Pages

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2565

สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2565 jQuery Live Search
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5097/2565 จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2553 ความรับผิดชำระอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลใช้บังคับอยู่ โดย พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา มิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พ.ย. 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับและให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า “...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม...” เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างความรับผิดชำระเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มแม้จะเกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พ.ย. 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พ.ย. 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 ยังคงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) เงินเพิ่มอากรขาเข้าคำนวณถึงวันที่ 12 พ.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ยังไม่เกินกว่าจำนวนอากรที่ต้องเสียเพิ่ม โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่ากับอากรขาเข้าตามการประเมินเท่านั้น ซึ่งปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าเกินกว่าอากรขาเข้าหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นพิจารณาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2565 มาตรา 67 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (6 เดือน) ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยการยื่นแบบแสดงรายการประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่ง ป.รัษฎากร โดยจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทั้งจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มาคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามเงื่อนไขของมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่ง ป.รัษฎากร แล้วให้ชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งการประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิดังกล่าวเป็นการประมาณการซึ่งรวมการคาดหมายของผู้เสียภาษีในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีหลังด้วย ดังนั้น มาตรา 67 ตรี แห่ง ป.รัษฎากร จึงกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประมาณการกำไรสุทธิขาดได้ถึงร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่หากประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิดังกล่าวจะต้องมีเหตุอันสมควร หากไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 67 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.50/2537 เรื่อง แนวทางการพิจารณา “เหตุอันสมควร” กรณีแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไป ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานของจำเลยในช่วงระยะเวลาบัญชีพิพาท ข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวกำหนดว่า “กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วให้ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควร” แต่รอบระยะเวลาบัญชีพิพาทของโจทก์มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551 รวม 12 เดือน ขณะที่รอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วของโจทก์ คือรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2550 มีเพียง 3 เดือน จึงไม่อาจนำภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมาใช้เปรียบเทียบกับการประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทของโจทก์เพื่อให้ฟังได้ว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5094/2565 โจทก์บรรยายคำขอออกหมายบังคับคดีไว้โดยละเอียดถึงข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าได้มีการตกลงกันอย่างไร หากมีการผิดสัญญาจะต้องบังคับคดีกันอย่างไร ทั้งได้ระบุไว้ด้วยว่า “จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว” อันเป็นการกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ รวมถึงวิธีการที่โจทก์จะขอให้บังคับคดีแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างไร โจทก์บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และโจทก์ประสงค์ให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว ประกอบกับศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งยกคำขอออกคำบังคับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพียงให้เพิกถอนคำสั่งในการออกคำบังคับเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เนื่องจากได้มีการออกคำบังคับไว้ที่หน้าปกสำนวนในวันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมแล้วเท่านั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่งตอนท้าย ให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 มาประกอบการพิจารณาทำคำสั่งในการออกหมายบังคับคดีจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276แม้บริเวณที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงจะอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองและทำเพื่อเป็นทางเข้าออกบริเวณบ้านของตนก็ตาม แต่เมื่อรั้วกำแพงดังกล่าวเป็นของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงดังกล่าวจึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5 ระบุให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณที่ดินของโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่คัดค้าน มีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองตามที่สร้างไว้เดิมเท่านั้น มิได้หมายความถึงขนาดให้จำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์เพื่อสร้างทางเข้าออกเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่มีทางเข้าออกเดิมอยู่แล้วแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ทำลายทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2565 หลังจากโจทก์ร่วมโอนที่ดินพร้อมอาคารให้บุตรสาวแล้วได้มีหนังสือแจ้งจําเลยว่า โจทก์ร่วมได้รับมอบอำนาจจากบุตรสาวให้เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่ากับจําเลย เป็นการแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมและผู้รับโอนที่ดินพร้อมอาคารยังมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอยู่ การที่จําเลยมีหนังสือขอหลักฐานการรับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมพร้อมกับขอลดค่าเช่าจากเดิมที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงให้เห็นว่า จําเลยมิได้ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้ แต่ยื่นข้อเสนอใหม่ที่แตกต่างจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากนั้นจําเลยก็ไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับบุตรสาวของโจทก์ร่วม ทั้งหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ออกหลังจากสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมกับจําเลยสิ้นสุดไปแล้ว จึงเชื่อได้ว่า ขณะศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จําเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ คำสั่งของศาลที่หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดี หรือยกเลิกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและงดการบังคับคดี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2565 บัตรเครดิตที่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ ถือเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 1 (14) (ก) ส่วนหมายเลขบนบัตรเครดิตจำนวนสิบหกหลัก วันหมดอายุ และเลขสามตัว (CVV) หลังบัตรเครดิต เป็นเพียงข้อมูลของบัตรเครดิต จึงไม่มีรูปร่างที่จะเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เมื่อจำเลยนำข้อมูลหลังบัตรเครดิตไปใช้ชำระค่าซื้อสินค้าหรือบริการกับผู้ขายสินค้าหรือร้านขายสินค้าออนไลน์บนเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2565 ใบถอนเงินฝากมีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหาย ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินที่ขอถอน ส่วนใบมอบฉันทะด้านหลังก็มีเพียงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหาย ยังมิได้กรอกข้อความว่ามอบฉันทะให้ผู้ใดเป็นผู้รับเงินที่ขอถอน จึงเป็นเอกสารที่ข้อความยังไม่สมบูรณ์ มิใช่เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) การกระทำของจำเลย คงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2565 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำยึด กับบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นอันศาลต้องวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ หากได้ความว่า ทรัพย์นั้นเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำคัดค้านว่าทรัพย์ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ยึดนั้นมิใช่ของตนหาได้ไม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านของจำเลยไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ในชั้นขออนุญาตฎีกาจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่ก็ไม่ผูกมัดให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในเนื้อหา เมื่อฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ยอมยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพราะมีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฎตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น ซึ่งคำร้องคัดค้านของโจทก์ได้กล่าวอ้างมูลเหตุที่มาในการยื่นคำร้องพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุน เพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของจำเลย คำร้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคสามโจทก์นำสืบให้เห็นว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอให้ยึดเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาก็เพียงพอแล้ว หาจำต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นควรงดการยึดทรัพย์สินนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรด้วยไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5037/2565 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว...” โจทก์นำสืบสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานต่อศาล ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ไม่ได้ระบุให้ปิดอากรแสตมป์ที่สำเนาเอกสาร และบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากรไม่มีอัตราอากรแสตมป์สำหรับสำเนาตราสารกู้ยืมเงินเพื่อปิดอากรแสตมป์ ดังนั้น การรับฟังสำเนาสัญญากู้ยืมเงินแทนต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ที่สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5003/2565 ในการอนุมัติให้ทำสัญญาเช่าพิพาทตามรายงานการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะประธานที่ประชุมนั้น มีการอนุมัติให้ทำสัญญาเช่าพิพาทหลายครั้งต่างวาระกัน แต่กลับระบุว่าเป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ครั้งที่ 1/2550 ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่ามีการจัดทำรายงานการประชุมดังกล่าวขึ้นเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนการเช่าเท่านั้น น่าเชื่อว่าในระหว่างที่จำเลยทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการประชุมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์อย่างแท้จริง ถึงแม้ในขณะนั้นจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ซึ่งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของคะแนนเสียงทั้งหมดอยู่แล้ว แต่การจัดให้มีการประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์เพี่อขอความเห็นชอบก่อนที่จะมีการทำสัญญาเช่าพิพาทก็เป็นช่องทางอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นข้างน้อยสามารถเข้าตรวจสอบการบริหารจัดการของจำเลยทั้งสองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบสัญญาเช่าพิพาทซึ่งเป็นการนำทรัพย์สินของโจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว หาใช่ว่าเมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์ก่อน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าพิพาทโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์อันเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำการแทนโจทก์คำฟ้องของโจทก์เป็นการแสดงออกชัดว่าไม่ได้ประสงค์จะเข้าผูกพันตามสัญญาเช่าพิพาท ค่าเช่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้นเป็นเพียงฐานในการกำหนดให้ใช้ราคาแทนในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้มีการยกเลิกเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิการเช่าเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเช่าที่จำเลยทั้งสองได้รับจากบุคคลภายนอกเนื่องจากมีการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลภายนอก ก็ยิ่งมิใช่ค่าเช่าทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์หากสัญญาเช่าพิพาทดังกล่าวผูกพันโจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าอันจะเป็นการแสดงว่าโจทก์รับเอาผลแห่งนิติกรรมนั้นแม้ตามสัญญาเช่าพิพาทจะระบุว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสัญญาเช่าพิพาท จึงหาใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงและไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารงบการเงินของโจทก์ซึ่งโจทก์นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปีที่คู่ความแต่ละฝ่ายนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้น ก็เป็นเอกสารทางบัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองหรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และมิใช่เอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127งบการเงินรอบปีบัญชี 2549 และ 2550 ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าพิพาท ซึ่งมีค่าเช่ารวม 27,900,000 บาท แต่ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้ค่าเช่าเพียง 2,118,132.42 บาท และมีเงินฝากสถาบันการเงินเพียง 170,714.90 บาท กับมีรายได้รับล่วงหน้า 279,497,498.52 บาท ส่วนงบการเงินรอบปีบัญชี 2556, 2557, 2558, 2559 และ 2560 ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้ค่าเช่าที่ดินรับล่วงหน้าในระยะยาวเป็นเวลา 30 ปี จากผู้เช่าจำนวน 62 ราย ซึ่งรวมจำเลยทั้งสองด้วย แต่งบการเงินดังกล่าวของโจทก์ไม่มีรายละเอียดที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่า รายได้ค่าเช่าก็ดี เงินฝากสถาบันการเงินก็ดี รายได้รับล่วงหน้าก็ดี หรือรายได้ค่าเช่าที่ดินรับล่วงหน้าก็ดี นั้นมีส่วนใดบ้างที่เป็นรายได้จากการที่โจทก์ยอมรับชำระจากจำเลยทั้งสองไว้เป็นค่าเช่าตามสัญญาเช่าพิพาท ลำพังงบการเงินของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าพิพาทจากจำเลยทั้งสองไว้แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มิได้กระทำการใดอันเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาเช่าพิพาท เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าพิพาทโดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำการแทนโจทก์และโจทก์มิได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาเช่าพิพาทแล้ว สัญญาเช่าพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823, 1167
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4995/2565 โจทก์ทราบเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าโจทก์จะเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานจากเจ้าของงานหรือที่ปรึกษาโครงการซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจตรงกันว่าการได้รับอนุมัติจากเจ้าของงานเป็นสาระสำคัญในการก่อความผูกพันแก่ทั้งสองฝ่าย จึงถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 183 เมื่อที่ปรึกษาโครงการปฏิเสธไม่ให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วง ถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาไม่สำเร็จ สัญญาจ้างเหมาช่วงจึงไม่เป็นผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 183 วรรคหนึ่ง โจทก์หาอาจกล่าวอ้างความผูกพันตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ไม่ และเมื่อสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่มีผลใช้บังคับเพราะติดเงื่อนไขบังคับก่อน ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างก็จะเรียกร้องค่าจ้างและค่าเสียหายโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้เช่นกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2565 เมทแอมเฟตามีน 1,140 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองแบ่งมาไว้ที่ห้องเช่าเพื่อเสพและจำหน่ายนั้น เป็นจำนวนเดียวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยทั้งสองซุกซ่อนไว้ที่คอกวัวของ ค. โดยจำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน เป็นเพียงแต่จำเลยทั้งสองแยกเอาเมทแอมเฟตามีนบางส่วนมาไว้ที่ห้องเช่า ส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสองซุกซ่อนไว้มิได้นำติดตัวไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 1,140 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2565 การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ แต่ยังสงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนอีก ย่อมมีผลให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย อันเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 877 วรรคท้าย ที่ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนซึ่งเอาประกันไว้ และ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ที่ไม่ให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญา ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายอันทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนคดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหลังจากรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และขอให้บังคับตามคำชี้ขาดโดยในตอนท้ายคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้ร้องจ่ายค่าขาเทียมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านอย่างเดียว โดยยังไม่มีคำสั่งคำร้องของผู้คัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อย่างไรก็ตามเมื่อคำชี้ขาดที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนกับคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านขอให้บังคับตามนั้นเป็นคำชี้ขาดฉบับเดียวกันซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างได้นำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายตนจนเสร็จสิ้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าว คงอุทธรณ์เพียงขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดในส่วนค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมเท่านั้น ทั้งประเด็นที่สำคัญที่ได้โต้แย้งกันในคดีนี้ก็มีเพียงว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนที่สงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีขาเทียมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เท่านั้น กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบในทางคดี การที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่จึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากจะทำให้ คู่ความต้องเสียเวลามากขึ้น กรณีจึงไม่สมควรแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2565 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 และมาตรา 354 ซึ่งมาตรา 356 ได้บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ อีกทั้งการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แต่การถอนคำร้องทุกข์อันจะเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้นต้องเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อสิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้ง น. เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสาม และให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม แต่ น. กลับเข้าทำบันทึกข้อตกลงซึ่งมีข้อความว่า ผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ อันเป็นการทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูจึงเป็นการไม่ชอบ การแสดงเจตนาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การที่ น. ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2565 หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จ่ายเงินกู้ให้แก่จำเลยและโอนเงินจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วงของจำเลย รวมเป็นเงินที่จ่ายไปยังไม่ครบจำนวนตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายในจำนวนเงินกู้เพียงเท่าที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายทั้งห้าฉบับรวมเป็นเงินเต็มตามจำนวนในสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งรวมมูลหนี้ทั้งหมดโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่ามีเช็คฉบับใดออกเพื่อชำระเงินกู้ส่วนที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยและโอนจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วงของจำเลยไปแล้ว และเช็คฉบับใดมีหนี้ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดอยู่ เมื่อเช็คพิพาทสองฉบับเป็นเช็คที่รวมอยู่ในเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าว โดยมีมูลหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายระคนปนกันอยู่ในจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีส่วนของหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงและไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ในเช็คพิพาท การออกเช็คพิพาทสองฉบับของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง, 215
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2565 โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลย และจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 หรือแยกผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่ น. เป็นผู้ติดต่อมาหาจำเลยเพื่อเสนอให้ผู้เสียหายที่ 1 ขายบริการทางเพศให้แก่จำเลย และพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของจำเลย ในทำนองว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และอุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4795/2565 โจทก์ทำการงานตามสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันให้จำเลยแล้วเสร็จและส่งมอบให้แก่จำเลย ระหว่างจำเลยยังไม่ได้ตรวจสอบและรับมอบงาน โจทก์รื้อถอนต้นไม้บางส่วนอันเป็นการงานที่ได้ทำให้แก่จำเลยนั้นไป จำเลยจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่คนงานของโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์และห้ามคนงานของโจทก์เข้าไปทำงานอีก หลังจากนั้น 2 วัน โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ขออนุญาตจำเลยเข้าไปดูแลต้นไม้ในระหว่างระยะเวลาประกันผลงานตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งภูมิทัศน์และยินดีเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน จำเลยมิได้อนุญาตหรือปฏิเสธ จนเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอริบเงินประกันผลงานและสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหาย ทั้งเอาการงานที่ว่าจ้างโจทก์นั้นไปให้บุคคลภายนอกทำต่อจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นยากเกินกว่าที่โจทก์และจำเลยจะตกลงกันได้ ถือว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างนับแต่วันที่จำเลยห้ามโจทก์เข้าไปทำการงานวันที่ 28 ตุลาคม 2561 แล้ว สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันโดยปริยายตั้งแต่วันดังกล่าว มีผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยนำการงานดังกล่าวซึ่งโจทก์รื้อถอนไปบางส่วนนั้นไปว่าจ้างบุคคลอื่นทำการงานนั้นต่อจนแล้วเสร็จและจำเลยได้ใช้ประโยชน์จากการงานนั้นแล้ว ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ จำเลยจึงต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานอันโจทก์ได้กระทำให้นั้นแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม รวมทั้งค่าสัมภาระที่โจทก์ได้จัดหามาทำการงานให้แก่จำเลย และบุคคลภายนอกที่จำเลยว่าจ้างได้ใช้สัมภาระของโจทก์ทำการงานให้แก่จำเลยจนแล้วเสร็จด้วย เมื่อโจทก์รื้อถอนต้นไม้และขนสัมภาระบางส่วนคืนไป สมควรนำไปหักจากค่าการงานตามใบเสนอราคาที่โจทก์ทำให้แก่จำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยจะต้องเสียค่าว่าจ้างผู้รับเหมาคนใหม่เพื่อให้การงานดังกล่าวแล้วเสร็จ นั้น รายการต้นไม้ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือจากรายการของงานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ถึงแม้เป็นไม้ล้มลุกแต่ก็มีจำนวนมากและราคานับว่าค่อนข้างสูง เห็นได้ชัดว่าเป็นการออกแบบจัดสวนใหม่แตกต่างจากการงานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกำหนดค่าการงานของโจทก์ได้โดยถนัด แต่การที่คนงานของโจทก์เข้าไปรื้อถอนต้นไม้ใหญ่ ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นแก่หน้าดิน ไม้คลุมดิน และพื้นหญ้า ความเสียหายส่วนนี้ถือว่าเป็นค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยซึ่งต้องนำไปหักออกจากค่าการงานที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลยด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2565 การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. โดยชอบ กล่าวคือ จับกุมขณะ ส. กำลังเล่นการพนัน แล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจาก ส. เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี เมื่อจำเลยกับพวกไม่พบการเล่นการพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ การจับกุม ส. จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ แม้จะมีการเรียกรับเงินจาก ส. การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ได้ คงเป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2565 ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่ต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ กรณีผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินเวลากำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสือเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ดังนั้น การเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2565 ป.พ.พ. บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 1 การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก มาตรา 1600 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” และมาตรา 1601 บัญญัติว่า “ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน” ส่วนลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก มาตรา 1711 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล” มาตรา 1719 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก” มาตรา 1721 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้” มาตรา 1722 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล” มาตรา 1723 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก” และมาตรา 1724 บัญญัติว่า “ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย” ย่อมเห็นได้ว่าในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตาย กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย เพียงแต่ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับวิธีจัดการมรดก กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จัดการมรดกเป็นผู้รวบรวมทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายเพื่อสะสางหนี้สินและแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายให้แก่ทายาทต่อไปจนเสร็จเรียบร้อย โดยระบุว่าผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ ตลอดทั้งความรับผิดอย่างใดบ้าง ดังนั้น หนี้ที่เกิดจากการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นได้โดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้จัดการมรดกกระทำภายในขอบอำนาจ หรือทายาทยินยอม หนี้นั้นย่อมผูกพันทายาทหรือกองมรดก มิใช่ว่าหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วจะเกิดขึ้นไม่ได้และไม่ผูกพันกองมรดกแต่อย่างใดไม่ แต่หากผู้จัดการมรดกกระทำเกินขอบอำนาจและทายาทไม่ยินยอมแล้ว หนี้นั้นย่อมไม่ผูกพันทายาทหรือกองมรดกแต่อย่างใด โดยผู้จัดการมรดกต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อไป เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยทั้งสอง ส. และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของ พ. และ น. ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินทรัพย์มรดก และกองมรดกตกลงจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่านายหน้าจากจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 ประกอบมาตรา 1724 กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2565 โจทก์ทั้งสี่บรรยายคําฟ้องและมีคําขอมาในฟ้องให้กําจัดจำเลยมิให้รับมรดกของ ว. เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทน ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายที่ดินจึงตกเป็นทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดก ว. แจ้งให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินและให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยเป็นโจทก์ทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดก แต่จำเลยไม่ดำเนินการ กลับนําที่ดินมรดกไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอกแล้วรับเงินมัดจำไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาท จำเลยจึงต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกของ ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ก็มีคำขอให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของ ว. มาในคำฟ้องแล้ว และในส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน โจทก์ทั้งสี่ก็มีคําขอมาในฟ้องแล้วด้วยว่า หากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่ ขอให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินได้ การขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ซึ่งหากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุอื่นใดให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อดำเนินการนําที่ดินไปแบ่งปันแก่ทายาทได้ โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น กรณีจึงต้องพิพากษาให้กําจัดจำเลยมิให้รับมรดกของ ว. และพิพากษาว่าหากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่ ให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินได้ไว้ในคําพิพากษา อันเป็นการที่คําพิพากษาของศาลที่ชี้ขาดตัดสินคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคําฟ้องทุกข้อหา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 252
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4753/2565 เมื่อจำเลยนำเงินมาวางเพื่อบรรเทาผลร้ายให้โจทก์ ศาลมีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่า มีเงินมาวางไว้ที่ศาลเพื่อให้โจทก์มารับไป เมื่อมีการแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว หากโจทก์ไม่มารับเงินไปภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ทราบว่ามีการวางเงิน เงินค้างจ่ายจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 คดีนี้จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายให้โจทก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ศาลชั้นต้นได้แจ้งให้โจทก์ทราบในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ว่าจำเลยนำเงินมาวางศาลและให้โจทก์ติดต่อรับเงิน แม้โจทก์ไม่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นได้จดแจ้งเหตุที่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 50 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แล้ว ทั้งต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์โจทก์ก็ระบุในอุทธรณ์ว่าจำเลยนำเงินมาวางศาล 5,000 บาท ต้องถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยนำเงินมาวางศาลและโจทก์มีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2559 แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินที่จำเลยวางไว้ที่ศาลในภายหลังเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 อีก ไม่ทำให้วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยนำเงินมาวางศาลและโจทก์มีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป เงินที่จำเลยนำมาวางศาลและโจทก์ยังไม่มาขอรับ จึงเป็นเงินค้างจ่าย ดังนั้น การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอรับเงิน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเกินกำหนดห้าปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่ามีการวางเงิน เงินค้างจ่ายดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และโจทก์เป็นอันสิ้นสิทธิที่จะขอรับไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2565 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ประเภทที่ 13 ยุทธภัณฑ์ที่จะได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 13 ต้องเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการเป็นสำคัญ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าพิพาทเป็นยุทธภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 หรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จว่าโจทก์นำเข้าสินค้าในลักษณะที่เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการหรือไม่ เมื่อสินค้าพิพาทเป็นส่วนประกอบที่จะต้องนำไปผลิตอาวุธ (กระสุนปืน) เสียก่อนแล้วจึงนำมาขายหรือจำหน่ายให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปใช้อีกทอดหนึ่ง โดยในขณะเกิดความรับผิดทางภาษี (Tax Point) หรือขณะยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ของที่นำเข้ายังไม่เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการซึ่งส่วนราชการเป็นผู้มีสิทธิใช้ยุทธภัณฑ์นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น สินค้าพิพาทจึงไม่ได้รับยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 13เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทมีการเติมสาร Diphenylamine ที่เป็น Stabilizer และ Diethyl Ether ซึ่งทำให้เกิดการระเบิดได้ ทำให้มีคุณสมบัติของดินขับในประเภทพิกัด 36.01 ซึ่งเป็นประเภทพิกัดที่เฉพาะเจาะจงกว่า สินค้าพิพาทจึงไม่ใช่ไนโตรเซลลูโลสกึ่งสำเร็จรูปที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบตามประเภทพิกัด 39.12 ประเภทย่อย 3912.20.11 ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ข้อ 1 และข้อ 6โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาททั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 และโจทก์นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 คดีนี้ ปรากฏว่าเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระนับถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ยังไม่เกินอากรที่ต้องเสียเพิ่ม โจทก์จึงต้องรับผิดชำระจนกว่าจะเท่าจำนวนอากรที่ต้องเสียเพิ่ม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2565 การที่กิจการและทรัพย์สินบางส่วนซึ่งรวมถึงอาคารที่โจทก์ก่อสร้างขึ้นถูกโอนไปเป็นของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) สืบเนื่องมาจาก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 มาตรา 40 ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้มีการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของโจทก์เฉพาะในส่วนของสำนักงานพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไปเป็นของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นการโอนไปโดยผลของกฎหมาย การโอนโดยผลของกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นําไปหักในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ข้อ 2 (4) และไม่นํานิยามคําว่า “ขาย” ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (8) มาใช้ในกรณีนี้ ดังนั้น ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (6)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2565 การจะจัดสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) และบัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า อันเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 ที่จะต้องตรวจสอบและตีความพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใด และสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้หรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจําเลยที่ 1 โต้แย้งพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทที่สำแดงตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ว่าไม่ถูกต้อง และจําเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าพิพาทไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ตามสำแดงได้ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 โดยจําเลยที่ 1 ไม่ได้มีความผูกพันตามบทกฎหมายที่จะต้องถือพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือจะต้องถือเอาพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามประเทศอื่นแต่อย่างใด และตามกฎข้อ 5 ของระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน เอกสารแนบ ก ท้ายประกาศกรมศุลกากรที่ 3/2555 ได้กำหนดวิธีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) เพื่อให้มีการตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) คือ หนังสือที่หน่วยงานที่มีอำนาจในการออกได้รับรองว่าสินค้านั้นมีสถานที่ผลิตและส่งออกจากประเทศสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน โดยผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรที่ระบุในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) มิได้มีกฎข้อใดให้ต้องรับฟังยุติตามนั้น จึงเป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาของจําเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับการโต้แย้งเกี่ยวกับการจําแนกประเภทพิกัดของสินค้าตามกฎข้อ 25 ของระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ต้องเป็นการโต้แย้งระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศภาคีผู้นําเข้าและส่งออก มิใช่การโต้แย้งระหว่างเอกชนผู้นําเข้าและหน่วยราชการของประเทศภาคีผู้นําเข้าดังเช่นกรณีของโจทก์ จําเลยที่ 1 จึงมีอำนาจพิจารณาและกำหนดประเภทพิกัดสินค้าของโจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2565 แม้เอกสารที่โจทก์นำสืบจะเป็นภาษาต่างประเทศและไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย แต่คู่ความสามารถส่งพยานเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป เว้นเสียแต่ศาลสั่งให้ทำคำแปล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 กรณีจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และเมื่อโจทก์ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคำร้องขอคืนเงินภาษีและชั้นพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจยกประเด็นตามเอกสารดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ไม่ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า “ผู้มีสิทธิขอคืน” ไว้แต่จำเลยมีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 4 (5) ให้นิยามของคำว่า “ผู้ขอคืน” หมายความรวมถึงผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย มีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่เกินได้ เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่บริษัท บ. ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วนำส่งให้แก่จำเลย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 การที่โจทก์โอนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท บ. แล้วจำเลยก็ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท บ. เท่ากับจำเลยยอมรับว่าบริษัท บ. ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรีป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ กำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร โดยไม่ใด้กำหนดว่าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจะต้องร้องขอดอกเบี้ยต่อจำเลยก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามที่โจทก์ขอ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2565 จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทธนาคาร การปล่อยสินเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจการจำเลย หากลูกค้าสินเชื่อของจำเลยค้างชำระหนี้แล้วจำเลยไม่สามารถควบคุมดูแลให้ลูกค้าชำระหนี้ตามเป้าหมายอาจทำให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลยที่ต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น การที่จำเลยมีคำสั่งแบบแผนและวิธีปฏิบัติงาน กำหนดให้พนักงานติดต่อลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ ไม่ว่าทางโทรศัพท์ทางจดหมายหรือติดตาม ณ ที่อยู่ที่ระบุไว้ในหลักประกัน จากนั้นต้องจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาและบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ระบบไอคอลเล็กชัน (I-Collection) ก็เพื่อควบคุมดูแลไม่ให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลย เมื่อโจทก์มีหน้าที่ติดตามหนี้สินเชื่อปล่อยใหม่ค้างชำระ จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 60 ที่กำหนดว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่... (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ... (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน..”จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และจำเลยไม่เคยตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4684/2565 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้นำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปฟ้องและมีการบังคับคดี โดย ป. จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.25/2563 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คพิพาทย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4677/2565 แม้ตามสัญญากู้ข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ได้ตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ทราบโดยปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการของโจทก์ผู้ให้กู้ เมื่อตามฟ้องและทางนําสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจทราบได้ว่าต้องชําระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นและยอดชําระในแต่ละเดือนที่มากขึ้นหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นําสืบว่าได้มีการแจ้งยอดหนี้ค้างชําระให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบในแต่ละเดือน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชําระหนี้ในยอดเงินที่เพิ่มขึ้นซึ่งตามสัญญาข้อ 4 วรรคท้าย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้เพื่อให้การชําระคืนเงินตามสัญญาเสร็จภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ข้างต้น ซึ่งการคิดคํานวณอัตราดอกเบี้ย การชําระหนี้ รวมทั้งยอดหนี้ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ดังนั้นโจทก์จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าเพื่อให้การชําระหนี้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2562 โจทก์ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชําระเงินคืนในแต่ละเดือนจำนวนเท่าใด ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาชําระหนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาซึ่งมีผลต่อการผิดนัดชําระหนี้ตามสัญญา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องคิดคํานวณและเรียกชําระเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ในแต่ละเดือนที่จะทำให้การชําระหนี้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์หาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเพื่อขอหักเงินชําระคืนจำนวนที่มากขึ้นไม่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2565 อุทธรณ์ข้อหนึ่งของโจทก์ร่วมโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ร่วมยังเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ แต่ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญาเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่อาจนำมาผูกพันคู่ความในคดีอาญาได้ ซึ่งเป็นการไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ อันมีองค์ประกอบความผิดเบื้องต้นเป็นประการสำคัญว่า ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อน เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในคดีแพ่งโดยฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ที่โจทก์ร่วมฟ้องแพ่ง โจทก์ร่วมและจำเลยย่อมไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน คดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่มีมูลความผิดไปด้วยในตัว มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญาอันเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2565 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1498 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น...” เมื่อศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ การสมรสดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์หรือเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทำการสมรส ถือว่าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน เมื่อไม่มีการสมรส ย่อมไม่มีเหตุที่จะต้องจดทะเบียนหย่า และคู่สมรสย่อมไม่มีความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างกันอันเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 1498 กล่าวคือ การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ไม่ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินกันอย่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง ดังนั้นข้อตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสามีภริยาที่การสมรสเป็นโมฆะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการสมรสที่เป็นโมฆะ จึงไม่อาจมีได้โดยสมบูรณ์ การตกลงเรื่องสินสมรสในบันทึกข้อตกลงการหย่าและข้อตกลงเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เป็นนิติกรรมที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ของสามีภริยา เมื่อผู้ร้องทำบันทึกข้อตกลงการหย่าและข้อตกลงเพิ่มเติม โดยไม่ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องที่มีอยู่ตามกฎหมายด้วยเหตุที่ผู้คัดค้านปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสซ้อน จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วยความสมัครใจโดยมีเจตนาแยกการทำนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ออกจากการจดทะเบียนสมรสที่เป็นโมฆะและมีเจตนาระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านในส่วนทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4635/2565 คำให้การของจำเลยที่ 1 ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้ว และเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้น และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์ จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบทำให้มิได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนดังกล่าวคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจะไม่ได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป และเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ฟังไม่ขึ้นระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิมและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2565 คำให้การของจำเลยที่ 1 ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้วและเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้น และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบทำให้ไม่ได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนดังกล่าวคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจะไม่ได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิมและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4627/2565 กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลมีข้อตกลงโดยชัดแจ้งว่า สัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 ผู้รับประกันภัย กับผู้ร้องที่ 22 ผู้เอาประกันภัย ให้อยู่ภายใต้กฎหมายและแนวปฏิบัติของประเทศอังกฤษ กรณีจึงต้องนำกฎหมายเกี่ยวกับประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาใช้บังคับตามสัญญาดังกล่าว ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 ยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 เข้ารับช่วงสิทธิของผู้ร้องที่ 22 จากการที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 ชำระค่าสินไหมทดแทนไปตามสัญญาประกันภัยสินค้าทางทะเล จำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 อ้างเหตุในฐานะผู้สืบสิทธิของผู้ร้องที่ 22 ซึ่งเป็นคู่พิพาทตามคำชี้ขาด ดังนี้ การพิจารณาเหตุแห่งการใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 ดังกล่าวจึงต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยสินค้าทางทะเลระหว่างผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 กับร้องที่ 22 ว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 เป็นผู้สืบสิทธิโดยชอบโดยผลของกฎหมายหรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ โดยกรณีนี้ต้องนำกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาใช้บังคับตามสัญญา ซึ่งคู่ความนำสืบรับกันว่าคือ พ.ร.บ.การประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 (Marine Insurance Act 1906) โดยไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 เมื่อพิจารณาจากบทนิยามตามมาตรา 1 แห่ง พ.ร.บ.การประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 ที่ให้คำนิยามไว้ว่า สัญญาประกันภัยทางทะเลเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีเกิดความเสียหายอันเกิดจากการเสี่ยงภัยทางทะเลตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยที่มาตรา 3 ให้ความหมายของคำว่า การเสี่ยงภัยทางทะเลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่อาจระบุไว้ในสัญญาประกันภัยทางทะเล ซึ่งวัตถุที่เอาประกันภัยต้องเกี่ยวข้องกับภัยทางทะเล (Maritime Perils) และให้ความหมายคำว่า “Maritime Perils” ว่า หมายถึงภัยอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเดินเรือทางทะเลอันได้แก่ภัยทางทะเล อัคคีภัย ภัยสงคราม โจรสลัด โจรกรรม การยึด การหน่วงเหนี่ยว การทิ้งทะเล การกระทำโดยทุจริตของคนเรือและภัยอื่นที่มีลักษณะเดียวกันหรือที่ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์ แต่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 นำสืบได้ความแต่เพียงว่า กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลมีข้อตกลงการรับประกันภัยสินค้าถ่านหินในส่วนที่ 6 โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองการประกันภัยสินค้า (เอ) ซึ่งเป็นการคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดที่ทำให้เกิดความสูญหายหรือเสียหายต่อวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดเท่านั้น แต่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ทำลายถ่านหินทำให้เกิดการสูญหายหรือความเสียหายต่อวัตถุที่เอาประกันภัยและเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองการประกันสินค้าแบบ (เอ) แล้ว ขณะที่ผู้ร้องที่ 22 ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในถ่านหินและยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เอาประภัยตามสัญญาซื้อขายตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่ 6 เกี่ยวกับถ่านหิน หรือเข้าลักษณะหรือประเภทของภัยทางทะเลที่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยตาม Institute Cargo Clauses (A) ในข้อใดอย่างไรหรือไม่ เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า การประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่เวลาที่วัตถุที่เอาประกันภัยอยู่ในความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยและต่อเนื่องในขณะอยู่ระหว่างขนส่งไปจนกว่าจะถูกจัดส่งถึงปลายทาง หรือความรับผิดของผู้เอาประกันภัยสิ้นสุดลงโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของการซื้อขาย และระหว่างพิจารณาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า สินค้าถ่านหินคดีนี้ตั้งแต่มีการขนส่งที่ต้นทางจนถึงปลายทางและขนส่งต่อไปจนถึงโรงงานของผู้คัดค้านนั้น สินค้าถ่านหินไม่ได้รับความเสียหายหรือสูญหายแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 กับผู้ร้องที่ 22 สิ้นสุดลงตามข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โดยไม่ปรากฏเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญหายหรือเสี่ยงภัยทางทะเลในระหว่างการเดินเรือทางทะเลที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 22 นอกจากนี้ตามสำเนาคำชี้ขาดขาดของสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสิงค์โปร์ยังแสดงให้เห็นว่าหนี้ที่พิพาทกันระหว่างผู้ร้องที่ 22 กับผู้คัดค้านมีมูลความแห่งคดีมาจากการที่ผู้คัดค้านไม่ได้ชำระหนี้จำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้ร้องที่ 22 ตามสัญญาซื้อขาย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 เข้ารับช่วงสิทธิเป็นผู้สิทธิของผู้ร้องที่ 22 ตามสัญญาประกันทางทะเลโดยชอบ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 21 จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องที่ 22 ได้ คดีนี้ศาลพิจารณาจากหลักกฎหมายตามพ.ร.บ.การประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 (Marine Insurance Act 1906) และข้อตกลงในสัญญาประกันภัยทางทะเลตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญาที่อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศอังกฤษดังกล่าวข้างต้น โดยปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของผู้ร้อนที่ 1 ถึงที่ 21 ในชั้นไต่สวนคำร้องไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ตามที่อ้างในคำร้อง กรณีจึงไม่ใช่เรื่องของการตีความกฎหมาย แม้การที่ผู้ซื้อตั้งใจไม่ชำระราคาตั้งแต่แรก หรือผู้ซื้อไม่สุจริต หรือผู้ซื้อล้มละลายจะถือว่าเป็นภัยก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าการไม่ชำระราคาทุกกรณีจะเป็นภัยทั้งหมด เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านมีเจตนาที่จะชำระราคาให้แก่ผู้ร้องที่ 22 ตั้งแต่ต้น แต่เป็นการชำระให้แก่บุคคลภายนอกที่มาหลอกหลวงผู้คัดค้าน จึงไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นภัยจากการไม่ชำระราคา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2565 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 36 (1) (4) กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า หากตำแหน่งผู้จัดการว่างลงก่อนครบวาระให้ประธานคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนผู้จัดการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้จัดการใหม่ ซึ่งขณะทำบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ ที่ประชุมเจ้าของร่วมยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยคนใหม่ แต่มี ธ. ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนเป็นผู้จัดการเป็นการชั่วคราว การที่ ธ. ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่จึงถือว่ามีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและมีผลผูกพันจำเลย ในการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2551 วันที่ 16 มีนาคม 2551 ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยต่อจาก ส. พยานจำเลยปาก อ. ซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า เคยชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ และจำเลยไม่เคยมีการบอกเลิกบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ดังกล่าว ยิ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยยอมรับตามบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ที่ ธ. ลงลายมือชื่อในนามของจำเลย จำเลยจึงต้องชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4601/2565 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพในความผิดข้อหาร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในชั้นฎีกา นั้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งการถอนคำร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือต่อศาลก็ได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น การที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีในความผิดข้อหาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งสำหรับความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2565 ป.อ. มาตรา 148 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น...” นั้น การข่มขืนใจหรือจูงใจต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นมิใช่ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อ ธ. เป็นผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจําเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นเพื่อให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจําเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4587/2565 แม้สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชําระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่ครบจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาตั้งแต่ปี 2560 หลายครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับรับชําระหนี้ไว้โดยไม่อิดเอื้อน ทั้งมีการงดคิดดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 แสดงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาและจำนวนเงินที่ต้องชําระตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 จะตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คําเตือนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชําระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 จำเลยที่ 1 ไม่ชําระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้จำเลยทั้งสี่ชําระทั้งหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือนั้นแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ครบกำหนดวันที่ 6 มิถุนายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชําระ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 19 ให้สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง โดยมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเพื่อให้ทราบถึงการผิดนัดนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ชําระหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 จำเลยที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 จึงถือได้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชําระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชําระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชําระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ด้วยโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลย่อมไม่มีอำนาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ แต่ส่วนที่สัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดชําระหนี้ ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราสูงสุดได้ทันทีนั้น มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2565 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุ ...หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แม้ดอกเบี้ยของราคาใช้แทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจักรยานยนต์ และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่เบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จึงชอบที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท นั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยไม่ส่งมอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงิน 26,016 บาท ได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 เมื่อไม่ปรากฏว่าเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีคำขอและฎีกาขอเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทนนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง อันเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่อาจกำหนดให้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2565 ความผิดฐานกระทำอนาจาร พยายามกระทำชำเรา และกระทำชำเรา ผู้เสียหายเท่านั้นเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย แต่ขณะเกิดเหตุผู้คัดค้านและจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย แม้ภายหลังจะจดทะเบียนหย่ากัน แต่ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อีกทั้งโจทก์คัดค้านคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้คัดค้าน เพราะมีพฤติการณ์กระทำการเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ อาจทำให้คดีของโจทก์เสียหาย เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เสียหาย เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้แทนเฉพาะคดีเพราะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เสียหาย จึงทำให้ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2565 แม้การร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไปหรือชักพาผู้เสียหายทั้งสองไปเพื่อการอนาจาร หรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี รวมทั้งการร่วมกันชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ที่กระทำแก่ผู้เสียหายแต่ละคนในแต่ละครั้งอาจเป็นความผิดหลายกระทงได้ แต่การที่ผู้เสียหายทั้งสองขายบริการทางเพศคนละ 4 ครั้ง เกิดจากเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานอื่นดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ที่ร่วมกันกระทำแก่ผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่แรกเพียงเจตนาเดียว การขายบริการทางเพศที่เนื่องมาย่อมไม่เป็นความผิดต่างกรรมไปจากความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์และฐานอื่นดังกล่าวแต่ละฐานอีก จึงไม่อาจลงโทษในการกระทำที่กระทำแก่ผู้เสียหายทั้งสองแยกเป็นคนละ 4 กระทงได้ ปัญหานี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยซึ่งมิได้อุทธรณ์หรือฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4523/2565 แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม แต่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ประกอบกับเหตุที่การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ ดังนั้น การยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ก่อน แต่ห้ามนำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนจึงค่อยนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดี และน่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยเพิ่มเติมได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2565 ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกทรัพย์จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 1 เพื่อทำการแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีร่วมกับ ธ. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้แต่ผู้เดียว จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์บรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองตามบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นข้อตกลงของบรรดาทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 จึงเห็นได้ว่าโจทก์ขอแบ่งปันมรดกในฐานะทายาทด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในฐานะทายาท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2565 กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 และกำหนดนิยามของคำว่าผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 ว่าหมายถึงผู้จัดส่งสินค้าซึ่งจัดส่งสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่โรงงานหรือสถานประกอบการของ ฟ. กับกำหนดนิยามของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 ว่าหมายถึงผู้จัดส่งสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ไม่สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัท ต. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 จากที่พยานโจทก์เบิกความประกอบกับตามเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายรถยนต์ นิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายในประเทศไทยคือบริษัท ด. และนิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายนอกประเทศไทยคือ ท. ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประกอบสำเร็จหรือรถยนต์แบบผลิตเป็นชิ้นส่วนตลอดจนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ซึ่งผลิตโดยบริษัท ต. คือ บริษัท ด. และ ท. มิใช่โจทก์ ต้องถือว่าบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ ของบริษัท ด. และ ท. มิใช่ของโจทก์ และเมื่อบริษัท ด. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตาม ป.พ.พ. จึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 และ ท. เป็นกิจการที่ตั้งอยู่ในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงอักษรย่อ LLC ที่ต่อท้ายชื่อของกิจการแล้ว น่าเชื่อว่าเป็นกิจการประเภทบริษัทจำกัดความรับผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ลงทุนในบริษัท บริษัท ด. และ ท. จึงเป็นคนละนิติบุคคลกับโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าโจทก์จะอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ด. และ ท. โดยผ่านการถือหุ้นร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ด้วยอาศัยวิธีการใดก็ตาม ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากจำเลยสำหรับกรณีที่เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักของบริษัท ด. และ ท. หากจะพึงมี ก็มิใช่ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องของโจทก์ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีตามคำฟ้องเพราะโจทก์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและต้องจัดทำงบการเงินโดยใช้หลักเกณฑ์ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัทย่อยเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของส่วนของเจ้าของทั้งหมด ก็จะต้องแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของโจทก์และความเสียหายของบริษัทย่อยก็จะถูกนำมารวมอยู่ในงบการเงินของโจทก์นั้น แม้จะฟังว่ามีการจัดทำงบการเงินตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กิจการของโจทก์ บริษัท ด. และ ท. ก็ยังคงมีการดำเนินกิจการในฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและกัน และย่อมมีการจัดทำงบการเงินของแต่ละกิจการไว้ต่างหากจากกันตามกฎหมาย การจัดทำงบการเงินของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการจัดทำรายงานทางการเงินเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ บริษัท ด. และ ท. เป็นกิจการเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการแสดงฐานะของกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ก็หาได้มีผลทำให้โจทก์ บริษัท ด. และ ท. ควบเข้ากันเป็นนิติบุคคลเดียวกันในทางกฎหมาย นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีในศาลโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนกันและกันได้แต่อย่างใด ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยจึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของโจทก์จากการที่มีบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยแทนบริษัท ด. และ ท. ในความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 โดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ในมูลหนี้จำนองตามมาตรา 95 ประกอบมาตรา 22 การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 งดดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น มีผลเป็นการสละสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 145 (3) ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินในกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ต้องมีหน้าที่รวบรวมนำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นเพื่อนำมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ และไม่มีอำนาจต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 22 (3) แทนจำเลยที่ 2 อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงด้วยตนเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป การที่ศาลล่างมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2565 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ตาม ป.อ. มาตรา 288 จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่อาจฎีกาได้ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1), 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2565 กรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถสำหรับรถบรรทุกคันเกิดเหตุส่วนหัวลากและส่วนพ่วงกําหนดให้จำเลยร่วมที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยระบุจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิต ส่วนจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับความเสียหายต่อชีวิตกำหนดไว้เป็นเงิน 35,000 บาท และจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย แสดงว่าในกรณีที่ผู้รับประกันภัยได้ชําระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไป 35,000 บาท แล้ว ย่อมนํามาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยที่ผู้รับประกันภัยต้องชําระทั้งหมด 300,000 บาท ได้ ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองอีกเพียง 265,000 บาท การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 4 เช่นนี้ เฉพาะแต่ค่าเสียหายเบื้องต้นซึ่งผู้รับประกันภัยชําระแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยเท่านั้นที่ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ไม่รวมถึงค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดไร้อุปการะตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมา ส่วนค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 265,000 บาท นั้น เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มิได้บัญญัติไว้เฉพาะว่าเป็นความคุ้มครองความเสียหายในส่วนใด ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้จึงถือเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการทำละเมิดกรณีผู้ถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย ซึ่งรวมถึงค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ฟ้องเรียกมาด้วยอย่างไรก็ตาม คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยร่วมที่ 1 ชําระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถบรรทุกส่วนหัวลากให้แก่โจทก์ 265,000 บาท โดยระบุรายการสินไหมว่าเป็นค่าปลงศพ และชําระค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกับค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถบรรทุกส่วนพ่วงให้แก่โจทก์ 300,000 บาท โดยระบุรายการสินไหมว่าเป็นค่าปลงศพเช่นเดียวกัน พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 ว่าประสงค์ให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถบรรทุกส่วนหัวลากและส่วนพ่วงเป็นจำนวนเงินชดเชยค่าปลงศพเพียงอย่างเดียว ไม่รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ฟ้องเรียกมาด้วย จึงไม่อาจนําเงินซึ่งจำเลยที่ 1 ชําระแก่โจทก์เป็นค่าสินไหมทดแทนส่วนที่สองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของรถบรรทุกส่วนหัวลากและส่วนพ่วงกรมธรรม์ละ 265,000 บาท รวม 2 กรมธรรม์ เป็นเงิน 530,000 บาท ไปหักออกจากค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2565 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และฐานพาอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4460/2565 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน ตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการมิชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2565 จำเลยประกอบธุรกิจในการทำตลาดสินค้าหรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลย เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่นโดยตรงต่อบุคคลทั่วไปในฐานะเป็นผู้บริโภคที่สมัครเข้ารับบริการในเว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่น เข้าลักษณะตามนิยามศัพท์คำว่า “ตลาดแบบตรง” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560การนำหลัก “เสรีภาพในการทำสัญญา” มาใช้บังคับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในขณะที่ฝ่ายผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่มีอำนาจเหนือจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่ธุรกิจการค้าขายในสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12การระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการโดยเป็นดุลพินิจฝ่ายเดียวของจำเลยโดยไม่จำต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้มีโอกาสตรวจสอบความชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายผู้รับบริการหากจะยกเลิกการรับบริการต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงที่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิของผู้บริโภครายอื่นที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (1) (3)จำเลยระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยมิได้แจ้งเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์การเยียวยาให้โจทก์สามารถกลับไปเข้าถึงบัญชีของโจทก์ในเว็บไซต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้จำเลยกระทำการได้และเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งกว่าการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอดังกล่าวมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับที่เหมาะสมได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39ค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้เสียไป รวมทั้งลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของโจทก์ตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายอื่นให้แก่โจทก์อย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4458/2565 จำเลยประกอบธุรกิจในการทำตลาดสินค้าหรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลย เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่นโดยตรงต่อบุคคลทั่วไปในฐานะเป็นผู้บริโภคที่สมัครเข้ารับบริการในเว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่น เข้าลักษณะตามนิยามศัพท์คำว่า “ตลาดแบบตรง” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560การนำหลัก “เสรีภาพในการทำสัญญา” มาใช้บังคับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในขณะที่ฝ่ายผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่มีอำนาจเหนือจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่ธุรกิจการค้าขายในสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12การระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการโดยเป็นดุลพินิจฝ่ายเดียวของจำเลยโดยไม่จำต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้มีโอกาสตรวจสอบความชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายผู้รับบริการหากจะยกเลิกการรับบริการต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงที่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิของผู้บริโภครายอื่นที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (1) (3)จำเลยระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยมิได้แจ้งเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์การเยียวยาให้โจทก์สามารถกลับไปเข้าถึงบัญชีของโจทก์ในเว็บไซต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้จำเลยกระทำการได้และเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งกว่าการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอดังกล่าวมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับที่เหมาะสมได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39ค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้เสียไป รวมทั้งลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของโจทก์ตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายอื่นให้แก่โจทก์อย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2565 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 29 กำหนดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง ส่วน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือไปยังผู้ร้อง ที่บัญญัติเพิ่มมาตรา 309 จัตวา ซึ่งวรรคสองและวรรคสามของมาตราดังกล่าวเป็นทำนองเดียวกับมาตรา 335 แห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งใช้บังคับขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดนั้นเป็นเพียงการยกเว้นให้ไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกรณีที่ซื้อห้องชุดได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระแก่นิติบุคคลอาคารชุดในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เพื่อมิให้ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ อันเป็นการจูงใจและลดอุปสรรคในการขายทอดตลาดห้องชุดให้สามารถจำหน่ายได้ในเวลาที่รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม หาใช่บทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงลำดับบุริมสิทธิของค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ให้เป็นอย่างอื่น หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงต้องด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดและถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2565 กรณีโจทก์ร่วมและผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมและผู้ร้องจะต้องคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ โจทก์ร่วมและผู้ร้องจะคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าสินไหมทดแทนโดยทำเป็นคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อในชั้นอุทธรณ์โจทก์ร่วมและผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้โดยเพียงแต่แก้อุทธรณ์ของจำเลยและขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น ปัญหาเรื่องค่าสินไหมทดแทนสำหรับโจทก์ร่วมและผู้ร้องจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาในศาลฎีกาได้อีก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่ผู้ร้องเพิ่มอีกจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4413/2565 แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนอาญานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4404/2565 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในคำขอเอาประกันภัยว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เชนติเมตร น้ำหนัก 85 กิโลกรัม ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาน้ำหนักลดลง 2 กิโลกรัม เนื่องจากออกกำลังกาย และในระหว่าง 3 ปีที่แล้วมา โจทก์เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัวโดยโจทก์เคยตรวจประจำของบริษัทที่โจทก์เป็นพนักงาน โจทก์เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผลชิ้นเนื้อปกติ แต่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความในแบบพิมพ์คำขอเอาประกันชีวิตไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง เป็นว่า โจทก์มีส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 65 กิโลเมตร ในระหว่าง 3 ปีที่แล้ว โจทก์ไม่เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลรักษาตัว และไม่มีข้อความว่า โจทก์ผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และข้อเท็จจริงได้ความเพิ่มเติมจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านว่า ขั้นตอนการขอทำประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นั้น ลูกค้าจะต้องกรอกแบบคำขอทำประกันชีวิต โดยจะแจ้งให้ตัวแทนกรอกให้หรือจะกรอกเองก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายประกันของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2552 ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกค้าจำเลยที่ 1 ในเรื่องส่วนสูง น้ำหนัก ความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักภายในรอบ 6 เดือน สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลการตรวจโลหิต ความดันโลหิต ปัสสาวะ เอกซเรย์ หัวใจ หรือตรวจอย่างอื่น ที่ปรากฎในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันภัยของจำเลยที่ 1 แล้วกรอกข้อมูลลงในคำขอเอาประกันชีวิตแทนโจทก์ส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้าอีก และถือเอาข้อมูลที่จำเลยที่ 2 กรอกลงในคำขอเอาประกันชีวิตเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตนตามความเป็นจริง แต่จำเลยที่ 2 กลับกรอกข้อมูลไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง และส่งไปให้จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับประกันชีวิตแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 สอบถามรายละเอียดของข้อมูลสุขภาพของลูกค้าและถือเอาข้อมูลดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ในการสอบถามข้อมูลสุขภาพดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้แม้คำฟ้องของโจทก์ระบุด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ โดยร่วมกันทำคำขอเอาประกันภัยของโจทก์ไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้ง แต่สภาพแห่งข้อหาเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาประกันภัยด้วยการปฏิเสธจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สาระสำคัญของคำฟ้องเป็นเรื่องการผิดสัญญาโดยตรง ทั้งในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4398/2565 ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนัน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และฐานร่วมกันกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จำเลยทั้งยี่สิบสามมีเจตนาเล่นการพนันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบสามจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 23 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2565 ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบสองมีเจตนาร่วมเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง และมาตรา ๒๒๕ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๒๒ ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๓ และมาตรา ๒๒๕ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4393/2565 เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง โดยขณะเกิดเหตุได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ข้อ 3 กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด ประกาศคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 ได้กำหนดให้จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร และข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่การทำกิจกรรมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด แม้ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 19/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ออกใช้บังคับในภายหลัง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ได้มีการกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งปรับเกณฑ์การพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยในข้อ 2 ยังคงกำหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ซึ่งพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคนเท่านั้น แต่ยังกำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดอยู่เช่นเดิม ทั้งตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 19/2564 ก็ยังคงกำหนดให้จังหวัดระยองที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ที่ออกใช้บังคับภายหลังจึงหาได้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งเก้ามีเจตนาจัดให้มีการเล่นการพนัน โดยประกาศโฆษณาชักชวนให้ผู้อื่นเข้าเล่นพนันและฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4391/2565 จำเลยเป็นบิดาเลี้ยงของผู้เสียหายบังคับกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและมิใช่ภริยาของจำเลย โดยข่มขู่ผู้เสียหายว่าห้ามนำเรื่องไปบอกใคร มิฉะนั้นจะให้อมอวัยวะเพศของจำเลยตลอดชีวิต พฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยกระทำการในลักษณะที่ตนมีอำนาจบังคับเหนือผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย โดยผู้เสียหายต้องมีความยำเกรงเชื่อฟังกระทำตามคำสั่งของจำเลย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใดของจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4343/2565 ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การแล่นแชร์ พ.ศ. 2534 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้การเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หากฝ่าฝืนมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย เมื่อได้ความว่าเดิมโจทก์เป็นนายวงแชร์ที่จัดการให้มีการเล่นแชร์ 36 มือ มือละ 10,000 บาท และการประมูลต่อหนึ่งงวดผู้ประมูลได้จะได้รับเงินรวม 360,000 บาท การตั้งวงแชร์ของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย อันตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะอ้างว่ามีการนำหนี้อันเกิดจากการเล่นแชร์ดังกล่าวรวมกับหนี้อื่นแล้วแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่หนี้เกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมเสียเปล่าไปแต่ต้น จะแปลงหนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงินหรือหนี้อย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายได้ไม่ เมื่อเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่จนไม่อาจแยกออกได้ว่าเป็นการชำระหนี้ในส่วนใด หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2565 โจทก์และจําเลยที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ จ. จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของ จ. ขึ้นทั้งฉบับว่า จ. ยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จําเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว นอกจาก จ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำปลอมพินัยกรรมจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 แล้ว โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ก็ถือเป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ โจทก์ซึ่งเป็นแต่เพียงทายาทโดยธรรมมิใช่ทายาทตามพินัยกรรม ย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ในส่วนที่เป็นที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกำหนดไว้ในพินัยกรรมตามสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในการรับมรดกของ จ. อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องด้วยบทนิยามคําว่า "ผู้เสียหาย" ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2565 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และ ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้ว่ากล่าวในฟ้อง ต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2565 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคาใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น นอกจากผู้กระทำต้องมีเจตนาไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมแล้วยังต้องมีเจตนาเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอีกด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นชัดว่า จำเลยมีเจตนาเพื่อเอื้ออำนวยให้แก่ผู้เข้าเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มิฉะนั้นไม่อาจลงโทษจำเลยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2565 การที่จำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายที่ 2 หลายครั้ง แล้วย้อนกลับมาแทงผู้ตายที่ 1 ขณะที่ผู้ตายที่ 1 นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าผู้ตายที่ 1 ลงจากรถจักรยานยนต์เข้าช่วยเหลือผู้ตายที่ 2 หรือเข้าไปทำร้ายจำเลยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายในการแทงของจำเลยแยกออกจากกันได้ว่า จำเลยประสงค์จะแทงผู้ตายคนใด มิใช่แทงในขณะที่มีการชุลมุนกัน แม้การแทงผู้ตายทั้งสองจะเกิดจากมูลเหตุเดียวกันและต่อเนื่องกัน ก็สามารถแยกเจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิดได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4313/2565 ตามคําร้องสอดผู้ร้องสอดกล่าวอ้างว่าจําเลยไม่เคยมีการประชุม และมีมติแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โจทก์และกรรมการชุดใหม่ของจําเลยฉ้อฉลทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จําเลย ผู้ร้อง และผู้ถือหุ้นเสียหาย คําร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายของจําเลยและเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์และกรรมการชุดใหม่ซึ่งมีผลต่อสถานะของผู้ร้องสอด และกระทบต่อผู้ถือหุ้นตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิยื่นคําร้องสอดเข้ามาในคดี และมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้อยู่จริง และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ ทั้งจําเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ไม่มีคําขอรับชําระหนี้ในคดีที่จําเลยขอฟื้นฟูกิจการขึ้นต่อสู้ได้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจําเลยในขณะนั้น และยังเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ผ. ทำสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แม้ตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้จะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับบริษัท ผ. ก็ตาม แต่ข้อตกลงในสัญญา ข้อ 3. ระบุว่า โจทก์ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. ทันที เมื่อบริษัท ผ. พร้อมในการดำเนินการจดทะเบียน ดังนั้น โจทก์ต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา หากบริษัท ผ. มีความพร้อมในการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อใด โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เมื่อนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียในการใช้หนี้ และเข้าใช้หนี้นั้นแทนจําเลยซึ่งจะมีผลให้โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ผ. เรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) แม้ขณะจําเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. แต่ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 โจทก์ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลง ข้างต้น ให้แก่บริษัท ผ. เพื่อให้บริษัท ผ. นําไปใช้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารโดยอ้างถึงข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ แสดงว่าโจทก์เข้าผูกพันตนชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโดยการส่งมอบเอกสารสิทธิของที่ดินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ผ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชําระหนี้ และบริษัท ผ. ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2565 หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีข้อความและเจตนาเข้าทำสัญญาอันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ทำขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 681 และมาตรา 685/1 ที่แก้ไขมาใช้บังคับ เมื่อมูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ได้ในอนาคต เมื่อเป็นการค้ำประกันลูกหนี้หลายรายรวมกัน โดยไม่มีรายละเอียดระบุจำนวนสูงสุดที่ค้ำประกันในลูกหนี้ในแต่ละราย และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 685/1
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2565 หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุอย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจำเลยตามสำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างหรือบันทึกคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.5 หน้า 13 และหน้า 20 นั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงิน 400,000 บาท ที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างจึงหาใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 จ.3 แผ่นที่ 5 และ จ.4 แผ่นที่ 2 เพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามฟ้องนั้นชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2565 ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ส่วนความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท แม้บทกฎหมายที่ระวางโทษในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกขั้นสูงเท่ากัน คือ จำคุกไม่เกินสิบปีแต่ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสามปีด้วย ความผิดดังกล่าวจึงมีโทษหนักกว่าความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จึงต้องลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 42 (2), 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 3 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้แก้ไขบทมาตราแห่งความผิดเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้นจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4289/2565 คงมีปัญหาตามว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามพยานหลักฐานของโจทก์ปรากฏว่า โจทก์เข้ารับการรักษากับจำเลยด้วยวิธีการจัดฟัน ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โจทก์มีอาการเหงือกอักเสบบริเวณฟันหน้าด้านบนขวา แต่จำเลยยังดำเนินการจัดฟันต่อไป โจทก์เห็นว่าการรักษาของจำเลยไม่เกิดผลดี จึงไปพบทันตแพทย์ ห. ที่คลินิกทันตกรรม อ. ซึ่งมีการเอกซเรย์ฟันโจทก์และแนะนำให้ถอนฟันออก โดยให้โจทก์กลับไปปรึกษากับจำเลยที่ตรวจดูแลโจทก์มาตั้งแต่ต้น วันที่ 27 มิถุนายน 2559 โจทก์ไปพบจำเลยพร้อมกับใบส่งตัวและฟิลม์เอกซเรย์ จำเลยแจ้งว่าให้ถอนฟันออก 2 ซี่ ยุติการจัดฟันและถอดเครื่องมือจัดฟันออก บ่งชี้ว่าในขณะนั้น ทันตแพทย์ ห. และโจทก์ยังไม่ทราบว่าอาการเหงือกอักเสบของโจทก์เกิดจากการรักษาของจำเลยหรือไม่ มิเช่นนั้นแล้ว ทันตแพทย์ ห. คงจะไม่ส่งตัวให้โจทก์กลับไปรักษากับจำเลยอีก ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เมื่อฟันหน้าบนขวาซี่ที่ 12 ของโจทก์ล้ม โจทก์ไปพบทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรม อ. อีกครั้ง ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาเห็นว่าอาการรุนแรงจึงส่งตัวโจทก์ไปที่โรงพยาบาล ท. และวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ทันตแพทย์ของโรงพยาบาล ท. พิจารณาฟิลม์เอกซเรย์แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นโรคปริทันต์อักเสบอย่างรุนแรงเฉพาะตำแหน่ง และวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ได้ถอนฟันซี่ที่ 12 ออก หลังจากนั้นโจทก์ไปพบทันตแพทย์ที่โรงพยาบาล ท. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 วันที่ 9 กันยายน 2559 และวันที่ 23 กันยายน 2559 รวม 3 ครั้ง เป็นการรักษาโดยการขูดหินปูน เกลารากฟันซ้ำ กรอแต่งเฝือก และถ่ายภาพเอกซเรย์เท่านั้น ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2559 จึงมีการวางแผนผ่าตัดเปิดแผ่นเหงือก และสรุปแนวทางการรักษาเบื้องต้น และค่าใช้จ่ายโดยประมาณจำนวน 800,700 บาท คำเบิกความของโจทก์ที่ว่า โจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิดและผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ระหว่างการรักษาโรคเหงือกนั้นจึงมีน้ำหนักรับฟัง และไม่เชื่อว่าโจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิด และผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้กำหนดค่าเสียหายในส่วนการผ่าตัดขากรรไกรบนและล่างจำนวน 250,000 บาท ชอบหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ตามคำเบิกความของ ก. พยานจำเลยอ้างทำนองว่าสาเหตุที่โจทก์เป็นเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์เกิดจากการทำความสะอาดในช่องปากของโจทก์ไม่ดีเพียงพอ ไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่ตามคำเบิกความของจำเลยและ ก. ได้ความว่า ขณะเริ่มจัดฟันจำเลยไม่ได้ถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันของโจทก์ โดยจำเลยเบิกความว่าเหตุที่ไม่ทำการถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันของโจทก์เนื่องจากเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และคลินิกของจำเลยไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งตามคำเบิกความของรองศาสตราจารย์ น. ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ม. ว่า โดยปกติคนไข้ที่ประสงค์จะจัดฟันต้องมีการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ก่อนจัดฟัน หากทันตแพทย์ไม่เอกซ์เรย์ก่อนทันตแพทย์ต้องรับความเสี่ยงและคนไข้ก็ต้องรับความเสี่ยงด้วย แสดงให้เห็นว่า การที่จำเลยจัดฟันให้แก่โจทก์โดยไม่มีการถ่ายภาพเอกซ์เรย์เพื่อเก็บประวัติก่อนการรักษา จะมีความเสี่ยงในการรักษา อีกทั้งจำเลยให้การว่าโจทก์ทราบอยู่แล้วว่า โจทก์เป็นโรคเหงือกแต่ก็มาจัดฟันกับจำเลย หากเป็นจริงดังที่จำเลยให้การ จำเลยก็ย่อมต้องทราบว่าโจทก์เป็นโรคเหงือกด้วยเช่นกัน และการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ก่อนเพื่อให้ทราบว่าโจทก์เป็นโรคเหงือกยิ่งมีความสำคัญก่อนการจัดฟัน แต่คำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ของจำเลยอ้างว่าจำเลยถ่ายภาพเอกซ์เรย์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของโจทก์ อันเป็นการผิดวิสัยของผู้เป็นแพทย์พึงกระทำ นอกจากนี้ตามคำเบิกความของพยานจำเลยยังได้ความด้วยว่า หลังจากการจัดฟัน โจทก์มาพบที่คลินิกตามนัด และ ก. ทำความสะอาดและขูดหินปูนให้โจทก์ แต่ตามสำเนาเวชระเบียนและบันทึกการรักษา กลับไม่ปรากฏว่ามีการขูดหินปูนให้โจทก์แต่อย่างใด แม้ ก. จะอ้างว่า ในบางครั้งจะไม่ระบุว่ามีการขูดหินปูนในเวชระเบียนและบันทึกการรักษาเนื่องจากไม่ได้คิดค่ารักษาเนื่องจากเป็นการคิดค่ารักษาแบบเหมาจ่ายจึงไม่ได้คิดค่ารักษา ก็เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาและไม่บันทึกประวัติการรักษาในเวชระเบียนและบันทึกการรักษา และตามคำเบิกความของรองศาสตราจารย์ น. ได้ความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนยาง ทันตแพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติของเหงือกและเห็นหินปูนที่สะสมอยู่ ดังนั้น หากจำเลยตรวจช่องปากโจทก์ทุกครั้งที่โจทก์มาพบตามนัด จำเลยย่อมสังเกตเห็นได้ถึงความผิดปกติของเหงือกและหินปูน หากสงสัยว่าอาการผิดปกติดังกล่าวมีความรุนแรงจำเลยก็จำเป็นต้องส่งตัวโจทก์ไปถ่ายภาพเอกซ์เรย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาได้ทันท่วงที ตามคำเบิกความของจำเลยอ้างว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยเพิ่งตรวจพบว่า โจทก์มีอาการเหงือกอักเสบและมีหนอง จำเลยเพียงแต่แนะนำให้โจทก์อมน้ำอุ่นผสมเกลือบ้วนปากเพื่อลดการบวมของเหงือก และจำเลยได้ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยขูดรากฟัน เกลารากฟันให้โจทก์ และแนะนำให้ดูแลรักษาความสะอาด ไม่ได้ให้ยาแก้อักเสบและไม่ได้ทำการถ่ายภาพเอกซ์เรย์ แต่ตามเอกสาร ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ไม่ปรากฎว่ามีการรักษาโรคปริทันต์แต่อย่างใด คงมีเพียงการเปลี่ยนยางจัดฟัน แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นโจทก์มีอาการปริทันต์หรือเหงือกอักเสบอยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว จำเลยควรจะตรวจพบแล้วแต่ไม่ได้รักษาหรือส่งตัวไปให้แพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษา และยังคงทำการจัดฟันต่อไป จนต่อมาโจทก์ต้องไปพบทันตแพทย์ ห. ที่คลินิกทันตกรรม อ. และทันตแพทย์ ห. ถ่ายเอกซ์เรย์และแนะนำให้ถอนฟันออก และแนะนำให้กลับไปปรึกษากับจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจดูแล และวันที่ 27 มิถุนายน 2559 โจทก์ไปพบกับจำเลยอีกครั้งพร้อมกับใบส่งตัวและภาพถ่ายเอกซ์เรย์ จำเลยแจ้งว่าให้ถอนฟันออก 2 ซี่ ยุติการจัดฟันและถอดเครื่องจัดฟัน แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างระยะเวลาที่พบอาการเหงือกอักเสบในช่องปากของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นทันตแพทย์ผู้ดูแลรักษาไม่ได้ใส่ใจหรือใช้ความระมัดระวังตามสมควรของวิชาชีพทันตแพทย์ จนเป็นเหตุให้อาการของโจทก์ลุกลาม การที่โจทก์ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทันตกรรม กับต้องผ่าตัดในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 และรักษาตัวต่อเนื่องหลังจากนั้น เกิดจากการรักษาของจำเลยที่ต่ำกว่ามาตรฐานของวิชาชีพทันตกรรม อันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยจำเลยฎีกาทำนองว่า ค่าปลูกกระดูกบริเวณฟันหน้าบนและค่าเสริมกระดูกเทียม ไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย การสูญเสียกระดูกบริเวณรอบรากฟันอยู่ในความรู้เห็นเฉพาะของจำเลย และจำเลยมีภาระการพิสูน์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งตามคำเบิกความของจำเลยและ ก. พยานจำเลยอ้างเป็นทำนองว่าสาเหตุดังกล่าวเกิดจากโจทก์ไม่ดูแลรักษาความสะอาด ไม่ได้เกิดจากการจัดฟัน แต่ตามคำเบิกความของจำเลยและพยานจำเลยดังกล่าว ไม่มีพยานสนับสนุนว่าสาเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการจัดฟันด้วย แม้ตามคำเบิกความของทันตแพทย์ ผ. พยานโจทก์รับว่าการสูญเสียกระดูกดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากการจัดฟันอย่างเดียว อาจเกิดจากปัจจัยอื่นก็ได้แต่ก็ตอบคำถามค้านทนายจำเลยด้วยว่า หากคนไข้ใส่เครื่องมือจัดฟันแล้วทำความสะอาดไม่เพียงพอก็เป็นเหตุปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดโรคได้เท่านั้น ลำพังโจทก์ไม่ดูแลรักษาความสะอาดจึงไม่น่าก่อให้เกิดโรคได้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ค่าปลูกกระดูกบริเวณฟันหน้าบนและค่าเสริมกระดูกเทียมไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระค่าปลูกกระดูกบริเวณฟันหน้าบนเป็นเงิน 35,000 บาท และค่าเสริมกระดูกเทียมเป็นเงิน 51,000 บาท ด้วยนั้นจึงชอบแล้ว ส่วนค่าผ่าตัดขากรรไกรบนและล่าง ตามคำเบิกความของโจทก์ก็รับว่า สภาพฟันของโจทก์มีการจัดฟันผิดปกติมีลักษณะฟันล่างครอบฟันบน ช่องการตรวจข้อ 2 ระบุว่า โครงสร้างกระดูกขากรรไกรล่างยื่นมากกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถใส่ฟันเทียมที่บริเวณฟันหน้าบนในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ และในช่องลำดับการรักษาข้อ 4 ผ่าตัดขากรรไกรบนและล่างเพื่อให้มีความสัมพันธ์ของขากรรไกรเป็นปกติ จึงฟังได้ว่า โจทก์มีปัญหาขากรรไกรบนและล่างมาก่อนการจัดฟันกับจำเลย แม้ในการใส่ฟันเทียมหน้าบน แพทย์จะต้องผ่าตัดขากรรไกรบนและล่างให้มีความสัมพันธ์กัน แต่เหตุดังกล่าวไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4269/2565 แม้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจะมิได้ยกปัญหาว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นอ้างในคำให้การ แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252 โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารคอนโดมิเนียมพิพาทและผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมเพื่อก่อสร้างเสาเข็มทำฐานรากอาคารและก่อสร้างอาคารสูง 37 ชั้น ทำให้อาคารเรียนของโจทก์เสียหายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ครู นักเรียน และบุคลากรของโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าประสงค์ให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใครและมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำการก่อสร้างคอนโดมิเนียมพิพาท ก็ไม่มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยตามมาตรา 428 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์อ้างว่าก่อนวันนัดสืบพยาน โจทก์มอบหมายให้วิศวกรทำการตรวจสอบความเสียหายของอาคารเรียนของโจทก์พบว่ามีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมโดยเพิ่มทุนทรัพย์ที่พิพาทภายหลังจากวันชี้สองสถานได้ ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้เกี่ยวข้องพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 และมาตรา 180เมื่อกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตามขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างตามที่ระบุไว้ในรายงานต้องดำเนินการภายใต้การตรวจสอบควบคุมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายซึ่งมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องชุมชนหรือบุคคลอื่น ๆ การที่จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ฝ่าฝืนไม่กระทำการตามที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว และเกิดความเสียหายขึ้นแก่อาคารเรียนของโจทก์ พื้นรอบอาคารรวมถึงรั้วกำแพงคอนกรีต โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 422การก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดเสียงดัง แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละอองปลิวเข้ามาในห้องเรียน โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนย่อมได้รับความเสียหายและมีสิทธิฟ้องเรียกให้ฝ่ายจำเลยรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ร่วมรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการขุดเจาะเสาเข็มและการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมของจำเลยทั้งกระบวนการนับตั้งแต่การเริ่มรื้อถอนอาคารหลังเดิมไปจนก่อสร้างแล้วเสร็จรวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าว อันเป็นกรณีที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างทุกขั้นตอนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายเดียวกันแก่โจทก์ ไม่อาจแบ่งแยกความเสียหายว่าเกิดจากการกระทำละเมิดในขั้นตอนการก่อสร้างตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้ ส่วนจำเลยแม้มิใช่ผู้ทำการก่อสร้าง แต่ในฐานะเจ้าของโครงการย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบมิให้การทำงานก่อสร้างก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น แม้จำเลยจะว่าจ้างบุคคลใดทำการก่อสร้าง แต่จำเลยยังต้องควบคุมดูแลบุคคลผู้ทำการก่อสร้างผ่านข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ทำการก่อสร้าง ปัญหาระหว่างการก่อสร้างโครงการของจำเลยย่อมถือว่าอยู่ในความรับรู้และรู้เห็นของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลตรวจสอบควบคุมมิให้การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เมื่อการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 422 จำเลยจึงต้องร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด หากแต่เป็นเพียงผู้รับประกันภัยที่ต้องรับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยต่อโจทก์ จำเลยร่วมที่ 2 จึงยังมิได้เป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันกระทำละเมิด แต่เมื่อมีการขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยร่วมที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงให้ความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยร่วมที่ 2 นับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดี ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 142 (5)อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดีหาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลล่างทั้งสองแทนโจทก์รวมกัน 320,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.39 โดยประมาณจากทุนทรัพย์ 81,825,000 บาท จึงไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงสำหรับคดีมีทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 5 ในศาลชั้นต้น และร้อยละ 3 ในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ.
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4254/2565 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีอาญาแล้ว โจทก์ได้นำเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ ไปยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่ง เพื่อเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมที่มีมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ แต่ศาลในคดีแพ่งวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญากู้ยืม และไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืม สัญญากู้ยืมจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ในคดีอาญาโจทก์จึงต้องฟังได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ ไม่ใช่หนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4245/2565 เช็คพิพาททั้งสามฉบับมีดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมกับต้นเงินไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายให้เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับไม่ได้ เช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงไม่ใช่การชำระหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ปรากฎจากทางนำสืบของโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังคำรับสารภาพของจำเลยประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ลงโทษจำเลย อีกทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีว่า ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ให้ศาลยกฟ้องปล่อยจำเลยไป ซึ่งการพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นก็ตาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2565 คดีเดิมบริษัท จ. ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายเนื่องจากบริษัท จ. ไม่สามารถนำที่ดินที่ซื้อมาจากจำเลยทั้งสองไปขายบุคคลอื่นได้เพราะถูกยึดไว้ตามหมายบังคับคดี และได้หมายเรียกโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม แม้ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจะพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสองและโจทก์ในฐานะจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อบริษัท จ. ในหนี้จำนวนเดียวกัน และเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 บัญญัติว่า ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แต่ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ร่วมต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าลูกหนี้ร่วมแต่ละคนนั้นมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างไรและเพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมได้ความว่าจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ตรวจดูว่าที่ดินที่ซื้อขายถูกยึดไว้หรือไม่ ประกอบกับคดีที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ถูกฟ้องเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งที่มีหนังสือแจ้งการยึดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยทั้งสองถูกฟ้องฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์คดีนี้มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่าที่ดินเคยถูกยึดไว้ตามหมายบังคับคดีก่อนที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่บริษัท จ. หรือมีพฤติกรรมใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองน่าจะทราบเรื่องดังกล่าวและปกปิดไม่แจ้งเรื่องให้บริษัท จ. ทราบ อันจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท จ. ด้วย จึงฟังได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว การชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่บริษัท จ. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิม จึงเป็นการชำระหนี้ในส่วนที่โจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายเองทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัท จ. ที่จะมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยทั้งสองได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4241/2565 ผู้ตายทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ. นำค่าเช่าบ้านไปชำระหนี้สิ้นที่ผู้ตายติดค้าง พ. โดยทยอยผ่อนชำระจากเงินค่าเช่าบ้าน หากชำระไม่ได้เพราะไม่มีค่าเช่าต่อเนื่องหรือผู้ตายถึงแก่ความตายให้ พ. ขายบ้านได้ แม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะมีข้อความว่าหรือข้าพเจ้าถึงแก่ความตายก็ตาม ข้อความนี้ก็เป็นเพียงขยายความว่ากรณีไม่มีเงินค่าเช่าต่อเนื่องก็ให้ขายบ้านเช่านำเงินมาชำระ การตายของผู้ตายที่ระบุไว้เป็นเพียงเหตุหนึ่งที่ต้องขายบ้านเช่า ประกอบกับผู้ตายเคยทำพินัยกรรมมาก่อน หากผู้ตายมีเจตนาจะทำพินัยกรรมก็มีความสามารถจะทำพินัยกรรมได้ไม่จำต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ ถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ไม่มีข้อความหรือแปลความได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ใช่พินัยกรรม เมื่อจำเลยเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมย่อมโอนที่ดินและบ้านมาเป็นของตนได้โดยชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4240/2565 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ดินพิพาทเป็นถนนที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีขึ้นเป็นสาธารณูปโภคเพื่อการจัดสรรที่ดิน จึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ซึ่งจำเลยที่ 1 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดสรรที่ดิน และ ป.พ.พ. มาตรา 1390 แต่จำเลยที่ 1 และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ย่อมเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปและมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เพียงแต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทและมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้ต่อมาขณะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ได้มี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งมาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ เช่นเดียวกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และมีบทเฉพาะกาล มาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า การพ้นจากความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามลำดับ ดังต่อไปนี้ ...(3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ดังนี้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการเพื่อให้พ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่แตกต่างจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงต้องใช้พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ แต่เมื่อตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 70 วรรคสาม ให้นํามาตรา 44 (เดิม) มาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ที่บุคคลต่าง ๆ มีอยู่ก่อนแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ประกอบด้วย การนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่า ให้ใช้บังคับเท่าที่จะบังคับได้ เมื่อตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง กำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินมีอำนาจอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 44 (เดิม) บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคเมื่อได้โอนทรัพย์สินให้เป็นสาธารณประโยชน์ การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์จึงชอบแล้ว แม้บุคคลทั่วไปนอกจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรสามารถใช้สอยที่ดินพิพาทในฐานะเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ แต่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมได้เป็นปกติดังเดิม ไม่ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแต่ประการใด จึงไม่ขัด ต่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4238/2565 เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเป็นงวด ๆ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อมีความรับผิดในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อมีการชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระ เพื่อนำส่งกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อต้องชำระค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดตามสัญญา ดังนั้น ในขณะที่จำเลยทั้งสองออกเช็คแต่ละฉบับเพื่อชำระค่าเช่าซื้อในแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ มูลหนี้ตามเช็คแต่ละฉบับจึงมีมูลหนี้ค่าเช่าซื้อและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4217/2565 โจทก์ร่วมอายุ 10 ปีเศษ ถูกจำเลยล่วงละเมิดทางเพศ มิได้ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมต้องกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีเป็นบิดาต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดาโจทก์ร่วมหย่าขาดกับมารดาโดยให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า บิดาโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมโดยบิดาโจทก์ร่วมขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตนั้น มิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ว่าจะยกฟ้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่จะสั่งให้แก้ไขความบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์หรือฎีกา และจำเลยเพิ่งฎีกาขึ้นมา และคดีไม่อาจทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่เปลี่ยนแปลงไป การจะสั่งให้แก้ไขอำนาจฟ้องของโจทก์ร่วมให้ถูกต้องเสียก่อนในกรณีนี้จึงไม่จำเป็นเพราะไม่เกิดประโยชน์อย่างใดโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวม 2 ฉบับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องของโจทก์ร่วมโดย ส. ซึ่งเป็นบิดา แต่ไม่รับคำร้องอีกฉบับของโจทก์ร่วมโดย พ. ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา ทั้งโจทก์ร่วมโดย พ. ยังเคยขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีส่วนแพ่งด้วย ต้องถือว่า พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วม ได้ให้ความยินยอมตามคำร้องของโจทก์ร่วมโดย ส. ฉบับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องแล้ว จึงไม่ต้องมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์ร่วมแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4184/2565 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ออกใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภคภายใต้หลักการให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับ สำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจําเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จําเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะ เช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญา ข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จําต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2565 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จำเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะเช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จำต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2565 ศาลล้มละลายกลางอ่านคําพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ให้พิทักษ์ทรัพย์จําเลยเด็ดขาด ดังนั้น นับแต่จําเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจําเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) จําเลยจึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจําเลยได้อีก การที่จําเลยยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลจังหวัดพัทยา และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งต่าง ๆ ของศาลชั้นต้นอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจําเลยจะยื่นคําร้องขอเข้าว่าคดีแทนจําเลยและขอให้พิจารณาคดีต่อไป ก็หาทำให้กลับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลังไม่ จําเลยจึงไม่มีอำนาจยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179 - 4180/2565 ขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและการออกหนังสือนัดประชุมตามมาตรา 42/2 (3) และมาตรา 42/3 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 นอกจากคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้ว ระยะเวลาตามกฎหมายในการเรียกประชุมใหญ่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมด้วย หากไม่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่ได้โดยชอบตามมาตรา 42/3 ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้แทนเจ้าของร่วมอาคารชุดต้องรอให้ล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมก่อนจึงจะออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ ต่างจากกรณีที่ผู้ถือหุ้นร้องขอต่อกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173, 1174 ขั้นตอนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ขัดหรือแย้งกับ ป.พ.พ. จึงต้องใช้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 จึงต้องจัดส่งหนังสือเรียกประชุมให้เจ้าของร่วมอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงจะเป็นการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบ การที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือเรียกประชุม ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบและต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2565 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์สละมรดกของ ต. โดยไม่ได้รับความยินยอมของ ม. มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อันเป็นการมิชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1611 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดการแบ่งมรดกโดยโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งการจัดการมรดกดังกล่าวเป็นการจัดการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141 - 4142/2565 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน และเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องทั้งสองสำนวนก็เป็นจำนวนเดียวกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องในสำนวนแรก แม้ในสำนวนหลังโจทก์ฟ้องข้อหาสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเข้ามาด้วยแต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวกับข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเอง ซึ่งโจทก์สามารถขอแก้ฟ้องด้วยการเพิ่มเติมข้อหาดังกล่าวในสำนวนแรกได้อยู่แล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นสำนวนหลังว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกับสำนวนแรกย่อมเป็นการใช้สิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองครั้งในการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์สำนวนหลัง จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2565 จำเลยได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 10 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ฉะนั้นในวันที่ 29 มกราคม 2557 และวันที่ 20 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยจึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2512 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนกรณีบัตรชำรุดโดยแจ้งข้อมูลว่าจำเลยเกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2511 สัญชาติไทย พร้อมเลขประจำตัวประชาชนของ จ. แม้ที่จำเลยแจ้งว่ามีสัญชาติไทยไม่เป็นความเท็จ แต่การที่จำเลยแจ้งว่าเกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2511 นั้น เป็นความเท็จเพราะจำเลยเกิดวันที่ 1 มกราคม 2512 และจำเลยยังใช้เลขประจำตัวประชาชนของ จ. โดยอ้างว่าจำเลยชื่อ จ. เป็นบุตร ย. และ ส. ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ. มาตรา 137 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตาม ป.อ. มาตรา 267 และฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนกรณีบัตรชำรุด ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2565 ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 123 ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ. 2555 และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ข้อ 5 กำหนดว่าให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามอัตราค่าป่วยการท้ายระเบียบ ดังนี้ (1) ในกรณีที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้กำหนดตามบัญชี 1 และตามวรรคสอง กำหนดว่า “…ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ คดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว คดีที่ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษา หรือคดีเสร็จไปโดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษา...” และวรรคสาม กำหนดว่า “ทั้งนี้ ให้กำหนดเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว” ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพทั้งยังเป็นคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวที่ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้ได้ตามระเบียบ ข้อ 5 (1) วรรคสอง แต่ต้องอยู่ในบังคับแห่งวรรคสามที่ศาลจะกำหนดให้ได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลยแล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีจึงยังไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ร้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2565 ข้อตกลงของผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสแก่จำเลยในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น กรณีที่ผู้เสียหายจะไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย รวมถึงการถอนคำร้องทุกข์ก็เป็นเงื่อนไขที่ผู้เสียหายจะปฏิบัติในภายหน้าหากจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแต่อย่างใด ทั้งไม่มีผลเป็นการยอมความโดยชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยยังมิได้ใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับให้แก่ผู้เสียหาย และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 คดีจึงยังไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2565 จำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ และบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริมให้ผู้เสียหายที่ 2 ประพฤติตนไม่สมควร ก็เพื่อมุ่งประสงค์จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นความประสงค์มาแต่แรก การกระทำดังกล่าวจึงต่อเนื่องกันมาไม่ขาดตอน และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว และข้อหากระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนรวมกันมาในข้อเดียวกัน ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3), 78 ของจำเลย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2565 โจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท โดยให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่ ป.ที่ดิน มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเด็ดขาด เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 วรรคสอง เท่านั้น และในกรณีที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามมาตรา 94 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสามารถมีสิทธิในที่ดินได้ การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินและอาคารพาณิชย์ของโจทก์ไปขายฝากให้แก่จำเลยที่ 1 โดยพลการ ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และแม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทกับเรียกให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทคืนแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายอันจะมีสิทธิเรียกร้องให้กระทำได้ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินคืน ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทเป็นของโจทก์ และบังคับให้โจทก์จำหน่ายที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3844/2565 ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อให้รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงนี้ไว้พิจารณา แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาจำเลยดังกล่าวเสียเองจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามฎีกาและมีคำสั่งตามคำร้องขอรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าส่งศาลฎีกานั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง แม้คำร้องของจำเลยในทำนองว่าฎีกาของจำเลยมีข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาอันสำคัญอันควรแก่การพิจารณาก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 221 ดังนั้นศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้พิจารณา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2565 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ภริยาก่อขึ้นและเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) กรณีหาใช่โจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ใหม่) ประกอบมาตรา 150
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแสดงและมิได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแนบท้ายฎีกามาด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) การที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2565 เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนห้องชุดกึ่งหนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้ว ห้องชุดดังกล่าวกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้มาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสองห้องชุดพิพาททั้งสองห้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิใช่เป็นความบกพร่องของโจทก์ที่มิได้บรรยายฟ้องถึงฐานะแห่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ที่ขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ฟังว่าโจทก์มีคำขอบังคับตามลำดับโดยชัดแจ้งแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โดยชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ประกอบกับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเสียทีเดียว ฉะนั้น คนต่างด้าวจึงอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งจึงไม่ชอบ เพราะนอกจากโจทก์จะชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังไม่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2565 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องมิได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสาม ก็ชอบที่จะพิพากษาให้ผู้ร้องไปจดทะเบียนรับผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง เป็นการพิพากษาที่เกินคำขอและขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772/2565 แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ให้ถอนอำนาจปกครองบุตรของจำเลย และให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่โจทก์อันเป็นคำขอเช่นเดียวกับคำขอในคดีเดิม ซึ่งมีประเด็นว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของโจทก์หรือไม่ และมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองบุตรของจำเลยกับให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์หรือไม่ แต่ประเด็นในคดีเดิมที่ว่า ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของโจทก์หรือไม่ ศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเนื่องจากโจทก์ตกลงไม่ติดใจจดทะเบียนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และมิได้มีการตกลงยอมรับกันในประเด็นข้ออื่น อันพอจะถือได้ว่าศาลได้มีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยตกลงยุติคดีไม่ดำเนินการต่อในคดีเดิมเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีในคดีเดิมแล้ว ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 1547 ได้บัญญัติถึงเหตุที่ทำให้เด็กอันเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันว่าจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร รวม 3 กรณีด้วยกัน ถึงแม้ว่าคดีเดิมโจทก์ไม่ติดใจจดทะเบียนผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่ยังมีกรณีที่ผู้เยาว์ทั้งสองจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้โดยคำพิพากษาของศาล การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์ทั้งสอง มิใช่การรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ทั้งคำฟ้องคดีนี้มิใช่คำฟ้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเดิม อันจะต้องยื่นต่อศาลเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2565 คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 7 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 มีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 2 ถึงที่ 9 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 นั้น ก็ล้วนเป็นการอ้างถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 1 เว้นแต่ข้อที่ 9 ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 8 อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่ามีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เช่นกัน ดังนี้ ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 9 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว สำหรับข้อถือสิทธิข้อที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 ซึ่งมีครีบยื่น (8) มีลักษณะเป็นครีบเฉียงนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลต่อองค์ประกอบสำคัญของการประดิษฐ์ ไม่ทำให้การทำงานต่างไปจากเดิม เมื่อพิจารณาข้อถือสิทธิทั้งหมดโดยรวมแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ไม่แตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลอาจถอดแยกออกจากกันได้โดยปรับปรุงให้ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลกลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกันนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพียงเล็กน้อยโดยไม่ทำให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2565 คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ โดยหลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบตามมาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยโจทก์ยังคงโต้แย้งว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ ตามที่มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ โดยหลังจากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ก็มีการแจ้งคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบโดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมอีก ทั้งคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วน การสอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 65 ฉ วรรคสี่ จึงเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย่อมมิใช่เป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3764/2565 คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนตัน หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงข้อที่ 8 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใด้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า คดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 5 และข้อที่ 9 ถึงที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ “BG 960 U1” อันงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 นั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ “BG 960 U1” ก็ตาม แต่เมื่อข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเมื่อนำข้อถือสิทธิทุกข้อมาพิจารณารวมกันทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มิได้แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตร์เลขที่ 5116 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตร์ดังกล่าวจึงชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2565 ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินเฉพาะส่วน โดยแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน พร้อมกับขอให้กันส่วนที่ดินเฉพาะส่วนซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องออกจากที่ดินก่อนมีการขายทอดตลาด แม้ตามคำร้องจะใช้คำว่าขอให้กันส่วนที่ดินของตน แต่จากเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องประสงค์ขอให้ปล่อยที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่ครอบครองเป็นสัดส่วนก่อนมีการขายทอดตลาด อันเป็นการร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 วรรคหนึ่ง ซึ่งถือเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเท่ากับว่าได้ยื่นคำฟ้องต่อศาล อันมีผลให้คดีร้องขัดทรัพย์เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 173 วรรคสอง โดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องเสียก่อน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งว่า คำร้องขัดทรัพย์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวน ให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องจึงจะมีคำสั่งคำร้องโดยให้ผู้ร้องชำระให้ครบถ้วนภายใน 7 วัน แสดงว่าคำร้องของผู้ร้องยังคงมีอยู่ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่และให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลแล้วให้ตั้งสำนวนเป็นคดีร้องขัดทรัพย์ก็เป็นเพียงคำสั่งเกินเลยจากคำแถลงของผู้ร้องที่ขอชำระค่าขึ้นศาลตามราคาประเมินเท่านั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนและคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่ จึงมิใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ซึ่งผู้ร้องต้องทำคำโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3690/2565 คดีก่อน ธนาคาร ศ. เป็นโจทก์ฟ้อง ธ. กับพวกรวม 6 คน ให้รับผิดเรื่อง ยืม ค้ำประกัน จำนอง แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความว่า จำเลยทั้งหกตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้บังคับยึดที่ดินทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม กรณีถือได้ว่า ประเด็นแห่งคดีได้รับการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอมนั้น การที่จำเลยทั้งหกในคดีดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประยอมความข้างต้นเป็นเรื่องที่ธนาคาร ศ. รวมถึงโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิ เป็นคู่ความแทนชอบที่จะต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีในคดีเดิม ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัท ส. ซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคาร ศ. อีกทอดหนึ่ง ประสงค์ที่จะบังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ เพียงใด คำฟ้องของโจทก์กรณีนี้หาใช่เป็นคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาแต่อย่างใดไม่ เมื่อความปรากฏว่าทรัพย์จำนองในคดีก่อนและคดีนี้เป็นทรัพย์จำนองรายเดียวกัน และโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัท ส. ซึ่งรับโอนมาจากธนาคาร ศ. โจทก์เดิมอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันในคดีก่อนซึ่งมีคำพี่พากษาถึงที่สุดแล้ว รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องช้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2565 เดิมโจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนด้วย โจทก์ย่อมเป็นผู้สืบสิทธิที่อยู่ในฐานะเดียวกันกับธนาคาร น. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน เมื่อคดีก่อน โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวอีกต่อไป การที่โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อน นำคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก ถือว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว และประเด็นที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์เดิมในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองโดยวินิจฉัยว่าโจทก์เดิมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและมีสิทธิบังคับจำนอง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองเดียวกันอีก คดีนี้จึงมีประเด็นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระหนี้และบังคับทรัพย์จำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินพิพาทได้ระงับสิ้นไป สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินยังคงมีอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3687/2565 โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว คู่สัญญาจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมหลังจากที่มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสองยินยอมอนุญาตให้โจทก์เข้าพัฒนาที่ดินได้ทันทีและโจทก์ก็เข้าพัฒนาที่ดินโดยการปรับที่ดิน ถมดิน ก่อสร้างถนนและท่อระบายน้ำอันเป็นสาธารณูปโภคบ้างแล้ว ถนนและท่อระบายน้ำดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดินที่จะซื้อจะขายกันอันเป็นประโยชน์ในการจัดสรรต่อไป กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้มาซึ่งทรัพย์คือถนนและท่อระบายน้ำที่โจทก์ก่อสร้างขึ้นนั้น โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ ลักษณะลาภมิควรได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ แต่เมื่อสภาพทรัพย์ดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะตรึงตรากับที่ดินอย่างถาวร โดยสภาพย่อมไม่อาจคืนทรัพย์นั้นได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนโดยใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2565 พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของโจทก์ตามแบบแจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-44) สอดคล้องกับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี จำเลยจึงชอบที่จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (1) วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ประกาศกำหนดมูลค่าของสินค้าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีได้ มูลค่าของสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีต้องกำหนดจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของสินค้าในตลาดปกติ กล่าวคือ พิจารณาจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของเครื่องดื่มน้ำอัดลมในตลาดปกติโดยส่วนใหญ่ตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งพยานจำเลยเบิกความถึงหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติในการพิจารณาเพื่อหาราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติว่าพิจารณาจากสัดส่วนเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกของสินค้า คือ ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติของเครื่องดื่มไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 75 ของราคาขายปลีก หากน้อยกว่า จำเลยอาจประกาศกำหนดมูลค่าสินค้าได้ เป็นไปตามหนังสือกรมสรรพสามิต ลับมาก ด่วนมาก ที่ กค 0622/190 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ที่มาจากการศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมของราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมขายไปจริง ราคาขายปลีกในท้องตลาด และข้อมูลจากงบการเงินของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำอัดลมและถัวเฉลี่ยตามหลักวิชาแล้วสรุปว่า สัดส่วนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่อราคาขายปลีกไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 75 และจำเลยได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติในการหาราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติและประกาศกำหนดมูลค่าสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งในการออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ 1/2556) ลงวันที่ 8 มกราคม 2556 แสดงว่าจำเลยได้ประกาศกำหนดมูลค่าของสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมของโจทก์ โดยพิจารณาจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติตามสภาพความเป็นจริงของลักษณะการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำอัดลม และอาศัยการเปรียบเทียบต้นทุน ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายปลีกแนะนำ และราคาขายปลีกของผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายอื่นกับโจทก์ การออกประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าวจึงชอบแล้วจำเลยพิจารณาราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของโจทก์เปรียบเทียบกับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเดียวกันรายอื่นก่อนมีหนังสือทบทวนราคาขายไปยังโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้แสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ทราบข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ว่าสัดส่วนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่อราคาขายปลีกของโจทก์ต่ำกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายอื่นและจำเลยจะพิจารณาออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่ม โจทก์ก็สามารถส่งเอกสารเพื่อโต้แย้งหรือพิสูจน์ที่มาของรายละเอียดโครงสร้างราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้หนังสือขอให้ทบทวนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ออกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ส่วนประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ 1/2556) ออกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 โจทก์จึงมีเวลาในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานต่อจำเลยนานถึง 2 เดือนเศษก่อนที่จำเลยจะออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควร ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 29 และมาตรา 30 ประกาศของจำเลยมีการระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิง คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 8 (1) วรรคสาม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง (2) แม้ประกาศของจำเลยจะมิได้แสดงให้ชัดเจนว่าการกำหนดมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยคำนวณจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติของสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลม เป็นการกำหนดจากต้นทุนประเภทใด ที่ราคาเท่าใด บวกกำไรในอัตราเท่าใด หรือราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติคือราคาใดและมีที่มาอย่างไรตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ทราบข้อเท็จจริงตามหนังสือขอให้ทบทวนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมแล้วว่า จำเลยได้เปรียบเทียบราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายปลีกที่แนะนำตามแบบแจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-44) กับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายปลีกที่แนะนำของผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายอื่นในสินค้าประเภทเดียวกัน และพบว่าสัดส่วนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่อราคาขายปลีกของโจทก์ต่ำกว่ารายอื่น ซึ่งหากไม่มีเหตุผลอันสมควร จำเลยอาจออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มต่อไป โจทก์จึงทำหนังสือชี้แจงและส่งหลักฐานเพื่อประกอบการชี้แจงทั้งสามครั้งได้ ประกอบกับหลังจากจำเลยประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มแล้ว โจทก์ก็อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เมื่อพิจารณาเนื้อหาในอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของโจทก์ ก็พบว่าโจทก์สามารถทำคำอุทธรณ์โดยแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลต่าง ๆ เพื่อโต้แย้งการกำหนดมูลค่าสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมตามประกาศได้อย่างละเอียดพร้อมเหตุผล ถือว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงและข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนซึ่งเป็นเหตุผลในการออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มดังกล่าวแล้ว จึงเป็นกรณีที่เหตุผลในการออกคำสั่งทางปกครองเป็นที่รู้กันอยู่แล้วไม่จำต้องระบุอีกตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2565 ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ ส. ขณะเกิดเหตุได้ให้ อ. เช่าช่วงรถไปโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วงซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงจำนวน 22 คัน ส. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกขนหินว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง ส. ขับรถขนหิน สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ที่ระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทาง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้าง ส. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านจึงมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ส. จะกระทำความผิดและมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้าน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3646/2565 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมีข้ออ้างและคำขออย่างเดียวกันมาพร้อมกับฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งไปแล้ว การที่จำเลยยังคงฎีกาในประเด็นดังกล่าวโดยขอให้ศาลฎีกาส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและรอการพิพากษาคดีไว้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ในคำสั่งข้อ 6 เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเห็นว่าเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดแนวนโยบายการปฏิบัติงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินเท่านั้น คำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายอยู่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าทำประโยชน์ก่อนหรือหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยไม่อาจที่จะอ้างคำสั่งดังกล่าวว่าตนได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุมาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เพื่อลบล้างความผิดของจำเลยได้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขณะนั้นจำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซี่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว การกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงชอบที่จะต้องนำ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาในส่วนนี้ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2565 บัญชีและบัตรเอทีเอ็มเป็นของญาติใกล้ชิดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น และจำเลยที่ 1 เองก็เคยใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชี จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ว่ามีการใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มกระทำความผิด โดยเฉพาะก่อนที่จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติด้วยตัวเอง มีการถอนเงินจากบัญชีหลายวันติดต่อกันทุกวัน และหลังจากจำเลยที่ 1 ถอนเงินแล้วก็ยังมีการถอนเงินในวันรุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันครอบครองบัตรเอทีเอ็มไว้ตลอดเวลาเพื่อถอนเงิน และจำเลยที่ 1 ย่อมรับรู้การกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ในการรับโอนเงินและถอนเงินแต่ละครั้งด้วย ไม่ว่าพวกของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถอนเงิน หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้พวกของจำเลยที่ 1 ถอนเงิน พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมในการรับโอนเงินและถอนเงินทุกครั้งโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดทุกกระทงตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3626/2565 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 หมายถึงให้คู่ความหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับดำเนินการขอรับเงินดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดห้าปี หากไม่ดำเนินการขอรับไปภายในห้าปีนับแต่คดีถึงที่สุด เงินดังกล่าวยังคงค้างจ่ายอยู่ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดทำระบบบัญชีการเงินต่าง ๆ ของศาลและการนําเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและสั่งคืนค่าขึ้นศาล 10,000 บาท แก่โจทก์ โดยทนายโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์มาศาลจึงถือว่าทราบคำสั่งในวันดังกล่าวแล้ว ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2558 โจทก์ยื่นคําแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจคืนและออกเช็คคืนค่าขึ้นศาลแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับ แสดงว่าเงินค่าขึ้นศาลที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้คืนแก่โจทก์ยังค้างจ่ายอยู่ในศาล เมื่อโจทก์เพิ่งมาแถลงขอรับเงินดังกล่าวในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จึงพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ดังนั้น หากนับระยะเวลาดังที่โจทก์อ้างว่าเมื่อศาลอนุญาตแล้วจะมารับเมื่อใดก็ได้ จะทำให้ระยะเวลาการรับเงินยืดเยื้อออกไปไม่สิ้นสุด ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ทนายโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ยื่นคําแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเอาเงินค้างจ่ายภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและต้องเริ่มนับระยะเวลาสิทธิการเรียกเอาเงินค้างจ่ายนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินตามคำสั่งอนุญาตของศาลนั้น เป็นฎีกาข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3623/2565 จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทรวม 13 ฉบับ ให้แก่ ย. ย. จึงเป็นบุคคลที่มีเช็คไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน ย. จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ประกอบมาตรา 988 (4) แม้ ย. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการรับเช็คพิพาทมาก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าขณะที่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2565 แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตรงกับเอกสารที่แนบท้ายสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.11 และตรงกับเอกสารหมาย ล.19 ที่ออกเอกสารวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหน้า 44 ระบุว่า ในปี 2561 โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 นอกจากนี้ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาสมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามมาตรา 1024 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท อ. มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทำการเปลี่ยนหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ย่อมมีผลกระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3603/2565 ในการร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารชุดเพื่อขายนั้น โจทก์ ร. พ. และ ท. เป็นพี่น้องกันและได้ร่วมกันลงทุนกับจำเลยที่ 2 โดยฝ่ายจำเลยที่ 2 ตกลงลงทุน 25,000,000 บาท ส่วนโจทก์และพี่น้องตกลงลงทุน 25,000,000 บาท บ่งชี้ว่า การร่วมลงทุนดังกล่าวแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 2 โดยฝ่ายโจทก์มี ร. เป็นกรรมการที่มีอำนาจทำการผูกพันบริษัท ฝ่ายจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการที่มีอำนาจทำการผูกพันบริษัท โดย ร. และจำเลยที่ 2 ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะมีอำนาจทำการผูกพันบริษัท แสดงว่า ร. และจำเลยที่ 2 ต่างเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทเพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายตน เมื่อโจทก์เป็นพี่น้องของ ร. และร่วมลงทุนเป็นฝ่ายเดียวกับ ร. จึงเป็นปกติที่โจทก์จะต้องคอยติดตามการดำเนินงานของบริษัทผ่านทาง ร. เชื่อว่าโจทก์ทราบดีถึงการกระทำของ ร. แต่โจทก์ไม่ได้คัดค้าน ดังนั้น เมื่อ ร. มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 2 และยินยอมให้มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในรายงานการประชุมวิสามัญ และงบการเงินของบริษัท อ. ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับ ร. รู้เห็นและยินยอมให้มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารดังกล่าวด้วย โจทก์จึงมีส่วนในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2565 เดิมผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ร. ผู้ตาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือพินัยกรรมของ ร. ฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2557 ซึ่งพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทตามพินัยกรรม และให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประกาศตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองโดยชอบ ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวของผู้ตาย มีคำขอบังคับให้เพิกถอนพินัยกรรม อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริง แต่ทำโดยการใช้กลฉ้อฉลและสำคัญผิด ตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องทั้งสองมิใช่ทายาทโดยธรรม หรือผู้มีส่วนได้เสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำคัดค้านว่ารับคำคัดค้าน สำเนาให้ผู้ร้องทั้งสอง จึงให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับดังต่อไปนี้ (1) ให้เริ่มคดีโดยการยื่นคำร้องขอต่อศาล ...(4) บุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่านี้มาเป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท...” ซึ่ง ป.วิ.พ. มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคดีมีข้อพิพาทไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 มาตรา 170 ถึงมาตรา 188 เมื่อคำคัดค้านของผู้คัดค้านมีคำขอบังคับเป็นประเด็นสำคัญสองประการคือ 1. ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนพินัยกรรมของผู้ตายโดยกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ด้วยเหตุการใช้กลฉ้อฉล และสำคัญผิด เท่ากับผู้คัดค้านโต้แย้งสิทธิโดยตรงต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน เพราะหากฟังได้ตามคำคัดค้านเท่ากับทายาทตามพินัยกรรมย่อมไม่ได้รับสิทธิที่ระบุไว้ในพินัยกรรม คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเท่ากับเป็นคำฟ้องต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน และเป็นฟ้องแย้งต่อผู้ร้องทั้งสองด้วย ทั้งกรณีจะถือว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นตัวแทนของทายาทตามพินัยกรรมทุกคนก็มิได้ เนื่องจากยังไม่มีการตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำคัดค้านต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคนและผู้ร้องทั้งสองเพื่อให้การต่อสู้คดี 2. ผู้คัดค้านมีคำขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียว เมื่อปรากฏตามบัญชีเครือญาติเอกสารท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่ายังมีทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่อีก 7 คน รวมถึงผู้ร้องสอดในคดีด้วย และอาจยังมีทายาทโดยธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฎ รวมถึงอาจมีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะเข้ามาในคดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทแล้ว ชอบที่จะสั่งให้ผู้คัดค้านส่งหมายนัดพร้อมสำเนาคำคัดค้านให้ทายาทโดยธรรมทุกคนตามรายชื่อที่ปราฏในขณะนั้น รวมถึงให้มีการประกาศสาธารณะคำคัดค้านเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่อาจมีได้ทราบและเข้ามาปกป้องสิทธิ กรณีถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นกรณีเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความและการพิจารณาคดี อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และ 252 เห็นควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2565 จำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัด ล. ซึ่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความใน ป.อ. เมื่อจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ล. ร่วมกับ น. เบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยทุจริต และร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำความผิด อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความในมาตรา 5 (1) (2) และมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำเลยจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2565 ตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานพนักงานรายเดือนและพนักงานรายวัน ข้อ 9 วินัยในการปฏิบัติงาน ข้อย่อยที่ 18 กำหนดว่า “ห้ามพนักงานทุกคนนํายาเสพติดผิดกฎหมาย.... เข้ามาในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงาน และพนักงานทุกคนต้องยินยอมให้บริษัทตรวจหาสารเสพติดได้ตลอดเวลาและทุกกรณีพนักงานที่ฝ่าฝืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจะพิจารณาโทษสูงสุดโดยการเลิกจ้าง” เมื่อยาเสพติดให้โทษเป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวม กฎระเบียบดังกล่าวของจําเลยย่อมมีเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่จะห้ามมิให้พนักงานทุกคนของจําเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่ากรณีใดๆ มิได้เฉพาะแต่การนําหรือพกพายาเสพติดเข้ามาในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยเท่านั้น แต่รวมถึงการเสพยาเสพติดแล้วเข้ามาปฏิบัติงานในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่จําเลยและผู้ปฏิบัติงานทุกคนในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยด้วย ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ในที่ทำงานหรือโรงงานของจําเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจําเลยจะพิจารณาโทษสูงสุดโดยการเลิกจ้างได้คดีนี้จําเลยสมัครใจเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ “ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม” ของศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยเสพยาเสพติด ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 ย่อมถือได้ว่า จําเลยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามหรือให้ความร่วมมือกับมาตรการใด ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของโครงการดังกล่าวด้วย เมื่อจําเลยมีคำสั่งให้โจทก์หยุดงานเพื่อไปดำเนินการบำบัดฟื้นฟูตามโครงการดังกล่าวในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐมในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2562 โดยโจทก์ก็ยินยอมเข้ารับการบําบัดฟื้นฟูด้วย ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่โจทก์เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูดังกล่าว จําเลยก็มิได้ลงโทษหรือเลิกจ้างโจทก์จากการกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จําเลยให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด “ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดนครปฐม” แล้ว จําเลยจึงต้องให้โอกาสแก่โจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามที่กำหนดไว้ และถือว่าจําเลยไม่ติดใจจะนํากฎระเบียบดังกล่าว ข้อ 9 ข้อย่อย 18 มาใช้บังคับแก่พนักงานที่ถูกพบสารเสพติดในปัสสาวะในโครงการดังกล่าวรวมถึงโจทก์ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระบบสมัครใจ การที่จําเลยไม่ให้โจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปและเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่โจทก์ได้รับการบําบัดฟื้นฟูสิ้นสุดลงตามกระบวนการ จําเลยย่อมต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2565 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ขายทองคำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำที่ทำการขายทุกรายการภายในกำหนดเวลา 3 วันทำการนับแต่วันที่จำเลยส่งคำสั่งขายแต่ละรายการ โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาดำเนินการล้างฐานะเพื่อบังคับชำระหนี้โดยหักกลบลบหนี้เพื่อทอนบัญชีระหว่างจำนวนเงินค่าทองคำที่จำเลยสั่งขายกับจำนวนเงินค่าทองคำที่ได้จากการบังคับซื้อกลับ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.1 ระบุว่า หากปรากฏพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง ให้ภาระหนี้สินทั้งหมดของลูกค้าในบัญชีของลูกค้าถึงกำหนดชำระโดยพลัน และให้บริษัทสามารถดำเนินการการล้างฐานะซื้อขายทองคำได้ทันที...(1) เมื่อลูกค้าผิดนัดไม่ชำระค่าซื้อและ/หรือขายทองคำ และ/หรือผิดนัดการวางหลักประกัน และ/หรือผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ตามสัญญานี้ ภายในระยะเวลา และ/หรือเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญานี้ หรือตามข้อกำหนดของบริษัท และ/หรือไม่ชำระเงินจำนวนใด ๆ ภายใต้สัญญานี้ตามจำนวนที่ต้องชำระเมื่อถึงกำหนดชำระ และข้อ 5.3 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่บริษัทล้างฐานะรายการซื้อขายทองคำของลูกค้าแล้ว ทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขาย และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ลูกค้ายินดีรับผิดชอบชำระส่วนต่าง และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับบริษัททันทีที่ได้รับการทวงถามจากบริษัท พร้อมด้วยค่าเสียหายและดอกเบี้ยและ/หรือเบี้ยปรับ ในอัตราที่บริษัทกำหนดนับจากวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้บริษัทครบถ้วน การที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 5.1 (1) เพื่อดำเนินการล้างฐานะซื้อขายทองคำอันทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5.3 วรรคสอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเอาค่าเสียหายจากส่วนต่างของราคาทองคำเนื่องจากจำเลยมิได้ส่งมอบทองคำให้แก่โจทก์ภายในกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องในลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2565 การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษควรวินิจฉัยให้ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้ และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ... และคำว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า... รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 อันอยู่ในนิยามของคำว่า หน่วยงานของรัฐ และจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์อันอยู่ในนิยามคำว่า เจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแม้ ป.พ.พ. มาตรา 426 บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างในกรณีทั่วไป พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีเหตุผลในการประกาศใช้บังคับซึ่งปรากฏอยู่ที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสม... ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น... จึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการไล่เบี้ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเกิดจากลูกจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกมาใช้บังคับ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 426ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ในฐานะนายจ้างชดใช้แก่ผู้เสียหายคืนแก่โจทก์ยังไม่ได้ถูกฟ้องขอให้เพิกถอน จึงมีผลในทางปฏิบัติต่อไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีอำนาจยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคหนึ่งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้วปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลย บทบัญญัติของกฎหมาย และรูปคดีนี้แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้คำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเพิกถอน ก็ถือได้ว่าคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลบังคับไปโดยปริยาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3487/2565 จำเลยลักเอาเช็คของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไปกรอกข้อความ และปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ทำให้พนักงานของธนาคารโจทก์ร่วมที่ 3 หรือผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าลายมือชื่อปลอมดังกล่าวเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง จ่ายเงินตามเช็คและจำเลยได้เงินตามเช็คไป แม้การกระทำต่าง ๆ จะแยกเป็นขั้นตอนตั้งแต่ลักเอาเช็คมาปลอมข้อความและปลอมลายมือชื่อ ตลอดจนนำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวคือมุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2565 โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมหลายข้อ โดยข้อ 2 ให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เป็นโจทก์ร่วม และข้อ 6 ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนตามความจำเป็นในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ บ. ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมได้ โดยไม่จำกัดตัวบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี และอำนาจของ บ. ดังกล่าวยังสามารถมอบอำนาจช่วงได้อีกด้วย ฉะนั้น การที่ บ. มอบอำนาจช่วงให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยชอบภายในขอบอำนาจที่ บ. ได้รับมอบมา แม้ตามสำเนาหนังสือรับรองจะมีเงื่อนไขให้กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่การมอบอำนาจช่วงมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีการประทับตราสำคัญของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้การมอบอำนาจช่วงต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย การมอบอำนาจช่วงโดยไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ช. ผู้รับมอบอำนาจช่วงย่อมมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกแทนโจทก์ร่วม มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความที่ได้รับแจ้งจาก ช. ว่า ช. มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เรื่อง กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ส. และจำเลยที่ 4 จากเหตุที่โจทก์ร่วมได้ขายรถแบ็กโฮ 2 คัน ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาไม่สามารถติดตามหารถแบ็กโฮที่ขายให้ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ไม่มีการส่งค่างวด ถูกผู้เช่าซื้อปฏิเสธ จึงมาลงบันทึกประจำวันไว้ดังกล่าว ร้อยตำรวจโท ป. พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้ง ช. เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ร่วมไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย แต่วันนี้ผู้แจ้งไม่พร้อมที่จะให้ปากคำและจะมาให้การในวันต่อไป ดังนี้ แม้พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป และจากข้อความที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งบันทึกไว้ เมื่ออ่านประกอบกับหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ช. นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในการแจ้งความซึ่งระบุมอบอำนาจให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในฐานความผิดยักยอกหรือความผิดอาญาอื่นใดแล้ว พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้รับโทษ การแจ้งความของ ช. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 หาใช่เป็นแต่การแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้โดยยังไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนกันยายน 2558 การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ 3 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 96รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าคดีโจทก์ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้วดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้อง ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารฉบับดังกล่าวรวมอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ อันเป็นสรรพเอกสารตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 27 นั่นเอง เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอถือเอาบัญชีระบุพยานและสรรพเอกสารในคดีนี้ของโจทก์เป็นของโจทก์ร่วมด้วย กรณีถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามติงพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อยืนยันถึงวันที่ที่แน่นอนซึ่งโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ได้ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลชั้นต้นซักถามร้อยตำรวจเอก ป. เพิ่มเติม หรือนำพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสืบหักล้างในภายหลัง กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานในลักษณะจู่โจมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีดังข้ออ้างในฎีกา ดังนั้น สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3467/2565 ตาม ป.อ. มาตรา 3 ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด การที่จำเลยใช้นิ้วสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่ภายหลังจำเลยกระทำความผิดและก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราอีกต่อไป แต่เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำอวัยวะเพศตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งความผิดฐานกระทำอนาจารตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารตามมาตรา 279 (ที่แก้ไขใหม่) จึงชอบด้วยมาตรา 3 และเป็นบทกฎหมายที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ซึ่งศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำอวัยวะเพศตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่านั้น มิใช่ตามมาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) แต่ความผิดตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษเท่ากับระวางโทษตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3458/2565 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้ศาลแรงงานกลางส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อันเป็นการผิดหลงที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวนั้นเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสองพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างเป็นอย่างน้อย แต่กฎหมายมิได้มีข้อห้ามมิให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ หากนายจ้างฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายก็มีผลใช้บังคับได้ คดีนี้ผู้ร้องทำสัญญาจ้างแรงงานกับผู้คัดค้าน ข้อ 1 มีกำหนดเวลาจ้าง 4 ปี ข้อ 4.1 ให้ค่าจ้างปีละ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ข้อ 9.3 ผู้ร้องเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ ผู้คัดค้านจะได้รับค่าชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าจ้าง 1 ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากันเป็นเงินบาท จำนวนนี้ให้ถือเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานของไทย โดยสัญญาไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้คัดค้านจะต้องทำงานขั้นต่ำมานานเท่าใด และไม่มีเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านทดลองงาน ถือได้ว่า ผู้ร้องได้สมัครใจทำสัญญาจ้างแรงงานปฏิบัติต่อผู้คัดค้านเรื่องเงินค่าชดเชยสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ สัญญาจ้างแรงงานเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวมีผลผูกพันและใช้บังคับคู่ความได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยมีสาเหตุมาจากผู้คัดค้านทำงานไม่เป็นที่พอใจของผู้ร้องและทำงานไม่มีประสิทธิภาพซึ่งผู้ร้องได้ตักเตือนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งผู้ร้องจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้คัดค้าน 108,333.33 บาท แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างของผู้ร้องมิใช่การเลิกจ้างโดยมีสาเหตุและไม่พบเหตุการณ์ใดเชื่อมโยงไปถึงการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 9.2 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดค่าเสียหายของคณะอนุญาโตตุลาการที่นำเงินช่วยเหลือของผู้ร้องจ่ายแก่ผู้คัดค้านมาคำนวณไว้ในส่วนการกำหนดค่าเสียหายอื่นที่ผู้คัดค้านร้องขอ ซึ่งศาลแรงงานกลางให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3441/2565 จำเลยให้การว่า จำเลยใช้บริการสินเชื่อประเภทบัตรกดเงินสดจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างจากจำเลย รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปเป็นกรณีที่จำเลยให้การว่าหนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) หรือไม่ เท่านั้น แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในทำนองว่า หนี้ส่วนนี้ขาดอายุความ 5 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นขึ้นเพราะเป็นเรื่องนอกคำให้การ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ฎีกาในเรื่องนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ส่วนที่จำเลยให้การในตอนท้ายต่อมาว่า นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินภายในกำหนดดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น คำให้การในส่วนนี้ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่าขาดอายุความเรื่องใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ 5 ปี ได้ความว่า สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ เป็นกรณีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อเป็นวงเงินกู้ประเภทหมุนเวียนแบบมีกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำและหรือแบบมีการกำหนดชำระคืนแน่นอน ซึ่งการเบิกรับเงินกู้สามารถเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยใช้บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้หรือให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือวิธีการอื่น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้นับแต่วันที่ขอเบิกถอนเงินแต่ละครั้ง รูปคดีจึงเป็นสัญญาบริการสินเชื่อหาใช่เป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยภายหลัง สิทธิเรียกร้องเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มิใช่ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ จึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2565 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังยุติตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ทราบประกาศของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเรื่องห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์นั้น เป็นการขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาและขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยความผิดฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตประกาศกำหนดเฝ้าระวังโรคระบาดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น เป็นความผิดเพียงเพราะเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 65 หากได้รับอนุญาตก็ไม่เป็นความผิด และตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ใดเนื่องจากกระทำผิดตาม... มาตรา 65... ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบสัตว์... ยานพาหนะ... ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเสียทั้งสิ้น... ก็เป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการริบสัตว์หรือยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด การริบสัตว์และยานพาหนะตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงเป็นดุลพินิจของศาล ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นสุกรของกลางที่จำเลยไม่ได้ฎีกาได้ ซึ่งได้ความจากข้อเท็จจริงในสำนวนว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างบรรทุกสิ่งของทั่วไปไม่ได้รับจ้างบรรทุกสุกรเป็นอาชีพ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าสุกร 9 ตัว ของกลางติดโรคระบาดแต่อย่างใด จึงไม่สมควรริบสุกร 9 ตัว และรถบรรทุกของกลาง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2565 ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1) ....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี” โดยในส่วนของการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้น หมายถึง ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามคำฟ้องของโจทก์ ป.อ. มาตรา 137 บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ...” จึงเป็นกรณีซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้องด้วย แต่ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงเฉพาะข้อความที่จำเลยแจ้งแก่ ส. อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ว. ผู้เสียหาย ซึ่งอ้างว่าเป็นความเท็จ แม้โจทก์จะระบุมาในคำฟ้องด้วยว่า ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ นิติกรของผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย ก็เป็นเพียงการหยิบยกถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายให้ปรากฏแบบกว้าง ๆ โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการแจ้งข้อความดังกล่าวของจำเลยอย่างไร แม้จะพิจารณาฟ้องโจทก์ทั้งเรื่องก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายอย่างไรจากการกระทำของจำเลย คำฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2565 แม้คำฟ้องจะบรรยายความผิดฐานฉ้อโกงมาด้วย แต่การกระทำอันเดียวกันอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอกฐานหนึ่งฐานใดก็ได้ และเป็นเรื่องในใจของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาปลอมใบส่งของและใบเสร็จรับเงินเพื่อการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานยักยอกของตน กรณีจึงไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องหรือหลงต่อสู้ ทั้งฟ้องของโจทก์ประสงค์ให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้นจึงไม่เป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันเองหรือเคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2565 คำว่า มูลคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องแก่โจทก์ โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันภัยต่อโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 ที่กำหนดให้บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่กรณีโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของมารดาผู้ตายมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในมูลละเมิดดังที่โจทก์ฎีกา สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาประกันภัย จังหวัดสุรินทร์อันเป็นสถานที่ทำสัญญาประกันภัยและออกกรมธรรม์ประกันภัยจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกิด อย่างไรก็ตาม ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 เหตุแห่งวินาศภัยอันเกิดจากรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัยจึงเป็นมูลก่อให้เกิดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัย สถานที่เกิดเหตุวินาศภัยอันเป็นมูลละเมิดจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาประกันภัยเกิดอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากสถานที่ทำสัญญาประกันภัย เมื่อปรากฏว่าเหตุรถบรรทุกคันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 รับประกันภัยไว้จากโจทก์ไปเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับเกิดที่จังหวัดชลบุรี ในเขตศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3410/2565 พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทยรวมทั้งผู้ตายที่ได้ไปพำนักและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดผู้คัดค้านที่ 2 ยังคงถือว่าอยู่ในความปกครองดูแลโดยมหาเถรสมาคม แต่การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะดังกล่าว ไม่เป็นผลให้วัดผู้คัดค้านที่ 2 ที่ตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรมีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายอื่นบัญญัติรับรองให้วัดผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทวัด จึงถือไม่ได้ว่าวัดผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะเป็นวัดตามกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าที่ตั้งของวัดผู้คัดค้านที่ 2 ในประเทศดังกล่าว ที่ผู้ตายพำนักเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ดังนั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่มรณภาพ ทรัพย์สินของผู้ตายที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของวัดผู้คัดค้านที่ 1 ที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ผู้คัดค้านที่ 2 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีสิทธิขอจัดการมรดกของผู้ตาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3398/2565 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ได้ความจากทางพิจารณาว่า เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 แม้จะเป็นการแตกต่างจากฟ้อง แต่การต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า นาย ส. นาย อ. และบุคคลอื่นเข้ามาขัดขวาง ยื้อแย่งอาวุธปืน เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น สะเก็ดกระสุนปืนถูก นาย อ. และ นาย ส. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยนำสืบว่า มีการแย่งอาวุธปืนทำให้ปืนลั่น และหลังเกิดเหตุจำเลยไปเยี่ยม นาย อ. และ นาย ส. ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนปืน แสดงว่า จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2565 สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 390 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้มีคำพิพากษาให้แก้ไขนั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 เป็นเวลาเกิน 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ ซึ่งการจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากการพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2565 การกำหนดเงินเพิ่มจากหนี้ค่าส่วนกลางค้างชำระของเจ้าของห้องชุด เป็นกรณีการค้างชำระเงินเกินหกเดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ที่จดทะเบียนกับทางราชการ และมีการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (ครั้งแรก) ของโจทก์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 โดยจำเลยมีตัวแทนในฐานะเป็นเจ้าของห้องชุดส่วนหนึ่งร่วมประชุมและรับรองข้อบังคับดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยเป็นผู้ยกร่างข้อบังคับอาคารชุดของโจทก์และนำไปจดทะเบียนต่อทางราชการและมีการจดทะเบียนและรับรองข้อบังคับดังกล่าวแล้ว เจ้าของร่วมห้องชุดทุกคนรวมทั้งจำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อบังคับของโจทก์ เมื่อพิจารณาข้อบังคับ หมวดที่ 11 การออกค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม ข้อ 31 ถึงข้อ 38 ซึ่งตามข้อบังคับข้อ 35.4 ย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า “...เจ้าของร่วมที่ค้างชำระเงินตามข้อบังคับข้างต้น ตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบ (20) ต่อปี...เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522...” โดยอัตราเงินเพิ่มดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 18/1 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 จึงถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของเจ้าของห้องชุดทุกคนรวมถึงจำเลยซึ่งเปลี่ยนฐานะจากเดิมที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารชุดกลายเป็นเจ้าของร่วมในห้องชุดรายหนึ่ง และต้องรับผิดชอบในเงินเพิ่มตามมาตรา 18/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง สำหรับค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระเช่นเดียวกับเจ้าของร่วมคนอื่น ซึ่งเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดมาจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นนั้น ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางทันทีด้วยตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18/1 วรรคท้าย และข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 35.4 วรรคท้าย ซึ่งมีผลต่อเนื่องตามมาถึงการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากภาระผูกพันของห้องชุดห้องนั้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้เจ้าของห้องชุดรายใหม่ ตามข้อบังคับข้อ 9.12 ของโจทก์ เจ้าของห้องชุดแต่ละห้องจึงต้องรับผิดชอบในเงินเพิ่มซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จะนำมาใช้ในการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางอันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งหากปรับลดให้ต่างไปจากข้อบังคับ ก็จะมีผลต่อเจ้าของห้องชุดคนอื่นที่ปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงกำหนดเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของต้นเงิน 3,939,995.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามคำขอบังคับของโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2565 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้ผู้ร้องมาตรวจรับรองบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จำนวน 44,959.86 บาท หากประสงค์จะคัดค้านบัญชีให้ยื่นคำแถลงคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือผู้ร้องตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสองเจ้าของห้องชุดพิพาทต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องตามข้อบังคับของผู้ร้องและ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด รวมค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่ม 189,327.28 บาท กรณีเป็นเรื่องผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่ม 189,327.28 บาท มิใช่เป็นการโต้แย้งว่ากระบวนการในการจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 342 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จึงไม่เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) และมาตรา 278 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จะเห็นได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลและเป็นตัวแทนของคู่ความทุกฝ่ายทั้งโจทก์ ผู้ร้อง และจำเลย จึงมีอำนาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ประกอบกับโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ค่าส่วนกลางที่ผู้ร้องเรียกเก็บเป็นรายเดือนเมื่อเจ้าของรวมไม่ได้ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) มาใช้บังคับ หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี อันเป็นการยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อบังคับของผู้ร้องกำหนดให้ชำระค่าส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่ายซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เงินค้างจ่าย...และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ดังนั้น ค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและค่าเบี้ยปรับย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2565 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินเพื่อจำหน่าย มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินโดยสร้างถนนบนที่ดินพิพาทให้ผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสร้างกำแพงคอนกรีตบนที่ดินพิพาทเป็นแนวเขตถนนกับที่ดินของโจทก์ วันที่ 30 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภคในที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ตอบแทน และมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสงวนกรรมสิทธิ์ต่อไป แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไปใช้สอยทรัพย์สินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเมื่อคำนึงถึงความประสงค์ของกรุงเทพมหานครที่ประสงค์จะก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอย่างอื่นบนที่ดินพิพาทเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหนังสือสัญญายินยอมให้ใช้สอยทรัพย์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินพิพาทให้กรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปพัฒนาถนนเดิมให้กลายเป็นถนนคอนกรีตพร้อมวางระบบระบายน้ำและสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยมุ่งหมายให้ตนพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว ดังนั้น ถนนและที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันที แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่กรุงเทพมหานครก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรุงเทพมหานครจึงเป็นผู้ดูแลและมีหน้าที่บำรุงถนนและที่ดินพิพาทตามกฎหมายแต่สำหรับกำแพงคอนกรีตนั้นมิได้เป็นประโยชน์แก่โจทก์และประชาชนอื่นที่อยู่นอกที่ดินที่จัดสรรหรือนอกโครงการของจำเลยที่ 1 อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีความประสงค์เพียงเฉพาะแต่จะทำการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นบนที่ดินพิพาทเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรร่วมกันเท่านั้น แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่า มิได้มีเจตนาอุทิศหรือโอนกำแพงคอนกรีตให้แก่กรุงเทพมหานครด้วย กำแพงคอนกรีตยังคงเป็นสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่จัดสรรในโครงการของจำเลยที่ 1 และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำขึ้นต่อไป และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับกำแพงคอนกรีตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องรื้อกำแพงคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2565 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2561 ที่จําเลยยื่นคําร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ไม่ได้มีการส่งสำเนาคําร้องขอ หรือหมายนัด หรือหมายเรียกให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์กับจําเลยรู้จักกันดีและติดต่อทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ กันเป็นประจำ แม้ศาลจะมีการประกาศตามระเบียบหรือข้อบังคับ ก็ไม่ใช่สื่อหรือช่องทางที่แพร่หลายอันจะทำให้โจทก์หรือประชาชนทั่วไปทราบหรือเห็นได้ การที่โจทก์ไม่ได้เข้ามาคัดค้านหรือต่อสู้ในคดีจึงเชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบจริง แต่เชื่อว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าศาลสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อจําเลยนําคำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์จึงไม่อาจยื่นคําคัดค้านหรือต่อสู้ในคดีดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจําเลยคดีนี้ได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นกรณีที่จําเลยไม่ได้ร้องหรือฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จําเลยบรรลุนิติภาวะ คดีจําเลยจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม จึงมีเหตุให้ถอนจําเลยจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2565 ศาลไม่ได้บันทึกคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ที่ถามค้านโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายและลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรมปลอมโดยเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี ก็เป็นการใช้ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริง หาใช่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าคดีมีมูลจึงชอบด้วยกฎหมาย เพราะการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลเพื่อให้ศาลได้ทราบข้อเท็จจริงว่าฟ้องโจทก์มีมูลหรือไม่ คำสั่งดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีกหาได้ไม่ หากในชั้นพิจารณาปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2565 แม้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับตามฟ้องจะขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคดีไม่มีประเด็นว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ศาลย่อมไม่มีอำนาจหยิบยกประเด็นเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นวินิจฉัย แต่ในส่วนของหนี้จำนอง เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้จำนองสามารถบังคับเอากับทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ อันเป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุไว้ในคำพิพากษาให้ชัดแจ้งด้วยว่าดอกเบี้ยย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี ให้นำมาใช้เฉพาะกรณีที่โจทก์บังคับจำนองเท่านั้น เป็นการพิพากษาให้สิทธิของโจทก์ในการบังคับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญในส่วนของดอกเบี้ยน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2565 คดีก่อน โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมเช็ค 3 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายพร้อมสัญญากู้เงินก่อนทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง เมื่อเช็คที่โจทก์ทั้งสองนำไปฟ้องจำเลยในคดีก่อนเป็นเช็คคนละฉบับกับที่มาฟ้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทำต่างกัน แม้จำเลยจะออกเช็คเพื่อชำระหนี้อันมีหนี้มาจากหนี้กู้ยืมเช่นเดียวกันก็ตาม โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3339/2565 โจทก์ต้องการประมูลซื้อรถพิพาทที่ประกอบและนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน แต่เมื่อปรากฏว่ารถพิพาทเป็นรถที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ในประเทศ การที่โจทก์ประมูลซื้อรถพิพาทจากการขายทอดตลาดของจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวโจทก์ย่อมไม่เข้าร่วมประมูลซื้อรถพิพาท การแสดงเจตนาของโจทก์ในการประมูลรถพิพาทจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (3) เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ถือว่าการประมูลซื้อรถพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2565 ข้อเท็จจริงในเรื่องไม้พะยูงของกลาง จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาที่จำเลยที่ 1 ร้องขอไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อพิสูจน์ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยเจตนาที่จะให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของผู้อื่น ทำนองเดียวกับการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องในประเด็นเดียวกันกับที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของจำเลยที่ 1 มา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2565 เมื่อโจทก์ยื่นคําร้องลงวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ขอให้ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ขัดต่อกฎหมาย จําเลยที่ 1 ได้ยื่นคําร้องลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ว่า จําเลยที่ 1 ขอสละสิทธิเรียกร้องที่มีในสัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนของที่ดินตามเอกสารสิทธิในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก. 4-01) ที่ระบุในข้อ 3.2 และให้ข้อตกลงในส่วนอื่น ๆ ที่เหลือของสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับต่อคู่สัญญาโดยสมบูรณ์ต่อไป และในวันนัดพร้อมศาลชั้นต้นได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วข้อสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความอาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ คือ ข้อตกลงที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื่องจากในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุทํานองว่าให้มีการโอนสิทธิครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่กัน ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว จําเลยที่ 1 จึงขอสละโดยให้นําข้อตกลงที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมออกไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ จําเลยที่ 1 ไม่ติดใจบังคับคดีหรือบังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ในข้อสัญญาส่วนอื่นให้คงไว้ตามสัญญาเดิม โจทก์และทนายโจทก์ไม่คัดค้านและยินยอมให้นําข้อตกลงที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งหมดออกไป คงปฏิบัติตามสัญญาข้ออื่น ๆ ตามเดิม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อคู่ความตกลงกันในการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้นจึงให้คู่ความทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในสํานวนตามเดิม ยกเว้นแต่ในเรื่องหรือข้อที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามความประสงค์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ แสดงว่าโจทก์และจําเลยที่ 1 ตกลงกันใหม่เพียงว่าให้นําเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสัญญาประนีประนอมยอมความออกไปเท่านั้น แต่ในข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความอื่นให้คงไว้ตามเดิม มิใช่เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทและมีการตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความกันใหม่ทั้งหมด ดังนั้น โจทก์และจําเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ความผูกพันต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนอื่นตามเดิม เว้นแต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีการตกลงกันใหม่เท่านั้น ทั้งในวันที่จําเลยที่ 1 ชําระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ โจทก์ยังสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 โดยส่งมอบสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับที่ดิน เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย หรือเอกสารอื่นใดที่แยกกันต่างหากไม่เกี่ยวกับเอกสารสิทธิการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่จําเลยที่ 1 ในวันที่ 2 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่จําเลยที่ 1 ชําระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว และในวันดังกล่าวโจทก์ก็ไม่ได้อ้างเหตุขัดข้องต่อจําเลยที่ 1 ว่าจะต้องรอให้มีการตกลงเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความกันเสียใหม่ก่อน เมื่อได้ความว่าโจทก์ส่งมอบสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวให้แก่จําเลยที่ 1 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งล่วงเลยไปจากระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ถึง 2 เดือนเศษ จึงถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จําเลยที่ 1 ย่อมร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีโจทก์ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 6 ได้โดยชอบ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนหมายบังคับคดีโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2565 จำเลยจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 การพิจารณาสิทธิของโจทก์ที่จะขอคืนเงินค่าหุ้นที่ได้ชำระไปแล้วจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และข้อบังคับของจำเลยตลอดจนคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ โดยในเรื่องการจ่ายคืนค่าหุ้นนั้น แม้สหกรณ์แต่ละแห่งสามารถกำหนดในข้อบังคับของตนเองได้ตามมาตรา 34 (4) ประกอบมาตรา 43 (5) ก็ตาม แต่ทั้งนี้ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ยังคงตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินลุล่วงไปได้อย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์ของสหกรณ์ เมื่อความปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบบัญชีว่า จำเลยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี มียอดขาดทุนสะสม 188,292,559.62 บาท มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่ายอดรวมสินทรัพย์ 206,667,002.51 บาท อันต้องด้วยกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 278/2549 การที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (8) และมาตรา 22 (2) โดยเฉพาะคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ตามมาตรา 22 นี้ หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางอาญาตามมาตรา 132 ข้อบังคับของจำเลยที่ได้มีการแก้ไขเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 จึงเป็นไปโดยชอบการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเรื่องการคืนเงินค่าหุ้นเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 278/2549 มิใช่คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ สสพ.288/2559 โจทก์เกษียณอายุปี 2558 และขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยเมื่อปี 2559 อันเป็นเวลาภายหลังจากจำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะขอคืนเงินค่าหุ้นจึงต้องตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับของจำเลยที่ใช้อยู่ในเวลาที่ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกเงินค่าหุ้นมีลักษณะเป็นทุนของสหกรณ์ เมื่อสมาชิกจ่ายให้แก่สหกรณ์แล้วย่อมตกเป็นทุนของสหกรณ์ซึ่งสหกรณ์สามารถนำไปดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของตน เช่น การให้กู้ ให้สินเชื่อ หรือให้ยืมทรัพย์สินได้ตามความในบทบัญญัติมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 เงินสะสมทุนเรือนหุ้นจึงมิใช่เงินฝากหรือการฝากทรัพย์ที่สมาชิกมีสิทธิจะถอนคืนต้นเงินฝากได้เต็มจำนวน หากแต่ถือเป็นการลงทุนซึ่งสมาชิกมีโอกาสได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามสัดส่วนของการลงทุน ในทางกลับกันหากผลการดำเนินงานขาดทุน การจ่ายคืนค่าหุ้นกรณีสมาชิกลาออกก็ต้องนำทุนเรือนหุ้นที่ชำระไปทั้งหมดมาคำนวณเพื่อให้เป็นมูลค่าปัจจุบันโดยสมาชิกต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนด้วย ดังนี้ หลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าหุ้นตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ให้คำแนะนำไว้ท้ายคำสั่งนายทะเบียนที่ 278/2549 ซึ่งจำเลยได้นำมากำหนดไว้ในข้อบังคับจึงหาใช่เป็นการออกข้อบังคับไม่เป็นธรรม เมื่อปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบบัญชีของจำเลยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ว่า ข้อบังคับของจำเลยข้อที่ 44 กำหนดให้จำเลยชะลอการจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิกที่ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพแล้ว โดยจำเลยจะต้องคำนวณมูลค่าหุ้นจ่ายคืนให้เป็นปัจจุบันทุกปี และสหกรณ์จำเลยสามารถปิดงบการเงินประจำปีได้จนถึงปี 2557 ซึ่งมูลค่าต่อหุ้นของจำเลยมีมูลค่าติดลบ 32.35 บาท หลังจากนั้นจนถึงปี 2562 (ปีที่โจทก์ยื่นฟ้อง) ยังไม่สามารถปิดงบการเงินประจำปีได้ เช่นนี้ แม้จำเลยจะประสบภาวะขาดทุนทำให้จำเลยไม่สามารถจ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่โจทก์ที่พ้นจากสมาชิกภาพในเวลาที่โจทก์ขอคืนค่าหุ้นได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิของโจทก์ในกรณีนี้เป็นอันระงับสิ้นไปเลยทีเดียว เพราะหากภายภาคหน้าสหกรณ์จำเลยสามารถแก้ไขภาวะขาดทุนสะสมได้แล้ว หรือสามารถจ่ายเงินค่าหุ้นได้เมื่อใด โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะได้รับคืนเงินค่าหุ้นอยู่เมื่อนั้น จึงชอบที่จะให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3294/2565 เมื่อยาแก้ไอของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อขายเป็นยาแผนปัจจุบันชนิดยาอันตรายและยาปลอม และจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนปัจจุบัน แต่ความผิดฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานมียาปลอมไว้เพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมดังกล่าว ล้วนเป็นจำนวนเดียวกัน และถูกยึดไว้เป็นของกลางในคราวเดียวกันโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานมียาแผนปัจจุบันไว้เพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 101 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2565 พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างบทบัญญัติแห่ง ป.ยาเสพติดในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง อ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึง ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ด้วยอันเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3222/2565 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความว่าตามที่บริษัท ว. โดย ร. ผู้รับมอบอำนาจได้ร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ น. ผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไว้นั้น บัดนี้ บริษัท ว. ไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ น. อีกต่อไป เนื่องจากได้ตกลงกับผู้ต้องหาจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้กล่าวหาจึงขอถอนคำร้องทุกข์ โดยมี ร. ลงชื่อในช่องผู้กล่าวหา ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ร. ไปถอนคำร้องทุกข์โดยไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย ส่วนที่ ซ. พยานโจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า พยานไปถอนคำร้องทุกข์ เนื่องจากพนักงานสอบสวนใช้เวลาดำเนินคดีนาน พยานประสงค์จะนำเช็คมาฟ้องคดีด้วยตนเองนั้น นอกจากจะขัดแย้งกับข้อความในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ระบุว่าผู้กล่าวหาได้ตกลงกับผู้ต้องหาจนเป็นที่พอใจแล้ว ยังปรากฏว่าโจทก์เพิ่งไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยก่อนที่จะถอนคำร้องทุกข์เพียง 13 วันเท่านั้น คำเบิกความของ ซ. ย่อมรับฟังไม่ได้ ดังนี้ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 5 การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปในคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2565 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินที่ค้างตามสัญญากู้ยืมเงิน จําเลยให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้ามือ จึงมีมูลหนี้อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินสืบเนื่องมาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลแก่โจทก์ จึงหาก่อให้เกิดหนี้อันจะเรียกร้องกันได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2565 เมื่อโจทก์ไม่สามารถผ่อนชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยยังคงค้างชำระ 1,819,355 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ มีข้อตกลงว่า โจทก์จะชำระเงินตามจำนวนที่ค้างชำระดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน ให้แก่จำเลย หรือจนกว่าโจทก์หรือจำเลยจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่นได้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและบันทึกแนบท้ายสัญญา ส่อแสดงอย่างแจ้งชัดว่าแม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคหนึ่ง ทั้งมีบันทึกแนบท้ายสัญญาดังกล่าวอีกว่าหากขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่นได้ จำเลยจะคืนเงินส่วนที่เหลือจากที่โจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงที่จำเลยเสียไปคืนให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถผ่อนชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาได้ต่อไป จึงคืนกุญแจส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย ส่งผลให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยไม่อาจสำเร็จวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ได้ ถือเป็นคำเสนอของโจทก์เพื่อบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยบุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อจำเลยสนองรับด้วยการแสดงเจตนาถูกต้องตรงกันโดยรับมอบกุญแจ รับมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์โดยไม่อิดเอื้อน ทำการซ่อมแซมและนำไปขายต่อแก่บุคคลภายนอกเยี่ยงนี้ พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยดังกล่าวเป็นการสมัครใจเลิกสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และมาตรา 356 หาจำต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดผิดสัญญา ถึงกระนั้นผลแห่งการเลิกสัญญา แม้ ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมก็ตาม แต่คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นโดยให้ไม่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันตามบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขาย หากขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่นได้ จำเลยจะคืนเงินส่วนที่เหลือจากที่โจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงที่จำเลยเสียไปคืนให้แก่โจทก์ อันเป็นการตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าไม่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเมื่อมีการเลิกสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ย่อมใช้บังคับได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2565 โจทก์มี ส. และ ม. เจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ยืนยันว่าร้าน บ. ซึ่งเป็นร้านคาราโอเกะมีการให้บริการร้องคาราโอเกะเป็นห้องส่วนตัว ในห้องดังกล่าวมีอุปกรณ์สำหรับร้องเพลงคาราโอเกะ ได้แก่ จอโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมซีพียู แป้นพิมพ์ ลำโพง ไมโครโฟน ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่าย โดยในภาพถ่ายยังปรากฎหน้าจอโทรทัศน์ที่มีชื่อเพลง มิวสิควีดิโอคาราโอเกะเพลง และเนื้อเพลง และสอดคล้องกับภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงที่บันทึกในแผ่นดีวีดี ซึ่งมีภาพพนักงานจำเลยกำลังช่วยแกะสายไมโครโฟนให้แก่ ส. และ ม. เพื่อร้องเพลงคาราโอเกะ บนจอโทรทัศน์ก็ปรากฏภาพเคลื่อนไหวเป็นมิวสิควีดิโอคาราโอเกะด้วย โดยไม่ปรากฎว่าพนักงานจำเลยทักท้วงว่ามิวสิควีดิโอคาราโอเกะที่ ส. และ ม. กำลังร้องอยู่นั้นไม่ใช่มิวสิควีดิโอคาราโอเกะของร้านแต่อย่างใด ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่า ร้าน บ. ของจำเลยมีการให้บริการร้องเพลงคาราโอเกะ โดยจัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะคาราโอเกะที่มีภาพประกอบ อันเป็นการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ตามคำนิยามของคำว่า “ร้านวีดิทัศน์” ตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำเลยจึงประกอบกิจการวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2565 จำเลยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีของเด็ก ย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) และเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งลักษณะการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ การค้าประเวณีของเด็กก็เป็นการประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) อยู่ในตัวด้วย จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีของเด็กเท่านั้น ถือว่ามีเพียงเจตนาเดียว เมื่อความผิดทั้งสองฐานต่างมีองค์ประกอบความผิดเหมือนกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2565 จำเลยทั้งสามดำเนินการบังคับคดีให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างซึ่งมีการขายทอดตลาดห้องชุดที่ยึดไว้โดยประเมินราคาเป็นเงิน 18,129,200 บาท และคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์เห็นชอบให้ใช้ราคาประเมินดังกล่าว ราคาขายตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคดีต้องเริ่มต้นที่ 12,690,440 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีออกประกาศขายทอดตลาดระบุราคาที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์เป็นเงิน 29,880,000 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องตรงตามราคาประเมินที่แท้จริงของคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ แล้วจำเลยทั้งสามประมาทเลินเล่อไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของราคาประเมินดังกล่าว ทำให้ราคาขายเริ่มต้นที่ 20,920,000 บาท โจทก์จึงเสนอซื้อห้องชุดที่ยึดตามราคาขายเริ่มต้นที่ 20,920,000 บาท แม้เมื่อโจทก์ซื้อห้องชุดดังกล่าวแล้วอาจจะขายห้องชุดได้กำไรเพิ่มขึ้นจากราคาซื้อดังกล่าว แต่การที่โจทก์เสนอราคาซื้อสูงกว่าราคาขายเริ่มต้นที่ควรจะเป็น ทำให้โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น 8,229,560 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายอันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามที่ไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของราคาประเมิน แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายอาจจะมีส่วนทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยทำให้หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนได้ อย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเพียง 2,790,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 33.91 ของค่าเสียหายที่โจทก์เสียเงินเพิ่มขึ้นทั้งหมด 8,229,560 บาท ซึ่งเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพฤติการณ์ที่โจทก์อาจจะมีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 2,100,000 บาท จึงเหมาะสมแก่ความเสียหาย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565 ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2565 บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ใช้บังคับแก่เงินของเอกชนและเงินของรัฐที่ฝากธนาคาร แม้เงินงบประมาณเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่เมื่อส่วนราชการตั้งฎีกาขอเบิกเงินงบประมาณแล้ว กระทรวงการคลังโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากของส่วนราชการนั้นที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร ก. เมื่อธนาคาร ก. ได้รับเงินงบประมาณดังกล่าวเข้าสู่บัญชีเงินฝากของส่วนราชการแล้ว เงินฝากนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ก. ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการเจ้าของบัญชีเงินฝากอีกต่อไป ธนาคาร ก. คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินฝากให้แก่เจ้าของบัญชีเงินฝากหรือกระทรวงการคลังครบจำนวนเท่านั้น เมื่อได้ความว่า จําเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ธนาคาร ก. ดังนั้นธนาคาร ก. ย่อมไม่มีสิทธินําเงินที่ธนาคารจ่ายตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 ไปลงรายการเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 1008 แต่เมื่อธนาคาร ก. ลงรายการเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์แล้วจึงมีหน้าที่ต้องเพิกถอนรายการเบิกถอนเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ธนาคาร ก. โอนเงิน 9,752,000 บาท เท่ากับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการชดใช้ตามสัญญาฝากทรัพย์ ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ที่เสียหายมีส่วนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย โดยโจทก์และธนาคาร ก. เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 จึงมีมติให้ธนาคาร ก. คืนเงินแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าธนาคาร ก. เพิกถอนรายการเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 43 ฉบับละกึ่งหนึ่ง ซึ่งมีผลให้จำนวนเงินกึ่งหนึ่งตามเช็คฉบับที่ 3 ถึงที่ 25 ฉบับที่ 27 ถึงที่ 39 และฉบับที่ 41 ถึงที่ 43 ที่ธนาคาร ก. จ่ายเงินตามเช็คโดยฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจําเลยที่ 2 และที่ 3 โดยผิดวัตถุประสงค์ที่โจทก์ย่อมไม่ให้เบิกถอนเงิน หากไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ เงินอีกกึ่งหนึ่งนั้นยังคงเป็นสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิติดตามและเอาเงินดังกล่าวคืนจากจําเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จําเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 รวมเป็นเงิน 1,705,405 บาท พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจําเลยที่ 2 ให้ชําระหนี้ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2559 แต่จําเลยที่ 2 ไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ จําเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 จําเลยที่ 2 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าวของต้นเงินเต็มจำนวนตามเช็คแต่ละฉบับ นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2560 และของต้นเงินกึ่งหนึ่งตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนกว่าชําระเสร็จแก่โจทก์ และจําเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 รวมเป็นเงิน 7,433,551 บาท พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจําเลยที่ 3 ให้ชําระหนี้ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2559 แต่จําเลยที่ 3 ไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ จําเลยที่ 3 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 จําเลยที่ 3 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าวของต้นเงินเต็มจำนวนตามเช็คแต่ละฉบับ นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2560 และของต้นเงินกึ่งหนึ่งตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนกว่าชําระเสร็จแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3126/2565 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคําพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนําหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับมาถือหุ้นของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเลขหมายใบหุ้นบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมาจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคําพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาโต้แย้งคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ที่ จำเลยที่ 2 ให้การตอนแรกว่า จำเลยที่ 2 มอบหุ้นให้โจทก์เพื่อตอบแทนการที่โจทก์จะช่วยเหลือทำงานจนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับประทานบัตรและประกอบธุรกิจเหมืองแร่ เป็นเพียงการบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ชําระค่าหุ้นด้วยแรงงานซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถชําระค่าหุ้นด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1108 (5) ส่วนที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อมาว่า โจทก์ไม่ได้ชําระค่าหุ้นหากฟังว่าโจทก์ชําระค่าหุ้น โจทก์ก็ได้รับค่าหุ้นคืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว และบรรยายต่อมาว่า โจทก์ได้รับหุ้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ชําระค่าหุ้นดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์แล้ว ถือเป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้ชัดแจ้งเท่านั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ขัดแย้งกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย จำเลยที่ 2 ให้การและนําสืบในทำนองว่า โจทก์ไม่ได้ชําระค่าหุ้นจึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ตกลงมอบหุ้นให้โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์จะทำงาน แต่โจทก์ทำไม่ได้ตามที่ตกลงและจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมาโดยตลอด จึงได้มีการพูดคุยปรับสัดส่วนในการถือหุ้นของโจทก์ ซึ่งโจทก์ให้ความยินยอมในการปรับลดหุ้นทุกครั้ง หลังจากจำเลยที่ 2 ปรับลดหุ้นของโจทก์ไปเป็นของตนเองแล้วได้ขายหุ้นให้ พ. ซึ่งชําระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วนและยังพยายามหาทางเอากิจการของจำเลยที่ 1 ไปเป็นของตนเอง โดยมีพฤติการณ์ร่วมกันกับโจทก์ในการถอดถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาคำให้การของจำเลยที่ 2 โดยรวมพอถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การและต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้นําส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์มีใบสำคัญรับชําระเงินลงหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง ข้ออ้างที่ว่าโจทก์ได้รับเงินค่าหุ้นคืนแล้วก็ไม่ปรากฏการบันทึกเป็นหลักฐาน ทั้งไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 มอบหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานจนเสร็จแต่โจทก์ทำไม่ได้ตามที่ตกลงกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 2 นําสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก์ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ ทั้งไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์ แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งจนเหลือเพียง 500 หุ้น โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 หุ้น ตามที่มีอยู่เดิม เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์จำนวน 2,500 หุ้น ไปเป็นของตนเองโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 อยู่จำนวน 4,000 หุ้น ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,500 หุ้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2565 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องว่าอ้าง จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับมาถือหุ้นของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเลขหมายใบหุ้นบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์มีใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง และจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก็ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบแม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งและสุดท้ายไม่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิมหลังจากเกิดข้อพาทเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยมิชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เจรจาและทำบันทึกข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยกหุ้นของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 บางส่วนให้แก่โจทก์และพี่สาวโจทก์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกัน ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทำสัญญานี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องสิ่งอื่นใดต่อกันอีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 อันมีผลให้ข้อเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้แก่ตนเองโดยมิชอบได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงเท่านั้น แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และทางพิจารณามีการนำสืบต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงมาแล้ว ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ เมื่อปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า จำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงเมื่อโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมมีผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม การจะเลิกบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกโดยอำเภอใจ เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่ได้ให้สิทธิคู่สัญญาที่จะบอกเลิกข้อตกลงและไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะบอกเลิกข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงคงต้องผูกพันและปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3124/2565 ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสองบัญญัติให้ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญและตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่จำเลยและผู้คัดค้านจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์มีข้อความระบุว่า ผู้จำนองจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้รับจำนองในเวลานี้หรือในเวลาหนึ่งเวลาใดภายหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่า นอกจากจะเป็นการจำนองประกันหนี้ตามสัญญาจำนองดังกล่าวแล้ว ผู้จำนองยังตกลงจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่จะมีขึ้นต่อผู้รับจำนองในภายหน้าด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังคงค้างชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 แก่ผู้ร้อง จึงถือได้ว่าจำเลยยังมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อผู้ร้องตามสัญญาจำนองรายนี้อยู่ แม้จำเลยจะได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ที่จำเลยและผู้คัดค้านนำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ครบถ้วนแล้วก็ตาม ก็หามีผลทำให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไป ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองจึงเป็นผู้มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองก่อน เจ้าหนี้อื่น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2565 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง และ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ห้ามการนำสืบเฉพาะกรณีการใช้เงิน ไม่ห้ามการนำสืบกรณีการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ส. เพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ แล้ว ส. โอนเงินดังกล่าวทั้งหมดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยโจทก์ยินยอมรับเงินที่ ส. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ ซึ่งเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง และจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ ย. ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 315 ถือได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2565 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 จะต้องเป็นการใส่ความคือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “ไอ้สันดานหมา” คำว่า “สันดาน” หมายความถึงอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจมีสันดานดีหรือสันดานเลวก็ได้ แม้มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำนั้น น่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจผู้ร้องที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ ส. ซึ่งเป็นหลานของจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นพนักงานสอบสวนเรียกคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นญาติไปไกล่เกลี่ย ผู้ร้องก็ยังคงยืนกรานให้ดำเนินคดี ส. ต่อไป โดยไม่เห็นแก่ความเป็นญาติ ย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจผู้ร้องเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นการด่าผู้ร้องอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่พอใจผู้ร้อง ไม่ได้มีความมุ่งหมายถึงความประพฤติของผู้ร้องว่าเป็นคนมีอุปนิสัยที่ไม่ดีมาแต่กำเนิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3069/2565 แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายที่ 1 ก. พ. และ ด. มาเบิกความเป็นพยาน คงมีเพียงบันทึกคำให้การของบุคคลดังกล่าว โดยผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันถึงตัวคนร้ายและจำเลยที่ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งในการวินิจฉัยพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ไม่สามารถนำตัวพยานดังกล่าวมาเบิกความในชั้นพิจารณาเนื่องจากไม่ทราบที่อยู่ของพยาน โดยโจทก์ใช้เวลาติดตามพยานเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษ นับว่ามีเหตุจำเป็นที่โจทก์ไม่สามารถนำพยานซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็นและได้ยินเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนี้ด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และเมื่อจำเลยหลบหนีไปนานจนติดตามพยานได้ยาก กรณีเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) และถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะรับฟังบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2726/2559 ของศาลชั้นต้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3066/2565 ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ คำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ฎีกา และคำแก้ฎีกา จำเลยไม่คัดค้าน แต่คดีนี้มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป โจทก์จึงยังคงมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย และการถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์มีผลเท่ากับเป็นการขอถอนฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 ซึ่งโจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้องได้ต่อเมื่อก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา อีกทั้งศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้ถอนฎีกาและคำแก้ฎีกา จึงยกคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนขอถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ฎีกา และคำแก้ฎีกา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2565 คดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วันหรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2565 แม้คู่ความฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์จะมีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้ หากไม่มีบทกฎหมายให้คำพิพากษานั้นเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามมิให้ฎีกา แต่คดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิฎีกาได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยทั้งสอง สำหรับที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ร. ผู้จัดการมรดกของ ก. โจทก์ และ น. ทายาท ไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าว คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งอยู่ จำเลยทั้งสองก็ให้เหตุผลในการฎีกาประเด็นนี้ว่า จำเลยทั้งสองเกรงว่าจะมีการนำเอาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังได้ในเบื้องต้นโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปใช้อ้างในทางที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟัง เพราะนอกจากคดีนี้แล้วยังมีคดีอื่น ๆ อีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจะสร้างความวุ่นวายยุ่งยากให้จำเลยทั้งสองนำสืบอธิบายข้อเท็จจริง ก็เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยทั้งสอง การรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงหาได้กระทบกระเทือนหรือมีผลทำให้จำเลยทั้งสองอาจได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2565 คดีนี้ไม่มีการลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิดร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสอง นั้น ยังไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเป็นว่า ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2565 คดีเดิมมีประเด็นวินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาในการส่งมอบงานล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการขอขยายระยะเวลาฎีกา ส่วนคดีนี้ประเด็นวินิจฉัยเป็นเช่นเดียวกับคดีเดิมว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำ เมื่อการซื้อขายสินค้าของทั้งสองคดีเกี่ยวกับการซื้อขายตามสัญญาฉบับเดียวกัน แม้คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดส่งมอบสินค้าไม่ถูกต้องตามสัญญา เหตุละเมิดที่อ้างก็สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดสัญญาฉบับเดียวกันนั้นเอง ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์อ้างในฎีกาว่าความเสียหายนี้มิได้เกี่ยวกับเครื่องจักรตามสัญญาแต่แท้จริงแล้วมูลเหตุของความเสียหายที่อ้างมาจากการผิดสัญญาส่งมอบหม้อกำเนิดไอน้ำถูกต้องครั้งเดียวกันนั้นเอง เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีเดิมศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ในประเด็นว่าจำเลยกระทำละเมิดส่งมอบสินค้าไม่เป็นไปตามสัญญาทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2565 การประกอบธุรกิจเป็นนายทุนวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ นอกจากจะมีผลกระทบต่อการออมของประชาชนแล้วยังกระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐให้เสียหาย ความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 จึงเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานอัยการเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้อง โจทก์เป็นราษฎรจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565 หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้พร้อมพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลาง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นไม่ และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่ง ป.อ. มาตรา 78 ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2565 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 190/30ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า “การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร” และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนด ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถกลับไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับมาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2565 โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องลงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ต่อศาลชั้นต้น โดยบรรยายฟ้องและมีคําขอให้นับโทษจําคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจําเลยที่ 1 คดีนี้ติดต่อกับโทษจําคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจําเลย (ที่ถูกจําเลยที่ 2) ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3709/2560 หมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา โดยบรรยายทั้งคดีหมายเลขดำและหมายเลขแดงซึ่งคดีหมายเลขดำเป็นหมายเลขที่ถูกต้อง ส่วนคดีหมายเลขแดงนั้นโจทก์พิมพ์ตัวเลขคลาดเคลื่อนเฉพาะปีพุทธศักราช เมื่อจําเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลย (ที่ถูกจําเลยที่ 2) ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ โดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังแถลงต่อศาลชั้นต้นรับว่า จําเลยที่ 1 ถูกจําคุกอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรมมาระยะหนึ่งแล้วในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3709/2560 หมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้จําคุก 43 ปี ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 24 ธันวาคม 2563 แสดงว่าจําเลยที่ 1 เข้าใจดีว่าตนถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญา การพิมพ์คดีหมายเลขแดงในส่วนเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อนจากปี 2562 เป็น 2560 จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจําคุกของจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษจําคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2562 ของศาลอาญาได้อนึ่ง สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบนั้น เห็นว่า เมื่อรถจักรยานยนต์ของกลาง มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด แต่เป็นเพียงยานพาหนะที่จําเลยที่ 1 กับพวกขับมายังที่เกิดเหตุและขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เมื่อการปล้นทรัพย์สำเร็จแล้วเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นก็ตาม แต่การที่จะริบได้นั้น ต้องเป็นทรัพย์ซึ่งได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) เมื่อรถจักรยานยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะริบได้ จึงจะสั่งริบหาได้ไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2565 การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนาง ส. โดยนาย น. เจ้าของที่ดินเดิมและนาง ส. ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย น. ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านาย น. และนาง ส. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านให้นาง ก. แล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกันที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลง จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านาย น. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนาย น. และนาง ส. จนกระทั่งนาง ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านาย น. และนาง ส. ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นาย น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่นาง ส. มาก่อน เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2565 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าต่อโจทก์และไม่ชำระหนี้ให้ ต่อมาตกลงผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นในวันที่ 28 กันยายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คให้ โดยจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเช็คที่รวมทั้งหนี้ค่าสินค้าที่ค้างและดอกเบี้ยด้วย ซึ่งเท่ากับมีเจตนาจะชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเช็คดังกล่าวนั้นเอง แต่ต่อมากลับให้โจทก์นำเช็คดังกล่าวกลับไปคืน แล้วออกเช็คพิพาทให้แทน โดยทำบันทึกขึ้นเองฝ่ายเดียวว่าเป็นเช็คค้ำประกันหนี้ ไม่มีข้อตกลงกำหนดเวลาที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้ไว้เลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะตกลงด้วยเช่นนั้น เมื่อเช็คเดิมออกให้เพื่อชำระหนี้ แล้วมาออกเช็คพิพาทให้แทน ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2565 การขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา... (2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินการจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันสมควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่งพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่โจทก์อ้างส่งสำเนาสัญญาบริการระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแนบท้ายฎีกา มีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าใช้จ่ายให้โจทก์รายเดือน นั้น แม้โจทก์จะเพิ่งส่งเอกสารดังกล่าวในชั้นฎีกาซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาการอ้างพยานหลักฐานตามกฎหมายแล้ว แต่พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญแห่งคดี และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงสมบูรณ์ครบถ้วนเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรรับฟังสำเนาสัญญาบริการแนบท้ายฎีกา เป็นพยานศาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 33 และรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาบริการกันจริง เมื่อบริการที่โจทก์จัดทำเป็นบริการสาธารณะ สัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินฉบับเดิมปี 2539 ซึ่งออกตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 แต่การที่โจทก์ขอขยายโครงการและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ทำการแก้ไขแผนผังโครงการจัดสรรในปี 2545 ภายหลัง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 อัตราที่เรียกเก็บจึงต้องไม่เกินอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บจำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะ นั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2565 ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตาย ได้มีผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งมีชื่อ ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และในการที่ บ. ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ก็ได้ระบุว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น โฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอยู่ในครอบครองของ บ. แล้ว ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีการจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยมีลายมือชื่อ ท. เป็นผู้มอบอำนาจและมี ส. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ซึ่ง บ. มิได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเสียก่อน แต่กลับมีผู้นำหนังสือมอบอำนาจของ ท. ไปโอนขายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีลายมือชื่อของ ส. เป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจของทั้งสองฝ่าย แม้ตามสัญญาซื้อขายระหว่าง ท. กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่า บ. มีส่วนเกี่ยวข้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ แต่ ส. ย่อมมีหนังสือมอบอำนาจที่ ท. ลงลายมือชื่อไว้ล่วงหน้าโดยมีชื่อ ส. เป็นพยาน ดังนั้น ในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเชื่อได้ว่า ส. เป็นผู้ดำเนินการภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงสามารถนำโฉนดที่ดินพิพาทมาคืนแก่ บ. ได้ การที่ บ. มอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ ส. ไปดำเนินการโอนขายแก่จำเลยที่ 1 นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. หรืออาจเป็นเพราะ บ. ทราบจาก ส. ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินใส่ชื่อ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนขายต่อบุคคลภายนอกจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 ครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ท. ไม่อาจยกเอาความบกพร่องของตนมาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนให้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ บ. และ ฮ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2565 การขออนุญาตจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 และมาตรา 44 (เดิม) ให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูโภคตามมาตรา 23 (5) แล้ว ดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ. นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินยังมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนดตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บ จำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะนั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2565 การปรับโครงสร้างเงินเดือนของจำเลยก็ดี การย้ายโจทก์ให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่นก็ดี เป็นอำนาจการบริหารจัดการของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างที่มีอำนาจกระทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้ลูกจ้างได้รับความเสียหายหรือเสียเปรียบโจทก์เริ่มเข้าทำงานตำแหน่งบรรณารักษ์ ระดับ 4 วุฒิการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขณะที่จำเลยเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือนปี 2551 โจทก์ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ ระดับ 4 สังกัดแผนกบำรุงรักษาสวน กองอาคารสถานที่ ถูกปรับให้อยู่ในตำแหน่งเดิมคือเจ้าหน้าที่ธุรการกองอาคารสถานที่ แต่ปรับลดระดับให้อยู่ในโครงสร้างเงินเดือนระดับ 2 ซึ่งคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในระดับ 2 นั้น ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือมัธยมมีประสบการณ์ ฐานเงินเดือนขั้นต่ำของระดับ คือ 7,700 บาท เงินเดือนขั้นสูงสุด 17,600 บาท และขณะจำเลยปรับโจทก์ให้อยู่ในระดับ 2 โจทก์ได้รับเงินเดือน เดือนละ 22,960 บาท สูงกว่าเพดานเงินเดือนของโครงสร้างเงินเดือนระดับ 2 (ใหม่) การที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ กองอาคารสถานที่ เมื่อจำเลยปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือน จำเลยตีค่างานดังกล่าวอยู่ในระดับ 2 แล้วจำเลยปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ โดยให้โจทก์อยู่ในระดับ 2 โดยโครงสร้างเงินเดือนของโจทก์เกินเพดานระดับ 2 ถึง 5,360 บาท แม้จำเลยจะมิได้ปรับลดเงินเดือนของโจทก์หรือทำให้เงินเดือนของโจทก์ลดลง แต่ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสได้ปรับขึ้นเงินเดือนในอนาคตอย่างแน่แท้ เว้นแต่จำเลยจะปรับฐานเงินเดือนขั้นสูงสุดให้สูงกว่าเงินเดือนที่โจทก์ได้รับอยู่ ทั้งที่จำเลยสามารถที่จะปรับย้ายโจทก์ให้ไปทำงานอยู่ในแท่งค่างานที่ใช้คุณวุฒิปริญญาตรีเท่ากับระดับตำแหน่งที่รับโจทก์เข้ามาทำงานได้ แต่จำเลยมิได้กระทำ การปรับโครงสร้างเงินเดือนของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบและได้รับความเสียหายจากการขาดโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนปัญหาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาข้างต้นประกอบข้อเท็จจริงที่ยุติต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2565 จำเลยไปดำเนินการกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยลงลายมือชื่อแทนโจทก์ร่วมในเอกสาร ก็เนื่องมาจากได้ปรึกษากันแล้วภายในครอบครัวให้จำเลยเป็นผู้ไปดำเนินการ ดังเช่นการดำเนินการของบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อการที่มีการจดทะเบียนบริษัทและลงลายมือชื่อแทนกรรมการผู้เริ่มก่อการทุกคน จำเลยก็เป็นผู้ดำเนินการลงลายมือชื่อแทนกรรมการดังกล่าวและโจทก์ร่วมด้วยความยินยอมของทุกคนตลอดมา รวมทั้งการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ดังนั้นการที่จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์ร่วมในเอกสารต่าง ๆ ทุกฉบับรวมทั้งเอกสารตามฟ้อง จึงเชื่อว่าจำเลยได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมให้ไปดำเนินการ โจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารดังกล่าวปลอม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2943/2565 ตามคำฟ้องและคําขอท้ายฟ้องเป็นกรณีโจทก์ทั้งสองโต้แย้งเกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่โดยอ้างว่ามติที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจําเลย และมีคําขอบังคับขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จําเลยรับผิดในมูลละเมิด จึงต้องนําอายุความละเมิดมาใช้บังคับกับกรณีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่หาได้ไม่แม้ข้อบังคับนิติบุคคลจําเลย จะมีข้อความว่าต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติในการประชุมครั้งนั้นภายใน 30 นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ โดยไม่ปรากฏหน่วยนับเป็นวัน เดือน หรือปี แต่ข้อบังคับนิติบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) จึงไม่ต้องห้ามที่จะนําพยานบุคคลมานําสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร เมื่อผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาเบิกความยืนยันว่าการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับ จะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมติ สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบและการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ. 2545 ข้อ 15 ดังนั้น ตามข้อบังคับของนิติบุคคลจําเลย การร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43, 44 ประกอบมาตรา 48 สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว แต่ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่นี้เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิก กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตามกฎหมายรวมทั้งตามข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ในการดูแลถนนในหมู่บ้านเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เหตุที่จําเลยนํากรวยหรือนําหมุดไปปักบริเวณถนนสายหลักข้างบ้านโจทก์ทั้งสองและบริเวณหัวมุมถนนซอยเท่าที่จําเป็นก็เพื่อมิให้สมาชิกในหมู่บ้านนํารถยนต์มาจอด เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการขับรถเลี้ยวโค้ง เข้า - ออก บริเวณหัวมุมถนน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ในการบริหารจัดการอํานวยความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภค ตลอดจนการใช้พื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้านที่พักอาศัยร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด การกระทำดังกล่าวของจําเลยมิได้เลือกปฏิบัติเฉพาะสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2941/2565 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดนัดรวมตัวกันเพื่อเล่นการพนันชนไก่ อันเป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ที่ให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด เช่น สนามชนไก่ ฯลฯ อันเป็นอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าวตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1) และโจทก์บรรยายฟ้องอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ที่ให้ปิดสนามชนไก่กับความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่มาคนละข้อต่างหากจากกัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นพนันชนไก่ดังกล่าวอันหมายความว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่และที่จำเลยที่ 1 ไม่ปิดสนามชนไก่ก็เพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันในสนามชนไก่นั้น แม้ความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกัน และจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพก็ตาม ก็ยังคงเป็นการกระทำความผิดโดยเกิดจากเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 มิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดหรือปิดสนามชนไก่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมเล่นการพนันชนไก่ แม้จะเป็นการชุมนุมมั่วสุมทำกิจกรรมแต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษ จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1), 52 แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่มาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2565 ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด” หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุม ว. (ผู้คัดค้านที่ 1) ย. ป. และ จ. พร้อมยึด กัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นตันเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และ ป.ยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงสุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสามแต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2565 ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ร่วม เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายย่อมไม่กระทบอำนาจฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2565 ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ หาใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิด้วย จึงเป็นเพียงเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) เมื่อจำเลยปลอมและนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมดังกล่าวมาใช้ประกอบในการทำงานกับผู้เสียหายในตำแหน่งหน้าที่พยาบาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกินสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2565 แม้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกิจการ แต่ก่อนที่โจทก์จะนำเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้งกันต่างฝ่ายต่างอ้างว่า อีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงานอันเป็นการค้าแข่งกับกิจการตามสัญญาที่มีต่อกัน ส่วนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 โอนกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จะซื้อขายกันไปให้บริษัทอื่นในระหว่างผ่อนชำระหนี้ แม้เหตุในการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 โจทก์ยังโต้แย้งอยู่ว่าไม่มีข้อกำหนดในสัญญาให้สิทธิจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 และขอให้คืนกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แก่โจทก์เท่ากับยอมรับที่จะเลิกสัญญากัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นผลผูกพันและทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือและมีสิทธิระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดนั้นได้ การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2868/2565 นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงไม่ว่าจะกรณีใด สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไปด้วย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง น้ำมัน ค่าเที่ยว หรือค่าโทรศัพท์ตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่โจทก์อีกต่อไป เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกแม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งที่ 378/2561 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงการใช้อำนาจตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการถือเสมือนว่าจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ อำนาจการรับโจทก์กลับเข้าทำงานจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมเพื่อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานเดิมย่อมเป็นของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เพราะหากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอาจต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อเนื่องไปตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างซึ่งเป็นวันที่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วได้อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2565 จำเลยกับพวกต่างทราบดีอยู่แล้วว่าเงินที่ต่างเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้มาจากการค้ายาเสพติด โดยจำเลยกับพวกสมคบกันกระทำการเพื่อโอนและรับโอนเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดนั้นด้วยเจตนาปกปิดแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว อันเป็นการฟอกเงิน ด้วยการใช้บัญชีเงินฝากของ ท. ม. ส. อ. และ ว. เพื่อโอนและรับโอนเงิน แล้วจำเลยรวบรวมเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด จึงต้องถือว่าการที่ ท. ม. ส. อ. และ ว. ฟอกเงินด้วยการโอนและรับโอนเงินที่ได้มาดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825/2565 จำเลยเปิดบริษัท ท. ประกอบกิจการอันเป็นการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ อันเป็นข้อห้ามที่ระบุในกฎผู้ถือหุ้น การที่จำเลยถูกริบหุ้นนำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กฎผู้ถือหุ้น ข้อ 6. ระบุถึงผลแห่งการที่ผู้ถือหุ้นทำการก่อตั้งบริษัทซึ่งกระทำธุรกิจประเภทเดียวกันกับบริษัทซึ่งส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหายว่า ผู้ถือหุ้นดังกล่าวยินยอมให้ริบหุ้นส่วนทั้งหมดที่ครอบครองอยู่และยินยอมชดใช้ค่าปรับอีกหนึ่งร้อยเท่าของความเสียหายที่ประเมินได้ และหรือความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้ซึ่งความเสียหายประเภทนี้จะใช้การคาดการณ์ความเสียหายเป็นมูลค่าแทน ข้อตกลงเช่นนี้เป็นการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้นเหตุหมดสิทธิจากบริษัทอันเป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเมื่อผู้ถือหุ้นนั้นล่วงละเมิดข้อตกลงในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันที่จะไม่กระทำการค้าขายแข่งขันกับบริษัท ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดจากความสมัครใจและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะ สามารถใช้บังคับได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2565 การทำหนังสือสัญญาธุรกิจระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และการทำคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันและเป็นลำดับสืบเนื่องกันมา ถือได้ว่า อ. เป็นตัวแทนของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ไว้ในหนังสือสัญญาธุรกิจ และโจทก์ยื่นคำร้องโดยระบุข้อความว่า ขอถอนฟ้อง ประกอบกับโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการโดยมิได้ออกเงินลงทุนเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้คดียุติลงอย่างแท้จริง โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกัน และโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาธุรกิจและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีที่โจทก์ยอมรับในศาลแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาธุรกิจครบถ้วนแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ หมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นดำเนินการจึงไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2565 แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 11988/2561 ให้โจทก์ในฐานะนายจ้างชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างเป็นค่าขนส่งสินค้าไปกลับและค่าตรวจเช็กสภาพเครื่องให้แก่บริษัท อ. และให้จำเลยในฐานะผู้รับจ้าง บริษัท อ. ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวก็ตาม แต่ระหว่างโจทก์ผู้ทำการขนย้ายสินค้าออกจากคลังเก็บสินค้า กับจำเลยผู้รับจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าผ่านพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์จะมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า พนักงานขับรถยกของโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้ลังสินค้าพลิกตกกระแทกพื้นสินค้าได้รับความเสียหาย โดยจำเลยมิได้มีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ที่บัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นดังที่โจทก์ฎีกานั้น จะบังคับแก่กรณีนี้ได้ต่อเมื่อลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลย โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2565 พ. ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจําเลยขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้วพาไปส่งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินไปหาจําเลยที่ประเทศญี่ปุ่น การพรากผู้เยาว์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ พ. ขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้ว หาได้เพิ่งเกิดขึ้นขณะที่จําเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ จึงเป็นกรณีที่การกระทำส่วนหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ได้กระทำในราชอาณาจักรและอีกส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ศาลจึงลงโทษจําเลยได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2565 การพาอาวุธใด ๆ ไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรจะต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 371 แต่หากเป็นการพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว ย่อมจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง ซึ่งมีโทษหนักกว่าการพาอาวุธทั่ว ๆ ไป ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า กฎหมายบัญญัติความผิดและบทลงโทษแยกไว้สำหรับกรณีพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นอีกความผิดหนึ่ง ทั้งวัตถุของกลางเป็นคนละประเภทกัน แสดงว่าเจตนาในการพาไปย่อมแตกต่างกัน และความผิดแต่ละประเภทย่อมสำเร็จแล้วนับตั้งแต่การพาเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ แม้จำเลยจะพาอาวุธปืนและอาวุธมีดไปในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2565 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เช็คนั้นต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ในกรณีของการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดว่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สัญญาเช่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ตกลงให้การเช่ามีผลย้อนหลังเป็นการเช่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปซึ่งเป็นข้อตกลงเช่าอสังริมทรัพย์มีกำหนดเวลา 5 เดือน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การเช่าในระยะเวลาย้อนหลังดังกล่าวจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็ครวม 5 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าเดือนมิถุนายน 2561 ถึงตุลาคม 2561 แม้ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่สัญญาเช่าดังกล่าวกระทำภายหลังจากจำเลยที่ 1 ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับแล้ว และถึงแม้ว่าจะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการออกเช็คที่มีหนี้อยู่จริง แต่หนี้นั้นไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 7.2 ระบุว่า เมื่อผู้ให้เช่าได้รับค่าเช่าและค่าตอบแทนการจดสิทธิเก็บกินที่ผู้เช่าค้างชำระ... ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าตกลงจะคืนเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ให้แก่ผู้เช่า แสดงว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อประกันการชำระหนี้หาใช่เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2774/2565 กรณีที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นหลักประกันเดียวกับหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์เดียวกันและโจทก์ยื่นฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์และศาลแขวงขอนแก่น เมื่อปรากฏว่าศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นศาลที่มีคำพิพากษาและออกหมายบังคับคดี แม้ทรัพย์จำนองจะตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นและเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดกาฬสินธุ์มีหนังสือขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์และทำการขายทอดตลาดแทน และต่อมาศาลแขวงมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีอำนาจพิจารณา ทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่บัญญัติว่า “คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่กำหนดไว้ในมาตรา 271” และมาตรา 271 บัญญัติให้ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 276 และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น คือศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เพราะขณะมีการยึดทรัพย์คดีนี้ศาลแขวงขอนแก่นยังมิได้มีคำพิพากษา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2565 กรมธรรม์ประกันภัยหมาย ล.4 ข้อ 3.1.7 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจะอ้างข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อจำกัดความรับผิดไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นจึงมีได้เพียง 2 กรณี คือ (1) ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือ (2) ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุนั้น ซึ่งตามกรมธรรม์ ฯ ข้อ 17 กำหนดว่า ความหมายและเจตนารมณ์ของข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายและเอกสารประกอบให้ตีความตามที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ซึ่งสั่งให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ยกตัวอย่างอธิบายความหมายของข้อความที่ว่า ไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่ ทำให้เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมุ่งเฉพาะกรณีไม่ทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ผู้ตายเป็นผู้ประสบภัยซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตายคือ ท. ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย เพียงแต่ ท. ถึงแก่ความตายไปก่อนถูกดำเนินคดีอาญา หาใช่เป็นกรณีไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นดังที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.7การตีความสัญญาประกันภัยซึ่งข้อความในสัญญาถูกกำหนดขึ้นฝ่ายเดียวโดยที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่สามารถแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้ จึงต้องตีความโดยคำนึงถึงความเข้าใจและความคาดหมายของผู้บริโภคอันเป็นส่วนหนึ่งของเจตนาในการเข้าทำสัญญาประกอบด้วยเสมอ ดังนั้น ถึงแม้ว่าข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3 ตอนต้นจะตรงกับ เรื่องประกันภัยค้ำจุน แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยที่ทำขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเมื่อพิจารณาต่อไปในข้อ 3.1.6 ที่กำหนดให้บริษัทผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้เอาประกันภัยและบุคคลในครอบครัวในกรณีรถที่เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องจากความผิดของผู้อื่นที่ขับขี่รถคันนั้น รวมทั้งข้อ 3.1.7 ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น จะเห็นว่าทั้งสองข้อเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ข้อตกลงว่าผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ สัญญาประกันภัยที่พิพาทจึงแตกต่างจากสัญญาประกันภัยค้ำจุน และการที่ข้อ 3.1.7 ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะรับผิดเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นกล่างถึงแต่เฉพาะกรณีผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิดหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิด ย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นวิญญูชนเข้าใจโดยสุจริตว่า หากตนเองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเหมือนผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ ไม่ใช่ได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้น ทั้งการที่กฎหมายบังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยยิ่งทำให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายต่างคาดหมายว่าหากตนประสบอุบัติเหตุโดยที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ก็ต้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเต็มตามวงเงินที่คุ้มครอง เมื่อข้อความในสัญญาไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการตีความและเป็นที่สงสัย เมื่อกรมธรรม์ ฯ หรือสัญญาประกันภัยในคดีนี้เป็นเอกสารสัญญาที่จำเลยกำหนดสาระสำคัญต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 การตีความในกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรา 4 วรรคสอง จึงต้องตีความสัญญาไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายเต็มจำนวนความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิต
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2565 อายุความตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 แยกความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภค และกรณีที่สองเป็นผลของสารที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการของผู้บริโภค เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จําเลยที่ 2 ฉีดชีวโมเลกุลให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 รวม 6 ครั้ง การฉีดชีวโมเลกุลเข้าสู่ร่างกายเป็นการให้บริการทางการแพทย์ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายจําเลยผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังจากโจทก์ได้รับการฉีดชีวโมเลกุลครั้งแรก โจทก์มีอาการแพ้ และเมื่อโจทก์ได้รับการฉีดในครั้งต่อ ๆ มา โจทก์มีอาการแพ้รุนแรงมากขึ้นจนเกิดอาการผื่นขึ้นบนใบหน้า ลำคอและเกิดตุ่มขึ้นตามร่างกายโจทก์ จนกระทั่งจําเลยที่ 1 ต้องพาโจทก์เข้ารับการรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 จนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 แต่การรักษาไม่ได้ผล แพทย์จึงหยุดการรักษา แสดงว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นตามร่างกายของโจทก์มีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ และไม่แน่นอนว่าในอนาคตจะมีอาการอย่างไรต่อไป ผลของสารที่โจทก์ได้รับจากการฉีดสารชีวโมเลกุลจําต้องใช้ระยะเวลาในการแสดงอาการ ไม่อาจถืออาการแพ้ที่เห็นได้โดยประจักษ์ก่อนหน้านั้นเป็นผลสุดท้ายของความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีจึงต้องใช้อายุความ 3 ปี ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 มิใช่อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วันที่โจทก์รู้ถึงความเสียหายจึงยังไม่เริ่มต้นนับ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2565 ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นบนโฉนดที่ดินเลขที่ 10812 และ 10813 ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรในโครงการดังกล่าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และโดยผลของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้จัดสรรหรือจำเลยที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่จะต้องบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10812 และ 10813 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10813 เนื่องจากจำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 ไปแล้ว สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10812 กับบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10813 แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2756/2565 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 สิทธิเหนือพื้นดินเป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17394 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 6 ชั้น จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17395 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 7 ชั้น โดยตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างในลักษณะมีผนังแบ่งตึกแถวออกเป็นคูหา (ผนังร่วม) มีฐานรากและโครงสร้างหลักเชื่อมต่อเป็นอันเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 รื้อถอนตึกแถวของจำเลยที่ 1 เหลือเพียงผนังร่วมในส่วนที่ติดกับตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง ผนังร่วมในส่วนที่ติดกับตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมจึงต่างอยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องสิทธิเหนือพื้นดินไม่สามารถนำ ป.พ.พ. มาตรา 1415 มาปรับใช้ได้เมื่อพิจารณาว่าวัตถุประสงค์และสภาพการใช้งานผนังร่วมตึกแถวใช้เพื่อแบ่งกั้นตึกแถวออกเป็นคูหา ผนังร่วมเปรียบได้กับผนังกำแพงซึ่งหมายเขตที่ดิน โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมกันและหลักกรรมสิทธิ์ยังคงมีอยู่ หาได้เปลี่ยนแปลงเพราะสภาพการใช้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ทั้งสองทราบดีว่าผนังร่วมระหว่างตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์รวม แม้ต่อมาภายหลังสภาพของผนังร่วมระหว่างตึกแถวเปลี่ยนแปลงไปและไม่อาจใช้ได้ตามวัตถุประสงค์เดิม แต่ผนังร่วมก็ยังคงบ่งบอกเขตแดนกรรมสิทธิ์ของที่ดินอันเป็นประโยชน์แก่เจ้าของรวม กรรมสิทธิ์ผนังร่วมระหว่างตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงหาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ จำเลยที่ 1 ยังคงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยที่ 2 จะทำประตูบ้านหรือประตูเข้าพื้นที่ใหม่ในตำแหน่งใหม่ โดยรื้อถอนประตูเดิมทิ้งก็ตาม ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในผนังร่วมระหว่างตึกแถวของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิในการใช้ประโยชน์ผนังร่วมดังกล่าวไปด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงหวงกันผนังร่วมในฝั่งที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่เช่นเดิม กรณีหามีเหตุอันใดให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผนังร่วมตึกแถวที่เหลือจากการรื้อถอนทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2565 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ค. กรรมการของโจทก์ไม่ได้ทำสัญญาโอนหุ้นของโจทก์ในบริษัท ช. ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับโอนหุ้นพิพาทจากโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ใช่เจ้าของหุ้นพิพาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. และไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้น การดำเนินการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ในบริษัท ช. ในเวลาต่อมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับคืนสู่สถานะผู้ถือหุ้นตามเดิม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกิจการบริษัท ช. ก่อนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่กรรมการชุดเดิม โดยโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกิจการของบริษัท ช. ให้แก่โจทก์ เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องแก้ไขให้ถูกต้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2565 บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด มีเจตนารมณ์เพื่อให้รัฐควบคุมและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชน อันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การรับรองและ คุ้มครองไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รักษาความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม มิได้มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ความผิดตามบทบัญญัติทั้งสองจึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายและมีหน้าที่ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติทั้งสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้?ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2736/2565 คดีนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 จำเลยกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ภายหลังคดีถึงที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 สรุปใจความว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการประประกอบอาชีพสุจริตของชุมชนเพื่อให้เศรษฐกิจมีความคล่องตัวเกิดการกระจายรายได้ เกิดการสร้างงาน...ตามหลักการดังกล่าวปรากฏว่ามีผู้นำอาคารมาให้บริการเป็นที่พักแก่ประชาชนตลอดจนใช้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้บริการในรูปแบบของโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อหารายได้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยถูกต้อง ซึ่งเห็นควรให้โอกาสดำเนินการเสียให้ถูกต้องภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดอันจะทำให้กิจการเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ จึงได้กำหนดไว้ในข้อ 2 (1) ของคำสั่งดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในวันก่อนที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้วติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 2 เครื่อง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับพร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ซึ่งต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นเอกสารหรือหลักฐานของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2 ของจำเลยที่เสนอต่อศาลเป็นหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบล ก. ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การแก้ไขอาคารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 หนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารของทางราชการ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องพร้อมเอกสารดังกล่าวของจำเลยไว้แล้วมิได้โต้แย้งความถูกต้อง และ ท. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก. ผู้ลงนามในเอกสารได้แถลงรับรองเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 มกราคม 2563 จึงรับฟังเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานได้ว่า จำเลยได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาไทยแล้ว และต่อมานายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งต่อจำเลยว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบล ก. ได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ใช้ประกอบกิจการโรงแรมตามหนังสือแจ้งประกาศกระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตำบล ก. ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วผลปรากฎว่าสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยได้รับการดำเนินการแก้ไข ตามอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ได้รับยกเว้นโทษอาญาสำหรับความผิดตามข้อ 2 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนที่จำเลยขอคืนเงินค่าปรับนั้น กรณีของจำเลยต้องตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วออกจากกัน กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนที่ใดที่ยังค้างระหว่างการบังคับ ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้น ค่าปรับที่จำเลยได้ชำระไปตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถือว่าการบังคับโทษปรับในส่วนนั้นเสร็จสิ้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2565 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำเลยที่ 1 ดำเนินการอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 6 ห้อง และให้ อ. ครูหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุญาตดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าวโดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษา 269,950 บาท โดยแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ อันเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขแล้ว ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีการสอบราคา แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของวิทยาลัยการอาชีพ ม. เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัสดุ และการที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นการเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานนี้ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีการจัดซื้อหรือจัดจ้างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งวงเงินที่จะซื้อออกเป็น 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท จนทำให้อำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเปลี่ยนไปจากวิธีสอบราคาเป็นวิธีตกลงราคา ที่เจ้าหน้าที่พัสดุสามารถติดต่อกับผู้ขายหรือผู้รับจ้างเพียงรายเดียวมาตกลงราคาได้โดยตรง และจำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งเจาะจงให้ซื้อจากร้าน ส. ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นหุ้นส่วนจึงเป็นการเอื้ออำนวยแก่ร้าน ส. ให้ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้กระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 22 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีผู้เสนอราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม แม้การจะจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคากันนั้น ต้องประกอบด้วยข้อเสนอของผู้ขายและคำสนองรับของผู้ซื้อเป็นสำคัญก็ตาม ทั้งยังปรากฏด้วยว่าร้าน ส. เพียงรายเดียวที่เข้ามาตกลงราคาวิทยาลัยการอาชีพ ม. จึงถือได้ว่าร้าน ส. โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับการซื้อ ซึ่งเป็นการเสนอราคาตามบทนิยาม มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แล้ว อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม...” องค์ประกอบหลักของความผิดตามมาตรานี้ คือ กระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม แสดงให้เห็นได้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นได้แม้จะมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว โดยหาจำต้องมีผู้เสนอราคา 2 รายขึ้นไปไม่ จำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งวงเงินให้อยู่ในวงเงินที่สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 19 ที่แก้ไขแล้ว กำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้มีผู้อื่นเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมด้วยวิธีสอบราคาเพื่อเอื้ออำนวยแก่ร้าน ส. เพียงรายเดียวให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. โดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐต้องเสียหาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 3 ที่รู้ถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 และจัดหาวัสดุให้ในนามของร้าน ส. ที่ตนเองเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย โดยจัดทำบิลส่งของนำวัสดุอุปกรณ์ตามรายการขอซื้อขอจ้าง มาส่งให้แก่วิทยาลัยการอาชีพ ม. ตามที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อหรือจัดจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2565 การฟ้องคดีและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภค และการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้บริโภคจึงนำพยานบุคคลมานำสืบถึงนิติกรรมการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 กระทำต่อโจทก์โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมได้ โดยไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง และ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ก) ที่ห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2698/2565 การที่จําเลยเสพเมทแอมเฟตามีน ด้วยวิธีเผาลนจนเกิดควันแล้วสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย หลังจากนั้น จําเลยเสพเฮโรอีน โดยนําเฮโรอีนใส่ในอุปกรณ์การเสพผสมกับบุหรี่จุดไฟให้เกิดควันแล้วสูดดมควันเข้าสู่ร่างกายแม้วิธีการเสพจะแตกต่างกัน และโจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน แต่การเสพเมทแอมเฟตามีนและเสพเฮโรฮีนเป็นความผิดในบทบัญญัติกฎหมายมาตราเดียวกัน จําเลยเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วเสพเฮโรอีนในเวลาต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกัน ย่อมไม่อาจอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2565 โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2565 เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1144/2561 ของศาลอาญา ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2565 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีกำหนด 3 ปี มีข้อสัญญาข้อหนึ่งว่า ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าหรือนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงไม่ได้เว้นแต่ผู้เช่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง เป็นการผิดสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้เช่าช่วงแต่เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับ จำเลยทั้งสามสามารถอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยที่ 3 อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเพียงบริวารของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นคำให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าช่วงบ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการอยู่และใช้ประโยชน์โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลเพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิให้เช่าช่วง จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทอีกต่อไป แต่ไม่ทำให้การที่จำเลยที่ 3 ได้อยู่และใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วนั้น กลายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2565 นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 189 นั้น ต้องเป็นกรณีที่เงื่อนไขแห่งนิติกรรมนั้นเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาดเนื่องจากสภาพของเงื่อนไขนั้นหรือโดยผลของกฎหมาย มิใช่เพียงเงื่อนไขไม่อาจสำเร็จได้ง่ายภายในเวลาที่กำหนด ทั้งต้องเป็นการเป็นไปไม่ได้โดยทั่วไป มิใช่เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะพิจารณาตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนดเป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้า เมื่อไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายภาครัฐ กำหนดให้การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ FIT ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) เป็นเรื่องต้องห้าม มิอาจกระทำได้โดยเด็ดขาด ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้นข้อ 3.1 (ก) เป็นการพ้นวิสัย แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขย่อมต้องมีระยะเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้เพื่อให้เงื่อนไขสำเร็จลง มิใช่จะมีอยู่ตลอดไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งตามเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้น ข้อ 3.2 ให้โจทก์มีสิทธิกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดดังกล่าว เมื่อนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 ที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์กำหนดให้ระยะเวลาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนข้อ 3.1 (ก) ยุติลง เป็นเวลาประมาณ 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นเวลาพอสมควรที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะดำเนินการให้จำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามเงื่อนไขบังคับก่อนข้อ 3.1 (ก) ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนไม่สำเร็จ สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นผล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินค่าหุ้นที่รับไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2565 แม้ผู้เสียหายไม่ได้เบิกความถึงการกระทำชำเราของจำเลยอีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายซึ่งพนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคสี่ ให้คู่ความฟังแล้ว จึงต้องถือสื่อภาพและเสียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคสาม เมื่อสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำชำเราอีกกระทงหนึ่งนั้น ต้องถือว่าผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นพิจารณาแล้ว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2565 โจทก์เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นเอกสารสำคัญไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งอยู่ภายในบ้านชั้นล่างโดยไม่ได้ล็อกกุญแจ ย่อมง่ายต่อการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มาใช้บริการร้านเสริมสวยของ บ. และ บ. หยิบฉวยโฉนดที่ดินพิพาทไปได้โดยง่าย ถือเป็นการเก็บโฉนดที่ดินพิพาทไว้ในที่ไม่ปลอดภัย อันเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาอย่างวิญญูชนพึงกระทำ การที่ บ. ลักโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ไปทำการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลย ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์โดยตรง เมื่อจำเลยมิได้ล่วงรู้ว่า บ. ลักโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ไปทำการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างความสุจริต ฝ่ายที่ประมาทเลินเล่อย่อมเสียเปรียบและต้องรับผลต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่อาจยกเอาความประมาทของตนมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อจำเลยได้ สัญญาขายฝากดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2565 ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า "อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้เกิดขึ้นนั้นด้วย" การเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกและเป็นละเมิดในทางแพ่งนั้น การใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องกระทำโดยการคืนทรัพย์สินที่ยักยอกแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นลำดับแรก กรณีผู้ทำละเมิดไม่อาจคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงจะมีสิทธิเรียกให้ผู้ทำละเมิดใช้ราคาทรัพย์สินแทนเป็นลำดับถัดมา คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายรวม 19 ลำดับ แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แสดงว่าขณะฟ้องทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งหมดรวมทั้งสะพานไม้รอบบ่อ ยังอยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามสามารถคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ ทั้งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นของโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าร่วมไกล่เกลี่ยตกลงให้โจทก์ร่วมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารที่เช่าตลอดจนอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ร่วมก็มิได้โต้แย้งหรือเบิกความคัดค้านว่าสะพานไม้รอบบ่อสูญหาย หรือบุบสลายหรือถูกทำลายจนไม่อยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามจะคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ดูแลรักษาสะพานไม้รอบบ่อขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามจนสะพานไม้รอบบ่อได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในสภาพเดิม โจทก์ร่วมจึงไม่ขอรับสะพานไม้รอบบ่อคืนจากจำเลยทั้งสามโดยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาแทนโจทก์ร่วมสถานเดียว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" และวรรคสาม บัญญัติว่า "คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ ..." จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ให้โดยการยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญาในฐานความผิดที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็แต่เฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตตลอดจนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง การที่โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าประกอบกิจการร้านอาหารในที่ดินและอาคารที่เช่าของจำเลยที่ 1 เป็นผลมาจากโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่าที่ดินและอาคารต่อกันแล้วก่อนเกิดเหตุกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมขาดรายได้จากการขายอาหารจึงมิได้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องจึงไม่อาจนำค่าขาดรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายอาหารมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามชดใช้แก่โจทก์ร่วมได้ อย่างไรก็ตาม ตามคำขอของโจทก์ร่วมดังกล่าวพออนุโลมได้ว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมดแทนที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปใช้เป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งสามในลักษณะเป็นค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยทั้งสาม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2565 ตามมาตรา 1 (1) แห่ง ป.อ. กำหนดบทนิยามคำว่า “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังมิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2565 พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 มาตรา 7 (2) กำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้สิทธิข้าราชการที่มีเคหสถานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรสในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่มีบทบัญญัติให้ใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรานี้เฉพาะในขณะที่ข้าราชการยื่นขอใช้สิทธิ ดังนี้ จึงต้องตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าวต้องบังคับใช้ตลอดเวลาที่ข้าราชการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านจากทางราชการ กล่าวคือ ข้าราชการผู้ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านนั้นต้องไม่มีเคหสถานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรสในท้องที่ที่ตนไปประจำในช่วงเวลาที่ขอใช้สิทธินี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2565 เช็คทั้งสามสิบสี่ฉบับซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาทสิบเอ็ดฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายจำนวนเงินเท่ากันคือ 116,000 บาท และเป็นการลงวันที่ล่วงหน้าแล้วส่งมอบไว้ให้โจทก์ ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนทองคำแท่งแก่โจทก์ในแต่ละสัปดาห์ได้ จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระเงินตามจำนวนเทียบเท่าราคาทองแท่ง ณ เวลาวันทำบันทึกข้อตกลงนี้ และเมื่อพิเคราะห์บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญารับฝากทองคำแท่งในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดในการส่งมอบทองคำแท่งแก่โจทก์แล้วทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆ อีก ดังนี้ถือได้ว่าเช็คทั้งสามสิบสี่ฉบับไม่ได้ออกเพื่อชำระหนี้เฉพาะค่าทองคำแท่งล้วน ๆ ตามราคาที่โจทก์ซื้อ แต่ยังรวมค่าเสียหายอื่น ๆ ไว้อีก จึงแสดงว่าถ้าจำเลยที่ 1 คืนทองคำแท่งแก่โจทก์ได้โดยไม่ผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงินโดยถือการส่งมอบทองคำแท่งคืนโจทก์เป็นสาระสำคัญของสัญญา เช็คพิพาททั้งสิบเอ็ดฉบับจึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไว้เป็นประกันการคืนทองคำแท่งหรือคืนราคาพร้อมค่าเสียหายแก่โจทก์เท่านั้น มิใช่เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าซื้อขายทองคำแท่งตามน้ำหนักราคาทองคำแท่งอันจะถือว่าเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2565 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ ส. และ ม. มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคล ส. ป. และ ม. สำหรับปีภาษี 2539 ปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 และถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ทั้งสามคนมิได้เสียภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด ภาษีอากรซึ่งต้องเสียย่อมถือเป็นภาษีอากรค้างตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง แม้เพื่อให้ได้รับชําระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้ แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ยังอุทธรณ์การประเมิน และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ระยะเวลา 10 ปี ในการยึดและอายัดจึงยังไม่อาจเริ่มนับแต่วันแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ โดยหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โจทก์ ส. และ ม. อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจําเลยขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง และได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อเจ้าพนักงานของจําเลยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 วันที่ 20 กันยายน 2560 วันที่ 3 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นการมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วคำสั่งอายัดที่ให้อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร นั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ระบุจำนวนเต็มตามจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์และคณะบุคคลคงค้างชําระ ณ วันที่มีคำสั่งอายัดว่า ห้ามโจทก์และธนาคารจําหน่าย จ่าย โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นใด นอกจากนําส่งเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายจําเลยนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด และหรือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีเงินฝากเข้ามาในบัญชีภายหลังได้รับคำสั่งอายัด หาได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ในขณะนั้นไม่ ทั้งได้ความจาก ส. นิติกรชํานาญการของจําเลยว่า เจ้าพนักงานของจําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่เป็นคณะบุคคลไว้ 3 ราย มิใช่บังคับโจทก์เพียงผู้เดียว เมื่อรวมรายการทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดไว้ทั้งหมดแล้ว พบว่าทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่ได้มีการยึดและอายัดไว้มีราคาประเมินรวม 153,357,884.52 บาท ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะชําระหนี้ภาษีอากรค้าง ณ ปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 920,047,432.25 บาท ซึ่งจําเลยก็ได้ให้การไว้เช่นนี้ แต่โจทก์ไม่ได้นําสืบโต้แย้งถึงการยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวนและมูลค่าดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกินกว่าจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างโจทก์มีเงินภาษีที่ค้างชําระในฐานะที่เป็นบุคคลในคณะบุคคล ส. ป. และ ม. ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชําระร่วมกับ ส.และ ม. ทั้งหมด หาใช่รับผิดเพียง 1 ใน 3 ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2565 ความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยให้ผู้เสียหายทั้งห้ากู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มิใช่ว่าจำเลยจะต้องได้รับดอกเบี้ยจากผู้เสียหายทั้งห้าก่อน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2565 แม้ความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อมีการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนและโดยใช้ยานพาหนะแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยใช้ปืนอัดลมขู่ผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืนจนผู้เสียหายเกิดความกลัว แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าปืนอัดลมดังกล่าวมีคุณสมบัติและระบบการทำงานซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนได้ อันจะเป็นอาวุธปืนตามบทนิยามคำว่า “อาวุธปืน” แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กรณีจึงไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ และคดีต้องฟังข้อเท็จจริงว่าปืนอัดลมดังกล่าวมิใช่อาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แต่เป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน อันถือไม่ได้ว่าเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2565 ผู้ร้องทั้งสองทราบกำหนดนัดและผลคดีรวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับทนายของผู้ร้องทั้งสองได้โดยตลอด แม้ผู้ร้องทั้งสองอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ผู้ร้องทั้งสองมีทนายความในประเทศไทยที่มีอำนาจดำเนินคดีแทน และผู้ร้องทั้งสองสามารถติดต่อกับทนายความได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ เช่นนี้ ทนายความของผู้ร้องทั้งสองย่อมสามารถดำเนินการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่ผู้ร้องทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2565 คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตจำเลย จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะให้นับต่อกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง และโดยสภาพของโทษประหารชีวิตกับโทษจำคุกนั้นก็ไม่อาจนับโทษต่อกันได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2565 ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” อันมีความหมายว่าคำพิพากษาในส่วนอาญานั้นต้องถึงที่สุดแล้วและเป็นคู่ความเดียวกัน ทั้งข้อเท็จจริงที่คดีส่วนแพ่งจะต้องถือตามนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วย เมื่อปรากฏว่าคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดและโจทก์กับจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน จึงต้องพิจารณาเพียงว่าคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นประเด็นโดยตรงกับคดีนี้หรือไม่ ซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวทั้งสามศาลต่างพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โดยคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาของทั้งสามศาลต่างวินิจฉัยในประเด็นโดยตรงแห่งคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้จะมีรายละเอียดของการให้เหตุผลแตกต่างไปบ้างก็สืบเนื่องมาจากการวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์และข้อฎีกาของโจทก์ แต่ผลสุดท้ายแห่งคดีคือยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม อันเกิดจากการฟังข้อนำสืบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ในการพิพากษาคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการปลอมเช็คและใช้เช็คปลอม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565 จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจําเลยมีสินสมรสร่วมกันหลายรายการ สินสมรสบางรายการมีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับโจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้จําเลยกึ่งหนึ่ง จําเลยขอให้ศาลหมายเรียก ธ. บุตรของโจทก์และจําเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) เพื่อให้การจัดการสินสมรสเสร็จไปในคราวเดียวไม่ต้องไปฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมิได้แบ่งสัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินในสัดส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ประกอบกับมาตรา 1359 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่จําเลยให้การและฟ้องแย้งและหมายเรียกขอให้บังคับโจทก์และโจทก์ร่วมโอนที่ดินคืนแก่จําเลย จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่เป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันมิได้ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง บัญชีระบุพยาน ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาทำการแทนซึ่งกันและกันกับโจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อโจทก์ร่วมยอมรับเอาข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของโจทก์ทุกประการ จึงเป็นคําคู่ความและการดำเนินการของโจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมไม่จำต้องทำคำให้การใหม่เพื่อแก้คำให้การและฟ้องแย้งของจําเลย รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบในชั้นพิจารณาหักล้างข้อต่อสู้ของจําเลย ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างสมรสจําเลยโอนที่ดินที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หาโดยมิได้ระบุเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บังคับเฉพาะกรณีบุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีสามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย ส่วนที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2565 โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า ทางในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่ทางจำเป็น หากฟังว่าเป็นทางจำเป็น โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การรับว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางในที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจากโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ ดังนั้น การที่จะบังคับให้ใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยก่อนว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ปัญหาเรื่องการใช้ค่าทดแทนเป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นอันเป็นประเด็นสำคัญในคดี คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 30,000 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 20,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทางนั้น จำนวนค่าทดแทนที่โจทก์จะต้องใช้แก่จำเลยทั้งเจ็ดจึงขึ้นอยู่กับการใช้ทางจำเป็นของโจทก์ว่าเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าทดแทนเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าประเด็นเรื่องทางจำเป็นจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงเถียงกันในชั้นอุทธรณ์เฉพาะเรื่องจำนวนค่าทดแทนว่ามีเพียงใด ก็ไม่ทำให้คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้กลับกลายเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนเป็นเงินคนละ 140,000 บาท ซึ่งเป็นค่าทดแทนจำนวนเดียว มิใช่ค่าทดแทนเป็นรายปีก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ บัญญัติให้กำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้เป็นรายปีนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง หาใช่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่งไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2565 จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับจำเลย ได้แก่ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขบัตรเอทีเอ็มที่จำเลยเคยสมัครใช้บริการกับโจทก์ก่อนหน้านั้น ผ่านระบบแอปพลิเคชั่นที่โจทก์จัดไว้แก่บุคคลทั่วไปผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับสมาชิกขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำธุรกรรมถอนเงิน โอนเงิน หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อโจทก์ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยจริง โจทก์ส่งรหัสผ่านหรือที่เรียกว่าโอทีพีแก่จำเลยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่แจ้งทำธุรกรรมกับโจทก์เมื่อมีการยืนยันหมายเลขรหัสโอทีพีที่โจทก์ส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวส่งกลับมาถูกต้องโจทก์จึงอนุมัติให้จำเลยใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ หลังจากนั้นมีผู้ส่งคำสั่งขอถอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากบัตรเครดิตของจำเลย โจทก์เชื่อว่าเป็นคำสั่งของจำเลยจริงจึงส่งรหัสโอทีพีอีกรหัสหนึ่งสำหรับธุรกรรมในการถอนเงินครั้งนี้ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยในลักษณะเช่นเดียวกัน โจทก์ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจึงอนุมัติให้ทำรายการดังกล่าวตามคำสั่งจนเสร็จสิ้น แม้จำเลยจะอ้างว่าปัจจุบันไม่ใด้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว ทั้งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยได้รับการติดต่อจากคนร้าย และคนร้ายให้จำเลยเปิดใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม หลังจากนั้นจึงพบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์และจากบัตรเครดิตไปยังบุคคลภายนอก การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยให้คนร้ายนำข้อมูลของจำเลยไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบเยี่ยงผู้มีวิชาชีพ นั้น แม้โจทก์จะประกอบกิจการธนาคารอันเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและออกแบบธุรกรรมอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยที่เป็นข้อมูลที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยโดยเฉพาะ ยากที่บุคคลอื่นใดจะล่วงรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้ จะถือว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้คนร้ายนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์หาได้ไม่ ที่จำเลยคิดว่าที่คนร้ายระบุให้จำเลยไปทำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารโจทก์ อาจเป็นเพราะระบบความปลอดภัยของโจทก์ยังไม่ได้มาตรฐานเช่นของสถาบันการเงินอื่น นั้น เป็นเพียงการคิดวิเคราะห์ของจำเลย กับอ้างเพียงแต่ลอย ๆ ว่าไม่เคยได้รับหรือทราบรหัสโอทีพีที่โจทก์อ้างว่าส่งให้จำเลย ทั้งที่ยอมรับว่าเคยใช้โทรศัพท์หมายเลขที่โจทก์ใช้ในการติดต่อธุรกรรมดังกล่าว ทั้งเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะใช้ข้อมูลของจำเลยและรหัสโอทีพีที่รับส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยเพื่อสมัครเข้ารับบริการและออกคำสั่งถอนเงินจากบัตรเครดิตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2565 ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยาน โดยคู่ความมิได้โต้แย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้แถลงคัดค้านข้อเท็จจริงที่จำเลยแถลงยอมรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยตกลงกันในเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามทุนทรัพย์ในราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน มาวินิจฉัย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทำให้ราคาซื้อขายที่ดินเป็นราคาที่ต่ำกว่าเป็นจริง จึงเป็นโมฆะ เป็นผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนทั้งสิ้น จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 คือพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย โจทก์จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยฝ่ายเดียวตามหนังสือสัญญาหาได้ไม่
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2565 ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิหักค่าจ้างตามสัญญาที่ต้องชำระแก่โจทก์ไว้เป็นเงิน 798,962 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้เครื่องบินขับเฉี่ยวชนสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่งในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนผิดในความเสียหายดังกล่าวอยู่ด้วย จึงกำหนดให้โจทก์รับผิดในความเสียหายแก่จำเลยเพียงกึ่งหนึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 399,481 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหักกลบลบหนี้ระหว่างกันเพื่อความสะดวกในการบังคับคดี และให้จำเลยรับผิดคืนเงินที่หักไว้กึ่งหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีส่วนผิดในความเสียหาย หากแต่เป็นความประมาทของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงพิพากษายกฟ้อง กับบังคับตามฟ้องแย้งโดยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก 399,481 บาท เท่ากับว่าให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นเงิน 798,962 บาท ตามฟ้องแย้ง เมื่อหักกลบกับเงินค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างในวันฟ้องซึ่งจำเลยได้หักไว้เป็นค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระต่อกันอีก เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2565 จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินภายใต้ชื่อโครงการ “บ.” จำนวน 3 โครงการ โครงการทั้งสามเป็นโครงการต่อเนื่องอยู่ในบริเวณเดียวกัน ใช้สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะร่วมกัน และจัดตั้งโจทก์เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โครงการที่ 1 และที่ 2 จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และวันที่ 16 กันยายน 2548 ตามลำดับ ส่วนโครงการที่ 3 จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 แม้โจทก์จะมีที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งใช้ร่วมกันไว้แล้ว แต่สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงป้อมรักษาความปลอดภัยหน้าประตูทางเข้าหมู่บ้าน ดังนั้น เมื่อโครงการที่ 3 ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินภายหลังจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 อันเป็นเวลาที่ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดนโยบายการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นที่ตั้งสำนักงานของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ในการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ใช้บังคับ จำเลยจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศดังกล่าวโดยต้องก่อสร้างที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามลักษณะและขนาดพื้นที่ให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184 - 1187/2565 โจทก์ร่วมเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารให้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ ชำระหนี้อื่นแทนการชำระเงินสด ใช้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น ใช้ในการเบิกถอนเงินสด หรือใช้ในธุรกรรมอย่างอื่น ถือได้ว่าเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของมาตรา 1 (14) (ข) แห่ง ป.อ.ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านที่โจทก์ร่วมได้รับมา เป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารและโจทก์ร่วมในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยโจทก์ร่วมต้องเก็บรักษาเป็นความลับของตนมิให้ผู้ใดล่วงรู้ การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยการบอกข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้าง ก็เพื่อให้ทำธุรกรรมบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตแทนโจทก์ร่วมให้เป็นไปตามที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำ หาใช่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เกินกว่าที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำไม่ การที่จำเลยที่ 2 ใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านของโจทก์ร่วมโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ร่วมไม่ได้สั่งหรือมอบหมายให้ทำ ย่อมเป็นการทำโดยไม่มีอำนาจและโจทก์ร่วมไม่ได้ยินยอม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายสูญเสียเงินฝากในบัญชี จึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วมโดยมิชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2565 บันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง มีข้อความระบุไว้ในสาระสำคัญว่า โจทก์ทั้งสิบห้าตกลงถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้าทันทีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องเป็นคู่สัญญาระหว่างกัน โดยมีวัดแก้วฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งวัดแก้วฟ้ามีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาโดยตรงได้ แม้ผู้ร้องกับฝ่ายโจทก์จะไม่มีมูลหนี้ต่อกันและกรณีมิใช่สัญญาให้ที่ผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินดังกล่าวแก่วัดแก้วฟ้าจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 523 ทั้ง ส. ตัวแทนวัดแก้วฟ้าแถลงต่อศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมว่า วัดแก้วฟ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หากจะให้วัดแก้วฟ้าชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรับเงินดังกล่าว โดยยังไม่ทราบว่าจะนำเงินไปดำเนินการในกิจการใด ไม่สามารถกระทำได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 วัดแก้วฟ้ายื่นใบแจ้งความประสงค์ต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินดังกล่าวซึ่งผู้ร้องวางไว้ อันเป็นการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำขึ้นระหว่างกัน สิทธิของวัดแก้วฟ้า ตามบันทึกข้อตกลงย่อมเกิดมีขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรสำหรับที่ดินในโครงการที่กล่าวไว้ในบันทึกข้อตกลงซึ่งมีแนวเขตที่ดินที่ผู้ร้องประสงค์ให้วัดแก้วฟ้ามาชี้ระวังแนวเขตที่ดินด้วย เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะต้องรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2626 และ 2627 ของผู้ร้องตามแนวตะเข็บที่ดินที่ติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างที่ดินของผู้ร้องกับวัดแก้วฟ้าออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 49728 หรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงซึ่งระบุให้ผู้ร้องต้องถวายเงินแก่วัดแก้วฟ้า ผู้ร้องจึงต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ร้องหาอาจระงับสิทธิของวัดแก้วฟ้าโดยขอรับเงินที่วางไว้คืนไปจากศาลได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375โจทก์ทั้งสิบห้า จำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้า ด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นสืบเนื่องจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบห้าในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อให้เกิดสภาพบังคับตามบันทึกข้อตกลงได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2565 สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี แต่แบ่งแยกความรับผิดในแต่ละกรณีต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายปกติ ทั้งข้อสัญญายังสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงนำสืบพยานฝ่ายเดียวคงนำสืบพอให้เห็นว่าข้ออ้างตามคำฟ้องของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปดังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า ความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้มิได้ขยายความว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไร แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อให้ต้องตำหนิหรือไม่เชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์ เมื่อพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เคยชี้แจงต่อโจทก์หรือบอกเล่าให้บุคคลใดทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่อาจคาดหมายได้และมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 รวมไปถึงการที่จำเลยทั้งสองขาดนัดไม่ยื่นคำให้การ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถยนต์เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเฉพาะ พยานหลักฐานของโจทก์พอเห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องเรื่องเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่หนี้ค่าเสียหายเท่ากับสัญญาเช่าซื้อส่วนที่เหลือตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นหนี้หลักที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เสียหายหรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดังเดิม และไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไปได้ ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยแทนที่ไม่แตกต่างจากหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อพึงต้องปฏิบัติ เมื่อมีการเลิกสัญญาหาใช่ความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2565 แม้ ป.อ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษคดีหลังก็ตาม แต่คดีก่อนที่ศาลรอการลงโทษไว้ก็ต้องอยู่ภายใต้อายุความการบังคับโทษตาม ป.อ. มาตรา 98 ด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 652/2554 ของศาลจังหวัดลพบุรีว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยศาลจังหวัดลพบุรีพิพากษาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 คดีจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ซึ่งอายุความการบังคับโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 652/2554 ของศาลจังหวัดลพบุรี คือ 5 ปี นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 98 (4) คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 และมีคำขอให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 652/2554 ของศาลจังหวัดลพบุรี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอบังคับโทษจำคุกจำเลยซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว การนับระยะเวลาว่าจะบวกโทษจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้หรือไม่ จึงต้องนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยในคดีดังกล่าว คือวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 เมื่อนับถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ได้ตัวจำเลยมาเพื่อรับโทษเกินกำหนดเวลาห้าปีเป็นอันล่วงเลยการลงโทษตามมาตรา 98 (4) แล้ว ดังนั้น ศาลที่พิพากษาคดีนี้จึงไม่อาจ บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 652/2554 ของศาลจังหวัดลพบุรี เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2565 ตามข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมได้ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและได้รับเลือกจากที่ประชุมในขณะนั้นให้เป็นประธาน พ. ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่ได้รับมอบฉันทะจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โดยตามหนังสือมอบฉันทะระบุว่า ให้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนผู้คัดค้านที่ 2 พ. จึงมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนตามที่ได้รับมอบฉันทะเท่านั้น ไม่มีอำนาจกระทำการอื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวหาทำให้ พ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดไม่ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสถานะเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นแทนได้ การที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเลือก พ. เป็นประธาน แล้ว พ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นย่อมขัดต่อข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจทำให้การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการประชุมและลงมติโดยไม่ชอบ จึงต้องเพิกถอนการลงมติในการประชุมครั้งดังกล่าว
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2565 แม้เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และจําเลย (ผู้ขาย) มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดตาม ป.รัษฎากรก็ตาม แต่คู่กรณีอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ข้อ 2 ระบุว่า “ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากรเองทั้งหมด โดยผู้ซื้อไม่สามารถนําใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือค่าอากรแสตมป์มาขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้” และประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดินระบุว่า “ผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากร” ซึ่งประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวได้ระบุภาระหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าอากรตาม ป.รัษฎากรไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อผู้ร้องได้ทราบประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาก่อนและเข้าร่วมประมูล จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้ยอมรับและตกลงกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะปฏิบัติตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับตาม ป.รัษฎากร ไม่ได้ห้ามคู่กรณีที่จะตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับภาระชําระภาษีเงินได้ รวมทั้งไม่ได้ห้ามบุคคลอื่นชําระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์แทนผู้ขายหรือผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด คำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดิน และข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กําหนดให้ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ขัดต่อ ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีรับจ่ายและคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้ร้องชําระแทนจําเลยไป 49,568,500 บาท ให้แก่ผู้ร้อง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565 ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยแม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2565 แม้สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ขอให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นหนังสือบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 6 ทราบภายในหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2565 หากโจทก์ผู้รับจ้างปฏิบัติผิดข้อกำหนดตามที่ระบุในสัญญา จำเลยผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้า จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและค่าปรับที่จำเลยเรียกจากโจทก์สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยคิดค่าปรับจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดค่าปรับซึ่งเป็นเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืน เพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917 - 1041/2565 โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบฟ้องอ้างว่าจำเลยก่อสร้างสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแผนผังโครงการและแบบก่อสร้างที่ได้ขออนุญาตและเรียกค่าเสียหาย เป็นการอ้างว่าจำเลยกระทำการผิดสัญญาจะซื้อจะขายและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรที่ดิน ทำให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแชมปรับปรุงพื้นที่สาธารณูปโภค เป็นกรณีที่จำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องอันเป็นการผิดสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่จำเลยส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งโดยสัญญา จึงไม่นำอายุความในข้อความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องมาปรับใช้แก่คดีนี้ และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องผู้ขายส่งมอบทรัพย์ไม่ตรงตามสัญญาซึ่งทรัพย์ที่ส่งมอบเป็นบ้านจัดสรรที่ผู้ขายก่อสร้างเองฝ่ายเดียว ผู้ซื้อซึ่งเป็นวิญญูชนไม่มีทางทราบได้เลยในขณะทำสัญญาหรือแม้แต่ขณะรับมอบบ้านว่าจำเลยได้ถมดินในบริเวณโครงการสูงกว่าถนนสาธารณะ 30 เซนติเมตร ตามแผนผังโครงการที่ขออนุญาตจัดสรรไว้หรือไม่ และในความจริงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้วยจึงจะทราบข้อเท็จจริง กรณีเช่นว่านี้จึงต้องถือว่าเวลาที่ผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือเวลาที่ผู้ซื้อทราบความจริงจากผู้เชี่ยวชาญว่าที่ดินโครงการมีระดับต่ำกว่าที่ระบุในแผนผังโครงการที่จำเลยยื่นต่อทางราชการ เมื่อโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบทราบถึงการส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องเนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ นับถึงวันฟ้องวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คดียังไม่ล่วงพ้นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบอาจบังคับสิทธิเรียกร้อง คดีโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบจึงไม่ขาดอายุความโจทก์ที่ 79 เพิ่งทราบข้อเท็จจริงที่แน่นอนชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้ดำเนินการตามแผนผังการจัดสรรเนื่องจากกรณีนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ ประกอบกับไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 79 ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดหรือไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งจำเลยให้การว่าได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินตามแผนผังจัดสรรไม่ได้ผิดสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด อันเป็นการแสดงว่าจำเลยยังปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้อยู่ และ ป.พ.พ. มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์ที่ 79 ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นการใช้สิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามปกติ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2565 การสับเปลี่ยนธนบัตรฉบับจริงของผู้เสียหายทั้งสี่และได้ไปซึ่งธนบัตรฉบับจริงของผู้เสียหายทั้งสี่ตามที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่การที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีธนบัตรปลอมไว้แล้วนำออกใช้สับเปลี่ยนกับธนบัตรฉบับจริงของผู้เสียหายทั้งสี่เป็นการมีไว้เพื่อนำออกใช้ตามความใน ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการรับธนบัตรนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอม ไม่ใช่เมื่อมีการนำออกใช้ การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จำเลยกับพวกย่อมมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกันและสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศปลอม ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2565 โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถชนท้ายรถซึ่งผู้ตายขับรถแล่นอยู่ในทิศทางเดียวกัน และความประมาทเกิดจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น นั้น เห็นว่า ผู้ตายเป็นสามีโจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคท้าย มาตรา 438 วรรคหนึ่งและมาตรา 443 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำสืบและอ้างถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะแล้ว จึงมีข้อเท็จจริงที่ชอบจะวินิจฉัยค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยค่าเสียหายส่วนนี้ไป ส่วนค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนี่ง บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย โดยค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวศาลจะพิจารณาตามสมควรตามความจำเป็น ทั้งพิจารณาตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้รับผิดเต็มวงเงินประกันนั้น เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่เกินวงเงินความคุ้มครองรวมของทั้ง 2 กรมธรรม์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2565 แม้ผู้ร้องไม่ได้ส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 335 วรรคสอง ก็มิได้ทำให้บุริมสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 (2) ต้องเสียไป และเมื่อผู้ร้องส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคท้าย ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแล้ว ย่อมทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอยู่ในลำดับก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2565 จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด แต่หากจำเลยที่ 6 มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติแล้ว จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1176 และ 1185 แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ได้ออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้มีข้อพิจารณาว่ามติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นมติพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หาได้เป็นการลวงว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 47การกระทำความผิดตามมาตรา 42 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทขาดประโยชน์อันควรได้ แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)การทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนหลักประกันของบริษัทตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) นั้น หมายถึงหลักประกันที่บริษัทได้รับเข้ามา หาใช่ทรัพย์สินของบริษัทที่นำไปใช้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิด
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2565 การจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่า มีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อช่วยเหลือนำพาคนต่างด้าวทั้ง 17 คน ให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวทั้ง 17 คน เข้ามาในราชอาณาจักรย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้ง 17 คน เข้ามาในราชอาณาจักร แต่เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้ง 17 คน พ้นจากการจับกุมจึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ ทั้งจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนีร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้รถกระบะของกลางนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และช่วยเหลือคนต่างด้าวเดินทางข้ามหลายจังหวัด การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงมิได้ใช้รถของกลางอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป แต่เป็นการใช้รถกระบะของกลางกระทำความผิดโดยตรง ตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2565 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสามารถพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งขึ้นมาวินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และพิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้ศาลสามารถนำพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งมาวินิจฉัยในคดีส่วนอาญาได้ ทั้งปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา เมื่อคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งจึงไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่งในคดีส่วนอาญาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้คู่ความจะนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง การรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 และมาตรา 223 นั้น หากข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทด้วย ศาลก็เพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น แต่ไม่อาจด่วนพิพากษาให้ความรับผิดค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นพับและยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้ เพราะต้องถือว่าข้อเท็จจริงในคดีอาญายุติตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องก็บ่งชี้อยู่ว่าจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง โดยมิได้วินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยตามพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2565 การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานและขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองเอกสาร ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้รับเพียงสำเนาใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ต้นฉบับใบหุ้นกู้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคสาม (2) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานชอบแล้ว การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารเมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2565 ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อมีคำสั่งยึดแล้ว บุคคลใดจะทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 12 ทวิ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้ว่าผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปดำเนินการจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์แล้ว แต่ก็เป็นการดำเนินการหลังจากที่ผู้ร้องสอดยึดที่ดินพิพาทไว้แล้ว อันมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การจดทะเบียนที่ดินนั้นชอบหรือไม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดไว้เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดในชั้นบังคับคดีตามรูปคดีต่อไป
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2565 เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้ว ภายใต้บังคับมาตรา 90/58 (2) ประกอบมาตรา 130 (6) สิทธิของกรมศุลกากรและกรมสรรพากรเจ้าหนี้รายที่ 66 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น หนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่แล้วหรือจะมีขึ้นต่อไปก็อาจถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ได้ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 35 - 36/2544 แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถใช้ดุลพินิจเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการที่ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากมูลหนี้ภาษีอากรได้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 นั้น หลังจากที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนแล้ว จะต้องให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง แผนจึงจะมีผลบังคับผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้บริหารแผนมีหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนและดำเนินการชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ การที่แผนจะกำหนดให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปตกลงกันต่างหากในสาระสำคัญนอกเหนือจากแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วไม่อาจทำได้ และตามบทบัญญัติมาตรา 90/61 เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ เว้นแต่แผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ ซึ่งแผนจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่า จะให้เจ้าหนี้รายใดที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด ซึ่งข้อเสนอในแผนดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และได้รับความเห็นชอบจากศาล ซึ่งกรณีดังกล่าว ศาลย่อมจะต้องพิจารณาถึงเหตุอันสมควรและความเป็นธรรมในการที่แผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้แม้แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ลูกหนี้โดยผู้บริหารแผนพิจารณาร่วมกันกับคณะกรรมการเจ้าหนี้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางการค้าปกติที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยนำวิธีการและเงื่อนไขเดียวกับเจ้าหนี้ตามแผนในลักษณะหนี้ประเภทนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มิได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ในแผนว่าเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีรายใดบ้างและมีจำนวนหนี้เท่าใด ซึ่งมีผลให้การได้รับชำระหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนส่วนนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ข้อนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อกำหนดในแผนข้างต้น เป็นข้อกำหนดที่ไม่เป็นข้อสำคัญอันจะทำให้แผนฟื้นฟูกิจการทั้งฉบับตกไปเสียทีเดียว แผนส่วนอื่น ๆ ยังใช้บังคับได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2565 แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) แต่คำขอท้ายฟ้อง โจทก์ไม่ระบุมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกินคำขอและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ความผิดข้อหาเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตหรือหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม ป.ที่ดิน มาตรา 67 เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยย้ายหลักเขตที่ดินกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลกำหนดให้จำเลยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจำเลยไม่จำเป็นต้องกระทำการด้วยตนเองโดยตรง และหากไม่ดำเนินการโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกกระทำการแทน โดยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 358
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2565 ตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ.2559 มาตรา 31 ศาลมีอำนาจรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 30 โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานประกอบ แต่ก็เป็นเพียงการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น มิใช่นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นอ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจให้จำเลยฟัง จำเลยก็ขอสละถ้อยคำในเชิงปฏิเสธไปแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงในรายงานการสืบเสาะและพินิจมารับฟังลบล้างคำรับสารภาพของจำเลยในข้อหาตามที่ถูกฟ้องได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2565 หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครนายกมีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้วจะถอนฟ้องไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วในเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยและคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามมาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามมาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2565 การที่จะพิจารณาได้ว่าทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกถึงขนาดถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากพิจารณาถึงการกระทำของผู้กระทำแล้ว ยังต้องคำนึงเจตนาของผู้กระทำและผลของการกระทำนั้นเป็นสำคัญด้วยว่า มีเจตนาทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ เมื่อเจ้ามรดกมรณภาพ ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาททันที ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามสัดส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม เว้นแต่ทายาททั้งหมดสมัครใจตกลงยินยอมให้แบ่งปันเป็นอย่างอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาททุกคนสมัครใจตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นอย่างอื่น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเพียงผู้เดียว ไม่ยินยอมแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยอ้างว่า ก่อนเจ้ามรดกมรณภาพได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ตน ซึ่งความจริงแล้วก่อนเจ้ามรดกมรณภาพไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หรือทายาทคนใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรวบรวมอีก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิได้รับมรดกดุจเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 สำคัญผิดหรือเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทตกทอดแก่ตนเพียงผู้เดียว ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะจดทะเบียนแบ่งปันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทในภายหลังเพราะการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลักษณะดังกล่าวต้องกระทำสองทอดและต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนถึงสองครั้ง ประกอบกับที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนที่ดินเป็นโฉนด การที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยและมีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของ ส. ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม มีผลก่อเกิดทรัพยสิทธิจำนองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองจะระงับสิ้นไปเมื่อหนี้กู้ยืมเงินที่เป็นประกันระงับด้วยเหตุประการอื่นใดที่มิใช่เหตุอายุความ หาก ส. ผู้กู้และจำเลยที่ 1 ผู้จำนองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองย่อมใช้สิทธิบังคับจำนองและฟ้องคดีเพื่อให้ศาลสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทและให้ขายทอดตลาดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองผู้เดียวไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทและนำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ภริยาตนเองไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม แม้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นของบุคคลอื่นอีกก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยมีเจตนาฉ้อฉลหรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกได้ตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้วโดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ปิดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกมรณภาพก็ตาม บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกสืบมรดกของเจ้ามรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ตายแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตกแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของตน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารตาม พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 การรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” และไม่ปรากฏพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่า ส. ภริยาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดินปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางมรดกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลอีกต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ม. ทายาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทน ไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกสามในสี่ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จึงไม่อาจบังคับให้มีผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่ทายาทของเจ้ามรดกต้องไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 252
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2565 คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดเพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสามหาจำต้องอุทธรณ์ในประเด็นนี้ไม่ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นอื่น จำเลยทั้งสามได้กล่าวคำแก้อุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสามชัดแจ้งและฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การชัดแจ้งว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อไร จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การชัดแจ้งเรื่องอายุความตามสัญญาประกันภัย ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้กระทำละเมิดตามคำให้การย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว เฉพาะคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นประเด็นในคดี โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 4677/2560 ของศาลชั้นต้น กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่า คดีอาญาถึงที่สุดก่อนโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง การฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/32 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันเกิดเหตุละเมิด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นตันไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จึงไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2565 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 โดยอ้างว่า ส. ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ส. ให้แก่จำเลยโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมีเพียงว่าให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องโดยรวมที่โจทก์บรรยายว่านำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลย และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวประกอบด้วยแล้วแปลเจตนาของโจทก์ได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในสภาพที่มีการเพิกถอนนิติกรรมการให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องและนิติกรรมรายนี้มีการทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ทำเป็นหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลก็ย่อมพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ทำตามแบบดังกล่าวได้ทั้งหมด และเมื่อนิติกรรมการให้ถูกเพิกถอนก็ย่อมทำให้ที่ดินพิพาทกลับตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับ ส. ดังเดิม จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงต้องส่งมอบที่ดินพร้อมโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่าง ส. กับจำเลยในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการได้เองตาม ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทย่อมกลับมีชื่อของ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลของคำพิพากษา ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติโดยการแสดงเจตนาอีก จึงไม่จำต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2565 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ภายในบ้านพักที่ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราและออกจากบ้านพักดังกล่าวแล้ว จำเลยเรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเพื่อให้เงินและมีการโอบกอดผู้เสียหายที่ 2 แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่นอันเป็นการพาไปหรือแยกออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ยังไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2565 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินขึ้นตามที่โจทก์ขอร้องให้ช่วยเหลือเพื่อโจทก์นำไปใช้แสดงแก่ภริยาให้เชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินตามสัญญากู้ดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีการกู้เงินและรับเงินตามสัญญากันจริง สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดจากการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณีตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญากู้เงินมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ได้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2565 จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปติดต่อกับครอบครัวของโจทก์ทั้งสอง จนครอบครัวโจทก์ทั้งสองทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 กับสมาชิกในทีมดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวทำใบคำขอเอาประกันชีวิตยื่นต่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินชั่วคราวแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 9 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้ มามอบให้แก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัว เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่า สามารถเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ใหม่ ทุนประกันเท่าเดิม แต่จะได้รับความคุ้มครองที่ดีกว่าเดิม ย่อมเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตัวแทนประกันชีวิตที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว พนักงานอัยการจะฟ้องเป็นคดีอาญา และศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว แต่คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทจึงต่างจากคดีอาญา ไม่จำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเวนคืนกรมธรรม์เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์และขอรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติ ก็รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และออกใบรับเงินชั่วคราวในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นหลักฐานการรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการเปลี่ยนแบบหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ตามที่เสนอขายแก่โจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปและไม่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะตัวการไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 และ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 70/1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 71 วรรคสอง ตัวแทนประกันชีวิตไม่อาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัท และมีผลให้การชักชวนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คำเสนอในการทำสัญญาประกันชีวิต แต่การชักชวนให้โจทก์ทั้งสองเปลี่ยนหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่โดยเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม เพื่อนำเงินมาชำระเป็นเบี้ยประกันภัย เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถือเป็นคำเสนออย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงจึงเป็นคำสนองและเกิดสัญญาต่างตอบแทนขึ้น โดยโจทก์ทั้งสองเมื่อได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แล้ว ก็ต้องชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเดิมให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 ให้สัญญาไว้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยโจทก์ทั้งสองอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จนครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความเมื่อสัญญาต่างตอบแทนมีสภาพบังคับได้และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ โจทก์ทั้งสองย่อมมีคำขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอท้ายฟ้องได้ อย่างไรก็ดีเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ กรมธรรม์ 2 ฉบับแรก จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้ว ส่วนกรมธรรม์อีก 2 ฉบับ แม้จะยังไม่ครบกำหนด แต่เมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา กรรมธรรม์อีก 2 ฉบับ ก็จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้วเช่นกัน น่าเชื่อว่าการที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ก็เพื่อที่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากโจทก์ทั้งสองถือกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ไว้จนครบกำหนดแล้วเป็นสำคัญ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากกรมธรรม์ทั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้ว กรณีย่อมไม่จำเป็นต้องบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกต่อไปศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในคดีนี้เท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากไม่มีการเวนคืนกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนกับคำพิพากษาในคดีอาญาที่ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น หากโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวเพียงใด ก็ให้นำมาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในคดีนี้
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2565 ในการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาในสัญญาและไม่ครบจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ โจทก์ก็ยอมรับชำระไว้ทุกครั้งโดยไม่ได้ทักท้วง พฤติการณ์ย่อมแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีจึงถือว่าเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน และจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือนให้ชำระหนี้ก่อน แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 และวันที่ 1 เมษายน 2562 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 และต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับไว้เองในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 กรณีจึงถือได้ว่า เป็นการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2565 ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถประเภทผู้ขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลสามารถพิพากษาลงโทษโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ต่อมาจำเลยอุทธรณ์โดยแนบสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถทุกประเภทชนิดที่ 4 มาท้ายอุทธรณ์ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาได้รับใบอนุญาตจึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในสำนวน ศาลอุทธรณ์ควรสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในปัญหาที่ว่าจำเลยมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถดังที่อ้างหรือไม่เสียก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 228 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ตามที่อ้าง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2565 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5... ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” เห็นได้ว่า การยื่นคำร้องต่อศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องยื่นในระหว่างพิจารณา ก่อนคดีถึงที่สุด คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ในลักษณะการประชุมทางจอภาพ จึงถือว่า คดีถึงที่สุดในวันดังกล่าว จำเลยยื่นคำร้องขอให้ส่งข้อโต้แย้งของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ภายหลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2565 ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรก็เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตามองค์ประกอบของความผิดสองฐานนี้ จึงอาจเป็นความผิดต่างกรรมกันได้ แต่เมื่อการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) และ (2) มีองค์ประกอบของความผิดในลักษณะเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าการเข้าเป็นสมาชิกหรือการสมคบกันนั้นก็เพื่อจะกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันและโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ ดังกล่าวสำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างกรรมกัน ซึ่งปัญหาว่าการกระทำความผิดเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2565 พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 12 บัญญัติว่า “บรรดาคดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานอัยการ และศาล ดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” ดังนั้น กรณีที่มีคำสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 และค้างการพิจารณาอยู่ไม่ว่าในชั้นใด ก็ต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อคดีนี้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินก่อนประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเสพติด พ.ศ.2534
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2565 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายฟ้องข้อ 1 (ค) ว่าจำเลยโดยมีเจตนาฆ่าใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่มีและพาติดตัวไปตามฟ้องข้อ (ก) และ (ข) ยิง น. ผู้เสียหายจำนวน 2 นัด ถูกข้อเท้าและหน้าอก และใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิง ต. ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1 นัด ถูกที่ลำคอ แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวตีทำร้าย จ. ผู้เสียหายที่ 3 ที่ศีรษะหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยลงมือกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 แล้วแต่ไม่บรรลุผล เนื่องจากแพทย์รักษาไว้ได้ทัน ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ถึงแก่ความตาย แต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน กับผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย แม้โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 (ค) รวมกันมาก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องแยกข้อเท็จจริงที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคน ในลักษณะที่เข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำแต่ละครั้งมีจุดประสงค์ต่อผู้เสียหายเป็นคน ๆ ไป อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกันในแต่ละครั้ง ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องในตอนแรกแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 ก็เป็นการเพียงพอให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในแต่ละข้อหาแยกกรรมต่างหากจากกัน ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบประกอบคำรับสารภาพ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าขณะจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 มิได้อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้เสียหายที่ 2 และตอนที่จำเลยใช้อาวุธตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เกิดหลังจากที่ยิงผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน แต่แยกเจตนาของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนได้การกระทำเป็นความผิดสำเร็จต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรม
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2565 โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ให้แก่จําเลย มิใช่ให้จําเลยถือครองที่ดินแทนโจทก์ และตามสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 30376 ดังกล่าวมาโดยการรับโอนมรดก ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จําเลยโดยไม่ได้ระบุว่า ให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจําเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) และ 1474 (2) จําเลยย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวได้เอง ตามมาตรา 1473 ดังนั้น การที่จําเลยจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ผ. ไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่จําต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดินของจําเลยหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวแก่จําเลยในระหว่างสมรส อันเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกล้างเสียในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่เมื่อจําเลยได้ขายที่ดินไปเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ประกอบกับหลังจากปี 2559 โจทก็ไม่ได้ส่งค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่จําเลย เนื่องจากจําเลยผิดข้อตกลงเรื่องหย่า และโจทก์คิดว่าจําเลยมีเงินส่งเสียบุตร เพราะจําเลยขายที่ดินที่โจทก์ยกให้ไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมโดยปริยายให้นําเงินที่ได้จากการขายที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจําเลยและบุตรของโจทก์ เฉพาะอย่างยิ่งบุตรโจทก์กําลังศึกษาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงไม่เป็นกรณีที่โจทก์จะฟ้องขอให้จําเลยคืนเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อีก
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2565 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต มีโจทก์ร่วมอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเรื่องโทษโดยขอให้ลงโทษสถานหนักให้ประหารชีวิตจำเลยเท่านั้น ถือว่าประเด็นที่ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เฉพาะในส่วนของโทษจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิต เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคดีในประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้วินิจฉัยเพราะโจทก์ร่วมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เฉพาะโทษที่จะลงแก่จำเลยจึงเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนในส่วนของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาในประเด็นนี้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้มานั้นไม่ชอบ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2565 แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างก่อน ป.วิ.พ. มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 มาตรา 20 มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 5 กันยายน 2560 แต่ผู้ร้องยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดหลังจากวันดังกล่าว จึงต้องนําบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มาบังคับใช้แก่คดี ซึ่งตามมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “... ให้ยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคําร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคําร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคําร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคําร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น” เมื่อมีการยึดที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ก่อนวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับ การที่จะยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันยึดทรัพย์โดยที่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ยังไม่ใช้บังคับจึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งก่อนคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินมาก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด ผู้ร้องจึงมายื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นคดีนี้ จึงถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึดผู้ร้องเคยยื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินมาก่อน ตามคําร้องคดีก่อนเป็นการขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงานและบ้านพักคนงาน แต่คําขอท้ายคําร้องกลับขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงานและโรงเก็บของ ซึ่งโจทก์ยื่นคำให้การโต้แย้งไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ผู้ร้องมิได้มีคําขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงาน แต่ผู้ร้องมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว จนศาลชั้นต้นคดีก่อนมีคําวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ปล่อยทรัพย์สินโรงเก็บของ มิได้ขอให้ปล่อยอาคารโรงงาน ให้ยกคําร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคําสั่งไม่รับฎีกา คดีจึงถึงที่สุด แม้ผู้ร้องมายื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินขึ้นใหม่เป็นคดีนี้โดยมีคําขอท้ายคําร้องขอครบถ้วน แต่ก็เป็นการยื่นคําร้องขอโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ผู้ร้องอาจแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนคําขอท้ายคําร้องในคดีก่อนเพื่อให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปพร้อมกับประเด็นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงาน การที่ผู้ร้องหยิบยกข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีก่อนมาร้องเป็นคดีนี้อีก เท่ากับเป็นการแก้ไขคําร้องขอในคดีเดิมให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับผู้ร้องคดีก่อนรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2565 จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 19 นาฬิกา แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แม้เวลา 24 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปค้างคืนที่บ้านของ น. แต่ก็กลับมาที่บ้านของจำเลยอีกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 6 นาฬิกา แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจารเช่นเดิม จนเวลา 13 นาฬิกา จำเลยจึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่บ้านของ ส. โดยตั้งแต่จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาจนพากลับไปส่งดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้กลับบ้านไปหาผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 กลับมาที่บ้านของจำเลยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 จึงไม่เป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 2 อีกเป็นครั้งที่สอง
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2565 ได้ความจากร้อยตรี ณ. ว่าวันเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการของพยานเฝ้าระวังอยู่ที่บริเวณแยกหนองสังข์ ส่วนพยานคอยตรวจเส้นทางระหว่างตำบลหนองสังข์ไปยังอำเภอโคกสูง จนกระทั่งเวลา 14 นาฬิกา ได้รับแจ้งจากชุดระวังหน้าว่ามีรถเป้าหมายเข้าพื้นที่เป็นรถกระบะสีขาวและรถกระบะสีบรอนซ์ขับตามกันมา พยานสวนกับรถเป้าหมายจึงกลับรถเพื่อติดตามรถเป้าหมายไป ต่อมาเมื่อจับกุมจําเลยทั้งสี่ ได้ตรวจค้นรถกระบะคันที่จําเลยที่ 1 ขับ ก็พบรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนสี่คันของกลาง ชั้นจับกุมจําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าไม่ทราบชื่อให้ขนส่งนํารถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันมาส่งบริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา เขตอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว แล้วจะมีคนมารับช่วงนําข้ามไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา โดยได้ค่าจ้าง 7,000 บาท ส่วนจําเลยที่ 3 รับว่าจะเป็นผู้รับช่วงต่อจากจําเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนํารถจักรยานยนต์ส่งออกไปจําหน่ายยังประเทศกัมพูชา ตามบันทึกการจับกุม ซึ่งคำให้การชั้นจับกุมนี้ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย จะห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานแต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุมของจําเลยที่ 3 ประกอบคําเบิกความพยานโจทก์ผู้จับกุมและพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์อ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พฤติการณ์ของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ที่รับจ้างขนส่งรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนจำนวนมาก แต่อ้างว่าไม่รู้ว่าผู้รับจ้างเป็นใคร กลับส่อแสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 และที่ 2 ปกปิดการกระทำความผิดโดยรู้ว่าเป็นการนํารถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันของกลางออกนอกราชอาณาจักร และการที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนของกลางบรรทุกมากับรถกระบะ เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจุดเกิดเหตุ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา เพียง 3 กิโลเมตร เพื่อจะส่งมอบแก่ผู้รับช่วงนํารถจักรยานยนต์ดังกล่าวส่งข้ามชายแดนไปประเทศกัมพูชาถือได้ว่าการกระทำของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานพบเห็นและจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียก่อน จําเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร มิใช่ไม่เป็นความผิดเพราะไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิดดังที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาการกระทำของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว รวมทั้งเหตุผลความจําเป็นประการอื่น ก็ยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2565 ตามสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุในใบสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดว่า ผู้กู้ตกลงที่จะชำระคืนหนี้ต้นเงินกู้ ตามจํานวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนในวันที่ครบกําหนดชําระเงินซึ่งระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โดยผู้กู้จะเลือกชําระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำในแต่ละเดือนเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือนหรือจํานวน 500 บาท แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่ากันและ/หรือในอัตราขั้นต่ำอื่น ๆ ที่ธนาคารประกาศกําหนดในแต่ละขณะตามจํานวนที่ธนาคารระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีก็ได้ ตามสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องชําระค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินโดยแบ่งชําระเป็นงวดรายเดือนในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือน ซึ่งสัญญาตามกําหนดให้จําเลยชําระเพียงจํานวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชําระ แม้ธนาคารจะนําไปหักชําระเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยบางส่วน แต่หากจําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามสัญญาและภายในกําหนดจําเลยต้องชําระเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอันเป็นข้อตกลงว่าจําเลยอาจชําระหนี้ในอัตราขั้นสูงเพียงใดก็ได้ และสัญญามิได้กําหนดให้จําเลยต้องผ่อนทุนคืนเป็นเวลากี่งวด สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลจึงไม่มีลักษณะผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ กรณีดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องที่มีกําหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจําเลยทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องแห่งภาระหนี้ และการผ่อนปรนชําระหนี้ มิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันทําให้หนี้เดิมตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลระงับ จึงเป็นกรณีที่จําเลยรับสภาพหนี้ต่อธนาคารเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความสินเชื่อส่วนบุคคลตามมาตรา 193/15 เมื่อจําเลยผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 และเริ่มนับอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์นับแต่นั้นมา เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความเมื่อธนาคาร ย. เจ้าหนี้เดิมทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีต่อจําเลยให้แก่โจทก์ จําเลยจึงต้องรับผิดในต้นเงินค้างชําระ ส่วนที่โจทก์ขอใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับจําเลยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราเดิมที่ธนาคารมีสิทธิคิดจากลูกหนี้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ณ วันที่ได้รับโอนสินทรัพย์มา ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิจากธนาคารเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ประกาศธนาคาร ย. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กํากับ ฉบับที่ 002/2559 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 ระบุอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ (ต่อปี) สําหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 28 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 28 ต่อปี โดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคาร ย. คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดอัตราร้อยละ 26.5 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยผิดนัดเป็นการกําหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอํานาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 เห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 27 ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้จนกว่าจะชําระเสร็จ แต่เมื่อจําเลยยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชําระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคําให้การ จึงกําหนดให้จําเลยรับผิดชําระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2565 แม้จำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากบ้านที่อยู่อาศัยด้วยกันก็ตาม แต่การที่จำเลยปิดล็อกประตูขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากห้องนอนแล้วกระทำชำเราพร้อมข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ถึง 11 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 โดยให้ผู้เสียหายที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลย และจำยอมให้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2565 คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งแรกของจำเลยไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย ถือว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยไปแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาครั้งต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาครั้งหลัง อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 มาตรา 144 วรรคหนึ่ง และถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2565 ป.พ.พ. มาตรา 1144 บัญญัติว่า "บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง" กรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องจัดการบริษัทตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว เมื่อในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดระยะเวลาในการเรียกประชุมกรรมการไว้เป็นการเฉพาะ และปรากฏตามรายงานการประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ใช้ ป.พ.พ. เป็นข้อบังคับของบริษัท ดังนั้น ในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1162 ที่บัญญัติว่า "กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้" อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะสำหรับการเรียกประชุมกรรมการบริษัท ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายมิได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมไว้ และเมื่อการเรียกประชุมกรรมการบริษัทมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้กรรมการนัดเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมตามมาตรา 1175 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงสามารถเรียกประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ข้อบังคับของบริษัทเป็นข้อตกลงในการจัดการงานของบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัท และข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้สำหรับบริษัทใดย่อมใช้บังคับสำหรับบริษัทนั้น เมื่อบริษัท ร. เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะของกิจการร่วมค้าตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัท ร. เท่านั้น แม้สัญญาร่วมลงทุนของบริษัท ร. จะกำหนดว่าการเรียกประชุมกรรมการของบริษัทต้องเรียกประชุมล่วงหน้า 15 วัน ก็ตาม แต่เมื่อที่ประชุมของจำเลยที่ 1 ให้ใช้ ป.พ.พ. เป็นข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ตกลงให้นำข้อบังคับของบริษัท ร. มาใช้เป็นข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ด้วย ระยะเวลาในการบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของบริษัท ร. ที่กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 การออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการระบุวาระการประชุมว่า เรื่องต่าง ๆ รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ในฐานะกรรมการของบริษัท ร. เมื่อพิจารณาถึงวาระการประชุมตามที่กำหนดไว้ในเอกสารดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นวาระการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการใด ๆ ที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่ดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการของบริษัท ร. ซึ่งครอบคลุมรวมถึงการคงอยู่ หรือการถอดถอน หรือการแต่งตั้งผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทดังกล่าวด้วย การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ ๑ ได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์กับพวกซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ร. ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลอื่นแทนจึงเป็นการพิจารณาและลงมติในวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้บริษัท ร. เป็นนิติบุคคลและมีคณะกรรมการของบริษัทแยกต่างหากจากบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ ๑ มีมติถอดถอนโจทก์กับพวกออกจากการเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัท ร. จึงมิใช่เป็นการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๕๑ ที่กำหนดให้การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทต้องกระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2565 การที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพยายามจำหน่ายอาวุธปืน จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี แล้วจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะที่ถูก ศาลชั้นต้นจะต้องลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงรวมโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้บทลงโทษฐานพยายามจำหน่ายอาวุธปืนให้ถูกต้องและแก้โทษฐานพาอาวุธปืนฯ เท่านั้น โดยมิได้พิพากษาแก้ไขการลดโทษดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 87/2565 ตามคำร้องของโจทก์ที่คัดค้านขอให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาท่านอื่นแทน ณ. ไม่ได้แสดงรายละเอียดโดยแจ้งชัดพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่าที่ ณ. นั่งพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 1163/2561 ซึ่งแม้จะเป็นคู่ความเดียวกันด้วยนั้น มีพฤติกรรมอย่างไรที่ ณ. อาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีนี้เสียความยุติธรรมไปอย่างไรด้วย แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในคำร้องว่าขออนุญาตนำสืบในรายละเอียดชั้นไต่สวนคำร้องต่อไป แต่เมื่อคำร้องของโจทก์ไม่มีรายละเอียดในเบื้องต้นว่ามีเหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 11 (5) และมาตรา 12 ได้บัญญัติไว้อย่างไรเสียแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนพยานหลักฐานว่ามีข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำร้องหรือไม่ ส่วนที่โจทก์จะขอนำสืบรายละเอียดในชั้นไต่สวนคำร้องนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้อ้างไว้ในคำร้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏเหตุตามกฎหมายที่จะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ในชั้นนี้ให้ยกคำร้องนั้นเป็นการชอบแล้ว และคำสั่งเช่นว่านี้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 14
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2565 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง มาบังคับใช้กับกรณีนี้ได้ หากแต่กำหนดเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 การดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องทั้งสองเป็นไปตามความจำเป็นโดยสุจริต พฤติการณ์แห่งคดีถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะใช้อำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องให้ก่อนที่จะสั่งรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองในคดีไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่หากศาลชั้นต้นซึ่งได้พิจารณาในชั้นตรวจรับคำร้องเห็นว่าคำร้องยื่นเกินกำหนดระยะเวลา 90 วัน ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ก็ต้องมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นเสีย มิใช่สั่งรับคำร้องขอไว้ก่อน อันทำให้เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งขยายระยะเวลาเช่นว่านี้ให้แล้ว จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ