Pages

ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 59 ปี 49

ข้อ 1. 

นาย เอกทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าราคา 2,000,000 บาท กับนายโทและนายตรี โดยชำระ ราคางวดแรก 1,000,000 บาท และมีข้อตกลงให้นำไปส่งมอบและติดตั้ง ณ สำนักงานของนายเอกที่จังหวัด ราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแส ไฟฟ้าได้ตามคุณสมบัติที่ตกลง กันนายเอกจึงจะชำระราคาส่วนที่เหลือให้ สัญญาดังกล่าวทำขึ้นที่ภูมิลำเนาของนายเอกซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนนายโทและนายตรีต่างมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ต่อมาหลังจากที่ติดตั้งแล้วปรากฏว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อขายเพราะไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ นายเอกจึงบอกเลิกสัญญาและยื่นฟ้อง นายโทกับนายตรีต่อศาลจังหวัดราชบุรี ขอให้คืนเงินค่าสินค้าที่ชำระไปจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ขนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกไป นายโทให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องและยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เรื่องเขตอำนาจศาลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลนี้ ส่วนนายตรี พนักงานเดินหมายรายงานว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ไม่ได้โดยได้รับแจ้ง ว่าถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แถลง ต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลว่านายตรีได้ถึงแก่กรรมไปก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดี ตามมรณบัตรที่แนบมาและยื่นคำร้องขอให้ศาล หมายเรียกทายาทของนายตรีเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่นายตรีผู้มรณะ 

ให้วินิจฉัยว่า คำร้องของนายโทฟังขึ้นหรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งตามคำร้องและคำฟ้องของโจทก์ที่ เกี่ยวกับนายตรีอย่างไร 

ธงคำตอบ 

นาย เอกทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับนายโทและนายตรีที่ภูมิลำเนาของนาย เอกซึ่งอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อตกลงให้นำไปส่งมอบและติดตั้ง ณ สำนักงานของนายเอกที่จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามคุณสมบัติ ที่ตกลงกัน นายเอกจึงจะชำระราคาส่วนที่เหลือให้ เมื่อนายเอกอ้างว่านายโทและนายตรีนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรง ตาม ข้อกำหนดในสัญญาไปส่งมอบและติดตั้งอันเป็นการผิดสัญญาก็เท่ากับมีข้อโต้แย้ง เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ เงื่อนไขการส่งมอบและติดตั้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องมีการส่งมอบและติดตั้งเครื่องกำเนิด ไฟฟ้าจึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย นายเอกย่อมมีอำนาจฟ้องคดี ต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) คำร้องของนายโทฟังไม่ขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 2916/2548) 

กรณีนายตรีได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะถูกนายเอกฟ้องคดี นายตรีไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในขณะที่นายเอก ยื่นฟ้องไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ฟ้องของนายเอกเฉพาะ ที่เกี่ยวกับนายตรีจึงมิชอบมาแต่ต้น นายเอกไม่อาจยื่นฟ้องนายตรีต่อศาลได้ จึงต้องเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้อง เป็นไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความเฉพาะที่เกี่ยวกับนายตรี (คำพิพากษาฎีกาที่ 120/2536, 3153/2545) นายเอกจะขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกทายาทของนายตรีเข้ามาเป็นคู่ความแทนหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ กรณีคู่ความมรณะในระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามมาตรา 42 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2548
โจทก์ ทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์กับจำเลยที่บริษัทจำเลยซึ่ง ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมีข้อตกลงให้จำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปส่งมอบ และติดตั้งให้แก่โจทก์ ณ จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อ เนื่องตามคุณสมบัติที่ตกลงกัน โจทก์จึงจะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อ กำหนดในสัญญาไปส่งมอบและติดตั้งอันเป็นการผิดสัญญา ก็เท่ากับมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายดัง กล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการส่งมอบและติดตั้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องมีการส่งมอบและติดตั้งเครื่องกำเนิด ไฟฟ้า จึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2536
จำเลย ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดี แสดงว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมาย ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลได้ แต่เมื่อศาลรับฟ้องไว้แล้วจึงต้องจำหน่ายคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2545
การ ขอให้พิจารณาใหม่หากได้ความตามคำร้องก็มีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูก เพิกถอนไปในตัวและศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาขึ้นใหม่ ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ก็เท่ากับเป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำ พิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ผู้ร้องจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำ พิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควร หยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ถือไม่ได้ว่าฎีกาของผู้ร้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบใน ศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฝ่ายเดียวและมีคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นรับคำร้อง ผู้ร้องได้อ้างส่งสำเนาคำสั่งศาลที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย ที่ 1 เข้ามาในสำนวนด้วยจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ ว่าจำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะถูกโจทก์ฟ้องคดี ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์และกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงมิชอบมาแต่ต้น เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในขณะโจทก์ยื่นฟ้องปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความ สงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อสำนวนขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดเกี่ยวกับจำเลย ที่ 1 นับแต่ศาลชั้นต้นรับฟ้องตลอดมา 

ข้อ 2. 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมิใช่ผู้ยากจนและคดีไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ หากจำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้วางเงิน ค่าขึ้นศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำสั่ง กรณีดังกล่าวหากจำเลยใช้สิทธิดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 

(ก) จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำ พยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าเป็นคนยากจน 

(ข) หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว 15 วัน จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ อุทธรณ์อย่างคนอนาถา 

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำร้องของจำเลยใน (ก) และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นใน (ข) อย่างไร 

ธงคำตอบ 

(ก) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 155 ให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขออุทธรณ์ อย่างคนอนาถาได้ หากคดีมีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์และตนเองเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะ เสียค่าธรรมเนียมศาล จำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยวินิจฉัยว่า จำเลยมิใช่ผู้ยากจนและคดีไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ให้พิจารณาคำขอใหม่ตามมาตรา 156 วรรคสี่ เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตน เป็นคนยากจน แม้หากศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและฟังว่าจำเลยเป็นคนยากจน ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของ จำเลยเพราะปัญหาที่ว่าคดีของจำเลยมีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์หรือไม่ได้ ยุติไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณา คำขอของจำเลยใหม่ ดังนั้นศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1379/2549) 

(ข) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นศาลอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน กำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง มิใช่ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้น อุทธรณ์มาวางศาล เมื่อจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1541/2549) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2549
ป.วิ.พ. มาตรา 155 ให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ หากคดีมีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์และตนเองเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะ เสียค่าธรรมเนียม จำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยวินิจฉัยว่า จำเลยมิใช่ผู้ยากจนและคดีไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้พิจารณาคำขอใหม่ตามมาตรา 156 วรรคสี่ เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจน แม้หากศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและฟังว่าจำเลยเป็นคนยากจน ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของจำเลยเพราะปัญหาที่ว่าคดีของจำเลยมีเหตุผลอัน สมควรที่จะอุทธรณ์หรือไม่ได้ยุติไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะพิจารณาคำขอของจำเลยใหม่ จำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยมิใช่คนยากจน และคดีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ ถือได้ว่ามีการแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ประกอบมาตรา 155 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2549
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นศาลอุทธรณ์ ของจำเลย จำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งยกคกร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นศาลอุทธรณ์ของ จำเลย จำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง มิใช่ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้น อุทธรณ์มาวางศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของจำเลยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ภายในวันที่ 19กรกฎาคม 2547 แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 เกินกำหนดเวลา7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ข้อ 3.

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าทรัพย์จำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเช่า และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง หลังจากศาลชั้นต้น สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนี้ที่ศาลในประเทศญี่ปุ่น และศาลแห่งประเทศ ญี่ปุ่นมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษา ศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

คดี นี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวน พิจารณาสืบพยาน จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยจะยื่นฎีกาอยู่ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพัน คู่ความจนกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียถ้าหากมี ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ต้องถือว่าคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จะต้องสืบพยานจำเลย ต่อไป โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องได้ตามมาตรา 175 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงชอบแล้ว (คำสั่งศาลฎีกาที่ 5623/2548) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2548
ศาล อุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบ พยานจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นฎีกาอยู่ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะ ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ต้องถือว่า คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จะต้องสืบพยานจำเลยต่อไป ดังนั้น โจทก์ย่อมขอถอนฟ้องได้ และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีอำนาจสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านแล้ว การถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้องไม่อาจที่จะนำ ฎีกาของจำเลยทั้งสองมาพิจารณาได้อีกต่อไป 

ข้อ 4. 

โจทก์ ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนโจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้ โจทก์ทั้งสองคนละ 400,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดให้ โจทก์ทั้งสองนำพยานเข้าสืบก่อน ถึงวันสืบพยาน จำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ทราบนัด โดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ 

(ก) โจทก์ทั้งสองมาศาล ยื่นคำร้องว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา แต่ในวันสืบพยานการจราจรติดขัดมาก ทำให้เสมียนทนายโจทก์ทั้งสองนำคำร้องขอเลื่อนคดีมาถึงศาลล่าช้าหลังจากที่ ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ 

(ข) จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งมาศาลก่อนที่จะมีคำสั่งคำสั่งศาลที่ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย 

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ทั้งสองใน (ก) อย่างไร และอุทธรณ์ของจำเลย ที่ 1 ใน (ข) ฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) เมื่อโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี จึงเป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ส่วนโจทก์ทั้งสองที่ไม่มาศาลกับจำเลยที่ 1 ที่มาศาลเป็นกรณีที่โจทก์ ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 202 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลย่อมจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความเช่นเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 6674/2541) ผลของคำสั่ง จำหน่ายคดีตามมาตรา 201 และมาตรา 202 ต้องพิจารณาตามมาตรา 203 แม้มาตรา 203 มิได้บัญญัติห้ามมิให้ โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็น สำคัญ การที่ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดี ใหม่ได้ สิทธิของโจทก์ทั้งสองมีอยู่ทางเดียวคือ ต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามมาตรา 203 เท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1645/2549) ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ทั้งสอง 

(ข) กรณีที่โจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 มิได้บัญญัติให้ศาลต้องสอบถามจำเลยที่มาศาลก่อน แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่มาศาลจะต้องแจ้งต่อศาลเพื่อขอให้ ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป การที่จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งต่อศาลตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะมีคำสั่ง จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ (คำพิพากษาฎีกาที่ 757/2543) คำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6674/2541
คดี แพ่งระหว่างโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7กับโจทก์ทั้งห้าต่างไม่ไปศาลตามวันเวลานัด ต้องถือว่าคู่ความ ทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4แถลงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีกรณีดังกล่าวบทบัญญัติกฎหมายให้ศาลมีคำสั่ง จำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 200 วรรคแรก โดยศาลไม่จำต้องสอบถามจำเลยที่ 5ที่ 6 และที่ 7 ก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2549
โจทก์ ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 202 กรณีเช่นนี้แม้มาตรา 203 มิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็น สำคัญ เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดี ใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวคือต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามาตรา 203 เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2543
ใน วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทนายโจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บังคับให้ศาลต้องสอบถามจำเลยที่มาศาลก่อน แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่มาศาลต้องแจ้งต่อศาลในวันหรือก่อนวันสืบพยานว่าตน ตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้แจ้งต่อศาลชั้นต้นในวันหรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ว่าตนตั้งใจจะให้ดำเนิน การพิจารณาคดีต่อไป จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอันจะต้องเพิกถอนไม่ 

ข้อ 5.

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกตามโฉนด ที่ดินเลขที่ 1234 จำนวนเนื้อที่ 300 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทคนละ 100 ตารางวา โดยตีราคาที่ดิน ทั้งแปลงคิดเป็นเงินรวม 90,000 บาท จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะเจ้ามรดกยกให้แก่จำเลย ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 แก่โจทก์ ทั้งสองคนละ 100 ตารางวา ก่อนครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่น อุทธรณ์อ้างว่ายังติดต่อกับตัวจำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าทนายจำเลยจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เนื่องจากติดต่อกับตัวจำเลย ไม่ได้ 

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 จำนวนเนื้อที่ 300 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 100 ตารางวา โดยตีราคาที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงคิดเป็นเงินรวม 90,000 บาท แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน ดังนั้น ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่ง จึงมีราคา 30,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์แต่ละคน จึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ 5971/2544 ประชุมใหญ่) 

อุทธรณ์ ของจำเลยที่ว่า ทนายจำเลย จำเป็นต้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เนื่องจากติดต่อกับจำเลยไม่ได้เป็น อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แม้จะเป็นอุทธรณ์คัดค้านในเรื่องของการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ซึ่งไม่ เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกันก็ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 5185/2548) ดังนั้น ศาลจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5971/2544
โจทก์ ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่ โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทคนละ 1 ส่วน รวม 4 ส่วน ใน 9 ส่วนคิดเป็นเงินรวม 279,632 บาท จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่อง โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกเป็นฎีกาโต้ เถียงข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5185/2548
ฎีกา ของจำเลยแม้เป็นฎีกาคัดค้านในเรื่องของการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ มิใช่ฎีกาในเนื้อหาแห่งคดี ก็ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีมีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ไม่สูงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะหาเงินค่าธรรมเนียม ในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้และพฤติการณ์การยื่นคำร้องของจำเลยมีลักษณะเป็นการ ประวิงคดีกรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษ เท่ากับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและฟังว่าไม่มีเหตุตามที่ จำเลยอ้างมาในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ อันเป็นการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า กรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า ตามคำร้องของจำเลยเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ จำเลยใช้ความพยายามทุกทางแล้วแต่หาเงินค่าธรรมเนียมได้เพียงบางส่วน และจำเลยไม่มีเจตนาที่จะประวิงคดี เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง 

ข้อ 6.

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การต่อสู้คดี ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของจำเลยไว้ชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ ต่อมา นายสินเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งซึ่งศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 แก่นายสิน โดยให้นายสินใช้ราคา 500,000 บาท แก่จำเลย นายสินได้นำเงินตามจำนวนดังกล่าวไปวางต่อศาลแพ่งและศาล แพ่งได้มีหนังสือขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ให้แก่นายสินแล้ว เมื่อโจทก์ทราบ เรื่องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้อายัดเงินที่นายสินนำไปวางดังกล่าวนั้นไปยังศาลแพ่งไว้ชั่วคราวอีก ศาลชั้นต้น ไต่สวนแล้วเห็นว่าโจทก์เคยยื่นคำขอชั่วคราวก่อนพิพากษามาครั้งหนึ่งแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้อายัดเงินตาม คำร้องของโจทก์ไว้ชั่วคราวซ้ำซ้อนอีก ให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าวชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ

เมื่อนายสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในอีกคดีหนึ่งขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ของศาลแพ่งที่ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวแก่นายสินแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 100 ของจำเลยไว้ชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ย่อมเป็นอันสิ้นผลไป การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราวเงิน 500,000 บาท ที่นายสินนำไปวางต่อศาลแพ่ง เพื่อชำระให้แก่จำเลยตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลังและเป็นทรัพย์คนละรายคนละ ประเด็นกัน ทั้งคำสั่งอายัดที่ดินของจำเลยไว้ชั่วคราวได้สิ้นผลไปแล้ว จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ร้องขอให้กำหนดวิธีการ ชั่วคราวก่อนพิพากษาซ้ำซ้อนอีกแต่อย่างใด เมื่อเงินเป็นทรัพย์สินที่ยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นได้โดยง่าย คดีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินที่นายสินนำไปวางต่อศาลแพ่งไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามคำร้องของโจทก์ ตามมาตรา 254 (1) ประกอบมาตรา 255 (1) (ข) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ ดังกล่าวจึงไม่ชอบ (คำพิพากษาฎีกาที่ 692/2544) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2544
คำ สั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้น ครั้งแรก ที่ให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 กับคำสั่งครั้งที่สองที่ให้อายัดเงินที่ จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอบังคับให้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งศาลมีคำสั่งห้ามทำนิติกรรมชั่วคราว และคำสั่งให้อายัดเงินสุทธิที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิ จะได้รับจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว คงมีผลบังคับเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้มีผลบังคับถึง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิที่จะ อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าว 

เมื่อ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งแรกดังกล่าว แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำขอให้ยกเลิกคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง หรือ ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุด ที่ดินที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอายัดชั่วคราวจึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการที่โจทก์ จะบังคับคดีได้ เมื่อต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษา ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวจนทำให้คำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวไร้ ผล และทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงิน จากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ จึงถือเสมือนว่าเงินจำนวนดังกล่าว เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาแทนที่ที่ดินที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัด ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ประกอบกับเงินเป็นทรัพย์ที่สามารถยักย้าย ถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นโดยง่าย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมี คำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา 

การ ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งแรกโจทก์ขอให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 ส่วนการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งที่สอง โจทก์ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ถูกอายัดให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภาย หลังเป็นคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ข้อ 7.

นายเงาะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายกล้วยจำนวน 3,000,000 บาท นายเงาะนำเจ้าพนักงาน บังคับคดียึดทรัพย์สินโดยอ้างว่าเป็นของนายกล้วยดังต่อไปนี้ 

(ก) แหวนเพชร 1 วง ราคา 1,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดครั้งแรก มีผู้เสนอราคาสูงสุด 500,000 บาท นายกล้วยคัดค้านว่าราคาต่ำเกินสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเลื่อนการขาย ทอดตลาดไปอีก 30 วัน ปรากฏว่า ก่อนถึงกำหนดการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 หนึ่งสัปดาห์ นายส้มยื่นคำร้องขอให้ ปล่อยการยึดโดยอ้างว่านายส้มเป็นเจ้าของแหวนเพชรและให้นายกล้วยยืมไปใช้ นายเงาะคัดค้านว่านายส้มมิได้ยื่น คำร้องขัดทรัพย์ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีนำแหวนเพชรออกขายทอดตลาดครั้งแรก นายส้มจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ขัดทรัพย์ ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์ของนายส้มและนัดไต่สวน 

(ข) รถยนต์ 1 คัน ของนายกล้วย ราคา 2,000,000 บาท ซึ่งนายกล้วยนำไปจำนำไว้แก่นายตาลเป็น เงิน 1,000,000 บาท และครบกำหนดไถ่แล้วแต่นายกล้วยยังมิได้ไถ่ เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด ได้เงิน 2,000,000 บาท นายตาลยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนำก่อนนายเงาะ นายเงาะคัดค้านว่านายตาลเป็นเพียง ผู้รับจำนำ จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของนายตาล 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลทั้งสองกรณีชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ซึ่งต้องกระทำก่อน ที่ได้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง หมายความถึง การขายทอดตลาดบริบูรณ์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี การขายทอดตลาดครั้งแรกที่เลื่อนไปจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายทอดตลาด นายส้มมีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก่อนการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 ได้ คำสั่งศาลชอบแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 3030/2528) 

(ข) เมื่อรถยนต์ที่นายกล้วยจำนำไว้ต่อนายตาลครบกำหนดไถ่แล้ว นายตาลย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ในการที่จะได้รับชำระหนี้จำนำก่อนนายเงาะซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาของนายกล้วย คำสั่งศาลชอบแล้วเช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1914/2526) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3030/2528
คำ ว่า "ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 หมายความถึงการขายทอดตลาดบริบูรณ์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมีการตกลงด้วยการ เคาะไม้หรือด้วยกิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด หรือศาลมีคำสั่งให้ขายแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่นำเรือนพิพาทออกดำเนินการขายทอดตลาด 2 ครั้งแล้วเลื่อนไปประกาศขายทอดตลาดอีกเป็นครั้งที่สาม การดำเนินการขายทอดตลาดทั้งสองครั้งยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก่อนการขายทอดตลาดในครั้งที่สาม ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1914/2526
จำเลย มอบรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ถือได้ว่าเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 747 ผู้ร้อง จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ไดจากการขายทอดตลาดรถยนต์คันนั้นก่อน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึดรถยนต์คันนั้นมาขายทอดตลาด

ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 57 ปี 47

ข้อ 1. 

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญากู้และจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ตั้งนายเอก เป็นทนายความเข้ามาต่อสู้คดี ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ระหว่างสืบพยานโจทก์ นายเอกได้นำใบแต่งทนายความ ที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้นายเอกเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 มายื่นต่อศาล และในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์และ จำเลยทั้งสองโดยนายเอกทนายความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2548 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ขณะโจทก์ฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ จำเลยที่ 2 มิได้มีภูมิลำเนาตามฟ้องและจำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายเอกเป็นทนายความ ให้แต่อย่างใด ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในใบแต่งทนายความเป็นลายมือปลอม จำเลยที่ 2 มาตรวจดูสำนวนคดีที่ศาล เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 จึงทราบเรื่องดังกล่าว ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ รายงานกระบวน พิจารณาและคำพิพากษาตามยอม แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องต่อไป ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 นั้น หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบกระบวนพิจารณา ที่ผิดระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณา ที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูล แห่งข้ออ้างนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 3476/2538, 7627/2538, 5876/2545 และ 5047/2547) ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบถึงการที่ถูกโจทก์ฟ้องเพราะจำเลยที่ 2 มิได้มีภูมิลำเนาตามฟ้องโจทก์และไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายเอกเป็นทนายความให้แต่อย่างใด หากได้ความจริงกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินมาจนกระทั่งพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างเรื่องการผิด ระเบียบ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 และมายื่นคำร้องในวันที่ 10 มกราคม 2548 คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยมาตรา 27 วรรคสอง และการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต้องยื่นคำร้องในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณา ที่ผิดระเบียบนั้นเองตามมาตรา 7 (4) จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากหาได้ไม่ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5934-5935/2545) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องจึงไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2538
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคสองบัญญัติขึ้นใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้นจะนำมาใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วหาได้ไม่เพราะเป็นการขัดต่อเหตุผลและความเป็นจริงที่จะบังคับให้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาโดยที่ตนยังไม่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นได้ฉะนั้นกรณีเพิ่งทราบภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าวคู่ความที่เสียหายจึงชอบจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตามมาตรา27วรรคแรก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7627/2538
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ ดังนี้ หากศาลไต่สวนแล้วได้ความตามคำร้องว่าขณะถูกฟ้องจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างประเทศและจำเลยที่ 3 ไม่ได้แต่งตั้ง น.ให้เป็นทนายความ กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมานั้นก็ย่อมไม่ชอบมาแต่ต้น กระบวนพิจารณาต่อ ๆ มาจนกระทั่งพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็ย่อมไม่ชอบไปด้วย เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยหลงผิดว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และแต่งตั้งให้ น.เป็นทนายความมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 ได้ กรณีเช่นนี้จะอ้างว่าคดีถึงที่สุดแล้วเพราะจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาก็ไม่ได้เช่นกันเพราะกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบมาแต่ต้นนั้น ย่อมส่งผลให้คำพิพากษาคดีและการอ่านคำพิพากษาไม่ชอบไปด้วย จำเลยที่ 3 ผู้ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเมื่อได้ทราบถึงข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นเมื่อใด ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวน-พิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้วเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ การร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในกรณีเช่นนี้ จะบังคับให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาโดยที่จำเลยที่ 3 ยังไม่ทราบถึงข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบนั้น ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยฟ้อง จะกระทำได้ ดังนั้น จำเลยที่ 3จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นในคดีเดิมเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีผิดระเบียบดังกล่าวเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องได้โดยไม่จำต้องไปฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมมิให้มีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 3 เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2545
การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนศาลมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากคู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2547
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 

ข้อ 2. 

นายเงินเป็นโจทก์ฟ้องนายทองเป็นจำเลยอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15 นายทองจำเลยบุกรุกเข้ามา ครอบครองโดยมิชอบ ขอให้ขับไล่ นายทองจำเลยให้การต่อสู้ว่า นายทองได้ร่วมกับนายนากครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า นายทองจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้ กรรมสิทธิ์หรือไม่ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา นายนากยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตามกฎหมายในผลแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายนากเป็นโจทก์ฟ้อง นายเงินเป็นจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ขับไล่และห้ามนายเงินเกี่ยวข้องกับที่ดิน พิพาท นายเงินจำเลยให้การต่อสู้ว่า นายนากมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาปรากฏว่า คดีแรกศาลพิจารณาเสร็จก่อน พิพากษาว่านายทอง จำเลยและนายนากจำเลยร่วมมิได้ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ให้ขับไล่นายทอง จำเลยและนายนากจำเลยร่วมออกไปจากที่ดินพิพาท นายทองจำเลยและนายนากจำเลยร่วมอุทธรณ์ 

ให้วินิจฉัยว่า ฟ้องของนายนากโจทก์คดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายนากโจทก์ยื่นฟ้องคดีหลัง ในขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณายังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุด ฟ้องนายนากโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 การที่นายนากโจทก์คดีหลังยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) โจทก์จึงเป็นคู่ความในคดีก่อนของศาลชั้นต้นตามมาตรา 1 (11) ฉะนั้น โจทก์จึงต้องถูกผูกพันในกระบวน พิจารณาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาด ในประเด็นแห่งคดีในคดีก่อนว่า นายนากมิได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท นายนากโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องนายเงินจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนโดยการครอบครองปรปักษ์อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้นายนากโจทก์จะฟ้องคดีหลังก่อน ที่ศาลคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดก็ตาม แต่เมื่อคดีก่อนศาลได้พิพากษาชี้ขาดแล้วกรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ มาตรา 144 นี้ เช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 2116/2542) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2542
ปัญหาว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณา คดีนี้ซ้ำและฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเรื่องก่อนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 หรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิ ที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เดิมจำเลยทั้งสามในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้อง ส.และต.เป็นจำเลยเป็นคดีแพ่งโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองที่พิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ต่อมาส.และต. ไปขอออก น.ส.3 ก. เลขที่ 4618โดยมิชอบทับที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ของจำเลยทั้งสามส.และต. ให้การว่า การขอออก น.ส.3 ก.เลขที่ 4618 ถูกต้องและได้เข้าครอบครองที่พิพาท อย่างเจ้าของ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า น.ส.3 ก. เลขที่ 4618 ออกทับที่พิพาทของจำเลยทั้งสาม อันจะต้องเพิกถอนหรือไม่ การที่โจทก์ยื่นคำร้องสอด ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ในคดีก่อน โจทก์จึงเป็นคู่ความในคดีก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) และ ต้องถูกผูกพันในกระบวนพิจารณาของศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เมื่อ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ในคดีก่อนแล้วว่า น.ส.3 ก.เลขที่ 4618 ออกทับที่ของจำเลยทั้งสามตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ให้เพิกถอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 4618 อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ก่อนศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนก็ตาม แต่เมื่อ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีในคดีก่อนแล้ว กรณีก็ต้อง ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน 

ข้อ 3. 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำรถยนต์ของโจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือ ตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำโดยทุจริตรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องชำระจริง จึงขอให้ศาลบังคับจำเลย ทั้งสองคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่วนที่โจทก์ได้ชำระเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องชำระจริง จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ทำสัญญาประกันภัยจริง แต่ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนกระทำละเมิดต่อโจทก์ และฟ้องโจทก์ ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่จำต้องชี้สองสถาน จึงสั่งให้งดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม คำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้องในขณะที่นำมาทำสัญญา ประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ดังกล่าวให้เป็นของนายเก่งแล้ว โจทก์จึง ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรถยนต์ดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัย เพราะเงินค่าเบี้ยประกันภัยเป็นทรัพย์ของนายเก่ง ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์แล้ว อีกทั้งเป็นการแก้ไขคำให้การเพิ่มเติม ประเด็นเข้ามาใหม่ ไม่เกี่ยวกับคำให้การหรือข้ออ้างเดิมของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า คำคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ และศาลจะสั่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 อย่างไร 

ธงคำตอบ 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 มิได้บัญญัติว่าข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยนั้น จะต้องเกี่ยวกับคำให้การหรือข้ออ้างเดิมของจำเลย คงห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น แม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ของจำเลยจะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาโจทก์ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้ ตามมาตรา 179 (3) เมื่อจำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขภายหลังจากวันสืบพยานโจทก์ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 180 ดังนั้น ข้อคัดค้านของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำให้การว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ทำสัญญาประกันภัย แต่ต่อมา ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การมีข้อความว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว ในขณะทำสัญญาประกันภัย โจทก์ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในรถยนต์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยมิได้ยกเลิกคำให้การเดิมเท่ากับ จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัย ดังนั้น คำให้การกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตแล้วย่อมจะทำให้กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ โดยชัดแจ้ง เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 177 วรรคสอง ทำให้ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องดังกล่าวได้ ศาลชอบที่จะสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2236/2545) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(3) มิได้บัญญัติว่า ข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยใหม่จะต้องเกี่ยวกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิมของจำเลยคงบัญญัติห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้นแม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขภายหลังจากวันสืบพยานโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 จำเลยที่ 1 ให้การไว้ว่า โจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยโดยสั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์แล้วก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วคำให้การดังกล่าวจำเลยที่ 1 รับว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 2 และเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินของโจทก์ ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ขอเพิ่มเติมว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ในขณะที่นำมาทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของ ท. แล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่กรณีเงินค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น คำให้การกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตแล้วย่อมจะทำให้กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้ 

ข้อ 4. 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินราคา 500,000 บาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้น นัดสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ถึงวันนัดสืบพยาน โจทก์และจำเลยมาศาล ระหว่างการสืบพยาน จำเลยมิได้แถลงข้อความใด ต่อศาลนอกจากยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ศาลสอบถาม เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้น ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยมาศาลและยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด เพราะจำเลยเพิ่งทราบ เรื่องการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องแล้วพิพากษา ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ตามฟ้อง 

ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยชอบหรือไม่ (ข) หากจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมีสิทธิขออนุญาตยื่นคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยนั้นต้องมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และต้องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์ จะต่อสู้คดี การที่จำเลยมาศาลโดยไม่แถลงข้อความใดต่อศาล นอกจากแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ศาลสอบถาม จนกระทั่งศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาเช่นนี้ ถือว่าจำเลยไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรก ว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยจึงมายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ เป็นการไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและล่วงเลยขั้นตอนที่จำเลยจะขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยแล้ว ศาลชอบที่จะยกคำร้อง ของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยจึงชอบแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1435/2521) 

(ข) จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แม้มาศาล แต่มิได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี ถือว่าเป็น กรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามมาตรา 199 วรรคสอง แม้ต่อมาหากศาลพิพากษาให้จำเลยนี้แพ้คดีและ จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยก็จะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยนั้น ต้องห้ามตามมาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1435/2521 
ในกรณีที่ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้นัดสืบพยานโจทก์เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลแต่มิได้แจ้งให้ศาลทราบถึงเหตุที่ตนมิได้ยื่นคำให้การ กลับแถลงยอมรับข้อเท็จจริงบางประการต่อศาลจนศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษา เช่นนี้ จำเลยจะมายื่นคำร้องในวันนัดฟังคำพิพากษาว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การขออนุญาต ยื่นคำให้การอีกหาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคแรก ซึ่งกำหนดให้จำเลยแจ้งถึงเหตุที่มิได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลทราบก่อนหรือในวันสืบพยานขณะเมื่อเริ่มต้นสืบพยาน โจทก์กับบุคคลอื่นอีก 6 คนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมี น.ส.3 แปลงพิพาท จ. เจ้าของรวมคนหนึ่งไปขอออกโฉนดใส่ชื่อ จ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวแล้วโอนขายให้จำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ไปทำนิติกรรมแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดโดยให้ใส่ชื่อโจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วย ดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อเจ้าของรวมคนอื่นมิได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้แทนหรือได้รับมอบอำนาจจากบุคคลเหล่านั้น 

ข้อ 5. 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดเป็นเงิน 100,000 บาท และฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยให้ ร่วมรับผิดในวงเงิน 60,000 บาท โดยโจทก์เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ เป็นผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัย ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระ ค่าขึ้นศาลเพิ่มในจำนวนทุนทรัพย์ 60,000 บาท โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่ได้โต้แย้ง เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว วันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยาน จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียม ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามฟ้อง และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดี และงดสืบพยานจำเลยที่ 1 โดยมิได้นำค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์และของจำเลยที่ 1 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

คำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มในจำนวนทุนทรัพย์ 60,000 บาท เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งโจทก์จะต้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้จึงจะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) แต่กรณีนี้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่ม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้ง คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น โจทก์ก็มีสิทธิยกปัญหาเช่นว่านั้น ขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 225 วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226 (2) โจทก์จึงชอบที่จะอุทธรณ์ในปัญหา ดังกล่าวได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7409/2546 (ประชุมใหญ่)) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงชอบที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 226 (2) และการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งระหว่าง พิจารณาโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม ย่อมมีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับ ไปในตัวด้วย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ ตามมาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 3152/2545 และ 6747/2545) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2546
คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละเท่าใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226(2) และถึงแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียวแต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตามที่มาตรา 168 บัญญัติไว้ ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการโต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมายของตาราง 1 ข้อ 1(ค) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2545
การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยนั้น ย่อมมีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับไปในตัวด้วย แต่จำเลยเลี่ยงไปอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยเพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาด้วย แม้จะเป็นสิทธิของจำเลยที่กระทำได้โดยชอบ ซึ่งจำเลยได้ประโยชน์ที่ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ โดยเสียเพียงค่าอุทธรณ์คำสั่ง 200 บาทเท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์เช่นนี้ทำให้มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2545
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและเห็นว่าฟ้องแย้งเป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มภายใน 3 วัน หากไม่เสียให้ถือว่าทิ้งฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 จึงไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นจึงไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้จำเลยจะได้โต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปนั้น ย่อมอาจมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกไปด้วย กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย อันเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่ต้องปฏิบัติ เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง 

ข้อ 6. 

นายรวยฟ้องนายสินขอให้บังคับนายสินชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้จำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง นายรวยอุทธรณ์คำพิพากษา และต่อมานายรวยได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษาโดยขอให้ยึดที่ดิน 1 แปลง ของนายสินไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะนายสินกำลังจะโอนขายที่ดินดังกล่าว ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งหากโอนขายไปแล้ว และนายรวยชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ ก็จะไม่สามารถบังคับเอาชำระหนี้ได้ นายสิน ยื่นคำคัดค้านว่า นายรวยจะขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง 

ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำคัดค้านของนายสินฟังขึ้นหรือไม่ (ข) ศาลใดบ้างมีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวย 

ธงคำตอบ 

(ก) การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาจะขอในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ โดยต้องยื่นก่อนศาลนั้น ๆ มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรคหนึ่ง นายรวยจึงขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ คำคัดค้านของนายสินฟังไม่ขึ้น 

(ข) สำหรับศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น แยกพิจารณาดังนี้ 

1. ถ้านายรวยยื่นคำร้องก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวยได้ตามมาตรา 254 วรรคสอง (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 19/2502 และ 276/2537) 


2. ถ้านายรวยยื่นคำร้องภายหลังที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวย

คำสั่งคำร้องที่ 19/2502 
คำร้องขอคุ้มครองสิทธิขอให้ห้ามจำเลยที่ได้ยื่นพร้อมกับฎีกานั้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งตาม มาตรา 254 วรรคสุดท้ายไม่ต้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง 

คำสั่งคำร้องที่ 276/2537
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กั้นทางพิพาทและยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองประโยชน์ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกชั่วคราว ผลคดีศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องเช่นนี้เมื่อโจทก์ฎีกาโดยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยปิดกั้นทางพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย คำร้องจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 254 วรรคสุดท้ายศาลฎีกาย่อมสั่งให้ส่งคืนศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งต่อไป 

ข้อ 7. 

นายวิทย์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 1 แปลงของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้เงินได้ราคา 1,000,000 บาท หลังจากนั้น 10 วัน นายตุลและนายกิจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ของนายชมอีก 2 คดียื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งศาลพิพากษา ให้นายชมชำระหนี้เงิน แต่นายชมไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระหนี้ได้ นายตุลและนายกิจไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สิน อื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขอศาลอนุญาตให้เข้าเฉลี่ยทรัพย์ 

(ก) นายวิทย์เจ้าหนี้คัดค้านว่า นายตุลผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่คดีของนายตุลเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุด นายตุลไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ 

(ข) นายชมลูกหนี้คัดค้านว่า นายชมยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ นายกิจไม่มี สิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้านของนายวิทย์เจ้าหนี้และนายชมลูกหนี้ดังกล่าวจะยกเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้านคำร้อง ขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายตุลและนายกิจได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) หากนายตุลเจ้าหนี้ผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกิน กำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายตุลเจ้าหนี้ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายชมและ การขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของนายชมชำระหนี้ของนายตุลผู้ขอเฉลี่ย และหมดสิทธิ ที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายชมลูกหนี้ ข้อคัดค้านของนายวิทย์เจ้าหนี้ดังกล่าว จึงยกเป็นเหตุต่อสู้นายตุลผู้ร้องขอได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 816/2543) 

(ข) การที่นายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษายกข้อต่อสู้ว่า นายชมมีทรัพย์สินอื่นที่จะบังคับคดีได้นั้น บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่นายวิทย์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งทำการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยกเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้านมิให้นายกิจเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเข้าเฉลี่ยทรัพย์ มิใช่ให้สิทธิแก่นายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษายกขึ้นเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้าน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1592/2547 และ 1706/2547) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2543
กำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เป็น ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่เรื่องอายุความ การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดีหาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปไม่ เช่นนี้ หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้อีก หรือขอบังคับคดีต่อไป จะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย และการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้ของผู้ร้องขอเฉลี่ย ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยจากทรัพย์สินของจำเลยเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2547 
ป.วิ.พ. มาตรา 290 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้ออ้างที่จะโต้แย้งคัดค้านคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ในคดีนี้ที่เพียงพอจะชำระหนี้ได้ จึงเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อโจทก์ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น

ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 56 ปี 46

ข้อ 1. 

นายสิงห์เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทไทยเจริญ จำกัด จำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญากู้ และนายเดชเป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนนายเดชจำเลยที่ 2 ให้การว่าหนี้ตามสัญญากู้ระงับ แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น 

(ก) นายเดชจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การไม่เข้ามาต่อสู้คดีทั้งที่หนี้ตามสัญญา กู้ระงับแล้ว ทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียใน ทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 1 ขอเข้ามาต่อสู้คดีแทนจำเลยที่ 1 

(ข) นายชัยยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในคดีเนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 มีความจำเป็น เพื่อ ยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิที่ผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความใน คดีด้วย 

ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของนายเดชจำเลยที่ 2 ใน (ก) และนายชัย ใน (ข) ได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) การเข้ามาเป็นคู่ความโดยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 นั้น ไม่ ว่าจะเป็นการร้องขอเข้ามาเองด้วยความสมัครใจ หรือด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี ผู้ที่จะเข้ามานั้นต้องเป็น บุคคลภายนอกคดี นายเดชจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความในคดีอยู่แล้ว ไม่ใช่บุคคลภายนอกคดี จึงไม่อาจร้องสอดเข้ามาต่อสู้ คดีแทนจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 57 ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 7709/2544) 

(ข) คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ อันเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับเอาแก่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายชัยผู้ร้อง สิทธิของผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 เพียงใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ นายชัยผู้ ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามมาตรา 57 (1) (คำพิพากษาฎีกาที่ 631/2545) ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของนายเดชจำเลยที่ 2 ใน (ก) และนายชัย ใน (ข) ไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7709/2544
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าเฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้นที่จะเข้ามาในคดีด้วยการร้องสอด แต่จำเลยที่ 3 เป็นคู่ความในคดีอยู่แล้ว แม้จำเลยที่ 3 อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ละเลยไม่ต่อสู้คดีกับโจทก์ จำเลยที่ 3ต้องการเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็ไม่ใช่บุคคลภายนอก ไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง(1) ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2545
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับบริษัทจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน อันเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ร้องที่เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 สิทธิของผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 เพียงใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) อีกทั้งผู้ร้องก็ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความในคดีอันจะใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด 

ข้อ 2.

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 339 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนโดยไม่สุจริตอันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารกรุงทอง จำกัด ซึ่งรับจำนองโดยไม่ สุจริต ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 339 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และเพิกถอนสัญญา จำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับธนาคารกรุงทอง จำกัด จำเลยที่ 2 ให้การว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททำโดยสุจริตและมี ค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ไม่นำค่าธรรมเนียมในการส่งหมายมาวางภายในเวลาที่ศาล กำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ และพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม ่ 

ธงคำตอบ 

คำฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ได้ กระทำโดยการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 กับเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดิน ระหว่างจำเลยที่ 2 กับธนาคารกรุงทอง จำกัด โจทก์จะต้องฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมที่ขอเพิกถอนเข้ามาเป็น คู่ความในคดี ศาลจึงจะมีอำนาจให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ไว้แล้ว แต่ต่อมาโจทก์ มิได้นำค่าธรรมเนียมในการส่งหมายให้จำเลยที่ 1 มาวางภายในเวลาที่ศาลกำหนด อันเป็นการทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลย ที่ 1 จากสารบบความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (1) ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติให้ถือว่าโจทก์มิได้มีการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เลย ส่วนธนาคารกรุงทอง จำกัด ผู้รับจำนองนั้น โจทก์ก็มิได้ฟ้องหรือขอให้ศาลหมายเรียกเข้ามาเป็นคู่ความด้วย หากมีการเพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย ที่ดินและเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดิน ย่อมมีผลกระทบถึงสิทธิของธนาคารกรุงทอง จำกัด บุคคลภายนอกซงึ่ มิใช่คู่ความในคดี อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์มิอาจฟ้องคดีนี้ ได้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้น กล่าวอ้างศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) (คำ พิพากษาฎีกาที่ 7247/2537, 444/2546) ดังนั้น คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7247/2537
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 จะต้องฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มรณะก่อนฟ้องศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แถลง โจทก์เพิกเฉย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีเลย ดังนั้นศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการโอนโดยโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1หรือทายาทผู้รับมรดกของจำเลยที่ 1 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2546
ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยที่ 2 กรมที่ดินให้เพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท โจทก์ทราบอยู่แล้วว่า ส. และธนาคาร ก. ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวมาก่อน แต่โจทก์กลับฟ้องเพียงจำเลยทั้งสองเท่านั้น มิได้ฟ้องหรือเรียก ส. และธนาคาร ก. ผู้ทำนิติกรรมจำนองที่ดินเข้ามาเป็นคู่ความด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจึงเป็นการขอให้ศาลพิพากษากระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์มิอาจฟ้องบังคับได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) 

ข้อ 3. 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยและรื้อถอนสิ่งปลูก สร้างออกไปจากที่ดิน จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์พบว่าคำฟ้องของโจทก์มีข้อบกพร่อง จึงยื่นคำร้อง ขอถอนฟ้อง จำเลยคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้อง จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ จำเลย อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าว ระหว่างนั้น โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นคดีใหม่ขอให้ขับไล่จำเลยและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ออกไปจากที่ดินของโจทก์อีก แต่ได้เรียกค่าเสียหายจากเหตุที่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินด้วย จำเลยยื่นคำให้การ และฟ้องแย้งว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยก ฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย 

ให้วินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ และศาลจะพิจารณาในส่วนฟ้องแย้งต่อไปอย่างไร 

ธงคำตอบ 

ในคดีก่อนโจทก์ขอถอนคำฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้อง แต่จำเลยยังอุทธรณ์ ต่อมา คดีจึงอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นคดีใหม่ขอให้ขับไล่จำเลยและรื้อถอนสิ่ง ปลูกสร้างออกไปจากที่ดินเช่นเดียวกับคดีก่อน แม้จะได้เรียกค่าเสียหายจากเหตุที่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินมาด้วย แต่ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์ก็สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว จึงชอบที่โจทก์จะได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายมาพร้อม กับคำฟ้องในคดีก่อนเสียในคราวเดียวกัน คำฟ้องในคดีใหม่จึงเป็นเรื่องเดียวกับคำฟ้องในคดีก่อน ส่วนการถอนคำฟ้อง ที่จะมีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคาํ ฟ้องเลยดังที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 นั้น หมายถึงการถอนคำฟ้องได้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคดี ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง เมื่อคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำฟ้องของโจทก์ในคดีใหม่จึง เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยก็ไม่ มีคำฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยจะฟ้องแย้ง จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์และ ฟ้องแย้งจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ 972/2532, 1964/2535, 471/2541, 7265/2544) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 972/2532
โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยบรรทุกสินค้าไปตกเขา จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงเนื่องจากโจทก์ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง(ศาลจังหวัดนครสวรรค์) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 เรียกค่าเสียหายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ศาลนัดพิจารณาวันที่ 23มิถุนายน 2531 ไว้แล้ว ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ เรียกค่าเสียหายกับเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าบำเหน็จค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระเข้ามาด้วย จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ครั้นวันที่ 23 มิถุนายน 2531ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีเดิมโจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีแต่เมื่อมูลคดีของคดีเดิมและคดีนี้เนื่องมาจากโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าของจำเลยตกเขา อันเป็นมูลคดีเดียวกัน โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าคดีเดิมศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จะได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำพิพากษาคดีนี้ศาลแรงงานกลางจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์และเมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยก็ย่อมตกไป เพราะไม่มีฟ้องเดิมและไม่มีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยอยู่ต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2535
ตามคำฟ้องคดีก่อนโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้าง อาคารและจำเลยทั้งสองได้อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารได้ โจทก์จึง ได้จ้างบริษัท ม. ทำการสร้างเข็มเจาะเพื่อทำการก่อสร้างโดยเสียค่าจ้างเป็นเงิน 140,000 บาท ต่อมาจำเลยมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว โดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับ ที่ดินที่ ทำ การปลูกสร้างอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ จึงขอให้ ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง คดีนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยาย กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยทั้งสองให้ทำการปลูกสร้าง อาคารแล้ว โจทก์จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโดยเสียค่าใช้จ่ายในการ ปรับหน้าดินกับค่าจ้างเขียนแบบและค่าจ้างบริษัท ม. ทำการสร้างเข็มเจาะ รวมเป็นเงินที่ได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 220,000 บาท ต่อมา จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อร่วมกันกระทำโดยมิชอบออกคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจทำการก่อสร้างได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในเงินที่โจทก์ได้ลงทุนไป ขอให้บังคับ จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวสาระสำคัญอันที่โจทก์ นำมากล่าวอ้างเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องและเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องเดียวกัน และมูลเหตุเดียวกันกับในคดีก่อน ชอบที่โจทก์จะได้เรียกร้องค่าเสียหายมาพร้อมกับฟ้องในคดีก่อน เสียในคราวเดียวกัน โจทก์จะนำคดีมาแบ่งแยกฟ้องทีละส่วนทีละตอน ทั้ง ๆ ที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หาได้ไม่ ฟ้อง โจทก์ คดี นี้ จึง เป็น ฟ้องซ้อน ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2541
เมื่อคดีทั้งสองเรื่องโจทก์อ้างสิทธิอย่างเดียวกันว่าที่ดินโจทก์มีสิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินพิพาทที่จำเลยโอนให้ พ. และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7265/2544
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าจำเลยตกลงเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์มีการทำสัญญาเช่าและต่อสัญญาเช่าหลายครั้งต่อมาเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ส่งคืนตึกแถวที่เช่ากับมีคำขอให้จำเลยออกไปจากตึกแถวที่เช่าและใช้ค่าเสียหายคำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จะให้จำเลยเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้ โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นผู้ทรงสิทธิใดในตึกแถวที่ให้เช่าและสิทธิดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ประการใด เพราะเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ทั้งผู้ให้เช่าก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า ประกอบกับจำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในลักษณะเข้าใจข้อหาได้ดีและยอมรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวตามฟ้องจากโจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีแพ่งคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทและเรียกค่าเสียหายเช่นเดียวกับคดีแพ่งคดีก่อน แต่อาศัยสัญญาเช่าตามบันทึกการต่ออายุสัญญาเช่าของปี 2533 มูลฟ้องของโจทก์คดีนี้ แม้จะอาศัยสัญญาเช่าต่างฉบับกับสัญญาเช่าที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน แต่สัญญาเช่าที่โจทก์อาศัยเป็นมูลฟ้องคดีนี้ได้มีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน หาใช่เกิดขึ้นหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวไม่โจทก์สามารถอ้างเหตุที่เป็นมูลฟ้องในคดีนี้เป็นมูลฟ้องในคดีก่อนแต่โจทก์ก็มิได้กระทำ เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเช่นเดียวกัน คำฟ้องที่โจทก์ยื่นฟ้องขึ้นมาใหม่ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกับคดีแพ่งคดีก่อนซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาส่วนการถอนคำฟ้องที่มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 นั้น หมายถึงการถอนคำฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง เมื่อคดีแพ่งคดีก่อนซึ่งโจทก์ขอถอนฟ้องแล้วแต่จำเลยยังอุทธรณ์และฎีกาต่อมา คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ดังนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มี อำนาจฟ้องจำเลยก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยจะฟ้องแย้งจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง 

ข้อ 4. 

โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้า สืบก่อนและนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา ถึงวันนัดจำเลยมาศาล ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ศาลให้เลื่อนคดี ศาลรออยู่จนถึงเวลา 10 นาฬิกา ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ศาลเห็น ว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ 

(ก) โจทก์มาศาลในวันเดียวกันเวลา 10.30 นาฬิกา และยื่นคำร้องว่าโจทก์มิได้ขาดนัดพิจารณา เพราะ โจทก์มาศาลในวันสืบพยานแล้ว แต่เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุทำให้โจทก์มาถึงศาลล่าช้าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพียง 30 นาที ขอให้ศาลยกคดีขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป 

(ข) จำเลยอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีว่า ทนายจำเลยแถลงต่อศาลดังกล่าวโดยมีความประสงค์จะให้ศาล ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แต่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไม่ ชอบด้วยกฎหมาย 

ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ใน (ก) อย่างไร และอุทธรณ์ของจำเลยใน (ข) ฟังขึ้นหรือไม  

ธงคำตอบ 

(ก) การที่คู่ความต้องมาศาลในวันสืบพยานนั้นจะต้องมาตรงตามเวลานัดด้วย เมื่อศาลนัดเวลา 9 นาฬิกา และได้รออยู่จนถึงเวลา 10 นาฬิกา ล่วงเลยเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง ฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มาศาล โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ศาลให้เลื่อนคดี จึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 วรรค หนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความตามมาตรา 202 จึงชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มาศาลและ ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการขอให้พิจารณาคดีใหม่ (เทียบคำ พิพากษาฎีกาที่ 3388/2545) เมื่อศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความโดยมิได้สั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียว โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1248/2546) ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ 

(ข) เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา มาตรา 202 ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ เว้นแต่ จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป จึงให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่าย เดียว การที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งต่อศาล ขอให้ดำเนินการ พิจารณาคดีต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1162/2545) ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2545
การที่โจทก์ต้องมาศาลในวันนัดสืบพยาน โจทก์ต้องมาตรงตามเวลานัดด้วยมิใช่ว่าโจทก์จะมาศาลในเวลาใดก็ได้ก่อนสิ้นเวลาทำการของศาล เมื่อศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เวลา 10.30 นาฬิกา เกินเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง 30 นาทีฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มา โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความอันเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 132(2) ประกอบมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) จึงชอบแล้ว หลังจากนั้นโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีขึ้นมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปย่อมมีผลเท่ากับการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2546
ตามคำร้องของโจทก์ฉบับแรกอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลงเพราะศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ไม่ใช่ในวันที่ 17 ตุลาคม2544 ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี อันเป็นเรื่องอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องฉบับหลังอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทราบนัดในวันที่ 17 ตุลาคม 2544 ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วอนุญาตให้โจทก์พิจารณาคดีใหม่ อันเป็นเรื่องอ้างว่าโจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ ไม่ได้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังเช่นคำร้องฉบับแรกดังนั้น คำร้องของโจทก์ฉบับหลังจึงมีข้ออ้างและคำขอแตกต่างกับคำร้องของโจทก์ฉบับแรก เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 อ้างว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้ยกคำร้องตามคำร้องฉบับแรกของโจทก์และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องฉบับหลังของโจทก์ในวันที่ 4 ธันวาคม2544 จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียวอันเนื่องมาจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาและอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ขาดนัดพิจารณา ทั้งห้ามโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีด้วย หากโจทก์เห็นว่าการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปนั้นเพราะหลงผิดเนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบกำหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ถ้าศาลยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโจทก์ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นต่อไปได้เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ยกคำร้องฉบับแรกของโจทก์ที่ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโจทก์คงมีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ใหม่ภายในอายุความเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2545
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้อนุญาตให้ถอนตัวและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในนัดต่อมา โดยทนายโจทก์ลงชื่อทราบคำสั่งและวันนัดสืบพยานโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณา ต้องถือว่าโจทก์ทราบวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเช่นนี้ จึงเป็นความผิดของโจทก์และถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ส่วนการที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ก็มิใช่คำแถลงที่มีความหมายในทางที่จำเลยประสงค์หรือตั้งใจจะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 เดิม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะจำหน่ายคดีจากสารบบความได้ 

ข้อ 5. 

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซื้อโทรทัศน์สีไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยให้การว่า ไม่เคยซื้อโทรทัศน์สีไปจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จและ สืบพยานจำเลยได้ 2 ปาก ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดต่อมา ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า พยานจำเลยติด ธุระสำคัญที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาเบิกความตามนัดได้ โจทก์คัดค้านว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ศาลชั้นตน้ ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย กับ อุทธรณ์ว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโดยยกเหตุแห่งการที่เป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์ด้วย 

ให้วินิจฉัยว่า จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ 

คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งระหว่าง พิจารณาจะต้องพิจารณาจากคดีเดิมเป็นสำคัญ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงด สืบพยานจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการดำเนินคดีของศาลชั้นต้นจึงเป็นข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ ก็ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 6230/2541 และ 5501/2545) จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ได  ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงไม่มีประเด็น ในเรื่องดังกล่าว ทั้งมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ในคดีแพ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ตามมาตรา 225 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3498/2546) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6230/2541
แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาทแต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 8,000 บาท โจทก์และจำเลยไม่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวย่อมถือได้ว่าในขณะที่ยื่นคำฟ้องนั้นตึกแถวพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทคดีจึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองจำเลยฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้นเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลว่าสมควรอนุญาตให้เลื่อนคดีและสืบพยานต่อไปหรือไม่ อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงแม้จะเป็นการฎีกาโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 ก็ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501/2545
การอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งระหว่างพิจารณาจะต้องพิจารณาจากคดีเดิมเป็นสำคัญ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้งดการพิจารณาคดีชั่วคราวและให้งดสืบพยานจำเลยไม่ชอบนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการดำเนินคดีของศาลชั้นต้น จึงเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2546
ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องดังกล่าวทั้งมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ในคดีแพ่ง มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จำเลยเป็นหนี้เงินกู้และค่าทองรูปพรรณต่อโจทก์จำนวน 70,200 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า การนำสืบพยานโจทก์แตกต่างในข้อสาระสำคัญไปจากคำฟ้องเป็นการสืบพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับอ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้และค่าทองรูปพรรณต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง 
 ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องจำเลยได้ให้การและเบิกความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้และทองรูปพรรณต่อโจทก์และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในคำให้การและคำเบิกความด้วยความสมัครใจ บันทึกคำให้การและบันทึกคำเบิกความดังกล่าวจึงใช้และรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมในคดีแพ่งได้ แม้จะมิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่จำเลยต้องหาก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง 

ข้อ 6. 

นายชาญฟ้องนายชิดขอให้ขับไล่นายชิดออกจากบ้านและที่ดินโดยอ้างว่า บ้านและที่ดินดังกล่าวเป็น กรรมสิทธิ์ของนายชาญ นายชิดให้การว่าบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นของนายชิด ขอให้ยกฟ้อง ต่อมานายชิดยื่นคำร้อง ต่อศาลชั้นต้นขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาโดยอ้างว่า นายชาญได้ให้ผู้อื่นเช่าบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าว ขอให้ศาลสั่งให้นายชาญหรือผู้เช่านำเงินค่าเช่ามาวางศาล นายชาญรับว่าได้ให้ผู้อื่นเช่าบ้านและที่ดินพิพาทจริง แต่ คัดค้านว่านายชิดเป็นจำเลยจะขอคุ้มครองประโยชน์ไม่ได้ 

ให้วินิจฉัยว่า (ก) ข้อคัดค้านของนายชาญฟังขึ้นหรือไม่ (ข) ศาลจะสั่งอนุญาตตามคำขอของนายชิดได้หรือไม  

ธงคำตอบ 

(ก) การขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 นั้นคู่ความฝ่ายใดจะร้องขอก็ได้ ดังนั้น แม้นายชิดเป็นจำเลย ก็มีสิทธิขอคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา 264 ได้ ข้อคัดค้านของนายชาญฟังไม่ขึ้น 

(ข) การคุ้มครองตามมาตรา 264 จะต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา หรือ เพื่อสะดวกในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษา และคำขอนั้นต้องอยู่ในประเด็นแห่งคำฟ้องหรือคำให้การและฟ้อง แย้ง จะขอนอกเหนือจากคำขอในคำฟ้อง หรือคำให้การและฟ้องแย้งไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น เมื่อ นายชิดไม่ได้ฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาท และเรียกค่าเช่าบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือเรียก ค่าเสียหายมาด้วย นายชิดจะขอให้ศาลสั่งให้นายชาญหรือผู้เช่าบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวนำเงินค่าเช่ามาวางศาลหา ได้ไม่ เพราะผลของคดี ถ้านายชิดเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องของนายชาญไปตามคำขอท้ายคำให้การ ของนายชิดเท่านั้น ไม่มีผลบังคับไปถึงค่าเช่าด้วย ศาลจึงสั่งอนุญาตตามคำขอของนายชิดไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ที่ 1463/2515 และ 3900/2532) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2515
การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 นั้น คู่ความฝ่ายใดจะร้องขอก็ได้ แต่จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้น ได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือเพื่อความสะดวกในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษา โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องกรรมสิทธิ์เรือน แม้จะปรากฏว่า โจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าเรือนนั้นและได้ค่าเช่าเป็นประโยชน์ตอบแทนจำเลยก็จะร้องขอให้ศาลสั่งให้โจทก์หรือผู้เช่านำเงินค่าเช่ามาวางศาลหาได้ไม่ เพราะผลของคดีถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะศาลก็จะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การจำเลยเท่านั้น ไม่มีผลบังคับไปถึงผลประโยชน์อันเป็นค่าเช่าตามที่จำเลยร้องขอคุ้มครองได้ เว้นไว้แต่จำเลยจะได้ฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์เรือนและเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายมาด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2532
โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์หรือเรียกค่าเสียหายมาด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยจะร้องขอให้ศาลสั่งให้โจทก์เอาผลประโยชน์ที่ได้รับมาวางศาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหาได้ไม่เพราะผลทางคดีถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปเท่านั้น ไม่มีผลบังคับไปถึงผลประโยชน์ของที่ดินตามที่จำเลยขอคุ้มครอง 

ข้อ 7. 

นายจนขายฝากบ้านไว้แก่นายรวยแล้วมิได้ไถ่ถอนภายในกำหนดไถ่คืน ต่อมาอีกหนึ่งปี นายรวยฟ้องขับไล่ นายจนและบริวารออกจากบ้านหลังดังกล่าว กับเรียกค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท ศาลพิพากษาให้นายรวยชนะ คดีเต็มตามฟ้อง แต่นายจนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา นายรวยจึงขอบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีไดจั้ดการให้นาย รวยเข้าครอบครองบ้านพิพาทและยึดเครื่องรับโทรทัศน์สีราคา 300,000 บาท เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระ ค่าเสียหาย นางเจียมภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจนยื่นคำร้องขอว่า บ้านเป็นสินสมรสที่นางเจียมมีกรรมสิทธิ์ อยู่กึ่งหนึ่ง และเครื่องรับโทรทัศน์สีก็เป็นสินส่วนตวั ของนางเจียม มิใช่ทรัพย์ของนายจน ขอให้กันส่วนของนางเจียม สำหรับบ้านออกจากการบังคับคดีและให้ปล่อยเครื่องรับโทรทัศน์สีที่ยึดไว้ ศาลไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ นางเจียมยกขึ้นอ้างในคำร้องขอ

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งให้นางเจียมได้รับการกันส่วนสำหรับบ้านและมีคำสั่งให้ ปล่อยเครื่องรับโทรทัศน์สีที่ยึดไว้ได้หรือไม  

ธงคำตอบ 

สำหรับบ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายรวยอยู่แล้วโดยการขายฝาก การที่นายรวยขอให้บังคับคดีให้นาย รวยเข้าครอบครองบ้าน เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไมมี่สิทธิจะยึดไว้ หนี้ตามคำ พิพากษาสำหรับบ้าน จึงเป็นการบังคับคดีให้นายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำการส่งมอบบ้านให้แก่นายรวย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิใช่การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษา กรณีจึงไม่ต้องด้วย หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่นางเจียมจะขอกันส่วนได้ ศาลต้องมีคำสั่งยกคำ ขอในส่วนนี้ 
       ส่วนเครื่องรับโทรทัศน์สีเป็นสินส่วนตัวของนางเจียม นายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วย นายรวยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้เงิน จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอา แก่เครื่องรับโทรทัศน์สีซึ่งเป็นสินส่วนตัวของนางเจียมบุคคลนอกคดี ไม่ว่าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนนี้จะเป็นหนี้ร่วม หรือไม่ก็ตาม ศาลต้องมีคำสั่งให้ปล่อยเครื่องรับโทรทัศน์สีที่ยึดไว้ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4832/2536 และ 523/2534) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4832/2536
เมื่อบ้านพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการขายฝากบ้านพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาการที่โจทก์ขอให้บังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองบ้านพิพาทนั้น เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้ มิใช่เป็นการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันที่ผู้ร้องจะขอกันส่วนบ้านพิพาทในคดีนี้ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2534
แม้หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยจะเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งเคยเป็นสามีภริยากันหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็จะนำยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีไม่ได้