าปล่อยเงินกู้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทั้งการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรกก็เป็นการนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายเป็นดอกเบี้ย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการกู้เงินจากกองทุนทั้งสามครั้งมีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกต่อเนื่องกัน อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส. รับโอนเงินกู้ยืมที่ได้รับมาเข้าบัญชีตนเองกว่า 100,000,000 บาท จากนั้นไม่กี่วันก็ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ยึดในคดีนี้ในช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดมูลฐาน โดย ส. หรือผู้อื่นไม่ยื่นคำคัดค้าน จึงเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งเมื่อผู้ร้องคัดค้านหน่วยงานต้นสังกัดของกองทุนเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้านและได้แก้ไขคำร้องตามที่ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องเข้ามา จึงสมควรให้คืนหรือนำทรัพย์สินไปชดใช้คืนแก่ผู้ร้องคัดค้านตามมาตรา 49 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2562เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล หารวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีแล้ว ค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองจึงหาใช่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2562คดีก่อนที่ ช. ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยมีประเด็นพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ช. หรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของ ช. ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ช. ถึงแก่ความตาย จำเลยขอเข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะทายาทของ ช. และศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่ความคือโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะทายาทของ ช. มิให้โต้เถียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกับโจทก์อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และจำเลยในฐานะผู้สืบสิทธิของ ช. จะโต้เถียงโดยให้การและฟ้องแย้งในคดีนี้ว่า จำเลยแย่งการครอบครองและได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมีการฟ้องคดีเดิมไม่ได้ เพราะเป็นการกล่าวอ้างให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงขัดกับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีเดิมที่วินิจฉัยว่า ในช่วงเวลาพิพาทในคดีเดิมโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยชอบที่จะกล่าวอ้างการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ได้ก็แต่เมื่อเป็นการกระทำภายหลังมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมแล้ว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมเพียง 4 เดือนเศษ จำเลยย่อมไม่มีทางได้สิทธิครอบครองโดยการแย่งการครอบครองตามที่อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665-6/2562การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659-61/2562พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้กระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3641/2562การที่ผู้เสียหายนอนอยู่ในห้องนอน โดยมีจำเลยทั้งสี่กับพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่ที่หน้าห้องนอน แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอนในลักษณะต่อเนื่องกันไปในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน ในสถานที่เดียวกัน จำเลยแต่ละคนกับพวกย่อมต้องรู้กันและตกลงกันในหมู่เพื่อนที่ร่วมดื่มสุราด้วยกันว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายก่อนหลังไม่ให้ผู้เสียหายมีโอกาสตั้งตัวเพื่อหลบหนีหรือขัดขืนได้ จำเลยแต่ละคนเดินสวนเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในเวลา 1 ถึง 2 นาที หลังจากจำเลยคนก่อนกระทำชำเราเสร็จ แม้จะไม่มีจำเลยคนใดเข้าไปช่วยกันจับตัวหรืออยู่ด้วยในเวลาที่มีการกระทำชำเราของจำเลยแต่ละคน แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะจำเลยแต่ละคนได้กระทำการดังกล่าวจนครบทุกคน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่กับพวกเป็นการกระทำโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมผู้เสียหาย และระบุมาตรา 277 มาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ศาลย่อมลงโทษตามวรรคที่ถูกต้องได้ และฟังได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2562ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 นั้น เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ใช้กระบวนการพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามปกติ แต่ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรมีคำพิพากษา หรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอให้ใช้ ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้วมอบตัวจำเลยให้บุคคลดังกล่าวไป โดยกำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง หรือส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจ หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร หรือจะใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนตามมาตรา 132 วรรคสอง เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ให้ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย ตามมาตรา 133 วรรคหนึ่ง เว้นแต่คำสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ ย่อมหมายความเฉพาะ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเท่านั้นที่เป็นอันระงับไป สิทธิของผู้เสียหายที่จะได้ทรัพย์สินคืน หรือใช้ราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิในคดีส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายย่อมยังคงมีอยู่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้เสียหายได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น สิทธิในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายจึงไม่ระงับสิ้นไป การนำบทบัญญัติมาตรา 133 วรรคหนึ่ง มาตีความว่า เมื่อศาลสั่งยุติคดีมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป มีผลทำให้คำขอในคดีส่วนแพ่งของพนักงานอัยการที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตกไปด้วยนั้น เป็นการนำบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดมาตีความตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การตีความเช่นนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อน และเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ต้องไปเริ่มต้นดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งที่พนักงานอัยการได้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนผู้เสียหายและดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้นจนคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ดังนั้น แม้ในคดีอาญาศาลสั่งยุติคดี ศาลก็ต้องมีคำวินิจฉัยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคำขอในคดีส่วนแพ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2562ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ซึ่งหมายความว่า การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูล ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา มิใช่โจทก์สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกคดีเสมอไป คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องทางแพ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องแล้ว ขอให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้มีการรับรองหรือขออนุญาตให้ฎีกามาด้วย ก็ไม่อาจดำเนินการให้ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2562เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คือ เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ตามที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้กว้างขวางกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายฉบับอื่น และยังเปลี่ยนแปลงปลายทางของทรัพย์สินเหล่านี้ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติดของประเทศ โดยมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ริบ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทันที โดยมิต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพิ่มเติมอีก ส่วนการเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีเงินฝากของธนาคารไปเป็นชื่อของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และระยะเวลาในการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนเช่นว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องของกำหนดอายุความไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่งหรือทางอาญา จึงไม่ตกอยู่ในกำหนดอายุความทั่วไป 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3610/2562ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวายโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย การที่จำเลยที่ 1 กับพวกฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 กับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3571/2562การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในกำหนดหรือไม่ ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทนายโจทก์จะเรียงอุทธรณ์ให้ทันภายในกำหนดเพราะทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่ทนายโจทก์ยื่นฎีกาว่า ทนายโจทก์เสร็จคดีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และมีลูกความโทรศัพท์ให้ไปรับเอกสาร ทั้งที่ทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการปกติของศาล แต่ทนายโจทก์กลับเดินทางไปรับเอกสารจากคู่ความที่ตำบลลาดหญ้า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร แสดงว่าทนายโจทก์มิได้สนใจติดต่อศาลชั้นต้น ข้ออ้างว่ารถยนต์ของทนายโจทก์เสียระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลาทำการปกติของศาล จึงเกิดจากความบกพร่องของทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2562ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 บัญญัติว่า "ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้" ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นมาประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกผู้เสียหายและ ม. หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้เสียหายและ ม. มาเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับผู้เสียหายและ ม. แต่โจทก์ก็ไม่ได้ตัวมาสืบ ทั้งเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเป็นเวลา 10 ปีเศษแล้ว จึงเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามผู้เสียหายและ ม. มาเป็นพยานได้ประกอบกับโจทก์ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์แล้วพบว่า ผู้เสียหายเปลี่ยนจากชื่อเดิมเป็น ป. ส่วน ม. ไม่พบข้อมูล อีกทั้งโจทก์ยังได้แถลงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของผู้เสียหายและ ม. เพิ่มเติม จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายและ ม. มาเบิกความต่อศาลได้ ถือว่ากรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายและ ม. ที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3493/2562พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83 ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3454-5/2562การครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) ของโจทก์เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากนิคมที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรวมทั้งระเบียบของนิคม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกอธิบดีสั่งให้ออกจากนิคมได้ตามมาตรา 28 แสดงว่า นิคมได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากรัฐให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคม เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ทางนิคมได้จัดสรรให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดให้ที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาก่อนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้ถือครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องทั้งสอง และไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม โดยผ่านกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับสิทธิ ทั้งยังจะต้องถือครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายระบุไว้อีกด้วย และฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้าง จึงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2562จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามกฎหมาย อ. ย่อมมีสิทธิที่จะให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน โจทก์ที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลว่าเป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230 สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป การที่ ป. ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "may" ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3404/2562บุคคลที่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ของศาลต้องเป็นผู้เสียหาย หรือคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คู่ความ หมายความถึง โจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นโจทก์หรือจำเลยคดีนี้ ทั้งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า อ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ และถือไม่ได้ว่า อ. เป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมาตั้งแต่แรก ตลอดทั้งไม่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และผู้ร้องในฐานะบิดาของ อ. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทน อ. ที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นได้เช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงชอบแล้วและมีผลให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นฎีกาต่อมาได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบที่จะยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้อง และยกฎีกาของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2562คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2562คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) (7) 339 วรรคท้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ริบของกลาง โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นด้วยเฉพาะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (6) (7) 339 วรรคท้าย และโทษที่ลงแก่จำเลย แต่ไม่เห็นพ้องด้วยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนทุกฐานความผิด คดีเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสองแล้ว จำเลยย่อมฎีกาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2562ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนัก ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจอีกกระทงหนึ่ง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีในความผิดฐานดังกล่าวนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายโดยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิด แต่ปรากฏว่าในคำร้องของผู้เสียหายที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ระบุว่าขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่เมื่อใด ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2562ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 ของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 การที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินนั้นภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความตามมาตรา 50 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เสียก่อนว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 53 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ ตามคำร้องผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2562สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยจึงสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ ไม่ตกเป็นโมฆะ สำหรับการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติและกฎหมายไทยด้วย การที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนานั้น มีบทบัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ และผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็อาจพิสูจน์เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้เช่นกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้คู่พิพาทหรือคู่สัญญาต้องนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นต่ออนุญาโตตุลาการ แม้การระงับข้อพิพาทของคู่ความมีด้วยกันหลายวิธี การนำคดีขึ้นสู่ศาลย่อมเป็นทางเลือกสุดท้าย ดังคำกล่าวว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ดังนั้น การแปลและตีความสัญญาตัวแทนซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางระงับข้อพิพาทร่วมกันก่อนเป็นอันดับแรก หากตกลงเจรจากันไม่สำเร็จ คู่สัญญาสามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่สองได้ ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าแรก สัญญาข้อดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ เมื่อสัญญามีข้อตกลงให้ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการอันถือว่าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แล้ว แม้ต่อมาสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2562จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3147/2562การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นำที่ดินที่มีสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่เช่นเดียวกับคดีนี้ไปใช้เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1874/2545 ของศาลอาญาธนบุรี และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยังผิดสัญญาประกันอีกหลายคดีในศาลอาญาธนบุรี ศาลแขวงธนบุรี และศาลจังหวัดนนทบุรี พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่ควรรอการลงโทษ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน มีอายุมาก และร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พยายามบรรเทาผลร้าย โดยนำเงินค่าปรับมาชำระแก่ศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว จึงมีเหตุสมควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในสถานเบา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2562เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3095/2562ในชั้นสอบสวนจำเลยถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิด 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) และความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (แอมเฟตามีน) จำเลยย่อมหลุดพ้นจากผู้ต้องหาหรือมิได้ต้องหาในความผิดดังกล่าว ต่อมาได้โอนคดีให้สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสุพรรณบุรีฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เป็นคดีนี้อันต้องด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่บัญญัติว่า "...ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรือไม่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก..." ดังนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง โดยให้พนักงานสอบสวนดำเนินการนำตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติดังกล่าวมาแต่แรกเป็นเหตุให้จำเลยต้องสูญเสียสิทธิอันพึงจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามหลักการและเหตุผลในการออก พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2562ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับตั้งแต่วันกระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มาศาลอย่างช้าภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มาศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มาศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2560 จึงเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยอายุความสิบห้าปีและสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2562แม้ขณะศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ก็ตาม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ก็ชอบที่จะนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้ และเมื่อคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น สำนวนคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.12/2561 ของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วพบว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั่นเอง จึงนับโทษต่อให้ตามที่โจทก์ร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2562โจทก์ฟ้อง พ. จำเลย และ ล. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า พ. ขอให้ ล. นำเงินไปไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินจากธนาคาร แล้ว พ. กับจำเลยจะเปลี่ยนมาจดทะเบียนจำนองกับ ล. แทน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวคือการจดทะเบียนจำนองระหว่าง พ. และจำเลยกับ ล. เป็นการประกันหนี้ที่มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นการแสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. หรือ ล. คำเบิกความของจำเลยที่ว่าเงินไถ่ถอนจำนองเป็นของ ล. จึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. มิใช่ของ ล. ตามที่จำเลยยืนยัน คำเบิกความของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีฟังได้ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ส่วนความผิดฐานฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้นเมื่อจำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. ไม่ใช่ของ ล. การกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จว่า เงินที่ไถ่ถอนจำนองเป็นของ พ. จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2562โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2957/2562คดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 แต่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดินพิพาทให้แก่ อ. ผู้ซื้อทรัพย์ไปตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสอง บัญญัติว่า การบังคับคดีนั้นให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ (เดิม) ได้กำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอเฉลี่ยไว้โดยให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ฉะนั้น การบังคับคดีในคดีนี้จึงสำเร็จบริบูรณ์ไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2951/2562โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อมและร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76 ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และเพิ่มเติมมาตรา 26/2 ฐานผลิตพืชกระท่อม และมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกันจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษฐานผลิตพืชกระท่อมในมาตรา 75 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 75 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิม มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2943/2562แม้ถนนที่เกิดเหตุจะอยู่ในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นสถานที่ราชการ แต่โดยลักษณะงานของสถานีตำรวจย่อมเป็นสถานที่สำหรับประชาชนไปติดต่อราชการโดยงานหลักคือ การรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ดังนั้น สภาพทางในสถานีตำรวจที่เกิดเหตุจึงมีไว้สำหรับประชาชนใช้สัญจร ทางที่เกิดเหตุจึงเป็นทางตามความหมายของทางตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (2) ซึ่งบัญญัติความหมายของคำว่า "ทาง" หมายถึง ทางเดินรถ ช่องเดินรถที่ประชาชนใช้ในการจราจร เมื่อจำเลยจอดรถบนทางดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ขับขี่ต้องจอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ และจอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร" ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถทางด้านขวาของทางเดินรถและหันหัวรถสวนทางกับรถคันอื่น จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2562การยิงปืนขึ้นฟ้าของจำเลยเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เท่ากับความผิดตามที่ฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุด้วย แม้โจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวด้วย แต่เมื่อความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองด้วย กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษในข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความ ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2562เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 เคยยกปัญหาเรื่องสายลับไม่ได้มาเบิกความขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้วินิจฉัยนั้น ไม่ชอบอย่างไร โดยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด แต่จำเลยที่ 1 กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2562เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยนำรถบรรทุกของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดจนถูกศาลพิพากษาให้ริบไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย ย่อมมีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของอันพึงต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2562แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมายต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไปโดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างก่อนที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตัวและเจตนาเข้าดำเนินงานจัดการแทนจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถูกใช้ชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรรมการแทน ก. กรรมการคนก่อนระหว่างรอให้การเลิกกิจการและเลิกจ้างมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่มีการเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2562โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่อ้างว่า ต้องเสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นศาลอันมูลเหตุกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เกิดขึ้น เพื่อให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผิดระเบียบเพื่อพิจารณาข้ออ้างของโจทก์ต่อไป มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพราะข้อผิดระเบียบดังกล่าวมิใช่ข้อผิดระเบียบที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณาของศาลฎีกา กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่มีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลล่างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2562ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 (เดิม) มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2562ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" และมาตรา 94 บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดินมิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดินจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์ร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ ก. ในราคา 9,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ ก. การที่โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออยู่แก่ ก. จำเลยได้รับมอบเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ขาย แต่จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนเองโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง อันถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท ไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่ ก. แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ และไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกและต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2562การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว และยังฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นรายวัน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนไปจึงย่อมขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562ในคดีไม่มีข้อพิพาท ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งหากผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น เมื่อผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับพินัยกรรมว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีนี้เป็นพินัยกรรมปลอม เนื่องจากลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ผู้คัดค้านเคยพบเห็นมาก่อน เท่ากับผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม แต่คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านกลับกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พินัยกรรมดังกล่าวก็ไม่สมบูรณ์เพราะขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะในการรับรู้อย่างครบถ้วน เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง เลือดออกในโพรงสมองและสมองบวมอันเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริงแต่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ คำร้องคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า พินัยกรรมดังกล่าวผู้ตายทำขึ้นจริง ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แม้คำคัดค้านจะไม่ได้บรรยายเรื่องผู้ร้องไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมและพินัยกรรมเป็นโมฆะไว้ก็ตาม แต่ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1632 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2562แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสามแปลง แต่ที่จำเลยทั้งสองคัดค้านมิให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้ไม่มีผู้มีหน้าที่ทำการแบ่งปันที่พิพาทดังกล่าว นอกจากนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 ยังให้สิทธิแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ ทั้งจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามีที่ดินเพียงสองแปลงที่เป็นที่ดินมรดก ส่วนที่ดินอีกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินรวมสามแปลงเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดก การแบ่งปันมรดกต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินแปลงเดียวแก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696-7/2562ป.รัษฎากร มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 86/1 มาตรา 86/2 และมาตรา 86/8 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ..." และมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้" เห็นว่า ผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/1 และมาตรา 86/2 แล้วจะต้องเป็นการออกใบกำกับภาษีที่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง โดยเป็นการออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นคู่สัญญาเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คำว่า "มิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้" ตามมาตรา 86/13 จึงไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/1 ซึ่งถูกห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีเท่านั้น หากหมายความรวมถึงผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีที่ไม่มีการขายสินค้ากันจริงด้วย ทั้งตามมาตรา 88/2 วรรคสอง ก็บัญญัติด้วยว่า "ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน" ใบกำกับภาษีที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่สายลับจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 90/4 (3) เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ก็มิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้โดยมิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ไม่จำต้องยกฟ้อง กรณีของจำเลยที่ 5 เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นตัวการ เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ใช้จึงแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 5 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2562การปิดหมาย เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งต้องปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การที่ผู้ส่งหมายเพียงแต่วางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 5 จึงไม่ชอบ กระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2562ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของโจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนซึ่งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2562ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแจ้งความและให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโจทก์ร่วม เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้กระทำละเมิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2562การที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จสองครั้งในคดีเดียวกัน คือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันประโยคเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้ง โดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดต่างกรรมไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2562แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข "invoice back" ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2562เดิมผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ถ. และ อ. กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน อ. กับผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ. กับผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมของผู้ตายระบุให้ น. และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ ถ. ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้อง โดยเห็นว่า อ. กับผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น และต่อมามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้ง ถ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน และแนบคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแทน แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ ก็เป็นเพียงเรื่องปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อน ตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2562สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยฎีกาแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดคนละประเภทกันและยังเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันและเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ แม้จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานโดยมีเจตนาเพื่อฆ่าผู้อื่น การกระทำของจำเลยก็เป็นคนละกรรม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจแยกฟ้องจำเลยเป็นคนละคดีได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลพิพากษาลงโทษ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไปแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดเฉพาะกระทงความผิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เท่านั้น ส่วนกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นยังหาได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิดแต่อย่างใด จะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานนี้แล้วไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นคดีนี้ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2562บริษัท ส. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด มีหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกันออกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนตามมาตรา 4 และมาตรา 18 นับแต่วันที่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อปี 2535 จนถึงวันที่บริษัท ส. โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้บุคคลอื่น หากไม่แปลความดังว่า บริษัท ส. สามารถใช้ประโยชน์จากห้องชุดที่บริษัทถือกรรมสิทธิ์อยู่โดยไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าส่วนกลาง ทั้ง ๆ ที่บริษัทก็ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ส่วนกลางเช่นเดียวกับเจ้าของร่วมอื่น ๆ จึงไม่เป็นธรรมแก่เจ้าของร่วมอื่นในอาคารชุด ส. การแก้ไข พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ในปี 2551 เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นในส่วนที่เจ้าของโครงการหรือผู้จัดสรรถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไว้ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเช่นเดียวกัน มิได้บัญญัติเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบหรือเพิ่งจะถือว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารตามมาตรา 6 เป็นเจ้าของร่วมแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2562คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี มีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เมื่อปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 49 ปี 4 เดือน จึงนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4614/2549 ของศาลอาญาธนบุรีได้ แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้วต้องจำคุกไม่เกินห้าสิบปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2545/2562แม้การขออนุญาตปฏิบัติการอำพรางตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 7 เป็นมาตรการในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหนึ่ง อันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าได้มีการขออนุญาตปฏิบัติการอำพรางหรือไม่ อันจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังที่จำเลยอ้างนั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลจะหยิบยกข้อเท็จจริงตามที่จำเลยเพียงอ้างมาในฎีกามารับฟังว่าไม่มีการขออนุญาตปฏิบัติการอำพรางโดยไม่มีการสืบพยานหาได้ไม่ เมื่อคดีนี้จำเลยไม่ได้นำสืบต่อสู้ในประเด็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไม่ได้ขออนุญาตปฏิบัติการอำพรางก่อนการล่อซื้อ ทั้งในขณะโจทก์นำพยานเข้าสืบ ทนายจำเลยไม่ได้ถามค้านในประเด็นดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสพยานโจทก์เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าเป็นเช่นไร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และเป็นข้อเท็จจริงจำเลยที่เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2562เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างร้านค้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนร้านออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2562โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494-5/2562จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2562ความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จลง ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องนับถัดจากวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเพื่อพาณิชยกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งห้ามใช้อาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยหยุดใช้อาคาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459-60/2562การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และ น. มีมีดติดตัวไปด้วย แม้มีดที่ น. พาติดตัวไปจะมีขนาดใหญ่เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์สมคบกันที่จะใช้มีดนั้นฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายผู้เสียหายก็เป็นสาเหตุเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะถึงกับเอาชีวิตกัน และเมื่อ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ผลัก น. ออกไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดที่พามาฟันทำร้ายผู้เสียหาย คงมีเพียง น. ผู้เดียวที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเป็นการฟันทำร้ายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่รุมเตะต่อยและใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายเสร็จแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มิได้ห้ามปราม น. ไม่ให้พามีดดังกล่าวติดตัวไป ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. ที่จะใช้มีดนี้ก่อเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วขว้างทิ้งหรือการที่จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากมือของผู้เสียหาย น่าจะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีและติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อความสะดวกในการที่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่จะรุมทำร้ายผู้เสียหายมากกว่าจะฟังว่าเป็นการสมคบกันมาใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า พฤติการณ์ที่ น. ใช้มีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งหลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รุมทำร้ายผู้เสียหายแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินตามลำพังของ น. เอง นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะถือเอาการกระทำของ น. เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. พยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเนื่องมาจาก น. ใช้มีดฟันทำร้าย เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสี่และ น. คบคิดกันมาทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของ น. ดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสี่มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452-3/2562ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เป็นความผิดและระวางโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 55 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน และมาตรา 4 (2) ให้คำนิยามของคำว่า เครื่องกระสุนปืน หมายความรวมตลอดถึงลูกระเบิด กฎหมายถือว่าวัตถุต้องห้ามทั้งสองชนิดเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแม้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 42 อันเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน แต่สารเคมีชนิด PENTAERYTHRITOL TETRANITRATE (PETN) ที่สามารถใช้เป็นวัตถุระเบิด และสารเคมีชนิด AMMONIUM NITRATE ที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด นอกจากเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ประกอบประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2 แล้ว ยังเป็นวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ด้วย ดังนั้น วัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และสารเคมีดังกล่าวจึงเป็นวัตถุต้องห้ามประเภทเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุทั้งสามชนิดในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2562พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้" ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏชื่อสิบตำรวจเอก ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมจับกุมจำเลย หรือเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดี พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2562โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปและตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9, 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9, 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2412/2562โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งด้วย เมื่อโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว คดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาย่อมไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกัน การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ทั้งการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ทั้ง มาตรา 44/1 วรรคสอง ก็บัญญัติความว่า.... ถือว่าคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ย จึงใช้สิทธิในคดีส่วนแพ่งได้ และคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นพิพากษายอมความแล้ว ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาขอให้รอการลงโทษเท่านั้น คดีส่วนแพ่งจึงยุติและต้องบังคับไปตามคำพิพากษาตามยอม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่วินิจฉัยให้เฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2562ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 143 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หามีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม ถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเรียกและรับเงิน 9,000,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการตามหน้าที่โดยยกเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้ จ. เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีคำสั่งใหม่ให้ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ แม้คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่สามารถจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. ได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2562จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน แม้คดีทั้งสองจะยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังต้องถูกบังคับตามผลของคำพิพากษาในคดีทั้งสองอยู่ ศาลฎีกาชอบที่จะนำโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองมานับต่อจากโทษจำคุกคดีนี้ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น จึงไม่มีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวที่จะนำมานับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2562คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ ศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดคงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่นกัน แต่กรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา กรณีถือว่าฎีกาของจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2562การกระทำในคดีเดิมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 มาตรา 16, 36 ทวิ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง แต่เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรีมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับในศาลจังหวัดปราจีนบุรีด้วย ดังนั้น การยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเป็นสาขาของคดีเดิมที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบของกลาง องค์คณะผู้พิพากษาจะต้องถือตามคดีเดิม เมื่อคดีเดิมศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดยังคงพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคนเดียว ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 25 (5) ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอคืนของกลางอันเป็นคดีสาขาของคดีดังกล่าวได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2562โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า ในการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งจำเลยเข้าร่วมประชุมได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่า จำเลยได้ยืมเงินโจทก์จำนวน 6,100,000 บาท และจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ข้างต้นโดยถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินและจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ 6,100,000 บาท และตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้อันเป็นลักษณะของการฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการรับสภาพหนี้ของจำเลยตามรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมใหญ่ในฐานะผู้ยืม โจทก์ก็ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 แต่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามรายงานการประชุมใหญ่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่ ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ และการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่เป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์โดยเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น อีกทั้งการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยก็ดี และการลงชื่อในสำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ดี จำเลยกระทำไปในฐานะผู้ถือหุ้นและฐานะส่วนตัวในวาระเดียวกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2562โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2562โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 83 ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ความผิดในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 151 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งไม่เกินห้าปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2562ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 7 ปีเศษ เป็นบุตรผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับ บ. ซึ่งเป็นย่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านไปเล่นกับเด็กหญิง ส. ที่บ้านเกิดเหตุ และขณะที่เด็กหญิง ส. ไปขี่รถจักรยานเล่นข้างนอก ปล่อยให้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งดูโทรทัศน์อยู่ในบ้านเกิดเหตุเพียงคนเดียว จำเลยเข้ามาในบ้านเกิดเหตุปิดประตูใส่กลอนไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้าน แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยได้รบกวนสิทธิหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กนั้นไม่ยินยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2562ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1) ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95 แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2562เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จำเลยจ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโท บ. ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโท บ. ได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ใช่สินสมรส ใบสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่พลโท บ. ทำไว้ มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้..." จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโท บ. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อชำระแล้วกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องต่อเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโท บ. อยู่ ใบสมัครสมาชิกของพลโท บ. มีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้พลโท บ. ทำนิติกรรมจัดการสินสมรสของตนและพลโท บ. กับจำเลยได้ทุกกรณีนับแต่วันสมัครสมาชิกและถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พลโท บ. และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างสมรสอันเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อพลโท บ. ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายก็ไม่มีคู่กรณีที่ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่จะบอกล้าง จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่พลโท บ. ทำไว้กับจำเลยจึงมีผลผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2562มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ในข้อ 2.4 ของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) นั้น เป็นคำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ ได้ร่วมกันนำตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวที่มีงานโสตทัศนวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงดนตรีกรรม ทั้งร้องและทำนองเพลง ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ร้านลลิตาคาราโอเกะ โดยเปิดเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังกล่าวผ่านทางตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ ทำให้ปรากฏเสียงทำนองเพลงออกทางเครื่องขยายเสียงและปรากฏภาพคำร้องทางจอโทรทัศน์ แล้วให้ลูกค้าของจำเลยทั้งสองขับร้องเพลงเผยแพร่แก่ลูกค้าภายในร้านอาหารของจำเลยที่ 1 ทั้งคำร้องและทำนอง แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กัน อันเป็นการร่วมกันกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าจากการเผยแพร่ต่อสาธารณชนดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำการเผยแพร่งานโสตทัศนวัสดุที่บันทึกภาพและเสียงดนตรีกรรมของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และ ป.อ. มาตรา 83 แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในคำขอท้ายฟ้อง แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 69 วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันมิใช่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งมีระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ให้จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ จึงเป็นเพียงการปรับบทมาตราผิดเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่ไม่อาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ตามระวางโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 วรรคสองได้ เพราะจะมีผลเป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และ ป.อ. มาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2562คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2562ทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. โอนที่ดินทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ร. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โดยมิได้จัดแบ่งให้โจทก์ เมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้ จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2148/2562ข้อความที่จำเลยทำให้ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในคดีนี้รวม 3 กระทง และคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร รวม 3 กระทง แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงในรายละเอียดและวันที่กระทำความผิด กล่าวคือ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 11 มกราคม 2556 วันที่ 23 มกราคม 2556 และวันที่ 24 มกราคม 2556 ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 11 มกราคม 2556 วันที่ 23 มกราคม 2556 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ย่อมต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยได้พิมพ์หรือทำให้ปรากฏตามสำเนาข้อความแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ซึ่งข้อความคดีนี้และข้อความตามคำฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ต่อเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 8.17 นาฬิกา ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 9.07 นาฬิกา บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่องทำนองเดียวกัน คือ "ทำไมไอ้ P จึงต้องด่าคนขายพระ ลป.บุญศรี" และข้อความทั้งหมดต่างกล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมเสียหาย หลอกลวงหาผลประโยชน์จากวัด รับซื้อของโจร นอกจากนี้ปรากฏว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับคดีนี้และเวลาเกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร จึงเป็นกรรมเดียวกัน ดังนั้น เมื่อคดีของศาลจังหวัดสมุทรสาครที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลจังหวัดสมุทรสาครและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว หาใช่ 3 กรรม ดังที่โจทก์ฟ้อง ถือได้ว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2562พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562จำเลยที่ 1 เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดู พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ตามมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดู พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2562ข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่า ผู้ร้องมิได้ส่งมอบสินค้าล่าช้า ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านรับมอบสินค้าไว้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องส่งมอบสินค้าตามสัญญาและตามใบสั่งซื้อแก่ผู้คัดค้านครบถ้วนแล้ว ทั้งในการประชุมเจรจาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังถกเถียงกันเรื่องตัวเลขค่าปรับและการเริ่มคำนวณดอกเบี้ย ยังไม่เป็นที่ยุติ การโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านก็ไม่มีข้อความใดแสดงว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ใช่ข้ออ้างที่ผู้ร้องจะยกขึ้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังโต้แย้งกันเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยโดยยังไม่ได้ข้อยุติ ข้อความในการประชุมและในจดหมายโต้ตอบจึงไม่อาจถือว่าผู้คัดค้านยอมรับสภาพหนี้ ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ทั้งการที่ผู้ร้องเคยนำข้อพิพาทนี้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลแพ่งเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็มิอาจอ้างว่าได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เพราะเป็นข้อพิพาทที่ต้องเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 193/14 (4) ดังนั้น ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเรียกเอาค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาด ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าเพราะเหตุขาดอายุความ และคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ยกข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องแย้ง โดยให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบในค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2562รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" หากโจทก์เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์จะต้องโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและขอให้ศาลส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ไม่อาจบังคับได้ และขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง มิได้ประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง... ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง... แล้วแต่กรณี" ที่บทบัญญัติมาตรา 125 วรรคสามและวรรคสี่ ได้กำหนดไว้ดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดทันที โดยลูกจ้างไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีก ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างประวิงเวลาในการจ่ายเงินอันเป็นการสร้างภาระแก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายจากนายจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างก็สามารถรับเงินจำนวนที่วางศาลไว้คืนไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย สำหรับที่ดินที่โจทก์ขอวางต่อศาลแทนเงินนั้น หากภายหลังคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีการบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคาไปชำระหนี้ครบตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลสามารถนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที นอกจากนี้เงินจำนวนที่โจทก์ต้องนำมาวางศาลนั้นมิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด จึงมิอาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับยกเว้นการวางเงินให้แก่โจทก์ได้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสามบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" บทบัญญัติดังกล่าวมานี้ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาล ซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะโต้แย้งเงินจำนวนใดตามคำสั่งก็ไม่ต้องวางเงินจำนวนนั้น ซึ่งหมายความว่านายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้ให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในส่วนของเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้นั่นเอง หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 82 ราย โจทก์ก็ต้องวางเงินจำนวนตามคำสั่งทั้งหมดทุกราย จะขอวางเพียง 2 รายแล้วขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทุกรายไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2562โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 9, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2562วันที่ 11 ธันวาคม 2556 เป็นวันที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่งสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 มกราคม 2557 ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เนื่องจากสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมานได้ขอทราบแนวทางการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เป็นต้น และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันระหว่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมานจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ ในส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งนั้น ถึงแม้จะไม่สามารถฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้ก็ตาม แต่เทศบาลตำบลชานุมานก็ย่อมสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 420 แห่ง ป.พ.พ. ได้ และวันที่ 13 มีนาคม 2558 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานใหม่แทนจำเลยเป็นเงิน 183,587.50 บาท ดังนั้น ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นเงิน 183,779.50 บาท คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญจึงส่งหนังสือแจ้งโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 30 มิถุนายน 2558 จึงถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 2 มิถุนายน 2559 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยกับให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน ดังนั้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานเป็นเงิน 183,587.50 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 99 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ เป็นเงิน 183,779.50 บาท เพราะไม่สามารถฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 ได้ แต่โจทก์สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ได้ คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 ของศาลชั้นต้นเมื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งตัวความเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ให้พนักงานอัยการนำความเห็นของตัวความประกอบการพิจารณาสั่งคดี หากยังเห็นว่าคดีนั้นตัวความอยู่ในฐานะเสียเปรียบไม่สามารถชนะคดีได้และดำเนินคดีไม่เกิดประโยชน์ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิว่าจ้างให้ทนายความดำเนินคดีในศาลได้ ตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 และความเห็นฉบับย่อของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จ 549/2550 ให้ความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกระทำการใด ๆ ภายในขอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตามที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมถึงการจ้างทนายความว่าต่างหรือแก้ต่าง แต่การใช้จ่ายเงินจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เมื่อยังไม่มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถจ่ายจากเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความได้ การที่โจทก์จ้างทนายความฟ้องจำเลยโดยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณได้ก็ย่อมเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2562กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) เป็นการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับกล่าวถ้อยคำอย่างไร เมื่อใด ต่อใคร เพื่อเป็นข้อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้หรือไม่ ลำพังแต่การบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดว่า ด่าว่าอย่างไร เหตุเกิดเมื่อใด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องในส่วนนี้เคลือบคลุม แม้โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" และกล่าวว่า "มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว" แต่ตามคำเบิกความของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์จำวันเวลาเกิดเหตุไม่ได้ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัด และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะไปนำสืบในรายละเอียดได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม และเมื่อฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" คำนี้จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทที่โจทก์จะนำสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2562เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์ร่วมจะไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย แต่ผู้เสียหายยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2562การนับโทษต่อจากสำนวนคดีเรื่องใดจะต้องปรากฏว่าคดีเรื่องนั้นศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไว้ก่อนแล้ว คดีเรื่องหลังจึงจะนับโทษต่อจากกำหนดโทษในสำนวนคดีเรื่องก่อนได้ แต่คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 ภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่เป็นไม่นับโทษต่อจึงชอบแล้ว และไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีถึงที่สุดให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2562จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งรู้จักกัน จำเลยที่ 1 กับ ส. แล่นเรือไปนำเมทแอมเฟตามีนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 ขับรถมารับจำเลยที่ 1 และ ส. พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2562จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2562โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและนำสืบพยานหลักฐานรับแล้วว่า การผลิตและส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงทุกต้นให้แก่โจทก์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ประกอบกับก่อนการซื้อขายเสาเข็มพิพาทมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 (พ.ศ.2549) ให้ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า มีการยกเลิกการอนุญาตให้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 แล้วกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 โดยกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าตามใบเสนอราคา/อนุมัติสั่งซื้อจะมิได้ระบุการซื้อขายเป็นการซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ก็ต้องตีความการซื้อขายนี้ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองขณะมีการทำสัญญา โดยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการแสดงเจตนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2562พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ส่วนมาตรา 26/5 เป็นบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิได้เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาที่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิด เมื่อระหว่างต้นเดือนเมษายน 2559 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท เป็นเงินค่าธรรมเนียมซึ่งผู้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าจะต้องเสียตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท เป็นค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มิใช่ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 พนักงานอัยการจึงเรียกค่าภาคหลวงและค่าเสียหายของรัฐโดยอาศัย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/5 เข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะทำให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2562พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายไปเรียกเงินจากโจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนในการไปวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังจากมอบเงินให้จำเลย จำเลยไม่สามารถดำเนินการให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยก็บ่ายเบี่ยงและไม่ยอมคืนเงินให้ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถวิ่งเต้นกรณีดังกล่าวได้ อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือหลองลวงโจทก์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ และกรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาตั้งแต่แรกจะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่โจทก์กระทำไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2562)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2562จำเลยแบ่งการจัดซื้อยาโดยลดวงเงินแต่ละครั้งให้เหลือครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจของจำเลยที่จะจัดซื้อได้โดยวิธีตกลงราคา จึงเป็นวิธีการเพื่อให้แบ่งซื้อสำเร็จ สามารถใช้เงินงบประมาณปลายปีได้หมดตามเจตนาของจำเลย หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 แม้จำเลยจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2540 รวม 10 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2541 รวม 12 ครั้ง ถือว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะใช้เงินงบประมาณให้หมดในแต่ละปีงบประมาณ ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวในแต่ละปีงบประมาณ จึงเป็นความผิด 2 กระทง หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่จัดซื้อรวม 22 กระทง ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1621/2562เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะประเด็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าแฟรนไชส์ส่วนที่เหลือตามฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยส่งมอบเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะมือสองให้แก่โจทก์และไม่ส่งแผ่นพับและธงญี่ปุ่นให้โจทก์มาบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ และถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย แม้โจทก์และจำเลยยังคงมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลือจำนวน 175,000 บาท ให้แก่จำเลย ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะของจำเลยเกิดการขัดข้องในการใช้งาน เนื่องจากมีความชำรุดบกพร่องเกี่ยวกับการเซ็ทระบบและภูมิอากาศในประเทศไทย โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่จำนวน 175,000 บาท ได้จนกว่าจำเลยจะแก้ไขความชำรุดบกพร่องของเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะดังกล่าว หรือหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2562เขตอำนาจของศาลแขวงในส่วนคดีแพ่งมีบัญญัติไว้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ จำนวนเงินที่ฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องในศาลชั้นต้นย่อมต้องรวมถึงดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแล้วคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องมาเกินกว่าสามแสนบาท จึงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีนี้ เป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสองถูกลบล้างไป อันเป็นการสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลและค่าธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2562ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 กำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์ในภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้ โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับในขณะจัดสรรที่ดินตามโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โครงการ 1 ถึง 7 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคซึ่งจำเลยและบริษัท ก. ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต แต่ผู้ร้องสอดเพิ่งจัดให้ที่ดินพิพาทใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และสวนหย่อมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรภายหลังจากที่ดินจัดสรรด้านหน้าโครงการถูกเวนคืนแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะยินยอมให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์หรือไม่ก็ตาม เมื่อที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคที่อยู่ในแผนผังและโครงการที่ดินจัดสรร ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรในโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ร้องสอดให้รื้อถอนกำแพงพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารจอดรถในที่ดินพิพาท ห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างรั้วกำแพงและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ผู้ร้องสอดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์อ้างว่าโจทก์มีโครงการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันและสถานที่ให้เช่า อันมีลักษณะเป็นการจัดสรรที่ดิน แต่พื้นที่ด้านหน้าถูกผู้ร้องสอดรุกล้ำทำให้ไม่เพียงพอที่จะยื่นเสนอโครงการต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้นั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโจทก์เสียหายเพียงใด หากโจทก์จะนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าก็ไม่แน่ว่าจะให้เช่าได้หรือไม่ เพียงใด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ผู้ร้องสอดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2562คดีที่ อ. ฟ้องนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีกับพวกต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร เลขที่ 424/2555 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2555 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย ย่อมไม่มีผลเป็นการทั่วไปและไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีปกครองดังกล่าว วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัท ป. โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้าน พ. ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัท ป. แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัท ป. แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วยรั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อบริษัท ป. ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพงและรั้วกำแพงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการมีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือกำแพงรั้วพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงพิพาท แม้เป็นภารยทรัพย์ แต่เมื่อถูกทำลายไปโดยผู้ไม่มีสิทธิ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธินำแท่งปูนวางแทนรั้วกำแพงพิพาทเพื่อยังประโยชน์การใช้รั้วกำแพงพิพาทให้คงอยู่ดังเดิม การกระทำของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสาม อย่างไรก็ดี พื้นที่ส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ซื้อบ้านในโครงการรวมทั้งจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้สัญจร โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องคืนทรัพย์สินอันโจทก์ทั้งสองต้องเสียไปเพราะละเมิดนั้น หรือชดใช้ราคาทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ถูกทุบทำลายไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างรั้วกำแพงดังกล่าว แม้โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้นถนนอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่าทำให้ไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสามส่วนที่อยู่นอกโครงการได้ อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาท หากรั้วกำแพงพิพาทไม่ถูกทุบทำลาย จำเลยทั้งสามก็ไม่สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ผ่านรั้วกำแพงพิพาทนั่นเอง การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ อันจะอ้างต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งสอง คำฟ้องโจทก์ทั้งสองมีคำขอด้วยว่า ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ของจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2562การกระทำซึ่งจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา จำเลยเอาอาวุธปืนออกมาขู่ผู้ตายและทำปืนลั่นโดยประมาทถูกผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ใช่การกระทำโดยเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การป้องกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2562เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิง ยินยอมให้จำเลยพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจาร การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 แม้จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้แล้ว และยังคงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายที่ 2 ได้อีก การที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ร้านของจำเลยเอง แล้วจำเลยล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ที่ร้านโดยจำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแต่อย่างใด จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร แต่การที่จำเลยพยายามกระทำชำเรา และกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ย่อมเป็นการกระทบต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดา ถือว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2562คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2562เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัย น. ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมกับทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงข้างหลัง ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ร่างกายล่ำกำยำ สูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิง กำลังศึกษา ย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้ 240 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเอง หรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2562แม้ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 15 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าการนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป เป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด และให้ใช้ข้อความใหม่แทนเป็นว่า การนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนตามการคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่ หรือมีน้ำหนักตามจำนวนดังกล่าว เป็นเพียงการสันนิษฐานว่าเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 นี้ บัญญัติไม่ให้นำไปใช้บังคับย้อนหลังแก่คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปก่อนหน้าแล้ว เมื่อคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ก่อนที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ได้ ดังนั้น ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2562ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นท้องที่พบการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้พันตำรวจตรี อ. อำพรางตัวเป็นเด็กท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่ขนกระสอบข้าวและกระสอบปุ๋ยบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจังหวัดเชียงรายไปส่งให้จำเลยที่ 2 ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับว่าจะมารับเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปจนกระทั่งสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายซึ่งเป็นท้องที่ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางและสถานีตำรวจภูธรวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย จึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดหลายคนเกี่ยวพันกัน ความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน ย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1492/2562จำเลยย้ายไปอยู่บ้านอีกแห่งห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร จากบ้านมารดา เป็นเวลา 3 ปี แล้ว แต่ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมารดา ก่อนถูกฟ้องจำเลยเคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์เนื่องจากไปเยี่ยมมารดาที่บ้าน เมื่อฟ้องคดีโจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและน้องเขยจำเลยเป็นผู้รับแทน จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากหลานจำเลยนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องมาให้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบพยานว่าจำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านใหม่ตามที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยทราบนัดสืบพยานโจทก์และนัดไกล่เกลี่ยจำเลยและทนายความมาศาล และเมื่อปรากฏว่าที่ดินที่ตกลงซื้อขายเป็นที่ดินแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยจำเลยเป็นผู้แจ้งระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน โดยโจทก์ได้ใช้ที่ดินนับแต่ตกลงซื้อจากจำเลยตั้งแต่ปี 2551 จนปี 2557 มีบุคคลอื่นมาโต้แย้ง โจทก์กลับยอมตามที่ผู้อื่นโต้แย้งและฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หลังจากทำสัญญาซื้อขาย 8 ปี 1 เดือนเศษ จึงมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและรับคำให้การจำเลยไว้พิจารณา ตาม ป.วิ.พ มาตรา 199 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2562โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเฉพาะค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ การที่ศาลชั้นต้นนำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินซึ่งโจทก์ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยและมิได้ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยมาหักออกจากค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษา จึงเป็นการนำค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้องนอกประเด็นและคนละประเภทกันมาหักจากค่าสินไหมทดแทนในคดีเกินกว่าสิทธิที่โจทก์เรียกร้องและจะได้รับ มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้นอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2562สัญญาประนีประนอมยอมความที่ว่า ฝ่ายโจทก์ตกลงจะถอนแจ้งความร้องทุกข์ฝ่ายจำเลยให้เสร็จสิ้นหรือดำเนินการช่วยเหลือให้คดีสามารถยุติโดยไม่ให้มีการดำเนินการทางคดีอีกต่อไป โจทก์จะถอนคำร้องทุกข์ทุกคดี และถอนฟ้องทุกคดีที่มีการร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจทุกสถานีและที่ฟ้องต่อศาลทุกศาล ไม่ว่าคดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของชั้นศาลใด โดยจะถอนฟ้องหรือยอมความให้เสร็จสิ้นทุกคดีนั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสี่จะดำเนินการให้คดียุติไปโดยวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย หรือประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน หรือกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายด้วยเจตนามุ่งประสงค์ให้คดีที่มีการร้องทุกข์และฟ้องคดีต่อศาลยุติไปโดยไม่คำนึงว่าจะยุติด้วยวิธีใดหรือจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2562จำเลยทั้งสองเคยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง และในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองแล้วว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแต่สืบพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไปฝ่ายเดียว เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม หาขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นแห่งคดีนี้แล้ว โจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้ง ประเด็นดังกล่าวจึงยุติ การที่จำเลยทั้งสองยกประเด็นนี้ขึ้นอุทธรณ์อีก จึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสองจากสารบบความ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2562โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบคืนโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบคืนโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 12,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป เป็นหนี้เงินอันเกิดจากสัญญาเช่าโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ค่าเช่าเสร็จสิ้น จะบังคับชำระดอกเบี้ยไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ซึ่งเป็นหนี้ให้กระทำการอันหนึ่งอันใดอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเป็นให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 12,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หรือจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์และบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2562การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนและจำเลยทั้งสองยังมิได้มีการส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง โดยมีข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันหลังพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน ถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จึงไม่ตกเป็นโมฆะและสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินมัดจำค่าที่ดินที่รับไปจากโจทก์ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2562ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ฉะนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบคำพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ ว่าข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2562การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้วลงมติให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 และ ส. เป็นกรรมการใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท แล้วจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกลักเอาหุ้นของโจทก์เพื่อจะโอนให้จำเลยที่ 3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 นำมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นแล้วไปจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขกรรมการ จำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท รวมถึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอนหุ้นของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นความผิด 2 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2562การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บทบัญญัตินี้เป็นลักษณะของการกระทำคือครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดโดยเจตนายึดถือเพื่อตนทำนองเดียวกับบทบัญญัติบรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ซึ่งอาจให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนก็ได้ ตามมาตรา 1368 การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น โจทก์ จำเลยและทายาทอื่นอีก 3 คน ตกลงให้ที่ดินมรดก 1 แปลง ตกแก่จำเลยแต่ผู้เดียวและจำเลยเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดโดยนำไปออกโฉนดและแบ่งแยกเป็น 5 แปลง ซึ่งมีที่ดินพิพาทในคดีนี้รวมอยู่ด้วย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากข้อตกลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2562ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับพวกอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ในลักษณะนั่งล้อมเป็นวงกลมและร่วมดื่มเบียร์อยู่ท้ายรถกระบะด้วยกัน เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกจำเลย 2 คน กระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง แล้วถูกขังไว้ในห้องที่เกิดเหตุ ต่อมาเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยไขกุญแจห้องแล้วมากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กถูกพรากจากบิดามารดาแล้วถูกกระทำชำเราในลักษณะโทรมเด็กหญิงและถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ในห้องที่เกิดเหตุ จำเลยซึ่งอยู่ด้วยกันก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุโทรมหญิง โดยจำเลยมีกุญแจไขประตูห้องเข้ามากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ แสดงว่าจำเลยร่วมรู้เห็นเป็นใจและเป็นตัวการร่วมกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงกับพวกมาตั้งแต่ต้น และขณะจำเลยเข้ามาในห้องที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่พ้นภยันตรายจากการถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกยังไม่ขาดตอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2562อ. ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกหลอกลวงแต่ประการใด และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หาใช่ครอบครองแทนบุคคลอื่นไม่ ที่ดินตามฟ้องจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของ อ. ที่จะตกได้แก่ทายาท เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจแบ่งแยก โอนขายหรือให้บุคคลใดเข้ามาถือกรรมสิทธิ์รวมหรือจะทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของตนได้ เมื่อที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของ อ. โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 รวมทั้งไม่อาจฟ้องบังคับให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินด้วย และเมื่อจำเลยที่ 1 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1297/2562ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารแนบท้ายคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และ ธ. เป็นกรรมการของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และ ธ. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์และถือว่าโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ขอถอนฟ้องของโจทก์แทนโจทก์และมีผลผูกพันโจทก์แล้ว การถอนฟ้องคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ ผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกันจะถือว่าผลประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 74 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2562แม้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้.. ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (1) ถึง (5) คดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญา การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เมื่อพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเสร็จแล้ว ในหมวด 11 การพิพากษาคดีอาญา กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาตามมาตรา 134 แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต้องมีการประชุมปรึกษาและให้ถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่บทบาทของผู้พิพากษาสมทบในการร่วมนั่งพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาเป็นการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีการให้เหมาะสมแก่เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ดังที่บทบัญญัติไว้ในหมวด 12 สำหรับคดีร้องขอคืนของกลางในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แม้มีผลสืบเนื่องมาจากคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคดีสาขา เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยจำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางไม่ และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน (จำเลย) หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด หรือต้องพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด และไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนโดยตรง การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลาง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน หรือมีผลกระทบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด แต่เป็นการมุ่งถึงตัวทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องสอบถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 134 ด้วย เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองคนร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอคืนของกลาง โดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ก็เป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2562ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ไปยังบริษัท อ. ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 อันเป็นการดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาวันที่ 10 เมษายน 2549 แล้ว กล่าวคือ โจทก์เดิมได้ขอศาลออกหมายบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 และวันที่ 9 กันยายน 2553 และศาลได้ออกหมายบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2553 หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ยังไม่มีการขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่อาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นของจำเลยได้ และมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและหากระยะเวลาการบังคับคดีสิ้นสุดลง ก็ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 60 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ย่อมเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวแล้ว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีภายในระยะเวลาการบังคับคดี และชอบที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยไม่จำต้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องอีก เพราะขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 อยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับคดี แม้ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอแยกสำนวนไปดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 60 วันตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องขอที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ให้ตามคำร้องขอของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2562โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ ด. พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่า มีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ก็ดี การเพิ่มและการโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่ง น. พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือว่า โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมลงนามกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่างๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว และตรวจพบว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ ส. และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะ 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะของกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2562เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมีชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาททั้งสามฉบับไว้ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามมาตรา 904 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบย่อมมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้ ว. โดยมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการนำไปเรียกเก็บเงินโดยโจทก์ทราบและโจทก์เอาเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปจากตู้นิรภัยของ ว. แล้ว ลงวันที่และเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยไม่ยินยอมและธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2562แม้ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า ฉ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคล ที่ถูกต้องระบุชื่อคู่ความว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อ ฉ. ขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับ ล. กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ มิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรง จำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง คำฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า ฉ. มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินไถ่ถอนจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี การที่โจทก์นำสืบเรื่องขอไถ่ถอนจำนองว่ามีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2562การที่จำเลยปลอมคำร้องขอออกหนังสือเดินทาง เลขที่ Y 684619 เพื่อขอออกหนังสือเดินทางหลังจากนั้นได้นำคำร้องดังกล่าวไปใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกหนังสือเดินทางของจำเลยต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ดำเนินการออกหนังสือเดินทางดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยจำเลยใช้สำเนาสูติบัตรและสำเนาหนังสือเดินทางของ ร. ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ เพื่อประกอบคำร้องขอออกหนังสือเดินทางพร้อมทั้งลงลายมือชื่อปลอมของ ร. ในคำร้องดังกล่าว เป็นการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานกงสกุลใหญ่หลงเชื่อ นำข้อมูลดังกล่าวตามคำร้องขอออกหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าฐานข้อมูลการจัดทำหนังสือเดินทางของสถานกงสุลใหญ่ และสแกนลายมือชื่อปลอมที่จำเลยลงไว้ในคำร้องขอออกหนังสือเดินทางในช่องผู้ถือหนังสือเดินทาง เพื่อประมวลผลออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเดินทางเลขที่ Y 684619 ถือเป็นการปลอมเอกสารราชการโดยใช้เจ้าพนักงานเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของผู้ขอออกหนังสือเดินทาง อันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอออกหนังสือเดินทางในชื่อของจำเลย กรมการกงสุลจึงไม่ออกหนังสือเดินทางตามคำร้องขอออกหนังสือเดินทางปลอม เลขที่ Y 684619 ให้จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามปลอมเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2562สะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 สร้างอยู่บนคลองระบายพระยาพิสูตร์หรือคลองแสมขาว ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกัน โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในสะพานมาก่อน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสะพานรวมทั้งที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองรื้อถอนสะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 เหลือแต่เสาบางส่วน สร้างบ้านพักคนงานคร่อมบนสะพานและทำคานไม้สำหรับวางสิ่งของ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถนำเรือมาจอดเทียบสะพานได้ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2562คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2562ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นปรับ 1,000 บาท ความผิดฐานนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ (4) การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2562ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 แต่ให้รอการกำหนดโทษและคุมประพฤติไว้ จึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 ที่จำเลยฎีกาพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2562แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า "กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้" แต่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่เป็นของตน และมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง" และ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดคำนิยามไว้ในมาตรา 4 "ทรัพย์ส่วนบุคคล" หมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย "ห้องชุด" หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล จากบทนิยามดังกล่าวและบทบัญญัติในมาตรา 12, 13 หาได้มีการกล่าวถึงการเป็นส่วนควบของห้องชุดไว้แต่อย่างใด การที่ที่จอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจะเป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยทรัพย์ ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนควบในมาตรา 144 ว่า "ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น" เมื่อพิจารณาสภาพของที่จอดรถของห้องชุดที่กำหนดไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ระบุเพียงว่าเป็นรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่อยู่นอกห้องชุด ทั้งที่จอดรถสำหรับห้องชุดก็หาได้อยู่ติดกับห้องชุดไม่ โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่จอดรถ ประกอบกับที่จอดรถนั้น แม้จะมีความสำคัญสำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด ซึ่งต้องมีที่จอดรถสำหรับรถยนต์ของตนเอง แต่ที่จอดรถก็หาได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีคู่กับห้องชุดทุกห้องไม่ โดยลักษณะของห้องชุดที่ซื้อขายกันทั่วไปนั้น อาจจะมีที่จอดรถรวมอยู่หรือไม่ก็ได้ และอาจจะซื้อที่จอดรถเพิ่มได้สำหรับบางอาคารชุด ดังนั้นที่จอดรถตามสภาพแห่งทรัพย์และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นจึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของห้องชุดสามารถแยกออกจากกันได้ ที่จอดรถจึงเป็นเพียงทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องชุด มิใช่ส่วนควบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2562ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ ศ. เบิกความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมยิงปืนใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 อันเป็นการชุลมุนต่อสู้กันตั้งแต่สามคนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจริง แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ใช้ขวดเบียร์ขว้างใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าใช้อาวุธปืนยิง ซึ่งข้อที่แตกต่างเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธไม่ใช่ข้อสำคัญและจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุแสดงว่าไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความมาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982-3/2562คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ข. พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แต่ข้อนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่ ข. ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการให้การต่อสู้เรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง กับให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเนื่องจากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี อันเป็นอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้โจทก์ทั้งสามไม่ฎีกาในข้อนี้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2562ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายทั้งสองเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เท่านั้น ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในความผิดดังกล่าว แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2562จำเลยใช้คนประจำเรือโดยไม่มีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และเป็นคนประจำเรือที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง ความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดสำเร็จเมื่อจำเลยใช้บุคคลต่างด้าวดังกล่าวเข้าประจำเรือ โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่ก่อนนำเรือประมงออกจากท่าเรือเพื่อไปทำการประมงไม่ทำให้เรือประมงของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง หรือได้มาโดยกระทำความผิดตามมาตรา 169 จึงไม่อาจริบเรือประมงของกลาง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2562ข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีก่อนอาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นเพิงทำด้วยไม้ ส่วนคดีนี้อาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 4.30 เมตร ยาว 21.50 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน เห็นได้ชัดว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่แทนอาคารหลังเดิมและเข้ายึดถือครอบครองใหม่โดยเข้าไปก่อสร้างอาคารคอนกรีตในที่เกิดเหตุ จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่หาใช่เจตนาสืบเนื่องต่อกันมาไม่ และไม่ถือว่ามีเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่ดินที่เกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคสอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องคดีนี้จึงเป็นคนละคราวกับคดีก่อน ดังนั้น ถึงแม้ในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดกรรมดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดกรรมอื่น ๆ ระงับไปด้วยไม่ จะถือว่าเป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางและทำให้เสียหายแก่ที่ดินซึ่งเป็นป่าและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันมิได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2562คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 เป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 และมาตรา 14 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่โจทก์ฎีกาขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2562การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 นั้น ผู้กระทำหาต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือต้องกระทำโดยทุจริตไม่ และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นหรือไม่ หากผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองว่ามีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงว่ามีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แต่เป็นความเท็จ คดีเมื่อได้ความจากคำเบิกความของ พ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุซึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกับจำเลยที่ 2 ว่า ในวันยื่นซองสอบราคานั้นมี ร. คนเดียวนำซองมายื่น 3 ซอง ซึ่งเป็นซองของบริษัท ป. จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โดยในเอกสารกลับมีลายมือชื่อของ ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้ยื่นเอกสาร โดยในช่องด้านบนของเอกสารจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองโดยมีข้อความเป็นสาระสำคัญในตอนท้ายว่า ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างเป็นผู้มายื่นซองด้วยตัวเอง อันเป็นความเท็จ เมื่อจำเลยที่ 2 รับรองเป็นหลักฐานว่า ม. และ อ. นำซองมายื่นต่อหน้าตน และใบรับซองสอบราคาเป็นเอกสารที่มุ่งพิสูจน์ความจริงว่า เจ้าของซองนำซองมายื่นจริงซึ่งเป็นความเท็จ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้นำซองมายื่นด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2562ป.อ. มาตรา 147 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานและต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานและเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ตลอดจนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเงินยืมทดรองราชการเป็นของตนโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ขอเงินยืมทดรองราชการและได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ แม้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริตไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2562โจทก์เป็นสถาบันการเงินจึงตกอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งมาตรา 46 กำหนดว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้... (3) ค่าบริการที่อาจเรียกได้ ทั้งมาตรา 46 วรรคสอง ยังบัญญัติว่า... ค่าบริการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 46 (3) มิให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ อันแสดงให้เห็นว่า นอกจากดอกเบี้ยแล้วโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยังมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการได้ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ ซึ่งตามสัญญาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ข้อ 7.2 ระบุว่า ผู้ให้สัญญาตกลงชำระค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท ให้แก่ธนาคาร เมื่อจำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้ต่อโจทก์เป็นเงิน 3,973,572.53 บาท และต้องการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท อันเป็นการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ในการดำเนินการนอกเหนือจากสัญญาสินเชื่อเดิมซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งกำไรหรือประโยชน์นอกจากดอกเบี้ยมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ค) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำสัญญา และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2562เมื่อข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นได้ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และยกฎีกาของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2562ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับมาจนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ แล้วจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทาง เป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยกราบขอขมาผู้เสียหายทั้งสามต่อหน้าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและปลัดหมู่บ้าน โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้อภัยจำเลยและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 3 ได้ยินยอมแทนผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 731/2562คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง การบรรยายฟ้องจึงต้องให้ได้ความว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งพร้อมข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ หากจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายยื่นคำให้การต่อสู้คดีเห็นว่าคำฟ้องบกพร่องอย่างไร จะต้องให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่าคำฟ้องนั้นเคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยขอกู้ยืมเงินจากใครและจะต้องชำระหนี้ให้แก่บุคคลใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นจึงเป็นฎีกาว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเคลือบคลุมนั่นเอง ปัญหาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ หาใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองไม่ จำเลยจะต้องยกขึ้นต่อสู้โดยชัดเจนเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอย่างใด จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้ ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2562ขณะที่จำเลยที่ 1 วิ่งตรงเข้าไปใช้มีดแทงทำร้ายโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ถือไม้กระบองยืนคุมเชิงอยู่ตรงที่เกิดเหตุและตะโกนห้ามมิให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว แสดงว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้ทันที พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการร่วมมือร่วมใจและแบ่งหน้าที่กันทำ อันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2562โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับ ก. ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 การกู้เงินและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ รวมทั้งการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ได้กระทำขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาดแล้ว การกู้ยืมและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม และถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้จึงต้องรับผิดคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ ก. และชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 ไปแทน ก. ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดย ก. ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินที่โจทก์ชำระส่วนหนึ่งไปเป็นค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ต้องร่วมรับผิดในการคืนเงินแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ต้องรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ สำหรับจำเลยที่ 3 แม้มีส่วนได้รับเงินจากโจทก์แต่ก็เป็นการได้รับเงินที่จ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 แทน ก. ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำขึ้น จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งเป็นการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไว้โดยสุจริต และได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ก. ไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2562เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2562คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 20 เม็ด หรือหน่วยการใช้น้ำหนัก 1.819 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.187 กรัม กับอีก 6 เม็ด น้ำหนัก 0.54 กรัม น้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ปรากฏชัด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มิได้บรรยายว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนทั้ง 2 จำนวนดังกล่าวรวม 26 เม็ด ในคราวเดียวกัน แล้วจำหน่ายครั้งแรกให้แก่ผู้อื่นไป 20 เม็ด ส่วนที่เหลืออีก 6 เม็ด จำเลยมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วต่อมาพยายามจำหน่ายให้แก่ผู้อื่น ทั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ว่าตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ไม่ปรากฏว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนในคราวเดียวกันทั้ง 26 เม็ด ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือตามในการวินิจฉัยข้อกฎหมายข้อนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ (ก) และจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ (ข) เป็นจำนวนเดียวกัน และเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ (ก) และพยายามจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ (ค) เป็นจำนวนเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายมาดังกล่าวเนื่องจากเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ที่เหลือ ผู้ตรวจพิสูจน์มิได้คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ให้ก็ดี จำเลยสามารถพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ให้แก่ผู้ซื้อได้ในวันเดียวกันกับที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ดแรกนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอยู่แล้วในคราวเดียวรวม 26 เม็ด ก็ดี และศาลต้องลงโทษจำเลยเป็นสามกรรมว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 26 เม็ด จำหน่าย 20 เม็ด และพยายามจำหน่ายอีก 6 เม็ด นั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะการครอบครองหรือจำหน่ายอาจเป็นการจัดหามาครอบครองเพื่อจำหน่ายใหม่ที่ละครั้ง และสามารถกระทำในวันเดียวกันได้อีกหลายๆ ครั้งก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2562โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าโจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดิน ป. โดยสุจริต ป. ยินยอมให้ต้นสักคงอยู่ในที่ดินจนกว่าโจทก์จะตัดขาย จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินมาและต้นสักเป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย จำเลยเป็นเจ้าของต้นสักจึงมีสิทธิตัดได้โดยไม่เป็นละเมิด คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งคดีนี้จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ปลูกต้นสักโดยไม่สุจริต และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 จึงต้องฟังว่าโจทก์ปลูกต้นสักในที่ดิน ป. โดยสุจริต เมื่อจำเลยรังวัดออกโฉนดที่ดินทราบว่าต้นสักที่โจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ตัดต้นสักออกไปเท่ากับจำเลยบอกปัดไม่ยอมรับต้นสักตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง ต้นสักจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย และเมื่อคดีส่วนอาญาได้ความว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ คดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยโดยไม่สุจริต การที่จำเลยตัดต้นสักพอถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินเลือกเอาไม้สักโดยใช้ราคาต้นสักตาม ป.พ.พ. มาตรา 1311 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และการกำหนดให้จำเลยใช้ราคาต้นสักแก่โจทก์ ก็เป็นผลจากการวินิจฉัยนอกประเด็น เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2562ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันขึ้นปีใหม่อันเป็นวันหยุดราชการ วันที่ 2 และ 3 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันจันทร์และวันอังคารก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาในวันที่ 4 มกราคม 2560ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา การที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยได้ จำเลยจะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้องจำเลยอ้างเพียงว่า จำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ขอคัดถ่ายไว้ ทำให้ไม่อาจทำฎีกายื่นได้ทันภายในกำหนด อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น มิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ก่อนสิ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วไม่ จึงไม่อาจขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2562จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงถนนและภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา โจทก์ไม่ใช่ผู้ก่อสร้าง เอกสารราคาค่าก่อสร้างเป็นการกะประมาณราคา ไม่ใช่ราคาวัสดุและค่าแรงงานที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือลูกจ้าง หรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อสร้างโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองทั้งสิ้น ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าเสียหายหรือค่าจ้างแก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง มิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626-7/2562การที่โจทก์ที่ 3 พนักงานของบริษัทจำเลยทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย แม้การจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจะเป็นการนอกเหนือความประสงค์ของจำเลย จำเลยไม่อาจยกความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริต จำเลยจึงต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ที่ 3 ทำกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2562การที่จำเลยเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่แจ้งต่อผู้เสียหายให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการว่าจำเลย คือ อ. ซึ่งมีที่อยู่ทะเบียนบ้านกลาง ขอย้ายที่อยู่ไปยังทะเบียนบ้านเลขที่ 1/2 หมู่ 1 ตำบลเชี่ยวเหลียง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง จากนั้นจำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็น อ. พร้อมยื่นสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว จนผู้เสียหายหลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียว คือ เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมจึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2562คดีนี้พฤติการณ์ของผู้ร้องและโจทก์มีพิรุธน่าสงสัย เชื่อว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2548 ของศาลจังหวัดจันทบุรี และบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 ของจำเลยออกขายทอดตลาดโดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและบังคับขับไล่ผู้คัดค้านออกจากที่ดิน ทั้งที่โจทก์ทราบดีว่าผู้คัดค้านปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทและมีรั้วกำแพงล้อมรอบมานาน 20 ปีเศษแล้ว ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 จากจำเลยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ในราคา 800,000 บาท ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยได้มอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องแล้วตั้งแต่ปี 2546 หากจำเลยไม่จดทะเบียนโอนสิทธิการครอบครองที่ดินให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิฟ้อง กลับมาประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3,100,000 บาท อันมิใช่วิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ออกคำบังคับผู้คัดค้านและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2562ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่า จำเลยผู้กู้จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ ก็มิได้ระบุว่า การก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อใดและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระหว่างก่อสร้างดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่หยุดการก่อสร้างแล้ว กรณีจึงไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดลงไว้แน่นอน ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ว่าเมื่อใดจะมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเพียงพอที่จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยากจะมองเห็นผลสำเร็จได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด ในเมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาหุ้นส่วน และบริษัท ธ. ที่ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การชำระเงินกู้ยืมคืนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้กันไว้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมอยู่ในตัวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2562โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยมากับคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนวันและเดือนเพิ่มโทษจำเลยน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องเป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยโดยยกคำร้องขอเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้ไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2562โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ชอบที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีจำเลยไปเหมือนคดีอื่น ๆ แต่เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนโดยประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงข้อหาเดียว กรณีจึงถือว่าในขณะนั้นจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ต้องหาในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอีกต่อไป คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นคดีนี้โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติดังกล่าวส่งผลให้จำเลยขาดสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย ไม่ได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแทนการถูกฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544-5/2562คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไปว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า สัญญาตกลงชัดเจนว่าไม้สักทองเนื้อเดียวปิดด้านบนไม้หนา 4 มิลลิเมตร โดยคู่สัญญาไม่เคยมีการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตีความสัญญาตามความประสงค์ในทางสุจริตและพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เห็นว่า ในการวินิจฉัยดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคของไม้ โดยได้ดำเนินการจัดทำเป็นไม้สักสลับชั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงกันในการตรวจรับไม้โดยเชิญผู้บริหารและผู้แทนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้แทนของผู้จัดการโครงการมาตรวจสอบลายไม้ที่เป็นลายตรงและลายภูเขา ซึ่งผู้ตรวจสอบไม้ดังกล่าวได้ยอมรับไม้สักสลับชั้น อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อตกลงในสัญญา แม้เป็นการโต้แย้งปัญหาข้อกฎหมาย แต่การจะวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว จำต้องอาศัยการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อน ซึ่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์โต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากนั้นชื่อของสัญญาดังกล่าวยังปรากฏชัดว่าเป็นสัญญาจ้างงานจัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์แท้จริงของคู่สัญญาแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ และโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าตามสัญญาแล้ว โดยข้อ 7 วรรคสอง กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้เช่าต้องสำรวจศึกษาพื้นที่โครงการ ผู้บุกรุก ผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในพื้นที่เช่า หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้ประกอบการเดิม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าต้องรับภาระในการดำเนินการและแก้ไข โดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง อันมีความหมายว่าหากต้องมีการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าให้อำนาจแก่ผู้เช่าหรือมอบหมายให้ผู้เช่าฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยแทนผู้ให้เช่าได้ โดยผู้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและการดำเนินการจัดหาประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา ถือได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้โจทก์ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้บุกรุกที่ดินที่เช่า ฉะนั้น แม้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าจากผู้ให้เช่าแล้วไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้เพราะจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562แม้ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" แสดงว่าแม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า "...ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะอีกต่อไป ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2562การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ส่วนศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามคำร้องของจำเลยมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งต่อ ๆ ไปอีกหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้วยังจะต้องมีเหตุอันสมควรอีกด้วย ซึ่งการพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ และหากนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไปจากศาลชั้นต้นจนถึงวันที่ครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ นับว่าเป็นระยะเวลาเพียงพอที่จำเลยจะเรียงอุทธรณ์ได้แล้วเสร็จ การที่จำเลยมาขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 อีก แสดงให้เห็นว่ามิได้ใส่ใจที่จะดำเนินการให้เสร็จลุล่วงไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยอีก ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในการยกคำร้องข้อหนึ่งว่า "...ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่..." แต่เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวประกอบข้อความอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว ก็มีความหมายเพียงว่า กรณีตามคำร้องไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยอีกต่อไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2562การที่จำเลยสามารถลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากโจทก์ทำหลักฐานว่ามีรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและนำไปหักออกจากกำไรจากการประกอบกิจการของจำเลย นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ฉะนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่โจทก์กำหนดขึ้นเองไปหักออกจากกำไรสุทธิของจำเลยในปี 2542 และปี 2543 ซึ่งโจทก์และจำเลยควรรู้ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23,400,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ช่วยจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยผู้มีเงินได้ที่จะต้องเสียตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2562ในการขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 (เดิม) มีประเด็นคือผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ในขณะยื่นคำขอ เมื่อผู้ร้องเคยยื่นคำร้องเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากผู้ร้องไม่ขวนขวายหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในครั้งนี้อีกเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์เดิม โดยอ้างพยานหลักฐานการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้ในการยื่นคำขอครั้งแรก อีกทั้งทรัพย์สินที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกเจ้าหนี้อื่นยึดไว้ก็ล้วนเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีมาตั้งแต่ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องครั้งแรก การตรวจสอบทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้แต่ต้นแต่ไม่ดำเนินการเอง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งนี้อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2562จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ต่อมาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำให้การ (ที่ถูก คำร้อง) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ ปรากฏว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นคดีสาขาของคดีดังกล่าว ถึงแม้จะพิจารณาต่อไปก็ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2562จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยระบุเหตุเลิกสัญญาตามข้อ 7 ข้อ 13 และข้อ 14 ไว้ด้วย ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาให้บริการพื้นที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และในชั้นพิจารณาทั้งโจทก์และจำเลยนำสืบอ้างถึงสัญญาให้บริการพื้นที่พร้อมเอกสารแนบและบันทึกต่อท้ายสัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์ ในการวินิจฉัยคดีว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณารายละเอียดตามคำให้การของจำเลยประกอบเอกสารดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อที่นำสืบปรากฏในชั้นพิจารณาโดยชอบแล้ว ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยระบุเหตุตามข้อ 7 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีอำนาจนำข้อเท็จจริงมาวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นไปตามข้อ 14 ได้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2562ขณะโจทก์ฟ้องคดีไม่ได้แต่งตั้งทนายความช่วยดำเนินคดี โจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ด้วยตนเอง และมีชื่อโจทก์กับลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้เขียนหรือพิมพ์ด้วย จึงพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เรียงฟ้องดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียง ก็ยังไม่ถึงกับกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจนต้องยกฟ้องโจทก์ คดีมีประเด็นพิพาทในชั้นฎีกาเพียงว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่พึงรับพิจารณาให้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2562โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 โดยอาศัยสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์และมารดาจำเลยซื้อขายบ้านที่ปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 43392 และ 43393 ซึ่งมารดาจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43393 ไปเป็นประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์เกรงว่าระหว่างรอการไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว มารดาจำเลยจะนำบ้านไปขายให้แก่บุคคลอื่น จึงให้จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ไว้เป็นประกันการชำระค่าที่ดินครึ่งหนึ่งก่อน ดังนี้ เท่ากับจำเลยรับว่าทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแก่โจทก์และยังไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นข้อต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์ส่งมอบให้มารดาจำเลยนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ถือได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2562โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1651, 1612 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้ต่อธนาคาร ท. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาธนาคาร ท. เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2548 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคาร ท. ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เมื่อธนาคาร ท. โอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะขอเข้าสวมสิทธิแทนที่ธนาคาร ท. ตามที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตได้ ประกอบกับผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งมาตรา 7 ของ พ.ร.ก. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดวิธีพิเศษในการเข้าสวมสิทธิแทนที่ในกรณีที่สถาบันการเงินได้โอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้ว่าให้โอนสิทธิแก่กันได้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเข้าสวมสิทธิแทนธนาคาร ท. ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยผลของกฎหมายดังกล่าว ส่วนการที่ผู้ร้องจะได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ท. หรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและธนาคาร ท. ไม่มีผลทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2562ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 วรรคสอง โจทก์ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องไว้ ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ประสงค์ให้ลงโทษ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยพูดและติดภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจริง ก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2562โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง ทั้งไม่มีคำขอท้ายฟ้องให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลยเป็นของกลางด้วย แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ของกลางที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องและมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 325/2562ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2562สัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัย มีวัตถุประสงค์จำกัดขอบเขตการสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันในระหว่างผู้เข้าร่วมสัญญา ผู้เอาประกันภัย และบุคคลซึ่งต้องรับผิดต่อเหตุละเมิดเพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ร่วมสัญญาฝ่ายที่ต้อง รับผิดเท่านั้น หาใช่สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดในค่าเสียหายส่วนเกินจากที่สละสิทธิเรียกร้องตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297-308/2562พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ไปรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมอนุญาต น่าเชื่อว่าบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ไว้วางใจให้จำเลยที่ 4 ดูแลจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ออกไปข้างนอกกับจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 430 แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร การที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกไปขับโดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้ห้ามปรามทั้งที่จำเลยที่ 4 ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และไม่มีใบอนุญาตขับรถ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ จะขับรถไปเสี่ยงแก่การเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ จำเลยที่ 4 ผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนอันเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ป.พ.พ. มาตรา 430

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2562พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้ และมาตรา 25 บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ก็เห็นได้ชัดว่าในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า หลังจากถูกฟ้องคดี ต่อมามีการขอเลื่อนคดีเรื่อยมาด้วยเหตุผลว่า รอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 249/2549 แม้กระทั่งวันที่ 1 กันยายน 2554 เป็นวันนัดพร้อมซึ่งขณะนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสาม คือจำเลยทั้งสามตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2554 อำนาจการจัดการทรัพย์สินและการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว แต่จำเลยทั้งสามและทนายความจำเลยทั้งสามไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อศาลชั้นต้นจะได้หมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนต่อไป และแม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 จำเลยทั้งสามก็คงวางเฉยไม่แถลงแต่อย่างไร จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 เพื่อให้ขาดความต่อเนื่องของการพิจารณาคดีที่จะติดตามข้อเท็จจริงในช่วงระยะเวลาสั้นและยิ่งนำรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาพิจารณาประกอบ ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายเรียกมาให้สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ให้การว่าไม่ทราบแน่ชัดว่ามีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องคดีใดบ้าง ทั้งที่คดีนี้ทุนทรัพย์สูงถึง 50 กว่าล้านบาท จำเลยที่ 3 ก็เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่ง การกล่าวให้ถ้อยคำเช่นนั้นย่อมไม่อาจเชื่อได้ ทำให้เชื่อได้ว่า การเลื่อนคดีอย่างต่อเนื่องโดยไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการวางแผนกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกำหนด ซึ่งจะเป็นการหลุดพ้นจากหนี้และนำไปสู่การปลดล้มละลายในลำดับถัดมา การจำหน่ายคดีย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหาย กรณีสมควรมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสามต่อไป ไม่มีเหตุจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2562โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 (เดิม) ประกอบ 285 ซึ่งความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2562ราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินในสำนวนเป็นราคาที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิใช่ราคาที่แท้จริงของที่ดินพิพาท ราคาประเมินจึงมิใช่ทุนทรัพย์ที่แท้จริงในคดี เว้นแต่คู่ความจะรับรองและให้ใช้ราคาประเมินดังกล่าวเป็นทุนทรัพย์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเนื้อที่ 2 ตารางวาเศษ ราคา 100,000 บาท ซึ่งโจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ โดยเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ดังกล่าว และในชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นก็เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 100,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินว่ามีราคาเพียง 24,800 บาท แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่าคดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2562เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมมิใช่ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยตรง ส่วนการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้นเพราะจัดการไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น แตกต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งจะมีความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์จะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของจำเลย หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรไปนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่จะต้องนำไปคิดคำนวณกำไรขาดทุนในระหว่างผู้ที่ยังคงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปตามสัญญาหุ้นส่วน โจทก์จะนำหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2562แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก่อน โดยต้องให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2562จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานไม่ได้ยึดอาวุธปืนและรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักอาวุธปืนโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ และจำเลยฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1)....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติแต่เพียงว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่าเจ้าพนักงานยึดของกลางได้หรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในฟ้อง เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย ทั้งคดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 และถูกคุมขังมาโดยตลอดจึงต้องหักวันต้องขังให้แก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับคำขอให้นับโทษต่อไม่ชัดแจ้ง และจำเลยต้องโทษหลายคดี หากบังคับนับโทษต่อจากคดีที่จำเลยต้องโทษเป็นคดีสุดท้าย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย อาจทำให้การบังคับโทษจำคุกไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 และมาตรา 98 เมื่อกรณียังมีข้อสงสัยต้องยกคำขอให้นับโทษต่อนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าต้องนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีใด อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงวิธีการนับโทษต่อให้ศาลทราบดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2560 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น มานั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2562โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติตามข้อยกเว้นให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังกล่าวมิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 กล่าวคือ โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยระบุเพียงว่าขอศาลได้โปรดอนุญาตให้อุทธรณ์ โดยโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจะขอให้ผู้พิพากษาคนใดเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ คำร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2562จำเลยให้การว่า ภายหลังจำเลยได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำนวน 3,400,000 บาท จำเลยได้นำเงิน 2,000,000 บาท ที่ได้รับจากโจทก์ไปวางมัดจำแก่ ส. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ขายให้แก่จำเลย ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่ได้รับเงินมัดจำตามเช็คจำนวน 3,000,000 บาท จึงอยู่นอกเหนือประเด็นข้อพิพาท การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงที่ตนนำสืบนอกเหนือจากที่ให้การไว้เป็นเหตุผลในฎีกาของจำเลยเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้จำเลยชนะคดี ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2562ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2562แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด แต่เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ไม่เคยเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบกันไว้ แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะปรากฏตามสำเนาบันทึกจับกุมเอกสารท้ายคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 1 ก็ตาม เมื่อโจทก์และจำเลยไม่เคยนำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้ในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2562การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่ 2 การที่รถจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2562ในชั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาของโจทก์ มิได้กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาแม้ศาลชั้นต้นระบุในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งทนายโจทก์มาศาลว่า ...หมายแจ้งจำเลยทั้งสองแก้ฎีกา ให้โจทก์นำส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ในการนำส่งหรือวางค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการส่งหมายนัดแจ้งจำเลยทั้งสองให้แก้ฎีกาว่าให้โจทก์ดำเนินการภายในเวลาเท่าใด ซึ่งหากโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติก็จะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจำหน่ายฎีกาของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 การที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ทนายโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่เคยโทรศัพท์แจ้งให้มาดำเนินการส่งหมายแล้ว แต่โจทก์หรือทนายโจทก์ไม่ได้มาดำเนินการนั้น ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในการติดต่อโทรศัพท์ว่าทนายโจทก์แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศาลว่าอย่างไร เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล เนื่องจากในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำบังคับ โจทก์ก็เพียงแต่วางค่าธรรมเนียมในการส่งเท่านั้น ทนายโจทก์อาจเข้าใจว่าได้วางค่าธรรมเนียมในการส่งไว้ตั้งแต่วันยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้ว จึงไม่ดำเนินการนำเจ้าหน้าที่ไปส่งหมายนัดให้แก่จำเลยทั้งสองและไม่วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นอีก ตามพฤติการณ์จะถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีอันเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) หาได้ไม่ จึงยังไม่สมควรจำหน่ายฎีกาของโจทก์ด้วยเหตุทิ้งฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 91/2562ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2562แม้คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. จะระบุว่า จำเลยพูดขอร้อง จ. ว่าจำเลยจะทำอย่างไรดีช่วยจำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วจำเลยก็น่าจะพูดในทำนองขอร้องให้ จ. ไปทำร้ายผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่พูดทำนองให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองเมื่อใดก็ได้ ถ้อยคำที่ จ. เล่าให้พนักงานสอบสวนฟังและพนักงานสอบสวนบันทึกลงในคำให้การดังกล่าว พอแปลได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสอง ไม่ใช่เป็นการปรับทุกข์หรือปรึกษาหารือระหว่างจำเลยกับ จ. ในฐานะคนคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดจาในลักษณะหว่านล้อม โน้มน้าวขอร้องโดยมีความประสงค์ที่จะให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสอง อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ไปในลักษณะต่อเนื่องคราวเดียวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของ จ. ว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองเพื่อประสงค์ต่อผลในการฆ่าผู้ตายทั้งสองและประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปเพื่อเป็นค่าดำเนินการด้วย ตามที่จำเลยแจ้งต่อ จ. ว่าจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน และผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถชิงไปได้ มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 และชิงทรัพย์ไป แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 2 แล้วชิงทรัพย์ ขึ้นภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดจึงเป็นอันเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2562การที่จำเลยวางเงินโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายต่อศาล ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย เพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้นำเรื่องการวางเงินของจำเลยดังกล่าวมาเป็นเหตุบรรเทาโทษให้แก่จำเลย ทั้งการวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปนั้น ก็เป็นการแสดงเจตนาอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินออกไปหากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น การที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวไปทันทีหลังจากที่จำเลยนำมาวางเพราะผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าอยู่ มิได้หมายความว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะรับเงินดังกล่าว ส่วนการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า พฤติการณ์ของผู้เสียหายเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 30 และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 ก็เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษาในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญา หาได้เกี่ยวกับการวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายและชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนความรับผิดในทางละเมิดไม่ ผู้เสียหายจึงมีสิทธิรับเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2562เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้จำเลยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2562องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 เมื่อไม่ปรากฏว่า นับตั้งแต่ผู้เสียหายเข้ามาทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนถึงวันที่ ผู้เสียหายหลบหนีออกมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอันใดเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทำงานหนักและไม่จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เสียหายเท่านั้น ควบคุมให้ทำงานต่อเนื่อง ส่วนการที่จำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักซึ่งเป็นบ้านพักของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ด้วย ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้เสียหาย และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 พูดห้ามผู้เสียหายมิให้ออกไปนอกโรงงานและบ้านพัก หากออกไปจะตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย ก็มิได้พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ และผู้เสียหายไม่เคยเห็นคนงานคนใดถูกลงโทษ กรณีไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2562แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเพิกถอนนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่โจทก์ระบุคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ว่า หากจำเลยทั้งสิบเพิกเฉยให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000,000,000 บาท และค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000,000 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดตามคำบังคับ ดังนั้นในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 2,000,000,000 บาท เป็นการกำหนดจำนวนค่าเสียหายแล้ว จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนค่าเสียหาย 2,000,000,000 บาท มิใช่ค่าเสียหายอนาคตที่กำหนดให้ชำระเป็นระยะเวลาในอนาคต คดีโจทก์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2562การยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่จะพึงเรียกจากผู้กระทำละเมิดต่อผู้ตาย เมื่อ ศ. ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยมีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ และพ้นจากภาวะผู้เยาว์แล้วมิได้ยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นมารดายื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะแทนตน โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวแทน ศ.