Pages

อำนาจทั่วไปของเจ้าพนักงานบังคับคดี

มาตรา ๒๗๘ เมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลในการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีและตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้  ทั้งนี้ จะเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาช่วยเหลือก็ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการดำเนินการบังคับคดีต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลไว้ด้วย


ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางและออกใบรับให้


เงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางโดยมิได้เป็นผลมาจากการยึดหรืออายัด ให้นำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอบังคับคดี เว้นแต่ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยตามมาตรา ๓๒๖ อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการวางเงินนั้น ก็ให้ถือว่าเป็นเงินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ แต่ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี


ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกวิธีการบังคับคดีทั้งหลายที่ได้จัดทำไปและเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย แล้วรายงานต่อศาลเป็นระยะ ๆ ไป


ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมอบหมายให้บุคคลอื่นปฏิบัติการแทนก็ได้  ทั้งนี้ ตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


ให้หักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายนี้ เพื่อให้กรมบังคับคดีพิจารณาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคห้าโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน  ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง


มาตรา ๒๗๙ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรักษาไว้โดยปลอดภัยซึ่งเงิน ทรัพย์สิน และเอกสารที่ได้มาตามอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งให้มีอำนาจขัดขวางมิให้บุคคลใดสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารเช่นว่านั้น ตลอดจนมีอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารดังกล่าวจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือเอาไว้


ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องหรือผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี


มาตรา ๒๘๐ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย  ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๘ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศก็ได้ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ถ้าการส่งเอกสารไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในเอกสารหรือมอบหมายเอกสารไว้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้ว หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร  ทั้งนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรกำหนดไว้ล่วงพ้นไปแล้ว นับแต่เวลาที่เอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว


การส่งเอกสารให้แก่คู่ความและบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือโดยผ่านกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ หากไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุที่ภูมิลำเนาและสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏหรือเพราะเหตุอื่นใดหรือเมื่อได้ดำเนินการส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกแล้วแต่ไม่อาจทราบผลการส่งได้ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ให้มีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานที่ตั้งของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร


มาตรา ๒๘๑ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีในวันทำการงานปกติในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ถ้ายังไม่แล้วเสร็จประกอบกับมีความจำเป็นและสมควรจะกระทำต่อไปในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้


ในกรณีที่มีความจำเป็นและสมควร ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินการบังคับคดีนอกวันทำการงานปกติหรือในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้


ในการดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแสดงหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์สินที่จะถูกบังคับคดีทราบ ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่อยู่หรือไม่อาจแสดงหมายบังคับคดีแก่บุคคลดังกล่าวได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดสำเนาหมายบังคับคดีไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ดำเนินการบังคับคดีนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเป็นการแสดงหมายบังคับคดีให้บุคคลดังกล่าวทราบแล้ว


มาตรา ๒๘๒ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชีเอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ใด ๆ ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือครอบครองร่วมกับผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจค้นสถานที่ดังกล่าว ทั้งมีอำนาจตรวจสอบและยึดบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อตรวจสอบได้ และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามที่จำเป็น เพื่อเปิดสถานที่ดังกล่าวรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่น ๆ


มาตรา ๒๘๓ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายค้นสถานที่นั้น เมื่อได้รับคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลไต่สวนโดยไม่ชักช้า ถ้าเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่ามีเหตุอันควรเชื่อตามที่ร้องขอ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายค้นสถานที่นั้นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบและยึดทรัพย์สินหรือสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวภายในขอบเขตและเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็น ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำขอคำสั่งเช่นว่านั้นให้เป็นที่สุด


มาตรา ๒๘๔ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการไปตามความจำเป็นและสมควรแห่งพฤติการณ์เพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ ในกรณีที่มีผู้ขัดขวางหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในการนี้ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวางได้เท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี


มาตรา ๒๘๕ ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการยึด อายัด หรือขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี หรือการบังคับคดีโดยมิชอบในกรณีอื่นย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้


ในกรณีที่ความรับผิดตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือตามกฎหมายอื่นไม่ว่าโดยบุคคลใด ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม


ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอันจะต้องยึดหรืออายัด หรือไม่ขายทรัพย์สิน หรือไม่ดำเนินการบังคับคดีในกรณีอื่น หรือไม่กระทำการดังกล่าวภายในเวลาอันควรโดยจงใจหรือปราศจากความระมัดระวัง หรือโดยสมรู้เป็นใจกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๒๘๖ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอื่นที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรม คำว่า ศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๘๕ วรรคสอง ให้หมายถึงศาลนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562

เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ไปยังบริษัท อ. ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 อันเป็นการดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาวันที่ 10 เมษายน 2549 แล้ว กล่าวคือ โจทก์เดิมได้ขอศาลออกหมายบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 และวันที่ 9 กันยายน 2553 และศาลได้ออกหมายบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2553 หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ยังไม่มีการขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่อาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นของจำเลยได้ และมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและหากระยะเวลาการบังคับคดีสิ้นสุดลง ก็ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 60 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ย่อมเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวแล้ว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีภายในระยะเวลาการบังคับคดี และชอบที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยไม่จำต้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องอีก เพราะขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 อยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับคดี แม้ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอแยกสำนวนไปดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 60 วันตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องขอที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ให้ตามคำร้องขอของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562

การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8034/2561

ตามฎีกาของจำเลยยืนยันว่า การขายทอดตลาดที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้และที่ยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 เป็นการขายทั้งโครงการจัดสรรของจำเลย และปรากฏในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลย ที่ดินในโครงการถูกโอนขายไปยังผู้ซื้อบางส่วนแล้ว โจทก์จึงยึดได้เฉพาะที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายไปเท่านั้น และเป็นการยึด 2 คดี คือ คดีนี้ยึดที่ดิน 20 แปลง คดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ยึดที่ดิน 60 แปลง ข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงตรงกันว่า ที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายถูกยึดไว้ในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้และที่ถูกยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้นโดยจะขายรวมกันไป จึงเป็นการขายที่ดินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดในโครงการจัดสรรของจำเลยในคราวเดียวกัน โดยไม่จำต้องเป็นการขายที่ดินครบถ้วนทุกแปลงเต็มจำนวนที่ดินแปลงย่อยที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้เท่านั้น แต่กรณีเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการเช่นกัน อันมีผลให้ผู้ซื้อจะต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคสี่ แต่การรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งโครงการได้จากการขายทอดตลาดจะต้องดำเนินการภายหลังจากเป็นผู้ประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง


นอกจากนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8918 และ 8919 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและสวนสาธารณะของโครงการจัดสรรดังกล่าว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการขายที่ดินจัดสรรทั้งโครงการด้วย ซึ่งเมื่อผู้ซื้อต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร กรณีเช่นนี้ จึงไม่ใช่การก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 33 ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกันไปกับที่ดินแปลงอื่นทั้งหมดอันเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม)

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 21/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7842/2561

การที่โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายสำหรับสิทธิเรียกร้องของบริษัท น. จำเลยที่ 1 ในคดีของศาลล้มละลายกลางหมายเลขแดงที่ ฟ.45/2553 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็มิได้มีการวินิจฉัยกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับว่า โจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดแต่ละห้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การขอให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและออกหนังสือปลอดชำระหนี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่และขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 โดยตรง เมื่อทางพิจารณาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นผู้จัดการหรือในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวกระทำการนอกเหนือจากขอบอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 อันมีลักษณะเป็นการละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 14


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่


ในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนดนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) จะไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินส่วนนี้เป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชอบที่จะเรียกร้องเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เรียกไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว เมื่อพฤติการณ์เชื่อได้ว่าโจทก์ทราบถึงภาระหนี้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแล้วเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ก็ต้องถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้สำหรับห้องชุดแต่ละห้องให้แก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2561

ป.วิ.พ. มาตรา 304 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะฟ้อง บัญญัติสรุปได้ว่า การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาเก็บรักษาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน เมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินนั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย เช่นนี้ การยึดอสังหาริมทรัพย์ดังเช่นการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้โดยที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก. อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่นำเอา น.ส.3 ก. มาเก็บรักษาไว้และฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินทราบ ย่อมถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว การที่โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ต้องนำส่งภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ที่ตั้งทรัพย์เท่านั้น หากภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินหรือแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ไม่ถูกต้อง ก็มิได้ผูกมัดเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ย่อมมีสิทธิแก้ไขให้ถูกต้องได้ การที่ จ. ผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยผู้แทนจำเลยที่ 1 ระบุว่าเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ซึ่งผิดไปจากความจริง เพราะที่ถูกแล้วจะต้องเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 นั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 แถลงผิดพลาดไป แต่หาทำให้การยึดเสียไปไม่ เพราะขั้นตอนการยึดได้กระทำโดยครบถ้วนตามกฎหมายดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจาก ถ. กรรมการโจทก์คดีนี้ว่า ที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดเป็นการซื้อเหมา รวม 64 แปลง รวมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จประมาณ 30 ห้อง และก่อนที่จะซื้อทอดตลาดโจทก์เข้าไปตรวจสอบที่ดินทุกแปลง โดยทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่อยู่บนที่ดินต้องทำการปรับปรุงซ่อมแซมทุกหลัง อีกทั้งได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดแต่ละหลังยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การที่ จ. ผู้นำยึดทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ได้ทำการยึดทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง และโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดที่มีการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ รวม 64 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง เมื่อดูตามภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่าสภาพภายนอกของทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 และ 129/78 มีสภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่ทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 มีประตูโครงเหล็กกั้นเท่านั้น ส่วนสภาพภายในไม่ปรากฏชัด และเมื่อพิเคราะห์สภาพโครงการตามภาพถ่ายเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุที่ทาวน์เฮาส์ของโครงการยังสร้างไม่เสร็จเพราะมีการทิ้งร้างโดยมีสภาพเหมือนกันทุกหลัง การที่ จ. ระบุเลขที่บ้านผิดพลาดไปซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จนถึงกับทำให้สำคัญผิดไปได้ว่าทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่ตนซื้อต้องมีสภาพที่เหมือนทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ตามที่อ้าง เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 มีสภาพต่างจากทาวน์เฮาส์หลังอื่นๆ ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดในคราวเดียวกันอย่างไร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาในการประมูลซื้อทอดตลาด กรณีความผิดพลาดในการระบุเลขที่บ้านของ จ. จึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียหาย คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356 - 5371/2561

การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่ โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จนครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง, 41 และข้อบังคับกับเงื่อนไขที่ระบุในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 5 ปี ย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพียงจำนวนที่โจทก์เสนอขอชำระและออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ โดยไม่ยอมชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมค้างชำระทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2561

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ ป.วิ.พ. มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน


เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2561

การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลอดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145


โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่


เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด


ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว


อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)