คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5891/2557
ศาลฎีกาไม่รับคดีของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษา และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความศาลฎีกา สืบเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551 ข้อ 3 จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง จึงออกคำพิพากษาในรูปของคำสั่งตามบทบัญญัติและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีสำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 21 ธันวาคม 2555 จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4764/2557
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอคดีเป็นคำร้องขอ อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งการร้องขอในลักษณะเช่นนี้ ต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคม คงมีแต่บัญญัติให้สมาชิกหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคมตามที่บัญญัติในมาตรา 100 ได้เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคม มิใช่ขอเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคม กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติใดรับรองให้สมาชิกสมาคมหรือผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิโดยคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท แม้ภายหลังมีผู้คัดค้านเข้ามาก็ไม่ทำให้อำนาจการยื่นคำร้องขอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้นเป็นคำร้องขอที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557
แม้ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เพื่อตั้งเป็นประเด็นไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้อีก เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำวินิจฉัยที่ 12/2557
คดีที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเอกชนกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ผู้ดำเนินการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สื่อสารมวลชนที่ประชาชนสามารถรับชมรายการโทรทัศน์สาธารณะทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓ ช่อง ๕ และช่อง ๙ โดยไม่เสียค่าบริการ ได้ระงับการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ตามที่จำเลยที่ ๔ ผู้จัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ และเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวมีหนังสือขอความร่วมมือ ทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจรับชมการถ่ายทอดสดผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าในจำนวนเงินเท่ากับราคากล่องรับสัญญาณดาวเทียม และให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษ กับให้มีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๑ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นการฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในฐานะผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะเป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ แต่การดำเนินกิจการดังกล่าวก็เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายเวลาในช่วงโฆษณาให้แก่เอกชนเจ้าของสินค้าและบริการ อันเป็นการประกอบกิจการเพื่อการค้า มิได้ใช้อำนาจทางปกครอง นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ กับโจทก์ทั้งห้าที่มิได้มีการใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาททางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม