Pages

ฎีกาเกี่ยวกับการฟ้องแย้ง

คำพิพากษาที่ 1723/2551 
         บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์ 

คำพิพากษาที่ 465/2551 
        โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยอื่นละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ด้วยการร่วมกันนำอุปกรณ์ชุดเครื่องรับสัญญาณ อุปกรณ์ถอดรหัสและแปลงสัญญาณ อุปกรณ์กระจายสัญญาณของโจทก์ทั้งสองไปติดตั้งไว้ในอาคารแล้วแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำโดยการกระจายสัญญาณเสียงและภาพทางโทรทัศน์ในระบบของโจทก์ไปตามสัญญาหรือสายอากาศที่ต่อเข้าไปในห้องเช่าในอาคารจำนวน 225 ห้อง ไปพร้อมกับระบบการให้บริการสัญญาณทางโทรทัศน์ของจำเลย ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก เพื่อให้ผู้เช่าห้องได้รับฟังและรับชมรายการทางโทรทัศน์ของโจทก์โดยมีเครื่องหมายบริการของโจทก์ปรากฏในรายการโทรทัศน์นั้นด้วย ขอให้จำเลย ที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายและหยุดการกระทำละเมิด ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 ที่อ้างว่า ตัวแทนหรือพนักงานของโจทก์พ่วงต่อสัญญาณโทรทัศน์ของโจทก์เข้ามาในเครื่องรับสัญญาณของจำเลยที่ 4 ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหาย แม้เป็นการฟ้องในมูลละเมิดเช่นกัน แต่ก็เป็นการละเมิดต่างครั้งต่างคราวกันและมูลเหตุคนละเรื่องกัน ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 ที่กล่าวอ้างใช้สิทธิทางศาลอันเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 4 เพราะโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเอาความเท็จมาฟ้องต่อศาล เป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิม จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม 

คำพิพากษาฎีกาที่ 8245 - 8251/2550 
        โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค้างจ่ายค่าจ้างจึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งได้มีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม แต่การที่จำเลยฟ้องแย้งกล่าวอ้างว่าโจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นการฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมิได้สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่ของโจทก์ และมีประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 6996 - 6997/2550 
       คำฟ้องของโจทก์มีคำขอ 2 ข้อ คือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอของโจทก์นั่นเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกัน ไม่ต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง ถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5252/2550 
      โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ได้จดทะเบียนแล้ว ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและให้จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอยู่อาศัยอีกต่อไป ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลย ต่อมาบิดามารดายกที่ดินพิพาทให้จำเลย เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกิน 10 ปีแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยเช่นกัน จึงขัดแย้งกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะรับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 

คำพิพากษาฎีกาที่ 4622/2550 
       ฟ้องแย้งนอกจากจะต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอย่างไร รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อเช่นว่านั้นแล้ว ยังต้องมีคำขอบังคับ คือ จะให้ศาลบังคับโจทก์ให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างไรในเรื่องที่ถูกโต้แย้งสิทธินั้นด้วยตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 177 วรรคสาม คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งโดยเพียงแต่ขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท มิใช่คำขอให้บังคับโจทก์ทั้งเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยได้ตามฟ้องเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3183/2550 
         ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นอกจากจะต้องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้ว ต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลย ที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมอย่างไรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ด้วย ฟ้องแย้งเป็นคำคู่ความซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 18 ถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสามที่ว่า ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงมีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับฟ้องแย้งอันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 18 นั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงไม่มีผลทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คำพิพากษาฎีกาที่ 828/2550 
       โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์พร้อมกับทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวกับขอให้บังคับจำนอง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยอ้างว่า ภาระหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่โจทก์ไม่โอนให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในกำหนดเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด โจทก์ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ขอให้บังคับโจทก์นำเงินค่าชดเชยมาหักชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าว แม้ข้ออ้างของจำเลยตามฟ้องแย้งจะเกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยหรือไม่นั้นเป็นคนละส่วนกับมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องคดีเดิมที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปในคดีเดียวกัน ชอบที่จะนำไปฟ้องเป็นต่างหาก 

คำพิพากษาฎีกาที่ 8241/2549 
       หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยแล้ว ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนด ศาลแรงงานมีคำสั่งว่า ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป ให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ จึงเท่ากับว่าไม่มีฟ้องเดิมของโจทก์อยู่ในศาลแล้ว คงเหลือเฉพาะฟ้องแย้งของจำเลยเท่านั้น และฐานะของจำเลยเท่ากับเป็นโจทก์ และโจทก์เท่ากับเป็นจำเลย แม้เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยโดยเปิดโอกาสให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งเข้ามา ในคำให้การของโจทก์ส่วนที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมเพราะเป็นคำขอที่แตกต่างคนละเรื่องกันขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสียนั้น ไม่มีฟ้องเดิมอีกต่อไปแล้ว คำให้การของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เกิดเป็นประเด็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดประเด็นนี้ไว้ ไม่พิจารณาในเรื่องฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ แต่กลับพิจารณาในประเด็นอื่นอันเป็นเนื้อหาสาระคดีคือ โจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างแก่จำเลยอยู่จริงหรือไม่ จำนวนเท่าใด ต้องจ่ายดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดหรือไม่ จำนวนเท่าใดนั้น เป็นการถูกต้องด้วยกฎหมายแล้ว 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5149/2549 
        ป.พ.พ. มาตรา 1532 กำหนดให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเมื่อมีการหย่า โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกันไปตั้งครอบครัวของตนขึ้นใหม่ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแล้ว ได้ฟ้องขอให้แบ่งสินสมรส จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้เช่นเดียวกัน แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นที่อยู่นอกเขตศาลชั้นต้น ประกอบกับโจทก์เป็นฝ่ายเริ่มต้นคดีโดยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นก่อน จึงเป็นกรณีที่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมาตรา 4 (1) และมาตรา 4 ทวิ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3932/2549 
       ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้น การบรรยายฟ้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และต้องบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 อย่างไรตาม มาตรา 55 ทั้งต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ 1 เป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจพิจารณารวมไปกับคำฟ้องเดิมได้ และการที่สัญญาค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้สิทธิดังที่กล่าวไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 688, 689 และ 690 ได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 เกิดสิทธิที่จะฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 ด้วยไม่ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3778/2549 
      ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาย่อมถือได้ว่าจำเลยขาดนัดทั้งสองฐานะ คือทั้งที่เป็นจำเลยและที่เป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วย เมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้ขอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาคดีในส่วนฟ้องแย้งจึงชอบด้วยกฎหมาย หาใช่ต้องจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความไม่ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3920/2548 
        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยผิดสัญญาจ้างจึงฟ้องให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นการฟ้องในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ขอให้โจทก์ชำระเงินคืนและชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย โดยจำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ใช่ฟ้องมูลหนี้มาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 2686/2548 
 ขณะที่ประเด็นเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมีหนังสือแจ้งมาให้ศาลฎีกาทราบว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสามและจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ปัญหาตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามตกไปด้วย ศาลฎีกาจึงพิจารณาฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามต่อไปได้ 

คำพิพากษาที่ 5189/2546 
        การพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการเท่านั้น ประการที่หนึ่ง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ประการที่สอง พิพากษายกฟ้อง บทบัญญัติมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้เพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ตามคำให้การของจำเลย ที่ 3 และที่ 4 กล่าวว่าขอปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์ทั้งสามอ้างตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะเป็นสัญญาปลอม ซึ่งมีประเด็นที่โจทก์ทั้งสามจะต้องนำสืบถึงหนี้สินตามที่อ้างในคำฟ้อง และหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลย ที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องสถานเดียว จำเลย ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม 

คำพิพากษาที่ 4121/2546 
       โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายและลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เพราะไม่ยอมปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายนั้น สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 อ้างรวมทั้งที่ดินที่จำนองตามสัญญาเป็นคนละส่วนกับสัญญาและที่ดินที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละเรื่องกับที่โจทก์ฟ้อง ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม 


คำพิพากษาฎีกาที่ 4121/2546 

ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน โจทก์ 

บริษัท ว.กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม 

        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายและลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เพราะไม่ยอมปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายนั้น สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 อ้างรวมทั้งที่ดินที่จำนองตามสัญญาเป็นคนละส่วนกับสัญญาและที่ดินที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละเรื่องกับที่โจทก์ฟ้อง ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม
 ________________________________ 

        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ไม่เกิน 4,500,000บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์ บวก 1 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสุดท้ายของเดือน และจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 กรกฎาคม2540 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์จำนวน 6,519,640.44 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย นับถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 6,687,975.41 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,687,975.41 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 6,519,640.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ 

       จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้เช็คหรือหลักฐานอื่นใดเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ก็เพื่อจะนำไปใช้จ่ายในการทำธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขอกู้เงินจากบริษัทเงินทุนเฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงินจำนวน 72,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้รับโอนหนี้จากบริษัทดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับโจทก์เพื่อขอให้ปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินจำนวน 72,000,000 บาท เพื่อตีตราจัดสรรและจำเลยที่ 1 จะได้โอนกรรมสิทธิ์บ้าน ที่ดิน และอาคารพาณิชย์ให้ลูกค้านำเงินมาชำระให้โจทก์ แต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการให้ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ขาดประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000,000 บาท และเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 1,000,000 บาท กับดำเนินการลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 5 ฉบับ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา 

       ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง 

       จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ 

       ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน 

       จำเลยที่ 1 ฎีกา 

      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ศาลชอบที่จะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเดียวกันและเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม เพราะเป็นผลมาจากการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 4,500,000 บาท โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายและลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์ โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาเพราะไม่ยอมปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินจำนวน 72,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายนั้น เห็นได้ว่าสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 อ้างรวมทั้งที่ดินที่จำนองตามสัญญาดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับสัญญาและที่ดินที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละเรื่องกับที่โจทก์ฟ้อง ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น" อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องแย้งแต่ไม่ได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งให้จำเลย ที่ 1 จึงให้คืนแก่จำเลย ที่ 1 

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 

( ชวลิต ยอดเณร - กุลพัชร์ อิทธิธรรมวินิจ - ประเสริฐ เขียนนิลศิริ )


คำพิพากษาที่ 5224/2545 

ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน โจทก์ 

พันตำรวจเอก ส. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม, 179 วรรคท้าย 

        แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม รับรองให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ แต่มีเงื่อนไขว่าหากฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมก็ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จำเลยอาศัยเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกหนี้เงินกู้และบังคับจำนองเป็นข้ออ้างว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย มูลกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นเรื่องที่โจทก์หาเหตุแกล้งฟ้องร้องจำเลยโดยไม่มีมูลอันเป็นเรื่องละเมิดไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมที่โจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในสัญญา จำเลยชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ไม่อาจขอรวมมาในคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ________________________________ 

         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 5,000,000 บาท และ 7,000,000บาท ตามลำดับ โดยจำนองที่ดินหลายแปลงไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ จำเลยมิได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,962,199.50 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,446,062.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141078,141079, 141080, 141081 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 1412, 6096 ตำบลบางปะกง (บางปะกงบน) อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ 

       จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท และ9,000,000 บาท (ตามฟ้องโจทก์ 7,000,000 บาท) จากโจทก์ รวมทั้งไม่ได้จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ด้วย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์การจำนองที่ดินทั้ง 6 แปลง ทำให้จำเลยไม่สามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้ง 6 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยนอกจากนี้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นเหตุให้โจทก์ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลผู้ไม่มีความรับผิดชอบในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายและเพื่อให้บุคคลอื่นได้ทราบความจริง จำเลยขอให้โจทก์ส่งข้อความขออภัยจำเลยในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และผู้จัดการเป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน โดยให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามฟ้องและลงข้อความขออภัยจำเลยในหนังสือพิมพ์ 

     ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งที่ขอให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองและส่งมอบโฉนดที่ดินคืน ส่วนฟ้องแย้งที่ขอให้โจทก์ลงข้อความขออภัยจำเลยในหนังสือพิมพ์ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้งในส่วนนี้ 
 
       จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฟ้องแย้ง 

       ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

       จำเลยฎีกา 

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ลงข้อความขออภัยจำเลยในหนังสือพิมพ์เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติรับรองให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ก็ตาม แต่มีเงื่อนไขว่าหากฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมก็ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก สำหรับคดีนี้จำเลยอาศัยเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกหนี้เงินกู้และบังคับจำนองเป็นข้ออ้างว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย มูลกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นเรื่องที่โจทก์หาเหตุแกล้งฟ้องร้องจำเลยโดยไม่มีมูล อันเป็นเรื่องละเมิดไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมที่โจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในสัญญา ดังนั้น จำเลยชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ไม่อาจขอรวมมาในคำให้การได้ตาม มาตรา 177 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนไม่รับคำฟ้องแย้งในเรื่องนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" 

พิพากษายืน 

( กำพล ภู่สุดแสวง - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - สุรชาติ บุญศิริพันธ์ ) 


คำพิพากษาที่ 3512/2545 

ธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน โจทก์ 

นาย สุวัฒน์ มาพบสุข กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม 

         โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยฐานผิดสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายละเมิดสัญญาและประเพณีที่ธนาคารยึดถือปฏิบัติต่อลูกค้า โจทก์ตกลงจะลดยอดหนี้ลงให้ถูกต้อง ถ้าหากจำเลยขายที่ดินบางส่วนมาชำระหนี้ ทำให้จำเลยต้องขายที่ดินในราคาต่ำกว่าในท้องตลาด จำเลยต้องเสียหายสูญเสียโอกาสและราคาที่ดินที่ควรจะได้รับ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายประมาณ 4,000,000 บาท เมื่อหักกับยอดหนี้ที่ถูกต้องประมาณ 3,600,000 บาท โจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย 400,000 บาท ขอบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 400,000 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญาที่ตกลงไว้กับจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่นอกเหนือจากคำฟ้องเดิม จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปในคดีเดียวกันได้ ________________________________ 

      คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 11,306,418.79 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,859,844.96 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงิน 8,765,426.81 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,490,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ ไม่เคยทำสัญญากู้เงินโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลายมือชื่อในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิใช่ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่เคยนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองตามฟ้อง โจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามและให้ไถ่ถอนจำนองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง กับฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและทำผิดประเพณีที่ธนาคารถือปฏิบัติต่อลูกค้ากับฝ่าฝืนระเบียบตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเป็นเงินประมาณ 4,000,000 บาท เมื่อหักกับยอดหนี้ที่ถูกต้องประมาณ 3,600,000 บาท แล้วโจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1อีก 400,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงิน 400,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 

     ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข จึงไม่รับ 

        จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง 

        ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน 

       จำเลยที่ 1 ฎีกา 

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์สร้างเงื่อนไขจูงใจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินหลายแปลงเพื่อปลดหนี้แยกเป็นบัญชีไป ทำให้จำเลยที่ 1 สูญเสียประโยชน์จากราคาที่ดินตามราคาในท้องตลาด แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณาต่อไป เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงิน ไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และไม่เคยทำสัญญาจำนองที่ดินกับโจทก์ การคิดคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ถูกต้อง โจทก์เป็นฝ่ายละเมิดสัญญาและประเพณีที่ธนาคารยึดถือปฏิบัติต่อลูกค้า โจทก์ตกลงจะลดยอดหนี้ลงให้ถูกต้อง ถ้าหากจำเลยที่ 1 ขายที่ดินบางส่วนมาชำระหนี้ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องขายที่ดินในราคาต่ำกว่าในท้องตลาด จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายสูญเสียโอกาสและราคาที่ดินที่ควรจะได้รับ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณ 4,000,000 บาท เมื่อหักกับยอดหนี้ที่ถูกต้องประมาณ 3,600,000 บาท โจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ขอถือเอาเป็นทุนทรัพย์ฟ้องแย้ง ขอศาลบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำฟ้องแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญาที่ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่นอกเหนือจากคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปในคดีเดียวกันได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น" 

พิพากษายืน 

( วิรัช ลิ้มวิชัย - ไพศาล เจริญวุฒิ - ศิริชัย สวัสดิ์มงคล ) 


คำพิพากษาที่ 2686/2545 

นางสาว ศิริลักษณ์ เทียนเวช โจทก์ 

นาง สำเนียง อารีย์วงษ์ จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม 

          โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 6 และ 21 พฤศจิกายน 2541 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 80,000 บาท และ 104,000 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเคยกู้เงินจากโจทก์ไปสองครั้งครั้งแรกประมาณก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 จำนวน 50,000 บาท ซึ่งจำเลยสำคัญผิดชำระคืนเกินไปกว่าที่กู้ 25,000 บาท อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 จำนวน 80,000 บาทซึ่งจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง และทวงถามถึงเงินกู้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวจำเลยสำคัญผิดว่ายังชำระให้ไม่ครบจึงชำระเงินไปอีกหลายครั้งรวมเป็นเงิน 24,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำเลยชำระเกินไป 25,000 บาท และ 24,000 บาท แก่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับเงินทั้งสองจำนวนเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ครั้งอื่นไม่เกี่ยวกับสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องจึงถือว่าเป็นฟ้องแย้งในเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม
 ________________________________ 

           โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 และ 21 พฤศจิกายน 2541 จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน80,000 บาท และ 104,000 บาท ตามลำดับไปจากโจทก์ แล้วผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 184,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

         จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ตามฟ้องสัญญากู้ยืมเงินฝ่าฝืนกฎหมายและใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปี 2540 จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์สองครั้งครั้งแรกประมาณก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 จำนวน 50,000 บาท ซึ่งจำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ 10 ครั้ง ครั้งละ 7,500 บาท รวมเป็น 75,000 บาท เกินกว่าที่จำเลยกู้ยืมจากโจทก์จำนวน 25,000 บาท ครั้งที่สองวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 จำนวน 80,000 บาทซึ่งจำเลยชำระแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ประมาณปลายปี 2541 โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินสองฉบับตามฟ้อง แล้วทวงถามเงินกู้ทั้งสองจำนวนดังกล่าว จำเลยสำคัญผิดว่ายังชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ครบจึงชำระเงินแก่โจทก์อีกหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 24,000 บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินที่จำเลยชำระเกินไปรวม 49,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย 

         ศาลชั้นต้นสั่งคำให้การจำเลยว่า รับเป็นคำให้การจำเลย ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง 
           
            จำเลยอุทธรณ์ 

            ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน 

            จำเลยฎีกา 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องแย้งของจำเลยชอบที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า วันที่ 6 และ 21 พฤศจิกายน2541 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำนวน 80,000 บาท และ 104,000 บาท ตามลำดับ แล้วผิดนัดไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยกู้และรับเงินจากโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับฝ่าฝืนกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้ และฟ้องแย้งว่า จำเลยเคยกู้เงินจากโจทก์ไปสองครั้ง ครั้งแรกประมาณก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 จำนวน 50,000 บาท ซึ่งจำเลยสำคัญผิดชำระคืนแก่โจทก์เกินไปกว่าที่กู้จำนวน 25,000 บาท อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 จำนวน 80,000 บาท ซึ่งจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วต่อมาเมื่อโจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องแล้ว และทวงถามถึงเงินกู้ทั้งสองจำนวนดังกล่าว จำเลยสำคัญผิดว่ายังชำระให้โจทก์ไม่ครบจึงชำระเงินแก่โจทก์ไปอีกหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 24,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์คืนเงินที่จำเลยชำระเกินไปจำนวน25,000 บาท และ 24,000 บาท แก่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยที่เกี่ยวกับเงินจำนวน25,000 บาท เห็นได้ชัดว่าเป็นฟ้องแย้งที่จำเลยเรียกเงินที่อ้างว่าได้ชำระให้แก่โจทก์เกินไป โดยสำคัญผิดในการกู้ยืมเงินครั้งก่อนเมื่อก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 ส่วนฟ้องแย้งเกี่ยวกับเงินจำนวน 24,000 บาทนั้น เป็นฟ้องแย้งที่จำเลยเรียกเงินที่จำเลยสำคัญผิดจ่ายให้แก่โจทก์เกินไปในการชำระหนี้เงินกู้ครั้งสองเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 โดยเมื่อโจทก์ทวงถามถึงเงินกู้ทั้งสองจำนวนตามฟ้อง ทำให้จำเลยสำคัญผิดว่ายังชำระเงินหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ไม่ครบจึงชำระให้แก่โจทก์อีกทั้ง ๆ ที่จำเลยชำระครบถ้วนแล้วฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับเงินทั้งสองจำนวนเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ครั้งอื่น ไม่เกี่ยวกับสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้อง ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธอยู่ว่าไม่ได้กู้และรับเงินจากโจทก์สัญญากู้ยืมเงินฝ่าฝืนกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ จึงถือว่าเป็นฟ้องแย้งในเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" 

พิพากษายืน 

( สุภิญโญ ชยารักษ์ - วิชา มหาคุณ - วิชัย วิวิตเสวี )