Pages

ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 57 ปี 47

ข้อ 1. 

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญากู้และจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ตั้งนายเอก เป็นทนายความเข้ามาต่อสู้คดี ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ระหว่างสืบพยานโจทก์ นายเอกได้นำใบแต่งทนายความ ที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้นายเอกเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 มายื่นต่อศาล และในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์และ จำเลยทั้งสองโดยนายเอกทนายความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2548 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ขณะโจทก์ฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ จำเลยที่ 2 มิได้มีภูมิลำเนาตามฟ้องและจำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายเอกเป็นทนายความ ให้แต่อย่างใด ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในใบแต่งทนายความเป็นลายมือปลอม จำเลยที่ 2 มาตรวจดูสำนวนคดีที่ศาล เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 จึงทราบเรื่องดังกล่าว ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ รายงานกระบวน พิจารณาและคำพิพากษาตามยอม แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องต่อไป ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 นั้น หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบกระบวนพิจารณา ที่ผิดระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณา ที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูล แห่งข้ออ้างนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 3476/2538, 7627/2538, 5876/2545 และ 5047/2547) ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบถึงการที่ถูกโจทก์ฟ้องเพราะจำเลยที่ 2 มิได้มีภูมิลำเนาตามฟ้องโจทก์และไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายเอกเป็นทนายความให้แต่อย่างใด หากได้ความจริงกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินมาจนกระทั่งพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างเรื่องการผิด ระเบียบ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 และมายื่นคำร้องในวันที่ 10 มกราคม 2548 คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยมาตรา 27 วรรคสอง และการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต้องยื่นคำร้องในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณา ที่ผิดระเบียบนั้นเองตามมาตรา 7 (4) จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากหาได้ไม่ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5934-5935/2545) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องจึงไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2538
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคสองบัญญัติขึ้นใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้นจะนำมาใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วหาได้ไม่เพราะเป็นการขัดต่อเหตุผลและความเป็นจริงที่จะบังคับให้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาโดยที่ตนยังไม่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นได้ฉะนั้นกรณีเพิ่งทราบภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าวคู่ความที่เสียหายจึงชอบจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตามมาตรา27วรรคแรก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7627/2538
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ ดังนี้ หากศาลไต่สวนแล้วได้ความตามคำร้องว่าขณะถูกฟ้องจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศและจำเลยที่ 3 ไม่ได้แต่งตั้ง น.ให้เป็นทนายความ กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมานั้นก็ย่อมไม่ชอบมาแต่ต้น กระบวนพิจารณาต่อ ๆ มาจนกระทั่งพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็ย่อมไม่ชอบไปด้วย เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยหลงผิดว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และแต่งตั้งให้ น.เป็นทนายความมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 ได้ กรณีเช่นนี้จะอ้างว่าคดีถึงที่สุดแล้วเพราะจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาก็ไม่ได้เช่นกันเพราะกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบมาแต่ต้นนั้น ย่อมส่งผลให้คำพิพากษาคดีและการอ่านคำพิพากษาไม่ชอบไปด้วย จำเลยที่ 3 ผู้ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเมื่อได้ทราบถึงข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นเมื่อใด ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวน-พิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้วเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ การร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในกรณีเช่นนี้ จะบังคับให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาโดยที่จำเลยที่ 3 ยังไม่ทราบถึงข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบนั้น ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยฟ้อง จะกระทำได้ ดังนั้น จำเลยที่ 3จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นในคดีเดิมเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีผิดระเบียบดังกล่าวเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องได้โดยไม่จำต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมมิให้มีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 3 เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2545
การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนศาลมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากคู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2547
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 

ข้อ 2. 

นายเงินเป็นโจทก์ฟ้องนายทองเป็นจำเลยอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15 นายทองจำเลยบุกรุกเข้ามา ครอบครองโดยมิชอบ ขอให้ขับไล่ นายทองจำเลยให้การต่อสู้ว่า นายทองได้ร่วมกับนายนากครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า นายทองจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้ กรรมสิทธิ์หรือไม่ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา นายนากยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตามกฎหมายในผลแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายนากเป็นโจทก์ฟ้อง นายเงินเป็นจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ขับไล่และห้ามนายเงินเกี่ยวข้องกับที่ดิน พิพาท นายเงินจำเลยให้การต่อสู้ว่า นายนากมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาปรากฏว่า คดีแรกศาลพิจารณาเสร็จก่อน พิพากษาว่านายทอง จำเลยและนายนากจำเลยร่วมมิได้ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ให้ขับไล่นายทอง จำเลยและนายนากจำเลยร่วมออกไปจากที่ดินพิพาท นายทองจำเลยและนายนากจำเลยร่วมอุทธรณ์ 

ให้วินิจฉัยว่า ฟ้องของนายนากโจทก์คดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายนากโจทก์ยื่นฟ้องคดีหลัง ในขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณายังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุด ฟ้องนายนากโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 การที่นายนากโจทก์คดีหลังยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) โจทก์จึงเป็นคู่ความในคดีก่อนของศาลชั้นต้นตามมาตรา 1 (11) ฉะนั้น โจทก์จึงต้องถูกผูกพันในกระบวน พิจารณาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาด ในประเด็นแห่งคดีในคดีก่อนว่า นายนากมิได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท นายนากโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องนายเงินจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนโดยการครอบครองปรปักษ์อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้นายนากโจทก์จะฟ้องคดีหลังก่อน ที่ศาลคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดก็ตาม แต่เมื่อคดีก่อนศาลได้พิพากษาชี้ขาดแล้วกรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ มาตรา 144 นี้ เช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 2116/2542) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2542
ปัญหาว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณา คดีนี้ซ้ำและฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเรื่องก่อนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 หรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิ ที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เดิมจำเลยทั้งสามในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้อง ส.และต.เป็นจำเลยเป็นคดีแพ่งโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองที่พิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ต่อมาส.และต. ไปขอออก น.ส.3 ก. เลขที่ 4618โดยมิชอบทับที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ของจำเลยทั้งสามส.และต. ให้การว่า การขอออก น.ส.3 ก.เลขที่ 4618 ถูกต้องและได้เข้าครอบครองที่พิพาท อย่างเจ้าของ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า น.ส.3 ก. เลขที่ 4618 ออกทับที่พิพาทของจำเลยทั้งสาม อันจะต้องเพิกถอนหรือไม่ การที่โจทก์ยื่นคำร้องสอด ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ในคดีก่อน โจทก์จึงเป็นคู่ความในคดีก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) และ ต้องถูกผูกพันในกระบวนพิจารณาของศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เมื่อ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ในคดีก่อนแล้วว่า น.ส.3 ก.เลขที่ 4618 ออกทับที่ของจำเลยทั้งสามตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ให้เพิกถอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 4618 อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ก่อนศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนก็ตาม แต่เมื่อ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีในคดีก่อนแล้ว กรณีก็ต้อง ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน 

ข้อ 3. 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำรถยนต์ของโจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือ ตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำโดยทุจริตรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องชำระจริง จึงขอให้ศาลบังคับจำเลย ทั้งสองคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่วนที่โจทก์ได้ชำระเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องชำระจริง จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ทำสัญญาประกันภัยจริง แต่ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนกระทำละเมิดต่อโจทก์ และฟ้องโจทก์ ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่จำต้องชี้สองสถาน จึงสั่งให้งดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม คำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้องในขณะที่นำมาทำสัญญา ประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ดังกล่าวให้เป็นของนายเก่งแล้ว โจทก์จึง ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรถยนต์ดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัย เพราะเงินค่าเบี้ยประกันภัยเป็นทรัพย์ของนายเก่ง ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์แล้ว อีกทั้งเป็นการแก้ไขคำให้การเพิ่มเติม ประเด็นเข้ามาใหม่ ไม่เกี่ยวกับคำให้การหรือข้ออ้างเดิมของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า คำคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ และศาลจะสั่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 อย่างไร 

ธงคำตอบ 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 มิได้บัญญัติว่าข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยนั้น จะต้องเกี่ยวกับคำให้การหรือข้ออ้างเดิมของจำเลย คงห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น แม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ของจำเลยจะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาโจทก์ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้ ตามมาตรา 179 (3) เมื่อจำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขภายหลังจากวันสืบพยานโจทก์ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 180 ดังนั้น ข้อคัดค้านของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำให้การว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ทำสัญญาประกันภัย แต่ต่อมา ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การมีข้อความว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว ในขณะทำสัญญาประกันภัย โจทก์ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในรถยนต์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยมิได้ยกเลิกคำให้การเดิมเท่ากับ จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัย ดังนั้น คำให้การกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตแล้วย่อมจะทำให้กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ โดยชัดแจ้ง เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 177 วรรคสอง ทำให้ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องดังกล่าวได้ ศาลชอบที่จะสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2236/2545) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(3) มิได้บัญญัติว่า ข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยใหม่จะต้องเกี่ยวกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิมของจำเลยคงบัญญัติห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้นแม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขภายหลังจากวันสืบพยานโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 จำเลยที่ 1 ให้การไว้ว่า โจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยสั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์แล้วก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วคำให้การดังกล่าวจำเลยที่ 1 รับว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 2 และเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินของโจทก์ ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ขอเพิ่มเติมว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ในขณะที่นำมาทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของ ท. แล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่กรณีเงินค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น คำให้การกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตแล้วย่อมจะทำให้กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้ 

ข้อ 4. 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินราคา 500,000 บาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้น นัดสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ถึงวันนัดสืบพยาน โจทก์และจำเลยมาศาล ระหว่างการสืบพยาน จำเลยมิได้แถลงข้อความใด ต่อศาลนอกจากยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ศาลสอบถาม เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้น ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยมาศาลและยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด เพราะจำเลยเพิ่งทราบ เรื่องการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องแล้วพิพากษา ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ตามฟ้อง 

ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยชอบหรือไม่ (ข) หากจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมีสิทธิขออนุญาตยื่นคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยนั้นต้องมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และต้องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์ จะต่อสู้คดี การที่จำเลยมาศาลโดยไม่แถลงข้อความใดต่อศาล นอกจากแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ศาลสอบถาม จนกระทั่งศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาเช่นนี้ ถือว่าจำเลยไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรก ว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยจึงมายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ เป็นการไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและล่วงเลยขั้นตอนที่จำเลยจะขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยแล้ว ศาลชอบที่จะยกคำร้อง ของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยจึงชอบแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1435/2521) 

(ข) จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แม้มาศาล แต่มิได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี ถือว่าเป็น กรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามมาตรา 199 วรรคสอง แม้ต่อมาหากศาลพิพากษาให้จำเลยนี้แพ้คดีและ จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยก็จะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยนั้น ต้องห้ามตามมาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1435/2521 
ในกรณีที่ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้นัดสืบพยานโจทก์เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลแต่มิได้แจ้งให้ศาลทราบถึงเหตุที่ตนมิได้ยื่นคำให้การ กลับแถลงยอมรับข้อเท็จจริงบางประการต่อศาลจนศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษา เช่นนี้ จำเลยจะมายื่นคำร้องในวันนัดฟังคำพิพากษาว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การขออนุญาต ยื่นคำให้การอีกหาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคแรก ซึ่งกำหนดให้จำเลยแจ้งถึงเหตุที่มิได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลทราบก่อนหรือในวันสืบพยานขณะเมื่อเริ่มต้นสืบพยาน โจทก์กับบุคคลอื่นอีก 6 คนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมี น.ส.3 แปลงพิพาท จ. เจ้าของรวมคนหนึ่งไปขอออกโฉนดใส่ชื่อ จ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวแล้วโอนขายให้จำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ไปทำนิติกรรมแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดโดยให้ใส่ชื่อโจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วย ดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อเจ้าของรวมคนอื่นมิได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้แทนหรือได้รับมอบอำนาจจากบุคคลเหล่านั้น 

ข้อ 5. 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดเป็นเงิน 100,000 บาท และฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยให้ ร่วมรับผิดในวงเงิน 60,000 บาท โดยโจทก์เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ เป็นผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัย ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระ ค่าขึ้นศาลเพิ่มในจำนวนทุนทรัพย์ 60,000 บาท โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่ได้โต้แย้ง เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว วันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยาน จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามฟ้อง และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดี และงดสืบพยานจำเลยที่ 1 โดยมิได้นำค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์และของจำเลยที่ 1 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

คำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มในจำนวนทุนทรัพย์ 60,000 บาท เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งโจทก์จะต้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้จึงจะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) แต่กรณีนี้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่ม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้ง คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น โจทก์ก็มีสิทธิยกปัญหาเช่นว่านั้น ขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 225 วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226 (2) โจทก์จึงชอบที่จะอุทธรณ์ในปัญหา ดังกล่าวได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7409/2546 (ประชุมใหญ่)) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงชอบที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 226 (2) และการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งระหว่าง พิจารณาโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม ย่อมมีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับ ไปในตัวด้วย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ ตามมาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 3152/2545 และ 6747/2545) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2546
คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละเท่าใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226(2) และถึงแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียวแต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตามที่มาตรา 168 บัญญัติไว้ ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการโต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมายของตาราง 1 ข้อ 1(ค) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2545
การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยนั้น ย่อมมีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับไปในตัวด้วย แต่จำเลยเลี่ยงไปอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยเพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาด้วย แม้จะเป็นสิทธิของจำเลยที่กระทำได้โดยชอบ ซึ่งจำเลยได้ประโยชน์ที่ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ โดยเสียเพียงค่าอุทธรณ์คำสั่ง 200 บาทเท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์เช่นนี้ทำให้มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2545
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและเห็นว่าฟ้องแย้งเป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มภายใน 3 วัน หากไม่เสียให้ถือว่าทิ้งฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 จึงไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นจึงไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้จำเลยจะได้โต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปนั้น ย่อมอาจมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกไปด้วย กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย อันเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่ต้องปฏิบัติ เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง 

ข้อ 6. 

นายรวยฟ้องนายสินขอให้บังคับนายสินชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้จำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง นายรวยอุทธรณ์คำพิพากษา และต่อมานายรวยได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษาโดยขอให้ยึดที่ดิน 1 แปลง ของนายสินไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะนายสินกำลังจะโอนขายที่ดินดังกล่าว ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งหากโอนขายไปแล้ว และนายรวยชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ ก็จะไม่สามารถบังคับเอาชำระหนี้ได้ นายสิน ยื่นคำคัดค้านว่า นายรวยจะขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำคัดค้านของนายสินฟังขึ้นหรือไม่ (ข) ศาลใดบ้างมีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวย 

ธงคำตอบ 

(ก) การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาจะขอในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ โดยต้องยื่นก่อนศาลนั้น ๆ มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรคหนึ่ง นายรวยจึงขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ คำคัดค้านของนายสินฟังไม่ขึ้น 

(ข) สำหรับศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น แยกพิจารณาดังนี้ 

1. ถ้านายรวยยื่นคำร้องก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวยได้ตามมาตรา 254 วรรคสอง (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 19/2502 และ 276/2537) 


2. ถ้านายรวยยื่นคำร้องภายหลังที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวย

คำสั่งคำร้องที่ 19/2502 
คำร้องขอคุ้มครองสิทธิขอให้ห้ามจำเลยที่ได้ยื่นพร้อมกับฎีกานั้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งตาม มาตรา 254 วรรคสุดท้ายไม่ต้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง 

คำสั่งคำร้องที่ 276/2537
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กั้นทางพิพาทและยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองประโยชน์ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกชั่วคราว ผลคดีศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องเช่นนี้เมื่อโจทก์ฎีกาโดยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยปิดกั้นทางพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย คำร้องจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 254 วรรคสุดท้ายศาลฎีกาย่อมสั่งให้ส่งคืนศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งต่อไป 

ข้อ 7. 

นายวิทย์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 1 แปลงของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้เงินได้ราคา 1,000,000 บาท หลังจากนั้น 10 วัน นายตุลและนายกิจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ของนายชมอีก 2 คดียื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งศาลพิพากษา ให้นายชมชำระหนี้เงิน แต่นายชมไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระหนี้ได้ นายตุลและนายกิจไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สิน อื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขอศาลอนุญาตให้เข้าเฉลี่ยทรัพย์ 

(ก) นายวิทย์เจ้าหนี้คัดค้านว่า นายตุลผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่คดีของนายตุลเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุด นายตุลไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ 

(ข) นายชมลูกหนี้คัดค้านว่า นายชมยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ นายกิจไม่มี สิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้านของนายวิทย์เจ้าหนี้และนายชมลูกหนี้ดังกล่าวจะยกเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้านคำร้อง ขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายตุลและนายกิจได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) หากนายตุลเจ้าหนี้ผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกิน กำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายตุลเจ้าหนี้ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายชมและ การขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของนายชมชำระหนี้ของนายตุลผู้ขอเฉลี่ย และหมดสิทธิ ที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายชมลูกหนี้ ข้อคัดค้านของนายวิทย์เจ้าหนี้ดังกล่าว จึงยกเป็นเหตุต่อสู้นายตุลผู้ร้องขอได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 816/2543) 

(ข) การที่นายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษายกข้อต่อสู้ว่า นายชมมีทรัพย์สินอื่นที่จะบังคับคดีได้นั้น บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่นายวิทย์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งทำการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยกเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้านมิให้นายกิจเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเข้าเฉลี่ยทรัพย์ มิใช่ให้สิทธิแก่นายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษายกขึ้นเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้าน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1592/2547 และ 1706/2547) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2543
กำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เป็น ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่เรื่องอายุความ การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดีหาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปไม่ เช่นนี้ หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้อีก หรือขอบังคับคดีต่อไป จะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย และการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้ของผู้ร้องขอเฉลี่ย ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยจากทรัพย์สินของจำเลยเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2547 
ป.วิ.พ. มาตรา 290 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้ออ้างที่จะโต้แย้งคัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ในคดีนี้ที่เพียงพอจะชำระหนี้ได้ จึงเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อโจทก์ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น