Pages

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563 jQuery Live Search Custom Search Filter With jQuery

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8991/2563 แม้ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีสำหรับกรณีถอนการบังคับคดี ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี” ก็ตาม แต่ ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี” คดีนี้เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายจำเลยและผู้ร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง วันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ทั้งสองจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาท รวม 3 แปลง ซึ่งมีชื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามข้อตกลงในข้อ 1 โดยโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีดังกล่าวถึงที่สุด ทั้งเมื่อผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือการบังคับคดีโดยอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพัน ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม โจทก์ทั้งสองย่อมเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ การบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่จำเป็น หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริตของโจทก์ทั้งสอง หรือต้องดำเนินการไปเพราะความผิดหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามและมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดีดังกล่าว กรณีก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดแล้วไม่มีการขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8901/2563 สัญญาเช่าพิพาท มีจำเลยผู้ให้เช่าทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 ผู้เช่า โจทก์ที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าช่วงจากโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 เช่าช่วงจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 จึงมิใช่ผู้เช่าโดยตรงกับจำเลย ซึ่งระหว่างโจทก์ที่ 3 ผู้เช่าช่วงกับจำเลยผู้ให้เช่าเดิมนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้เช่าช่วงถือเอาสิทธิใด ๆ กับจำเลยผู้ให้เช่าเดิมได้ กฎหมายคงบัญญัติเฉพาะให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าสัญญามีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่อาจบังคับเอากับบุคคลภายนอกสัญญาได้ กรณีจึงไม่อาจตีความขยายความบทบัญญัติซึ่งเป็นข้อยกเว้นในทางกลับกันให้ผู้เช่าช่วงเรียกร้องสิทธิและหน้าที่เอาจากผู้ให้เช่าเดิมได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะพึงมีต่อกันในอันที่จะให้อำนาจแก่ผู้เช่าช่วงฟ้องบังคับเอากับผู้ให้เช่าเดิมเพื่อรับผิดต่อผู้เช่าช่วงโดยตรงได้ แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าพิพาท ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าได้รับความเสียหาย และหากฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การเช่าช่วงของโจทก์ที่ 3 เป็นไปโดยชอบ แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลย โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8884/2563 คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องจะระบุว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน” อันทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ขัดกับคำฟ้องก็ตาม แต่การค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วยหาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียวและเป็นเรื่องที่คู่ความสามารถนำสืบข้อเท็จจริงได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องขัดกันอันจะทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจเข้าใจข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วแม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพทำให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทให้โจทก์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้นั้น จำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินว่า “เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้ากู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คธนาคาร ก. ให้ท่านถือไว้เป็นประกัน” เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงพฤติการณ์หรือข้อตกลงที่ทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แตกต่างจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินอย่างไร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยมีเจตนามุ่งหมายให้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ส่วนข้อความในแบบพิมพ์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายและใช้กันอยู่ทั่วไป โจทก์สามารถอ่านเข้าใจได้โดยง่าย หากไม่ตรงตามเจตนาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ โจทก์สามารถตกเติมแก้ไขได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำการดังกล่าว ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2563 ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาใช้แทน 400,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2563 จำเลยรับซื้อทองคำของโจทก์โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แม้จะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เมื่อทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ และแม้ห้างขายทองของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยมิได้ซื้อทองจากร้านค้า เพราะซื้อจาก ว. ที่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าซื้อทองคำในท้องตลาด จำเลยต้องคืนทองคำแก่โจทก์วัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ได้แก่ทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการคืนทองคำเป็นการพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ใช้ราคาตามราคาขายโดยเฉลี่ยของสมาคมค้าทองคำในวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในขณะที่โจทก์ร้องขอให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 อันได้แก่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8756/2563 การที่จำเลยพยายามสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ยังคงอยู่ในความหมายของคำว่า “กระทำชำเรา” ตาม ป.อ. มาตรา 1 (18) ที่บัญญัติขึ้นใหม่ ซึ่งเพียงแต่บัญญัติให้การกระทำชำเราไม่ครอบคลุมไปถึงการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วยเท่านั้น การกระทำของจำเลยย่อมมิใช่เป็นเพียงความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ที่ต้องเป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น จำเลยจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จาก ป.อ. มาตรา 1 (18)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8699/2563 จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเล่นอยู่กับเพื่อนให้ไปพบจำเลยที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์และห้องน้ำชาย แสดงว่าจำเลยเป็นผู้เลือกที่จะกระทำกับผู้เสียหายและเลือกสถานที่กระทำความผิด ที่ล้วนแต่เป็นที่ลับตาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายที่ห้องน้ำชายแล้ว จำเลยยังบอกผู้เสียหายว่า จำเลยจะออกจากห้องน้ำไปก่อนให้ผู้เสียหายนับ 1 ถึง 200 แล้วจึงออกจากห้องน้ำ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน รู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงหาทางกลบเกลื่อนและหลบซ่อนจากการรู้เห็นของผู้อื่น อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ที่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.อ. มาตรา 65

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659/2563 ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงฐานเดียวกับที่กระทำมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง โดยเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567/2563 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้าและการใช้ประโยชน์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่น ระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดอัตราศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าพิกัด 8307.10 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่ามีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า สินค้าพิพาทจัดเข้าประเภทพิกัด 7326.209 นั้น เห็นว่า ความเห็นแย้งดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีตามราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นจำนวนเงินค่าอากรเท่าใด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ และใน ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร ก็ต้องปรับจำนวนฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามราคาสินค้าบวกค่าอากรขาเข้าที่ถูกต้องตามผลคดีที่โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าเพื่อให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563 จำเลยที่ 1 กรรมการคนหนึ่งของบริษัท ช. ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่ง เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัท ช. ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563 การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8475/2563 การที่ ศ. ยินยอมให้ ร. ลงลายมือชื่อของ ศ. ในใบเสร็จรับเงินโดยไม่ได้กรอกข้อความอื่นแล้วมอบให้จำเลย แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้กรอกข้อความในใบเสร็จรับเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อข้อความที่กรอกนั้นตรงกับความเป็นจริง ทั้งข้อความนั้นเป็นประโยชน์แก่ ศ. ผู้มีอำนาจทำเอกสาร จึงไม่เกิดความเสียหายแก่เจ้าของเอกสารหรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยนำใบเสร็จรับเงินไปใช้แสดงต่อที่ประชุมสมาคมโจทก์ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2563 การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นการที่ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของบริษัท ส่วนการทำบันทึกข้อตกลงที่ พ. และโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อตกลงกันว่า ตามที่ฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ทั้งสองฝ่ายสามารถระงับข้อพิพาทกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อตกลงซื้อหุ้นของ พ. และโจทก์ผู้ขายทั้งสองซึ่งมีอยู่ในบริษัทรวม 5,333 หุ้น มูลค่าหุ้นเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระค่าหุ้นภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 เมื่อมีการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว พ. และโจทก์จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของบริษัท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา กรณีเช่นนี้เป็นข้อตกลงของผู้ถือหุ้น โดย พ. และโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นจากฝ่ายตน เมื่อ พ. และโจทก์ขายหุ้นในบริษัทแล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิบริหารบริษัทแต่ผู้เดียว เป็นทำนองให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทซึ่งมีความขัดแย้งด้านการบริหารขายหุ้นและออกไปจากบริษัท ซึ่งหากมีการซื้อขายหุ้นตามที่ตกลงกันแล้ว พ. และโจทก์ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทอีก จึงเป็นข้อตกลงที่ผูกพันกันด้วยฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นการระงับสิทธิเรียกร้องในการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น จึงหาได้มีผลเป็นการตกลงสละการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าหุ้นตามข้อตกลง โจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท นำสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของบริษัทไปซื้อหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้บริษัทถือหุ้นของตนเอง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่บริษัทไม่ยอมฟ้องคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีแทนบริษัทเพื่อเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 อันเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2563 ในคดีอาญาเมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยได้ จึงไม่จำต้องสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8351/2563 จำเลยทั้งสองและ ศ. ร่วมกันโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันโดยเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการจำหน่ายยาเสพติดในครั้งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อร่วมกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลา มิได้กระทำต่อเนื่องกัน จึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8337/2563 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดห้องชุดเลขที่ 1095/161 ของจำเลยที่ 3 และที่ดิน 4 แปลงในจังหวัดภูเก็ต ของจำเลยที่ 1 ไว้ แต่ระหว่างที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีสำหรับห้องชุดของจำเลยที่ 3 และที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหลักประกันที่โจทก์ได้นำยึดไว้ โดยขอให้ถอนการยึดที่ดิน 4 แปลง และจำเลยที่ 1 ยินยอมทำหนังสือค้ำประกันในคดีแพ่ง โดยนำห้องชุดเลขที่ 252/252 และเลขที่ 252/11 รวม 2 ห้อง มาวางเป็นหลักประกันแทนโดยมีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 แพ้คดี และไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินที่นำมาวางไว้เป็นหลักประกันต่อศาลทันที ต่อมาศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งอายัดกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อให้ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนห้องชุดทั้งสองห้อง จึงถือได้ว่า ห้องชุดเลขที่ 252/252 และเลขที่ 252/11 รวม 2 ห้อง ของจำเลยที่ 1 เป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 วางต่อศาลสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลงดการบังคับคดี หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง โจทก์จะต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ และได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามแผนฟื้นฟูกิจการจนครบถ้วน เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงส่งผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ อันรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อันรวมถึงทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาวางเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้อีก จึงต้องคืนหลักประกันที่วางประกันให้แก่จำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8336/2563 เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเนื่องจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) การที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้อย่างไรจึงต้องเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย และมิได้ทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ประกันแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลอดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8334/2563 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ฉบับแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนฉบับที่สอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี โดยมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีเนื่องจากผู้ร้องทิ้งคำร้อง คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งยกคำร้องเพราะฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์เดิมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำร้องของผู้ร้องฉบับที่สามอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า แม้คดีนี้จะยังไม่มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สามนี้ จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิในฐานะผู้รับจำนอง ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สามนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สามจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างจากคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สามของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่งการที่โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์เดิมหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าวแต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ทั้งนี้โจทก์เดิมจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ประกอบกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2563 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุว่า จำเลยและ ส. ตัวแทนบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาศาล ส. แถลงว่าจำเลยกับญาติผู้ตายทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความค่าเสียหายส่วนแพ่งที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา โดยบริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ห. ภริยาของ ว. ผู้ตาย จำนวน 600,000 บาท และจ่ายให้แก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งว่า ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนนั้น จำเลยและบริษัทผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้ว ชั้นสืบพยานในส่วนแพ่งในศาลชั้นต้น จำเลยได้นำบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มาประกอบการถามค้านผู้ร้องทั้งสอง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกการเจรจาตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ในคำให้การส่วนแพ่งแล้ว มิใช่จะให้การเฉพาะค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกการเจรจาตกลงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้วเมื่อพิจารณาตามบันทึกการเจรจาตกลงเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในการทำละเมิดเป็นเหตุให้ อ. ผู้ตายถึงแก่ความตายกับยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท โดยผู้ร้องที่ 2 ระบุว่า ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีใดและเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ เพิ่มเติมกับจำเลยอีกต่อไป เมื่อบันทึกฉบับนี้มีข้อความว่าผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 450,000 บาท จากตัวแทนของจำเลย ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ อีกด้วย และวรรคสาม ถ้าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในเอกสารหมาย ล.1 จึงรวมกับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตลอดจนค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของ อ. ผู้ตายแล้ว เมื่อผู้ร้องที่ 2 ยินยอมรับเงินตามบันทึกการเจรจาและไม่ประสงค์ฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยอีก ทำให้สิทธิเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามลักษณะประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5300/2563 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้เงินธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 36 งวด เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมด สิทธิเรียกร้องจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป และจะครบกำหนดห้าปีในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้เดียวกันกับคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ภายในกำหนดอายุความห้าปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเข้ามาใหม่ภายในอายุความ และไม่มีคู่ความยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกากับฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคท้าย อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ประกอบ มาตรา 49 วรรคสอง เมื่อคดีถึงที่สุดในวันดังกล่าวอันเป็นวันหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 จึงเป็นการฟ้องเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีก่อนถึงที่สุด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5232/2563 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้ร้องมีคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งอยู่ในบังคับตามกฎหมายดังกล่าว แล้วต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ อันอาจทำให้ต้องแยกอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ส่วนเรื่องตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกานั้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งยังเปิดโอกาสให้คู่พิพาทฝ่ายที่ต้องการประวิงคดีใช้เป็นช่องทางนี้ได้ คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวจึงถือเป็นคำสั่งของศาลตามพระราชบัญญัตินี้อันต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้วส่วนคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เมื่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 วรรคสอง (1) กำหนดให้ผู้ร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดต้องมีต้นฉบับคำชี้ขาดหรือสำเนาที่รับรองถูกต้องมาแสดงต่อศาล แต่มิได้กำหนดให้ต้องมีการรับรองสำเนาถูกต้องจากสถานทูตในประเทศที่มีการทำคำชี้ขาด กระทรวงการต่างประเทศของไทย หรือโนตารีปับลิกที่ผู้คัดค้านอ้างแต่อย่างใด ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องไม่มีสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่มีการรับรองสำเนาถูกต้องจากสถานทูตของ สหราชอาณาจักร หรือกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร หรือกระทรวงการต่างประเทศของไทย รวมทั้งโนตารีปับลิกมาแสดงต่อศาล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2563 คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนกระทำการไม่สุจริต สมคบกับผู้เสียหายที่ 1 บิดเบือน ปรุงแต่งข้อเท็จจริงทำให้คำให้การของผู้เสียหายทั้งสองสอดคล้องกัน ปรักปรำใส่ร้ายจำเลยโดยมีมูลเหตุจูงใจและผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องตามคำรับสารภาพ จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5155/2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย โดยเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเรียงโดยนักโทษซึ่งไม่มีอำนาจเรียงคำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลย โดยเห็นว่าฎีกาของจำเลยเป็นการคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 เช่นนี้ หากจำเลยประสงค์จะให้ศาลรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่จำเลยกลับยื่นฎีกาฉบับที่ 2 และที่ 3 ที่มีเนื้อหาเช่นเดียวกับฎีกาฉบับแรกซ้ำมาอีก ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองฉบับนี้ โดยเห็นว่าไม่ปรากฏว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ อย่างไร แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นฎีกาฉบับที่ 4 ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมา แต่ฎีกาของจำเลยนี้ก็มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับฎีกาของจำเลยฉบับแรก เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดของผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฯ เท่านั้น การยื่นฎีกาของจำเลยครั้งหลังนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับประเด็นที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในฎีกาฉบับแรกแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5148/2563 การที่จะเริ่มนับวันที่จำเลยถูกคุมขังเพื่อหักวันที่ถูกคุมขังให้จำเลยนั้น จะนำวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอื่นมาหักจากโทษจำคุกในคดีนี้ไม่ได้ เมื่อจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยในวันดังกล่าว จึงต้องเริ่มนับวันที่จำเลยถูกคุมขังนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในคดีนี้ คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จำเลยจึงถูกคุมขังมาเพียง 1 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2563 ในการพื้นฟูกิจการนั้น จำนวนหนี้และวิธีการชำระหนี้ เป็นสาระสำคัญที่ผู้ทำแผนต้องระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น และผู้บริหารแผน ย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ หากแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร กรณีจึงต้องปฏิบัติตามวิธีการชำระหนี้ที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. การที่ผู้บริหารแผนออกประกาศกำหนดวิธีการชำระหนี้ในภายหลัง ด้วยวิธีการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน และไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. โดยที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ยินยอม จึงเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้แม้หนี้ที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำขอรับชำระหนี้ศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องทั้งสองจะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ก็จะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังจำเลยแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี และกรณีนี้มาตรา 221 ไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2563 ตามคำขอใช้สิทธิ์และเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาลมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่นำเงินที่ได้รับไปส่งคืนให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่โจทก์แจ้งเท่านั้น มิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด แต่อย่างใด การตกลงในเรื่องดอกเบี้ยไว้เช่นนี้ แม้จะชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลจึงมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงได้เป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันแล้ว การกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นนั้น ถือว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วน ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการที่จำเลยเข้าไปทำสัญญาเช่าซื้อและขอรับเงินคืนจากโจทก์นั้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น ที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ให้สามารถขายรถยนต์ได้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงยานพาหนะซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อนละ 10 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องมานั้น นับว่าเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีและชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5038/2563 ผู้เสียหายที่ 1 ต้องใช้คู่ฉบับใบสัญญาจองรถยนต์ ฉบับสีชมพูที่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นหลักฐานในการรับมอบเงินมัดจำจากจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ในการเรียกให้จำเลยมอบเงินมัดจำ จึงเป็นเอกสารสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4983/2563 แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านของจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ชักชวน แต่ขณะอยู่กับจำเลยที่ร้านก็ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 บิดาตลอดเวลา การที่จำเลยรู้เห็นยินยอมให้ลูกค้าใช้ร้านจำเลยเป็นสถานที่ติดต่อพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ออกจากร้านไปทำการค้าประเวณีเพื่อสำเร็จความใคร่ที่อื่น โดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบจากค่าสุราอาหารที่ลูกค้าต้องสั่งเพิ่มพิเศษและลูกค้าต้องชำระค่าเสียเวลาให้แก่จำเลย ถือว่าจำเลยกระทำการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จำเลยจึงมีความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็ก ก็ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ครบถ้วนแล้ว เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 (เดิม) การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบก็คือการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2563 ตามคำขอใช้สิทธิและเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกที่กำหนดว่า กรณีผู้ขอใช้สิทธิมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสละสิทธิการโอนรถยนต์ใหม่คันแรกภายใน 5 ปี ให้ครบถ้วนจะต้องนำเงินที่ได้รับไปส่งคืน โดยยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจปรับลดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2563 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การเสียค่าภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้” มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสําหรับของที่นําเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นําของเข้าสําเร็จ” วรรคสอง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 87 และมาตรา 88 การคํานวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น...” และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติเรื่องการตีความพิกัดศุลกากรว่า “การตีความให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ ประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ซึ่งทำเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2493 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515” เห็นว่า สินค้าพิพาทประกอบด้วยเส้นลวดกลมพันเป็นเกลียว มีชั้นพลาสติกคลุมด้านนอก และมีท่อพลาสติกด้านในตรงตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ตอนที่ 83.07 ดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 เคยพิจารณาว่าท่อชิ้นนอก (ลวดเหล็กม้วนวนเป็นเกลียว) หรือ Outer Spring นำมาผลิตเป็นสายคลัตซ์รถยนต์ จัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 ซึ่งโจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า Outer Spring มีโครงสร้างคล้ายกับ Outer Shield หรือสินค้าพิพาท แต่ชั้นที่ 2 ชั้นกลางจะเป็นลวดเหล็กทับแบนม้วนวนเป็นเกลียวและ Outer Spring จะทำแรงดึงและดันได้น้อยกว่า Outer Shield หรือสินค้าพิพาทที่มีเส้นลวดเหล็กทรงกลมหลายเส้นพันรอบหลอดที่เป็นพลาสติก ดังนั้น ลักษณะของสินค้าที่พิพาทกันเรื่องอากรขาเข้าคดีนี้ จึงตรงกับลักษณะลวดที่ขดเป็นเกลียวแน่น และมีลักษณะการใช้งานไม่ต่างกับสินค้าที่จำเลยที่ 1 เคยวินิจฉัยว่าจัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 นอกจากนี้ศุลกากรของประเทศอื่นซึ่งใช้กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์เช่นเดียวกับประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหราชอาณาจักรเคยวินิจฉัยสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าพิพาทว่าเป็นประเภทพิกัด 8307.10.00 ประกอบกับเมื่อสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า “ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้างๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ...” เห็นว่า สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า “ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าสินค้าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ...” เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีคือราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร เป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า “ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร ...” ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กรณีนี้จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอีก ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามการประเมินได้รวมอากรขาเข้าที่ไม่ถูกต้องและโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าแล้วศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2563 ปัญหามีว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ มีเหตุเพิกถอนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้วันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และหนังสือ “4WHEELS” เป็นนิตยสารฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือดังกล่าวทั้งสี่แผ่นที่มีลักษณะเน้นไปในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกล่าวอ้างถึงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์ในทำนองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โจทก์คิดค้นพัฒนาขึ้น มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต่าง ๆ และคุ้มค่า โดยแจ้งชื่อบริษัท พร้อมที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์และโทรสารของโจทก์ไว้ตอนท้ายสุดของบทความกรณีหากผู้อ่านหนังสือนิตยสารดังกล่าวสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อสอบถาม ทั้งยังได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ยินยอมให้มีการเผยแพร่ภาพบทความดังกล่าว ดังนี้ ย่อมเห็นว่าในขณะเผยแพร่หนังสือนิตยสารดังกล่าว อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังในหนังสือดังกล่าว หรือการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ ยังมิได้มีแพร่หลายในราชอาณาจักร เพราะมิเช่นนั้นแล้วโจทก์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์การติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของตนในหนังสือนิตยสารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งตามข้อความที่เผยแพร่ก็ใช้คำว่า “เป็นนวัตกรรมใหม่” อันมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกไปจากเดิม ย่อมเข้าใจได้ว่าในขณะที่หนังสือนิตยสารดังกล่าวออกเผยแพร่นั้น ไม่มีการประดิษฐ์เช่นนี้มาก่อน อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประกอบกับภาพและข้อความที่เผยแพร่ตามหนังสือก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิบัตรดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น หนังสือดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานที่จะทำให้รับฟังได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ มีแพร่หลายในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง (1) ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตีความคำว่า “แบบผลิตภัณฑ์” ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 หรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติให้นิยามศัพท์คำว่า “แบบผลิตภัณฑ์” หมายความว่า “รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้” แม้บทกฎหมายดังกล่าวไม่ระบุถึงความสวยงามไว้โดยตรง แต่จากนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์ หากแบบผลิตภัณฑ์ใดมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการใช้งานเท่านั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากรูปลักษณะที่ปรากฏภายนอกมีความสวยงามหรือดึงดูดใจแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในส่วนนี้จึงไม่ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมแต่กลับมุ่งเน้นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในการประกอบธุรกิจให้บริการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี โจทก์ออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีขึ้น โดยการออกแบบได้กำหนดจุดติดตั้งถังบรรจุก๊าซไว้ที่ด้านล่างกระบะหรือใต้ท้องรถกระบะ แทนการติดตั้งแบบเดิมทั่วไปที่ติดตั้งบนลูกกระบะ และสามารถทำให้ติดตั้งถังบรรจุก๊าซได้ถึง 3 ถัง ด้วยการใช้โครงสร้างอุปกรณ์รองรับถังก๊าซที่เป็นเหล็กแผ่นเรียบปั๊มขึ้นรูปซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสวยงาม และยึดติดอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากับโครงรถยนต์โดยไม่ต้องเชื่อมหรือเจาะรู แล้วโจทก์จึงนำงานนวัตกรรมดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยในส่วนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า ในขณะที่โจทก์คิดได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์นั้น ไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดทั้งในและต่างประเทศใช้แบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยในชั้นตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบกับทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้วก็ไม่พบงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดความใหม่ แต่ในชั้นพิจารณาทางนำสืบของฝ่ายจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์มาแสดง คงมีเพียงเอกสารทางวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ และภาพถ่ายรถประเภทต่าง ๆ ติดถังก๊าซ แต่เอกสารและภาพเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏหรือแสดงให้เห็นภาพหรือรูปลักษณะของอุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพถ่ายบางภาพยังเป็นการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับรถประเภทอื่น เช่น รถบรรทุกและรถตู้ ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ใช้ติดตั้งกับรถกระบะ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนอันจะทำให้เห็นได้ว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร คงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์เพียงว่าการติดตั้งถังบรรจุก๊าซที่ใช้กันทั่วไปแบบเดิมนั้นจะเป็นการติดตั้งไว้บนตัวกระบะรถซึ่งแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ติดตั้งอยู่ใต้กระบะรถ นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ด้วยว่าในการออกแบบอุปกรณ์ยึดจับหรือจับยึดถังบรรจุก๊าซตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับ โจทก์ออกแบบให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งในข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากดังกล่าวหรือนำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับหนังสือ “4WHEELS” ในแผ่นที่ 3 มีบทความภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมความปลอดภัย OEM” ระบุว่า การติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจีของโจทก์ใช้มาตรฐาน OEM ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มาตรฐานเดียวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมั่นใจได้ในความสวยงาม การออกแบบดังกล่าวจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว ดังนี้จึงไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้การออกสิทธิบัตรทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2563 กิจการของจำเลยและงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบก การจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วยเหตุที่งานขนส่งทางบกมีสภาพการจ้างและลักษณะการทำงานแตกต่างกับการจ้างแรงงานทั่วไป งานขนส่งทางบกเป็นงานที่ต้องให้เกิดความปลอดภัยไม่เฉพาะแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 กำหนดว่า “ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง” และข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลาเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง” และวรรคสอง กำหนดว่า “ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร” อันเป็นการกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง โดยจะทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองตกลงกำหนดเวลาทำงานกันวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยทำงานล่วงเวลาวันหนึ่งเกินกว่า 2 ชั่วโมง อันเป็นการทำงานล่วงเวลาเกินกำหนดเวลาทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งสี่สิบสองย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ที่กำหนดว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว” ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามข้อ 6 ดังกล่าว คงกำหนดไว้เฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามระยะเวลา มิได้มีการกำหนดถึงการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามผลงานแต่ละหน่วยที่ลูกจ้างทำได้ แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้รับค่าจ้างจากการขับขี่ยานพาหนะตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้เช่นเดียวกับหลักการที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เช่นเดียวกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันและเวลาทำงานปกติ โจทก์ทั้งสี่สิบสองได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้คือเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารทั้งเดือน และกรณีที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์ทั้งสี่สิบสองก็จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานสำหรับการทำงานดังกล่าวเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารเช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2563 ป.พ.พ. มาตรา 28 ได้ระบุตัวบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถไว้ แม้ผู้คัดค้านมิใช่ผู้สืบสันดานของ ป. เพราะมิใช่หลานที่สืบสายโลหิตโดยตรง แต่พฤติการณ์ที่ ป. ไม่มีบุตรได้เลี้ยงดูผู้คัดค้านมาตั้งแต่เด็กจนโต ฝากงานให้ทำหลังผู้คัดค้านสำเร็จการศึกษา และให้ช่วยดูแลสามีของ ป. จนถึงแก่ความตาย แสดงถึงความรักความผูกพันสนิทสนมกัน ป. มอบเงินที่ได้จากการขายที่ดินยี่สิบล้านบาทให้ผู้คัดค้านเก็บรักษา ดูแลจัดสรรค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นค่ารักษาพยาบาล ป. โดยผู้คัดค้านได้ย้าย ป. ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ดีมีความพร้อม และมอบหมายให้น้องสาวมาดูแลปรนนิบัติ ป. ที่โรงพยาบาลโดยจ่ายเงินค่าจ้าง และให้น้องชายไปดูแลบ้านของ ป. ขณะที่ ป. อยู่โรงพยาบาล พฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นหลานสาวที่ใกล้ชิดสนิทสนม ได้รับความไว้วางใจจาก ป. ให้เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแล ป. ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซึ่งปกครองดูแล ป. จึงเป็นบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 ที่มีสิทธิยื่นคำร้องให้ ป. เป็นคนไร้ความสามารถ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2563 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของโจทก์ และให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองคนละ 15,000 บาท ต่อเดือน โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าผู้เยาว์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของโจทก์และมิได้คัดค้านจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงมีแต่จำเลยเพียงฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นอีก ตามจำนวนเงินที่เรียกร้องมาในฟ้องแย้ง ดังนั้นปัญหาว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของโจทก์หรือไม่จึงยุติไป คงมีประเด็นวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์เพียงว่า สมควรที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่เท่านั้น คดีไม่มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธว่าผู้เยาว์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของโจทก์ เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ไม่สมควรจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู มิได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าผู้เยาว์ทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4394/2563 จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลหลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมว่า ได้รับจ้างจากจำเลยที่ 2 ให้มาส่งเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจจึงสืบสวนขยายผลจนจับกุมจำเลยที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 2 ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า จะมีคนที่เรียกว่าเฮียส่งลูกน้อง 2 ถึง 3 คน มารับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางตามที่นัดหมายได้ ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 จะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้เฮีย ม. เท่านั้น โดยไม่ได้สืบสวนว่าเฮีย ม. เป็นผู้ใด สถานที่ที่จำเลยที่ 1 จะส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นสถานที่ใด และเมื่อจำเลยที่ 2 รับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 แล้วจะนำไปส่งมอบให้ผู้ใด ณ สถานที่ใด ดังนี้ ข้อมูลที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจจึงเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถพบหรือตรวจสอบถึงผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติหรือจากของกลางที่ยึดได้ เมื่อการจับกุมจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อตำรวจ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4315/2563 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดบทลงโทษปรับไว้ในข้อ 5 วรรคเก้า ในความผิดฐานเจ้าของเรือไม่นำเรือที่ใช้ทำการประมงมาให้คณะทำงานตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือภายในกำหนดเวลาและสถานที่ที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดไว้ โดยกำหนดโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเรือที่มีขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มตามขนาดของเรือตันกรอสละสองพันบาท การลงโทษปรับตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการปรับโดยคำนวณไปตามขนาดของเรือ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เรือที่ใช้ทำการประมงของจำเลยมีขนาดของเรือ 74.79 ตันกรอส ดังนั้น ขนาดของเรือ 0.79 ตันกรอส ในส่วนที่เกิน 74 ตันกรอส เป็นส่วนหนึ่งของขนาดเรือ จึงต้องนำมาคิดคำนวณค่าปรับดัวย มิใช่กรณีที่จะไม่นำมาคิดคำนวณเพราะขนาดของเรือในส่วน 0.79 ตันกรอส มีขนาดไม่ถึง 1 ตันกรอส ตามที่จำเลยอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4311/2563 ข้อเท็จจริงในคดีนี้กับคดีอาญาเลขแดงที่ 3337/2561 ของศาลชั้นต้นปรากฏว่า ธ. ขับรถกระบะเพื่อไปพาคนต่างด้าวชาวกัมพูชาซึ่งเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายที่ป่าอ้อยรวม 58 คน โดย ธ. ได้แจ้งให้ ม. ขับรถกระบะเพื่อไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าจำเลยใช้ให้ขับรถไปรับคนต่างด้าวจำนวนดังกล่าว ภายหลังบรรทุกคนต่างด้าวขึ้นรถกระบะทั้งสองคันแล้ว ธ. กับ ม. ก็ขับติดตามกันออกมาจากป่าอ้อยและแล่นไล่ตามกันไปจนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวพร้อมรถกระบะและคนต่างด้าวรวม 58 คน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ธ. กับ ม. มีเจตนาที่จะร่วมกันไปรับคนต่างด้าวทั้ง 58 คน ซึ่งรวมอยู่ที่ป่าอ้อย แม้มีการใช้รถกระบะไปรับคนต่างด้าวดังกล่าว 2 คัน โดย ธ. กับ ม. ขับรถกันคนละคันก็ตาม แต่ก็เนื่องมาจากรถกระบะเพียงคันเดียวไม่สามารถบรรทุกคนต่างด้าวได้หมด และคนต่างด้าวที่ไปรับก็รวมตัวกันอยู่ที่แห่งเดียวกัน ภายหลังจากรับคนต่างด้าวแล้วยังขับรถกระบะตามกันเพื่อพาคนต่างด้าวไปเพื่อให้พ้นการจับกุมโดยปลายทางเป็นที่แห่งเดียวกันอีก อันเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกันไป เช่นนี้แล้วจึงต้องถือว่า ธ. กับ ม. มีเจตนาร่วมกันเพื่อพาคนต่างด้าวทั้ง 58 คน ไปเพื่อให้พ้นจากจากการจับกุมตามเจตนาที่มีมาแต่แรก การกระทำของ ธ. กับ ม. จึงเป็นการกระทำอันเดียวกัน และมีเจตนาอย่างเดียวกัน เกิดขึ้นในคราวเดียวกันต่อเนื่องกันไป เป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยร่วมกับ ม. ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3337/2561 ของศาลชั้นต้น ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ไปแล้ว โดยศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย คดีถึงที่สุด การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยว่าร่วมกับ ธ. เป็นคดีนี้อีก ซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2563 การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า อาวุธปืนของกลางตรวจพบรอยขูดลบเครื่องหมายทะเบียน แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าเครื่องหมายทะเบียนเดิมเป็นเลขใดตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์แนบท้ายอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นการอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงมาตามฟ้องอันเป็นการขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้าง แล้วอาศัยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นการมิชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2563 ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปที่ป่าบุห้าร้อยบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วยและขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับไปที่หน่วยห้วยคำภู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปและอยู่ที่หน่วยดังกล่าวคนเดียวจนถึงวันเกิดเหตุ ทั้งที่ ม. เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปคันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในหน้าที่เดิมอย่างไม่ขาดตอน พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงในการทำงานกับจำเลยที่ 2 อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หาได้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ เพราะการว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวอันถือเป็นการจ้างแรงงานนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ คำเบิกความของ ม. ที่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่หน่วยห้วยคำภูเพื่อรอขนย้ายสิ่งของเท่านั้น จึงขัดต่อพฤติการณ์ที่ ม. สั่งให้จำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะคันเกิดเหตุไปยังบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวน กับสั่งให้ขับรถกระบะคันเกิดเหตุกลับไปที่หน่วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ตามคำสั่ง 96/2557 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน ม. จึงมีอำนาจใช้และมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบรถกระบะคันเกิดเหตุ การที่ ม. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวไปที่หน่วยห้วยคำภู และอยู่ประจำที่หน่วยดังกล่าวเพื่อรอรับ ม. กับเจ้าหน้าที่อื่นพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับ การขับรถกระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปเบิกถอนเงินแม้เป็นธุระส่วนตัว และบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเขตทำการที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปกลับเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 นายจ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2563 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 680 บัญญัติว่า “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น” ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์ โดยสัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้นที่ไปขอสินเชื่อจากโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 237 มิได้บัญญัติว่า การที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังจากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้แล้วแต่ประการใด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ผู้ค้ำประกันได้กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2563 การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2563 ค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย เป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่มาขอใช้บริการการยึดทรัพย์จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วแต่ต่อมาไม่มีการขายทรัพย์ที่ยึดนั้นโจทก์เป็นผู้ยื่นคำขอยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี พร้อมส่งโฉนดที่ดิน ภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้าง และเอกสารประกอบ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบแล้วเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวอ้างจึงทำการยึดให้แล้วประเมินราคาทรัพย์ที่ยึด แจ้งการยึดให้เจ้าพนักงานที่ดินและจำเลยทั้งสองทราบ ปิดประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องการยึดทรัพย์ ณ ที่ตั้งทรัพย์ การยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจึงมีค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเกิดขึ้นแล้ว เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์หลงผิดในส่วนภาพถ่ายของที่ดินที่นำยึด ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่ปรากฏสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขให้ถูกต้อง เท่ากับโจทก์ประสงค์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดสิ่งปลูกสร้างตามภาพถ่าย กรณีจึงเป็นการขอถอนการยึดทรัพย์ที่มีอยู่จริง จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5 หมายเลข 3 ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4154/2563 คดีความผิดต่อส่วนตัว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทำคำพิพากษาเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง ก่อนวันอ่านคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องว่าคู่ความตกลงกันได้ขอถอนฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทำคำสั่งเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง ก่อนอ่านคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอถอนฟ้อง และขอให้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แม้โจทก์ขอถอนคำร้องขอถอนฟ้องก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เมื่อไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนคำร้องขอถอนฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2563 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ศาลชั้นต้นยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีคำพิพากษายกฟ้อง มิได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ ขณะจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยทั้งสองจึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีมูล ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันนับแต่ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีหนี้อันสมบูรณ์ที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อยู่แล้วในขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยปรับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้แล้วว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2563 การยอมความในความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 39 (2) นั้น ต้องเป็นการยอมความที่กระทำภายหลังจากความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิดเกิด เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดนัด จำเลยตกลงส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายบังคับคดี ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น และไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้ เช่นนี้ การยอมความดังกล่าวข้างต้นจึงทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงยอมความในคดีส่วนอาญา สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งจึงไม่มีผลทำให้คดีอาญาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2563 จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้นำเงินไปลงทุนในโครงการจำหน่ายนมผง ซึ่งไม่มีอยู่จริง แล้วจำเลยทั้งสองโอนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม โดยอ้างว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เพื่อที่จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสามลงทุนต่อไป เงินที่โอนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำความผิดโดยเจตนาทุจริตหลอกให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อและวางใจเพื่อที่จะได้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองเพิ่มอีก มิใช่เป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำเงินที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าวมาขอหักกลบลบหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2563 เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 ส่วน ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยประกาศขายเครื่องกระสุนปืนให้ผู้สนใจทราบ แล้วจำเลยจัดส่งเครื่องกระสุนปืนให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อและได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง สมควรให้ริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองสำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2563 ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูล ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามทางไต่สวนไม่เป็นความผิด และพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 และมาตรา 215 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038/2563 จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุ จากนั้นใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงพาหนะที่ใช้พาไปยังที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2563 พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (1) บัญญัติบทลงโทษในความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบไว้ว่า “ให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง” ซึ่งคำว่า “อีกโสดหนึ่ง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง กระทงความส่วนหนึ่งโดยมิใช่บทบังคับให้ศาลต้องลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ จึงเท่ากับกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วย แต่ถ้าศาลเห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่จำต้องลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 สำหรับเงินสินบนนำจับนั้น ในกรณีที่มีคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 15 ศาลจะพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยด้วย เพราะจำนวนเงินค่าปรับจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับ จึงไม่อาจจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและไม่สั่งให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563 สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ” ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563 ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916/2563 แม้จะได้ความว่าก่อนตาย พ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ซึ่งเดิมเป็นที่ดิน น.ค. 3 เล่มที่ 17 เลขที่ 805 ที่ 18/2524 ให้แก่ บ. ก็ตาม แต่ขณะนั้นที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จึงยังเป็นที่ดินของรัฐ การทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยทางมรดก จึงขัดกับ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการที่ พ. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน พ. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งสิทธิดังกล่าวถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมของ พ. ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าหลังจาก พ. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ พ. ได้ตกลงให้ใส่ชื่อ บ. ในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และการที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของ บ. เป็นกรณีที่ทายาทของ พ. ให้ บ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยและบุตรของ พ. คนอื่นรวมอยู่ด้วย บ. เป็นแต่เพียงมีชื่อในโฉนดแทนบุตรคนอื่นเท่านั้น บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่ อ. อ. จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในที่ดินพิพาท สิทธิของโจทก์ผู้รับโอนต่อมาก็คงมีสิทธิในทำนองเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2563 จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่า เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิด แหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริง คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงินเพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อคดีนี้โจทก์มีพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาพยานเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติเกือบ 30 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใดจึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ ซ. พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400 ล้านบาทเศษ โดย ซ. ทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ซ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่าย ฐ. กับพวก เช่นกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้กับ ธ. เครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กรณียังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) เพราะการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563 จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบจำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3868/2563 ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ตามมาตรา 132 (1) ประกอบมาตรา 246 แต่มาตรา 132 ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดว่าศาลจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เพียงแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรและความยุติธรรม เมื่อปรากฏว่าขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ ได้เสียค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 200,000 บาท 37,482 บาท 95,162 บาท และ 35,162 บาท ชี้ให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเงินเพียง 500 บาท แล้ว ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความจึงเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 จะทิ้งอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่ากรณียังไม่สมควรจำหน่ายคดีของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความได้ว่ากล่าวกันในเนื้อหาแห่งคดีกันต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563 ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด และตามข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยให้มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์ หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ ทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ส. จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ หาก ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่ ส. มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยกมาปรับใช้แก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โดย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75 แต่ ส. มิได้ร้องขอให้ศาลตั้งตัวเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการ และฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2563 สัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายมี ส. และผู้เสียหายร่วมลงลายมือชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เสียหายยินยอมชำระเงินให้แก่ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท ด. โดยเอกสารดังกล่าวมีหัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวทำขึ้น แม้ความจริงบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงนั้นกับผู้เสียหาย แต่การที่พวกของจำเลยซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงกลับทำสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงแล้วนำไปใช้อ้างต่อพันตำรวจตรี น. เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ยอมความโดยชอบ ทำให้คดีในส่วนอาญาระงับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะมิใช่เอกสารที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับและใช้เอกสารสิทธิปลอมการที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า ส. พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและผู้เสียหายเป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ตกลงค่าเสียหายได้โดยผู้เสียหายยินยอมชดใช้เป็นเงิน และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2563 การที่จำเลยทั้งสองถมดินและปลูกสร้างอาคารในทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จนทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถใช้สัญจรเข้าออกสู่ทางหลวงแผ่นดิน และใช้เป็นช่องทางระบายน้ำที่ท่วมขังให้ไหลลงสู่ห้วยสวนพริก เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังบ้านของโจทก์ทั้งสามจนได้รับความเสียหาย อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ทั้งสามในอันที่จะใช้ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และถือว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 360

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2563 ป.วิ.อ. มาตรา 158 มิได้บังคับให้ฟ้องต้องบรรยายระบุเจาะจงวันที่และเดือนซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือรายละเอียด กฎหมายบัญญัติเพียงให้โจทก์กล่าวมาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลาการกระทำผิดของจำเลยว่าประมาณปีใด โดยฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดถึงวันที่และเดือนที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่เกี่ยวกับเวลาเท่าที่จะบรรยายได้ มิได้ประสงค์เอาเปรียบในเชิงคดี การที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยรายละเอียดจะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นพิจารณาต่อไป แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2563 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. แทนจำเลยที่ 1 เพื่อที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะได้เข้าทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่น สโตร์กับบริษัท ซ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โจทก์ทั้งสองจึงเป็นตัวแทนในการชำระเงินของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. และจำเลยทั้งสองคืนเงินบางส่วนแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเรียกเงินที่ชำระไปแทนในส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตัวแทนได้ แม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2563 โจทก์เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการซื้อที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินพิพาท และหลังจากซื้อที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและรับจดทะเบียนจำนอง แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเอกสารต่าง ๆ ถูกต้อง ทั้งโจทก์ยังเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ แม้หนังสือมอบอำนาจจะเป็นเอกสารปลอม แต่การที่โจทก์มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้ และจำเลยที่ 1 ยังมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ไว้ประกอบหนังสือมอบอำนาจ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่จะนำโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมใด ๆ นอกเหนือวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์ต้องรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2563 เงินค้างจ่ายที่อยู่ในศาล ผู้มีสิทธิรับเงินต้องเรียกเอาเงินหรือขอรับเงินที่ตนมีสิทธิจะได้รับจากศาลและต้องมารับเงินตามที่เรียกหรือขอด้วย หรือในกรณีที่ศาลออกเช็คให้ผู้มีสิทธิรับเงินแทนการจ่ายเป็นเงินสด ผู้มีสิทธิรับเงินก็ต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร หากผู้มีสิทธิรับเงินเพียงแต่แถลงขอรับเงินจากศาล แต่ไม่มารับเงินตามที่ขอหรือมิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ศาลอนุญาต เงินค้างจ่ายดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (เดิม) จำเลยจะขอให้ศาลออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็คฉบับเดิมเพื่อสั่งจ่ายเงินที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2563 แม้การค้นบ้านที่เกิดเหตุเป็นการค้นโดยไม่มีหมายค้น และร้อยตำรวจโท ถ. ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้ไปปรากฏตัวที่บ้านที่เกิดเหตุเพื่อแจ้งชื่อหรือตำแหน่งแก่ พ. เจ้าของบ้านก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าก่อนที่จะดำเนินการค้นร้อยตำรวจเอก ศ. ได้ขอความยินยอมจาก พ. เจ้าของบ้าน รวมทั้งจำเลยและ ช. ผู้อาศัยอยู่ในบ้านก่อน แล้วจำเลยเป็นผู้นำการค้นด้วยตนเอง แสดงว่าการค้นดังกล่าวกระทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจความยินยอมจาก พ. ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุรวมทั้งจำเลยและ ช. ผู้อยู่อาศัยในบ้านที่เกิดเหตุ เมื่อไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจเอก ศ. ได้ขู่เข็ญหรือหลอกลวงให้ พ. จำเลยและ ช. ให้ความยินยอมในการค้นแต่ประการใด แม้การค้นดังกล่าวจะกระทำลงโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาลอนุญาตให้ค้นได้ก็หาได้เป็นการค้นโดยมิชอบและฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่อย่างใดไม่นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกการตรวจค้นซึ่งได้ระบุข้อความว่า ...เนื่องจากมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนอยู่หรืออยู่ในนั้น และมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ทรัพย์นั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน อันเป็นข้อยกเว้นที่ให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นอีกกรณีหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) ด้วย ดังนี้ เครื่องกระสุนปืนของกลางที่ร้อยตำรวจเอก ศ. ยึดได้จึงเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานที่ชอบและใช้ยันจำเลยเพื่อรับฟังลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2563 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ หนี้ที่โจทก์ขอบังคับเป็นหนี้กระทำการในคดีแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย เมื่อต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณาและไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางให้ดำเนินคดีนี้ต่อไป ศาลชั้นต้นย่อมต้องงดการพิจารณาคดีดังกล่าวไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในเรื่องนี้ว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาโดยไม่ได้แก้ไขเรื่องดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณา เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่จะต้องเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252จำเลยฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมชำระค่าเสียหาย แม้มิใช่การฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) แต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) เมื่อปรากฏว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีในส่วนฟ้องแย้งแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมสามารถยกคดีในส่วนฟ้องแย้งขึ้นพิจารณาต่อไปได้ ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่บัญญัติว่า “...เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น” แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมซึ่งพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเดียวกัน จำต้องพิจารณาไปในทางเดียวกัน ประกอบกับศาลต้องงดพิจารณาในส่วนของคำฟ้องไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณา และก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่ความทั้งสองฝ่ายในการฟ้องและต่อสู้คดี ย่อมมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะงดการพิจารณาในส่วนฟ้องแย้งไว้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 หากต่อมาคดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลงหรือศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีนี้ในส่วนของโจทก์ต่อไป จึงให้ยกคดีทั้งในส่วนคำฟ้องและฟ้องแย้งขึ้นพิจารณาต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3561/2563 การที่จำเลยไม่ยอมให้พนักงานจราจรทดสอบว่าจำเลยหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราด้วยวิธีการตรวจวัดลมหายใจนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 142 วรรคสอง และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 154 (3) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ป.อ. มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3556/2563 จำเลยซึ่งประกอบอาชีพแพทย์โดยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลกับได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการสถานพยาบาลคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา แต่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลซึ่งรวมถึงตัวจำเลยเองจัดให้มีการบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในสถานพยาบาลแก่ผู้ว่าจ้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ตามประกาศแพทยสภา โดยให้หญิงซึ่งมิได้เป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรตั้งครรภ์แทนคู่สมรสนั้น และโดยจำเลยมิได้รับหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 34 (2), 65ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” โจทก์บรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า จำเลยกระทำฝ่าฝืนประกาศแพทยสภาที่ 1/2540 และที่ 21/2544 ซึ่งออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 21 (1) ปรากฏว่า พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวัตถุประสงค์ของแพทยสภา ส่วนมาตรา 21 เป็นบทบัญญัติที่ให้คณะกรรมการแพทยสภามีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ แต่กฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่าผู้ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือประกาศแพทยสภานั้นมีความผิดและไม่ได้กำหนดโทษไว้ จึงต้องถือว่าขณะจำเลยกระทำการตามโจทก์บรรยายฟ้องไว้ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงต้องถือว่าขณะจำเลยกระทำการตามโจทก์บรรยายฟ้องไว้ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงไม่อาจปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 7, 21 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3515/2563 ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้คู่ความฟัง ก็ต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องของจำเลยที่ขอแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นการไม่ชอบคำร้องของจำเลยเป็นการร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ เพื่อเป็นเหตุเพิ่มเติมในการขอให้รอการลงโทษแก่จำเลย อันเป็นการเพิ่มเติมจากที่อุทธรณ์ไว้ มีลักษณะเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจอนุญาตตามคำร้องขอได้ แต่ควรให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 205จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วม แล้วจึงใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วม เป็นการบุกรุกโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะเข้าไปใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 365 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2563 เจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำชี้ให้ยึดโดยเมทแอมเฟตามีน 538 เม็ด จำเลยฝังดินไว้นอกรั้วบ้าน ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 8,000 เม็ด จำเลยฝังดินไว้ในสวนพริก ห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งสองจำนวนถูกฝังดินซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิด หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำไปชี้ตำแหน่งที่ซุกซ่อน ย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนมาเป็นของกลางในคดีนี้ได้ การให้ข้อมูลของจำเลยเป็นผลให้เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่แพร่ระบาดไปสู่สังคมในวงกว้าง ถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จึงสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2563 การที่จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่ง และห้ามมิให้บุคคลใดดำเนินการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตทั้งสองกรณีแตกต่างกัน แสดงว่าในแต่ละฐานความผิดต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาแตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน หากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไป การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และเป็นการกระทำที่ต่างจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หรือประกอบโรคศิลปะโดยมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี หรือฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี กับความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2563 โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5, 9, 10, 12 (1) (2) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนจนเสร็จ ถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120การที่จำเลยเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลผู้เสียหายที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับจำเลย โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากภายนอกผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของโรงพยาบาลผู้เสียหาย แล้วทำการปิดระบบกระจายสัญญาณเพื่อปิดระบบโปรแกรมสำหรับบริการทางการแพทย์ อันเป็นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลผู้เสียหายถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โดยเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะในแต่ละคราว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 12 (2) (เดิม) ประกอบมาตรา 10 ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัว ต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่ความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2563 การที่จำเลยขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีลดราคานั้น เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขายสุราในสถานบริการของจำเลยให้ได้จำนวนมากขึ้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายกับความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และจำหน่ายสุราแก่เด็กเป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน แต่ก็เกิดจากเจตนาอันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2563 ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ...” ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งต้องบรรยายให้ปรากฏในฟ้อง เพื่อนำมาพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การบรรยายฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลย จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง แล้วพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2563 แม้ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในโรงเรียนหน้าห้องทำงานของจำเลย โดยจำเลยมิได้นัดแนะหรือพาโจทก์ร่วมที่ 1 มา ก็ถือว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยไม่มีสิทธิพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปยังที่ใดโดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม การที่จำเลยเข้ามากอดแล้วลากโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องทำงานของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยพาไปหรือแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่เป็นเพียงการกระทำเพื่อมิให้บุคคลอื่นพบเห็นจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2563 ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดจะมีความผิดและถูกลงโทษฐานใช้ให้กระทำความผิดแม้ความผิดนั้นยังมิได้กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง นั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่าผู้นั้นได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาใด ต่อบุคคลใดอย่างชัดเจน ผู้ถูกใช้จึงจะสามารถลงมือกระทำความผิดนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 บอกจำเลยที่ 2 ให้หาคนมายิงผู้เสียหายทั้งห้า คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ชักชวนให้จำเลยที่ 1 รับงานยิงคนที่ทะเลน้อย โดยไม่ปรากฏว่ายิงผู้ใด จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ใดได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2563 เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ที่จำเลยรับไปแล้วนั้น เป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้โดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีหน้าที่จะต้องเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย หลังจากจำเลยรับเงินดังกล่าวไปแล้ว แม้ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 และสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรจะมีหนังสือทักท้วงไปยังโจทก์ว่าการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยแจ้งว่าเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ต้องเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่สามารถเบิกจ่ายจากเงินสะสมได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เงินที่จำเลยรับไปแล้วเป็นเงินที่ไม่ชอบ เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกเงินดังกล่าวจากเงินสะสมซึ่งสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรอ้างว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ ก็เป็นการทำงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เอง หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใดไม่ และการยกเลิกคำสั่งของเทศบาลตำบลวังกรดที่อนุมัติให้จำเลยได้รับเงินประโยชน์ดังกล่าว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายข้อใดที่จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะได้รับเงินทั้งที่จำเลยมีสิทธิได้รับเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์เองก็ได้อนุมัติให้จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะยึดถือเงินทั้งสองจำนวนไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินทั้งสองจำนวนคืนจากจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินการทางบัญชีเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษจากกองเงินงบประมาณที่ถูกต้องตามระเบียบการจ่ายเงินชดใช้คืนแก่กองเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกผิดพลาดไป หาใช่มาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยเช่นนี้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2563 คำสั่งที่ให้โอนคดีไปยังศาลปกครองอุดรธานีในคดีเดิมเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดไม่อาจยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาในคดีดังกล่าวได้อีก และคำสั่งซึ่งเป็นที่สุดในคดีเดิมไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51 ทั้งการฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและไม่มีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง และมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองอุดรธานีที่ไม่รับคำฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องในคดีเดิม ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2563 ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่า คำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำจับ ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องโดยละเอียด เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยระบุว่าในการจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผู้นำจับนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จับกุมคดีนี้และมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับแล้ว การที่จำเลยให้การรับสารภาพย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดไม่อาจนำออกขายได้ และศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 ได้ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36, 56 วรรคหนึ่ง นั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 20 และมาตรา 31 ให้เพิ่มเติมมาตรา 29/9 วรรคสอง และมาตรา 56/4 ทั้งมาตรา 37 ยังบัญญัติให้คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกตามมาตรา 36 และมาตรา 38 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่หรือมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น การกระทำความผิดฐานขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษจำคุกตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2563 โจทก์บรรยายในคำฟ้องอย่างแจ้งชัดว่า จำเลยทำไม้ปอเลียง ในบริเวณป่าบางไต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยทำไม้ในป่าอันเป็นการทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการทำไม้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่เป็นไม้หวงห้ามในชั้นฎีกา จึงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นการยกข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นใหม่โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้กล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3334/2563 การที่จำเลยผลักตัวโจทก์ร่วมนอนลงแล้วดึงกางเกงของโจทก์ร่วมออกก็เพื่อจะกระทำชำเราโจทก์ร่วมเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำอนาจารโจทก์ร่วมด้วยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3326/2563 พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันมา การที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่กับจำเลยมาตั้งแต่อายุได้เพียง 2 ปี และเป็นบุตรบุญธรรมจำเลยด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายโดยปกติย่อมไม่มีความสัมพันธ์แบบชู้สาว อีกทั้งผู้เสียหายมีคนรักอยู่ด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา แม้ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนก็ตาม แต่เพราะเคยถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรามาก่อนและผู้เสียหายขัดขืนถูกจำเลยทำร้ายโดยใช้เท้าถีบ ทั้งยังต่อว่าผู้เสียหายทำนองว่าขอแค่นี้ไม่ได้หรือไง ผู้เสียหายจึงไม่กล้าที่จะต่อสู้ขัดขืนจำเลย จึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโดยมิได้เกิดจากความสมัครใจหรือยินยอมของผู้เสียหาย การที่จำเลยถอดกางเกงของผู้เสียหายออกแล้วสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ชักเข้าออกจนสำเร็จความใคร่ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2563 แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย แต่ ป. และ ฮ. ผู้ร่วมขบวนการ ได้ให้การจากการซักถามของเจ้าพนักงานว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขบวนการด้วย โดย ป. ยังให้ถ้อยคำถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ และในครั้งอื่น ๆ ที่จำเลยมีส่วนร่วมก่อการด้วย โดยมีรายละเอียดของขั้นตอนในการกระทำความผิดอย่างครบถ้วน ส่วน ฮ. ก็ให้ถ้อยคำในรายละเอียดของการกระทำความผิดในคดีนี้ การให้ถ้อยคำของ ป. และ ฮ. มิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เป็นการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ร่วมขบวนการด้วยกันว่ามีบุคคลใดบ้าง ตลอดจนรายละเอียดของการกระทำความผิดในแต่ละครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องกัน จึงมีเหตุผลให้รับฟัง ส่วนจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจมีรายละเอียดตั้งแต่แรกว่าได้เข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อใด โดยคดีนี้มี ป. เป็นผู้สั่งการและได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นดังกล่าว แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมสามารถรับฟังพยานบอกเล่านั้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกัน ต่อมาการที่ผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาว่าความผิดตามฟ้องทั้งหมดของโจทก์เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ โดยมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3306/2563 แม้คดีนี้เป็นการขอคืนสำนวนการสอบสวน แต่คำร้องของโจทก์เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำนวนการสอบสวนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา และโจทก์ยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัยอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2563 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยรวมมาในข้อเดียวกันและระบุว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน แต่ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันทายผลการแข่งขันชกมวยทางโทรทัศน์ และความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่รัมมี่ ต่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 ได้แยกความผิดของการพนันประเภทต่าง ๆ ไว้ตามบัญชี ก. และบัญชี ข. โดยการพนันแต่ละประเภทดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อฟ้องโจทก์ระบุยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันทั้งสองประเภท และจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งในฐานจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลการชกมวยทางโทรทัศน์ และฐานจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่รัมมี่ อันเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ซึ่งศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปสำหรับเครื่องรับโทรทัศน์ของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบนั้น เห็นว่า เครื่องรับโทรทัศน์เป็นแต่เพียงเครื่องรับภาพการชกมวยจากสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้ส่งภาพมาเท่านั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดให้ผู้เล่นการพนันดูโทรทัศน์เพื่อพนันทายผลของการแข่งขันชกมวย หาทำให้เครื่องรับโทรทัศน์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นการพนันชกมวยตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 โดยแท้จริงไม่ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อปรากฏว่าตามสภาพของเครื่องรับโทรทัศน์ของกลางดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น มิใช่เครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นการพนันชกมวยแล้ว เครื่องรับโทรทัศน์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินอันจะพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2563 การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2563 ป.วิ.อ. มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะพิเศษสำหรับคดีอาญาและหากมีการดำเนินการไม่ถูกต้องอย่างไร มาตรา 195 วรรคสอง ก็บัญญัติรองรับไว้ด้วยว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แสดงให้เห็นว่า เป็นกรณีที่ไม่อาจนำเรื่องการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ชอบการส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในคำฟ้อง แม้ผู้รับจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี อันจะทำให้รับฟังว่าเป็นการส่งไม่ชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวในช่วงที่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดในคดีอื่น กรณีจึงถือได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ซึ่งกำหนดให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของการส่งสำเนาอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2563 ที่ดินพิพาทแปลงที่สามที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามมาก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ และตามมาตรา 36 ทวิ ให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อ ค. กับจำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองได้ความว่ามีหลักฐานเป็นเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โดยตามสำเนาใบ ภ.บ.ท. 5 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2525 แสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ช่วงระยะเวลาหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 โจทก์กับ พ. และจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 108 หรือ 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้วแต่กรณี ทั้งที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองยังเป็นป่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และมาตรา 14 มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วย เมื่อการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2563 ป.อ. มาตรา 78 เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ เป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เพราะจำเลยยังติดใจในประเด็นรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว เพียงแต่ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ยกปัญหาที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพดังกล่าวมาเป็นเหตุลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะเห็นว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหรืออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงมิใช่การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2563 การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่งไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้ร้อง โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ตายมีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีบุตรด้วยกัน และบิดา มารดาผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) และ 1633 และเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งได้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มีอำนาจร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2563 การพิจารณาว่า ลูกจ้างซึ่งดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารจะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 และมาตรา 66 โดยมาตรา 65 บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63...(1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง...ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง” และมาตรา 66 บัญญัติว่า “ลูกจ้างตามมาตรา 65 (1) ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62 เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง” ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (1) นั้น ต้องได้ความว่า สำหรับกรณีการจ้าง ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจจ้างลูกจ้างที่จะเข้าทำงานกับนายจ้างได้ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่การคัดเลือกลูกจ้าง การกำหนดค่าจ้าง และการอนุมัติให้จ้างลูกจ้าง สำหรับกรณีการให้บำเหน็จ ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจประเมินผลงานแล้วมีอำนาจเลื่อนเงินเดือนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ และสำหรับกรณีเลิกจ้าง ลูกจ้างคนนั้นต้องมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ หากลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจคัดเลือกลูกจ้างที่จะเข้าทำงาน แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเพื่ออนุมัติการจ้าง หรือมีอำนาจประเมินผลงานและเสนอเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเป็นผู้อนุมัติให้เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของลูกจ้างคนนั้น หรือมีอำนาจเสนอให้เลิกจ้างลูกจ้าง แต่ต้องเสนอผู้มีอำนาจของนายจ้างเป็นผู้อนุมัติให้เลิกจ้าง ถือไม่ได้ว่า ลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างตามมาตรา 65 (1) ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วยตนเองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง สำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 มาตรา 62 และมาตรา 63 แสดงให้เห็นว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่ง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด คดีนี้ได้ความว่า จำเลยที่ 2 สั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่ประเทศแอลจีเรียโดยอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของบริษัทร่วมทุน โดยไม่ปรากฏว่า ผู้อำนวยการร่วมของบริษัทดังกล่าวมีอำนาจสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นายจ้างของโจทก์ สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2563 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังและที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ โดยมีข้อความระบุว่าโรงพยาบาลตกลงให้แพทย์เข้ามาใช้สถานที่และบริการด้านอื่น ๆ ของโรงพยาบาลในการเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล แพทย์เป็นผู้คิดค่ารักษาพยาบาลแต่ต้องไม่เกินที่ได้แจ้งไว้แก่โรงพยาบาล และแพทย์มอบหมายให้โรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่ารักษาแทนและรวบรวมจ่ายคืนแก่แพทย์เดือนละครั้ง โดยแพทย์จ่ายค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่าตรวจรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาล ในการทำงานโจทก์มีตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) ประเภทแพทย์ที่มาใช้สถานที่ของโรงพยาบาลประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โจทก์มิได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งใช้บังคับกันระหว่างโรงพยาบาลของจำเลยกับพนักงานเท่านั้น การตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นการตรวจสอบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ไม่มีผลต่อการทำงานของแพทย์ในลักษณะที่เป็นการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นแพทย์ประจำต้องเข้าเวรวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา วันเสาร์และวันอาทิตย์จำเลยเรียกโจทก์ให้ทำงานได้ตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ที่เรียกว่า PEER REVIEW หากปรากฎว่า แพทย์ผู้ใดประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยและโรงพยาบาลอันเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาล แพทย์จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามอำนาจและดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา แล้วนำมาวินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจควบคุมการทำงานของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองนิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ลักษณะ 6 ว่าด้วยจ้างแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 575 ถึงมาตรา 586 และเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งสรุปได้ว่า ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน และต้องปรากฏว่าลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาว่าจ้างทำงานฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 ต่อมาโจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2541 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2548 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2549 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2550 และฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ แพทย์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับโรงพยาบาลเป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะดังกล่าวถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยยุติไปตั้งแต่โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะในวันที่ 1 มกราคม 2541ข้อเท็จจริงได้ความตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ ข้อ 2 และข้อ 3 ว่า โจทก์มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย คิดตามความยากง่ายในการรักษาโรคของผู้ป่วยเป็นราย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่โจทก์แจ้งจำเลยไว้ และจำเลยเป็นผู้เก็บเงินดังกล่าวจากผู้ป่วยแล้วจ่ายคืนแก่โจทก์เดือนละครั้ง โดยจำเลยหักค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว การที่โจทก์เป็นผู้กำหนดจำนวนค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวด้วยตนเอง เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ผู้ป่วยจ่ายเพื่อตอบแทนการรักษาพยาบาลของโจทก์โดยตรง มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน เงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวถือไม่ได้ว่า โจทก์ตกลงทำงานแก่จำเลยและจำเลยตกลงให้สินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานโจทก์ไม่ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกจากที่ทำงาน ไม่มีกำหนดวันหยุด วันพักผ่อนประจำปี ไม่มีการลาป่วยหรือลาหยุดในกรณีอื่นเช่นเดียวกับกรณีของลูกจ้างทั่วไปของจำเลย ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยต้องเข้าทำงานตามวันเวลาที่จำเลยกำหนด แม้ตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพสำหรับแพทย์เอกสารเลขที่ QP 5301 ข้อ 2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการลาว่า แพทย์ประจำที่จะลาพักผ่อนประจำปี ลากิจ หรือลาประชุมวิชาการต้องแจ้งหรือส่งใบลาให้หัวหน้าแผนกที่ตนสังกัด เพื่อขออนุมัติล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และควรจัดหาแพทย์สาขาเดียวกันมาปฏิบัติหน้าที่แทน กับระเบียบปฏิบัติ เรื่องธรรมนูญแพทย์ เอกสารเลขที่ QP 05 บทที่ 12 ข้อ 11.2 เรื่องการลา กำหนดว่า แพทย์ต้องยื่นใบลาต่อหัวหน้าแผนกก่อนก็ตาม แต่ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานของแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมอันเป็นวัตถุประสงค์ในการกำหนดเรื่องการลาตามคู่มือปฏิบัติงานดังกล่าวและเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยเท่านั้น ไม่มีลักษณะเช่นเดียวกับการลาของลูกจ้างทั่วไปที่ต้องขออนุมัติจากนายจ้าง ทั้งเป็นการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงานของแพทย์และการให้บริการของโรงพยาบาลการตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นระบบการตรวจสอบการทำงานโดยใช้การทบทวนร่วมกันในที่ประชุมองค์กรแพทย์โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ขั้นตอนการทบทวนมาตรฐานและการทำเวชปฏิบัติเอกสารเลขที่ QP 53 มีลักษณะเป็นการควบคุมการปฏิบัติงานของแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ มิใช่การสอบสวนหรือลงโทษในลักษณะทางวินัยการทำงานของนายจ้าง จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีอำนาจบังคับบัญชาและลงโทษโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะจึงไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2563 แม้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการสอดใส่อวัยวะเพศของตนเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 แต่ได้ความว่าจำเลยนำอวัยวะเพศของตนใส่เข้าไปในปากของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยโดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงลํ้าช่องปากของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2563 ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนนั้น แม้จำเลยรับราชการเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16 (1) แต่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเพื่อศาลชั้นต้นจะได้ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 แสดงว่าจำเลยยอมรับเขตอำนาจศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเองก็มิได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลส่งไปให้ศาลทหารทำความเห็นกลับมาเช่นกัน กรณีเช่นนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องบรรยายชัดแจ้งว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นทหารอันเป็นการยืนยันว่าขณะเกิดเหตุและขณะฟ้องจำเลยรับราชการเป็นทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ จำเลยจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16 (1) ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ศาลตรวจคำฟ้องและมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นต้นไป โดยศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ซึ่งใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3059/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยและไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057/2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 2 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โดยมิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 ตรี ไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ทั้งเป็นกรณีที่ไม่อาจรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3043/2563 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 3 มิได้สมคบเป็นตัวการร่วมกับผู้ร่วมกระบวนการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางมาตั้งแต่เริ่มต้นติดต่อและตกลงซื้อขายหรือในการรับมอบเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางนำไปส่งให้ผู้ล่อซื้อหรือการคอยรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลาง ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้สมคบกับจำเลยอื่นเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 3 คงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 6 (1) ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาในคำขอท้ายฟ้อง ย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563 เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่ ส. ซื้อมาจากจำเลย หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ส. โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของ ส. กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. กับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2563 สัญญาเช่าระหว่างผู้คัดค้านทั้งสามกับผู้ร้องระบุว่า หากมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการเช่าและค่าเสียหายเกิดขึ้นตามสัญญา ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนมีการฟ้องร้องคดีทุกครั้งโดยมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการไว้ เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าและเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจากพยานหลักฐานที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไม่ต้องด้วยเหตุให้ศาลเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) เมื่ออนุญาโตตุลาการเห็นว่ากรณีฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญา ส่วนการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ตรวจสอบที่ดิน ชี้แนวเขต ตลอดจนทำรูปแผนที่บอกขนาดของที่ดินเป็นกิจการที่ผู้เช่าและผู้ให้เช่าจะต้องร่วมมือกันดำเนินการในปัญหาการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมและการรังวัดที่ดินให้บรรลุล่วงไปด้วยดีนั้น เป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาต่อไป จึงไม่ใช่คำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย ทั้งการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่คำชี้ขาดที่ศาลมีอำนาจเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ก) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563 จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์ และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้าทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2563 ความผิดฐานฟอกเงิน โดยรับโอนเงินเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง และจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดมูลฐานด้วย และฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ผู้กระทำความผิดหาจำต้องเป็นผู้ส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่ามัลแวร์เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายจนทำให้มีการโอนเงินโดยอัตโนมัติ หรือหาจำต้องเป็นผู้หลอกหลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไม่ ทั้งกรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2948/2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิด แต่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 57 กรรม และผู้ร้องมิได้กล่าวมาในคำร้องหรือนำสืบให้ชัดแจ้งว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิดวันใด ทั้งตามคำร้องมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในหนี้จากมูลละเมิดเป็นจำนวนเดียวซึ่งเป็นหนี้อันแบ่งแยกมิได้ และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดก็เป็นหนี้จำนวนเดียว จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งแรกจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2563 ลูกกระสุนปืนขนาด 40 มม. และลูก (ปลอก) กระสุนปืนกลต่อสู้อากาศยาน 40 L 70 นอกจากเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ประกอบประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2 แล้ว ยังเป็นเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนรายการอื่นที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2563 คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ อ. ร. ส. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่ง ส. ได้ลงชื่ออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ ส. เป็นเพียงผู้พิพากษาที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อันเป็นการสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จแล้ว ส. มิได้พิจารณาคดีนี้เลย จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ ประกอบกับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังเป็นการคัดลอกข้อความตามอุทธรณ์มาทั้งหมด มิได้ระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง กรณีไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อีกพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และ 124 บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้ลูกจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนาที่จะให้การเยียวยาแก่ลูกจ้างที่นายจ้างไม่จ่ายเงิน ตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติเสียก่อนจึงจะดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างแต่ประการใดไม่ ส่วนปัญหาว่าลูกจ้างมีสิทธิฟ้องคดีอาญานายจ้างได้หรือไม่เพียงใด ก็ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะนายจ้างของโจทก์ทั้งสองร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (1), 144 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2563 ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยไว้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จึงหาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินอันจะทำให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการตามความหมายของ “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563 โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า “การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้” และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์” ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 71

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2563 การที่จำเลยส่งสินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องไม่เหมาะสมแก่การใช้บรรจุอาหารตามความมุ่งหมายของโจทก์ เป็นเหตุให้สินค้าประเภทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของโจทก์ที่ผลิตโดยใช้สินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องของจำเลยเกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนของสนิมแลคเกอร์เคลือบพองและอื่น ๆ ย่อมถือได้ว่า จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิเสธความรับผิด และค่าจัดเก็บสินค้าระหว่างที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2883/2563 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยโดยมี น. เป็นตัวแทนออกหน้าทำสัญญากับจำเลย โจทก์ในฐานะตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อย่อมมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่ง น. ตัวแทนได้ทำไว้แทนตนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเมื่อโจทก์เป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ การตั้ง น. เป็นตัวแทนย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคสอง โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่สามารถส่งผลผลิตลำไยให้โจทก์ได้เพราะลำไยไม่มีคุณภาพและเรียกเงินมัดจำที่โจทก์ได้ให้ไว้คืน อันเป็นกรณีกล่าวอ้างว่า จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ต้องคืนเงินมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำค่าสินค้าหรือเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าบางส่วนคืน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2563 ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกเงินราคาในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาด เนื่องจากจำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเอาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำ และได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ และให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 ซึ่งคดีนี้หลังจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงสุดแล้วละเลยเสียไม่ชำระราคาแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำอีกถึงสองครั้ง เพราะผู้ประมูลครั้งที่สองก็ไม่ได้ชำระราคาและถูกริบมัดจำเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง จ. เข้าประมูลซื้อและชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าว จึงต้องถือว่าวันที่ผู้สู้ราคาสูงสุดได้ชำระราคาครบถ้วนเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2563 ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้า ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่ารายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ทั้งต้องคำนึงถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้าได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ต่างก็มีคำว่า OASIS เป็นสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นเช่นเดียวกัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปต้นมะพร้าวประดิษฐ์ประกอบอยู่ที่ด้านหลังด้วย แต่ก็เป็นเพียงภาคส่วนประกอบเท่านั้น สำหรับเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส หรือโอเอซิส ต้นมะพร้าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส นับได้ว่ามีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานคล้ายกันอย่างมาก ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งในส่วนนี้ แต่ความคล้ายกันดังกล่าวจะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน ช่องทางการจำหน่ายสินค้า และกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และผู้บริโภคสินค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด เป็นสำคัญด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อ (ยกเว้นเสื้อชั้นใน) เสื้อกีฬา กางเกง (ยกเว้นกางเกงกีฬา) กางเกงชั้นใน เข็มขัด รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เสื้อสำหรับเด็ก หมวก ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 790118 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 18 รายการสินค้า หนังฟอกและหนังเทียม หีบเดินทางและกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก กระเป๋าสะพายนักเรียน กระเป๋าหนังใส่ชุดเครื่องใช้เดินทาง กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง ถุงใส่ของทำด้วยหนัง กระเป๋าสะพาย กระเป๋าที่เปิดออกสองข้างที่มีสายรัด เครื่องสะพายหลัง กระเป๋าจ่ายของ กระเป๋าใส่ของใช้ชายหาด กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่กุญแจ กระเป๋าใส่บัตรเครดิต กระเป๋าใส่บัตรธุรกิจ กระเป๋าใส่สตางค์ ร่มและร่มกันแดด ไม้เท้า ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค205612 ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้โดยการพกพาติดตัวหรือใช้เป็นส่วนประกอบเสริมกับเครื่องแต่งกาย จึงมีลักษณะการใช้ควบคู่หรืออยู่เคียงกับเครื่องแต่งกายของผู้บริโภคโดยทั่วไป แม้จะเป็นการจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่สินค้ามีลักษณะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันดังกล่าว ผู้บริโภคสินค้าก็เป็นกลุ่มเดียวกัน หากไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้ามาพิจารณาเปรียบเทียบกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกซื้อสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือได้ว่าสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2563 การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเราหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพโดยไม่ได้นำสืบต่อสู้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกนั่งอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่โรงอาหารของโรงเรียน ต่อมา ว. พวกของจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมประเวณีที่ห้องน้ำของโรงเรียนแล้วบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 รออยู่ที่ห้องน้ำ จากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันในลักษณะต่อเนื่องกันในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่ละคนกับพวกต้องรู้กันและตกลงกันในขณะที่นั่งรอ ว. ว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนหลังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 มีโอกาสตั้งตัวและหลบหนีหรือขัดขืนได้ แล้วเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำทันที แม้ไม่มีจำเลยอื่นหรือบุคคลใดเข้าช่วยเหลือสนับสนุนหรือให้ความสะดวกให้มีการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครบทุกคน การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอมความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อันไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย แม้เด็กจะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อจำเลยทั้งสามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำต่อเนื่องกันหลังจากที่ ว. ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้องน้ำ แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่จะต้องร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 2 มายังที่เกิดเหตุถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2824/2563 แม้ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จะต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยให้เหมาะสมตามความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2563 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหลอกลวงโจทก์และโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในวันที่ 26 กันยายน 2558 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 แล้ว แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่าสามเดือน แต่ยังไม่พ้นอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ซึ่งอนุญาตให้ฟ้องคดีภายในสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ส่วนที่โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1238/2560 ของศาลแขวงลพบุรีนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์ถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้และศาลชั้นต้นได้ประทับฟ้องไว้แล้ว ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาผิดแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ตอนท้าย และคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการส่วนนี้ให้ถูกต้อง กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2563 จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่ตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลที่เห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ โดยขอให้การใหม่เป็นให้การปฏิเสธว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จริง โดยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี คำให้การดังกล่าวของจำเลยหาทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อีกทั้งในวันสืบพยานโจทก์เมื่อโจทก์นำผู้เสียหายที่ 2 เข้าเบิกความต่อหน้าจำเลยในช่วงเช้า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบศาลว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปี จำเลยย่อมต้องทราบแล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2563 เมื่อในคดีส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ร้องที่ 2 และฐานกรรโชกทรัพย์ผู้ร้องที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้มา โดยผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ฎีกามาด้วยนั้น ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อมและร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76/1 ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และเพิ่มเติมมาตรา 26/2 ฐานผลิตพืชกระท่อม และมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 75 และมาตรา 76/1 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษฐานผลิตพืชกระท่อมในมาตรา 75 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 75 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน และบทกำหนดโทษฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 76/1 วรรคสี่ ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 76/1 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากันเช่นเดียวกัน ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 51, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 51 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 8, 9, 101, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 101, 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสามจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2563 โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานรีดเอาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 338 แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่ามีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นวัตถุความลับตามฟ้องที่จะไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอยู่จริง การกระทำของจำเลยไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำ โดยการขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับโดยคลิปวิดีโอนั้น อย่างไรก็ตามได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันอันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ 2 ผู้ถูกขู่เข็ญ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยอมคืนสร้อยคอทองคำแก่จำเลย การกระทำจึงเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชกซึ่งมีโทษเบากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกันกับความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2563 คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีกัน จำเลยฎีกาว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมไปกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จะยกขึ้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้ได้ความชัดว่า จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เอง นั้น จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งยังไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2563 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ข้อ 3 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และข้อ 4 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท จากข้อกำหนดดังกล่าวแสดงว่า ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาทและต้องดำเนินการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ดังนั้นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิยื่นขอประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16 ซึ่งหาใช่เป็นความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการในการจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้มีชื่อหลายรายกู้ยืมเงิน อันเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2563 ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับหมายเรียกให้มาเป็นพยาน เมื่อถึงวันนัดกลับไม่มาและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับเพื่อเอาตัวมาเป็นพยานแต่ไม่ได้ตัวมาจนต้องงดสืบพยาน พฤติการณ์ในการหลบหนีและไม่ยอมมาเบิกความในชั้นพิจารณาของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) และถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะรับฟังบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่เบิกความไว้ในคดีอื่น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในคดีอื่นที่พวกของจำเลยถูกฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยแม้เบิกความหลังเกิดเหตุถึง 9 ปีเศษ ยังสอดคล้องกับบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ที่เป็นพยานบอกเล่า ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ได้เล่าเหตุการณ์การกระทำผิดของจำเลยกับพวกในเวลาใกล้ชิดกับเหตุ และชี้ภาพถ่ายว่าจำเลยเป็นผู้ที่ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกทั้งยืนยันถึงเหตุที่จำจำเลยได้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีเหตุผลอันหนักแน่น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แม้โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2563 จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย ส่วนกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่จำเลยอ้างนั้น เป็นการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรม จึงเป็นกฎกระทรวง ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้อง กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ได้มีผลยกเลิกหรือยกเว้นความผิดของจำเลย การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2563 ตามภาพสเก็ตซ์คนร้ายเป็นภาพของคนวัยหนุ่มซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายบอกพันตำรวจโท ธ. ว่าคนร้ายเป็นชายฉกรรจ์ แต่ภาพของจำเลยขณะถ่ายภาพขอมีบัตรประชาชนอายุ 51 ปี เป็นวัยกลางคนค่อนไปทางชรามีลักษณะต่างวัยกันมาก นอกจากนี้ผู้เสียหายก็เบิกความตอบคำถามค้านด้วยว่า ในการชี้ภาพนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติหากผู้เสียหายสามารถจดจำคนร้ายได้ชัดเจนและสามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนจริง พยานหลักฐานโจทก์มีลักษณะขัดแย้งกันและเป็นพิรุธในหลายจุด เมื่อประมวลวิเคราะห์เข้าด้วยกันแล้ว ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอและเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1270/2563 ในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม กรณีจึงไม่จำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน จำเลยก็ได้รับสำเนาโดยไม่ได้คัดค้าน และยังปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสองซักค้านพยานที่โจทก์ระบุในบัญชีระบุพยานได้อีกด้วย การที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานน้อยกว่า 7 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 173/1 วรรคสอง จึงมิได้ทำให้จำเลยทั้งสองเสียโอกาสในการต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2563 การที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกเฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2563 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และฐานทำไม้หวงห้ามภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 457,236.27 บาท แก่รัฐ ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 457,236.27 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เฉพาะคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน เท่ากับลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วจะจำคุกรวม 5 ปี 3 เดือน ซึ่งเกินกว่าห้าปีก็ตาม ก็ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพราะการพิจารณาว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวพิจารณาตามโทษที่เป็นรายกระทงมิใช่พิจารณาโทษที่รวมทั้งคดี เมื่อโทษที่ลงแก่จำเลยในคดีนี้แต่ละกระทงจำคุกไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทุกกระทง จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยที่ขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าเป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี ไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องมีการรับรองในฎีกา ยกคำร้อง และมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยนั้น จึงเป็นกรณีสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัย โดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2563 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บรรดาแร่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 132 ทวิ ฯลฯ มาตรา 135 ฯลฯ มาตรา 148 ฯลฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ โดยมาตรา 135 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตประทานบัตรหรือประทานบัตรชั่วคราว และมาตรา 148 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานมีแร่ไว้ในครอบครองเกินสองกิโลกรัม เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้รับประทานบัตรหรือประทานบัตรชั่วคราวในการทำเหมืองแร่ แต่ผู้คัดค้านทำการขุดดินและดินนั้นเป็นแร่ ซึ่งเป็นการทำเหมืองตามคำนิยามในมาตรา 4 ถือได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตประทานบัตรหรือประทานบัตรชั่วคราวเกิดขึ้นแล้ว ประกอบกับแร่ของกลางที่ขุดขึ้นมามีน้ำหนักเกินกว่าปริมาณที่กฎหมายกำหนด ผู้ใดจะครอบครองแร่ดังกล่าวได้จะต้องได้รับอนุญาตหรือมีเหตุยกเว้นตามกฎหมาย เมื่อไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ครอบครองและไม่มีเหตุยกเว้นตามกฎหมาย แร่ของกลางจึงเป็นแร่ที่ได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิดอันพึงต้องริบเสียทั้งสิ้นตามบทบัญญัติมาตรา 154 วรรคหนึ่ง สำหรับกรณีที่ผู้ร้องมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้านเนื่องด้วยขาดเจตนาในการกระทำความผิดนั้น หาได้กระทบถึงสิทธิการร้องขอให้ริบแร่ของกลางของผู้ร้อง เพราะการริบทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ริบได้โดยไม่จำต้องฟ้องหรือลงโทษผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดมาด้วย ทั้งริบได้โดยไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2563 คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2) เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้" ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1) เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2563 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ แม้จำเลยจะใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว แต่เป็นการใช้เงินภายหลังวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีอาญาจึงไม่เลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1027/2563 เมื่อมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีแพ่งแก่ลูกหนี้โดยต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 90/12 (4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่า หลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาและจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้งดการพิจารณาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน โดยจำเลยที่ 2 ได้แนบสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 มาท้ายคำร้องด้วย เมื่อสำเนาคำร้องขอดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารที่เจ้าหน้าที่ศาลล้มละลายกลางรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งในหน้าสุดท้ายระบุว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวไว้ในคำแก้ฎีกาแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว และไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และย่อมหมายความรวมถึงการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเช่นใดเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุที่จะงดการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 2 ยกคำร้องขอให้งดการพิจารณาของจำเลยที่ 2 และมีคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์มานั้น เป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อความปรากฏจากคำแถลงข้อเท็จจริงของโจทก์ว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 แล้ว ผลของคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการทำให้สภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 90/12 ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุให้งดการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อไป เมื่อศาลฎีการับฎีกาของจำเลยที่ 2 เฉพาะประเด็นที่ว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษต้องงดการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 2 หรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2563 ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำนั้น ต้องพิจารณาว่างานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดเป็นงานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2549 ข้อ 40 (1) ถึง (7) ซึ่งอาจจะเป็นงานที่มีลักษณะและสภาพของงานเช่นเดียวกับงานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติหรือไม่ก็ได้ ประกาศข้อดังกล่าว หาได้กำหนดให้งานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติกับงานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดต้องต่างกันแต่อย่างใดไม่ ทั้งงานใดจะเป็นงานตามข้อ 40 (1) ถึง (7) ต้องพิจารณาที่ลักษณะและสภาพของงานนั้น ๆ เป็นสำคัญ นายจ้างหามีสิทธิกำหนดให้งานหนึ่งงานใดเป็นงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ไม่ งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น หมายถึงลักษณะหรือสภาพงานที่ลูกจ้างทำนั้น ลูกจ้างต้องประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงานดังกล่าว หากไม่มีงานที่เป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้น ลูกจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงาน คงเพียงแต่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่เท่านั้น เมื่อแผนกสื่อสารมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับเรือสินค้าที่เข้ามาใช้บริการในเขตร่องน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล การตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกข้อมูลเรือสินค้า ควบคุมข่ายการสื่อสารของ กทท. เฝ้าฟังและติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้า และให้บริการข้อมูลในระบบบริการเรือทางโทรศัพท์แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องในระบบบริการเรือ เช่นนี้ลักษณะงานและสภาพงานของแผนกสื่อสารและที่โจทก์ปฏิบัติในเวลาทำงานปกติและในเวลาทำงานล่วงเวลาเป็นงานที่ต้องให้บริการท่าเรือตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่งานที่ลูกจ้างต้องอยู่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงาน งานที่โจทก์ทำจึงมีลักษณะเป็นงานทั่วไป หาใช่งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2563 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากวันที่ระบุหลังบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความหมดอายุ ทั้งทนายโจทก์ร่วมยังยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 โดยครั้งนี้ศาลชั้นต้นระบุว่าอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ครั้นถึงวันครบกำหนดโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 4 ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ร่วมอ้างเหตุเดิมเช่นเดียวกับครั้งก่อนและเหตุตามคำร้องไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษ ให้ยกคำร้อง อันเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุแล้ว ทนายโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ร่วม หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องการหยิบยกว่าใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุแล้ว ทนายโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ร่วม โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สมควรฟังข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายให้แน่ชัดเสียก่อนว่าทนายโจทก์ร่วมได้มีการต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าทนายโจทก์ร่วมได้แสดงหลักฐานว่ามีการต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความแล้ว โดยบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความระบุวันออก 19 ธันวาคม 2560 วันหมดอายุ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาต่อเนื่องจากบัตรเดิมที่หมดอายุวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ทนายโจทก์ร่วมจึงมิใช่เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความและมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แทนโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและยกคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องของทนายโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมาทุกคำสั่ง เพราะเหตุใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุนั้น เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2563 เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีการออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนในคดีนี้มีข้อตกลงกันไว้อย่างไรในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนคดีนี้ ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ส่งมอบการสอบสวนคดีนี้ให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและไปให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีนี้ การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยจึงฎีกาว่ามีการออกข้อบังคับดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 สำหรับคดีนี้แล้วหรือไม่ ดังนี้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 แล้ว จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ การที่จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ในวันเกิดเหตุ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปภายในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ แม้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 มีผลให้ข้อกำหนดและประกาศไม่อาจบังคับต่อจำเลยและประชาชนได้อีกต่อไป แต่คำพิพากษาศาลแพ่งไม่ได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าวที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสองนั้น การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตในวันที่ 26 มกราคม 2557 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 26 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 แล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงหามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้หรือขัดขวางมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2563 ฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2562 จำเลยอ้างว่ามิได้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้องต่อมาจำเลยยื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 โดยศาลชั้นต้นรับเป็นคำแถลงการณ์เนื่องจากยื่นเกินกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา แต่ตามเนื้อหาเป็นการขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ซึ่งแม้จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่การที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์โดยขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2563 คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิได้สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2563 ขณะเรือ อ. ของจำเลยทั้งสามออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ได้ผ่านการตรวจจากหน่วยงานศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และกรมเจ้าท่าถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยอธิบดีกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงในทะเลหลวงได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ PIPO แต่ศูนย์ดังกล่าวเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 หลังจากนั้น วันที่ 25 ธันวาคม 2558 อธิบดีกรมประมงจึงออกประกาศกรมประมงโดยข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยในขณะที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (วันที่ 29 ธันวาคม 2558) นำเรือประมงกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน โดยในวรรคสองมิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับเจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงที่ไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ที่ได้แจ้งการออกจากท่าเทียบเรือประมงต่อศูนย์ PIPO ไว้ไม่เกินระยะเวลา 365 วัน นับแต่วันแจ้ง ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตามข้อเสนอของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ที่เสนอว่าประเทศไทยจะต้องทำการตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำไทยทุกลำ ดังนั้น ประกาศกรมประมงจึงเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่ออกมาช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติของผู้ประกอบอาชีพทำเรือประมงพาณิชย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการตีความเกี่ยวกับกรณีเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งได้ออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับว่า จะต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงภายใน 30 วัน ตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง หรือเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 1 วรรคสอง ของประกาศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ศูนย์ ศปมผ. จึงมีการประชุมย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ยังคงมีเรือประมงอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังทำการประมงในมหาสมุทรอินเดียต่อไป โดยไม่มีการแจ้งกำหนดเดินทางกลับมารับการตรวจ ผลการประชุมย่อยได้ข้อสรุปว่า เรือประมงนอกน่านน้ำที่ผ่านการตรวจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างถูกต้องก่อนการจัดตั้งศูนย์ PIPO และออกไปทำการประมงยังไม่ถึงเวลา 1 ปี จะได้รับการอนุโลมให้ไม่ต้องกลับเข้ามารับการตรวจจากศูนย์ PIPO ซึ่งหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ. ได้มีหนังสือแจ้งผลการประชุมย่อยดังกล่าวไปให้นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบ แม้โจทก์กล่าวอ้างว่าเอกสารฉบับนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นการออกโดยหน่วยราชการผู้รับผิดชอบ อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์แจ้งผ่านไปยังนายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งในข้อนี้ อ. นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย พยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่า ในวันดังกล่าวพยานได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธานและประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้ทราบว่า เรือที่ออกไปทำการประมงยังไม่ถึง 1 ปี ได้รับการอนุโลมให้ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่เข้าใจว่า กรณีของเรือ อ. ยังไม่ต้องกลับเข้าท่าเทียบเรือ จึงนำเรือดังกล่าวเข้าจอดเทียบท่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันนำเรือออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมงในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี แม้ตามหนังสือของศูนย์ ศปมผ. จะระบุไว้ในวงเล็บทำนองว่า อนุโลมให้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2559 แต่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า อธิบดีกรมประมงอนุญาตให้เรือ อ. ออกไปทำการประมงได้ถึงวันที่ 10 กันยายน 2559 ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมมีเหตุผลทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่า การนำเรือเข้าจอดเทียบท่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่ได้รับการอนุโลมจากศูนย์ ศปมผ. ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า เรือประมงของจำเลยทั้งสามเป็นเรือขนาดใหญ่ถึง 721 ตันกรอส การนำเรือออกไปทำการประมงและนำกลับเข้าท่าเทียบเรือต้องมีการแจ้งต่อทางราชการเป็นหลักฐานทุกครั้ง อีกทั้งมีกำหนดระยะเวลากำกับไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ การฝ่าฝืนดังกล่าวมีโทษปรับตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 152 วรรคสี่ สูงถึง 2,000,000 บาท จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยทั้งสามจะจงใจฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการนำเรือเข้าท่าเทียบเรือเกินกำหนดเวลาตามประกาศกรมประมงตามรูปคดีมีเหตุให้น่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสามเข้าใจโดยสุจริตว่า ได้รับการอนุโลมให้นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำเรือออกไปทำการประมง ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสามขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานไม่นำเรือเข้าท่าเทียบเรือประมงภายในกำหนดเวลาตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2563 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี แต่มีผู้พิพากษาลงนามเพียงคนเดียว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) โดยผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบตามบทกฎหมาย และมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ แม้ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลล่าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นฎีกาได้ในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2563 การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ต่อศาลชั้นต้นโดยขอลดจำนวนทุนทรัพย์จาก 3,000,000 บาท ลงเหลือ 300,000 บาท มิใช่เป็นการแก้ไขประเด็นในอุทธรณ์ ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ การขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตามที่โจทก์ขอ อีกทั้งโจทก์เองก็ได้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์เท่ากับจำนวนทุนทรัพย์ที่ขอลดมาชำระภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เช่นนี้ เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์โดยขอลดจำนวนทุนทรัพย์ จึงไม่เกี่ยวกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมในเนื้อหาหรือเพิ่มเติมประเด็นในอุทธรณ์ในอันที่จะให้จำเลยเสียเปรียบแต่ประการใด ทั้งเป็นกระบวนพิจารณาต่อเนื่องจากการที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่อนุญาตให้โจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ จึงมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์โดยลดจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นนี้ได้ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ได้ชำระค่าธรรมเนียมศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2563 การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2563 จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน นอกจากอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ที่ใช้ยิงผู้ตาย ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ทางราชการมอบให้ไว้ใช้ตรวจรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านแล้ว จำเลยยังมีอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว (NTS) แบบสไลด์ แอ็คชั่น (SLIDE ACTION) บรรจุ 4 นัด ขนาด 12 ที่ใช้ยิงขึ้นฟ้าในวันเกิดเหตุอีก 1 กระบอก จำเลยย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนและทราบดีอยู่แล้วว่าอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่าย แต่จำเลยยังใช้อาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ของกลางที่มีกระสุนบรรจุอยู่ในการข่มขู่ผู้ตาย ในขณะผู้ตายนั่งอยู่บนแคร่ จำเลยเดินถืออาวุธปืนเข้าไปหาผู้ตายเพื่อข่มขู่ โดยปากกระบอกปืนชี้ไปหาผู้ตายในระยะใกล้จนผู้ตายสามารถจับปากกระบอกปืนได้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนของกลางอาจลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จำเลยยังคงกระทำการดังกล่าว เมื่อเกิดการดึงปืนกันจนปืนลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย หาใช่เป็นการกระทำโดยประมาทไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเสียให้บริบูรณ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตาม มาตรา 243 (2) คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบที่จะยกอุทธรณ์ของโจทก์เสียด้วยและสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้สั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์ตกไปในตัว เพราะกระบวนพิจารณาต้องไปเริ่มที่ศาลชั้นต้นใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจาณาให้ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ในคำฟ้องบริบูรณ์แล้วพิพากษายกฟ้อง หากโจทก์ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป โจทก์ต้องทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 การที่โจทก์อุทธรณ์โดยขอถือเอาอุทธรณ์ฉบับเดิมที่ยื่นไว้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่และตกไปแล้วเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีคำสั่งให้โจทก์ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาตามความประสงค์ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้ก็ตาม แต่อุทธรณ์ที่ไม่ชอบนั้นเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่มิได้สั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ตั้งแต่แรก เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นผิดหลงส่งอุทธรณ์ที่ตกไปแล้วไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์โดยไม่ให้โอกาสแก่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งที่โจทก์ยังประสงค์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2563 ป.วิ.อ. มาตรา 134 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใดและทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย และทุกกระทงความผิดเสมอไป เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นเพิ่มเติมได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2563 จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกัน เพิ่งเลิกคบหากันก่อนเกิดเหตุเพียงหนึ่งเดือน ความสัมพันธ์ยังคงมีอยู่ไม่ถึงกับตัดขาดทีเดียว การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ตามหาผู้เสียหายที่ 2 ในขณะที่เพิ่งมีปากเสียงกัน จำเลยจึงอยู่ในสภาวะอารมณ์ขุ่นเคืองและโกรธ มากกว่าที่จะวางแผนหรือใคร่ครวญตรึกตรองหาวิธีทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เมื่อจำเลยเห็นผู้เสียหายที่ 2 บริเวณบ้านที่เกิดเหตุโดยบังเอิญ จำเลยเลี้ยวรถกลับไปจอดหน้าบ้านที่เกิดเหตุแล้วเดินเข้าไปหา ผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยก็วิ่งหนี จำเลยวิ่งตามไปใช้อาวุธมีดที่พกติดตัวมาแทงทำร้าย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ได้รับอันตรายสาหัส เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า จำเลยกระทำไปโดยขาดความยับยั้งชั่งใจและขาดสติด้วยคิดว่าผู้เสียหายที่ 2 ตีจากและหันไปคบกับผู้เสียหายที่ 3 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2563 ในคดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ก. เป็นจำเลย ภายหลังจากนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกสมาคมและตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว การฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องผิดตัว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องสมาคมเพื่อนำมูลหนี้ไปฟ้องผู้ชำระบัญชีของสมาคมโดยศาลชั้นต้นมีสั่งจำหน่ายคดี กรณีจึงถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่เช็คถึงกำหนด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 พ้นกำหนด 1 ปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2563 ฎีกาของจำเลยมีลักษณะเป็นการโต้แย้งว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว เป็นอุทธรณ์ที่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย เมื่อมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่ การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า นายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ เป็นคนละเหตุกับการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า โจทก์ยอมรับว่าได้ขับรถยกกล่องใส่เศษสะแคร็ปที่มีม้วนสายโทรศัพท์วางอยู่บนกล่องดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าหากได้นำไปขายต่อบุคคลภายนอก โดยไม่มีผู้ใดสั่งให้ยกมาเก็บไว้ในสถานที่ล่อแหลมพร้อมในการนำออกสู่ภายนอก การกระทำของโจทก์จึงส่อไปในทางทุจริต เป็นเหตุให้จำเลยไม่ไว้วางใจและขาดความเชื่อถือในการทำงานของโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2563 ความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 สำหรับโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์... ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีก็ได้ การกระทำในนามของโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งระบุว่าการลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ตามความในวรรคแรกต้องประทับตราของสหกรณ์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ คงมีแต่คณะกรรมการดำเนินการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ลงลายมือชื่อโดยมิได้มีการประทับตราของโจทก์กำกับไว้เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการดำเนินการได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้แทนสหกรณ์โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. ฟ้องคดีนี้ได้โดยชอบ ช. จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2563 จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปีเศษ ให้เข้าไปเอาขนมในบ้าน จึงเป็นการกระทำโดยใช้ขนมมาล่อผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้าน ถือเป็นกลอุบายส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายมากระทำชำเรา และเมื่อผู้เสียหายเข้าไปแล้วจำเลยก็ได้ปิดประตู จึงนับได้ว่าเป็นการพาไปโดยแยกอำนาจปกครองจากบิดามารดา และการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าละเมาะข้างทุ่งนา และพาผู้เสียหายจากบริเวณแท็งก์น้ำเข้าไปกระทำอนาจารในซอกแท็งก์น้ำ ล้วนเป็นการพาผู้เสียหายจากที่เปิดเผยเข้าไปในจุดลับตาผู้คน จึงเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาทั้งสิ้น เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563 ขณะถูกจับกุม น. และ ร. ไม่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักฐานเหมือนเช่น ส. และ จ. โดยมีเพียงสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างมาแสดงเท่านั้น หนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างดังกล่าวออกโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อรับรองว่า น. และ ร. ทำงานรับจ้างกับ ธ. นายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแม้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมิได้กล่าวถึงกรณีที่คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในราชอาณาจักรสามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตทำงานได้หรือไม่ แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (3) ออกนอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติหรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนี้ เมื่อ น. และ ร. ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานกับนายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น น. และ ร. จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจอีกทั้ง น. และ ร. ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างว่าจะเข้ารับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ น. และ ร. กลับว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศกัมพูชาแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งการที่ น. และ ร. เดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่ได้ไปรับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 (3) จึงมีผลให้การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นผลไป การที่จำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพา น. และ ร. จากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้อยู่แล้วว่า น. และ ร. เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2563 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยรวมทุกกระทงแล้วจำคุก 28 ปี 56 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563 จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียนและผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรถส่งคนโดยสารเพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337-8/2563 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องและได้นำเงินจำนวน 529,846.58 บาท มาวางที่ศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่ขอให้ศาลระงับการจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเพื่อการชำระหนี้หากคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่อมาเมื่อคดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ขอรับเงินที่จำเลยที่ 4 นำมาวางศาลดังกล่าวไปในวันที่ 22 เมษายน 2553 จำนวน 201,390.48 บาท และ 234,723.06 บาท ตามลำดับ คงเหลือเงินในวันดังกล่าว 105,843.04 บาท ศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิได้รับเงินที่เหลือทราบ หากจำเลยที่ 4 ทราบแล้วไม่มารับเงินภายในห้าปี เงินดังกล่าวจึงจะถือว่าเป็นเงินค้างจ่ายและทำให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่คดีนี้หลังจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับเงินแล้วปรากฏว่ามีเงินคงเหลือ ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 4 ผู้มีสิทธิรับเงินทราบ เงินดังกล่าวจึงยังไม่เป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่ศาลชั้นต้นที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกเอาเสียภายในห้าปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (เดิม) และยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563 พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2563 คู่ความตกลงท้ากันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาในคดีที่ ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. และโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยร่วมกันขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท หากผลคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร ให้ถือตามผลคดีนั้น คู่ความมิได้ตกลงกันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นข้อวินิจฉัยตามคำท้า คำท้าดังกล่าวต้องถือว่าคู่ความมีเจตนาถือเอาผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเป็นข้อวินิจฉัยในประเด็นที่ได้ท้ากัน เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าในคดีที่ท้ากันศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยชอบ ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตรงตามคำท้าที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 โจทก์ทั้งสองและจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำท้าที่ตกลงกันตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์ทั้งสองย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2563 ขณะเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธจี้ที่หลังผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายนั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายเบิกความและให้การว่า เมื่อหันไปมอง คนร้ายก็ร้องห้ามในทันทีว่าไม่ให้หันไปมอง เชื่อว่า ผู้เสียหายต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าหันมองไปอีก ผู้เสียหายจึงมีเวลาหันไปมองอาวุธที่จำเลยใช้จี้หลังผู้เสียหายในระยะเวลาอันสั้นมาก ทำให้สงสัยว่าผู้เสียหายมีโอกาสเห็นอาวุธที่คนร้ายใช้จี้หลังผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนดังที่ให้การในชั้นสอบสวนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหายเองว่าเป็นอาวุธปืน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายเห็นอาวุธที่จำเลยใช้จี้ชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายว่าเป็นอาวุธปืน ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้จากจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีและใช้อาวุธปืนชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2563 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นครูกระทำอนาจารเด็กหญิงอายุ 6 ปีเศษ และเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล โดยระบุเวลาในการกระทำความผิดระหว่างเดือนใดถึงเดือนใด ปี พ.ศ. อะไร เวลากลางวัน เพราะไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดได้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการขณะที่จำเลยรับราชการอยู่ที่โรงเรียนนั้น จึงเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติบังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยกลับฎีกาในปัญหาการกำหนดค่าสินไหมทดแทนขึ้นมาอีกจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2563 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เวลากลางวัน แต่ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณากลับปรากฏว่าเป็นเวลากลางคืน เวลาตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับวันเวลาที่กล่าวในฟ้อง แต่เมื่อได้ความตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดว่า ผู้เสียหายกล่าวหาว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เวลา 23 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลากลางคืน จำเลยให้การรับว่าในวันเกิดเหตุดังกล่าวจำเลยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และในชั้นพิจารณาจำเลยเบิกความแต่เพียงว่า ในวันดังกล่าวจำเลยจำไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด แสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ เมื่อข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2563 โจทก์บรรยายฟ้องระบุวันเวลากระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม 2560 เวลากลางวัน และระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งรวมเอาวันเสาร์และวันอาทิตย์เข้าไปด้วย แต่ก็เป็นเพราะโจทก์ไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดของจำเลยได้ อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการในช่วงระหว่างวันที่ซึ่งบรรยายไว้ในฟ้อง อันเป็นเพียงรายละเอียด การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 เว้นแต่โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ และ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์มาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทราบ การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด" เพียงเท่านี้ โดยไม่มีข้อความอื่นใดที่พอจะให้เข้าใจว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 22 ทวิ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2563 โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็กๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2563 แม้คดีนี้จะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า การพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยซื้อนกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกจาก น. โดยจำเลยไม่รู้ว่านกนั้นเป็นของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจร มิได้วินิจฉัยว่านกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกไม่ใช่ของโจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่านกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกเป็นของโจทก์ร่วม ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคแรก บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ และวรรคสอง บัญญัติว่า ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาที่แท้จริง ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563 เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563 โจทก์และจำเลยได้ประชุมและตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างแล้ว แม้จำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้โจทก์เข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้เลื่อนการจัดงานและมีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โจทก์มีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการเบื้องต้นแก่จำเลย พร้อมสรุปค่าใช้จ่ายให้ทราบแล้ว จำเลยขอเจรจาปรับลดยอดค่าใช้จ่าย โจทก์ยอมลดลงให้แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานสัมมนาและนิทรรศการตามฟ้องไปบางส่วน ตามที่ได้รับการอนุมัติจากจำเลยจริง ซึ่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยตรง การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกัน ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่โจทก์ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน การชุมนุมทางการเมืองตามที่จำเลยอ้าง ยังไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง และมาตรา 372 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2563 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 แล้วศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์และทนายจำเลยฟังวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ต้องถือว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไม่ใช่วันที่อ่านให้ทนายจำเลยฟัง จำเลยมีอำนาจยื่นฎีกาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จึงต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย โดยไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 23/2563 การริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 78 เป็นดุลพินิจของศาลว่าสมควรริบหรือไม่ตามพฤติการณ์แห่งคดี มิใช่บทบังคับเด็ดขาดให้ศาลต้องริบเสมอ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายกระบือจากสัตวแพทย์ผู้รับผิดชอบ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ากระบือเพศเมียทั้งสี่ตัวของผู้ร้องติดโรคระบาด ทั้งไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์ ประกอบกับกระบือตามปกติใช้ในการประกอบอาชีพกสิกรรมของประชาชน จึงยังไม่สมควรริบกระบือเพศเมีย 4 ตัว และรถบรรทุก ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1-3/2563 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง

คำสั่งคำร้องที่ ครพ.ภษ. 1235/2563 โจทก์นำเข้าสินค้ายางรถยนต์จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเภทพิกัด 4011.10.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 โจทก์ชำระอากรขาเข้าและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปล่อยสินค้าแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระไปแล้ว 824,678 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นเอกสารการขอใช้สิทธิในขณะผ่านพิธีการ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมศุลกากร และจำเลยยกอุทธรณ์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ขอคืนเงินอากรโดยนำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาแสดงภายหลังได้ผ่านพิธีการและรับมอบของจากอารักขากรมศุลกากรโดยมิได้สงวนสิทธิขอคืน จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจาณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) และมาตรา 9 ซึ่งบัญญัติให้ต้องดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า ที่ใช้บังคับในขณะนั้น เมื่อปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้า ว่าโจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในวันที่ 12 กันยายน 2555 และวันที่ 24 ตุลาคม 2555 และโจทก์ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับ ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 จึงเป็นการใช้สิทธิขอคืนเงินอากรภายใน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว และกรณีเป็นการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะต้องการใช้สิทธิตามข้อผูกพันตามความตกลงทางการค้าสินค้าของอาเซียน ไม่ใช่กรณีคำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรตามมาตรา 10 วรรคห้าตอนท้าย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินอากรได้ ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรที่ออกโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้นำของเข้าที่ประสงค์จะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 1) ให้ผู้นำของเข้าแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า บัญชีราคาสินค้าที่มีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือเอกสารทางการค้าอื่นที่มีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาเอกสารว่าเป็นไปตามข้อผูกพันตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) และข้อผูกพันตามพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนหรือไม่ หรือ 2) หากผู้นำของเข้าไม่สามารถแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนการนำของออกจากอารักขาศุลกากรได้ ผู้นำของเข้าต้องแจ้งความจำนงเพื่อการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรก่อนการนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งหากผู้นำของเข้าไม่ปฏิบัติตามให้ครบหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ผู้นำของเข้าก็ต้องชำระอากรในอัตราปกติและไม่ได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งปรากฏว่าโจทก์ชำระอากรขาเข้าและได้รับมอบของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และโจทก์มิได้แสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ก่อนการนำของออกจากอารักขาศุลกากร หรือแจ้งความจำนงเพื่อการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร และอย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าบัญชีราคาสินค้าหรือเอกสารทางการค้าอื่นจัดทำโดยผู้ส่งออกรับอนุญาตและมีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของภาคีสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมในโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน ลงวันที่ 6 มกราคม 2555 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรพร้อมดอกเบี้ยคืนจากการนำเข้าสินค้าพิพาท

คำวินิจฉัยที่ 118/2563 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายในการที่ให้มีศาลทหารแยกต่างหากจากศาลพลเรือนก็เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่กระทำความผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญาต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีในอำนาจของศาลทหาร เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกครองบังคับบัญชาและส่งเสริมอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหาร อันเป็นการยึดหลักเขตอำนาจศาลเหนือตัวบุคคลผู้กระทำผิดซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และเป็นการยกเว้นอำนาจศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่ให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยมุ่งหมายที่จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ ในข้อหาบุกรุก ลักทรัพย์ และจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่เมื่อกองบัญชาการกองทัพไทย จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ จึงมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการที่จำเลยที่ ๒ อนุมัติคำสั่งให้โจทก์ที่ ๒ ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการของโจทก์ที่ ๒ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากต้องออกจากราชการ เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองประสงค์จะดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามมาตรา ๑๓ ทั้งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ในความผิดข้อหา ให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน โดยมีข้อเท็จจริงว่าขณะที่จำเลยที่ ๒ ให้การเป็นพยาน จำเลยที่ ๒ เกษียณอายุราชการแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ ๒ จึงมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในขณะกระทำผิด คดีนี้จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคดีจะอยู่ ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือศาลยุติธรรมอื่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมต่อไป

คำวินิจฉัยที่ 116/2563 คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องกรรมการบริหารพัฒนาพิงคนคร ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่ ๑ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามการชี้มูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ออก โดยเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า มีมูลความผิดอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วย การจัดตั้งองค์การมหาชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๙๘ วรรคแรก ที่เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับมาตรการในการปราบปรามการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัย คำสั่งลงโทษไล่ออกดังกล่าว จึงมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องสิ้นสุดสถานภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นการระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ฟ้องคดีโดยตรง จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลปกครองว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยอันเป็นผลมาจากสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง การลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา นอกจากนี้มาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ และให้การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่อาจพบได้ในการดำเนินงานของนิติบุคคลเอกชน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จ้างผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน แต่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัยที่ 115/2563 แม้คดีนี้เอกชนผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาสองพี่น้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อำเภอสองพี่น้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และองค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาสองพี่น้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง "หนองลาดตะเพียน" โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ นำชี้และรังวัดแนวเขตที่ดินรุกล้ำที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๓๒ ของบิดาผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ ๙๐.๘ ตารางวา อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และอยู่นอกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๒ โดยผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดิน กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันอยู่ในเขตอำเภอ ว่าที่ดินเนื้อที่ ๙๐.๘ ตารางวานั้น เป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๓๒ ของบิดาผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และโดยที่กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ข้อ ๒ วรรคสอง กำหนดว่า "ในกรณีที่มีผู้คัดค้าน ให้อธิบดีรอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้วดำเนินการ ดังนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและ ไม่ไปใช้สิทธิทางศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คัดค้าน ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ หากผู้คัดค้านไปใช้สิทธิทางศาล ให้รอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่คัดค้านจนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าผู้คัดค้าน ไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น" ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งแสดงสิทธิในที่ดินพิพาท คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 114/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ อำเภอบุณฑริก ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยข่า ที่ ๓ กำนันตำบลห้วยข่า ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองเป็นโมฆะ กับขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ ที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันมีลักษณะเป็นการตั้งรูปเรื่องการฟ้องคดีเป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) มาด้วยก็ตาม ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 113/2563 คดีที่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชน ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลหลักห้า ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนาง จ. ตามคำสั่งศาล โดยนาง จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๑๑ ได้อนุญาตด้วยวาจาให้กำนันตำบลยกกระบัตร สร้างศาลาที่พักผู้โดยสารชั่วคราวบนที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน ๕ ตารางวา จากนั้น นาง จ. อนุญาตด้วยวาจาให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ซ่อมแซมศาลาที่พักโดยมีเงื่อนไขให้รื้อถอนเมื่อนาง จ. ถึงแก่ความตาย แต่หลังจาก นาง จ. ถึงแก่ความตาย ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่รื้อถอน อ้างว่าศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนให้ประโยชน์ร่วมกันมานาน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนศาลา ที่พักผู้โดยสารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๑๑ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ถูกฟ้องคดีภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมี คำพิพากษา หากไม่รื้อถอนให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้รื้อถอนโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การสรุปได้ว่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ยืนยันว่าไม่มีข้อตกลงให้รื้อถอนศาลาที่พัก และผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถรื้อถอนศาลาที่พักเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การกระทำของนาง จ. ถือได้ว่านาง จ. ได้อุทิศที่ดินบริเวณดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยปริยาย ศาลาที่พักดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีมาจากข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองว่า นาง จ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๑๑ ได้อนุญาตด้วยวาจาให้สร้างศาลาที่พักผู้โดยสารบนที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ไม่เกิน ๕ ตารางวา โดยมีข้อตกลงให้ รื้อถอนศาลาที่พักผู้โดยสารออกไปเมื่อนาง จ. ถึงแก่ความตาย แต่เมื่อภายหลังนาง จ. ถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอน ผู้ถูกฟ้องคดีกลับไม่ดำเนินการรื้อถอน อ้างว่าศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเป็นเวลานาน และที่ดินบริเวณที่มีการสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารนาง จ. ได้อุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยปริยาย ศาลาที่พักดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ฟ้องต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของนาง จ. การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนาง จ. ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 112/2563 คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องปฏิรูปที่ดินจังหวัดพังงา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑ โดย รับให้มาจากมารดา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) เลขที่ ๑๔๒๗ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับซ้อนที่ดินดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่ออกทับซ้อนที่ดินของ ผู้ฟ้องคดี และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรม ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จึงมีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาทำการปฏิรูปได้ การจัดที่ดินให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมาย การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑ มารดาผู้ฟ้องคดีขายให้แก่บิดาของตน แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน โดยบิดาเข้าครอบครองที่ดินและปลูกต้นปาล์มน้ำมันทั้งแปลง จากนั้นส่งมอบการครอบครองให้แก่ตน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายไม่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทับที่ดินมีเอกสารสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑ ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ อ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิและพิสูจน์สิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 111/2563 คดีนี้เอกชนยื่นฟ้องสำนักงานก่อสร้างทางที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างทางหลวงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าปรับที่นาและผลผลิตทางการเกษตร (ข้าว) เสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินและปรับสภาพที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ถูกรุกล้ำให้กลับคืนสภาพเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวง สายแยกทางหลวงหมายเลข ๒๔ จาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร รวมระยะทาง ๑๒.๘๑๕ กิโลเมตร ในการก่อสร้างทางดังกล่าวได้ดำเนินการในเขตทางเดิมและเขตทางใหม่ที่จะต้องเวนคืนเพิ่ม แต่ที่ดินโฉนดพิพาทไม่ได้ถูกเวนคืน และไม่ได้สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่าได้ก่อสร้างทางหลวงในเขตทางเดิมไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นเขตทางเดิมจะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจก่อสร้างถนนได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 110/2563 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลดงขวาง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และนายช่างรังวัด ที่ ๔ นายอำเภอเมืองนครพนม ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า การดำเนินการเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อนำรูปแผนที่การรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ ลงที่หมายในระวางแผนที่แล้วปรากฏว่ารูปแผนที่ไม่ทับที่ดินแปลงข้างเคียงและที่สาธารณประโยชน์รวมถึงที่ดินของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าขอให้ศาลเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ โดยอ้างเหตุผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รังวัดรุกล้ำที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทั้งแปลงอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๕ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ ส่วนคำขอให้เพิกถอนการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์เป็นผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 109/2563 ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า คดีนี้ นางสาวขนิษฐา เฒ่าอุดม ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๙๑๐๔ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๗ ตารางวา พร้อมบ้าน ๑ หลัง ติดคลองส่งน้ำชลประทาน มีหลักเขตคลองส่งน้ำชลประทานของผู้ถูกฟ้องคดีปักอยู่นอกกำแพงบ้าน ต่อมาเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีนำหลักเขตคลองส่งน้ำชลประทานมาปักใหม่ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีบริเวณที่ระยะ ๒ เมตร จากจุดเดิม และทุบทำลายหลักเขตชลประทานเดิมออก ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีย้ายหลักเขตชลประทานดังกล่าวกลับที่เดิมและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย รวม ๒๗๐,๘๔๒ บาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีทุบทำลายหลักเขตเดิมและปักหลักเขตใหม่เนื่องจากมีการซ่อมแซมเขตชลประทานดังกล่าว โดยเขตคลองชลประทานฝั่งขวาต้องกว้าง ๑๐ เมตรแต่หลักเขตเก่าที่ปักอยู่ติดกำแพงบ้านผู้ฟ้องคดี มีความกว้างประมาณ ๘ เมตร ซึ่งไม่ตรงกับระยะเขตคลองของโครงการ จึงต้องปักหลักเขตใหม่ที่ระยะ ๑๐ เมตร และทำลายหลักเขตเดิม เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำฟ้องนี้ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เมื่อพิจารณาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรคดีนี้กรมชลประทานผู้ถูกฟ้องคดี เป็นราชการส่วนกลาง ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบมาตรา ๑๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่การปักหลักเขตคลองส่งน้ำชลประทานเพื่อดำเนินการตามโครงการอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง จังหวัดอุดรธานีเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ในเรื่องการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำ หรือกัก เก็บรักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภคหรือการอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน กฎหมายว่าด้วยคันและคูน้ำ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๗การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ได้มาซึ่งอ่างเก็บน้ำตามโครงการดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทุบทำลายหลักเขตคลองส่งน้ำเดิมที่อยู่นอกรั้วบ้านของผู้ฟ้องคดีและปักหลักเขตใหม่เข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีรับว่าได้ทำลายหลักเขตเดิมและปักหลักเขตใหม่ เพื่อให้เขตคลองส่งน้ำฝั่งขวามีความกว้าง ๑๐ เมตร โดยไม่ได้ให้การโต้แย้งว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ฟ้องคดี ทั้งยังให้การว่าเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลังจากฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อส่งช่างรังวัดมารังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องแนวเขตของกรมชลประทานกับแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทำลายหลักเขตเดิมและปักหลักเขตใหม่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบแนวเขตที่ดินอย่างชัดแจ้งนั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ทั้งผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลปกครองอุดรธานี ตามข้อ ๑๗ ของข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องการพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด แต่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

คำวินิจฉัยที่ 108/2563 กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า ข้อตกลงเช่าอุปกรณ์วิทยุสื่อสารระหว่างโจทก์กับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จำเลย ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ โดยรัฐบาลได้รับโอนกิจการเข้ามาดำเนินงานในรูปแบบองค์กรของรัฐบาล และมอบหมายให้บริหารการจราจรทางอากาศ การสื่อสารการบิน การให้บริการระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน ให้บริการข่าวสารการเดินอากาศและงานแผนที่เดินอากาศ อันเป็นภารกิจของรัฐ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาที่จะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม จำเลยอาจเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองได้ หากจำเลยได้กระทำการตามหน้าที่หรืออำนาจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ นอกเหนือจากนี้แล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการดำเนินการในฐานะบริษัทจำกัดเช่นเดียวกับนิติบุคคลเอกชนทั่วไป เมื่อพิจารณาเนื้อหาของข้อตกลงเช่าอุปกรณ์วิทยุสื่อสารที่พิพาท มีสาระสำคัญเพียงจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเช่าอุปกรณ์วิทยุสื่อสารเพื่อใช้ในกิจการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าเช่ารายเดือน มิใช่การให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ให้บริการสื่อสารการบิน และให้บริการเครื่องช่วยการเดินอากาศ ที่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะถือได้ว่าจำเลยกระทำการในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง การกระทำของจำเลยตามข้อตกลงนี้จึงไม่ทำให้จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อตกลงหรือสัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาเป็นเอกชนด้วยกัน จึงเป็นสัญญาทางแพ่งไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 107/2563 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่ ๑ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามการชี้มูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ออก โดยเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า มีมูลความผิดอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การมหาชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๙๘ วรรคแรก ที่เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับมาตรการในการปราบปรามการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัย คำสั่งลงโทษไล่ออกดังกล่าว จึงมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องสิ้นสุดสถานภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นการระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ฟ้องคดีโดยตรง จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลปกครองว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยอันเป็นผลมาจากสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง การลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา นอกจากนี้มาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ และให้การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่อาจพบได้ในการดำเนินงานของนิติบุคคลเอกชน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จ้างผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน แต่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัยที่ 106/2563 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่ ๑ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามการชี้มูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ออก โดยเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า มีมูลความผิดอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การมหาชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๙๘ วรรคแรก ที่เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับมาตรการในการปราบปรามการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัย คำสั่งลงโทษไล่ออกดังกล่าว จึงมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องสิ้นสุดสถานภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นการระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ฟ้องคดีโดยตรง จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลปกครองว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยอันเป็นผลมาจากสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง การลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา นอกจากนี้มาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ และให้การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่อาจพบได้ในการดำเนินงานของนิติบุคคลเอกชน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จ้างผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน แต่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัยที่ 103/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๓ เนื้อที่ ๒๐ ไร่ ต่อเนื่องจากบิดาซึ่งครอบครองที่ดินมาก่อนที่จะมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ แต่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ บางส่วน จนถูกฟ้องคดีอาญาฐานความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดินต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีและศาลจังหวัดเดชอุดม ทั้งสองศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้กระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๑๔๘๘๖ ที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันมีลักษณะเป็นการตั้งรูปเรื่องการฟ้องคดีเป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) มาด้วยก็ตาม ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 102/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ส. ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ส. ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี สรุปคำฟ้องได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ ซึ่งออกมาจากหลักฐานตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙๘ และ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๑๕ ต่อมามีการออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ (ศาลตาปู่สาธารณประโยชน์) ทับซ้อนกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ และเทพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๗๖๙๙ ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีได้สร้างรั้วลวดหนามปิดกั้นถนนคอนกรีตที่สร้างรุกล้ำเขตที่ดินพิพาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ "ศาลตาปู่" ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ และแก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ โดยนำพื้นที่ส่วนที่เพิกถอน น.ส.ล. กลับคืนตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของผู้ฟ้องคดีและปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ "ศาลตาปู่" เป็นที่ดินของรัฐ อยู่ในเขตรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและรั้วลวดหนามพิพาทอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ศาลตาปู่ ตาม น.ส.ล. เลขที่ ๑๑๗๓ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า การออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๗๖๙๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ออก น.ส.ล. เลขที่ ชย ๑๑๗๓ ทับซ้อนกับโฉนดเลขที่ ๔๗๖๙๙ ของผู้ฟ้องคดี และบริเวณที่ตั้งศาลตาปู่มีการเทพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๗๖๙๙ โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ กระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เป็นละเมิด ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 101/2563 คดีที่ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาน้ำพอง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ และองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม ที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุแห่งการฟ้องคดี ๒ ข้อหา ข้อหาแรก ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการรังวัดสอบเขตที่ดินของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีการแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงครบทุกคน ช่างรังวัดไม่ดำเนินการรังวัดด้วยตนเองโดยปล่อยให้คนงานส่องกล้องและถือปริซึมรีเฟกต์ทำงานกันเอง และกระทำการล่าช้าโดยเลื่อนนัดรังวัดและไกล่เกลี่ยหลายครั้งตั้งแต่วันยื่นคำร้อง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการต้องเดินทางมาสำนักงานที่ดินหลายครั้ง โดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สังกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินหลายครั้งเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีในข้อหาแรกนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนคำฟ้องข้อหาที่สอง การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่อาจรังวัดที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีได้สำเร็จเนื่องจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง และผู้แทนนายอำเภอกับผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คัดค้านการรังวัดสอบเขตว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของตนและถนนสาธารณประโยชน์ โดยมี คำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการย้ายแนวเขตทางสาธารณะออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้รื้อบ้านเลขที่ ๑๒๘ ของนางสาว จ. เพื่อคืนพื้นที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น การกระทำของเจ้าของที่ดินข้างเคียง และผู้แทนนายอำเภอน้ำพอง กับผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่คัดค้านการรังวัดนำชี้แนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกันรังวัดสอบเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินข้างเคียงหรือที่ดินสาธารณะ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในกรณี การคัดค้านการรังวัดที่ดินตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนี้ ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินส่วนพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้สอบสวนไกล่เกลี่ยผู้ฟ้องคดีที่ขอรังวัดสอบเขตที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านที่มีการคัดค้านแล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันได้ โดยตกลงกันว่าคู่กรณีจะไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินต่อไป ตามบันทึกการไกล่เกลี่ย ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีตามข้อหาที่สองนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะในเขตพื้นที่ตำบลท่ากระเสริม ข้อหาที่สองซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันนี้จึงแยกออกได้จากข้อหาแรกในเรื่องการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้ศาลบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดสอบเขตที่ดินและ ปักหมุดโฉนดให้ได้พื้นที่ครบตามโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการย้ายแนวเขตทางสาธารณะออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารออกจากแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ก็เป็นผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเป็นคำขอที่แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีย่อมนำคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไปขอให้เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องบังคับให้เป็นไปตามสิทธิของผู้ฟ้องคดีได้ เพราะคำวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๔๕ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นสิทธิในทางทรัพย์สินของบุคคล เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น ข้อหาที่สองนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 100/2563 คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่ ๑ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามการชี้มูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ออก โดยเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า มีมูลความผิดอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การมหาชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๙๘ วรรคแรก ที่เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับมาตรการในการปราบปรามการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัย คำสั่งลงโทษไล่ออกดังกล่าว จึงมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องสิ้นสุดสถานภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นการระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ฟ้องคดีโดยตรง จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลปกครองว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยอันเป็นผลมาจากสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง การลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา นอกจากนี้มาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ และให้การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่อาจพบได้ในการดำเนินงานของนิติบุคคลเอกชน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จ้างผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน แต่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัยที่ 99/2563 คดีที่สำนักงานศาลปกครอง โจทก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดคืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๒๔/๒๕๖๑ วินิจฉัยว่า ตามระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้ข้าราชการที่มี สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้นจะต้องเป็นข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงาน ในต่างท้องที่กับท้องที่เริ่มรับราชการครั้งแรก และท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกจะต้องเป็นท้องที่ ที่สำนักงานได้เปิดทำการแล้ว โดยพบว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุมัติสิทธิการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านโดยไม่ชอบตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นคดีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้องให้รับผิดเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการชดใช้เงิน ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการกระทำอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นั้น ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โดยการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปนั้น มิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 98/2563 คดีนี้ โจทก์ทั้งแปดเป็นเอกชนยื่นฟ้องโรงเรียนโยธินบูรณะ จำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรเคมบริดจ์หรือโครงการนานาชาติ (YBIP : Yothinburana International Program) ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๙ ให้มีคุณภาพตามที่จำเลยโฆษณาไว้ โจทก์ทั้งแปดไม่มั่นใจคุณภาพการให้บริการการศึกษาในหลักสูตรของจำเลยจึงลาออกไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาแห่งอื่น ทำให้โจทก์ทั้งแปดเสียหาย เห็นว่า คดีนี้ จำเลยเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ เป็นต้น จำเลยจึงเป็นสถานศึกษาที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้จัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาหรือดำเนินกิจการทางปกครองด้านการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานโดยตรง ตามมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อพิจารณาเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่โจทก์ทั้งแปดกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรให้มีคุณภาพตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งแปดไม่มั่นใจคุณภาพการให้บริการการศึกษาในหลักสูตรของจำเลย จึงได้ลาออกไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาแห่งอื่น เมื่อการจัดการศึกษาตามหลักสูตรของจำเลยได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาของรัฐ อันเป็นการใช้อำนาจรัฐจัดทำภารกิจของรัฐในด้านการศึกษาและอยู่ในกำกับดูแลของรัฐ จึงเป็นเรื่องการฟ้องว่าจำเลยละเลยไม่จัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 97/2563 คดีนี้ เอกชนยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๑ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญาเช่าระบบแจ้งเตือนภัยผู้บุกรุกและอัคคีภัยอัตโนมัติ สำหรับ Unmanned Substation กับผู้ฟ้องคดี เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของสัญญาพิพาท เป็นสัญญาเช่าระบบพร้อมอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยผู้บุกรุกและอัคคีภัยอัตโนมัติ สำหรับ Unmanned Substation โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ให้เช่าและติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยที่อาคารควบคุมสถานีไฟฟ้า จำนวน ๒๔ แห่ง และเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิด Workstation และซอฟต์แวร์บริหารจัดการ (Management Software) จำนวน ๑๓ จุด เพื่อติดตั้งศูนย์เฝ้ามองระบบทั้งหมดที่ศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าเขต ๑ ภาคกลาง และติดตั้งศูนย์เฝ้ามองระบบย่อยที่หน่วยปฏิบัติงานสถานีไฟฟ้า (หน่วย Unman ) จำนวน ๑๒ แห่ง รวมเป็น ๑๓ แห่ง โดยต้องติดตั้งระบบที่เช่าให้ถูกต้องครบถ้วนในลักษณะพร้อมใช้งาน รวมถึงทดสอบระบบการใช้งานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของผู้เช่าให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาและได้รับการส่งมอบพื้นที่จากผู้เช่า กำหนดระยะเวลาเช่า ๓๖ เดือน ตกลงชำระค่าเช่างวดละ ๑ เดือน รวม ๓๖ งวด ดังนั้น ลักษณะของสัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินและผู้ให้เช่ามีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์ซึ่งให้เช่าแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้เช่า และฝึกอบรมพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ใช้งานระบบที่เช่า โดยบุคคลที่เป็นผู้ดำเนินการใช้งานระบบตลอดระยะเวลาการเช่าเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ใช่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าเช่าทรัพย์สิน ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาให้เช่าระบบป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินและอัคคีภัยที่อาคารควบคุมสถานีไฟฟ้าเท่านั้น มิใช่สัญญาที่มีข้อกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เช่าต้องเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือดำเนินการใดในหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่ายไฟฟ้า อันจะถือได้ว่าสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้วยกันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เมื่อสัญญาพิพาทไม่เข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดของบทนิยาม "สัญญาทางปกครอง" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทตามคำฟ้องในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เป็นแต่เพียงสัญญาทางแพ่งของหน่วยงานทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อคำฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ฟ้องแย้งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมด้วย

คำวินิจฉัยที่ 96/2563 คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศแม้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามบทนิยามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทตามคำฟ้องในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 95/2563 คดีที่บริษัทเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวแทนหรือผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้รับเหมาจัดงานกิจกรรมประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเดิมจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างโจทก์ให้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟตามโครงการส่งเสริมสนับสนุนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ สวนสาธารณะพญาแถน และเขตเทศบาลเมืองยโสธร ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๐๒/๒๕๕๘ และต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ติดต่อด้วยวาจาให้โจทก์จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดยโสธร จำนวน ๘ อำเภอ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้จัดงานทั้งหมดตามโครงการฯ และส่งมอบงานแล้ว แต่กลับได้รับเงินค่าจ้างเฉพาะการจัดงานที่จัดขึ้น ณ สวนสาธารณะพญาแถน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยไม่ได้รับเงินค่าจ้างในส่วนงานที่จัดขึ้นใน ๘ อำเภอ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นใน ๘ อำเภอ พร้อมดอกเบี้ย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา แต่โดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เท่านั้น กรณีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่าสัญญาจ้างเหมาจัดงานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนกลาง มีฐานะเป็นกระทรวง ตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบมาตรา ๕ (๕) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และโดยที่มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อพิจารณาขอบเขตของงานหรือกิจกรรมที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวแทนหรือผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ได้ติดต่อด้วยวาจาให้โจทก์จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟอีก ๑ โครงการ ระหว่างวันที่ ๑-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ โดยมีสถานที่จัดงานตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดยโสธร จำนวน ๘ อำเภอ ซึ่งมีเนื้อหาและขอบเขตของงานลักษณะเดียวกับสัญญาจ้างเลขที่ ๐๒/๒๕๕๘ ที่ตกลงกันให้โจทก์รับจ้างเหมาตามโครงการส่งเสริมสนับสนุนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอเมืองยโสธรจังหวัดยโสธร ประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ สวนสาธารณะพญาแถน และเขตเทศบาลเมืองยโสธร นั้น จะเห็นได้ว่า มีเนื้อหาเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและเผยแพร่ประเพณีบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธรซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาคอีสาน อันเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดยโสธรซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ ๑ ว่าจ้างให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการมอบหมายให้โจทก์เข้าร่วมดำเนินกิจการบริการสาธารณะในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองประเภทหนึ่ง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

คำวินิจฉัยที่ 94/2563 คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาและหอพักบุคลากรพร้อมรายการประกอบ ฯ แม้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามบทนิยามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทตามคำฟ้อง ในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 93/2563 บทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้จำกัดเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นที่จะยื่นคำร้องได้ ทั้งไม่จำต้องเป็นคู่ความเดียวกัน ที่สลับกันเป็นคู่ความแต่ละฝ่ายในแต่ละศาล เมื่อผู้ร้องอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผลของคำวินิจฉัยที่ศาลต่างระบบรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำเดียวกันในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันขัดแย้งกันผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องได้ ส่วนกำหนดเวลาที่ให้ยื่นคำร้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาฉบับหลังถึงที่สุด หาใช่อายุความที่จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา การที่ศาลแต่ละระบบรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันซึ่งอาจแตกต่างกันกระทั่งขัดแย้งกันย่อมทำให้ผลของการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายนั้นส่งผลให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของแต่ละศาลขัดแย้งกันไปด้วย การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแต่ละระบบเป็นเหตุประการหนึ่งที่ผู้ร้องจักแสดงให้เห็นว่ามีความขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน การที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่แม้จะเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ก็มิใช่ข้อจำกัดที่จะเป็นเหตุให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ อ.๔๙๐/๒๕๖๐ ซึ่งขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลอาญา หมายเลขแดงที่ อ. ๗๙๖/๒๕๕๙ (ต่อมาโอนมาเป็น คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หมายเลขแดงที่ อท. (ผ) ๓๕/๒๕๕๙) ในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยเหตุสืบเนื่องจากการที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการ ฐานประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ การที่ศาลยุติธรรมวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรและไม่ได้เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา คดีถึงที่สุด กับการที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการทั้งหมด แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า คำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ไล่ผู้ร้อง (ผู้ฟ้องคดี) ออกจากราชการและกระบวนการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาเพื่อลงโทษทางวินัยผู้ร้องทั้งหมดนั้นชอบด้วยกฎหมาย การวินิจฉัยข้อเท็จจริงทั้งในศาลปกครองและในศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การปลอมเอกสาร ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันนั้นเป็นกรณีที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันนี้ในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมฉบับที่ผู้ร้องอ้าง ประกอบกับการที่ผู้ร้องมีคำขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ได้ทุจริตจากการแก้ไขเอกสารราชการ ตามคำพิพากษาศาลยุติธรรมเพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำพิพากษาและยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๖๕/๒๕๕๕ อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องมุ่งหมายให้ถือตามผลของคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับที่ผู้ร้องขอให้บังคับนั้นมิใช่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการไม่รับวินิจฉัย แม้การรับฟังข้อเท็จจริงกรณีผู้ร้องมีพฤติการณ์อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ผู้ร้องอ้างเป็นเหตุหลักในคำร้องจะเป็นกรณีที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ว่าคณะกรรมการจะวินิจฉัยให้ในทางใด ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการในส่วนนี้ก็ไม่มีผลกระทบถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในส่วนอื่น กรณีไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องว่าจะให้ถือตามคำพิพากษาของศาลใด จำหน่ายคดีจากสารบบความ

คำวินิจฉัยที่ 91/2563 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำการ อันเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ (๑) กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๓, ๑๗๔ ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิดได้กระทำความผิดอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนที่จำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลทหารว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง นาย ก. ต่อศาลจังหวัดฝาง จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๔ (๒) นั้น เห็นว่า คดีของศาลจังหวัดฝาง เป็นเรื่องที่จำเลยร้องทุกข์กล่าวโทษนาย ก. ต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ก. ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำให้เสียทรัพย์ และทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ ศาลจังหวัดฝางพิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีของศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๓ นี้ เป็นเรื่องที่นาย ก. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่านาย ก. ชกต่อยทำร้ายร่างกายจำเลยจนได้รับบาดเจ็บแก่กายและจิตใจ ซึ่งอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้จำเลยกับนาย ก. ต่างสลับกันเป็นจำเลยในคดีทั้งสอง แต่การกระทำตามคำฟ้องในคดีทั้งสองเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างวาระกัน ฐานความผิด วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีอาญาที่นาย ก. ถูกจำเลยแจ้งความและพนักงานอัยการยื่นฟ้องนาย ก. ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำให้เสียทรัพย์ และทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว โดยการขู่เข็ญต่อศาลจังหวัดฝาง เป็นแต่เพียงคดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ทำให้เกิดคดี ที่ศาลจังหวัดฝางเท่านั้น เมื่อคดีนี้มิใช่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลพลเรือน ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๒) ที่จะเป็นข้อยกเว้นเขตอำนาจของศาลทหาร จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

คำวินิจฉัยที่ 90/2563 คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ที่ ๑ ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ที่ ๒ นาย ม. ที่ ๓ นาย ป. ที่ ๔ จำเลย จากการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าหลังที่ ๑ และหลังที่ ๒ และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าคลังสินค้า เพื่อใช้เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้โรงสีส่งมอบตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี ๒๕๕๕ และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต ๒๕๕๖ และสัญญาจ้างเหมาโจทก์ขนย้ายข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต ๒๕๕๖ เก็บในคลังสินค้า แต่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าเช่าบางส่วน ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเช่าคลังสินค้าพร้อมดอกเบี้ย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าคลังสินค้าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ แต่โดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเท่านั้น กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า สัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๑๗ และพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อันมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์และลักษณะของสัญญาเช่าคลังสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แล้ว มีวัตถุประสงค์เพียงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ส่งมอบคลังสินค้าพร้อมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก โดยให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน กับกำหนดความรับผิดของโจทก์ในกรณีข้าวสารหรือกระสอบบรรจุข้าวสารเสื่อมคุณภาพเสียหายอันเกิดจากสถานที่เช่าไม่เหมาะสมกับการเก็บรักษาเท่านั้น สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ ตามมูลค่าข้าวสารค้างส่งมอบและค่าปรับตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ อันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถส่งข้าวสารตามคำสั่งแปรสภาพเข้าคลังสินค้าภายในระยะเวลาตามที่กำหนด เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางก็ตาม แต่ประเด็นแห่งคดีเป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการฝากเก็บ การแปรสภาพและการจัดจำหน่ายข้าวอันเป็นสัญญาคนละประเภทกับคดีพิพาทนี้ และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เป็นสัญญาทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 89/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไทร ที่๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไทร ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขาปราสาทที่ ๓ผู้ถูกฟ้องคดี ระหว่างพิจารณาศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งเรียกนายอำเภอปราสาทเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ สรุปคำฟ้องได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิซึ่งติดกับหนองทนงหรือหนองต่วน (หนองน้ำสาธารณะ) แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑นำป้ายประกาศที่สาธารณะประจำหมู่บ้านหนองทนง หมู่ที่ ๒ และป้ายประกาศห้ามบุกรุกที่ดินไปปักไว้ในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดครอบครอง นำดินไปถมในที่ดินรื้อรั้วลวดหนามของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดและขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ รังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดไม่สามารถทําประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ ระงับการถมดินและปรับสภาพที่ดินให้เป็นดังเดิม ให้ระงับการรังวัดที่ดินพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงบริเวณที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมาย และการถมดินที่ดินพิพาทเพื่อทำสนามฟุตบอลชั่วคราวสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดไม่ได้รับความเสียหาย เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ถึงที่ ๔ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่า ผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑นำป้ายประกาศที่สาธารณะประจำหมู่บ้านหนองทนง หมู่ที่ ๒ และป้ายประกาศห้ามบุกรุกที่ดินไปปักแสดงไว้ในที่ดินพิพาท นำดินถมในที่ดินพิพาทรื้อรั้วลวดหนามของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดและนำรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครองโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เป็นละเมิด ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 88/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมทรัพยากรน้ำ ที่ ๑ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๓ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลนางัว ที่ ๓ บริษัท ส. ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๓๗ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๓๙ และเลขที่ ๑๙๔๐ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไถขุดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแข้ใหญ่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่เคยอุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๓๗ เป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๓๙ และเลขที่ ๑๙๔๐ เป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปรับสภาพที่ดินทั้งสามแปลงให้กลับสู่สภาพเดิม หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งน้ำแข้ใหญ่ และที่ดินริมแหล่งน้ำหนองแข้ใหญ่ซึ่งเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันและสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน การดำเนินการโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแข้ใหญ่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า สภาพพื้นที่ก่อนการก่อสร้างเป็นหนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เห็นว่า แม้กรมทรัพยากรน้ำ ที่ ๑ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๓ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลนางัว ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแข้ใหญ่รุกล้ำที่ดิน (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำมีสภาพเป็นหนองน้ำสาธารณะซึ่งเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์จึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่กระทำละเมิดต่อ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่กระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่หากที่ดินพิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณะซึ่งเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่มีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 87/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย อ้างว่า โจทก์นำคำพิพากษาคดีถึงที่สุดของศาลฎีกาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลย เพื่อให้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ให้คำแนะนำแก่โจทก์ผิดพลาดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถขายที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของโจทก์ ข้อความที่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งต่อโจทก์เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายและไม่มีผลผูกพันจำเลย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น... คดีนี้แม้จำเลยจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยกระทำละเมิดให้คำแนะนำแก่โจทก์ผิดพลาดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นได้ โดยคดีพิพาทเป็นเพียงการให้คำแนะนำซึ่งเป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่ของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยสั่งการตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่จะถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และมิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ หรือคำสั่งอื่น เพื่อให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทจากการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็น คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 86/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเทศบาลตำบลจอหอ ที่ ๑ นายกเทศมนตรีตำบลจอหอ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก่อสร้างท่อเหลี่ยมพร้อมถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกและทำให้ทรัพย์สินบนที่ดินแปลงดังกล่าวได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนพื้นที่ในส่วนที่ได้บุกรุก ก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตเดิม และชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การก่อสร้าง ท่อเหลี่ยมพร้อมถนนตามโครงการก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำดาดคอนกรีตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี เจ้าของที่ดินติดลำเหมืองสาธารณประโยชน์ได้ยินยอมยกที่ดินของตนบางส่วนเพื่อกันแนวเขตที่ดินของตนตลอดแนวพื้นที่โครงการถือว่าลำเหมืองได้มีสภาพเป็นที่สาธารณ ประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาตั้งแต่วันที่ได้แสดงเจตนายกให้เป็นที่สาธารณะแล้ว ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือผู้รับจ้างตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ข้อพิพาทในคดีนี้คู่กรณีโต้แย้งกันว่าที่ดินบริเวณพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างท่อเหลี่ยมพร้อมถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินที่ประชาชนอุทิศให้เป็นที่สาธารณะและตกเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ส่วนปัญหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 85/2563 คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานในการแสดงสิทธิยืนยันการครอบครองที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รังวัดที่ดินพิพาทโดยที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตไม่ครบ ที่ดินแปลงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์มีเนื้อที่ตามการสำรวจ ๒๖ ไร่ แต่หลักเขตเก่าแปลงข้างเคียงสูญหาย ๒๕ หลัก เนื่องจากมีผู้บุกรุกและคัดค้านการรังวัดจึงได้น้อยกว่าเดิม ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าขอให้ศาลเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ โดยอ้างเหตุผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รังวัดรุกล้ำที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทั้งแปลงอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๕ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ ส่วนคำขอให้เพิกถอนการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์เป็นผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 84/2563 คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานในการแสดงสิทธิยืนยันการครอบครองที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รังวัดที่ดินพิพาทโดยที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตไม่ครบ ที่ดินแปลงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์มีเนื้อที่ตามการสำรวจ ๒๖ ไร่ แต่หลักเขตเก่าแปลงข้างเคียงสูญหาย ๒๕ หลัก เนื่องจากมีผู้บุกรุกและคัดค้านการรังวัดจึงได้น้อยกว่าเดิม ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าขอให้ศาลเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์ โดยอ้างเหตุผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รังวัดรุกล้ำที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทั้งแปลงอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๕ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ ส่วนคำขอให้เพิกถอนการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาสาธารณประโยชน์เป็นผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 83/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 82/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 81/2563 คดีที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่ส่งชื่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดให้แก่คุรุสภาเพื่อประกอบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของโจทก์ทั้งสิบเอ็ด และไม่จัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามประกาศ ข้อบังคับและหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคุรุสภา เป็นเหตุให้คุรุสภาไม่ให้การรับรองหลักสูตรดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาจากคุรุสภาได้ เห็นว่า คดีนี้ จำเลยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ จำเลยจึงเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้จัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อพิจารณาเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่จัดการศึกษาตามหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง ๒๕๕๕ สาขาวิชาการบริหารการศึกษาให้เป็นไปตามประกาศ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคุรุสภา เป็นเหตุให้คุรุสภาไม่ให้การรับรองหลักสูตรดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาจากคุรุสภาได้ เมื่อการจัดการศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๕) เป็นการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาของรัฐ อันเป็นการใช้อำนาจรัฐจัดทำภารกิจของรัฐในด้านการศึกษาและอยู่ในกำกับดูแลของรัฐ จึงเป็นเรื่องการฟ้องว่าจำเลยละเลยไม่จัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 80/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ที่ ๒ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ที่ ๓ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ที่ ๔ กำนันตำบลหนองปรือ ที่ ๕ จำเลย อ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ร่วมกับราษฎรสร้างศาลาที่พักริมทางสาธารณประโยชน์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการรื้อถอนศาลาออกไปจากที่ดินโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การโดยสรุปว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑ โดยเจ้าของที่ดินเดิมได้บริจาคที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ตารางวา เพื่อให้ก่อสร้างศาลาพักริมทางสาธารณประโยชน์ แม้ต่อมามีการนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ดังกล่าวไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินและเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ที่ดินพิพาทตกเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่เจ้าของที่ดินเดิมแสดงเจตนาอุทิศให้จนถึงปัจจุบัน การก่อสร้างศาลาที่พักริมทางสาธารณประโยชน์กระทำโดยราษฎร โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ จำเลยที่ ๑เป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ข้อพิพาทในคดีนี้คู่ความโต้แย้งกันว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของศาลาที่พักริมทางเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 79/2563 ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ ก) เลขที่ ๔๖๓๓ และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ติดกัน ต่อมาสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ ๕ ซึ่งเป็นส่วนราชการของผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ ครอบคลุมที่ดินส่วนที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิของผู้ฟ้องคดี โดยคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินได้กำหนดราคาที่ดิน และมีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่เพียงพอ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนและค่าขาดประโยชน์ พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายจากการก่อสร้างถนนลูกรังผ่านที่ดินผู้ฟ้องคดีระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ มีการจ่ายเงินค่าทดแทนไปแล้วบางแปลง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าราคาที่ดินตามที่คณะกรรมการฯกำหนดต่ำเกินไปจึงไม่สามารถตกลงกันได้ และผู้ฟ้องคดียินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนเพื่อลำเลียงดินแล้วจึงไม่เป็นละเมิด ศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขาดประโยชน์ไว้พิจารณา คดีจึงมีประเด็นเพียงว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนลูกรังผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดจากการกระทำละเมิดซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีหรือจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร สำหรับเหตุในคดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีมีเพียงว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยก่อสร้างถนนลูกรังผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาการกระทำละเมิดตามฟ้องดังกล่าวเห็นได้ว่ามิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะเข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 78/2563 คดีที่เอกชนผู้รับประกันภัย ยื่นฟ้องกรมทางหลวง จำเลย ว่า จำเลยไม่บำรุงรักษาทรัพย์ให้มั่นคงแข็งแรง เป็นเหตุให้เมื่อมีฝนตกหนัก ลมพัดแรง ทำให้เสาเหล็กและป้ายบอกทางของจำเลยที่ปลูกสร้างหรือติดตั้งไว้สำหรับการจราจรบนทางหลวง โค่นลงมาทับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่จำเลย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เมื่อ กรมทางหลวง จำเลย เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๒ กำหนดให้กรมทางหลวง มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของจำเลยเกี่ยวกับการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง ประกอบกับพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ ก็ได้นิยามคำว่า ทางหลวง หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก... และหมายความรวมถึง...ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณ ที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย ดังนั้น เสาเหล็กและป้ายบอกทางของจำเลยที่อยู่ในเขตทางหลวงจึงเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยอย่างเพียงพอแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่บำรุงรักษาทรัพย์ให้มั่นคงแข็งแรง เป็นเหตุให้เมื่อมีฝนตกหนัก ลมพัดแรง ทำให้เสาเหล็กและป้ายบอกทางของจำเลยที่ปลูกสร้างหรือติดตั้งไว้สำหรับการจราจรบนทางหลวง โค่นลงมาทับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่จำเลย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 77/2563 คดีที่บริษัทเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยคืนเงินค่าปรับและชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านพักเรือนแถวชั้นประทวนและพลตำรวจตามแบบมาตรฐานตำรวจและแบบโรงจอดรถและลานซักล้างของอาคารเรือนแถวชั้นประทวน สถานีตำรวจทางหลวงที่ ๕ กองกำกับการ ๖ กองบังคับการตำรวจทางหลวง (อำนาจเจริญ) จำนวน ๑ แห่ง ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง แต่จำเลยคิดค่าปรับโจทก์ที่ส่งมอบงานล่าช้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า สัญญาพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจและครอบครัวที่ยังไม่มีที่พักอาศัยเท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงหรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะ อันจะถือเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้จะเป็นสัญญาสำเร็จรูปและปรับราคาได้และมีข้อสัญญากำหนดสิทธิให้แก่จำเลยเลิกจ้างฝ่ายเดียวหรือสั่งให้ทำงานพิเศษ ก็มิได้มีลักษณะพิเศษที่ไม่อาจพบในสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน สัญญาจ้างก่อสร้างพิพาทจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 76/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 75/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 74/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 73/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 72/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชน ยื่นฟ้องบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ บริษัทกสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ การไฟฟ้านครหลวง ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบ บำรุงรักษาการติดตั้งและดูแลรักษาสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมด้วยผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้โดยสารถูกสายสื่อสารโทรคมนาคมที่ห้อยลงมาเกี่ยวรถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า แม้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และบริษัทกสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ถูกแปรรูปตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่มาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ในกรณีที่กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่มีการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นของบริษัทหรือกฎหมายอื่นมีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐวิสาหกิจดำเนินการใด ๆ ต่อบุคคล ทรัพย์สินหรือสิทธิของบุคคล หรือบทบัญญัติให้การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจนั้นได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการใด หรือได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องใด หรือมีบทบัญญัติให้สิทธิพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นกรณีเฉพาะ หรือมีบทบัญญัติคุ้มครองกิจการ พนักงาน หรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ให้ถือว่าบทบัญญัตินั้นมีผลใช้บังคับต่อไป โดยบริษัทมีฐานะอย่างเดียวกับรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายดังกล่าว..." ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จึงรับโอนภารกิจ สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเดิมและอาจเป็น "หน่วยงานทางปกครอง" ประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองได้ หากได้กระทำการเกี่ยวกับการบริการสาธารณะหรือดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องการติดตั้งสายสื่อสารโทรคมนาคม อันเป็นภารกิจตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่เดิมก่อนแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จำกัด การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามนัยบทนิยาม "หน่วยงานทางปกครอง" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการไฟฟ้านครหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ มีอำนาจหน้าที่จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ในการดำเนินการเกี่ยวกับการติดตั้งสายสื่อสารและการจำหน่ายไฟฟ้าตามภารกิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองภายในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามนัยบทนิยาม "หน่วยงานทางปกครอง" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นกัน โดยในการจัดทำภารกิจติดตั้งสายสื่อสารดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามย่อมต้องรวมถึงหน้าที่ในการจัดระเบียบและดูแลรักษาความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าของเสาไฟฟ้าอันเป็นสถานที่ติดตั้งสายสื่อสาร ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ (๖) และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบดูแล รักษาสายสื่อสารและสายไฟที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ตรวจสอบดูแล ผู้ขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าและดูแลรักษาให้ใช้งานได้ในสภาพปกติตามระเบียบการไฟฟ้านครหลวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ขับขี่มาเกี่ยวสายสื่อสารโทรคมนาคมที่ห้อยลงมาจากเสาไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เสียหลักล้มลง ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับบาดเจ็บ กรณีตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบดูแลและรักษาความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินที่ใช้ในการจัดทำสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 70/2563 คดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง โจทก์ หน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นเอกชน อ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. ทำสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่นกับโจทก์ โดยจำเลยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระอากรรังนกตามสัญญาดังกล่าว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. ผิดนัดชำระเงินค่าอากรรังนกอีแอ่น คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรังจึงมีมติให้ยกเลิกสัมปทาน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าอากรที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. แต่สัญญาระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมาตรา ๗ วรรคสอง บัญญัติว่า ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบในการจัดเก็บเงินอากรรังนก..." และมาตรา ๑๔ วรรคสอง บัญญัติว่า "การขอรับสัมปทานในแต่ละจังหวัดให้ทำโดยการประมูลเงินอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด'' โดยในกรณีที่ผู้รับสัมปทานชำระเงินอากรเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดในสัมปทาน หรือชำระไม่ครบถ้วน มาตรา ๑๕ บัญญัติให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินอากรที่ต้องชำระ และวรรคสองของมาตราเดียวกัน บัญญัติว่า "เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเงินอากร'' ดังนั้น ผู้ที่จะเก็บรังนกในพื้นที่ที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานด้วยการประมูลเงินอากรและจะต้องจ่ายเงินอากรให้แก่รัฐ หากผู้รับสัมปทานชำระเงินอากรล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนก็จะต้องเสียเงินเพิ่ม เงินอากรรังนกจึงเป็น "อากร" ตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ และการทำสัมปทานเป็นเพียงวิธีการในการให้ได้มาซึ่งเงินอากรของรัฐ เมื่อคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเงินอากรจากสัมปทานรังนกตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๕๔๐ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานและมีหน้าที่ต้องชำระอากรตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับการเพิกเฉยไม่ชำระอากรภายในเวลาที่กำหนดในสัมปทานหรือชำระไม่ครบถ้วน และโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกค่าอากรที่ค้างชำระ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรและเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา ๗ (๒) และ (๔) และเป็นข้อยกเว้นเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งค้ำประกันการชำระเงินอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด ญ. อันเป็นหนี้อุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรด้วยเช่นกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 67/2563 แม้โจทก์จะฟ้องคดีโดยตั้งรูปเรื่องตามคำฟ้องว่ากรมที่ดินกับพวกออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์และมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นการขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองกับให้ออกโฉนดที่ดินแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๙๘๖ ให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็เป็นไปเพื่อให้มีหลักฐานที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าโจทก์เป็นเจ้าของเนื้อที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์มิได้อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงประการอื่น แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ประสงค์จะให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าว ความมุ่งหมายที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาท โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ส่วนคำขออื่น ๆ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทนั้นว่าเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 66/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาท่ายาง ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เทศบาลตำบลท่าไม้รวก ที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไม่รับคำขอโดยอ้างว่า การขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วินิจฉัยยืนตามคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และวินิจฉัยว่า ที่ดินดังกล่าวอำเภอท่ายางร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และอยู่ระหว่างดำเนินการ คำสั่งไม่รับคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถอนหลักที่ปักว่าเป็นที่สาธารณะออกไปจากที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง และถอนคำขอออกหนังสือ สำคัญสำหรับที่หลวง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับคำขอออกเอกสารสิทธิของผู้ฟ้องคดีและลบแก้ไขข้อความว่าที่สาธารณประโยชน์ออกจากรูปแผนที่และใส่ข้อความให้ตรงตามความเป็นจริง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำประโยชน์เพื่อการได้สิทธิในการทำกินเลี้ยงชีพต่อไป ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า คำสั่งไม่รับคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินชอบแล้วเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินพิพาทเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีจะตั้งรูปเรื่องการฟ้องคดีเป็นการขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะข้อพิพาทในคดีนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในความครอบครองดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ ส่วนคำขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถอนหลักที่ปักว่าเป็นที่สาธารณะ และคำขออื่น ล้วนแต่เป็นเพียงผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 65/2563 คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตสายไหม ที่ ๑ กรุงเทพมหานคร ที่ ๒ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครอง ว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาง น. ตามคำสั่งศาล นาง น. มีทรัพย์มรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดรวม ๒ แปลง กับเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แปลง "หนองตามิ่งสาธารณประโยชน์" โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินพิพาท โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๔ เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ ๔ เพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และให้นาง น. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง น. อ้างว่านาง น. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินพิพาท อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนาง น. หรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของนาง น. การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทนาง น. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 64/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 63/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 62/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 61/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 60/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. ได้ขอออกโฉนดที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๖๖ มีชื่อนาย ส. เป็นผู้แจ้งการครอบครอง แต่โจทก์ตรวจสอบพบว่า นาย ท. บิดาของจำเลยที่ ๒ ได้นำ ส.ค.๑ เลขที่ ๖๖ ไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๖๖ และแบ่งแยกออกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ และ น.ส. ๓ ก.) และโฉนดที่ดิน การที่นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยจำเลยที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้กับบิดาของจำเลยที่ ๒ เป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ และ น.ส. ๓ ก.) และโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินที่โจทก์จะนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินคนละแปลงและคนละตำแหน่งกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องและไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๖๖ หรือไม่ ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ให้การทำนองเดียวกันว่า ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ และ น.ส. ๓ ก.) พิพาท แต่ก็กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับกับที่ดินของนาย ส. ดังนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะข้อพิพาทในคดีนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินที่นาย ส. มีสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๖๖ หรือเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินที่พิพาท ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาย ส. หรือของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๙ ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของเอกชนทั้งสองฝ่าย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน โดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นการขอให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของตน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 59/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกัน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่มารดาจำเลยที่ ๑ นำที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่มารดาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยที่ ๑ และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ ๑ และบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ให้การโดยสรุปว่า จำเลยที่ ๑ กับมารดา ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องว่าการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่มารดาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำขอให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างเหตุแห่งการขอเพิกถอนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ มารดาจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้อาศัยสิทธิทำกินในที่ดินของโจทก์ และมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นของมารดาจำเลยที่ ๑ โดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดิน เนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๑ และเป็นการขอให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของตนเป็นสำคัญยิ่งกว่าการขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง แม้โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินรวมอยู่ด้วย ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของมารดาจำเลยที่ ๑ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 58/2563 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยก น. ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๐๒ ซึ่งได้นำหลักฐานไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๕๒๖ แต่มีการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่เต็มจำนวนเนื้อที่ตามที่มีการครอบครองทำประโยชน์และปรากฏทางสาธารณประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเก็บโฉนดที่ดินไว้โดยไม่ได้ตรวจสอบและได้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้กับธนาคารโดยไม่ทราบถึงความผิดพลาด เมื่อบุตรของผู้ฟ้องคดีไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเพิ่มเติม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดโดยอ้างว่าการรังวัดชอบแล้ว เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแจ้งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า บริเวณที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นทางสาธารณประโยชน์ ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน หลักฐาน ส.ค ๑ เลขที่ ๑๐๒ ได้มีการนำไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๕๒๕ และ ๙๕๒๖ เต็มพื้นที่แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจนำหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๐๒ มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเพิ่มเติมได้อีก คำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งแจ้งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินจากหลักฐาน ส.ค. ๑ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะข้อพิพาทในคดีนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 56/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 55/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 54/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 53/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 52/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วนจนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 51/2563 คดีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โจทก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในสังกัดคืนเงินช่วยเหลือตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ เงินบำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยสืบเนื่องมาจากการที่ศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิมีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่จำเลยออกจากราชการ เพราะกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นคดีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้องให้รับผิดเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการชดใช้เงิน ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการกระทำอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นั้น ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินช่วยเหลือตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ เงินบำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกันที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โดยการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปนั้น มิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 50/2563 คดีที่ เทศบาลนครระยอง ยื่นฟ้องอดีตข้าราชการในสังกัดให้คืนเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิในขณะรับราชการในสังกัดของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีให้แก่จำเลย แล้วต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีดังกล่าว จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ เห็นว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นคดีที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้องให้รับผิดเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยการชดใช้เงิน ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการกระทำอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นั้น ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิให้แก่โจทก์ โดยการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปนั้น มิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 49/2563 คดีที่ เทศบาลนครระยอง ยื่นฟ้องอดีตข้าราชการในสังกัดให้คืนเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิในขณะรับราชการในสังกัดของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีให้แก่จำเลย แล้วต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีดังกล่าว จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ เห็นว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นคดีที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้องให้รับผิดเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยการชดใช้เงิน ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการกระทำอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นั้น ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิให้แก่โจทก์ โดยการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปนั้น มิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 48/2563 อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้อง พลทหาร ณ. จำเลย ซึ่งเป็นทหารกองประจำการ สังกัด กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๔ กองพลทหารราบที่ ๔ กองทัพบก ว่าได้กระทำความผิดอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารหรือศาลยุติธรรม เห็นว่า หลักการพิจารณาเขตอำนาจของศาลทหารในเวลาปกติที่ยึดหลักเขตอำนาจศาลเหนือตัวบุคคลผู้กระทำผิด ซึ่งหากปรากฏว่าจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ ในขณะกระทำความผิดอาญา จะเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามมาตรา ๑๓แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น เป็นหลักการพิจารณาเขตอำนาจศาลทหารในกรณีที่มีการฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาทั่วไป ที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้คดีอาญานั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอื่นใดโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่า ภายหลังจากพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ใช้บังคับ มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งทั่วไป ได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีบุคคลภายนอกที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วยตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมาตรา ๗ บัญญัติว่า "ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้ (๑) คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร" อันเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทหนึ่งประเภทใดไว้โดยเฉพาะ และเป็นบทบัญญัติที่ตัดอำนาจศาลอื่นไม่ให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร เมื่อคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งแม้จะเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าโดยมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๗ บัญญัติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

คำวินิจฉัยที่ 47/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหญ่ ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหญ่ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี โดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดกรณีก่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนถนนพิพาทออกไปจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยเร็วและปรับที่ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากไม่ดำเนินการให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนกับให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การโต้แย้งว่า ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงเป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจก่อสร้างถนนสาธารณะได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 46/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องนายอำเภอ น. ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ถ. ที่ ๒ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด บ. ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๐๕๔ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๗๐.๖ ตารางวา ซึ่งบิดาเป็นผู้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานการครอบครองเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๓๓๗ เนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ๓๓ ตารางวา และที่ดินหัวไร่ปลายนาที่ไม่มีเอกสารสิทธิประมาณ ๔ ไร่ รวมเป็น ๑๔ ไร่ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าเก่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๔ ไร่และที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๐๕๔ ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงคัดค้านการรังวัด โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการทางศาลภายใน ๖๐ วัน ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัด บ. รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงป่าช้าเก่า เนื้อที่ ๔ ไร่ การรังวัดเป็นไปตามหลักวิชาการด้านแผนที่ ในวันรังวัดผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ชี้แนวเขตและนำรังวัด แต่ผู้ฟ้องคดีคัดค้านสิทธิทั้งแปลง เมื่อนำรูปแผนที่ลงที่หมายในระวางแผนที่ไม่ทับเอกสารสิทธิของบุคคลอื่น การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมิได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงป่าช้าเก่าแล้วผู้ฟ้องคดีอ้างว่ารังวัดรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน และเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 45/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ฮ. ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๖ และขอให้รังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๙๔๕ จำนวน ๖ ไร่ ให้แก่วัด อ. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินและคำสั่งไม่รังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำวินิจฉัยสั่งการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยเห็นว่าไม่อาจออกโฉนดที่ดินและรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ กรณีจึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำให้การและเอกสารในสำนวนว่า ศาลยุติธรรมเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า นิติกรรมการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๙๔๕ ระหว่างนาย ฮ. และวัด อ. จำเลย มีผลสมบูรณ์ และนาง น. โจทก์ ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ๕ ไร่ ด้านทิศเหนือของโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๙๔๕ การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอให้ออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๖ ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ดินตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่นและวัด อ. ได้ยื่นคำคัดค้าน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้สอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณี แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมีคำสั่งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการในชั้นศาลจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สอบสวนเปรียบเทียบและพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควร ซึ่งแม้จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อการวินิจฉัยสั่งการตามบทบัญญัตินี้เป็นกรณีการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดิน โดยวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือวัด อ. หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตามที่เทศบาลนครขอนแก่นคัดค้าน ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของบุคคลโดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี กรณีการขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๖ จึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาคุ้มครองและรับรองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 44/2563 คดีที่เอกชนทั้งห้า ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๒ กระทรวงการคลัง ที่ ๓ มณฑลทหารบกที่ ๒๖ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครอง ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๓ โดยครอบครองต่อมาจากบิดาและปู่ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ เป็นตัวแทนไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าว แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ชี้ตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งว่าทับซ้อนกับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร. ๓๒๓๙ ของกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้ในราชการจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ และไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ให้รังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร. ๓๒๓๙ เห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องอ้างว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าโดยอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร. ๓๒๓๙ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ฟ้องคดีก็ได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุแห่งการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๓ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าครอบครองทำประโยชน์ เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ที่ดินของรัฐที่จะนำไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ และมีคำขอหลัก คือ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ให้รังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งแสดงให้เห็นความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ฟ้องคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลรับรองสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๓ ที่ครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดาและปู่ ซึ่งมีประเด็นพิพาทเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ แม้ผู้ฟ้องคดี ทั้งห้าจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร. ๓๒๓๙ มาด้วย ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าหรือเป็นที่ดินของรัฐ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากบิดาและปู่ โดยบิดาได้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในที่ดินมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๑ อันเป็นเวลาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี ๒๔๙๗ ซึ่งมาตรา ๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้การออกโฉนดที่ดินในกรณีดังกล่าว โดยใช้หลักฐานการแจ้งการครอบครอง เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะทำได้ต่อเมื่อมี คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลยุติธรรมว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 43/2563 คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนาง ป. ที่ ๒ จำเลย ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๑๑ ตารางวา ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้นำหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๗๖๙ ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองและกระทำการโดยไม่สุจริตนำชี้รังวัดที่ดินพิพาทของโจทก์รวมเข้าไปด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษได้ออกโฉนดเลขที่ ๒๑๙๔๖ ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยรวมที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์เนื้อที่ ๑๑ ตารางวาเข้าไปด้วย จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๑๑ ตารางวา โดยห้ามจำเลยที่ ๒ เข้าเกี่ยวข้อง และเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๙๔๖ ในส่วนที่ออกทับที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๙๔๖ ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๖๙ และไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๗๖๙ จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายในการนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๗๖๙ เนื้อที่ ๙๑ ตารางวา ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งในการรังวัดสอบเขตที่ดินโจทก์ซึ่งมีที่ดินข้างเคียงติดกับที่ดินของจำเลยที่ ๒ ก็มิได้คัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาลักษณะข้อพิพาทในคดีนี้ที่โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๙๔๖ ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ ๒ ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของเอกชนทั้งสองฝ่าย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน โดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นการขอให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของตน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 42/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 41/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 40/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 39/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 38/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 37/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 36/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 35/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ที่ ๒ นายอำเภอขุขันธ์ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาขุขันธ์ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๖๔ ต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดที่ดินแปลงสาธารณประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบกเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รังวัดที่ดินโดยกำหนดให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบก) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ศก ๒๗๒๒ แปลง "ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบก" โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบครอบครองและทำประโยชน์ ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ ศก ๒๗๒๒ แปลง "ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบก" และให้ที่ดินแปลงดังกล่าวมีสถานะเป็นที่ดินตกสำรวจรังวัดอันมีราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ซึ่งมีครอบครัวผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นผู้ได้รับสิทธิครอบครองในที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออก น.ส.ล.เลขที่ ศก ๒๗๒๒ แปลง "ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบก" ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ จะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ศก ๒๗๒๒ แปลง "ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบก" ที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ อันมีลักษณะเป็นการตั้งรูปเรื่องการฟ้องคดีเป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบก็มีคำขอให้รับรองสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๒๖๔ ที่ครอบครองต่อเนื่องมาจาก บรรพบุรุษตั้งแต่ปี ๒๔๘๕ ด้วย โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสิบกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทบางส่วนที่นำไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ศก ๒๗๒๒ นั้น เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ จึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบจะตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีโดยมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ศก ๒๗๒๒ แปลง "ทุ่งเลี้ยงสัตว์ป่าบก" มาด้วย ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหรือที่ดินของรัฐ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 34/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 33/2563 คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีบางส่วน จนไม่สามารถทำนาหรือทำการเกษตรด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิการครอบครองในที่ดินและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งมีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินดังกล่าวขึ้นสู้ต่อรัฐได้ เมื่อกรมที่ดินไม่เพิกถอนสภาพทำเลเลี้ยงสัตว์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โครงการชลประทานนครพนมได้ตรวจพื้นที่แล้วพบว่า ที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตั้งอยู่นอกเขตบริเวณที่น้ำในอ่างเก็บน้ำท่วมถึง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้กรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรุกล้ำที่ดิน (ส.ค. ๑) ของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหลวงจึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 32/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า นาย ท. สามีของจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กระทำการโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนำที่ดินมือเปล่าของโจทก์ไปเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) เลขที่ ๑๒๕๔ อันเป็นการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับที่ดินของโจทก์ ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับสิทธิโดยการตกทอดทางมรดกจากสามีจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก และการอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ รับมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ต่อจากนาย ท. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้อำนาจแก่จำเลยที่ ๒ ในการจัดสรรที่ดินมอบให้แก่เกษตรกรสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำการปฏิรูปที่ดินโดยการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของเอกชนเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่กำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไว้หลายประการ อันเป็นการแตกต่างจากการได้สิทธิในที่ดินของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในคดีนี้ต้องเป็นไป ตามที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ และการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับอนุญาต จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ให้แก่สามีของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 31/2563 ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลแหลมผักเบี้ย ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมผักเบี้ย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๒๗๙ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้เข้าดำเนินการก่อสร้างลานจอดรถ คสล. ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างสนาม ปลูกต้นไม้ ก่อสร้างป้ายแหล่งท่องเที่ยว จุดชมวิว รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามประมาณ ๒ ไร่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่ดินบางส่วนเป็นที่ชายตลิ่งสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการก่อสร้างลานจอดรถ คสล. และอื่น ๆ รุกล้ำที่ดินที่พิพาทนั้น เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีความมุ่งหมายที่จะให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 30/2563 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดกรณีก่อสร้างถนนรอบบริเวณที่สาธารณประโยชน์ สระหนองสิม รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนถนนคอนกรีตที่รุกล้ำออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งว่า ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สระหนองสิม ตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ อด. ๓๑๘๙ เลขที่ดิน ๓๓๖ การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงเป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สระหนองสิมจะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจก่อสร้างถนนสาธารณะได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 29/2563 คดีนี้ โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชน ยื่นฟ้องเทศบาลตำบล บ. ที่ ๑ นาย ว. ที่ ๒ จำเลย อ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๔๑๒ ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงตัดผ่านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับความยินยอม ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อถนนส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๔๑๒ พร้อมทั้งปรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองให้อยู่ในสภาพเดิม และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินบริเวณเลียบแม่น้ำโขงเป็นถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อสัญจรไปมาเป็นเวลาหลายสิบปี จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยทั้งสองดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมถนนพิพาทในโครงการปรับปรุงถนนลูกรังให้มีความกว้าง ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกมาสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เทศบาลตำบล บ. จำเลยที่ ๑ จะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงตัดผ่านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๔๑๒ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินบริเวณเลียบแม่น้ำโขงเป็นถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อสัญจรไปมาเป็นเวลามากกว่าสิบปี จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสอง ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองกระทำการตามฟ้องก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีอำนาจก่อสร้างถนนสาธารณะได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 28/2563 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ยกเลิกการบอกเลิกสัญญาจ้าง คืนหลักประกันสัญญาจ้างและใช้หลักประกันเดิมค้ำประกันสัญญาจ้างต่อไป และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินค่าก่อสร้างหรือเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ย จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) ๕ ชั้น ๓๐ ครอบครัว (ใต้ถุนสูง) พร้อมส่วนประกอบ จำนวน ๑ หลัง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และไม่ชำระค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามข้อกำหนดเงื่อนไขแห่งสัญญาจ้าง เห็นว่า แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาพิพาทเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจและครอบครัวเท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงหรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะ อันจะถือเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้จะมีข้อสัญญากำหนดให้คณะกรรมการตรวจการจ้าง หรือผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ถูกฟ้องคดีแต่งตั้งขึ้นมีอำนาจเข้าไปตรวจสถานที่ที่กำลังก่อสร้าง สั่งการให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือตัดทอนซึ่งงานตามสัญญา และให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิที่จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทำงานพิเศษซึ่งไม่ได้แสดงไว้หรือรวมอยู่ในเอกสารสัญญา หากงานพิเศษนั้น ๆ อยู่ในขอบข่ายทั่วไปแห่งวัตถุประสงค์ของสัญญา ตลอดจนสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรูปแบบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในเอกสารสัญญา โดยไม่ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ แต่ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐเพื่อให้การบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยพิพาท จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 27/2563 คดีนี้แม้จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่สัญญาซื้อขายงานพัฒนาระบบข้อมูลผู้ใช้น้ำของโจทก์เป็นเพียงสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและอุปกรณ์ ตามโครงการพัฒนาระบบข้อมูลผู้ใช้น้ำ ซึ่งจำเลยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการงานและพัฒนาระบบสารสนเทศ รวมทั้งยังสามารถสนับสนุนการทำงานของสายงานการเงิน สายงานบริหาร ของจำเลย ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง หรือมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยาม "สัญญาทางปกครอง" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในการทำสัญญาพิพาทจึงไม่จำต้องบังคับตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายงานพัฒนาระบบข้อมูลผู้ใช้น้ำ จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 26/2563 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ต่อมาได้ผ่านการแปลงสภาพตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ให้กลายมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงมิใช่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา อันจะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่อาจเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง หากได้กระทำการตามที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากรัฐเกี่ยวกับการประกอบกิจการและส่งเสริมการท่าอากาศยาน รวมทั้งการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการการท่าอากาศยานอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ นอกเหนือจากนี้ ย่อมเป็นการกระทำในฐานะเอกชน การที่บริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) อนุญาตให้สมาคมสโมสรท่าอากาศยานใช้พื้นที่ท่าอากาศยานบางส่วนเพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มราคาประหยัด สำหรับสวัสดิการพนักงานและลูกจ้าง จึงเป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการให้แก่บุคคลากรของบริษัท มิใช่เพื่อการดำเนินกิจการทางปกครองที่เกี่ยวกับกิจการและการส่งเสริมการท่าอากาศยานตามที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับมอบหมาย จากรัฐ การกระทำของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่อนุญาตให้โจทก์ใช้พื้นที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมิใช่เป็นการกระทำในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เป็นการกระทำในฐานะนิติบุคคลเอกชนอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน จึงไม่อาจเป็นผลให้โจทก์มีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครองไปได้ สัญญาที่สมาคมสโมสรท่าอากาศยาน อนุญาตให้บริษัท ค. จำเลย ดำเนินการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่บางส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งสมาคมสโมสรท่าอากาศยานได้รับอนุญาตจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้เข้าใช้พื้นที่ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเอกชน และเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นไปในเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์แก่คู่สัญญา ทั้งสองฝ่าย มิใช่เพื่อประโยชน์แก่รัฐหรือการบริการสาธารณะ จึงไม่เข้านิยาม "สัญญาทางปกครอง" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากแต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 25/2563 คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การเป็นอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดลงนั้น ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๙ ประกอบมาตรา ๒๑ วรรคสอง กำหนดให้ศาลที่มีเขตอำนาจวินิจฉัยถึงการสิ้นสุดของการเป็นอนุญาโตตุลาการ คือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เมื่อข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างอาคารเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยพร้อมเครื่องปฏิกรณ์ระบบผลิตไอโซโทปพร้อมอุปกรณ์ ระบบจัดการกากกัมมันตรังสีพร้อมอุปกรณ์ ระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กับเอกชน ซึ่งมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองจึงเป็นศาลมีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทดังกล่าว ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 24/2563 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัตินิยาม "สัญญาทางปกครอง" หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ องค์การคลังสินค้าโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ออกตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือในการครองชีพหรืออำนวยบริการแก่ประชาชน มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาซื้อขายกุ้งพิพาทจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะและข้อกำหนดในสัญญา เป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงขายกุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็งชนิดหัว จำนวน ๔๘๙,๖๕๔.๗๐๐ กิโลกรัม เป็นเงิน ๖๘,๓๑๔,๘๒๐.๖๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ประกอบกิจการค้าขายแช่แข็งและแช่เย็น เพื่อจำหน่ายในประเทศและนำส่งออกต่างประเทศ แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อระบายสินค้าที่โจทก์รับจำนำจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งตามโครงการแทรกแซงตลาดกุ้ง ปี ๒๕๔๘/๔๙ แต่ก็มิใช่สัญญารับจำนำกุ้งจากเกษตรกร อันจะถือเป็นมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยการพยุงราคากุ้งตามกลไกของตลาดปกติ แต่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อการพาณิชย์และหวังผลกำไรในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายในทางแพ่งทั่วไป ทั้งข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ อันจะแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อแตกต่างจากสัญญาทางแพ่ง ประกอบกับสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งประเภทใดตามบทนิยามของสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาซื้อขายกุ้ง ปี ๒๕๔๘/๔๙ ตามสัญญาเลขที่ คชก.กข. (ซข.) ๐๑/๒๕๔๙ จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกุ้ง ปี ๒๕๔๘/๔๙ ตามสัญญาเลขที่ คชก.กข. (ซข.) ๐๑/๒๕๔๙ ซึ่งเป็นสัญญาหลัก เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 23/2563 โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง บริษัทเจ็มมินาย ทรานสปอร์ต แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่ ๑ นาย ส. ที่ ๒ บริษัท อ. จำกัด ที่ ๓ จำเลย และศาลเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี กรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายสินค้าจำพวกบัตรอาร์เอฟไอดีการ์ด บัตรสมาร์ทการ์ด บัตรพีวีซี พร้อมด้วยการพิมพ์สี่สี และการพิมพ์ภาพสามมิติ (Hologram) ที่พิพาทเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ... คดีนี้ แม้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี และจำเลยร่วมเคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ต่อมาได้ผ่านการแปลงสภาพตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจให้กลายมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยร่วมจึงมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติอีกต่อไป จำเลยร่วมจะเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ก็ต่อเมื่อจำเลยร่วมได้กระทำกิจการบางอย่างตามที่กฎหมายมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเอกชนกับเอกชนด้วยกัน แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายรายการเพื่อนำไปใช้ในกิจการรับจ้างบริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของจำเลยร่วม แต่สัญญาพิพาทเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายทางแพ่งทั่วไปและเป็นสัญญาที่แยกเป็นเอกเทศ ไม่ใช่สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วม ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่พิพาทจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่ง สัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 22/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องโรงเรียนวัดบ้านไร่ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๑๐๕/๒๙ ๒ ชั้น ๔ ห้องเรียน ใต้ถุนโล่ง โดยจำเลยที่ ๒ ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิโครงการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทนจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ชำระเงินค่าโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ทราบ จำเลยที่ ๑ ทราบการโอนสิทธิและตกลงให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทนจำเลยที่ ๒ โจทก์วางเงินประกันไว้กับจำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์ก่อสร้างและส่งมอบงานให้จำเลยที่ ๑ ตามกำหนดจนการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำเลยทั้งสี่เพิกเฉ ไม่ชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์จะมิใช่คู่สัญญาโดยตรงตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิโครงการก่อสร้างอาคารเรียนตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์ โดยข้อตกลงกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างและรับผิดชอบในการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนปิดโครงการ โดยจำเลย ที่ ๒ มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ทราบแล้ว ทั้งโจทก์ได้วางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่จำเลยที่ ๑ ด้วย และได้ก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระเงินให้โจทก์ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทกันเกี่ยวด้วยสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๑๐๕/๒๙ ๒ ชั้น ๔ ห้องเรียน ใต้ถุนโล่ง ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก่อสร้างอาคารเรียนพิพาทมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๒ และโจทก์ ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างเป็นเอกชน และสัญญาก่อสร้างอาคารเรียนเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 21/2563 คดีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ชำระค่าเสียหายและค่าปรับรายวัน กับให้จำเลยที่ ๑ และบริวารออกจากพื้นที่เช่าพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่า เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่จ่ายค่าเช่าพื้นที่ตามอัตราค่าเช่าที่ดินใหม่ที่โจทก์ประกาศ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่และให้ จำเลยที่ ๑ ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากพื้นที่เช่าและส่งมอบพื้นที่เช่าคืน แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ เนื่องจากได้รับชำระค่าเสียหายแล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นภารกิจหลักของโจทก์ แต่สัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีสาระสำคัญเป็นการให้จำเลยที่ ๑ ได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินที่เช่าเป็นที่จอดรถบรรทุกสินค้าของจำเลยที่ ๑ เพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ ๑ โดยตรง โดยโจทก์ได้ค่าเช่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และมิใช่สัญญาที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ เข้าดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับโจทก์ อันจะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้จะมีข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดโดยไม่ต้องรับผิด หรือกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และประกาศของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเช่าพื้นที่ ก็พบได้ทั่ว ๆ ไปในสัญญาทางแพ่งที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชน สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 20/2563 คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำเลยร่วม ว่ากิจการร่วมค้า ฯ ตกลงเช่ารถยนต์จากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการด้านการขนส่งสำหรับธุรการทั่วไป ภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระค่าเช่า กิจการร่วมค้า ฯ ตัวแทนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ชำระค่าเช่าและบอกเลิกสัญญาเช่ารถยนต์ โดยอ้างว่าจำเลยร่วมได้บอกเลิกสัญญาจ้างผู้บริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สัญญาหลัก) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้สัญญาเช่ารถยนต์ต้องสิ้นสุดลง ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินจำนวนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนที่มุ่งประสงค์ให้ผู้เช่าต้องดูแลบำรุงรถยนต์ที่ให้เช่าเพื่อให้อยู่ในสภาพดี สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ โดยผู้ให้เช่าได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าเช่าจากผู้เช่า สัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าจำเลยในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องจำเลยร่วมต่อศาลปกครองกลาง ขอให้จำเลยร่วมชำระค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาจ้างผู้บริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สัญญาหลัก) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางก็ตาม แต่ประเด็นแห่งคดีนี้เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่ารถยนต์อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามสัญญาระหว่างโจทก์ผู้ให้เช่ากับจำเลยทั้งสามผู้เช่าซึ่งเป็นเอกชนเท่านั้น อันเป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าวของศาลปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 19/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระนอง ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณริมคลองจวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง โดยปลูกบ้านพักอาศัยในที่ดินบริเวณดังกล่าวต่อเนื่องกันมารวมระยะเวลา ๕๐ ปี โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองรื้อถอนอาคารออกจากที่ดินบริเวณดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีประกาศแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองครอบครองเป็นที่สาธารณประโยชน์ คำสั่งให้รื้อถอนอาคารและประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในบริเวณดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า เทศบาลเมืองระนองขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเพื่อแสดงแนวเขตที่ตั้งในเขตเทศบาลเมืองระนอง จากการสอบสวนปรากฏว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองจะมีคำขอให้เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสอง แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองอ้างว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสอง จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองหรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสอง กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองจะตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีโดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) บนที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสอง ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองหรือที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 18/2563 คดีที่เอกชนผู้ฟ้องคดีซึ่งไม่ใช่เจ้าของโฉนดที่ดินยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินโฉนดที่ดินซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนใช้สัญจรมาให้แก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นการฟ้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองที่มีการนำที่ดินของรัฐไปขายให้แก่เอกชน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 17/2563 แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแผนที่แปลง "สันดอนสาธารณประโยชน์" รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยการก่อสร้างโครงการแก้มลิงบึงลาดน้ำเตียน (ระยะที่ ๒) รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ นำชี้แนวเขตที่ดิน น.ส.ล. รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้น หากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การก่อสร้างโครงการแก้มลิงบึงลาดน้ำเตียน (ระยะที่ ๒) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทตกเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วจะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีอำนาจเข้าไปดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันได้และไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิในที่ดินส่วนพิพาท คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงมีความมุ่งหมายที่จะให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 16/2563 แม้องค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยขุดทางน้ำหรือลำรางสาธารณะตัดผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ฝังกลบทางน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้มีลักษณะที่ดินตรงตามรูปแผนที่ในโฉนด โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจเข้าไปดำเนินการขุดลอกคลองสาธารณประโยชน์เพื่อบำรุงรักษาทางน้ำโดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 15/2563 คดีนี้เอกชนยื่นฟ้องนายอำเภอหาดใหญ่ ที่ ๑ เทศบาลนครหาดใหญ่ ที่ ๒ จำเลย ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองก่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์และขุดคูระบายน้ำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนถนนสาธารณประโยชน์และขุดคูระบายน้ำออกจากที่ดินของโจทก์ และปรับสภาพพื้นดินให้อยู่ในสภาพใช้การได้ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 14/2563 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้ สมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โจทก์ ยื่นฟ้องอดีตนายกสมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นจำเลย อ้างว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีกระทำการในลักษณะที่ทำให้บุคคลอื่นและองค์กรอื่นเข้าใจผิดว่าจำเลยยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโจทก์และยังเข้าควบคุมขัดขวางการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารของสมาคมโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยังมีสถานะเป็นนายกสมาคมโจทก์ เพราะการลาออกของจำเลยยังไม่มีผลทางกฎหมาย เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสมาคมที่มิได้มีสถานะเป็น กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ อันจะถือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้เป็นสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า "แห่งประเทศไทย" ตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติ ให้สมาคมโจทก์ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬา หรือจัดหรือร่วมในการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาโดยแสดงว่าเป็นการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน หรือจัดหรือร่วมในการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาในนามของชาติหรือประเทศไทย อันเป็นการดำเนินบริการสาธารณะ โจทก์จึงอาจเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ซึ่งถือเป็นประเภทหนึ่งของหน่วยงานทางปกครอง และจะมีผลให้กรรมการของโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ หากโจทก์หรือกรรมการของโจทก์ได้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยตามฟ้องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการในลักษณะที่ทำให้บุคคลอื่นและองค์กรอื่นเข้าใจผิดว่าจำเลยยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมโจทก์และยังเข้าควบคุมขัดขวางการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารของสมาคมโจทก์ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะถือว่าโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนและไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของสมาคมโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ แต่เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการบริหารงานภายในของสมาคมโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเอกชน จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาททางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 13/2563 ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๒๔ ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านแนวเขตว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของเขตทางหลวงชนบทสายบ้านจอมบึง-บ้านหนองนกกระเรียน อันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากบริเวณที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของเขตทางหลวงชนบท อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำในฐานะผู้ดูแลรักษาที่สาธารณะเช่นเดียวกับการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงในการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงรังวัดสอบเขตที่ดินของตนรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของเขตทางหลวงชนบทสายบ้านจอมบึง - บ้านหนองนกกระเรียน รบ. ๓๐๒๒ อันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ การคัดค้านการรังวัดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายอันจะเข้าลักษณะคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีคัดค้านการนำรังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๒๒๔ ของผู้ฟ้องคดีแต่เป็นที่ดินเขตทางหลวงชนบทอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 12/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๒ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๓ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ ๔ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๗ สำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาสุวรรณภูมิ ที่ ๘ เทศบาลตำบลทุ่งหลวง ที่ ๙ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ มีมติไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในบริเวณที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ครอบครองเนื่องจากเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ รังวัดออก น.ส.ล. ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงริมลำพลับพลา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ รังวัดออก น.ส.ล. และประกาศแจก น.ส.ล. แปลงริมลำพลับพลา ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ให้เพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ให้เพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ให้เพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ที่แจ้งผลการพิจารณาและคัดเลือกเกษตรกร ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ ออกและส่งมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๘ ที่ ๙ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๗ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ขอรังวัดออก น.ส.ล. ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงริมลำพลับพลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ รังวัดที่ดินเพื่อออก น.ส.ล. และประกาศแจก น.ส.ล.แปลงริมลำพลับพลา และผู้ถูกฟ้องคดี ๕ มีมติไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตน จึงขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้คัดค้านการการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ครอบครองทำประโยชน์และอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนี้ เมื่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ที่ขอให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปในการดูแลคุ้มครองที่สาธารณะ และการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง อันจะถือเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ต่างก็กล่าวอ้างถึง ความมีสิทธิในที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สำหรับข้อพิพาทในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) นั้น ก็เป็นผลของการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัยที่ 11/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย ที่ ๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๕๕๒๑ แปลงเลขที่ ๗ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๕๖ ตารางวา ต่อมามีบุคคลภายนอกอ้างว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกให้แก่บิดาของผู้ฟ้องคดี และบิดาผู้ฟ้องคดีได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนให้แก่ผู้มีชื่อ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการออก น.ส. ๓ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ "ป่าเขาภูหลวง" ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพิกถอน น.ส. ๓ ดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘ ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และออกทับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข เลขที่ ๕๕๒๑ แปลงเลขที่ ๗ ทั้งแปลง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกถอน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘ และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การสรุปได้ว่า การออก น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘ ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอน และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข โดยขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘ ซึ่งบุคคลภายนอกมีสิทธิครอบครอง อ้างว่า น.ส. ๓ ดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และออกทับที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔ -๐๑ ข ของผู้ฟ้องคดี อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๒๘ ของผู้มีชื่อเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิ ในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 9/2563 คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๓๘ เดิมเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๖ ของผู้มีชื่อ แต่จำเลยที่ ๒ และสามีจำเลยที่ ๒ ในขณะนั้นยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ต่อหน่วยงานของ จำเลยที่ ๑ โดยนำชี้ที่ดินเพื่อรังวัดและจัดทำแผนที่ต้นร่าง ส.ป.ก./สร ๒๒ ในเขตโครงการป่าดงหัวกองและป่าดงบังอี่ (อี) และยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินเพื่อแจ้งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนที่ดินของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ รื้อถอนเสารั้วคอนกรีตและลวดหนามที่เป็นแนวเขต ใช้รถไถพรวนหน้าดิน และฝังเสาเดินสายไฟฟ้าเข้าไปในที่ดินโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์และเพิกถอนแผนที่แปลงที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรกรรมตามแบบ ส.ป.ก./สร.๕ ก ในเขตปฏิรูปที่ดินโครงการดงหัวกองและป่าดงบังอี่ (อี) กลุ่ม ๑๐๘๐ แปลงที่ ๑ และที่ ๒ ที่มีชื่อจำเลยที่ ๒ ห้ามจำเลยที่ ๒ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ รื้อถอนเสาไฟฟ้า ชำระค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และยังอยู่ในขั้นตอนของการรังวัด ยังไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ หรือผู้ใดเข้าทำประโยชน์ และขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ และห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ ของโจทก์เป็นคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยที่ ๒ ครอบครองและยื่นคำขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ หากว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ ของโจทก์ ที่ดินส่วนนั้นก็เป็นของจำเลยที่ ๒ เพราะได้ครอบครองทำประโยชน์โดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ รังวัดทำแผนที่ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการนำชี้ของจำเลยที่ ๒ และสามีจำเลยที่ ๒ ในขณะนั้นทับที่ดินมีเอกสารสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๓๘ ของโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิและพิสูจน์สิทธิในที่ดินของโจทก์เป็นสำคัญ และการที่ศาลจะมี คำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 8/2563 คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. รวมทั้งหมด ๘ แปลง เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนซื้อขายให้เฉพาะที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๖๘๘๓ เท่านั้น ส่วนที่ดินแปลงอื่นไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายได้ เนื่องจากยังมีปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนกันกับที่ดินตาม น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ แปลง "ค่ายเสนาณรงค์" ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดสงขลา (กบร. จังหวัดสงขลา) มีมติว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๒๑ เลขที่ ๑๑๕๒ และเลขที่ ๖๘๘๑ ถึงเลขที่ ๖๘๘๙ เป็นที่ดินที่ได้มีการครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ และผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่เหลือให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไข น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ ให้ถูกต้องตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดสงขลา เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดสงขลา ที่เห็นชอบว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๒๑ เลขที่ ๑๑๕๒ และเลขที่ ๖๘๘๑ ถึงเลขที่ ๖๘๘๙ ได้มีการครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนเป็นที่ดินของรัฐ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไข น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ ให้ถูกต้องตามมติดังกล่าว แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินตาม น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๗ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๗๘ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ กรมธนารักษ์ไม่ได้เห็นชอบตามมติ กบร. จังหวัดสงขลา จึงไม่อาจปฏิบัติตามมติได้ จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินแม้ผู้ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีโดยมีคำขอให้ดำเนินการแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่ดินของรัฐ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 7/2563 โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสาม ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชน ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ร้อยตำรวจตรี ล. บิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาทตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ นาง จ. มารดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้รับโอนสิทธิในที่ดินต่อจากร้อยตำรวจตรี ล. ต่อมานาง จ. เสียชีวิต โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาง จ. ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดมาถึงโจทก์ โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และบริวารครอบครองที่ดินอยู่โดยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๓ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการที่จำเลยที่ ๓ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกับโจทก์ คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทดีกว่ากัน อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 6/2563 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ที่ ๑ เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ ๒ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตเทศบาลและเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อันเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างประตูรั้วชนิดโครงเหล็ก บริเวณบ้านพักโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้าง ห้ามใช้อาคาร และให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล อันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล จึงเป็น "คำสั่งทางปกครอง" ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวโดยเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกประการหนึ่งด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัยที่ 5/2563 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมทางหลวง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี แม้ผู้ฟ้องคดีจะตั้งรูปเรื่องเป็นการเรียกค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีนำที่ดินมีโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีไปทำเป็นถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๗๘ ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาก่อนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของเดิม ที่ดินพิพาทจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 4/2563 คดีที่โจทก์เป็นลูกจ้างของสำนักงานเทศบาลตำบล พ. จำเลย ยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งมีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ขอให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งคนสวน สังกัดกองช่าง ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขับรถชนโจทก์ซึ่งกำลังตัดเก็บหญ้าบริเวณเกาะกลางถนนได้รับอันตรายสาหัส กรณีจึงเป็นการฟ้องขอให้หน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ อย่างไรก็ตาม ก่อนการฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำขอให้จำเลยพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์แล้ว ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่จำเลยปฏิเสธ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้ว หากผู้เสียหายยังไม่พอใจผลการวินิจฉัย ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า เมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยเมื่อพิจารณามาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ที่บัญญัติว่า สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ในคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลปกครองเปิดทำการแล้ว และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร" เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการกระทำละเมิดในการขับรถยนต์ของทางราชการเพื่อเก็บหญ้าซึ่งลูกจ้างของเทศบาลตัดแต่งบริเวณเกาะกลาง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 3/2563 แม้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ เข้านิยาม "หน่วยงานทางปกครอง" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่สัญญาจ้างทำคูหาลงคะแนนระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ เป็นเพียงสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำคูหาลงคะแนนพร้อมจัดส่งและจำเลยที่ ๑ ตกลงชำระค่าจ้างแก่โจทก์ จึงเป็นเพียงสัญญาจ้างทำวัสดุเพื่อใช้ในกิจการและการดำเนินการตามภารกิจ ไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง หรือมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยาม "สัญญาทางปกครอง" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ในการทำสัญญาพิพาทจึงไม่จำต้องบังคับตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน ดังนั้น ข้อพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาจ้างทำคูหาลงคะแนนจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 2/2563 แม้จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ก่อสร้าง (รถตักหน้าขุดหลัง) ชนิดขับเคลื่อน ๔ ล้อ จำนวน ๑ คัน เป็นเพียงสัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินงานของจำเลยทั้งสอง โดยสัญญามีสาระสำคัญเพียงว่าให้โจทก์ส่งมอบครุภัณฑ์ก่อสร้าง (รถตักหน้าขุดหลัง) ชนิดขับเคลื่อน ๔ ล้อ จำนวน ๑ คัน ตามรายละเอียดคุณลักษณะที่ระบุในสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจึงจะออกหลักฐานการรับมอบเพื่อให้โจทก์นำมาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับเงินค่าส่งของนั้น ลักษณะของสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ที่หน่วยงานทางปกครองผู้ซื้อมุ่งผูกพันตนกับผู้ขายซึ่งเป็นเอกชนด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง หรือมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยาม "สัญญาทางปกครอง" ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองในการทำสัญญาพิพาทจึงไม่จำต้องบังคับตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ในทางแพ่งของคู่สัญญาตามหลักกฎหมายเอกชน ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ก่อสร้าง (รถตักหน้าขุดหลัง) ชนิดขับเคลื่อน ๔ ล้อ จำนวน ๑ คัน ตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยที่ 1/2563 คดีที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยื่นฟ้องเอกชนเป็นจำเลย โดยมีมูลเหตุมาจากการที่โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยให้เก็บขยะมูลฝอยภายในเขตเทศบาลตามสัญญาจ้าง ๒ ฉบับ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้เก็บขยะมูลฝอยภายในเขตเทศบาลตามสัญญาจ้าง ๒ ฉบับ โดยจำเลยเช่ารถบรรทุกขยะจากโจทก์เพื่อใช้เก็บขยะตามถนน ตรอก ซอยต่าง ๆ ตามสัญญาเช่า ๒ ฉบับ แต่จำเลยผิดสัญญาเช่าไม่ซ่อมแซมรถบรรทุกขยะให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติก่อนส่งคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ประเด็นพิพาทแห่งคดีนี้จึงเป็นเพียงการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาเช่ารถบรรทุกขยะเท่านั้น หาใช่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างเก็บขยะมูลฝอยไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีอำนาจหน้าที่รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๐ (๓) ประกอบมาตรา ๕๖ (๑) อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงของโจทก์ ก็ตาม แต่เมื่อสัญญาเช่ารถบรรทุกขยะระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสาระสำคัญเป็นการให้จำเลยได้ประโยชน์จากการใช้รถบรรทุกขยะที่เช่าเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการให้จำเลยเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันจะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมุ่งผูกพันตนกับจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคตามหลักกฎหมายเอกชน อันเป็นลักษณะของสัญญาทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม