มาตรา ๓๓๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๓๒ และมาตรา ๓๓๖ เมื่อได้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือได้มีการส่งมอบทรัพย์สินตามสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ถ้าไม่มีเหตุสมควรงดการบังคับคดีไว้ก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้นหรือตามที่ศาลมีคำสั่งกำหนด หรือขายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ซึ่งจะทำการขายทอดตลาดให้บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งปรากฏตามทะเบียนหรือประการอื่นได้ทราบด้วย โดยจะทำการขายทอดตลาดในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ นอกเวลาทำการปกติก็ได้ ทั้งนี้ กำหนดวันและเวลาขายดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันยึด อายัด หรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น
เพื่อให้การขายทอดตลาดเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาเองหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาเพื่อให้ได้ราคาตามที่ตนต้องการ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้ามมิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทั้งหลายหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก
มาตรา ๓๓๒ ในกรณีที่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จะขายหรือจำหน่ายมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายหรือจำหน่ายได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร
ในกรณีที่การขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือที่ได้มีการส่งมอบตามคำสั่งอายัดกระทำได้โดยยาก หรือการขายหรือจำหน่ายสิทธิเรียกร้องนั้นกระทำได้โดยยากเนื่องจากการชำระหนี้นั้นต้องอาศัยการชำระหนี้ตอบแทนหรือด้วยเหตุอื่นใด และการบังคับคดีอาจล่าช้าเป็นการเสียหายแก่คู่ความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรหรือคู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งกำหนดให้จำหน่ายโดยวิธีการอื่นใดที่สมควรก็ได้ ทั้งนี้ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านคำสั่งหรือการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยยื่นคำร้องต่อศาลภายในสองวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งหรือการดำเนินการนั้น คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๓๓ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ในการขายทรัพย์สินที่มีหลายสิ่งด้วยกัน ให้แยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่
(ก) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาเล็กน้อยรวมขายเป็นกอง ๆ ได้เสมอ
(ข) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไปรวมขายไปด้วยกันได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น
(๒) ในการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจแบ่งแยกออกได้เป็นส่วน ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นเป็นส่วน ๆ ได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายทรัพย์สินบางส่วนจะเพียงพอแก่การบังคับคดี หรือว่าเงินรายได้ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น
(๓) ในการขายทรัพย์สินหลายสิ่งด้วยกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดลำดับที่จะขายทรัพย์สินนั้น
บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินซึ่งจะต้องขาย อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้ หรือจะร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งตามวรรคหนึ่งก็ได้ การยื่นคำร้องตามมาตรานี้ต้องกระทำก่อนวันทำการขายทอดตลาดแต่ต้องไม่ช้ากว่าสามวันนับแต่ทราบวิธีการขาย ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลภายในสองวันนับแต่วันปฏิเสธ เพื่อขอให้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่ง หรือจนกว่าจะได้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้
มาตรา ๓๓๔ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๗๑ มาตรา ๒๗๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๕๑ มาตรา ๓๕๒ มาตรา ๓๕๓ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง มาตรา ๓๕๔ มาตรา ๓๖๑ มาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ และมาตรา ๓๖๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว
มาตรา ๓๓๕ เมื่อทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้จดทะเบียนให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ซื้อ
ถ้าทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเป็นห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลอาคารชุดก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้
หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองหรือแจ้งว่าไม่มีหนี้ที่ค้างชำระ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้
ถ้าทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเป็นที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งนี้ หากมีการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไว้ ให้การระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นเป็นอันยกเลิกไป
หากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลาตามวรรคสี่หรือแจ้งว่าไม่มีหนี้ที่ค้างชำระ หรือในกรณีที่ยังมิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งนี้ หากมีการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไว้ ให้การระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นเป็นอันยกเลิกไป
การจ่ายเงินที่กันไว้ตามวรรคสองและวรรคสี่ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑๐ การทำบัญชีส่วนเฉลี่ย และส่วนที่ ๑๑ เงินค้างจ่าย ของหมวดนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2563
คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)
เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้" ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)
เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2562
การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะเมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น และย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2562
จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2562
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" หากโจทก์เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์จะต้องโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและขอให้ศาลส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ไม่อาจบังคับได้ และขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง มิได้ประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง... ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง... แล้วแต่กรณี" ที่บทบัญญัติมาตรา 125 วรรคสามและวรรคสี่ ได้กำหนดไว้ดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดทันที โดยลูกจ้างไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีก ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างประวิงเวลาในการจ่ายเงินอันเป็นการสร้างภาระแก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายจากนายจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างก็สามารถรับเงินจำนวนที่วางศาลไว้คืนไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย สำหรับที่ดินที่โจทก์ขอวางต่อศาลแทนเงินนั้น หากภายหลังคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีการบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคาไปชำระหนี้ครบตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลสามารถนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที นอกจากนี้เงินจำนวนที่โจทก์ต้องนำมาวางศาลนั้นมิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด จึงมิอาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับยกเว้นการวางเงินให้แก่โจทก์ได้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสามบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" บทบัญญัติดังกล่าวมานี้ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาล ซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะโต้แย้งเงินจำนวนใดตามคำสั่งก็ไม่ต้องวางเงินจำนวนนั้น ซึ่งหมายความว่านายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้ให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในส่วนของเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้นั่นเอง หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 82 ราย โจทก์ก็ต้องวางเงินจำนวนตามคำสั่งทั้งหมดทุกราย จะขอวางเพียง 2 รายแล้วขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทุกรายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562
การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2562
คดีนี้พฤติการณ์ของผู้ร้องและโจทก์มีพิรุธน่าสงสัย เชื่อว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2548 ของศาลจังหวัดจันทบุรี และบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 ของจำเลยออกขายทอดตลาดโดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและบังคับขับไล่ผู้คัดค้านออกจากที่ดิน ทั้งที่โจทก์ทราบดีว่าผู้คัดค้านปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทและมีรั้วกำแพงล้อมรอบมานาน 20 ปีเศษแล้ว ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 จากจำเลยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ในราคา 800,000 บาท ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยได้มอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องแล้วตั้งแต่ปี 2546 หากจำเลยไม่จดทะเบียนโอนสิทธิการครอบครองที่ดินให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิฟ้อง กลับมาประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3,100,000 บาท อันมิใช่วิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ออกคำบังคับผู้คัดค้านและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน..." คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320/2553
ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการยึดทรัพย์ประกอบบัญชียึดทรัพย์ว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 8418 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส. โดยแสดงรายละเอียดสภาพของบ้านว่าเป็นบ้านตึกชั้นเดียว กระเบื้องซีแพค ผนังก่ออิฐฉาบปูนขอบเรียบ มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ด้านหลังต่อเติมเป็นห้องครัว ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ ไม่ปรากฏเลขทะเบียน แต่โจทก์ยืนยันว่าเป็นบ้านเลขที่ 142 และเป็นของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยระบุสภาพของบ้านและแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านไว้ชัดเจน เป็นที่เข้าใจได้ว่าบ้านที่จะขายทอดตลาดเป็นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้ บ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดกับบ้านที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นบ้านหลังเดียวกัน มิใช่เป็นการขายทอดตลาดบ้านหลังที่มิได้ยึดแต่ประการใด แม้เลขที่ของบ้านจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเพียงการระบุเลขที่บ้านผิดไป มิได้มีผลให้การขายทอดตลาดไม่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ร้องที่ 1 ก็ชอบที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อการขายทอดตลาดบ้านพิพาทเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องที่ 1 จะขอปล่อยทรัพย์นั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2553
ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับ ว. นอกจากจำเลยกับ ว. จะเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีผู้ร้องและบุตรของจำเลยและ ว. อีก 3 คน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 การที่ผู้ร้องเข้าถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำให้การได้มาดังกล่าวย่อมไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บ้านพิพาทตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์และผู้ร้องได้เข้าครอบครองบ้านพิพาทแล้วเพียงแต่ผู้ร้องยังมิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้จะได้ความว่าจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ก็ตามแต่จำเลยเป็นมารดาของผู้ร้องจึงย่อมอยู่อาศัยกับบุตรของตนได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวสิ้นไปแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านพิพาทตกเป็นสิทธิของผู้ร้องร่วมกับบุตรของจำเลยอีก 3 คน และในคำร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ในกรณีเช่นนี้ ผู้ร้องจึงสามารถร้องขอให้เพิกถอนการยึดได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องดังกล่าวไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553
ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า โครงการคิดถึง คอนโดมิเนียม เป็นอาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ความจริงโฉนดที่ดินมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา จึงเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขในสัญญา ส่วนที่จอดรถของอาคารชุดไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่าจะมีที่จอดรถได้กี่คันและตามแผ่นพิมพ์โฆษณาอาคารชุดก็ไม่ได้ระบุจำนวนรถยนต์ที่จะจอดได้ไว้เช่นเดียวกัน ที่จอดรถจำนวน 17 คัน คงปรากฏอยู่ในคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นต่อเทศบาลตำบลแสนสุขเท่านั้น ความจริงอาคารชุดมีที่จอดรถได้เพียง 6 คัน จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ขออนุญาตไว้ต่อเทศบาลตำบลแสนสุข ซึ่งทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้ดำเนินคดีในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นหรือโฆษณาที่ให้ไว้แก่ผู้จะซื้อ อีกทั้งอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในบังคับของการจัดบริเวณที่จอดรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2517) จะถือว่าโจทก์และ ด. สำคัญผิดในข้อนี้ไม่ได้ การผิดเงื่อนไขในเนื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่เป็นสาระสำคัญแห่งการทำสัญญาจะซื้อจะขายอันจะเป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่ที่ดิน ห้องชุดจึงเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย การผิดเงื่อนไขในจำนวนเนื้อที่ดินจึงเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของอาคารชุดอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ซึ่งจะต้องบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือภายในเวลา 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7342/2552
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องร้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อได้รับคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น เมื่อผู้ร้องที่ 1 รับซื้อสินทรัพย์มาแล้ว การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำหรือสูงย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นสิทธิโดยชอบที่ผู้ร้องที่ 1 จะเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองในวันขายทอดตลาด ถือว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 แล้วก่อนวันขายทอดตลาด เพราะได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า "ผู้ร้องสวมสิทธิเข้ามาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ มาตรา 7" จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทุกคนรวมทั้งผู้ร้องที่ 1 ทราบ หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิหรือมีคำสั่งศาลแจ้งมาเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แจ้งแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียจากทางทะเบียนหรือโดยประการอื่น กรณีไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องแจ้งกำหนดวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 306 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี และอาจต้องได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ดังนี้ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่า คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก การที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8853/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี มีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 โดยมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทจะได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาท เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8201/2551
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี มีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 22)ฯ โดยมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติให้ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. นี้ มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาท แม้จะเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท เมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำขอของผู้ซื้อทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6138/2551
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่คดีนี้ผู้ร้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทมาจากการขายของที่ประชุมเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ไม่ใช่การซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2579/2551
โจทก์จัดทำแผนที่ที่ตั้งของที่ดินและมอบรูปภาพทรัพย์แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินที่จะขายทอดตลาดทั้งสองแปลงเป็นที่ดินที่อยู่ติดทางสาธารณะ โดยไม่แจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินที่จะขายทอดตลาดมีที่ดินแปลงอื่นขวางกั้นอยู่ทำให้รถยนต์และบุคคลไม่สามารถเข้าไปสู่ที่ดินได้ เป็นการจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์อันเป็นการฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างชัดเจนในสำเนาโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงที่จะขาย เป็นผลทำให้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ระบุข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขายไม่ตรงกับความเป็นจริง การกระทำของโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ จากที่ดินไม่ได้อยู่ติดทางสาธารณะ กลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดทางสาธารณะ จึงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่มิชอบเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2551
ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้เข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นโมฆะเนื่องจากผู้ร้องสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม เท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการบังคับคดีโดยการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้องต้องผูกพันในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ และหากนำที่ดินพิพาทออกขายอีกครั้งหนึ่งถ้าได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมแล้ว ผู้ร้องต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งขายทอดตลาดนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่งเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาทและปิดที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลยล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นรวมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและ ส. ผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมี 2 ฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตายมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2550
ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้จำเลยโอนที่ดินแก่ผู้ร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินก่อนโจทก์ย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จดทะเบียนทรัพยสิทธินั้น ๆ แล้ว สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิที่สามารถใช้ยันโจทก์ได้ โจทก์จะบังคับยึดที่ดินอันเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2550
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูกจำกัดให้น้อยลง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณีเป็นราคาที่สมควรขาย ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามมาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247/2548
ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี โดยศาลจังหวัดอุบลราชธานีและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง แม้คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี และอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะการบังคับคดีนั้น จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีได้ตาม มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2422/2545
แม้ผู้ร้องจะมิใช่บุคคลตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280บัญญัติไว้ โดยมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดและมิใช่บุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอันได้จดทะเบียนไว้โดยชอบ หรือได้ยื่นคำร้องขอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288,289 และ 290 อันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าบุคคลอื่นนอกจากนี้จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีไม่ได้ เมื่อผู้ร้องเป็นผู้เข้าสู้ราคาคนหนึ่งในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสมยอมกับโจทก์และผู้คัดค้านโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริตและฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องเสียหายโดยเสียโอกาสในการเสนอราคาให้สูงขึ้น ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเป็นบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2538
ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามป.วิ.พ.มาตรา296วรรคสองมีความหมายกว้างกว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา280เพราะมาตรา296วรรคสองมิได้เจาะจงตัวบุคคลไว้โดยเฉพาะเช่นมาตรา280 ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งแรกโดยให้ราคาสูงสุดแต่ผู้ร้องไม่ชำระราคาเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ประกาศขายทอดตลาดเป็นครั้งที่สองมีผู้ให้ราคาสูงสุดซึ่งต่ำกว่าการขายทอดตลาดครั้งแรกผู้ร้องจึงต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา516และตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีพ.ศ.2522ข้อ88ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามมาตรา296วรรคสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลอดที่ดำเนินการไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2533
ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนอง ขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในชั้นบังคับคดีจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไม่ชอบ เนื่องจากในวันขายทอดตลาดจำเลยทั้งสองได้เข้าพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเพื่อนำหลักฐานมาแสดงว่าได้มีการตกลงกับโจทก์ให้งดการบังคับคดีไว้ ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก็ได้มีคำสั่งให้เลื่อนการขายทอดตลาดจากเวลา 10 นาฬิกาไปเป็นเวลา 14 นาฬิกาเพื่อให้จำเลยนำหลักฐานมาแสดงและกำชับด้วยว่าให้มาศาลก่อนขายทอดตลาดจำเลยมาศาลเวลา 13.20 นาฬิกา ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้วถ้า ข้อเท็จจริงเป็นดัง จำเลยอ้างก็อาจเป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบเนื่องจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่อยู่ในเวลาขายทอดตลาด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปโดยไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความชัด เสียก่อนว่า สมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่ ดังนี้ต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป และสั่งใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169/2545
การยึดที่ดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304ไม่จำต้องให้โจทก์หรือผู้แทนของโจทก์ไปนำชี้ทรัพย์ที่จะยึดเพื่อประทับตราหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อให้การยึดเห็นประจักษ์เหมือนอย่างกรณีการยึดสังหาริมทรัพย์เหตุที่ระเบียบการบังคับคดีที่มีอยู่เดิมกำหนดให้มีผู้นำยึด โดยผู้นำยึดต้องชี้ทรัพย์ที่จะยึดก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึด การทำแผนที่ในประกาศขายทอดตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ตั้งทรัพย์เท่านั้น ซึ่งหากแผนที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องก็มิได้ผูกมัดเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนั้นการที่โจทก์หรือผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปชี้ที่ดินที่จะยึดผิดแปลง ก็ไม่อาจจะถือได้ว่ากรณีเป็นการยึดที่ดินผิดแปลง การนำชี้ผิดเป็นผลเพียงให้มีการปิดประกาศการยึดผิดแปลงเท่านั้น โจทก์มีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปตรวจสภาพที่ดินเพื่อนำชี้ที่ดินแปลงที่ถูกต้องใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยึดที่ดินแปลงที่ชี้ผิดแล้วไม่มีการขาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531
กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดินแผ่นดิน ก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3774/2533
โจทก์นำยึดที่ดินและตึกแถวอ้างว่าตึกแถวปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ต่อมาปรากฏว่าตึกแถวมิได้ปลูกอยู่บนที่ดิน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์นั้นติดกันไปจึงเป็นการไม่ชอบเมื่อผู้ร้องซึ่งซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดไม่อ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ศาลย่อมมีอำนาจออกคำสั่งยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะนั้นเสียได้ก่อนการบังคับคดีเสร็จสิ้นลง โจทก์ทั้งสองและผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ และการที่ศาลชั้นต้นได้ทำการตรวจสอบฟังคำแถลงของผู้ร้องและโจทก์ทั้งสองแล้วเห็นว่ามีการผิดพลาด ย่อมถือได้ว่าได้มีการไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้วทั้งจำเลยทั้งสองก็มิได้คัดค้านว่าคำร้องไม่เป็นความจริงเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่ชอบศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งยกเลิกการบังคับคดีนั้นเสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2534
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินสำหรับทำสวนตาม น.ส.3 เลขที่ 47หมู่ 1 ตำบลตาดทอง ของจำเลยไว้ ขณะยึดทรัพย์ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่หมู่ที่ 9 เมื่อศาลอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศขายทอดตลาดให้ทราบโดย ทั่วกันและที่ดินที่ระบุว่าเป็นหมู่ 9 เป็นที่ดินแปลงเดียวกับ ที่ดินที่ขายทอดตลาด การเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านตามเขตการปกครอง ท้องที่ ฝ่ายบริหารย่อมทำได้ตามความเหมาะสมซึ่งอาจผิดแผกแตกต่าง ไปจากหมู่ที่ที่ดินตั้งอยู่ในขณะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การขายทอดตลาดดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายทอดตลาดผิดแปลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2543
ผู้ซื้อทรัพย์มีความประสงค์จะประมูลซื้อทรัพย์จำนองจริง และเป็น ผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองรายนี้ได้ในราคาสูงสุด แต่มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์จำนองหลายรายการทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สับสนโดยนำราคาที่จะต้องเข้าประมูลในคดีอื่นมาประมูลซื้อในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในราคาอันเป็นคุณสมบัติของทรัพย์ แต่ความสำคัญผิดของผู้ซื้อทรัพย์เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการแสดงเจตนาเข้าประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่ตรวจสอบราคาให้ถูกต้อง ผู้ซื้อทรัพย์จะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 จึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิก การขายทอดตลาด